ทั้ง ๆ ที่ชาวเมืองกูฟะฮ์เป็นผู้ที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อท่านอิมามอะลี (อ.) และท่านอิมามฮุเซน (อ.) แต่ทำไมท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) จึงจะไปที่เมืองกูฟะฮ์อีก และจะจัดตั้งรัฐบาลของตนเองขึ้นในเมืองนั้น? จะกล่าวได้หรือไม่ว่า เมื่อพิจารณาในแง่มุมของยุทธศาสตร์ด้านการทหาร กูฟะฮ์เป็นเมืองที่เหมาะสม ดังนั้นท่านอิมาม (อ.) จึงไปที่นั่นและจัดตั้งรัฐบาลของท่านขึ้นที่นั่น? ทำไมท่านอิมาม (อ.) จึงไม่เลือกเอาเมืองหนึ่งเมืองใดในประเทศอิหร่าน?
คำตอบ :
เรื่องเกี่ยวกับท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) เป็นหนึ่งในเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งมีรากฐานที่มาอยู่ในคัมภีร์อัลกุรอาน และริวายะฮ์ (คำรายงาน) ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ก็ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ในขั้นมุตะวาติร (คือมีผู้รายงานจำนวนมากและมีการรายงานมาอย่างต่อเนื่อง) ปัจจุบันประเด็นดังกล่าวนับว่าเป็นหนึ่งในเนื้อหาที่แน่นอนชัดเจนยิ่งประการหนึ่งของศาสนาอิสลาม
มัซฮับ (แนวทาง) ชีอะฮ์อิมามียะฮ์จะพูดถึงเรื่องนี้ไว้มากกว่ามัซฮับ (แนวทาง) อื่น ๆ ทั้งนี้เนื่องจากบรรดาอิมาม (อ.) ผู้บริสุทธิ์ทุกท่านจะให้ความสำคัญในการอธิบายถึงเรื่องนี้ไว้เป็นพิเศษ ถึงขั้นที่ว่าทุกเวลาหากโอกาสอำนวยอิมามทุกท่านของเราจะกล่าวถึงการดำรงอยู่ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) และขบวนการปฏิวัติโลกของท่าน ด้วยเหตุนี้ในสายธารชีอะฮ์อิมามียะฮ์จะมีการกล่าวถึงรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับการปฏิวัติของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) และรัฐบาลโลกของท่าน อย่างไรก็ตามแม้เรื่องราวและคำรายงาน (ริวายะฮ์) เกี่ยวกับเรื่องนี้จะมีจำนวนมากมาย แต่การที่จะแยกแยะคำรายงาน (ริวายะฮ์) ที่ซอเฮี๊ยะห์ (ถูกต้อง) ออกจากคำรายงานที่ฎออีฟ (อ่อนแอ) นั้นเป็นหน้าที่ของผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์สาขานี้ ไม่ใช่ว่าเพียงแค่พบเห็นฮะดีษ (วจนะ) บทหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็จะตัดสินชี้ขาดได้ในทันทีว่าเรื่องราวของขบวนการปฏิวัติของท่านอิมาม (อ.) และสภาพของรัฐบาลของท่านจะต้องเป็นดังที่ปรากฏในคำรายงาน (ริวายะฮ์) ที่เราพบเห็น
