หากจะมีคำถามข้อสงสัยในประเด็นคำถามที่ว่า ทำไมจึงเรียกลูกๆ ท่านของท่านอะลี บินอบีฏอลิบ (อ.) หมายถึง ฮะซันและฮุเซน (อ.) ว่า เป็นบุตรของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ)? คำตอบ คือหากเราได้ตรวจสอบจากบรรดาหนังสือตัฟซีร หนังสือประวัติศาสตร์และฮะดีษต่างๆ เราจะประจักษ์ว่าคำพูดดังกล่าว...
คำตอบ : หากเราได้ตรวจสอบจากบรรดาหนังสือตัฟซีร หนังสือประวัติศาสตร์และฮะดีษต่างๆ เราจะประจักษ์ว่าคำพูดดังกล่าวมิใช่เฉพาะแต่เพียงชีอะฮ์เท่านั้น ทว่าสามารถกล่าวได้ว่า บรรดานักวิชาการนักค้นคว้ามุสลิมกลุ่มต่างๆ ก็ได้ให้การยอมรับเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวนี้ ต่อไปนี้เราจะขอนำเสนอหลักฐานต่างๆ ที่บ่งชี้ถึงประเด็นข้างต้น โดยอ้างหลักฐานจากอัลกุรอานและ (คำรายงาน)อัลฮะดีษ และคำพูดของบรรดานัก(อถาธิบาย)ตัฟซีรผู้มีชื่อเสียง
จากมุมมองของคัมภีร์อัลกุรอานและ(แบบฮย่าง)ซุนนะฮ์ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เรามีหลักฐานมากมายที่บ่งบอกถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งส่วนหนึ่งจากหลักฐานเหล่านั้นได้แก่
คัมภีร์อัลกุรอาน : ทำไมชีอะฮ์จึงเรียกลูกๆ ของท่านอะลี บินอบีฏอลิบ (อ.) หมายถึง ฮะซันและฮุเซน (อ.) ว่า เป็นบุตรของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ)? อัลกุรอานในโองการต่อไปนี้ถือว่าท่านศาสดาอีซา (อ.) คือบุตรคนหนึ่งของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ทั้งๆ ที่ท่านศาสดาอีซา (อ.) คือบุตรของท่านหญิงมัรยัม (อ.) และสืบเชื้อสายไปถึงท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) โดยผ่านทางมารดาของตนเอง
وَوَهَبْنَا لَهُ إِسْحَقَ وَیَعْقُوبَ کُلاًّ هَدَیْنَا وَنُوحًا هَدَیْنَا مِن قَبْلُ وَمِن ذُرِّیَّتِهِ دَاوُودَ وَسُلَیْمَانَ وَأَیُّوبَ وَیُوسُفَ وَمُوسَی وَهَارُونَ وَکَذَلِکَ نَجْزِی الْمُحْسِنِینَ وَزَکَرِیَّا وَیَحْیَی وَعِیسَی
“และเราได้ให้ (บุตร) แก่เขา (อิบรอฮีม) คืออิสหากและยะอ์กูบ ทุกคนนั้นเราได้ชี้นำ และเราได้ชี้นำนูฮ์มาก่อนหน้า (อิบรอฮีม) และส่วนหนึ่งจากเชื้อสายของเขา (อิบรอฮีม) คือดาวูด สุลัยมาน ยูซุฟ มูซาและฮารูน และเช่นนั้นแหละที่เราตอบแทนแก่บรรดาผู้ประพฤติดีทั้งมวล และ (จากเชื้อสายของอิบรอฮีมเช่นกันคือ) ซะกะรียา ยะห์ยาและอีซา”
(อัลกุรอานบท อัลอันอาม โองการที่ 84-85)
บรรดานักวิชาการอิสลามถือว่าโองการนี้เป็นหลักฐานที่ชี้ชัดว่า ท่านอิมามฮะซัน (อ.) และท่านอิมามฮุเซน (อ.) คือบุตรและเป็นเชื้อสายของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ตัวอย่างเช่น ท่านญะลาลุดดีน ซุยูฏีย์ ได้บันทึกไว้ว่า :
วันหนึ่ง ฮัจญาจได้ส่งคนไปตามตัวยะห์ยา บินยะอ์มุร มาพบ เขาได้กล่าวต่อยะห์ยาว่า “มีผู้บอกแก่ฉันว่า เจ้าเชื่อว่าฮะซันและฮุเซนเป็นเชื้อสายของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ซึ่งเจ้าได้พบในคัมภีร์ของอัลลอฮ์ แต่ฉันได้อ่านอัลกุรอานจากต้นจนจบ ฉันไม่พบสิ่งดังกล่าวเลย” ยะห์ยา บินยะอ์มุร ได้กล่าวว่า “ท่านมิได้อ่านโองการนี้ของซูเราะฮ์อัลอันอามดอกหรือ” เขาตอบว่า “ใช่! ฉันอ่านมัน” ยะห์ยาได้กล่าวว่า “อีซาไม่ใช่เชื้อสายของอิบรอฮีมหรือ ทั้งๆ ที่เขาไม่มีพ่อ” ฮัจญาจตอบว่า “ใช่! ถูกต้องดั่งที่เจ้าพูด”
