ในช่วงยุคสมัยที่เต็มไปด้วยวิกฤตและในสถานการณ์และสภาวะเงื่อนไขต่างๆ ที่ยากลำบากและเต็มไปด้วยความเลวร้ายนั้น ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้เลือกวิธีการที่ดีและเหมาะสมที่สุดในการพิทักษ์รักษาหลักการต่างๆ ของอิสลาม และการต่อสู้กับความเท็จ....
ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า
اقراوا سورة الفجر في فرائضكم ونوافلكم، فانها سورة الحسين بن علي عليه السلام؛ من قراها كان مع الحسين بن علي عليه السلام يوم القيامة في درجته من الجنة
“ท่านทั้งหลายจงอ่านซูเราะฮ์ “อัลฟัจญ์รุ” ในนมาซฟัรฎูและนมาซนะวาฟิลทั้งหลายของพวกท่านเถิด เพราะแท้จริงมันคือ ซูเราะฮ์ของท่านอิมามฮุเซน บินอะลี (อ.) ผู้ใดที่อ่านมัน ในวันกิยามะฮ์เขาจะได้อยู่ร่วมกับฮุเซน บินอะลี (อ.) ในฐานันดรเดียวกับท่านในสรวงสวรรค์” (1)
ประเด็นที่น่าสนใจในริวายะฮ์ (คำรายงาน) บทนี้ก็คือ ในท่ามกลางบรรดาซูเราะฮ์ (บท)ทั้งหลายของคัมภีร์อัลกุรอานนั้น ซูเราะฮ์อัลฟัจญ์รุได้กลายเป็นบทเฉพาะของท่านอิมามฮุเซน (อ.)
คำว่า “ฟัจญ์รุ” หมายถึงแสงอรุณหรือแสงสว่าง และท่านอิมามฮุเซน (อ.) ผู้นี้เอง ในท่ามกลางยุคสมัยแห่งความมืดมนและความดำสนิทของบรรดาผู้ปกครองเผด็จการและผู้กดขี่แห่งบนีอุมัยยะฮ์ ซึ่งร่องรอยและสัญลักษณ์ต่างๆ แห่งแสงสว่างและทางนำของพระผู้เป็นเจ้าได้ถูกลบเลือนและถูกหลงลืมไป คุณค่าและความดีงามต่างๆ ที่ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) วางรากฐานไว้ด้วยความเหนื่อยยากและทุ่มเทความอุตสาห์พยายามต่างๆ ไว้ในสังคมนั้น ค่อยๆ ถูกลบเลือนไปทีละน้อย ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ผู้นี้เอง ซึ่งด้วยกับการเสียสละและการพลีอุทิศชีวิตและการดำรงอยู่ของตนเองประหนึ่งแสงอรุณที่สว่างไสว
และด้วยกับการนำเสนอภาพที่ชัดเจนของหลักการและบทบัญญัติต่างๆ ของอิสลามนั้น ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ได้ให้แสงส่องสว่างแก่เส้นทางเดินของมนุษยชาติจวบจนถึงวันกิยามะฮ์ เพื่อที่จะเชิดชูคุณค่าและความสูงส่งของการเสียสละและการพลีอุทิศชีวิตของท่านในหนทางของการพิทักษ์คุณค่าต่างๆ แห่งพระผู้เป็นเจ้า (ตามสัญญาที่ท่านได้ให้ไว้กับพระองค์) พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงประทานของขวัญ (ฮะดียะฮ์ ) แห่งฟากฟ้าให้แก่ท่านอิมาม (อ.) ซึ่งได้แก่ในฮะดีษกุดซี ที่ถูกรู้จักในนาม “ฮะดีษุลเลาห์” (พระคำแห่งเลาฮิลมะห์ฟูซ) พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสเกี่ยวกับสถานะและตำแหน่งอันสูงส่งของท่านอิมาม (อ.) ไว้เช่นนี้ว่า
جعلت حسينا خازن وحيی واكرمته بالشهادة وختمت له بالسعادة فهو افضل من استشهد وارفع الشهداء درجة. جعلت كلمتی التامة معه والحجة البالغة عنده، بعترته اثيب و اعاقب
“ข้าได้บันดาลให้ฮุเซนเป็นผู้พิทักษ์ขุมคลังแห่งวะห์ยู (วิวรณ์) ของข้า และได้ให้เกียรติแก่เขาด้วยการเป็นชะฮีด และได้ทำให้ (ชีวิตของ) เขาสิ้นสุดลงด้วยความสำเร็จไพบูลย์ (ซะอาดะฮ์) ดังนั้นเขาคือผู้เป็นชะฮีด (พลีชีพ) ที่ประเสริฐที่สุดและเป็นผู้มีฐานันดรสูงส่งที่สุดในหมู่ชะฮีด (ผู้พลีชีพ) ทั้งหลาย และข้าได้บันดาลถ้อยคำ (กะลีมะฮ์) อันสมบูรณ์ของข้าให้คงอยู่คู่กับเขา และข้อพิสูจน์อันชัดแจ้ง (อัลฮุจญะตุลบาลิเฆาะฮ์) ของข้านั้นอยู่กับเขา และด้วยกับครอบครัวของเขานั้น ที่ข้าจะตอบแทนรางวัลและการลงโทษ” (2)
ในช่วงยุคสมัยที่เต็มไปด้วยวิกฤตและในสถานการณ์และสภาวะเงื่อนไขต่างๆ ที่ยากลำบากและเต็มไปด้วยความเลวร้ายนั้น ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้เลือกวิธีการที่ดีและเหมาะสมที่สุดในการพิทักษ์รักษาหลักการต่างๆ ของอิสลาม และการต่อสู้กับความเท็จและบรรดาผู้นำแห่งความกลับกลอก และผลของความอุตสาห์พยายามต่างๆ ที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยย่อท้อและเต็มเปรี่ยมไปด้วยความภาคภูมินี้ คือชะฮาดะฮ์ (การเป็นชะฮีด) ที่นำมาซึ่งความพึงพอพระทัยของพระผู้เป็นเจ้า และด้วยเหตุนี้เองท่านจึงเป็นกรณีตัวอย่างที่ชัดเจนและสมบูรณ์ของโองการที่พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า
يا ايتها النفس المطمئنة ارجعي الی ربك راضية مرضية فادخلي في عبادي وادخلي جنتي
“โอ้ดวงจิตอันสงบมั่นเอ๋ย เจ้าจงกลับคืนมาสู่องค์พระผู้อภิบาลของเจ้าด้วยความปีติยินดี อีกทั้งเป็นผู้ได้รับความพึงพอพระทัย (จากพระองค์) เถิด และจงเข้ามาอยู่ในหมู่ปวงบ่าวของข้าและเข้าสู่สรวงสวรรค์ของข้าเถิด” (3), (4)
แหล่งอ้างอิง :
(1) ตัฟซีร มัจญ์มะอุลบะยาน, เล่มที่ 10, หน้า 341
(2) กะมาลุดดีน วะ ตะมามุนเนี๊ยะฮ์มะฮ์, เล่มที่ 1, หน้า 308-311
(3) อัลกุรอานบท อัลฟัจญ์รุ : โองการที่ 28-30
(4) ตัฟซีร อัลกุมมี, เล่มที่ 2, หน้า 422
บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่