วันที่ 18 ของเดือนซุลฮิจญะฮ์ คือวันอีดฆอดีร และถือเป็นวัน "อีดุลลอฮิ้ลอักบัร" เป็นวันอีดของพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ) พระผู้ทรงยิ่งใหญ่ และเป็นวันอีดของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล )และบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ (อ) อันบริสุทธิ์
วันอีดฆอดีร คือ วันอีดที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ณ อัลลอฮ์ เป็นวันอีดของอาลิมุฮัมมัด (วันแห่งการเฉลิมฉลองของวงศ์วานของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และเป็นวันอีดที่มีคุณค่าที่สุดและมีความสูงส่งที่สุดในอิสลาม ในทัศนะของชาวชีอะฮ์ในช่วงเวลาตลอดทั้งปีนั้น ไม่มีวันใดจะมีความจำเริญ (บะรอกัต) และมีความดีงามมากไปกว่าวันนี้ทั้งนี้เนื่องจากว่า ท่านอิมามญะอ์ฟัร อัซซอดิก (อ.) เองได้กล่าวไว้ว่า :
إِنَّ يَوْمَ غَدِيرِ خُمٍّ : بَيْنَ الْفِطَرِ وَ الْأَضْحَى وَ الْجُمُعَةِ كَالْقَمَرِ بَيْنَ الْكَوَاكِبِ
“แท้จริงวันฆอดีรคุม ในท่ามกลางวันอีดิลฟิฏร์, วันอีดิลอัฎฮาและวันศุกร์นั้น เปรียบได้ดั่งดวงจันทร์ในท่ามกลางดวงดาวทั้งหลาย...”
(อิกบาลุลอะอ์มาล, ซัยยิดอิบนิฎอวูซ, หน้าที่ 466)
นับเป็นถ้อยคำที่มีความละเอียดอ่อนยิ่งนักที่ท่านอิมาม (อ.) ได้เปรียบเทียบวันอีดฆอดีรเหมือนกับดวงจันทร์ และเปรียบเทียบวันอีดอื่นๆ เหมือนดั่งบรรดาดวงดวงที่อยู่ในท่ามกลางดวงจันทร์ ทั้งนี้เนื่องจากว่า ในวันอันยิ่งใหญ่นี้พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงประกาศว่า :
اَلْيوَمَ اَكَمْلَتُ لَكُم دينَكُم وَ اَتْمَمْتُ عَلَيكُم نِعمَتي وَ رضَيتُ لَكُمُ الاِسْلاَمَ ديناً
“วันนี้ข้าได้ทำให้ศาสนาของพวกเจ้าสมบูรณ์สำหรับพวกเจ้าแล้ว และข้าได้มอบความโปรดปราณของข้าครบถ้วนแก่พวกเจ้าแล้ว และข้าพึงพอใจแล้วที่จะให้อิสลามเป็นศาสนาของพวกเจ้า”
(อัลกุรอานบทอัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 3)
เนี๊ยะอ์มัต (ความโปรดปราน) อันยิ่งใหญ่แห่งอิสลามนั้นถือเป็นเนี๊ยะอ์มัต (ความโปรดปราน) ที่ทรงคุณค่าที่สุดซึ่งไม่อาจจะสมบูรณ์และเป็นจริงขึ้นมาได้เว้นเสีย แต่ด้วยกับวิลายะฮ์ (อำนาจการปกครอง)ของท่านอิมามอะลี (อ.)
