ในยุคสมัยของ มุตะวักกิ้ล ลูกชายของ มุอ์ตะซิม เป็นผู้ปกครอง (กาหลิบ) คนที่ 10 จากราชวงศ์อับบาซียะฮ์ ผู้ซึ่งชีวิตของเขาเต็มไปด้วยความชั่วร้าย ความอธรรมและการกดขี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อลูกหลานของท่านอิมามอะลี (อ.)
มุตะวักกิ้ล มีความเป็นศัตรูอย่างร้ายกาจต่อท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน (อ.) และอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) รวมทั้งต่อบรรดาชาวชีอะฮ์ โดยที่ยุคสมัยแห่งการปกครองของเขานั้น เป็นยุคสมัยที่เลวร้ายและหนักหน่วงที่สุดสำหรับชาวชีอะฮ์
โดยคำสั่งของมุตะวักกิ้ล ท่านอิมามฮาดี (อ.) ถูกบังคับและควบคุมตัวจากนครมะดีนะฮ์ให้เดินทางมายังเมืองซามัรรออ์ และพำนักอยู่ในศูนย์กลางการปกครองของเขา ท่านถูกปฏิบัติอย่างเข้มงวด ภายใต้การจำกัดขอบเขตและการกลั่นแกล้งทำร้ายต่างๆ นานา และท่านจำต้องพำนักอาศัยอยู่ในเมืองนั้นจวบจนบั้นปลายชีวิต
ในยุคการปกครองของมุตะวักกิ้ล ได้มีการตั้งด่านตรวจขึ้นในบริเวณใกล้ๆ กับกัรบะลา และเขาได้ออกคำสั่งอย่างเข้มงวดต่อข้าทาสบริวารของตนว่า ใครก็ตามที่เดินทางไปเยือน (ซิยาเราะฮ์) หลุมฝังศพของฮุเซน ก็จงสังหารเขา (1)
ซึ่งเหตุการณ์น่าสลดใจนี้เกิดขึ้นในปีฮิจเราะฮ์ศักราชที่ 236 จากรายงานโดยท่านอิบนุล อะษีรบันทึกไว้ว่า
في هذه السنة أمر المتوكل بهدم قبر الحسين بن علي، عليه السلام، وهدم ما حوله من المنازل والدور، وأن يبذر ويسقى موضع قبره، وأن يمنع الناس من إتيانه، فنادى عامل صاحب الشرطة بالناس في تلك الناحية: من وجدناه عند قبره، بعد ثلاثة، حبسناه في المطبق! فهرب الناس، وتركوا زيارته، وحرث وزرع
ในปีนี้ (ฮ.ศ.236) อัลมุตะวักกิลได้ออกคำสั่งให้ทำลายสุสานของท่านอัลฮูเซน บุตรอาลี (อ.) และสั่งทำลายอาคารบ้านเรือนรอบๆ สุสาน และให้ทำการหว่านเมล็ดพืชและรดน้ำตรงสุสานของท่านฮูเซน และห้ามประชาชนมาที่สุสาน แล้วเจ้าหน้าที่ (ทางรัฐ)ได้ป่าวประกาศกับประชาชนในบริเวณด้านนั้นว่า “ถ้าเราพบผู้ใดตรงที่สุสานนี้หลังจากสามวันนี้ เราจะจับเขาจองจำ ดังนั้นประชาชนจึงหนีอพยพไป และละทิ้งการมาเยือนหลุมฝังศพ (ซิยาเราะฮ์) และ (สุสาน) ถูกหว่านไถ (กลายเป็นเรือกสวนไร่นา) : ดู (อัลกามิล ฟิตตารีค โดยอิบนุลอะษีร เล่ม 3 : 226)
หลุมฝังศพของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ถูกทำลายถึง 17 ครั้ง โดยคำสั่งของมุตะวักกิ้ล (2) ในครั้งหนึ่งจากอาชญากรรมต่างๆ เหล่านี้ มุตะวักกิ้ลได้ออกคำสั่งให้ "ดีซัจญ์" ชาวยิว ทำการเปลี่ยนแปลงและทำลายหลุมฝังศพของท่านอิมามฮุเซน (อ.) เขาจึงเดินทางไปยังหลุมฝังศพของท่านอิมาม (อ.) พร้อมด้วยบริวารของตน และกระทั่งว่าเขาได้ขุดหลุมฝังศพของท่านอิมาม (อ.) แต่เมื่อขุดไปถึงเสื่อที่ห่อหุ้มเรือนร่างของท่านอิมาม (อ.) มีกลิ่นหอมได้โชยออกมาจากเรือนร่างของท่าน เขาจึงได้กลบดินกลับลงบนหลุมฝังศพนั้นอีกครั้ง แต่หลังจากนั้นเขาได้วิดน้ำเข้าไปบนพื้นดินแห่งนั้นและต้องการที่จะไถพรวนดินโดยวัวเพื่อทำการเพาะปลูก แต่วัวไม่ยอมเดินเข้าไปในบริเวณหลุมฝังศพของท่านอิมาม (อ.) (3)
ในปี ฮ.ศ. 247 ประชาชนได้มารวมตัวและพำนักอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นอีกครั้งในบริเวณแห่งนั้น และมีการสร้างตลาดขึ้นในบริเวณใกล้ๆ ทำให้มุตะวักกิ้ลได้ใช้ความรุนแรงกับประชาชนอีกครั้งหนึ่ง (4) มุตะวักกิ้ลได้ออกคำสั่งให้ทำลายหลุมฝังศพของท่านอิมามฮุเซน (อ.) และบ้านเรือนที่อยู่รอบ ๆ หลุมฝังศพนั้น
จากนั้นได้ทำการเพาะปลูกในพื้นที่ดังกล่าวและจับกุมผู้ไปเยือนหลุมฝังศพ คุมขังและทรมานพวกเขา จนกระทั่งได้ออกคำสั่งว่า : ใครก็ตามที่ไปเยือนหลุมฝังศพ ก็จงตัดมือเขา ผู้ที่มีความรักต่อท่านอิมามฮุเซน (อ.) บางคนยอมให้ตัดมือของเขา เพื่อที่จะไปเยือนหลุมฝังศพของท่านอิมาม (อ.) และด้วยเหตุนี้เองประชาชนชาวมุสลิมในกรุงแบกแดดรู้สึกไม่พอใจอย่างมาก และได้เขียนคำพูดด่าทอและประณามผู้ปกครองที่ชั่วร้ายผู้นี้บนผนังและกำแพงต่างๆ
เหตุการณ์ความรุนแรงดำเนินไปถึงขั้นที่ว่า ท่านอิมามฮาดี (อ.) ต้องออกคำสั่งไปยังชาวอิหร่านว่า ในขณะนี้อย่าเพิ่งเดินทางไปเยือนหลุมฝังศพของท่านอิมามฮุเซน (อ.) แต่จงไปเยือนหลุมฝังศพของชาฮ์อับดุลอะซีม (ซึ่งเป็นหนึ่งในลูกหลานของอิมามฮุเซน) แทน
แต่ต่อมาไม่นานนัก มุตะวักกิ้ลก็ถูกสังหารโดย "มุนตะซิร" ลูกชายของเขาเอง โดยเข้าร่วมกับชาวเติร์กกลุ่มหนึ่ง เป็นการปิดฉากชีวิตอันชั่วร้ายและการปกครองที่อธรรมของตนเองลง
แหล่งอ้างอิง :
(1) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 45, หน้าที่ 404
(2) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 45, หน้าที่ 410 ; ตะติมมะตุ้ลมุนตะฮา, เล่มที่ 241
(3) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 45, หน้าที่ 394
(4) อะอ์ยานุชชีอะฮ์, เล่มที่ 1, หน้าที่ 628 ; ตุรอษุ กัรบะลา, หน้าที่ 34
บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่