จุดประสงค์จากคำว่า “โรม” (الرُّوْم) ในริวายะฮ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับยุคสุดท้าย (อาคิรุซซะมาน) และการปรากฏตัวของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) นั้น คือชนชาติต่างๆ ในยุโรปและการขยายตัวของพวกเขาในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมาในอเมริกา คนเหล่านี้เป็นลูกหลานของโรมและทายาทของจักรวรรดิโรมันในประวัติศาสตร์
บางทีอาจมีผู้กล่าวว่า : ชาวโรมซึ่งพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งทรงประทานซูเราะฮ์ (บท) หนึ่งของอัลกุรอานลงมาเกี่ยวกับพวกเขา และท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และชาวมุสลิมภายหลังท่านได้ต่อสู้กับพวกเขานั้น ไม่ใช่ชาวโรมกลุ่มนี้ เนื่องจากพวกเขาเหล่านั้นคือชาวเมืองไบแซนไทน์ ซึ่งมีเมืองหลวงเป็นกรุงโรม ในอิตาลี และต่อมากลายเป็นกรุงคอนสแตนติโนเปิล จนกระทั่งในที่สุดชาวมุสลิมก็เข้ายึดครองเมืองนี้เมื่อประมาณ 500 ปีที่แล้ว และพวกเขาก็ตั้งชื่อเมืองนี้ว่า "อิสลามบูล" และประชาชนต่างออกเสียงว่า "อิสตันบูล"
คำตอบก็คือ : จริงอยู่ที่ว่าชาวโรม ในขณะที่อัลกุรอานซูเราะฮ์อัรรูม ถูกประทานลงมาและมีริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่าง ๆ กล่าวถึงเกี่ยวกับพวกเขานั้น พวกเขาเป็นผู้ที่สนับสนุนจักรวรรดิโรมันหรือที่รู้จักกันดีในนามไบแซนไทน์ แต่ชาวตะวันตกในปัจจุบันก็ไม่ใช่คนอื่นจากพวกเขา ทว่าพวกเขาเป็นส่วนขยายตัวทางการเมืองและอารยธรรมของพวกเขา และถือเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขา ... และบรรดาชาติต่าง ๆ อย่างเช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี และประเทศอื่น ๆ ในแง่ของวัฒนธรรม การเมืองและศาสนา ก็เป็นเสาหลักที่แท้จริงของจักรวรรดิโรมัน และความจริงที่ว่าในเวลานั้นพวกเขาถูกเรียกว่า พื้นที่ภายใต้อิทธิพลของกรุงโรมและอาณานิคม ข้อเท็จจริงนี้ก็ไม่อาจปฏิเสธได้เช่นกัน
ยิ่งไปกว่านั้น บรรดาจักรพรรดิไบแซนไทน์แห่งโรมันเองในช่วงสองพันปีที่มีเมืองหลวงอยู่ในกรุงโรมและคอนสแตนติโนเปิลนั้น ก็ไม่ได้มีเชื้อชาติอิตาลีเหมือนกันทั้งหมด แต่มีเชื้อชาติที่หลากหลายของยุโรป และบางทีอาจมีชาวกรีกอยู่ด้วยเช่นกัน หลังจากที่กรีซได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันแล้ว
บางทีนี่อาจเป็นเหตุผลว่า ทำไมเมื่อจักรวรรดิโรมันดั้งเดิมอ่อนแอลงและถูกจำกัดอยู่ในกรุงคอนสแตนติโนเปิลและบริเวณโดยรอบและล้อมรอบด้วยทะเลของกลุ่มประเทศอิสลาม ชาวยุโรปจึงอ้างสิทธิ์ในมรดกของพวกเขา และกษัตริย์จำนวนหนึ่งของพวกเขาในเยอรมนีและที่อื่น ๆ ถูกเรียกว่า ซีซาร์
การเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้ในจักรวรรดิและรัฐบาลทั้งหลายเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากการปกครองได้ถูกเคลื่อนย้ายจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่งและจากชนชาติหนึ่งไปยังอีกชนชาติหนึ่ง และสิ่งนี้ไม่ขัดแย้งกับการคงอยู่ของชื่อและคุณลักษณะพื้นฐานของมัน
