ศาสดามุฮัมมัด ซ็อลฯ ความเมตตาจากพระผู้เป็นเจ้า ตอนที่ 3

ศาสดามุฮัมมัด ซ็อลฯ ความเมตตาจากพระผู้เป็นเจ้า ตอนที่ 3

การให้อภัยและการไม่ถือโทษในจริยวัตรของท่านศาสดา (ซ็อลฯ)

    ท่านศาสดาแห่งความเมตตา (ซ็อลฯ) จะปฏิบัติต่อประชาชนด้วยความมีเกียรติ ท่านจะไม่ถือโทษโกรธเคืองต่อพฤติกรรมที่เลวร้ายและไม่ให้เกียรติต่อท่าน และจะให้อภัยต่อความผิดของผู้อื่นอย่างง่ายดาย จะไม่เก็บความเครียดแค้นชิงชังผู้ใดไว้ในจิตใจ จะไม่คิดแก้แค้นผู้ใด จิตวิญญาณอันทรงพลังของท่านซึ่งตั้งอยู่ในระดับที่สูงส่งเกินกว่าการที่จะแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ทางด้านอารมณ์และความขุ่นเคืองทางด้านจิตใจ ท่านเลือกที่จะให้อภัยและไม่ถือโทษแทนการแก้แค้น

    ท่านอมีรุลมุอ์มินีน(อ.)ได้กล่าวว่า :

کان رسول الله اجودالناس کفاً و اکرمهم عشرة

“ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) นั้นเป็นผู้ที่มีจิตใจโอบอ้อมอารีมากที่สุดในหมู่มนุษย์และเป็นผู้ที่มีเกียรติที่สุดในการคบหาสมาคม” (42)

 يقبل معذرة المعتذر اليه

“ท่านยอมรับการขออภัยจากผู้ที่ขออภัยต่อท่าน” (43)

ولا يجزي السيئه بالسيئه ولکن يعفو و يصفح

“ท่านไม่เคยตอบโต้ความเลวร้ายด้วยกับสิ่งที่เลวร้าย แต่ทว่าท่านจะให้อภัยและไม่ถือโทษ” (44)

 يصبر للغريب علي الجفوه في منطقه و مساکنه

“ท่านจะอดทนอดกลั้นจากความหยาบคายของผู้อื่นทั้งในคำพูดและพฤติกรรมที่ต่ำทรามต่าง ๆ ของเขา” (45)

    ไม่เพียงแต่ท่านจะไม่แสดงการตอบโต้ความหยาบคายของเขาในสิ่งที่เหมือนกันเพียงเท่านั้น ในทางตรงข้ามท่านจะสั่งให้คนรอบด้านนำบางสิ่งไปมอบให้แก่เขา

     ในสงครามอุฮุดแม้ว่าพวกเขา (มุชริกีน) จะกระทำการอย่างป่าเถื่อนและหยามเหยียดต่อศพของท่านฮัมซะฮ์ นายของบรรดาชะฮีดผู้เป็นลุงของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) มากเพียงใดก็ตาม แต่ท่านไม่เคยแสดงออกในทางตอบโต้เอาคืนกับบรรดาผู้ถูกสังหารจากชาวกุเรชเลย และในช่วงของการพิชิตนครมักกะฮ์ในขณะที่ท่านมีอำนาจเหนืออบูซุฟยาน ฮินด์และบรรดาผู้นำกุเรชนั้น ท่านก็ไม่เคยคิดที่จะแก้แค้น กระทั่งว่าอบูกอตาดะฮ์ซึ่งต้องการจะประณามด่าทอพวกพวกเขาท่านก็ได้ห้ามปรามเขาไว้ ในทางกลับกันในวันแห่งการพิชิตนครมักกะฮ์นี่เอง ท่านได้ป่าวประกาศว่า : ( اليوم يوم المرحمة ): “วันนี้เป็นวันแห่งความเมตตา(และการให้อภัย)” จากนั้นท่านกล่าวต่อว่า : ( اذهبوا انتم الطلقاء ) : “พวกท่านจงไปเถิด พวกท่านได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระแล้ว” (46)