ดั่งที่ท่านอิมามบากิร (อ.) ได้กล่าวว่า :
وَ لَمْ يُنادَ بِشَىءٍ ما نُودِىَ بِالوِلايَةِ يَوْمَ الغَدِيرِ
“ไม่มีสิ่งใดที่ได้ถูกเรียกร้อง (ให้ยึดมั่นปฏิบัติตาม) เหมือนดังที่ถูกเรียกร้องในเรื่องของวิลายะฮ์ (อำนาจการปกครอง) ในวันฆอดีร”
(อุซูลุลกาฟี, เล่มที่ 2 , บาบดะอาอิมุลอิสลาม , ฮะดีษที่ 8)
มุฮิบบุดดีน อัฏฏ็อบรีนักวิชาการผู้ยิ่งใหญ่ชาวซุนนีท่านหนึ่งได้รายงานว่าศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า :
إِذَا جَمَعَ اللَّهُ الْأَوَّلِینَ وَالْآخِرِینَ یَوْمَ الْقِیَامَهِ وَ نُصِبَ الصِّرَاطُ عَلَى ظَهْرَانِی جَهَنَّمَ لَمْ یَجُزْ بِهَا أَحَدٌ إِلَّا مَنْ کَانَتْ مَعَهُ بَرَاءَهٌ بِوَلَایَهِ عَلِیِّ بْنِ أَبِی طَالِبٍ (عَلَیْهِ السَّلَامُ)
“เมื่ออัลลอฮ์ได้ทรงรวมมนุษย์ทุกคนขึ้นในวันชาติหน้าและได้ทรงทอดซิรอฏไปบนสะพานข้ามนรกจะไม่มีผู้ใดข้ามมันไปได้นอกจากบุคคลที่จะได้รับความรอดพ้นด้วยกับวิลายะฮ์ (อำนาจการปกครอง) ของอะลี บินอะบีฏอลิบ (อ.) ”
วิลายะฮ์ของท่านอิมามอะลี (อ.) นั้นคือ “ดีน ฮะนิฟ” (ศาสนาอันบริสุทธิ์) ที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสว่า :
فَأَقِمْ وَجْهَكَ لِلدِّينِ حَنِيفًا فِطْرَةَ اللَّهِ الَّتِي فَطَرَ النَّاسَ عَلَيْهَا
“ดังนั้นเจ้าจงผินใบหน้าของเจ้าเข้าสู่ศาสนาที่มีความเที่ยงตรงเถิดอันเป็นธรรมชาติของอัลลอฮ์ซึ่งพระองค์ได้สร้างมนุษย์ขึ้นมาบนมัน”
(อัลกุรอานบทอัรรูม โองการที่ 30)
และวิลายะฮ์ของท่านอะลี (อ.) นั้น ก็คือฏอรีเกาะฮ์ (แนวทาง) ที่ถูกต้องสำหรับการดำเนินชีวิตโดยที่ถ้าหากมนุษย์เลือก เดินตามแนวทางนี้แล้วในวันกิยามะฮ์ (ชาติหน้า) พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งจะทรงให้เขาได้ดื่มน้ำอันหวานชื่นแห่งสระน้ำเกาษัรด้วยมือของท่านอะลี (อ.) โดยที่พระองค์ได้ทรงตรัสว่า :
وَأَنْ لَوِ اسْتَقَامُوا عَلَى الطَّرِيقَةِ لأَسْقَيْنَاهُمْ مَاءً غَدَقًا
“และหากพวกเขาธำรงมั่นอยู่บนแนวทางอันเที่ยงตรงแล้ว แน่นอนยิ่งเราก็จะให้พวกเขาได้ดื่มน้ำอันอุดม”
(อัลกุรอานบทอัลญิน โองการที่ 16)
และวิลายะฮ์นี้ คือ เนี๊ยะอ์มัต (ความโปรดปราณ) ที่มนุษย์ทุกคนจะต้องถูกสอบถามว่าพวกเขาได้ปฏิบัติตนอย่างไรต่อสิ่งนั้น
ثُمَّ لَتُسْأَلُنَّ يَوْمَئِذٍ عَنِ النَّعِيمِ
“ต่อจากนั้นพวกเจ้าจะต้องถูกสอบถามอย่างแน่นอนในวันนั้นเกี่ยวกับเกี่ยวกับความโปรดปราน (ที่ได้รับในโลกดุนยา) ”
(อัลกุรอานบทอัตตะกาซุร โองการที่ 8)
ท่านอาลูซี นักอรรถาธิบาย (มุฟัซซิร) คัมภีร์อัลกุรอานผู้ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งของซุนนีภายหลังจากได้ยกโองการอัลกุรอานที่ว่า :
وَقِفُوَهُمْ إِنَّهُم مَّسْئُولُونَ
“และพวกเจ้าจงหยุดพวกเขาไว้ แท้จริงพวกเขาจะต้องถูกสอบถาม”
(อัลกุรอานบทอัซซอฟฟาต โองการที่ 14)
และภายใต้โองการนี้เขาได้อ้างคำพูดและทัศนะต่างมากมาย และท้ายที่สุดเขาได้สรุปโดยกล่าวว่า :