ดังนั้น บรรดาหะดีษอันทรงเกียรติที่บอกเล่าเกี่ยวกับอนาคตของชาวโรม หรือที่ชาวอาหรับเรียกพวกเขาว่า "คนผิวเหลือง" (بَنِى الْأَصْفَرِ) ไม่เพียงแต่หมายถึงชาวโรมไบแซนไทน์และชาวอิตาลีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชนชาติและชนเผ่าทั้งหลายทั้งที่เป็นพวกฝรั่งและไม่ใช่ฝรั่งที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา
ด้วยเหตุนี้ ในหนังสือประวัติศาสตร์ ชาวมุสลิมจึงเรียกพวกเขาว่าชาวโรมและบางครั้งก็เรียกว่าชาวฝรั่ง แต่ในขณะเดียวกันจะเรียกพวกเขาทั้งหมดว่าชาวโรม และเมื่อรวมพวกเขาเข้าด้วยกันจะเรียกว่า "อาร์วาม"
นอกจากนั้น สิ่งที่เข้าใจได้จากอัลกุรอานซูเราะฮ์อัรรูม และหะดีษในเรื่องนี้ เกี่ยวกับการตั้งภาคีของพวกเขาต่ออัลลอฮ์ และการเป็นกลุ่มพรรคต่างๆ และบรรดาผู้ปฏิบัติตามของพวกเขา ในโองการที่ 31-32 และในซูเราะฮ์อัลกะฮ์ฟี โองการที่ 12, 21 และอื่น ๆ นั้น จุดประสงค์ก็คือ ประชาชาติและกลุ่มพรรคต่างๆ ที่อ้างว่าปฏิบัติตามมะซีห์ อีซา (อ.) และเป็นที่ชัดเจนว่า ความเป็นผู้นำของหมู่ชนชาวคริสต์อยู่ในมือของชาวโรมอิตาลีและคอนสแตนติโนเปิล จากนั้นชาวตะวันตกก็สืบทอดสิ่งนี้มาจากพวกเขา
ชาวโรมได้ถูกกล่าวถึงในริวายะฮ์ (คำรายงาน) จำนวนมากที่เกี่ยวกับยุคแห่งการปรากฏตัวของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) ส่วนหนึ่งจากริวายะฮ์เหล่านั้น คือ ริวายะฮ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับฟิตนะฮ์ (การปลุกปั่น) และการครอบงำของพวกเขาเหนือดินแดนต่างๆ ของชาวมุสลิมที่กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น และริวายะฮ์อีกบางส่วนเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายกองเรือสงครามของพวกเขาไปยังประเทศอาหรับทั้งหลาย ในช่วงเวลาก่อนที่ท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) จะปรากฏตัว
มีรายงานจากท่านอิมามซอดิก (อ.) ซึ่งท่านกล่าวว่า :
إذا رأيت الفتنة في بلاد الشام فالموت حتى يتحرك بنو الأصفر فيسيرون إلى بلاد العرب، فتكون بينهم الوقائع
"เมื่อท่านเห็นความโกลาหล (ฟิตนะฮ์) ในแผ่นดินชาม (ลิแวนต์) ดังนั้นความตายก็จะเกิดขึ้น จนกระทั่งชาวผิวสีเหลือง (ชาวตะวันตก) จะเคลื่อนทัพไปยังดินแดนอาหรับ แล้วเหตุการณ์ต่างๆ จะเกิดขึ้นในระหว่างพวกเขา" (1)
(ชาม หรือ อัชชาม (ลิแวนต์) ในอดีตจะครอบคลุมตามแนวชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก โดยประมาณครอบคลุมประเทศต่างๆ ที่อยู่ในโซนนั้น เช่น อิสราเอล จอร์แดน เลบานอน ซีเรีย และพื้นที่ใกล้เคียงบางส่วน – ผู้แปล)