จากเนื้อหาของโองการข้างต้น และจากคำกล่าวของบรรดานักตัฟซีรทำให้ประจักษ์ได้ว่า ไม่เพียงแต่ชีอะฮ์เท่านั้น แต่ทว่าบรรดานักตัฟซีรมุสลิมทั้งหมดต่างก็ยอมรับว่าท่านอิมามฮะซัน (อ.) และท่านอิมามฮุเซน (อ.) คือบุตรและเป็นเชื้อสายของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ)
หนึ่งจากบรรดาโองการที่ยืนยันความถูกต้องของคำกล่าวข้างต้นก็คือ “โองการ อัลมุบาฮะละฮ์ จากบทอาลิอิมรอน”
فَمَنْ حَآجَّکَ فِیهِ مِن بَعْدِ مَا جَاءکَ مِنَ الْعِلْمِ فَقُلْ تَعَالَوْاْ نَدْعُ أَبْنَاءنَا وَأَبْنَاءکُمْ وَنِسَاءنَا وَنِسَاءکُمْ وَأَنفُسَنَا وأَنفُسَکُمْ ثُمَّ نَبْتَهِلْ فَنَجْعَل لَّعْنَةُ اللّهِ عَلَی الْکَاذِبِینَ
“ดังนั้นผู้ใดก็ตามที่โต้แย้งเจ้าในเรื่องราวของเขา (อีซา) ภายหลังจากความรู้แท้ได้มาสู่เจ้าแล้ว เจ้าจงกล่าวเถิดว่า ท่านทั้งหลายจงมาซิ เราจะเรียกลูกๆ ของเรา และลูกๆ ของท่าน บรรดาสตรีของเราและบรรดาสตรีของพวกท่าน ตัวของเราและตัวของพวกท่าน (มารวมกัน) จากนั้นเราก็วอนขอ (ต่ออัลลอฮ์) อย่างจริงจัง และเราก็ขอให้การสาปแช่งของอัลลอฮ์ (ในคัมภีร์นั้น) ได้ประสบแก่บรรดาผู้ที่กล่าวเท็จทั้งมวล”
(อัลกุรอานบทอาลิอิมรอน โองการที่ 61)
บรรดามุฟัซซิรีนได้กล่าวว่า โองการข้างต้นนี้ถูกรู้จักในนาม “โองการอัลมุบาฮะละฮ์” (การสาปแช่งซึ่งกันและกัน) ซึ่งถูกประทานลงมาในช่วงที่บรรดาหัวหน้ากลุ่มของชาวคริสเตียนเผ่านัจญ์รอนได้มาโต้เถียงกับท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) โดยยืนกรานว่าท่านศาสดาอีซา (อ.) คือบุตรของพระเจ้า แม้ว่าท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) จะอธิบายความถูกต้องและให้เหตุผลอย่างไรพวกเขาก็ไม่ยอมรับคำกล่าวของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ดังนั้นอัลลอฮ์ผู้ทรงสูงส่งจึงทรงบัญชาให้ท่านศาสนทูตออกไปทำการมุบาฮะละฮ์กับพวกเขา โดยนำท่านอะลี ท่านฮะซัน ท่านฮุเซนและท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อะลัยฮิมุสสลาม) ไปร่วมในการมุบาฮะละฮ์ในครั้งนี้ด้วย เมื่อบรรดาหัวหน้ากลุ่มคริสเตียนได้มองเห็นบุคลิกภาพของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) และบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ของท่าน พวกเขารู้สึกหวาดกลัวต่อความหายนะที่จะเกิดขึ้นกับฝ่ายของตน ดังนั้นจึงวอนขอต่อท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ให้ยกเลิกการมุบาฮะละฮ์นั้นเสีย ท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ตอบรับข้อเสนอของพวกเขา และได้ทำสนธิสัญญาฉบับหนึ่งขึ้น เรื่องราวจึงได้จบลง