    ภายหลังจากชัยชนะในสงครามค็อยบัร ชาวยิวกลุ่มหนึ่งซึ่งได้ยอมจำนน และต่อมาพวกเขาได้ส่งอาหารที่ผสมยาพิษมามอบให้แก่ท่านศาสดา แต่ท่านศาสดาก็ปล่อยพวกเขาโดยไม่ได้เอาผิดแต่อย่างใด สตรีชาวยิวผู้หนึ่งเมื่อประสงค์ที่จะวางยาพิษท่านศาสดา ท่านก็ให้อภัยต่อนางเช่นเดียวกัน ในขณะที่ท่านได้เดินทางกลับมาจากสงครามตะบูกบรรดามุนาฟิกีน(ผู้กลับกลอก)กลุ่มหนึ่งได้หมายที่จะเอาชีวิตท่านศาสดาและพวกเขาปรารถนาที่จะทำให้อูฐของท่านพยศเพื่อที่ท่านจะได้ตกลงสู่หุบเหว แม้ว่าท่านศาสดาจะรู้จักบุคคลเหล่านั้นเป็นอย่างดี และบรรดาสาวก(ซอฮาบะฮ์)ของท่านได้รบเร้าให้ท่านเปิดเผยชื่อของบุคคลเหล่านั้น แต่ท่านก็ไม่ยอมเปิดเผยให้ผู้ใดล่วงรู้ และได้ละวางจากการที่จะเอาโทษพวกเขา (47)

    อับดุลลอฮ์ บินอุบัยย์ แกนนำของกลุ่มมุนาฟิกีน(ผู้กลับกลอก)ผู้ซึ่งได้กระทำความชั่วร้ายไว้อย่างมากมาย เขาได้เคยแพร่ข่าวลือให้ร้ายตอท่านศาสดา (ซ็อลฯ) บรรดาสาวก (ซอฮาบะฮ์) ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) บ่อยครั้งที่ได้ขออนุญาตจากท่านเพื่อที่จะกระทำการตอบโต้ต่อเขา แต่ท่านศาสดาไม่อนุญาตให้พวกเขากระทำการใด ๆ ในทางตรงกันข้ามเมื่ออับดุลลอฮ์ บินอุบัยย์ได้ป่วยลงท่านศาสดา(ซ็อลฯ)ได้ไปเยี่ยมป่วยเขา (48)

     บรรดาซอฮาบะฮ์เคยขอให้ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ทำการประณามสาปแช่งต่อบรรดามุชริกีน (ผู้ตั้งภาคี) ท่านได้กล่าวกับพวกเขาว่า : “ฉันไม่ได้ถูกแต่งตั้งมาเพื่อสาปแช่งผู้ใด แต่ทว่าฉันได้ถูกส่งมาเพื่อความเมตตา” บางครั้งเมื่อสาวกบางคนใดขอให้ท่านสาปแช่งบรรดาศัตรู  ท่านศาสดาไม่เพียงจะไม่สาปแช่งเท่านั้น ในทางตรงข้ามท่านกลับวิงวอนขอพร(ดุอาอ์)ให้แก่เขา โดยท่านกล่าวว่า : “โอ้อัลลอฮ์ ได้โปรดนำทางพวกเขาด้วยเถิด” และด้วยเหตุนี้เอง ท่านจึงได้กล่าวว่า :

ارحموا من في الارض يرحمکم من في السماء

“ท่านทั้งหลายจงเมตตาบุคคลที่อยู่ในแผ่นดินนี้ แล้ว (พระผู้เป็นเจ้า) ผู้ที่อยู่ในฟากฟ้าจะทรงเมตตาพวกท่าน” (49)

     พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงตรัสกับท่านศาสดา(ซ็อลฯ)ไว้เช่นกันว่า :

فبما رحمة من الله لنت لهم و لو کنت فظاً غليظ القلب لانفضوا من حولك فاعف عنهم و استغفرلهم

“นั่นเป็นเพราะความเมตตาจากอัลลอฮ์ที่เจ้าได้ได้สุภาพอ่อนโยนต่อพวกเขา และมาตรว่าเจ้าเป็นผู้ที่หยาบคายและมีจิตใจแข็งกระด้างแล้ว พวกเขาย่อมเตลิดออกไปจากรอบตัวเจ้าอย่างแน่นอน ดังนั้นเจ้าจงอภัยให้แก่พวกเขาและจงขออภัยโทษให้แก่พวกเขาเถิด” (50)

ความห่วงใยและความเอื้ออาธร ในจริยวัตรของท่านศาสดา(ซ็อลฯ)

     ความห่วงใยและความเอื้ออาธรในจริยวัตรขอท่านศาสดา(ซ็อลฯ)นั้นเป็นสิ่งที่สามารถประจักษ์ได้อย่างชัดเจน และพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งเองได้ทรงบรรยายคุณลักษณะของศาสดาของพระองค์ไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานเช่นนี้ว่า :

 عَزِيزٌ عَلَيْهِ مَا عَنِتُّمْ حَرِيصٌ عَلَيْكُم بِالْمُؤْمِنِينَ رَؤُوفٌ رَّحِيمٌ