และฟิตนะฮ์ (ความวุ่นวาย) ของดินแดนชามที่เกี่ยวข้องกับยุคการปรากฏตัวของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) นั้นชี้ถึงขั้นตอนของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในดินแดนชามภายหลังจากฟิตนะฮ์และการครอบงำของชาวต่างชาติต่อประชาชาติอิสลาม และนั่นหมายความว่า ชาวตะวันตก (คนผิวเหลือง) พบว่าตัวเองมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าแทรกแซงทางทหารโดยตรง หลังจากที่ไม่สามารถควบคุมพื้นที่บริเวณรอบปาเลสไตน์ได้แล้ว เนื่องจากการต่อต้านของประชาชนและกระแสการเมืองที่ขัดแย้งกัน การแทรกแซงทางทหารของพวกเขาจะเผชิญกับการต่อต้านจากชาวมุสลิมในกลุ่มประเทศอาหรับ
มีรายงานจากท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.) ซึ่งท่านกล่าวว่า :
وينادي مناد في شهر رمضان من ناحية المشرق عند الفجر: يا أهل الهدى اجتمعوا. وينادي مناد من قبل المغرب بعد ما يغيب الشفق: يا أهل الباطل اجتمعوا. وتقبل الروم إلى ساحل البحر عند كهف الفتية، فيبعث الله الفتية من كهفهم مع كلبهم، منهم رجل يقال له مليخا، وآخر خملاها، وهما الشاهدان المسلمان للقائم
"ในเดือนรอมฎอน ในช่วงเวลารุ่งอรุณ จะมีผู้ป่าวประกาศจากทิศตะวันออกประกาศว่า : "โอ้บรรดาผู้ที่อยู่ในทางนำ (ผู้ศรัทธา) ทั้งหลายจงมารวมตัวกันเถิด" และในช่วงเวลาที่แสงแดงที่จับที่ท้องฟ้าทางทิศตะวันตกหายลับไป จะมีผู้ป่าวประกาศอีกผู้หนึ่งประกาศว่า : "โอ้บรรดาผู้หลงผิดทั้งหลาย จงมารวมตัวกันเถิด" และชาวโรมก็มาถึงชายฝั่งทะเลที่อยู่ใกล้ถ้ำของชาวถ้ำ (อัศฮาบุกะฮ์ฟี่) แล้วอัลลอฮ์จะทรงส่งบรรดาชายหนุ่มออกมาจากถ้ำพร้อมสุนัขของพวกเขา ในจำนวนนี้มีชายคนหนึ่งชื่อมะลีคอ และอีกคนหนึ่งชื่อค็อมละฮา และเขาทั้งสองคือผู้เห็นเหตุการณ์ ผู้ที่จะสวามิภักดิ์ต่อท่านกออิม อิมามมะฮ์ดี (อ.)” (2)
และบางทีการเคลื่อนไหวทางทหารนี้อาจจะเป็นความต่อเนื่องจากการเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้หรืออาจจะเป็นการเคลื่อนไหวเดิมที่มีอยู่แล้ว และหะดีษบทนี้ชี้ให้เห็นว่า มันจะเกิดขึ้นใกล้กับช่วงเวลาการปรากฏตัวของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) ทั้งนี้เนื่องจากว่า หลังจากเสียงป่าวประกาศในเดือนรอมฎอนนั้น เหตุการณ์ต่างๆ จะติดตามกันมาอย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนมุฮัรร็อม และการปรากฏตัวของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) นั้นจะเกิดขึ้นในคืนที่ 10 และเป็นวันที่ 10 ของเดือนมุฮัรร็อม (ตรงกับวันอาชูรอ)
ตามริวายะฮ์ (คำรายงาน) บางส่วน ชี้ให้เห็นว่า กองกองทัพของตะวันตกจะเข้าสู่ดินแดนชามและขึ้นบกที่เมืองเอเคอร์ (อักกา) และเมืองซูร และตามริวายะฮ์บทนี้ พวกเขาจะยกพลขึ้นบกใกล้ถ้ำของบรรดาชายหนุ่มชาวถ้ำ (อัศฮาบุลกะฮ์ฟี่) หมายถึงในเมืองแอนติออก ของชายฝั่งซีเรียและตุรกี
มีหะดีษมากมายเกี่ยวกับบรรดาชายหนุ่มชาวถ้ำเหล่านี้ และพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง จะทรงให้พวกเขาปรากฏตัวในยุคสุดท้าย (อาคิรุซซะมาน) พวกเขาจะเป็นสัญญาณสำหรับประชาชน และพวกเขาจะอยู่ในหมู่สาวกของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) ซึ่งเราจะกล่าวถึงพวกเขาในหมู่บรรดาสหาย (สาวก) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.)