สิ่งซึ่งบรรดานักวิชาการทั้งฝ่ายชีอะฮ์และซุนนะฮ์มีทัศนะตรงกันนั่นก็คือ ในวันมุบาฮะละฮ์ ท่านอิมามอะลี ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ ท่านอิมามฮะซันและท่านอิมามฮุเซน (อะลัยฮิมุสสลาม) ได้อยู่ร่วมกับท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) และทั้งสองฝ่ายยอมรับอย่างชัดเจนว่า จุดประสงค์จากคำว่า “ลูกๆ ของเรา” ในคำกล่าวของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) คือท่านอิมามฮะซันและท่านอิมามฮุเซน (อ.) ฉะนั้นอัลกุรอานอายะฮ์ดังกล่าวได้ชี้ชัดว่า “ท่านอิมามฮะซันและท่านอิมามฮุเซน (อ.) คือบุตรของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ)”
สิ่งที่ควรกล่าวถึงในที่นี้ก็คือ บรรดานักอรรถาธิบายอัลกุรอาน ภายหลังจากการอ้างอิงฮะดีษจำนวนมากภายใต้อายะฮ์อัลมุบาฮะละฮ์ ท่านเหล่านั้นได้ยืนยันถึงความถูกต้องในแนวคิดดังกล่าว ซึ่งเราจะขอนำเสนอตัวอย่างดังต่อไปนี้
(ก) ท่านญะลาลุดีน อัซซุยูฏีย์ ได้อ้างรายงานจากท่านฮากิม ท่านอิบนุมัรดุวียะฮ์ และท่านอบูนุอัยบ์ โดยเล่าจากท่านญาบิร บินอับดุลลอฮ์ อันซอรีย์ ว่า : จุดประสงค์จากคำว่า “ตัวตนของพวกเรา” คือท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และท่านอะลี และจุดประสงค์จากคำว่า “ลูกๆ ของพวกเรา” คือท่านฮะซันและท่านฮุเซน และส่วนจุดประสงค์ของคำว่า “บรรดาสตรีของพวกเรา” คือท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (1)
(ข) ท่านฟัรรุดดีน อัรรอซีย์ ในหนังสือตัฟซีรของท่าน ภายหลังจากอ้างอิงริวายะฮ์ดังกล่าวท่านได้กล่าวว่า “จงรู้เถิดว่า ริวายะฮ์นี้ในหมู่นักตัฟซีรและนักวิชาการฮะดีษ มีทัศนะที่เห็นพ้องตรงกันในความถูกต้องของมัน” จากนั้นท่านได้กล่าวว่า “ประเด็นที่สี่ อายะฮ์ (โองการ) ข้างต้นนี้ชี้ให้เห็นว่าท่านฮะซันและท่านฮุเซน (อ.) คือบุตรสองคนของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ซึ่งท่านได้สัญญาว่าจะเรียกลูกๆ ของท่านออกไป (ในการมุบาฮะละฮ์) แล้วท่านก็ได้เรียกท่านฮะซันและท่านฮุเซนออกไปด้วย ฉะนั้นเป็นสิ่งจำเป็น (ที่จะต้องยอมรับ) ว่าบุคคลทั้งสองคือบุตรของท่าน” (2)
(ค) ท่านอบูอับดิลลาฮ์ อัลกุรฏุบีย์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือตัฟซีรของท่านเช่นกันว่า “คำว่าลูกๆ ของพวกเรา คือหลักฐานที่ชี้ชัดว่า ลูกๆ ของบุตรสาวถือเป็นบุตร (ของตน) ด้วย” (3)
คำพูดของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) คือหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดที่บ่งชี้ว่าท่านอิมามฮะซันและอิมามฮุเซน (อ.) คือบุตรแห่งศาสดา ในที่นี้เราขอนำเสนอเพียงสองตัวอย่างคือ
(ก) ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวเกี่ยวกับท่านอิมามฮะซันและท่านอิมามฮุเซน (อ.) ว่า “บุตรทั้งสองนี้ (หมายถึงฮะซันและฮุเซน) คือบุตรสองคนของฉัน ใครก็ตามที่รักพวกเขาก็เท่ากับรักฉันด้วย” (4)
(ข) ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวขณะที่ชี้ไปยังท่านอิมามฮะซันและอิมามฮุเซน (อ.) ว่า “แท้จริงบุตรชายของฉันทั้งสองนี้คือ “ร็อยฮานะฮ์” (ช่อไม้หอม) ของฉันจากดุนยานี้” (5)
สถานภาพที่สูงส่งของท่านอิมามฮะซัน (อ.) และอิมามฮูเซน (อ.)
