ฮุเซน บินอะลี ประทีปแห่งทางนำสู่ความสมบูรณ์ของความเป็นมนุษย์

ฮุเซน บินอะลี ประทีปแห่งทางนำสู่ความสมบูรณ์ของความเป็นมนุษย์

ตามหลักฐานจากฮะดีษอัษษะกอลัยน์ วจนะหรือคำพูดของอะลฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) นั้นจะเคียงคู่กับพระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ด้วยเหตุนี้เอง จึงไม่มีความหล้าสมัยและความเก่าแก่สำหรับคำพูดต่าง ๆ ของท่านเหล่านั้น ตราบที่การดำรงชีวิตของมนุษยชาติยังคงมีอยู่ คำพูดของท่านเหล่านั้นก็ยังคงดำรงอยู่เช่นเดียวกัน และจะดำรงอยู่ต่อไปอย่างเป็นนิรันดร์

      บนพื้นฐานดังกล่าวนี้เอง สิ่งที่บรรดาอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ได้พูด เขียนและสอนเรา ด้วยกับการประพฤติและปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างนั้น จึงไม่ได้จำกัดเฉพาะในยุคสมัยของพวกท่านเพียงอย่างเดียว ทว่ามันจะยังคงทอแสงอยู่ตลอดไปตราบชั่วประวัติศาสตร์ยังคงดำรงอยู่ เป็นคำพูดและการกระทำที่จะยังคงเป็นประทีปส่องทางนำให้แก่ผู้ที่ก้าวเดินไปบนเส้นทางแห่งสัจธรรม และเป็นนาวาที่จะนำพาผู้ปฏิบัติตามไปสู่ฝั่งแห่งความปลอดภัย ตราบเท่าที่การดำเนินชีวิตของมนุษยชาติยังคงดำรงอยู่

      เนื้อหาที่จะกล่าวถึงในส่วนถัดไป คือคำพูดและข้อเขียนบางส่วนของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ในช่วงเหตุการณ์การยืนหยัดต่อสู้แห่งอาชูรอ ที่ท่านได้แสดงออกมาในรูปของการปราศรัย คำพูดและจดหมายของท่าน ซึ่งท่านได้ทิ้งไว้เป็นที่รำลึกสำหรับเราจนถึงวันนี้ และปัจจุบันยังคงเป็นประทีปแห่งทางนำและเป็นนาวาแห่งความปลอดภัยที่จะนำพาพวกเราไปสู่ความสมบูรณ์ของความเป็นมนุษย์ ด้วยเงื่อนไขที่ว่า เราจะต้องใช้ประโยชน์จากแสงประทีปของท่านด้วยความรู้และความเข้าใจ และจะต้องขึ้นโดยสารเรือแห่งความปลอดภัยของท่านด้วยการกระทำ (อะมั้ล)

إِنَّ الْحُسَیْنَ بْنَ عَلِیٍّ ... مِصْبَاحُ هُدًى وَ سَفِینَةُ نَجَاةٍ

"แท้จริงฮุเซน บินอะลี ... คือประทีปแห่งทางนำและเป็นนาวาแห่งความปลอดภัย" [1]

ความทุกข์ยากและความโชคร้ายที่ใหญ่หลวงที่สุดคืออะไร?

     ในที่ประชุมครั้งหนึ่ง มุอาวิยะฮ์ได้เชื้อเชิญบรรดาซอฮาบะฮ์ (สาวกของท่านศาสดา) และบุคคลชั้นนำซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคมอิสลามในขณะนั้น โดยมีเจตนาที่จะเตรียมพื้นฐานสำหรับการเป็นค่อลีฟะฮ์ (ผู้สืบทอดอำนาจ) ของยะซีด บุตรชายของตน และในที่เขาแนะนำบุตรชายของเขาในฐานะค่อลีฟะฮ์สืบต่อจากเขานั้น ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้แสดงการคัดค้านการยืนกรานของมุอาวิยะฮ์ พร้อมกับชี้ให้เห็นถึงความเบี่ยงเบนต่าง ๆ ของยะซีดให้มุอาวิยะฮ์ฟัง โดยกล่าวเช่นนี้ว่า

تُریدُ أن تَلبِسَ النّاسَ شُبهَةً یَسعَدُ بِهَا الباقى فى دُنیاهُ وتَشقى بِها فى آخِرَتِكَ

“เจ้าต้องการที่จะให้ประชาชนเกิดความสับสน (และหลงผิด) เพื่อที่บุคคลอื่น (ยะซีดบุตรชายของเจ้า) จะได้รับความสุขสบายในโลกนี้ด้วยกับสิ่งนั้น ในขณะที่ตัวเจ้าเองจะต้องพบกับความอัปยศในโลกหน้ากระนั้นหรือ (เจ้าต้องการทำลายปรโลกของตนเองโดยแลกกับความสุขภิรมย์ในโลกนี้ของเขากระนั้นหรือ)"

