สิ่งถูกสร้างของพระผู้เป็นเจ้า

สิ่งถูกสร้างของพระผู้เป็นเจ้า

     ในระบอบการสร้างของพระผู้เป็นเจ้านั้น สิ่งถูกสร้างบางส่วนจะมีความดีงามและความประเสริฐเหนือกว่าอีกบางส่วน ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้เราจะพบเห็นได้อย่างชัดเจนในทุกประเภทของสิ่งถูกสร้างของพระผู้เป็นเจ้า

     สิ่งถูกสร้างที่เป็นวัตถุไร้ชีวิตทั้งมวลก็ไม่เท่าเทียมกัน “หะญะรุ้ลอัสวัด” (หินดำ ณ บัยตุ้ลลอฮ์) มีความประเสริฐเหนือกว่าหินชนิดอื่นๆ พืชและต้นไม้ต่างๆ ก็ไม่เท่าเทียมกัน บางส่วนของมันเนื่องจากผลและผลิตผลที่มีคุณค่าและคุณประโยชน์ของมันทำให้มันมีคุณค่ามากกว่าอีกบางชนิด

     สถานที่และเวลาต่างๆ ก็มีความแตกต่างกัน “มัสยิดิลฮะรอม” มีความประเสริฐเหนือกว่ามัสยิดอื่นๆ การนมาซในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นี้มีภาคผลมากกว่าการนมาซในมัสยิดอื่นๆ ถึงหนึ่งแสนเท่า

     กลางคืนและและกลางวันของวันศุกร์ก็มีความเหนือกว่าวันอื่นๆ ในสัปดาห์ กลางคืนและกลางวันของ “อัลก็อดร์” ก็มีความประเสริฐเหนือกว่าวันทั้งหลายของปี

لَيْلَةُ الْقَدْرِ خَيْرٌ مِنْ أَلْفِ شَهْرٍ

“ลัยละตุ้ลก็อดร์นั้น มีความประเสริฐกว่าหนึ่งพันเดือน”

(อัลกุรอานบทอัลก็อดร์ โองการที่ 3)

     ความประเสริฐและความเหนือกว่าดังกล่าวนี้ก็มีอยู่ในหมู่มนุษย์เช่นเดียวกัน ผู้มีความรู้นั้นมีความประเสริฐกว่าผู้ที่ไม่มีความรู้ ผู้รู้ที่มีความเคร่งครัดย่อมประเสริฐกว่าผู้รู้ที่ไม่เคร่งครัด อิมามมะอ์ซูมย่อมมีความประเสริฐกว่าประชาชนทั่วไป และบรรดาศาสดาย่อมมีความประเสริฐเหนือกว่าประชาชาติทั้งหลาย ดังเช่นที่คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า

هَلْ يَسْتَوِي الَّذِينَ يَعْلَمُونَ وَالَّذِينَ لَا يَعْلَمُونَ ۗ إِنَّمَا يَتَذَكَّرُ أُولُو الْأَلْبَابِ

“ผู้ที่มีความรู้และผู้ที่ไม่รู้นั้นจะเท่าเทียมกันหรือ แท้จริงบรรดาผู้มีสติปัญญาเท่านั้นที่จะใคร่ครวญ”

(อัลกุรอานบทอัซซุมัร โองการที่ 9)

تِلْكَ الرُّسُلُ فَضَّلْنَا بَعْضَهُمْ عَلَى بَعْضٍ

“ปวงศาสนทูตเหล่านั้น เราได้ทำให้บางส่วนของพวกเขาประเสริฐเหนือกว่าอีกบางส่วน”

(อัลกุรอานบทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 253)

وَلَقَدْ فَضَّلْنَا بَعْضَ النَّبِیِّینَ عَلَى بَعْضٍ

“และเราได้ทำให้ศาสดาบางคนประเสริฐเหนือกว่าอีกบางคน”

(อัลกุรอานบทอัลอิซรออ์ โองการที่ 55)

      ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ความดีกว่าและความเหนือกว่าของมนุษย์ที่มีต่อกันและกันในกิจการต่างๆ ทางด้านวัตถุนั้น ก็เนื่องมาจากมนุษย์ได้ใช้ประโยชน์จากกันและกัน และมีการรับใช้บริการซึ่งกันและกัน คัมภีร์อัลกุรอานกล่าวว่า

نَحْنُ قَسَمْنَا بَیْنَهُم مَّعِیشَتَهُمْ فِی الْحَیَاةِ الدُّنْیَا وَرَفَعْنَا بَعْضَهُمْ فَوْقَ بَعْضٍ دَرَجَاتٍ لِیَتَّخِذَ بَعْضُهُم بَعْضًا سُخْرِیًّا

“เราได้จัดสรรปัจจัยดำรงชีพของพวกเขาระหว่างพวกเขากันเอง ในการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ และเราได้ยกบางคนจากพวกเขาให้มีฐานันดรเหนือกว่าอีกบางคน เพื่อที่พวกเขาจะได้ใช้ประโยชน์จากกันและกัน”

(อัลกุรอานบทอัซซุครุฟ โองการที่ 32)

      แต่มิใช่ว่าคนที่มีความร่ำรวยมั่งคั่งมากกว่า จะดูถูกดูแคลนและเหยียดหยามคนที่ยากจนกว่า ในระบอบทางธรรมชาตินั้น มนุษย์ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร มีความรู้หรือมีฐานะอย่างไรก็ตาม เพื่อที่จะจัดการกับระบอบการดำเนินชีวิตของตนนั้น จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

      ความประเสริฐกว่าและความเหนือกว่าของมนุษย์ในทางจิตวิญญาณนั้น เป็นเพราะมนุษย์ทุกคนไม่มีความสามารถที่จะรับวะห์ยู (วิวรณ์) ได้โดยตรงจากพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง และทำความเข้าใจสาส์นของพระองค์ได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นพระองค์จึงทรงคัดเลือกบุคคลที่มีความคู่ควรและความสามารถเพื่อการรับสาส์น (วะห์ยู) และทำหน้าที่ชี้นำประชาชน

اللّهُ أَعْلَمُ حَیْثُ یَجْعَلُ رِسَالَتَهُ

“อัลลอฮ์ทรงรอบรู้ยิ่ง ว่าพระองค์จะทรงกำหนดตำแหน่งศาสนทูตของพระองค์ไว้ที่ใด (และให้แก่บุคคลใด)

(อัลกุรอานบทอัลอันอาม โองการที่ 124)

      ดังนั้นพระองค์ได้ทรงคัดเลือกบรรดาศาสดาและบรรดาอิมามมะอ์ซูมให้เหนือมนุษย์ทั้งหลาย เนื่องจากความสะอาดบริสุทธิ์ทางด้านจิตวิญญาณของพวกท่าน และได้แนะนำท่านเหล่านั้นในฐานะแบบอย่างทางด้านความรู้และการปฏิบัติตน เพื่อการชี้นำสังคมของมนุษยชาติ


ที่มา : คุฏบะฮ์นมาซวันศุกร์ ณ มัสยิดซอฮิบุซซะมาน (อ.)

บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 155 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

25146157
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
10349
37028
10349
24887231
331860
1079962
25146157

อ 22 ธ.ค. 2024 :: 09:24:38