แต่โดยภาพรวมแล้วรายละเอียดที่ได้กล่าวถึงในคำรายงานทั้งหลาย ส่วนหนึ่งของประเด็นต่าง ๆ ที่ถูกกล่าวถึงเกี่ยวกับรัฐบาลโลกของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) นั่นคือที่ตั้งของรัฐบาลของท่านซึ่งในบางคำรายงาน (ริวายะฮ์) ได้กล่าวถึงชื่อของเมืองกูฟะฮ์ไว้ แต่มีคำถามว่า ทำไมเมืองกูฟะฮ์จึงถูกกำหนดให้เป็นสถานที่ตั้งของรัฐบาลของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) ทั้ง ๆ ที่เมืองกูฟะฮ์นั้นมีประวัติที่ไม่ดีงามกรณีที่ประชาชนของเมืองนี้ไม่ซื่อสัตย์และไม่รักษาคำมั่นสัญญา จำเป็นต้องตอบว่า
ประการแรก พระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าต้องการที่จะให้รัฐบาลโลกและขบวนการยืนหยัดต่อสู้ของท่านอิมาม (อ.) ถูกจัดตั้งขึ้นโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองกูฟะฮ์ ซึ่งท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และบรรดาอิมาม (อ.) ผู้บริสุทธิ์ได้แจ้งข่าวดีเอาไว้ และมีการเน้นย้ำไว้อย่างมากมาย บางคำรายงาน (ริวายะฮ์) ได้ชี้ชัดว่าเป็นการกำหนดโดยพระผู้เป็นเจ้าโดยกล่าวว่า จุดเริ่มต้นของขบวนการปฏิวัติของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) จะเกิดขึ้นในมหานครมักกะฮ์ หลังจากนั้นสถานที่ตั้งรัฐบาลของท่านจะอยู่ในเมืองกูฟะฮ์
ประการที่สอง ความไม่ซื่อสัตย์ของประชาชนชาวเมืองกูฟะฮ์ในสมัยหนึ่งนั้น ไม่ใช่เหตุผลที่จะเป็นตัวชีวัดว่าในอนาคตซึ่งก็ยังไม่ชัดเจนว่าเมื่อใด ที่ว่าผู้คนในเมืองนั้นจะมีลักษณะของความไม่ซื่อสัตย์เพราะในอนาคตไม่เป็นที่ชัดเจนสำหรับเรา ยิ่งไปกว่านั้น ความไม่ซื่อสัตย์ของประชาชนชาวเมืองกูฟะฮ์ในสมัยของท่านอิมามอะลี (อ.) และท่านอิมามฮุเซน (อ.) ก็ไม่ใช่สาเหตุทำให้บ้านเมืองนั้นไร้ความดีงามและความน่าเชื่อถือไปด้วยก็หาไม่ ทั้งนี้เนื่องจากมีคำรายงาน (ริวายะฮ์) จากบรรดาอิมาม (อ.) ผู้บริสุทธิ์ ซึ่งท่านเหล่านั้นได้กล่าวสรรเสริญยกย่องเมืองกูฟะฮ์และชาวเมืองกูฟะฮ์ไว้ ซึ่งส่วนหนึ่งจากตัวอย่างของคำรายงานเหล่านั้นได้แก่
อับดุลลอฮ์ บินวะลีดเล่าว่า เราได้ไปพบท่านอิมามซอดิก (อ.) ในสมัยการปกครองของมัรวาน ท่านอิมามถามพวกเราว่า “พวกท่านมาจากไหน (เป็นชาวเมืองใด)” พวกเรากล่าวว่า “พวกเราเป็นชาวกูฟะฮ์” ท่านกล่าวว่า “ไม่มีแผ่นดินและเมืองใดที่จะรักเรามากไปกว่าชาวเมืองกูฟะฮ์” (1) (กล่าวคือชาวกูฟะฮ์นั้นมีความรักต่ออะฮ์ลุลบัยติ์มากกว่าชาวเมืองอื่น ๆ)
หากเราจะถือว่าคำรายงาน (ริวายะฮ์) บทนี้ เฉพาะเจาะจงในสมัยของท่านอิมามซอดิก (อ.) แล้วเราก็สามารถสรุปได้เช่นนี้ว่า ความไม่ซื่อสัตย์ของคนในยุคสมัยหนึ่งนั้นไม่ใช่เหตุผลที่จะชี้ว่าทุกยุคสมัยชาวเมืองนั้นจะต้องมีลักษณะที่ไม่มีความซื่อสัตย์ด้วย แต่ทว่าในยุคสมัยของท่านอิมามซอดิก (อ.) พวกเขาได้รับการยกย่องสรรเสริญโดยท่านอิมามซอดิก (อ.)