    ต่อจากนั้นท่านก็ได้กล่าวในทันทีว่า

إنَّ هذا لَهُوَ الخُسرانُ المُبینُ

“แท้จริงสิ่งนี้ คือความขาดทุนอันชัดแจ้ง” [2]

    ส่วนท้ายของคำพูดข้างต้นของท่านอิมามฮุเซน (อ.) เป็นไปได้ว่า บางทีอาจจะนำออกมาจากโองการที่ 11 ของอัลกุรอานบทอัลฮัจญ์ ซึ่งในโองการดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นว่าการที่คนเราไม่มีหลักเกณฑ์และไม่มีความเชื่อมั่นต่อศาสนา และการประพฤติปฏิบัติตนไปบนพื้นฐานของความไร้ศรัทธาเช่นนี้ นั่นคือความขาดทุนอันชัดแจ้ง (خسران مبین) ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า

 وَ مِنَ النَّاسِ مَنْ یَعْبُدُ اللَّهَ عَلى حَرْفٍ فَإِنْ أَصابَهُ خَیْرٌ اطْمَأَنَّ بِهِ وَ إِنْ أَصابَتْهُ فِتْنَةٌ انْقَلَبَ عَلى وَجْهِهِ خَسِرَ الدُّنْیا وَ الْآخِرَةَ ذلِكَ هُوَ الْخُسْرانُ الْمُبینُ

“และมนุษย์บางคนเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์บนชายขอบ (ของศาสนา และบนพื้นฐานของการได้รับมาซึ่งชีวิตทางวัตถุ) ดังนั้นหากมีความดีงามหนึ่งมาประสบกับเขา (ความร่ำรวย ตำแหน่งชื่อเสียงและลูก ๆ) เขาก็จะรู้สึกมั่นใจต่อพระองค์ และหากมีความทุกข์ยากหนึ่งมาประสบกับเขา (ความป่วยไข้ ความยากจน และการถูกลิดรอนตำแหน่งชื่อเสียงทางสังคม) เขาก็จะหันหน้าของเขา (ออกจากการเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า และ) หันกลับ (ไปสู่การปฏิเสธ) เขาจะพบกับความขาดทุนทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า นั่นคือความขาดทุนอันชัดแจ้ง

    หรือบางทีอาจจะนำออกมาจากโองการที่ 15 ของอัลกุรอานบทอัซซุมัร ซึ่งในโองการดังกล่าวถือว่าผู้ที่ขาดทุนอย่างแท้จริงนั้นคือผู้ซึ่งในวันปรโลก (กิยามะฮ์) เขาจะประจักษ์ว่าตนเองนั้นขาดทุนอย่างแท้จริง และชีวิตในโลกนี้ (ดุนยา) มิได้ให้ประโยชน์ใด ๆ แก่เขาเลย และในปรโลกนั้นเขาไม่มีสิ่งใดอยู่ในมือของตนเองเลย ซึ่งคัมภีร์อัลกุรอานกล่าวว่า

قُلْ إِنَّ الْخاسِرینَ الَّذینَ خَسِرُوا أَنْفُسَهُمْ وَ أَهْلیهِمْ یَوْمَ الْقِیامَةِ أَلا ذلِكَ هُوَ الْخُسْرانُ الْمُبین

“จงกล่าวเถิด แท้จริงบรรดาผู้ขาดทุนนั้น คือผู้ซึ่งพวกเขาได้ทำให้ตัวเองและครอบครัวของตนพบกับความขาดทุนในวันชาติหน้า พึงสังวรเถิด นั่นคือความขาดทุนอันชัดแจ้ง”

    ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ตาม ในสำนวนประโยคข้างต้นนี้ ท่านอิมาม (อ.) ได้มอบสาส์นที่สำคัญยิ่งให้แก่สังคมที่มีความเชื่อมั่นต่อปรโลก (กิยามะฮ์) ว่า "มนุษย์จะต้องไม่ทำลายชีวิตในโลกหน้าของเขา เพื่อผลประโยชน์ของชีวิตในโลกนี้ของผู้อื่น"