ชื่อของท่านถูกตั้งโดยคำสั่งของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ว่า “ฮุเซน” นักประวัติศาสตร์บางคนกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ประชาชนในยุคญาฮิลียะฮ์ยังไม่รู้จักและคุ้นเคยกับชื่อ “ฮะซัน” และ “ฮุเซน” จึงไม่มีใครตั้งชื่อลูกๆ ของตนด้วยชื่อทั้งสองนี้ และเมื่อชื่อทั้งสองได้ถูกวิวรณ์ (วะฮ์ยู) ลงมายังท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ท่านจึงตั้งชื่อลูกของท่านอิมามอะลี (อ.) และท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) ด้วยชื่อทั้งสองนี้
อิบนุอะซีร ได้เขียนไว้ในหนังสือ “อุซุดุลฆอบะฮ์” ของตนว่า :
إنّ الله حَجَب اسمَ الحسن والحسين حتّى سمّى بهما النبيُّ ابنَيهِ: الحسنَ والحسين
“แท้จริงอัลลอฮ์ทรงปกปิดชื่อฮะซันและฮุเซนไว้ จนกระทั่งท่านศาสดาได้ตั้งชื่อทั้งสองนี้ให้กับบุตรชายสองคนของท่าน คือฮะซันและฮุเซน” (6)
ญะลาลุดดีน ซุยูฏี นักวิชาการผู้มีชื่อเสียงของอะฮ์ลิลซุนนะฮ์ ได้อ้างรายงานไว้ว่า :
الحسن والحسين إسمان من أسماء أهل الجنّة. ما سمّت العرب بهما في الجاهلية
“ฮะซันและฮุเซน เป็นสองชื่อจากบรรดาชื่อของชาวสวรรค์ ที่ชาวอาหรับในยุคญาฮิลียะฮ์ไม่ได้ตั้งมัน (แก่ลูกๆ ของตน)” (7)
บุคคลทั้งสอง (อิมามฮะซันและอิมามฮุเซน) ด้วยเหตุผลแห่งความรักของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) และจากวจนะต่างๆ ที่ทรงคุณค่าที่ท่านได้กล่าวไว้เกี่ยวกับบุคคลทั้งสอง ทำให้ท่านทั้งสองได้รับความเคารพเทิดทูนและการให้เกียรติเป็นพิเศษจากบรรดามุสลิม ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างจากวจนะบางส่วนของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ที่ชี้ถึงสถานภาพอันสูงส่งและการแสดงออกด้วยความรักที่ท่านมีต่อบุคคลทั้งสอง
ท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ได้กล่าวถึงท่านอิมามฮะซันและอิมามฮุเซน (อ.) ด้วยประโยคคำพูดที่เป็นที่รู้จักกันดีว่า :
الحَسَنُ والحُسَيْنُ سَيِّدَا شَبَابِ أَهْلِ الجَنَّةِ
“ฮะซันและฮุเซน คือหัวหน้าของชายหนุ่มชาวสวรรค์” (8)
ในฮะดีษ (คำรายงาน) อีกบทหนึ่งได้กล่าวว่า : ประชาชนกลุ่มหนึ่งได้ไปเป็นแขกพร้อมกับท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ในระหว่างทางท่านได้เห็นฮุเซน (อ.) หลานรักของท่าน ท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ต้องการที่จะเข้าไปอุ้ม แต่ท่านฮุเซน (อ.) วิ่งหนีไปทางขวาทีและทางซ้ายที ท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) เห็นสภาพดังกล่าว ท่านจึงยิ้ม และในที่สุดท่านก็อุ้มฮุเซน (อ.) หลานรักไว้ในอ้อมกอด ท่านได้ใช้มือข้างหนึ่งโอบไปที่หลัง และอีกข้างหนึ่งจับไปที่คาง และท่านก็ก้มลงจูบท่านอิมามฮุเซน (อ.) และกล่าวว่า :
