บนฝั่งที่มีคลื่นอันสงบนั้นมนุษย์จะไม่ขึ้นนั่งเรือ เป็นที่ชัดเจนยิ่งที่ว่าถ้าหากมนุษย์ไม่ตกอยู่ในภาวะวิกฤติของกระแสน้ำท่วม ซึนามิและกระแสคลื่นพายุที่พัดกระหน่ำ เขาจะไม่ขึ้นโดยสารนาวาแห่งความรอดพ้น…
สำนวนคำว่า سفینة النّجاة (นาวาแห่งความรอดพ้น) นั้น สำหรับบรรดาอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ผู้บริสุทธิ์ทุกท่าน เริ่มจากท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และติดตามมาด้วยอิมามท่านอื่นๆ ทุกท่านคือประทีปแห่งทางนำและเป็นนาวาแห่งความรอดพ้น เนื่องจากทั้งหมดคือ "นูร วาฮิด" (รัศมีหนึ่งเดียวกัน)
ทำไมต้องเป็น "นาวา"?
มีรายงานจากท่านอิมามซอดิก (อ.) ซึ่งท่านกล่าวว่า :
کلنا سفن النجاة لکن سفینة جدی الحسین (علیه السلام) اوسع و فی لجج البحار اسرع
"เราทุกคนคือนาวาแห่งความรอดพ้น แต่นาวาของฮุเซน (อ.) ปู่ของฉันนั้นกว้างที่สุดและเร็วที่สุด ในท่ามกลางคลื่นลมทั้งหลายของมหาสมุทร" (1)
สำนวนคำว่า "ซะฟีนะฮ์" (นาวา) เป็นการเปรียบเปรยและชี้ถึงน้ำท่วมในยุคของศาสดานูห์ (อ.) และเรือของท่าน ดังนั้นหากความรุนแรงของความทุกข์ยากและการทดสอบ (บะลาอ์) ต่างๆ จากพื้นพิภพและฟากฟ้า หรือด้านวัตถุและจิตวิญญาณจะมีขนาดเท่ากับน้ำท่วมในยุคของท่านศาสดานูห์ (อ.) ก็ตาม ไม่ต้องสงสัยเลยว่า บรรดาผู้ที่ขึ้นโดยสารเรือ (นาวา) ของ "วะลียุลลอฮ์" (ผู้ปกครองของพระเจ้า) นั้นย่อมจะได้รับความรอดพ้นและปลอดภัย ด้วย "อัมรุลลอฮ์" (การอนุมัติและบัญชาของพระเจ้า)
ด้วยเหตุนี้เองบรรดาอิมาม (อ.) ผู้บริสุทธิ์นั้น สำหรับมนุษย์ที่ตกอยู่ในมรสุมและกระแสคลื่นแห่งความอับปางและความหายนะนั้น พวกท่านมีบทบาทเหมือน «سفینة النّجاة» (นาวาแห่งความรอดพ้น)
ใครที่จะได้ขึ้นโดยสารเรือ?
บนฝั่งที่มีคลื่นอันสงบนั้น มนุษย์จะไม่ขึ้นนั่งเรือ เป็นที่ชัดเจนยิ่งที่ว่า ถ้าหากมนุษย์ไม่ตกอยู่ในภาวะวิกฤติของกระแสน้ำท่วม ซึนามิและกระแสคลื่นพายุที่พัดกระหน่ำ เขาจะไม่ขึ้นโดยสารนาวาแห่งความรอดพ้น พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า :
وَ إِذَا مَسَّ الْانسَانَ الضُّرُّ دَعَانَا لِجَنبِهِ أَوْ قَاعِدًا أَوْ قَائمًا
"และเมื่ออันตรายได้มาประสบกับมนุษย์ เขาก็จะวิงวอนขอต่อเราทั้งในสภาพนอนตะแคง หรือนั่งหรือยืน" (2)
และเป็นที่ชัดเจนยิ่งว่า นาวาแห่งความรอดพ้นนั้นจะนำพามนุษย์ไปสู่จุดหมายที่ปลอดภัยและพ้นไปจากภยันตรายต่างๆ จุดหมายปลายทางของนาวานี้คือพระผู้เป็นเจ้า และการขับเคลื่อนไปของมัน ในด้านหนึ่งนั้น คือการออกห่างจากภยันตรายที่จะนำมาซึ่งความหายนะ และในอีกด้านหนึ่งคือการเข้าใกล้ความสงบมั่นและความผาสุกไพบูลย์ (ซะอาดะฮ์) เขาจะขับเคลื่อนไปด้วยนามของพระผู้เป็นเจ้า และจะไปถึงยังเป้าหมายด้วยนามของพระผู้เป็นเจ้า
وَقَالَ ارْكَبُواْ فِیهَا بِسْمِ اللّهِ مَجْرَاهَا وَمُرْسَاهَا إِنَّ رَبِّی لَغَفُورٌ رَّحِیمٌ
"และเขา (นูห์) กล่าวว่า พวกท่านจงขึ้นโดยสารเรือด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ทั้งในยามแล่นของมันและในยามจอดของมัน แท้จริงพระผู้อภิบาลของฉันเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ" (3)
ข้อคิดเตือนใจ
ในวันทั้งหลายของเดือนมุฮัรรอม เราทุกคนคือแขกของท่านซัยยิดุชชุฮะดาอ์ (อ.) และเราทุกคนจำเป็นจะต้องระมัดระวัง ในท่ามกลางบรรดามิตรสหายที่เข้าร่วมในพิธีกรรมต่างๆ นี้ บางทีเราจะพบเห็นผู้เข้าร่วมบางคนประดับประดาและเสริมแต่งตนเองด้วยรูปลักษณ์ต่างๆ อันเป็นเฉพาะ ซึ่งบางครั้งเราและท่านทั้งหลายอาจจะกล่าวกับตัวเองว่า : คนเหล่านี้ไม่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ใดๆ กับท่านอิมามฮุเซน (อ.) เลยแม้แต่น้อย หรือกระทั่งว่าบางคนจะแสดงพฤติกรรมต่างๆ ที่ไม่ดีต่อบุคคลผู้เข้าร่วมที่มีลักษณะการเสริมแต่งตนดังกล่าว แต่เราจะต้องรับรู้ว่า ความคิดและพฤติกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผิดพลาด ทว่าจำเป็นที่เราจะต้องจูงมือบุคคลเหล่านี้เข้าสู่มัจญ์ลิสและพิธีไว้อาลัยต่อท่านอิมามฮุเซน (อ.) เพราะท่านอิมาม (อ.) คือ นาวาแห่งความรอดพ้นสำหรับทุกคน
