9 รอบีอุ้ลเอาวัล วันแห่งการเริ่มต้นตำแหน่งของอิมามซะมาน (อ.ญ.)
9 รอบีอุ้ลเอาวัล วันแห่งการเริ่มต้นตำแหน่งของอิมามซะมาน (อ.ญ.)

บนพื้นฐานคำสอนของอิสลามหนึ่งในหน้าที่ที่สำคัญของชาวมุสลิมทุกคน คือ การรอคอยการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.)  การรอคอยการบรรลุความเป็นจริงของคำมั่นสัญญาแห่งพระเจ้า เกี่ยวกับอำนาจการปกครองของบรรดาผู้มีคุณธรรมและการจัดตั้งรัฐบาลของอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) แต่ท่านทั้งหลายรู้หรือไม่ว่า ผลตอบแทนของการรอคอย (อินติซ๊อร) และรางวัลของผู้รอคอยนั้นคืออะไร

    ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้ให้คำตอบต่อคำถามข้อนี้ไว้ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่อไปนี้ :

อบูบะซีรได้รายงานจากท่านอิมามซอดิก (อ.) ว่า ท่านอิมามได้กล่าวในวันหนึ่งว่า :

 ألا أخبركم بما لا يقبل الله عز وجل من العباد عملاً إلا به؟

"จะให้ฉันบอกพวกท่านไหมเล่า ถึงสิ่งที่อัลลอฮ์ ผู้ทรงเกริกเกียรติ ผู้ทรงเกรียงไกร จะไม่ทรงยอมรับการกระทำความดี (อะมั้ล) ของปวงบ่าว เว้นแต่ด้วยสื่อของมัน"

    อบูบะซีรกล่าวว่า : "ครับ (บอกมาเถิด)"

    ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า :

شهادة أن لا إله إلاّ الله، وأن محمداً رسول الله، والإقرار بما أمر الله، والولايةُ لنا، والبراءةُ من أعدائنا ـ يعني الأئمة خاصة ـ والتسليم لهم، والورع والاجتهاد والطمأنينة والانتظار للقائم عليه السلام

"คือการให้สัตย์ปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ และแท้จริงมุฮัมมัด คือ ศาสนทูตของพระองค์ และการยอมรับในสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงบัญชาใช้ และการยอมรับวิลายะฮ์ (อำนาจการปกครอง) ของเรา และการเอาตัวออกห่างจากบรรดาศัตรูของเรา (เราในที่นี้) หมายถึง บรรดาอิมามเฉพาะ และการยอมสวามิภักดิ์ต่อพวกเขา การสำรวมตน การอุตสาห์พยายาม (ในการปฏิบัติตามคำสอนของศาสนา) การมีความสงบมั่น และการรอคอยกออิม (มะฮ์ดี) (อ.)"

    จากนั้นท่านกล่าวต่อว่า :

 ان لنا دولةً يجيء الله بها إذا شاء

"สำหรับเราจะมีรัฐบาลหนึ่ง ซึ่งอัลลอฮ์จะทำให้มันเกิดขึ้นเมื่อพระองค์ทรงประสงค์"

    จากนั้นท่านกล่าวว่า :

من سره أن يكون من أصحاب القائم فلينتظر وليعمل بالورع ومحاسن الأخلاق وهو منتظر، فان مات وقام القائم بعده كان له من الأجر مثل أجر من أدركه، فجدّوا وانتظروا هنيئا لكم أيتها العصابة المرحومة

"ผู้ใดที่ปรารถนาจะเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาผู้ช่วยเหลือของกออิม (มะฮ์ดี) ดังนั้นเขาจงรอคอย และจงปฏิบัติตนด้วยความเคร่งครัดและด้วยจริยธรรมที่ดีงามในขณะที่เขาเป็นผู้รอคอย ดังนั้นหากเขาตายลงในสภาพที่กออิมได้ยืนหยัดขึ้นหลังจาก (การตายของ) เขา เขาก็จะได้รับผลรางวัลเหมือนกับผู้ที่ได้อยู่ทันกออิม ดังนั้นท่านทั้งหลายจงปฏิบัติอย่างมุ่งมั่นและจงรอคอยเถิด ขอแสดงความยินดีต่อพวกท่านด้วย โอ้หมู่ชนผู้ได้รับความเมตตา" (1)

