ตัวเลข 40 ในอิสลาม กับ อัรบะอีน อิมามฮุเซน (อ.)

ตัวเลข 40 ในอิสลาม กับ อัรบะอีน อิมามฮุเซน (อ.)

ในวัฒนธรรมและหลักคำสอนของอิสลาม ตัวเลข 40 หรือ “อัรบะอีน” นั้น นับได้ว่ามีความสำคัญอย่างมาก และถูกปลูกฝังไว้ในความรู้สึกนึกคิดของประชาชาติมุสลิมมาตลอดทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับชาวชีอะฮ์อิมามียะฮ์

     ประเด็นของตัวเลข 40 หรือ “อัรบะอีน” นี้ เราสามารถพบเห็นได้จากฮะดีษ (คำรายงาน) จำนวนมากที่รายงานมาจากบรรดามะอ์ซูม (อ.) ตัวอย่างเช่น ในวจนะของท่านรอซูลุลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ที่ได้กล่าวว่า :

مَنْ خَفِظَ مِنْ أُمَّتِيْ أرْبَعِيْنَ حَدِيْثًا مِمَّا يَحْتَاجُوْنَ إلَيْهِ مِنْ أَمْرِ دِيْنِهِمْ بَعَثَهُمُ اللهُ يَوْمَ الْقِيَامَةِ فَقِيْهًا عَالِمًا

“ผู้ใดก็ตามจากประชาชาติของฉันที่ท่องจำสี่สิบฮะดีษ ที่เขามีความจำเป็นต่อมันจากเรื่องของศาสนาของพวกเขา อัลลอฮ์จะทรงทำให้เขาฟื้นขึ้นมาในวันกิยามะฮ์ ในฐานะผู้มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในศาสนา (ฟะกีฮ์) และผู้รู้ (อาลิม)” (1)

     ในคำพูดของท่านอิมามญะอ์ฟัร อัซซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า :

إذا مَاتَ المُؤْمِنُ فَخَضَرَ جَنَازَتَهُ أرْبَعُوْنَ رَجُلاً مِنَ المُؤْمِنُوْنَ،فَقالُوا: اَللهُمَّ إنَّا لاَ نَعْلَمُ مِنْهُ إلاَّ خَيْرًا وَ أنْتَأعْلَمُ بِهِ مِنَّا، قالَ اللهُ تَبَارَكَ وَ تَعَالَى: إنِّي أجَزْتُ شَهَادَتَكُمْ وَ غَفَرْتُ لَهُ مَا عَلِمْتُ مِمَّا لاَ تَعْلَمُوْنَ

“เมื่อผู้ศรัทธาได้ตายลงโดยมีผู้ศรัทธาสี่สิบคนได้เข้าร่วมพิธีศพของเขา แล้วกล่าวว่า โอ้อัลลอฮ์ แท้จริงพวกเราไม่รู้สิ่งใดจากพวกเขา นอกเสียจากความดีงาม ในขณะที่พระองค์ทรงรู้ดีเกี่ยวกับตัวเขามากกว่าพวกเรา อัลลอฮ์ผู้ทรงจำเริญผู้ทรงสูงส่งจะทรงตรัสว่า แท้จริงข้ายอมรับ (และให้รางวัล) ต่อการเป็นสักขีพยานของพวกเจ้า และข้าได้อภัยโทษแก่เขาแล้วในสิ่งที่ข้ารู้จากสิ่งที่พวกเจ้าไม่รู้” (2)

      ในฮะดีษ (คำรายงาน) อีกบทหนึ่งจากท่านอิมามบากิร (อ.) ซึ่งท่านกล่าวว่า :

مَا أخْلَصَ عَبْدٌ الإيْمَانَ بِاللهِ أرْبَعِيْنَ يَوْمًا،إلاَّ زَهْدَهُ اللهُ فِي الدُّنْيَا،وَ بَصَّرَهُ دَاءَهَا وَ دَوَاءَهَا،وَ أنْبَتَ الْحِكْمَةَفِيْ قَلْبِهِ،وَ أنْطَقَ بِهَا لِسَانَهُ

“ไม่มีบ่าวคนใดที่ทำให้ความศรัทธา (อีหม่าน) มีความบริสุทธิ์ต่ออัลลอฮ์เป็นเวลาสี่สิบวัน นอกเสียจากว่าอัลลอฮ์จะทรงทำให้เขามีความสมถะในโลกนี้ และจะทรงทำให้เขาเข้าใจถึงโรคร้ายของมัน และยารักษาของมัน และจะทำให้วิทยปัญญางอกงามขึ้นในหัวใจของเขา และจะทรงทำให้ลิ้นของเขาพูดด้วยวิทยปัญญานั้น” (3)