วิทยปัญญา (ฮิกมะฮ์) หรือเหตุผลที่แฝงอยู่เบื้องหลังการปรากฏตัวของพวกเขาในช่วงที่กองทัพตะวันตกยกพลขึ้นบกในช่วงเวลาที่สำคัญนั้นก็คือ พวกเขาจะเป็นสัญลักษณ์สำหรับชาวคริสต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบรรดาสาวกของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) จะนำสำเนาต้นฉบับของคัมภีร์โตราห์และอินญีลออกมาจากถ้ำในเมืองแอนติออก ดังที่ถูกกล่าวไว้ในหะดีษต่างๆ และจะใช้มันเป็นหลักฐานพิสูจน์ต่อชาวโรมและชาวยิว ถ้ำนี้อาจเป็นถ้ำเดียวกันกับถ้ำของบรรดาชายหนุ่ม (อัศฮาบุลกะฮ์ฟี่) ดังกล่าวหรืออาจเป็นถ้ำอื่นก็ได้
ในหะดีษบางบท มีการกล่าวถึงพวกอันธพาลชาวโรม (مَارِقَةُ الرُّوْم) ซึ่งจะมาตั้งค่ายพักอยู่ที่เมืองร็อมละฮ์ในปีที่ที่ท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) ปรากฏตัว ดังที่ญาบิร ญุอ์ฟี รายงานจากท่านอิมามบากิร (อ.) ว่า :
وستقبل مارقة الروم حتى ينزلوا الرملة، فتلك السنة يا جابر فيها اختلاف كثير في كل أرض من ناحية الغرب
“และพวกอันธพาลชาวโรมจะเข้ามา จนกระทั่งพวกเขาจะตั้งค่ายพักที่เมืองรอมละฮ์ โอ้ญาบิรเอ๋ย! แล้วในปีนั้น จะมีความขัดแย้งอย่างมากในทั่วทั้งแผ่นดินอันเกิดจากตะวันตก” (3)
แน่นอนเป็นไปได้ว่าพวกอันธพาลเหล่านี้ อาจเป็นทหารรับจ้างชาวตะวันตกที่อาสาทำสงครามร่วมกับชาวยิว ดังนั้นพวกเขาจะยกพลขึ้นบกในเมืองร็อมละฮ์ของปาเลสไตน์ด้วยจุดประสงค์นี้ และจะเห็นได้ชัดว่าความแตกต่างที่ถูกกล่าวถึงในริวายะฮ์ระหว่างคำว่า "มัฆริบ" (มาเกร็บ) และ "ฆ็อรบ์" (ตะวันตก) มัฆริบ (มาเกร็บ คือบรรดาประเทศอิสลาม โดยที่จะกล่าวถึงหลังจากมันว่าเหตุการณ์แรกที่จะเกิดขึ้นกับดินแดนชามคือการถูกทำลายล้างของมัน และเป็นไปได้ว่าการทำลายล้างนั้นจะเกิดจากชาวตะวันตก
สิ่งที่ควรพิจารณาในเรื่องนี้ก็คือสิ่งที่ได้รับรายงานมาจากอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ในการอรรถาธิบายโองการต้น ๆ ของซูเราะฮ์อัรรูม
الٓمٓ غُلِبَتِ ٱلرُّومُ فِىٓ أَدْنَى ٱلْأَرْضِ وَهُم مِّنۢ بَعْدِ غَلَبِهِمْ سَيَغْلِبُونَ فِى بِضْعِ سِنِينَ ۗ لِلَّهِ ٱلْأَمْرُ مِن قَبْلُ وَمِنۢ بَعْدُ ۚ وَيَوْمَئِذٍۢ يَفْرَحُ ٱلْمُؤْمِنُونَ بِنَصْرِ ٱللَّهِ ۚ يَنصُرُ مَن يَشَآءُ ۖ وَهُوَ ٱلْعَزِيزُ ٱلرَّحِيمُ