ตัวอย่างต่างๆ ในโลกปัจจุบัน

    ในปัจจุบันนี้ มีบุคคลจำนวนไม่น้อยทีเดียว เพื่อที่จะทำให้ผู้สมัครเลือกตั้งที่ตนเองชื่นชอบหรือผู้ที่ให้คำมั่นสัญญาใด ๆ ไว้ต่อเขา ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง พวกเขาพร้อมที่จะกระทำความชั่ว พูดโกหก ให้ร้าย ทำลายเกียรติของผู้อื่น และกระทำการละเมิดบทบัญญัติต่าง ๆ อีกมากมาย ซึ่งพวกเขาพร้อมที่จะกระทำความชั่วเหล่านี้ทุกอย่าง และซื้อไฟนรกแห่งอาคิเราะฮ์ (โลกหน้า) ให้แก่ตัวเอง เพื่อให้บุคคลอื่นได้เข้าไปรับตำแหน่ง เกียรติทางวัตถุและความพึงพอใจในชีวิตทางโลกเพียงไม่กี่ชั่วยาม ไม่มีสิ่งใดที่จะเลวร้ายไปกว่าการให้หลักประกันดังกล่าว แต่หลังจากที่เขาได้รับตำแหน่งและเกียรติทางสังคมแล้ว พวกเขาก็ไม่ให้ความสนใจต่อประชาชนผู้ตกทุกข์ได้ยากแม้แต่การชำเลืองตา และไม่มีสิ่งใดจากประโยชน์ทางวัตถุและโลกนี้ที่จะตกถึงบุคคลเหล่านั้น และเช่นนี้แหละคือคำพูดของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ที่กล่าวว่า

 ذلِكَ هُوَ الْخُسْرانُ الْمُبین

“นั่นคือ ความขาดทุนอันชัดแจ้ง”

    หรือการที่บุคคลหนึ่งปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้านายของตนเอง เพื่อให้พูดโกหกต่อเจ้าหนี้ หรืออธิบายคุณสมบัติและราคาของสินค้าที่ขัดแย้งกับความเป็นจริง หรือการจัดเตรียมเอกสารเท็จทางทรัพย์สิน และตัวอย่างอื่น ๆ อีกนับร้อยนับพัน ทั้งหมดเหล่านี้คือตัวอย่างของคำเตือนข้างต้นของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ในกรณีทั้งหมดเหล่านี้ การที่บุคคลหนึ่งเพื่อทำให้ผู้อื่นได้รับความมั่งคั่งทางวัตถุและตำแหน่งชื่อเสียงอันไม่จีรังยั่งยืนทางโลกมากยิ่งขึ้น นั่นหมายความว่าเขายอมที่จะขายปรโลก (อาคิเราะฮ์) ของตนเอง โดยยื่นมือสู่การกระทำในสิ่งที่เป็นข้อห้าม (มุฮัรร่อมาต) ต่าง ๆ ของศาสนา อย่างเช่น การโกหก การบิดพลิ้ว และความชั่วอื่น ๆ ในลักษณะเช่นนี้

คำสั่งเสียของท่านศาสดาทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ต่อท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน (อ.)

    ในเนื้อหาส่วนหนึ่งของคำสั่งเสียอันยืดยาวและมีรายละเอียดมากมายของท่านศาสดาทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ที่มีต่อท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน (อ.) ซึ่งท่านกล่าวว่า

یَا عَلِیُّ شَرُّ النَّاسِ مَنْ بَاعَ آخِرَتَهُ بِدُنْیَاهُ

“โอ้อะลีเอ๋ย! มนุษย์ที่ชั่วร้ายที่สุด คือผู้ที่ขายชีวิตในโลกหน้าของตนเองเพื่อแลกกับชีวิตในโลกนี้ของตน”

    จากนั้นท่านกล่าวเสริมว่า

وَ شَرٌّ مِنْ ذَلِكَ مَنْ بَاعَ آخِرَتَهُ بِدُنْیَا غَیْرهِ

“และที่ชั่วร้ายยิ่งไปกว่านั้น คือบุคคลที่ขายชีวิตในโลกหน้าของตนเองเพื่อชีวิตในโลกนี้ของผู้อื่น” [3]

    ในคำพูดนี้ของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) แม้แต่บุคคลที่ทำลายชีวิตแห่งปรโลกของตนเองเพื่อความสุขและความก้าวหน้าอันไม่จีรังยั่งยืนแห่งโลกนี้ของตน ก็นับว่าเป็นหนึ่งจากกลุ่มชนที่ชั่วร้ายและอัปยศที่สุดแล้ว อย่าว่าแต่การที่เขาจะทำลายชีวิตแห่งปรโลกของตนเองเพื่อความสุขและความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุแห่งชีวิตทางโลกนี้ของผู้อื่นเลย


เชิงอรรถ

[1] – อุยูน อัคบาริรริฎอ, เล่มที่ 1, หน้าที่ 60
[2] – อัลอิมามะฮ์ วัซซิยาซะฮ์, เล่มที่ 1, หน้าที่ 212-214 : ตารีค อัฏฏ็อบรี, เล่มที่ 5, หน้าที่ 313 และ มุอ์ญะมุลกะบีร, เล่มที่ 19, หน้าที่ 356, ฮะดีษที่ 833
[3] - นะฮ์ญุลฟะซอฮะฮ์, ฮิกมะฮ์, ฮะดีษที่ 1799


บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่