مَنْ شَرِبَ الخَمْرَ لَمْ تُحْتَسَبْ صَلَوتُهُ أرْبَعِيْنَ يَوْمًا

“ผู้ใดที่ดื่มสุรา การนมาซของเขาจะไม่ถูกคิดคำนวณเป็นเวลาถึงสี่สิบวัน” (4)

     หรือในบางฮะดีษ (คำรายงาน) ได้กล่าวว่า “ใครก็ตามที่บริโภคอาหารฮะรอม ดุอาอ์ของเขาจะไม่ถูกตอบรับถึงสี่สิบวัน”

     ในพัฒนาการของการกำเนิดของมนุษย์ก็เช่นกัน อัลกุรอานและฮะดีษ ได้กล่าวไว้ว่า ขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงของทารกในครรภ์มารดาจากสภาพหนึ่งไปสู่อีกสภาพหนึ่งนั้นใช้เวลา 40 วัน ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงจากสภาพอสุจิ (نُطْفَةٌ) ไปเป็นก้อนเลือด (عَلَقَةٌ) จากก้อนเลือดไปเป็นก้อนเนื้อ (مَضْغَةٌ) จากก้อนเนื้อไปเป็นกระดูก และจากกระดูกไปเป็นเนื้อหุ้มกระดูก” (5)

     ในอัลกุรอานได้กล่าวว่า

- ท่านศาสดามูซา (อ.) ได้ขึ้นไปอยู่บนภูเขาฏูร  เพื่อรับคัมภีร์เตารอต ใช้เวลา 40 วัน (6)

- ท่านศาสดาอาดัม (อ.) ได้อยู่ในท่าซุญูด เพื่อขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์ (ซบ.) บนภูเขาซอฟา เป็นเวลา 40 วัน (7)

- ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสดาในขณะอายุ 40 ปี (8)

- ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้ปลีกตัวจากท่านหญิงคอดีญะฮ์ 40 คืน ก่อนจะจุติท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) (9)

      นี่คือตัวอย่างส่วนหนึ่งจากฮะดีษและอัลกุรอานที่อ้างถึงตัวเลข 40 (อัรบะอีน)  ไม่ใช่เพียงแค่นี้ แต่ยังมีอีกนับเป็นร้อยๆ ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของตัวเลข 40 แม้ว่าเราจะไม่สามารถรู้ถึงฮิกมะฮ์ (วิทยปัญญา) ที่ซ่อนเร้นอยู่ของมันได้ก็ตาม

 อัรบะอีนอิมามฮุเซน (อ.) กับตัวเลข 40 ในอิสลาม

      ในวัฒนธรรมแห่ง “อาชูรออ์” คำว่า “อัรบาอีน” นั้นหมายถึงวันที่ 40 ของการเป็นชะฮีด ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ซึ่งตรงกับวันที่ 20 ของเดือนซอฟัร เป็นวันที่บรรดาชีอะฮ์อิมามิยะฮ์ให้ความสำคัญอย่างมากวันหนึ่ง มีการจัดมัจญ์ลิซและการรำลึกถึงวีรกรรมและโศกนาฏกรรมแห่ง “กัรบะลาอ์” มาตลอดทุกยุคสมัย

      หลักฐานที่สำคัญในเรื่องเกี่ยวกับอัรบะอีนของท่านอิมามฮุเซน (อ.) นั้น ได้แก่คำรายงานจากท่านอิมามฮะซัน อัสการีย (อ.) ที่ถูกรายงานไว้ในหนังสือจำนวนมากมายซึ่งได้กล่าวว่า :

عَلَامَاتُ الْمُؤْمِنِ خَمْسٌ : صَلَاةُ الْخَمْسِينَ ، وَ زِيَارَةُ الْأَرْبَعِينَ ، وَ التَّخَتُّمُ فِي الْيَمِينِ ، وَ تَعْفِيرُ الْجَبِينِ ، وَ الْجَهْرُ بِبِسْمِ اللَّهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيمِ

“สัญลักษณ์ของผู้ศรัทธานั้นมีห้าประการคือ การนมาซห้าสิบเอ็ดร่อกาอัต การอ่านซิยาเราะฮ์อัรบาอีน การสวมแหวนที่มือขวา การเอาหน้าผากสัมผัสดินในขณะซุญูด และการอ่านบิสมิลลาฮ์ด้วยเสียงดัง” (11)