“เขามีความทุกข์ใจยิ่งในสิ่งที่พวกท่านได้รับความทุกข์ยาก เขามีความห่วงใยต่อพวกท่าน เป็นผู้มีความกรุณาอีกทั้งเป็นผู้ปราณีต่อบรรดาผู้ศรัทธา”

(อัลกุรอานบทอัตเตาบะฮ์ โองการที่ 128)

 لعلك باخع نفسك الا يكون مؤمنين

“บางทีเจ้าอาจจะทำลายตัวเอง (อันเนื่องมาจากความทุกข์ระทมที่รุนแรง) ที่พวกเขาไม่เป็นผู้ศรัทธา” (51)

     คำว่า “บาคิอุน”( باخع)นั้นหมายถึง “ผู้ที่ทำลายตัวเองอันเนื่องมาจากความทุกข์ระทมที่รุนแรง” และสำนวนดังกล่าวนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ)นั้นมีความห่วงใยและเอื้ออาธรต่อประชาชนมากเพียงใด

     ในช่วงเริ่มต้นของอัลกุรอานบทฏอฮา พระองค์ได้ทรงตรัสว่า :

طه  ما انزلنا عليك القرآن لتشقي

“ฏอฮา เราไม่ได้ลงอัลกุรอานมาให้แก่เจ้า เพื่อเจ้าจะได้ทุกข์ใจ” (52)

      เนื่องจากความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะทำการชี้นำ(ฮิดายะฮ์)ประชาชน ท่านมีความห่วงใยต่อพวกเขาถึงขั้นที่อัลกุรอานโองการนี้ต้องถูกประทานลงมาเพื่อบอกกล่าวต่อท่านว่า : เรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่อที่เจ้าจะทำให้ตนเองต้องพบกับความเจ็บปวดและความทุกข์ใจเนื่องจากการที่ประชาชนไม่ศรัทธาในสิ่งที่เจ้าได้ชี้นำสั่งสอนพวกเขา

     วันหนึ่ง ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้มอบเงินจำนวนสิบสองดิรฮัมให้แก่ท่านอิมามอะลี (อ.) พร้อมกับกล่าวว่า : เจ้าจงนำเงินจำนวนนี้ไปซื้อเสื้อผาให้แก่ฉัน ท่านอิมามอะลี (อ.)ได้ไปยังตลาดและได้จัดซื้อเสื้อผ้าชุดหนึ่งให้แก่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เมื่อกลับมาถึงบ้านท่านศาสดาได้กล่าวกับท่านอิมามอะลีว่า ถ้าหากเป็นเสื้อผ้าที่ราคาถูกกว่านี้และเป็นเสื้อผ้าที่ธรรมดามากกว่านี้ก็คงจะดีกว่า ถ้าหากผู้ขายพร้อมที่จะรับคืนมัน เจ้าจงนำเสื้อผ้าชุดนี้ไปเปลี่ยนคืนจากเขาเถิด

      ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้นำเสื้อผ้าชุดนั้นไปเปลี่ยนคืนจากพ่อค้าและได้นำเงินกลับมามอบคืนแก่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) หลังจากนั้นท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้ออกเดินทางมุ่งตรงไปยังตลาดพร้อมกับท่านอิมามอะลี (อ.) อีกครั้งหนึ่ง แต่ในระหว่างทางทั้งสองได้พบเห็นทาสหญิงคนหนึ่งกำลังร้องไห้คร่ำครวญ ท่านศาสดาจึงได้สอบถามเรื่องราวจากทาสหญิงผู้นั้น นางกล่าวว่า เจ้านายได้มอบเงินจำนวนสี่ดิรฮัมให้แก่ข้าพเจ้าเพื่อซื้อสิ่งของบางอย่าง แต่ข้าพเจ้าได้ทำมันสูญหาย และบัดนี้ข้าพเจ้ากลัวที่จะต้องกลับไปบ้านในสภาพเช่นนี้ ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้มอบเงินจำนวนสี่ดิรฮัมให้แก่นาง

      ต่อจากนั้นท่านทั้งสองได้ไปยังตลาดและได้ซื้อเสื้อผ้าชุดหนึ่งด้วยราคาสี่ดิรฮัม ในระหว่างการเดินทางกลับท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้พบคนที่อยู่ในสภาพไร้เสื้อผ้าที่จะสวมใส่ ท่านจึงมอบเสื้อผ้าชุดนั้นให้แก่เขา และท่านทั้งสองได้ย้อนกลับไปยังตลาดอีกครั้งหนึ่งเพื่อซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่ด้วยเงินจำนวนที่เหลืออยู่ แต่เมื่อกลับมาถึงบ้าน ท่านได้พบกับทาสหญิงผู้นั้นอีกครั้งหนึ่งซึ่งอยู่ในสภาพของความทุกข์โศก

