บรรดาผู้รอคอยการปรากฏกาย (ซุฮูร) ของท่านอิมามซะมาน (อ.) มีหน้าที่หลัก 3 ประการคือ :
ก. ความรู้สึกถึงการอยู่ร่วมในสังคมของท่านอิมาม (อ.ญ.)
แม้ท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) จะไม่ได้ปรากฏตัวให้เห็นในสังคม แต่ท่านก็อยู่ร่วมกับเราในสังคมตลอดเวลา และในความเป็นจริงแล้วเรากำลังรอคอยการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของท่าน ไม่ใช่รอคอยการอยู่ร่วม (ฮุฎูร) ของท่าน ผู้รอคอยที่แท้จริงนั้น ในทุกช่วงเวลาและในทุกสถานที่จะต้องรู้สึกและตระนักอยู่เสมอว่าท่านอิมาม (อ.ญ.) นั้นอยู่กับเขา และเห็นการกระทำและพฤติกรรมต่างๆ ของเขา ดังเช่นที่ท่านอิมาม (อ.) ได้เขียนและชี้ถึงประเด็นนี้ในจดหมายฉบับหนึ่งที่ท่านเขียนถึงเชคมุฟีด (ร.ฮ.) ว่า :
فَإِنَّا يُحِيطُ عِلْمُنَا بِأَنْبَائِكُمْ وَ لَا يَعْزُبُ عَنَّا شَيْءٌ مِنْ أَخْبَارِكُمْ
“แท้จริงเรามีความรู้ต่อข่าวคราวและความเป็นไปของพวกท่านเป็นอย่างดี และไม่มีข่าวคราวใดๆ ของพวกท่านที่จะถูกปิดบังไปจากเรา" [1]
ความเชื่อและความศรัทธาในประเด็นนี้ จะเป็นปัจจัยยับยั้งคนเราจากการกระทำในสิ่งที่เป็นความชั่วและการละเมิด
ข. การหล่อหลอมตัวตนให้มีคุณลักษณะและการกระทำที่ใกล้เคียงและสอดคล้องกับท่านอิมาม (อ.ญ.)
ผู้รอคอยที่แท้จริงนั้นคือบุคคลที่พยายามทำให้ความเชื่อ ความศรัทธา คุณลักษณะและพฤติกรรมของตนใกล้เคียงและสอดคล้องกับท่านอิมามซะมาน (อ.ญ.) เพื่อว่าด้วยวิธีดังกล่าวจะทำให้เขาเป็นชีอะฮ์และเป็นผู้ปฏิบัติตามท่านอย่างแท้จริง การพูดโกหก การนินทา การให้ร้ายป้ายสีผู้อื่น การทำลายเกียรติของผู้อื่น การไม่ระมัดระวังต่อทรัพย์สินบัยตุ้ลมาล (ทรัพย์สินทางศาสนา) สิทธิของเพื่อนมนุษย์และอื่นๆ ถือเป็นความขัดแย้งและสวนทางกับคุณลักษณะและการกระทำต่างๆ ของท่านอิมามซะมาน (อ.ญ.) และการขาดความเหมือนและความไม่สอดคล้องดังกล่าวนี้เองที่เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเร้นกาย (ฆ็อยบะฮ์) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.)
ดังเช่นที่อะลี บินเมะฮ์ซิยาร หลังจากที่เขาได้มีโอกาสเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ถึง 20 ครั้ง ทำให้เขาได้รับเตาฟีก (ประสบความสำเร็จ) ในการพบกับท่านอิมามซะมาน (อ.) เมื่อชายผู้หนึ่งได้มาหาเขาในขณะที่เขากำลังวิงวอนขอพรเคียงข้างอาคารกะอ์บะฮ์ เพื่อจะนำพาเขาไปพบท่านอิมาม (อ.ญ.) ชายผู้นั้นได้ถามเขาว่า مَا الَّذِی تُرِیدُ یَا أَبَا الْحَسَنِ؟ “เจ้าต้องการอะไร โอ้อบัลฮะซัน”
เขากล่าวว่า
الْإِمَامَ الْمَحْجُوبَ عَنِ الْعَالَمِ
“ฉันต้องการพบอิมามผู้เร้นกายหายลับไปจากโลกนี้”
ชายผู้นั้นกล่าวว่า
مَا هُوَ مَحْجُوبٌ عَنْكُمْ وَ لَكِنْ حَجَبَهُ سُوءُ أَعْمَالِكُم
“ท่าน (อิมาม) ไม่ได้เร้นกายหายลับไปจากพวกท่าน แต่การกระทำที่เลวร้ายต่างๆ ของพวกท่านต่างหากที่ปิดบังอำพรางท่าน (ไปจากพวกท่าน” [2]
ฉะนั้นพฤติกรรมและการกระทำต่างๆ ของเราเองที่ทำให้ท่านอิมาม (อ.ญ.) ต้องอยู่ในสภาพที่เร้นกาย (ฆ็อยบะฮ์) ไปจากสายตาของเรา
ค. การรู้จัก (มะอ์ริฟะฮ์) ต่อท่านอิมาม (อ.ญ.)