"อะลิฟ ลาม มีม กรุงโรมถูกพิชิตแล้ว ในดินแดนอันใกล้นี้ แต่หลังจากความปราชัยของพวกเขาแล้วพวกเขาจะได้รับชัยชนะ ในเวลาไม่กี่ปีต่อมา กิจการทั้งก่อนหน้าและหลังจากนี้เป็นสิทธิของอัลลอฮ์ และวันนั้นบรรดาผู้ศรัทธาจะยินดีปรีดา ด้วยการช่วยเหลือของอัลลอฮ์ พระองค์ทรงช่วยเหลือผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และพระองค์เป็นผู้ทรงอำนาจ ผู้ทรงเมตตาเสมอ" (4)
มีรายงานจากท่านอิมามบากิร (อ.) ว่า ท่านได้อรรถาธิบายความช่วยเหลือของพระผู้เป็นเจ้าต่อบรรดาผู้ศรัทธาในโองการนี้ว่า จะเกิดขึ้นด้วยการปรากฏตัวของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) และดูเหมือนว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงทำให้ท่านได้รับชัยชนะ เหนือชาวโรม (5)
ในบรรดาริวายะฮ์อื่น ๆ ในบริบทนี้ คือริวายะฮ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงมาของท่านศาสดาอีซา (อ.) และการเรียกร้องเชิญชวนของท่านต่อคริสเตียนเพื่อให้พวกเขาให้มานับถือศาสนาอิสลามและให้ปฏิบัติตามท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) ซึ่งริวายะฮ์เหล่านี้จะอรรถาธิบายพระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงตรัสว่า :
وَإِنَّهُۥ لَعِلْمٌۭ لِّلسَّاعَةِ
"และแท้จริงเขา (อีซา) เป็นเครื่องหมายหนึ่งแห่งวันอวสาน" (6)
وَإِن مِّنْ أَهْلِ الْكِتَابِ إِلَّا لَيُؤْمِنَنَّ بِهِ قَبْلَ مَوْتِهِ ۖ وَيَوْمَ الْقِيَامَةِ يَكُونُ عَلَيْهِمْ شَهِيدًا
"และไม่มีชาวคัมภีร์คนใด นอกจากเขาจะต้องศรัทธาต่อเขา (อีซา) ก่อนที่เขาจะตาย และในวันกิยามะฮ์ เขา (อีซา) จะเป็นพยานยืนยันพวกเขาเหล่านั้น" (7)
หมายความว่า ท่านจะเป็นหนึ่งในสัญญาณของวันอวสาน และเมื่อพระผู้เป็นเจ้าทรงให้ท่านลงมายังโลก ชาวคริสเตียนและชาวยิวทุกคนก็จจะศรัทธาในตัวท่าน และจะเห็นท่านและปาฏิหาริย์ของท่านก่อนที่ท่านจะจากโลกนี้ไป
และในอีกริวายะฮ์หนึ่งกล่าวว่า ท่านศาสดาอีซา (อ.) จะพิสูจน์หลักฐานต่อชาวโรมด้วยสื่อท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) และปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานแก่ท่าน :
وبه عيسى بن مريم يحتج على الروم
“และอีซา บุตรของมัรยัม จะพิสูจน์หลักฐานโดยสื่อเขา (มะฮ์ดี)” (8)
หลังจากปาฏิหาริย์ของการลงมาจากฟากฟ้าของท่านศาสดาอีซา (อ.) ท่านจะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ทางการเมือง และจะทำให้ชาวตะวันตกโกรธแค้นและทำการปฏิวัติบรรดารัฐบาลของพวกเขา ดังที่เราจะกล่าวถึงเรื่องนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับการลงมาจากฟากฟ้าของท่านศาสดาอีซา (อ.)