      ท่านจึงได้ถามถึงสาเหตุจากนาง นางได้กล่าวตอบว่า : เนื่องจากข้าพเจ้ากลับไปบ้านล่าช้า ข้าพเจ้ากลัวว่าเจ้านายจะตำหนิและลงโทษข้าพเจ้า ท่านศาสดาจึงได้พานางกลับไปส่งยังบ้านเจ้านายของนาง เจ้าของบ้านได้แสดงการให้เกียรติต่อท่านศาสดา (ซ็อลฯ) โดยการยกโทษให้ทาสหญิงผู้นั้น และได้ปลดปล่อยนางให้เป็นอิสระจากการเป็นทาส ท่านศาสดาได้กล่าวว่า เงินจำนวนสิบสองดิรฮัมนี้ช่างมีความจำเริญ (บะรอกัต) ยิ่งเสียนี่กระไร ได้ให้การสวมใส่แก่ผู้ไร้เสื้อผ้าถึงสองคน ในขณะเดียวกันเป็นสื่อในการปลดปล่อยทาสอีกหนึ่งคน (53)

ความสุภาพอ่อนโยนในจริยวัตรของท่านศาสดาผู้เมตตา(ซ็อลฯ)

    ความสุภาพอ่อนโยนและความนิ่มนวลคือสิ่งที่พบเห็นได้อย่างชัดเจนตลอดเวลาจากพฤติกรรมการแสดงออกและในจริยวัตรทางด้านสังคมของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และถือได้ว่าเป็นหนึ่งจากสถานะของความเมตตาสำหรับสากลโลก (رحمة للعالمين) ทั้งนี้เนื่องจากพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงชี้ให้เห็นในคัมภีร์อัลกุรอานถึงความสุภาพอ่อนโยนและความนิ่มนวลของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ว่าเป็นหนึ่งจากความเมตตาของพระองค์และได้ทรงตรัสถึงสิ่งดังกล่าวนี้ว่าเป็นคุณลักษณะที่ยิ่งใหญ่ควรค่าต่อการยกย่องสรรเสริญว่า :

فبما رحمة من الله لنت لهم و لو كنت فظاً غليظ القلب لانفضوا من حولك

“นั่นเป็นเพราะความเมตตาของอัลลอฮ์ที่ทำให้เจ้าสุภาพอ่อนโยนต่อพวกเขา และหากเจ้าเป็นผู้หยาบคายและมีหัวใจแข็งกระด้างแล้ว พวกเขาย่อมเตลิดหนีออกไปจากรอบตัวเจ้าอย่างแน่นอน” (54)

     ท่านมัรฮูมนะรอกี ได้กล่าวถึงความหมายของคำว่า “ริฟกุน”( رفق) ไว้เช่นนี้ว่า : “มันคือ ความสุภาพอ่อนโยน ความนิ่มนวล การแสดงออกต่อประชาชนด้วยความดีงาม อดทนอดกลั้นต่อพฤติกรรมที่ไม่ดีและการสร้างความรำคาญใจ” (55) และในสำนวนของท่านอิมามฆ่อซาลีได้กล่าวไว้เช่นนี้ว่า : “ความสุภาพอ่อนโยน (ริฟก์) นั้น คือคุณลักษณะแห่งพระผู้เป็นเจ้าที่ดีงามและน่ายกย่องสรรเสริญซึ่งเป็นคูณลักษณะที่ตรงข้ามกับความหยาบกระด้างและความหยาบคาย ซึ่งความหยาบกระด้างนั้นเป็นผลพวงมาจากความโกรธเกลียด แต่ความสุภาพอ่อนโยนนั้นเป็นผลมาจากความมีจริยธรรม (อัคลาก) ที่งดงามและความสมบูรณ์ของจิตวิญญาณ” (56)

      คำศัพท์สั้นๆ ของคำว่า “ริฟก์”( رفق) ”ความสุภาพอ่อนโยน” หรือ “มุดารอต” ( مداراة) “ความนุ่มนวล” นี้ ได้ครอบคลุมคุณลักษณะและความประเสริฐต่างจำนวนมากมายไว้ในตัวเอง