หน้าที่ที่สำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับผู้รอคอยอิมามซะมาน (อ.ญ.) คือการแสวงหาความรู้และการทำความรู้จัก (มะอ์ริฟะฮ์) ต่อท่านอิมาม (อ.) ผู้ที่กำลังรอคอย การทำความรู้จัก (มะอ์ริฟะฮ์) ดังกล่าวนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ถึงขั้นที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้กล่าวไว้ในคำพูดหนึ่งของท่านว่า
مَنْ مَاتَ وَ لَمْ يَعْرِفْ إِمَامَ زَمَانِهِ مَاتَ مِيتَةً جَاهِلِيَّةً
“ผู้ใดที่ตายลงโดยไม่รู้จักอิมามแห่งยุคสมัยของตน เขาตายในสภาพญาฮิลียะฮ์ (ยุคอนารยะ)” [3]
ความรู้และการรู้จักนี้ครอบคลุมทั้งการรู้จักชื่อ เชื้อสาย คุณลักษณะ เป้าหมายและแผนงานต่างๆ ของท่าน ด้วยเหตุนี้เองเมื่อซุรอเราะฮ์ได้ถามท่านอิมามซอดิก (อ.) ว่า “หากข้าพเจ้าอยู่ถึงยุคของท่านอิมามซะมาน (อ.ญ.) ข้าพเจ้าควรจะกระทำอะไร” ท่านอิมาม (อ.) จึงได้แนะนำเขาให้อ่านดุอาอ์บทนี้ว่า :
اللَّهُمَ عَرِّفْنِي نَفْسَكَ فَإِنَّكَ إِنْ لَمْ تُعَرِّفْنِي نَفْسَكَ لَمْ أَعْرِفْ نَبِيَّكَ اللَّهُمَّ عَرِّفْنِي رَسُولَكَ فَإِنَّكَ إِنْ لَمْ تُعَرِّفْنِي رَسُولَكَ لَمْ أَعْرِفْ حُجَّتَكَ اللَّهُمَّ عَرِّفْنِي حُجَّتَكَ فَإِنَّكَ إِنْ لَمْ تُعَرِّفْنِي حُجَّتَكَ ضَلَلْتُ عَنْ دِينی
“โอ้อัลลอฮ์ โปรดทำให้ข้าฯ รู้จักพระองค์ด้วยเถิด เพราะแท้จริงหากข้าฯ ไม่รู้จักพระองค์แล้ว ข้าฯ ก็จะไม่รู้จักนบี (ศาสดา) ของพระองค์ โอ้อัลลอฮ์ โปรดทำให้ข้าฯ รู้จักศาสนทูตของพระองค์ด้วยเถิด เพราะแท้จริงหากข้าฯ ไม่รู้จักศาสนทูตของพระองค์แล้ว ข้าฯ ก็จะไม่รู้จักฮุจญะฮ์ (ข้อพิสูจน์) ของพระองค์ โอ้อัลลอฮ์ โปรดทำให้ข้าฯ รู้จักฮุจญะฮ์ (ข้อพิสูจน์) ของพระองค์ด้วยเถิด เพราะแท้จริงหากข้าฯ ไม่รู้จักรู้จักฮุจญะฮ์ (ข้อพิสูจน์) ของพระองค์แล้ว ข้าฯ ก็จะหลงทางออกจากศาสนาของข้าฯ" [4]
ดังนั้นหน้าที่สำคัญของผู้รอคอยที่แท้จริงนั้นสามารถสรุปได้ใน 3 ประเด็น หลักๆ คือ การสำนึกถึงการอยู่ร่วมของท่านกับเราในสังคม การหล่อหลอมตัวตนของเราให้มีคุณลักษณะและการกระทำที่ใกล้เคียงและสอดคล้องกับท่านอิมาม (อ.ญ.) และการทำความรู้จัก (มะอ์ริฟะฮ์) ต่อท่านอิมาม (อ.ญ.)
เชิงอรรถ :
[1] บิฮารุ้ลอันวาร, อัลลามะฮ์มัจญลิซี, เล่มที่ 53, หน้าที่ 175
[2] ดะลาอิลุลอิมามะฮ์, มุฮัมมัด บินญะรีร บินร็อซตัม ฏ็อบรี, หน้าที่ 542
[3] บิฮารุ้ลอันวาร, อัลลามะฮ์มัจญลิซี, เล่มที่ 32, หน้าที่ 331
[4] อัลกาฟี, เชคกุลัยนี, เล่มที่ 1, หน้าที่ 331
บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่