ในบรรดาริวายะฮ์ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีริวายะฮ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาสงบศึกระหว่างชาวมุสลิมและชาวโรม ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) จะลงนามในสนธิสัญญากับพวกเขาว่าจะไม่มีการรุกรานต่อกัน ตามรูปการณ์แล้วการทำสนธิสัญญานี้จะเกิดขึ้นภายหลังจากสมรภูมิใหญ่ในการปลดปล่อยอัลกุดส์ (บัยตุลมักดิส) ซึ่งจะเกิดขึ้นในสามด้าน คือเอเคอร์ - กรุงเยรูซาเล็ม - แอนติออก ระหว่างกองทัพของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) และกองทัพของซุฟยานี ด้วยการสนับสนุนของชาวยิวและชาวโรม และหลังจากชัยชนะของท่านอิมามะฮ์ดี (อ.) และการเข้าสู่อัลกุดส์ และการลงมาของท่านศาสดาอีซา (อ.)
และดูเหมือนว่าท่านศาสดาอีซา (อ.) จะมีบทบาทเป็นสื่อกลางและผู้ไกล่เกลี่ยในความขัดแย้งและการต่อสู้ครั้งนี้ มีรายงานจากท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ซึ่งท่านกล่าวว่า :
يا عوف أعدد ستة تكون بين يدي الساعة.. وفتنة لا يكون بيت من العرب الا دخلته، وهدنة تكون بينكم وبين بني الأصفر. ثم يغدرونكم فيأتونكم تحت ثمانين غاية، تحت كل غاية إثنا عشر ألفا
"โอ้ เอาฟ์! จงนับหกเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นก่อนวันอวสาน ... และ (ในจำนวนนั้น) จะเกิดฟิตนะฮ์ (ความโกลาหล) โดยที่ไม่มีบ้านใดของชาวอาหรับเว้นแต่มันจะเข้าไป และสนธิสัญญาสงบศึกจะเกิดขึ้นระหว่างพวกท่านกับพวกคนผิวเหลือง (ชาวตะวันตก) จากนั้นพวกเขาก็จะละเมิดสนธิสัญญาต่อพวกท่าน และพวกเขาจะโจมตีพวกท่านด้วยกองทัพแปดสิบกองทัพ แต่ละกองทัพประกอบด้วยทหาร 12,000 นาย” (9)
นอกจากนี้ยังมีรายงานจากท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) อีกเช่นกันซึ่งท่านกล่าวว่า :
بينكم وبين الروم أربع هدن، الرابعة على يد رجل من آل هرقل، تدوم سنين (سنتين) فقال له رجل من عبد القيس يقال له السؤدد بن غيلان، من إمام الناس يومئذ، فقال : المهدي من ولدي
"สนธิสัญญาสงบศึกสี่ฉบับจะเกิดขึ้นระหว่างพวกท่านกับชาวโรม โดยฉบับที่ 4 จะลงนามโดยบุรุษคนหนึ่งจากวงศ์วานเฮราคลิอัส ซึ่งจะดำเนินอยู่ไม่กี่ปี (สองปี) ในเวลานี้เองชายคนหนึ่งจากเผ่าอับดุลก็อยซ์ ชื่อ ซุอ์ดัด บิน ฆีลาน ได้ถามว่า : "ในวันนั้น ผู้นำ (อิมาม) ของประชาชนคือใคร?" ท่านกล่าวว่า : "มะฮ์ดี จากลูกหลานของฉัน" (10)
ในหะดีษบางบท กล่าวถึงระยะเวลาของสนธิสัญญาสงบศึกนี้คือเจ็ดปี แต่ชาวตะวันตกจะละเมิดสนธิสัญญานี้ในเวลาเพียงสองปี และพวกเขาจะทรยศต่อชาวมุสลิม และพวกเขาก็จะยกทัพมาภายใต้ธงรบแปดสิบธงรบหรือ (แปดสิบ) กลุ่มโดยมีทหารประมาณหนึ่งล้านคน แล้วการต่อสู้กับพวกเขาก็จะเกิดขึ้นบริเวณชายฝั่งของปาเลสไตน์และดินแดนชามเช่นกัน
และหลังจากสงครามนี้ ท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) จะออกเดินทางเพื่อพิชิตและปลดปล่อยยุโรปและโลกที่ไม่ใช่อิสลาม ซึ่งจะกล่าวถึงในเนื้อหาเกี่ยวกับการปรากฏตัวของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.)