      ตัวอย่างเช่น (การแสดงออกด้วยความรักต่อเพื่อนมนุษย์ การระงับความโกรธ การยับยั้งตนจากความเครียดแค้นชิงชังและการอาฆาตรพยาบาท การอดทนอดกลั้น การควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง การหลีกเลี่ยงจากการแสดงออกที่เป็นความอธรรมและการกดขี่ข่มเหงผู้อื่น การตอบโต้ผู้ปฏิบัติไม่ดีต่อตนเองด้วยสิ่งที่ดีงาม การยับยั้งตนจากพฤติกรรมที่หยาบคายและความรุนแรง การแสดงออกอย่างเรียบง่ายต่อประชาชน ไม่เจ้าระเบียบ ไม่มีพิธีรีตองและเคร่งเครียดจนเกินความพอดี และความเป็นที่ดึงดูดจิตใจของผู้อื่น)

      ด้วยเหตุนี้เองพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งจึงได้ทรงตรัสถึงสิ่งนี้ไว้ด้วยการยกย่องและทรงถือว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความเมตตาของพระองค์เองโดยตรัสว่า

فبما رحمة من الله لنت لهم

“นั่นเป็นเพราะพระเมตตาของอัลลฮ์ที่เจ้าสุภาพอ่อนโยนต่อพวกเขา”

      ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้เล่ารายงานจากท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ)ซึ่งกล่าวว่า :

امرني ربي بمداراة الناس کما امرني بأداء الفرائض

“พระผู้อภิบาลของฉันได้ทรงบัญชาให้ฉันสุภาพอ่อนโยนต่อประชาชน เช่นเดียวกับที่ได้ทรงบัญชาให้ฉันปฏิบัติข้อกำหนดบังคับของศาสนา” (57)

     ท่านศาสดา(ซ็อลฯ)ได้กล่าวว่า :

ثلاث من لم يکن فيه لم يتم له عمل ، ورع يحجزه عن معاصي الله و خُلق يداري به الناس و حلم يردّ به جهل الجاهل

 “คุณลักษณะสามประการ หากไม่มีอยู่ในตัวบุคคลใดแล้วอะมั้ล (การงาน) ของเขาจะไม่สมบูรณ์ นั่นคือความเคร่งครัด (และความสำรวมตน) ที่จะยับยั้งเขาจากความชั่ว ความมีมารยาทที่ดีซึ่งจะทำให้เขาแสดงออกด้วยความสุภาพอ่อนโยนต่อเพื่อนมนุษย์ และความสุขุมคัมภีรภาพที่จะต้านทานความความโง่เขลาของผู้ที่โงเขลา” (58)

    ท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ)ได้แนะนำสั่งเสียต่อมุอาซ ขณะที่เขาจะเดินทางไปทำการเผยแผ่ศาสนา(ตับลีฆ)ในแผ่นดินเยเมน โดยกล่าวว่า :

عليك بالرفق والعفو

 “เจ้าจงแสดงออกด้วยความสุภาพอ่อนโยน (ต่อประชาชน) และการให้อภัย” (59)

     ตัวอย่างหนึ่งของความสุภาพอ่อนโยนและการแสดงออกด้วยความอ่อนน้อมนั่นคือ การระมัดระวัง การเอาใจเขามาใส่ใจเราและการคำนึงถึงสภาพของผู้อื่น ด้วยเหตุนี้เอง ในการนมาซและในการอ่านคูฏบะฮ์(คำสุนทรพจน์)นั้น ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) จะระมัดระวังและคำนึงถึงผู้ศรัทธาที่มีสภาพร่างกายที่อ่อนแอที่สุด ในคำรายงานบทหนึ่งท่านอิมามอะลี(อ.)ได้กล่าวว่า :

کانَ رَسُولُ اللهِ صلی الله علیه وآله أخَفَّ النّاسِ صَلاةً فِي تَمامٍ وکانَ أقصَرَ النّاسِ خُطبَةً

“ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) นั้นท่านเป็นผู้นำนมาซที่เสร็จสิ้นเร็วที่สุดในหมู่บุคคลทั้งหลายและจะกระทำการคูฎบะฮ์ (กล่าวสุนทรพจน์) สั้นที่สุดในหมู่บุคคลทั้งหลาย” (60)