คำรายงานอีกบทหนึ่งจากท่านอิมามซอดิก (อ.) ซึ่งท่านกล่าวว่า
“วิลายะฮ์ (อำนาจการปกครอง) ของเราถูกนำเสนอแก่ชั้นฟ้าทั้งหลาย แผ่นดิน ภูเขาและเมืองต่างๆ และไม่มีผู้ใดยอมรับวิลายะฮ์ของเราเหมือนดังที่ชาวกูฟะฮ์ยอมรับ” (2)
ดังนั้นการมีอยู่ของคำรายงาน (ริวายะฮ์) ต่าง ๆ เช่นนี้ เป็นที่ชัดเจนว่า ความไม่ซื่อสัตย์ของกลุ่มชนหนึ่งอันเป็นเฉพาะนั้น ไม่ได้เป็นสาเหตุทำให้ประชาชนของเมืองหนึ่งจะต้องกลายเป็นผู้ที่มีลักษณะของความไม่ซื่อสัตย์ตลอดไป แต่ทว่าในทุกยุคสมัยชาวเมืองนั้น ๆ จะต้องถูกทดสอบ เพื่อจะได้รับรู้ว่าพวกเขาเป็นผู้ศรัทธาที่แท้จริงและมั่นคงต่อเป้าหมายต่าง ๆ ของตนเองหรือไม่
ประการที่สาม สถานที่ของเมืองกูฟะฮ์เป็นสถานที่ที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่ง บางทีเนื่องจากความศักดิ์สิทธิ์ของเมืองนี้นี่เองที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์ที่จะให้เมืองอันศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นสถานที่ตั้งของรัฐบาลของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) ผู้ช่วยให้รอดเพียงหนึ่งเดียวของโลก ผู้ที่จะมาแก้ไขปรับปรุงโลกในยุคสุดท้าย (ซึ่งเราเองไม่อาจที่จะล่วงรู้ถึงเหตุผลและฮิกมะฮ์ (วิทยปัญญา) ของพระองค์ในเรื่องนี้ได้) และสิ่งนี้ก็ไม่มีความเกี่ยวข้องแต่ประการใดกับสภาพการณ์ของประชาชนในที่นั้นที่ว่าพวกเขามีประวัติศาสตร์ที่ดีงามหรือไม่
มีคำรายงาน (ริวายะฮ์) ต่าง ๆ ในเรื่องของวิลายะฮ์ (อำนาจการปกครอง) ที่เนื่องมาจากความศักดิ์สิทธิ์ของเมืองกูฟะฮ์ ตัวอย่างเช่นคำรายงานต่อไปนี้
ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า “กูฟะฮ์เป็นสวนหนึ่งจากบรรดาสวนของสวรรค์ ในสถานที่แห่งนี้มีหลุมฝังศพของ (ศาสดา) นูห์ อิบรอฮีม ... และหลุมฝังศพของซัยยิดุลเอาซิยาอ์ (หัวหน้าของบรรดาผู้สืบทอดของท่านศาสดา) คือท่านอะมีรุลมุอ์มินีน” (3)
ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า “การบริจาคเงินหนึ่งดิรฮัมในเมืองกูฟะฮ์เทียบเท่ากับการบริจาคเงินจำนวน 100 ดิรฮัมในเมืองอื่น ๆ และการนมาซสองร่อกาอัตในเมืองกูฟะฮ์เทียบเท่ากับการนมาซ 100 ร่อกาอัต” (4)
ประการที่สี่ รัฐบาลของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) คือรัฐบาลโลก เมื่อท่านกำหนดให้เมืองกูฟะฮ์เป็นสถานที่ตั้งของรัฐบาลของท่าน ดังนั้นสถานที่ดังกล่าวจึงมิได้ถูกจำกัดว่าเป็นเฉพาะของประชาชนในเมืองนั้นเพียงเท่านั้น สถานที่ตั้งรัฐบาล (เมืองหลวง) ดังกล่าวนี้จะเป็นของชาวโลกทั้งมวล
พระผู้เป็นเจ้าทรงคัดเลือกแผ่นดินสี่แห่งท่ามกลางแผ่นดินทั้งหลาย โดยที่พระองค์ทรงตรัสว่า
وَ التِّينِ وَ الزَّيْتُونِ وَ طورِ سِينِينَ وَ هَذَا الْبَلَدِ الأَمِينِ
“ขอสาบานด้วยอัตตีน (ต้นมะเดื่อ) และอัซซัยตูน (ต้นมะกอก) และฎูรซีนาย และเมืองที่ปลอดภัย (บะละดุลอะมีน) นี้”
(อัลกุรอานบทอัตตีน โองการที่ 1-3)
**อัตตีน**คือเมืองมะดีนะฮ์ อัซซัยตูน คือบัยตุลมักดิส (เยรูซาเล็ม) ฎูรซีนีน คือเมืองกูฟะฮ์ และบะละดุลอะมีน คือเมืองมักกะฮ์” (5)
เชิงอรรถ :
1 - ซะฟีนะตุลบิฮาร เล่มที่ 7 หน้าที่ 543
2 - ซะฟีนะตุลบิฮาร เล่มที่ 7 หน้าที่ 546
3 - ซะฟีนะตุลบิฮาร เล่มที่ 7 หน้าที่ 544
4 - ซะฟีนะตุลบิฮาร เล่มที่ 7 หน้าที่ 543
5 -ซะฟีนะตุลบิฮาร เล่มที่ 7 หน้าที่ 543
อ่านเพิ่มเติมจากหนังสือต่อไปนี้
1. มะฮ์ดี เมาอูด, แปลโดย อะลี ดะวานี
2. อัลอิรชาด, เชคมุฟีด
บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2017 SAHIBZAMAN.NET-สื่อเรียนรู้อิสลามสำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่