حُسَيْنٌ مِنِّي وَأَنَا مِنْ حُسَيْنٍ أَحَبَّ اللَّهُ مَنْ أَحَبَّ حُسَيْنًا
“ฮุเซนมาจากฉัน และฉันมาจากฮุเซน อัลลอฮ์ทรงรักผู้ที่รักฮุเซน” (9)
และบางครั้งขณะที่ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กำลังกล่าวธรรมเทศนา (คุฏบะฮ์) อยู่บนมิมบัร (ธรรมมาส) และทันทีที่ท่านเห็นฮะซันและฮุเซน (อ.) หลานรักของท่าน ท่านจะลงมาจากมิมบัรและอุ้มบุคคลทั้งสองต่อหน้าสายตาประชาชนทั้งหลาย และแสดงความรักต่อบุคคลทั้งสอง (เพื่อทำให้ประชาชนได้รับรู้ถึงสถานภาพของบุคคลทั้งสอง) ซะฮะบี ได้บันทึกไว้ว่า :
سُئِلَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ: أَيُّ أَهْلِ بَيْتِكَ أَحَبُّ إِلَيْكَ؟ قَالَ: الْحَسَنُ وَالْحُسَيْنُ, وَكَانَ يَشُمُّهُمَا, وَيَضُمُّهُمَا
มีผู้ถามท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ว่า “อะฮ์ลุลบัตย์คนใดของท่านที่ท่านรักมากที่สุด?” ท่านตอบว่า “ฮะซันและฮุเซน” และท่านจะจูบและกอดบุคคลทั้งสองอยู่เสมอ (10)
เชิงอรรถ :
(1) อัรดุรรุลมันษูร, เล่มที่ 2, หน้า 39, พิมพ์ที่เบรุต
(2) ตัฟซีร มะฟาตีหุลฆัยบ์, เล่มที่ 2, หน้า 488, พิมพ์ครั้งที่ 1 ประเทศอียิปต์ ปี ฮ.ศ.1307
(3) อัลญามิอ์ ลิอะห์กามิลกุรอาน, เล่มที่ 4, หน้า 104, พิมพ์ที่เบรุต
(4) ตัรญุมะฮ์ อิมามฮะซัน, จากหนังสือ ตารีค มะดีนะติดิมิชก์, หน้า 59, ฮะดีษที่ 106, พิมพ์ครั้งที่ 1 ที่เบรุต
(5) ตัรญุมะฮ์ อิมามฮะซัน, จากหนังสือ ตารีค มะดีนะติดิมิชก์, เล่มที่ 112, หน้า 62
(6) อุซุดุลฆอบะฮ์, อินนุอะซีร, เล่มที่ 3, หน้า 11
(7) ตารีคุลคุละฟาอ์, ซุยูฏี, หน้า 209
(8) ฮะดีษบทนี้ถูกรายงานไว้ด้วยสำนวนต่างๆ ในหนังสืออ้างอิงของซุนนีและชีอะฮ์ อย่างเช่น : มุสนัด อะห์หมัด อิบนุฮัมบัล, เล่มที่ 3, หน้าที่ 3, 62, 64 และ 82 ; ซุนันติรมีซี, เล่มที่ 5, หน้า 312 ; อัลมุสตัดร็อก, อัลฮากิม, เล่มที่ 3, หน้า 167 ; บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 43, หน้าที่ 21, 25, 124, 191 และ 192
(9) มุสนัด อะห์หมัด อิบนิฮัมบัล, เล่มที่ 4, หน้า 17 ; สุนัน อิบนิมาญะฮ์, เล่มที่ 1, หน้า 51 ; มะนากิบ, อิบนิชะฮ์รอชูบ, เล่มที่ 3, หน้า 226
(10) ซีรุ อะอ์ลามุล นุบะลาอ์, ซะฮะบี, เล่มที่ 4, หน้า 382
แปล/เรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่