ท่านอมีรุลมุอ์มินีน(อ.)ในขณะที่จะเดินทางไปเผยแผ่ศาสนาในแผ่นดินเยเมนนั้นท่านได้ถามท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ซ็อลฯ)ว่า ข้าพเจ้าจะนมาซกับประชาชนอย่างไร? ท่านตอบว่า : จงคำนึงถึงผู้ที่อ่อนแอที่สุดในหมู่พวกเขา และตัวท่านอิมามอะลี(อ.)เองได้กำชับสั่งเสียท่านมาลิก อัลอัชตัรว่า : ในการนมาซญะมาอะฮ์ร่วมกับประชาชนนั้นจงปฏิบัติด้วยความเห็นอกเห็นใจต่อประชาชน และจงอย่าทำให้ประชาชนเตลิดออกไปจากเจ้าเนื่องจากการนมาซที่ยาวนานของเจ้า”

     ความอ่อนน้อมและความสุภาพอ่อนโยนของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) นั้นมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการแผ่ขยายและความเจริญรุดหน้าของอิสลาม ด้วยเหตุนี้พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงตรัสต่อท่านว่า ถ้าหากไม่เป็นเพราะความสุภาพอ่อนโยนและความมีจิตเมตตาของเจ้าแล้ว ประชาชนย่อมจะเตลิดหนีออกไปจากรอบตัวเจ้าอย่างแน่นอน ในทำนองเดียวกับที่การปฏิบัติด้วยความอ่อนน้อมของท่านศาสดาในขณะพิชิตนครมักกะฮ์ต่อบรรดาผู้ที่ได้แสดงความเป็นศัตรูต่อท่านมาเป็นระยะเวลายาวนานหลายปี โดยที่ในวันดังกล่าวท่านศาสดาได้ประกาศว่า : ( اليوم يوم المرحمة ) : “วันนี้ คือวันแห่งความเมตตา” ด้วยกับคำพูดเช่นนี้ได้ทำให้กระแสคลื่นแห่งความผันผวนปรากฏขึ้นในหัวใจทั้งหลายดังเช่นที่คำภีร์อัลกุรอานได้กล่าว ( يدخلون في دين الله افواجا ) (อัลกุรอานบทอันนัซร์ โองการที่ 3) พวกเขาจึงพากันเข้าสูศาสนาอิสลามกันเป็นกลุ่ม ๆ

สายสัมพันธ์ทางด้านอารมณ์ความรู้สึกและความเอื้ออาธรของท่านศาสดา(ซ็อลฯ)

     อีกประการหนึ่งจากจริยวัตรทางด้านสังคมของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) คือการสร้างสายสัมพันธ์ทางด้านอารมณ์ความรู้สึกและความเอื้ออาธรต่อประชาชน ในคัมภีร์อัลกุรอาน พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงตรัสต่อท่านศาสนทูตของพระองค์ว่า :

 واخفظ جناحك لمن اتبعك من المومنين

“และจงลดปีก (แห่งความอ่อนน้อมและความเมตตา) ของเจ้า แก่บรรดาผู้ศรัทธาที่ปฏิบัติตามเจ้า” (61)

     สำนวนนี้เป็นการเป็นการเปรียบเปรยถึงการแสดงออกต่อประชาชนที่เปี่ยมไปด้วยความรักและความเอื้ออาธรเสมือนดั่งแม่ไก่ที่เมื่อมันต้องการจะแสดงออกซึ่งความรักและความเอื้ออาธรที่มีต่อบรรดาลูกน้อยของมัน มันจะโอบลูกน้อยเหล่านั้นของมันไว้ใต้ปีก

     ได้มีรายงานเกี่ยวกับจริยวัตรของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ว่า :

کان رسول الله بهم رحيما و عليهم عطوفا

“ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) เป็นผู้ที่มีความปราณีและความเอื้ออาธรต่อประชาชน” (62)

     ด้วยเหตุนี้เอง หากท่านศาสดาไม่พบเห็นผู้ใดในมัสยิด ท่านจะถามถึงเขา ถ้าทราบว่าเขาป่วยท่านจะไปเยี่ยมและถ้าหากพบว่าเขาประสบกับปัญหาใดๆ ท่านก็จะช่วยหาทางขจัดปัญหาให้แก่เขา

کان رسول الله يتعاهد الانصار و يعود هم و يسأل عنهم

“ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) จะเอาใจใส่ต่อชาวอันซ็อรเสมอ ท่านจะไปเยี่ยมพวกเขาและมักจะถามถึงพวกเขา” (63)

     ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ก็เช่นเดียวกันในการแสดงออกต่อลุงผู้เป็นบูชารูปเจว็ดของตน ท่านใช้ถ้อยคำที่แสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกคือคำว่า “บิดาของฉัน” และจะพูดกับเขาด้วยความสุภาพอ่อนโยนโดยกล่าวว่า :