ริวายะฮ์อีกส่วนหนึ่ง จะอธิบายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของซุฟยานีกับชาวโรม และการหลบหนีของผู้บรรดาไพร่พลของเขาไปยังดินแดนโรมหลังจากการพ่ายแพ้ของซุฟยานี และการตามล่าพวกเขาโดยบรรดาสาวกของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) และการนำตัวพวกเขากลับมา
มีรายงานจากท่านอิมามบากิร (อ.) ซึ่งท่านกล่าวว่า :
إذ قام القائم وبعث بجيشه إلى بني أمية هربوا إلى الروم، فيقولون لهم لا ندخلكم حتى تدخلوا في ديننا، فيفعلون ويدخلونهم. فإذا نزل بحضرتهم أصحاب القائم (أي نزل جيشهم في مواجهة الروم) طلبوا الأمان والصلح أصحاب القائم لا نفعل حتى تدفعوا إلينا أهل ملتنا فيدفعونهم إليهم
"เมื่อกออิม (อ.) ยืนหยัดขึ้น เขาจะส่งกองทัพของเขาไปยังบนีอุมัยยะฮ์ (พวกซุฟียานี) พวกเขาจะหนีไปยังโรม พวกเขา (ชาวโรม) จะกล่าวกับพวกเขาว่าเราจะไม่อนุญาตให้พวกท่านเข้ามา จนกว่าพวกท่านจะเข้ามาอยู่ในศาสนาของพวกเรา แล้วพวกเขาก็ยอมทำตามและเข้าไปอยู่กับพวกเขา และเมื่อบรรดาสหายผู้ช่วยเหลือของกออิม (อ.) ได้เผชิญหน้ากับชาวโรม พวกเขาร้องขอการสงบศึกและความปลอดภัย บรรดาสหายของกออิม (อ.) ตอบพวกเขาว่า เราจะไม่ให้ความปลอดภัยแก่พวกท่าน จนกว่าพวกท่านจะมอบตัวพลเมืองของเราคืนให้แก่เรา ดังนั้นเพวกเขาจึงส่งคืนพวกเขาเหล่านั้นให้กับบรรดาสาวกของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.)" (11)
ริวายะฮ์อื่น ๆ แสดงให้เห็นว่าซุฟยานีมีวัฒนธรรมแบบตะวันตก เขาใช้ชีวิตอยู่ในโรม (ตะวันตก) และหลังจากนั้นเขาจะเดินทางเข้าสู่ดินแดน และเริ่มต้นการเคลื่อนไหวจากที่นั่น ในหนังสืออัลฆ็อยบะฮ์ ของเชคฏูซี ได้กล่าวว่า :
يقبل السفياني من بلاد الروم متنصرا في عنقه صليب، وهو صاحب القوم
“ซูฟานีซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มชน จะมาจากโรมโดยแขวนไม้กางเขนที่คอเหมือนชาวคริสต์) (12)
ในบรรดาริวายะฮ์ทั้งหลาย มีริวายะฮ์บางส่วนที่พูดถึงการปลดปล่อยของดินแดนโรม โดยท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) และการเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามของชาวโรม แน่นอนว่าสิ่งนี้น่าจะเกิดขึ้นภายหลังการฝ่าฝืนสนธิสัญญาสงบศึกและการโจมตีทางทหารของพวกเขายังชายฝั่งปาเลสไตน์และดินแดนชามและความพ่ายแพ้ของพวกเขา และเป็นไปได้ว่า นี่เป็นการต่อสู้ที่หนักหน่วงที่สุดของชาวโรมกับท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) แล้วหลังจากนั้นความเลื่อมไสต่ออิสลามก็จะปรากฏขึ้นในหมู่ชนชาติทั้งหลายของพวกเขา