ภารกิจของผู้รอคอย (กออิม) ผู้ดำรงความยุติธรรม

    หนึ่งในหน้าที่สำคัญในยุคของการเร้นกาย (ฆ็อยบะฮ์) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) คือความมีสปิริตและจิตวิญญาณของการปฏิรูปและการแก้ไขปรับปรุงในสังคม ทุกคนจะต้องมีจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม และอุตสาห์พยายามในหนทางของการแก้ไขปรับปรุงและการขัดเกลาสมาชิกของสังคม เพื่อทำให้สังคมและสมาชิกของสังคมมีความพร้อมที่จะยอมรับการมาของรัฐบาลโลกของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสูงส่ง ทรงตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานว่า

وَ لَوْ لَا دَفْعُ اللَّهِ النَّاسَ بَعْضَهُم بِبَعْضٍ لَّفَسَدَتِ الْأَرْض

"และหากว่าอัลลอฮ์ไม่ทรงป้องกันมนุษย์ ซึ่งบางส่วนของพวกเขาด้วยอีกบางส่วนแล้วไซร้ แน่นอนแผ่นดินก็ย่อมเสื่อมเสียไปแล้ว" (2)

    ดังนั้นบรรดาผู้รอคอยอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ที่ไม่มีความพยายามที่จะช่วยกันแก้ไขปรับปรุงสังคม ความเสื่อมทรามก็จะแผ่ปกคลุมสังคมอย่างกว้างขวาง และความพร้อมของสังคมสำหรับการปรากฏกาย (ซุฮูร) ของท่านอิมาม (อ.) ก็จะถูกทำให้ล่าช้าออกไป การปฏิรูปและการแก้ไขปรับปรุงสังคมจะเป็นจริงได้ก็ด้วยการอาศัยการกำชับความดีและการห้ามปรามความชั่ว กฎเกณฑ์ของการกำชับความดีและการห้ามปรามความชั่วนี้ถูกเน้นย้ำไว้อย่างมากในตัวบทต่าง ๆ ของอิสลาม ทั้งในคัมภีร์อัลกุรอานและอัลฮะดีษ

   ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) บทหนึ่ง ท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) ได้ชี้ถึงการกำชับความดีและการห้ามปรามความชั่วว่า เป็นหนึ่งในคุณลักษณะที่สำคัญของบรรดาผู้รอคอย (มุนตะซิร) ท่านได้กล่าวว่า :

    "...พระผู้เป็นเจ้าจะทรงถือว่าพวกเขา (ผู้รอคอยการมาของอิมามมะฮ์ดี) ในยุคแห่งการเร้นกาย (ฆ็อยบะฮ์) นั้น เปรียบประหนึ่งผู้ที่ถือดาบต่อสู้กับศัตรูของศาสนา เคียงบ่าเคียงไหล่กับท่านศาสดา (ซ็อลฯ) พวกเขาคือผู้ที่มีความจริงใจต่อเราและเป็นชีอะฮ์ที่แท้จริงของเรา พวกเขาจะเรียกร้องเชิญชวนประชาชนมาสู่ศาสนาของพระผู้เป็นเจ้า ทั้งโดยลับและโดยเปิดเผย" (3)

    ในฮะดีษจากท่านอิมามซอดิก (อ.) ท่านได้กล่าวเช่นนี้ว่า :

المنتظرُ لأمرنا كالمتشحِّطِ بدمه في سبيل الله

"ผู้ที่รอคอยกิจการ (การปกครอง) ของเรานั้น ประดุจดั่งผู้ที่แปดเปื้อนไปด้วยเลือดของตนเองในหนทางของอัลลอฮ์" (4)

   ในทัศนะของท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) การรอคอยอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) คือการรอคอยอำนาจการปกครองของอิสลาม ดังนั้นความพยายามในการจัดเตรียมพื้นฐานไปสู่อำนาจการปกครองดังกล่าวจึงเป็นหน้าที่ของทุกคน และถือเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญสำหรับการปรากฏกาย (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) โดยท่านได้กล่าวว่า :

"การรอคอยการคลี่คลายความทุกข์ยาก (การมาของอิมามมะฮ์ดี) คือการรอคอยอำนาจของอิสลาม และจำเป็นที่เราจะต้องอุตสาหะพยายามเพื่อทำให้อำนาจของอิสลามบรรลุความเป็นจริงขึ้นในโลกให้ได้ และพื้นฐานต่างๆ ของการปรากฏขึ้นของมันจะต้องถูกจัดเตรียมขึ้น อินชาอัลลอฮ์ (หากพระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์)" (5)

เป้าหมายสูงสุดของการรอคอยอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.)