จำเป็นจะต้องสัมผัสถึงความสุขของการเดินทางโดยนาวาแห่งความรอดพ้น
เราได้ยินได้ฟังอยู่เสมอว่า เมื่อท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้เดินทางขึ้นสู่ฟากฟ้า (อิสรอ มิอ์ร๊อจ) ท่านได้ไปถึงยังสถานที่หนึ่งซึ่งแม้แต่ญิบรออีล (อ.) ก็ไม่อาจจะเดินทางร่วมไปกับท่านได้ ญิรออีลกล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่อาจเข้าไปใกล้กว่านี้ได้อีกแล้ว” และได้ปล่อยให้ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เข้าไปโดยลำพัง
ثُمَّ دَنَا فَتَدَلَّى، فَكَانَ قَابَ قَوْسَیْنِ أَوْ أَدْنَى
“แล้วเขาได้เข้ามาใกล้ และเข้ามาใกล้จนชิด เขาเข้ามาใกล้ จนอยู่ในระยะของปลายคันธนูทั้งสอง หรือใกล้กว่านั้นอีก” (4)
เมื่อท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้ย่างก้าวเข้าไป ย่างก้าวเข้าไป จนกระทั่งไปถึงยังอะรัช (บัลลังก์) ในรายงาน (ริวายะฮ์) เกี่ยวกับการเดินทางครั้งนี้ได้กล่าวว่า ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวเช่นนี้ว่า :
وَ إِنَّهُ لَمَکْتُوبٌ عَنْ یَمِینِ عَرْشِ اللَّهِ عَزَّ وَ جَلَّ مِصْبَاحُ هُدًى وَ سَفِینَةُ نَجَاةٍ
“...และแท้จริงเขา (ฮุเซน) ได้ถูกเขียนไว้ที่เบื้องขวาของอะรัชของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเกริกเกียรติ ผู้ทรงเกรียงไกรว่า คือประทีปแห่งทางนำและเป็นนาวาแห่งความรอดพ้น” (5)
ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้ถูกนำพาไปจนถึงตำแหน่งและสถานที่ซึ่งแม้แต่ญิบรออีล (อ.) ก็ไม่สามารถร่วมทางเข้าไปกับท่านได้ และสิ่งที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้มองเห็นนั้นก็คือประโยคที่ว่า “ฮุเซนคือนาวาแห่งความรอดพ้น”
สิ่งนี้ทำให้เราตระหนักได้ว่า บรรดาเยาวชนทั้งหญิงและชายที่เราคาดคิดว่า พวกเขาไม่ใช่ผู้ยึดมั่นต่อแนวทางของท่านอิมามฮุเซน (ฮุซัยนี) นั้น เรากำลังคิดผิดพลาด เราจำเป็นต้องทำให้เยาวชนเหล่านี้ขึ้นโดยสารเรือลำนี้ให้ได้ เราจะต้องจูงมือของเยาวชนเหล่านี้ไปวางลงในมือของกัปตันเรือนี้ให้ได้ เพื่อที่ทั้งตัวเราเองจะได้ลิ้มรสความสุขและทำให้ผู้อื่นได้ลิ้มรสความสุขของการเดินทางไปกับนาวาลำนี้
ดังนั้นเราจะต้องระมัดระวังอย่างมากในพฤติกรรมและการแสดงออกต่างๆ ต่อเด็กๆ เยาวชนและคนหนุ่มสาว เราอย่าได้เป็นเหตุผลักไสใครออกไปจากมัจญ์ลิซและพิธีไว้อาลัยต่างๆ ด้วยความเสียใจและผิดหวัง
ขอจบคำพูดในที่นี้ด้วยประโยคคำพูดที่สวยงามจากอัลลามะฮ์เชคญะอ์ฟัร ชูชตะรี ที่กล่าวว่า “หากในเดือนรอมฎอนท่านไม่สามารถผ่านเข้าสู่ประตูแห่งการเตาบะฮ์ (สารภาพผิดและการกลับตัวกลับใจ) ได้ ท่านได้บกพร่องและสูญเสียโอกาสไปจากเดือนรอมฎอน ดังนั้นก็จงเข้าสู่ประตูของฮุเซน (อ.) เถิด ประตูของฮุเซนก็เป็นอีกประตูเตาบะฮ์หนึ่งเช่นกัน ท่านทั้งหลายจงมาเถิด จงผ่านเข้าสู่ประตูของฮุเซน (อ.)”
แหล่งที่มา :
(1) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 26, หน้าที่ 322
(2) อัลกุรอาน บทยูนุส โองการที่ 12
(3) อัลกุรอาน บทฮูด โองการที่ 41
(4) อัลกุรอาน บทอันนัจญ์มุ โองการที่ 8-9
(5) อุยูน อัคบาร อัรริฎอ, เล่มที่ , หน้าที่ 59
แปล/เรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่