และในบางริวายะฮ์ (คำรายงาน) ได้กล่าวว่า :
يفتح المدينة الرومية بالتكبير في سبعين ألفا من المسلمين
“ด้วยการกล่าวตักบีร (อัลลอฮุ อักบัร) กรุงโรมจะถูกพิชิตด้วยชาวมุสลิมจำนวนเจ็ดหมื่นคน” (13)
เป็นไปได้ที่การล่มสลายของเมืองหลวงของตะวันตกนี้จะเกิดขึ้นด้วยการประท้วงของชาวตะวันตกและการกล่าวตักบีรของพวกเขา โดยมีท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) และบรรดาสาวกของท่านร่วมอยู่กับพวกเขาด้วย
มีรายงานจากท่านอิมามบากิร (อ.) ซึ่งท่านกล่าวว่า :
ثم تسلم الروم على يده فيبني لهم مسجدا، ويستخلف عليهم رجلا من أصحابه، ثم ينصرف
“จากนั้นชาวโรมก็จะเข้ารับอิสลามด้วยมือของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) และท่านจะสร้างมัสยิดให้พวกเขา และแต่งตั้งผู้สืบทอด (ตัวแทนปกครอง) คนหนึ่งจากบรรดาสาวกของท่าน จากนั้นท่านก็จะเดินทางกลับ” (14)
โดยรูปการณ์แล้ว ท่านศาสดาอีซา มะซีห์ (อ.) จะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงของประเทศต่างๆ ในโลกตะวันตก และนี่เป็นกรณีที่จะเกิดขึ้นในช่วงสองหรือสามปีที่ได้มีการทำสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างท่านอิมาม (อ.) และชาวตะวันตก และบางทีในช่วงเวลานี้ ท่านศาสดาอีซา (อ.) จะใช้ชีวิตอยู่ในตะวันตก หรือไม่เช่นนั้นก็จะการปรากฏตัวส่วนใหญ่อยู่ในตะวันตก
เชิงอรรถ :
1. อัลมะลาฮิม วัลฟิตัน, หน้า 107
2. บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 52, หน้า 275
3. บิชาร่อตุลอิสลาม, หน้า 102
4. อัลกุรอานบทอัรรูม โองการที่ 51
5. อัลมะฮัจญะฮ์, บะห์รอนี, หน้า 170
6. อัลกุรอานบทอัซซุครุฟ โองการที่ 61
7. อัลกุรอานบทอันนิซาอ์ โองการที่ 159
8. บิฮารุลอันวาร, เล่ม 52, หน้า 226
9. บิชาร่อตุลอิสลาม, หน้า 235 อ้างจาก อักดุดดุร็อร, ซัลมี และตามคำพูดของเขา บุคคอรี ได้บันทึกหะดีษบทนี้ไว้ในซอฮีฮ์ของเขา จากรายงานของเอาฟ์ บิน มาลิก
10. บิฮารุลอันวาร, เล่ม 51, หน้า 80 – หะดีษที่สิบสองจากหนังสือ อัลอัรบาอีน ของ ฮาฟิซ อบี นาอีม
11. บิฮารุลอันวาร, เล่ม 51, หน้า 88
12. อัลฆ็อยบะฮ์, เชคฏูซี, หน้า 278
13. บิชาร่อตุลอิสลาม, หน้า 297
14. บิชาร่อตุลอิสลาม, หน้า 251
เนื้อหาส่วนหนึ่งจาก : หนังสือ “อัศรุซซุฮูร” (ยุคแห่งการปรากฏตัวของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.))
แปลโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2024 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่