   ในตรรกะของการรอคอยการมาของรัฐบาลโลกของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) (ผู้ช่วยให้รอด) นั้น เป้าหมายสูงสุดของมันคือ การไปถึงจุดสูงสุดของการปฏิบัติตนเป็นบ่าวที่สมบูรณ์ที่สุดของพระผู้เป็นเจ้า และการไปถึงยังโลกที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่าต่าง ๆ แห่งความเป็นมนุษย์ เป็นโลกที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความยุติธรรม ความเสมอภาค ความสงบสุขและสันติภาพอย่างแท้จริง ภายใต้การปกครองของบรรดาผู้ทรงคุณธรรม (ซฮลิฮีน) ดังที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสว่า :

وَ نُرِیدُ أَن نَّمُنَّ عَلَى الَّذِینَ اسْتُضْعِفُوا فِی الْأَرْضِ وَ نَجْعَلَهُمْ أَئِمَّةً وَ نَجْعَلَهُمُ الْوَارِثِینَ

"และเราประสงค์ที่จะให้ความโปรดปรานแก่บรรดาผู้ถูกกดขี่ในแผ่นดิน และเราจะบันดาลให้พวกเขาเป็นผู้นำ และบันดาลให้พวกเขาเป็นผู้สืบทอด (อำนาจการปกครอง)" (6)

    และสิ่งนี้จะบรรลุความเป็นจริงได้ในยุคการมาของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) มีผู้ถามท่านอิมามริฎอ (อ.) ว่า :

يا ابن رسول اللَّه و من القائم منکم أهل البيت؟

"โอ้บุตรของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์! กออิม (ผู้ดำรงความยุติธรรม) จากพวกท่าน ผู้เป็นอะฮ์ลุลบัยต์นั้นคือใคร?"

   ท่านอิมาม (อ.) ตอบว่า :

الرابع من ولدي ابن سيّدة الإماء، يطهّر اللَّه به الأرض من کلّ جور و يقدّسها من کلّ ظلم، [و هو] الذي يشکّ الناس في ولادته و هو صاحب الغيبة قبل خروجه. فإذا خرج أشرقت الأرض بنوره [بنور ربّها] و وضع ميزان العدل بين الناس فلايظلم أحد أحداً

"เขาคือคนที่สี่จากลูกหลานของฉัน เป็นบุตรชายของหัวหน้าของทาสหญิง อัลลอฮ์จะทรงทำให้แผ่นดินสะอาดบริสุทธิ์จากทุกความอธรรมและการกดขี่ เขาคือผู้ซึ่งมวลมนุษย์จะคลางแคลงใจในการถือกำเนิดขึ้นของเขา เขาคือผู้ที่จะมีการเร้นกายก่อนการยืนหยัดต่อสู้ของเขา และเมื่อเขาปรากฏตัวขึ้น แผ่นดินจะเปล่งประกายไปด้วยรัศมีขององค์พระผู้อภิบาลของมัน และตราชูแห่งความยุติธรรมจะถูกวางลงในระหว่างมวลมนุษย์ โดยที่จะไม่มีผู้ใดอธรรมต่อผู้ใดอีก..." (7)


แหล่งอ้างอิง :

(1)- ตารีค อัลอิมามิซซานี อะชัร , เชคอับบาส กุมมี , หน้าที่ 146 ; บิฮารุ้ลอันวาร , อัลลามะฮ์มัจญ์ลิซี , เล่มที่ 52 , หน้าที่ 140

(2) อัลกุรอาน บทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 251

(3) มะฮ์ดี เมาอูด, หน้า 893

(4) บิฮารุลอันวาร, เล่ม 52, หน้า 123

(5) ซอฮีเฟเย นูร, เล่ม 2, หน้า 198

(6) อัลกุรอาน บทอัลก็อศ๊อศ โองการที่ 5

(7) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 2, หน้าที่ 321 – 322


บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 52 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

25525121
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
2345
5556
13899
25471781
161412
549412
25525121

อ 28 ม.ค. 2025 :: 10:58:14