     ท่านอิมามญะอ์ฟัร (อ.) ได้สอนให้ศ็อฟวาน อัลญัมมาล อ่านซิยาเราะฮ์อัรบาอีนนี้ในช่วงเช้าภายหลังจากดวงอาทิตย์ขึ้น นี่เป็นคำรายงานที่เชื่อถือได้ที่สุดเกี่ยวกับความสำคัญของอัรบะอีนและการอ่านซิยาเราะฮ์อิมามฮุเซน (อ.) ในวันนี้

แหล่งที่มาของการให้ความสำคัญต่ออัรบะอีนอิมามฮุเซน (อ.) ในประวัติศาสตร์

    ในหนังสือตารีค ฮะบีบ อัซซิยัรได้บันทึกไว้ว่า : ยาซีด บุตรของมุอาวิยะฮ์ ได้มอบศีรษะของบรรดาชัฮีดจำนวนหนึ่งคืนให้แก่ท่านอิมามซัจญาด (อ.) และในวันที่ 20 ซอฟัร ท่านได้ฝังศีรษะของแต่ละท่านไปพร้อมกับร่างของบรรดาชูฮาดาอ์ผู้เป็นเจ้าของศีรษะเหล่านั้น

    ท่านอะบูร็อยฮาน บีรูนี ได้กล่าวไว้ในหนังสืออัลอาษารุลบากียะฮ์ ว่า : ในวันที่ 20 ของเดือนซอฟัร ศีรษะของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ถูกนำกลับไปฝังลงพร้อมกับร่างอันบริสุทธิ์ของท่าน ในช่วงเวลาที่อะฮ์ลุลบัยติ์ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) เดินทางออกจากเมืองชาม (ซีเรียปัจจุบัน) เพื่อกลับสู่เมืองมะดีนะฮ์  พวกท่านได้เข้าสู่แผ่นดินกัรบะลาอ์ ในวันอัรบะอีน เพื่อเป้าหมายในการซิยาเราะฮ์ท่านอิมามฮุเซน (อ.) และบรรดาชะฮีดแห่งกัรบะลาอ์

    ในวันที่ 20 ซอฟัร เป็นวันที่ท่านญาบิร บินอับดุลลอฮ์ อันซอรี ได้เดินทางมาจากมะดีนะฮ์มาถึงกัรบะลาอ์พร้อมกับท่านอะฏียะฮ์ เพื่อทำการซิยาเราะท่านอิมามฮุเซน (อ.) ในวันนี้พอดี

    ท่านญาบิร บินอับดุลลอฮ์ อันซอรี และอะฏียะฮ์ บินซะอัด อัลเอาฟี ทั้งสองเป็นบุคคลสำคัญของชีอะฮ์อิมามิยะฮ์ ภายหลังจากการเป็นชะฮีดของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ท่านทั้งสองได้มาซิยาเราะฮ์แผ่นดินกัรบะลาอ์ในวันอัรบะอีนแรกของปีนั้น

     นี่คือแหล่งที่มาของการให้ความสำคัญต่ออัรบะอีนของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ของบรรดาชีอะฮ์


แหล่งอ้างอิง :

(1) อัลคิซ้อล, เชคซอดูก, เล่มที่ 2, หน้าที่ 541

(2) มันลายะห์ฎุรุฮุลฟะกีฮ์, เชคซอดูก, เล่มที่ 1, หน้าที่, หน้าที่ 166

(3) อุยูน อัคบาร อัรริฎอ, เชคซอดูก, เล่มที่ 1, หน้าที่ 84

(4) อัลกาฟี, เชคกุลัยนี, เล่มที่ 6, หน้าที่ 402

(5) ดูเพิ่มเติมจากอัลกุรอาน บทอัลมุอ์มินูน โองการที่ 14

(6) ดูเพิ่มเติมจากอัลกุรอาน บทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 51 และบทอัลอะอ์ร๊อฟ โองการที่ 141

(7) อิละลุชชะรอเยี๊ยะอ์, เชคซอดูก, หน้าที่ 491

(8) ตารีค ยะอ์กูบี, เล่มที่ 2, หน้าที่ 22

(9) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 16, หน้าที่ 78

(11) ตะฮ์ซีบุลอะห์กาม, เชคฏูซี, เล่มที่ 6, หน้าที่ 52


บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่