 سلام عليك ساستغفرلك ربي انه کان بي حفيا

“ท่านจงมีความสุขสันติเถิด ข้าพเจ้าจะวิงวอนขออภัยโทษต่อพระผู้อภิบาลของข้าพเจ้าให้แก่ท่าน เพราะแท้จริงพระองค์ทรงมีเมตตาแก่ข้าพเจ้าเสมอ” (64)

     ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวถึงจริยวัตรของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ไว้เช่นนี้ว่า :

اذا تفقد الرجل من اخوانه ثلاثه ايام سأل عنه فان کان غائباً دعاله و ان کان شاهداً زاره و ان کان مريضاً عاده

 “หากมีคนใดจากบรรดาสหายของท่านหายหน้าไปถึงสามวัน ท่านจะถามถึงเขา ถ้าหากเขาไม่อยู่ (และเป็นผู้เดินทาง) ท่านก็จะวิงวอนขอพร (ดุอาอ์) ให้แก่เขา แต่ถ้าหากเขาอยู่ (ในเมือง) ท่านก็จะไปเยือนเขา และถ้าเขาเป็นผู้ป่วยไข้ ท่านก็จะไปเยี่ยมไข้เขา” (65)

บทสรุป

    คุณลักษณะแห่งความเมตตา (เราะห์มานียะฮ์) ของพระผู้เป็นเจ้าเป็นการบ่งชี้ถึงความเมตตาโดยรวม(เราะห์มะตุลอามมะฮ์)ของพระองค์ที่ครอบคลุมทั้งมิตรและศัตรู ทั้งผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) และผู้ปฏิเสธ (กาฟิร) ส่วนคุณลักษณะแห่งความปราณี(ร่อฮีมิยะฮ์)นั้นเป็นการบ่งชี้ถึงความปราณีหรือความเมตตาอันเป็นเฉพาะ(เราะห์มะตุลค๊อซเซาะฮ์)สำหรับบรรดาผู้ศรัทธา (มุอ์มินีน)เพียงเท่านั้น

     และในคัมภีร์อัลกุรอานนั้น คุณลักษณะ (ซิฟัต) ทั้งสองประการนี้ ได้ถูกกล่าวถึงสำหรับท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) เช่นเดียวกัน บนพื้นฐานของโองการต่า ๆ ของคัมภีร์อัลกุรอาน ความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้านั้นมีความหมายที่ที่ครอบคลุมอย่างกว้างขวาง : ( رحمتي وسعت كلُّ شيءٍ )  (ความเมตตาของข้าแผ่ปกคลุมทุกสรรพสิ่ง) และพระผู้เป็นเจ้าได้กำหนดให้ความเมตตานั้นเป็นวาญิบ (สิ่งจำเป็น) เหนือตัวพระองค์เอง : ( كتب ربكم علي نفسه الرحمة ) (องค์พระผู้อภิบาลของพวกท่านได้ทรงกำหนดความเมตตาไว้เหนือตัวพระองค์เอง) ในคัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวถึงตัวอย่างจำนวนมากมายสำหรับความเมตตาโดยรวม (เราะห์มะตุลอามมะฮ์) ของพระผู้เป็นเจ้าไว้

     พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งทรงเป็นพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก ( رب العالمين ) ในขณะเดียวกันพระองค์ได้ทรงแนะนำท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ในฐานะความเมตตาสำหรับสากลโลก โดยที่พระองค์ได้ทรงตรัสว่า :  ( و ما ارسلناك الا رحمة للعالمين) (และเราไม่ได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใด นอกจากเป็นความเมตตาสำหรับสากลโลก)

     ดังนั้นท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) คือความเมตตา (เราะห์มัต) สำหรับมนุษยชาติทั้งมวลในทุกยุคสมัยจวบจนถึงวันแห่งการสิ้นสลายของโลก และความเมตตานี้ไม่เพียงแต่สำหรับบรรดาผู้ที่เชื่อมั่นและปฏิบัติตามท่านเพียงเท่านั้น ทว่าครอบคลุมถึงมนุษย์ทุกคน และแม้แต่ครอบคลุมถึงมวลมะลาอิกะฮ์ (ทวยเทพ) ด้วยเช่นกัน และตราบที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ยังมีชีวิตอยู่นั้น พระผู้เป็นเจ้ามิได้ลงโทษ (อะซาบ) ต่อบุคคลใด : ( و ما كان الله ليعذبهم و انت فيهم ) (และอัลลอฮ์จะไม่ทรงลงโทษพวกเขาอย่างแน่นอน ในขณะที่เจ้ายังอยู่ในหมู่พวกเขา)

     ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) คือภาพปรากฏของความเมตตาและความกรุณาแห่งพระผู้เป็นเจ้าทั้งในโลกนี้และในปรโลก และในจริยวัตรและการแสดงออกในทางปฏิบัติของท่านศาสดานั้น ความเมตตา ความกรุณา ความปราณี ความเอื้ออาธร การให้อภัย การไม่ถือโทษโกรธเคือง ความสุภาพอ่อนโยนและการแสดงออกด้วยความนุ่มนวลทั้งต่อมิตรสนิทและศัตรูนั้นสามารถประจักษ์ได้อย่างชัดเจนและสมบูรณ์ เมื่อพิจารณาถึงกรณีที่ว่าท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้ถูกแนะนำในฐานะแบบอย่าง (อุซวะฮ์) หรือแบบฉบับ :

 لقد كان لكم في رسول الله اسوة حسنة

(อันที่จริงแบบอย่างที่ดีงามยิ่งสำหรับพวกเจ้านั้น มีอยู่ในศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์)

     ดังนั้น ประชาชาติ (อุมมะฮ์) อิสลามทั้งมวลจำเป็นต้องนำเอาจริยวัตรและการปฏิบัติตนของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) มาเป็นแนวทางและแบบอย่างสำหรับตนเอง นี่คือบทเรียนที่มียังมนุษยชาติทั้งมวลที่ว่าในการดำเนินชีวิตของพวกเขานั้น พวกเขาจะต้องเสริมแต่งและประดับประดาตนเองด้วยจริยธรรม(อัคลาก)แห่งพระผู้เป็นเจ้าและแบบอย่างแห่งท่านศาสดานี้  พวกเขาจะต้องปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยความมีเกียรติ ด้วยความสุภาพอ่อนโยนและด้วยความรักและความเอื้ออาธร อีกทั้งจำเป็นที่พวกเขาจะต้องขจัดความเครียดแค้นชิง ความเป็นศัตรู การให้ร้ายป้ายสีและการนินทาออกไปจากตัวเอง และตลอดเวลาแห่งการดำเนินชีวิตนั้น บนพื้นฐานของโองการอัลกุรอานที่กล่าวว่า :

 تواصوا بالمرحمة

พวกเจ้าจงตักเตือนซึ่งกันและกันให้มีความเมตตา (66)

     ดังนั้น พวกเขาจงกำชับสั่งเสียและตักเตือนซึ่งกันและกันให้ยึดมั่นต่อจริยวัตรและแบบอย่างแห่งความเมตตาของท่านศาสดา(ซ็อลฯ)นี้ และนำสู่การปฏิบัติให้ได้อย่างแท้จริง


เชิงอรรถ :

(42) มะการิมุลอัคลาก, หน้าที่ 17

(43) ซุนะนุนนะบี, หน้าที่ 75

(44) ซุนะนุนนะบี, หน้าที่ 75

(45) มะการิมุลอัคลาก, หน้าที่ 67

(46) ตารีคอัฏฏ็อบรี, เล่มที่ 3, หน้าที่ 56

(47) ซุนะนุนนะบี, หน้าที่ 127

(48) ซุนะนุนนะบี, หน้าที่ 127

(49) วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่มที่ 9, หน้าที่ 159

(50) อัลกุรอานบทอาลุอิมรอน โองการที่ 159

(51) อัลกุรอานบทอัชชุอะรออ์ โองการที่ 3

(52) อัลกุรอานบทฏอฮา โองการที่ 2

(53) บิฮารุลอันวาร เล่มที่ 16, หน้าที่ 215

(54) อัลกุรอานบทอาลุอิมรอน โองการที่ 159

(55) ญามิอุซซะอาดาต เล่มที่ 1, หน้าที่ 340

(56) เอี๊ยะห์ยาอ์ อุลูมิดดีน, หน้าที่ 184

(57) อุซูลุลกาฟี, เล่มที่ 2, หน้าที่ 117

(58) อุซูลุลกาฟี, เล่มที่ 3, หน้าที่ 181

(59) ตุฮะฟุลอุกูล, หน้าที่ 26

(60) มะการิมุลอัคลาก, หน้าที่ 23 นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ ริซาละฮ์ที่ 53

(61) อัลกุรอานบทอัชชุอะรออ์ โองการที่ 215

(62) บิฮารุลอันวาร เล่มที่ 82, หน้าที่ 321

(63) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 82, หน้าที่ 118

(64) อัลกุรอานบทมัรยัม โองการที่ 47

(65) มะการิมุลอัคลาก หน้าที่ 17

(66) อัลกุรอานบทอัลบะลัด โองการที่ 17


บทความ  : เชคมูฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่