“ทัศนะคำพูดที่ดีที่สุดและถูกต้องที่สุดนั้นก็คือว่าในวันนั้นจะถูกถามเกี่ยวกับความเชื่อและการกระทำต่างๆของมนุษย์และสิ่งที่สำคัญกว่าทั้งหมดและยิ่งใหญ่ที่สุดนั้นก็คือจะต้องถูกสอบถามเกี่ยวกับวิลายะฮ์ของท่านอะลี (กัรร่อมัลลอฮุ วัจญ์ฮะฮ์)”
และในวันอันยิ่งใหญ่นี้ซึ่งเป็นการย้ำเตือนความทรงจำในการแต่งตั้งท่านอะมีรุลมุอ์มินีน (อ.) โดยท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) โดยพระบัญชาแห่งองค์ พระผู้อภิบาลของท่าน สมควรอย่างยิ่งที่จะทำให้ฟิฏเราะฮ์ (ธรรมชาติ) อันเป็นแบบแผนแห่งการสร้างของ พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งนี้มีชีวิตและถูกรำลึกอยู่อยู่ตลอดไปในหัวใจทั้งหลาย และทำให้ม่านหมอกแห่งความมืดมน ความโง่เขลา ความไม่รู้และความหลงลืมได้ถูกขจัดออกไปจากดวงตาของบรรดาผู้เผลอเลอทั้งหลาย เพื่อที่พวกเขาจะได้ย่างก้าวไปบนเส้นทาง (ฏอรีเกาะฮ์) อันเป็นสัจธรรมและหันกลับมาสู่ซิรอฏอลมุสตะกีม(แนวทางอันเที่ยงตรง)แห่งพระผู้เป็นเจ้าและศาสนา ของพวกเขาจะได้เกิดความสมบูรณ์
มีผู้ถามท่านอิหม่ามซอดิก (อ.) ว่า : โอ้นายของฉัน! ท่านจะใช้ให้พวกเราถือศิลอดในวันนี้กระนั้นหรือ?
ท่านอิมาม (อ.)ได้ตอบว่า :
“ใช่แล้วขอสาบานต่ออัลลอฮ์! ใช่แล้วขอสาบานต่ออัลลอฮ์! แท้จริงวันนี้ก็คือวันซึ่งท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ได้รอดพ้นออกมาจากกองไฟแล้วท่านได้ถือศีลอดเพื่อขอบคุณต่ออัลลอฮ์ผู้ทรงเกริกเกียรติเกรียงไกร ในวันนั้นและวันนี้คือวันซึ่งท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ได้แต่งตั้งท่านอะมีรุลมุอ์มินีน (อ.) เป็นตราสัญลักษณ์ (แห่งการชี้นำ) และได้ทำให้เกียรติและความเป็นผู้สืบทอดของท่านเป็นที่กระจ่างชัดและท่านก็ได้ถือศีลอดในวันนั้น และวันนั้นคือวันแห่งการถือศีลอด การดำรงอิบาดะฮ์ การเลี้ยงอาหาร และการผูกสัมพันธ์ต่อพี่น้องร่วมศาสนา และในวันนี้เป็นวันแห่งความพึงพอพระทัยของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเมตตาและเป็นวันแห่งความ โกรธแค้นของมารร้าย (ชัยฏอน) ”
ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้สรุปอะมั้ลต่าง ๆ (ที่ควรปฏิบัติ) ในวันที่สำคัญนี้ไว้ในสี่ประการคือ :
1 – การถือศิลอด :
ในบางริวายะฮ์(คำรายงาน)ได้กล่าวว่า การถือศิลอดในวันนี้มีคุณค่าเท่ากับการทำฮัจญ์และอุมเราะฮ์ (มุสตะฮับ) ถึง 100 ครั้ง และในบางรายงานได้กล่าวว่า จะเป็นกัฟฟาเราะฮ์ (ไถ่โทษ) ความผิดถึง 60 ปี ดังนั้นบรรดาผู้ศรัทธาทั้งชายและหญิงควรให้ความสำคัญต่อคุณค่าอันสูงส่งนี้ และทำการถือศิลอดในวันนี้
2 – การดำรงอิบาดะฮ์ :
โดยสำนวนแล้วคำว่า การดำรงอิบาดะฮ์และการให้ชีวิตแก่เยามุลลอฮ์ (วันแห่งอัลลอฮ์) นี้ จะหมายถึง การวิงวอนขอดุอาอ์ การอิสติฆฟาร (ขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์) และเป็นไปได้ว่า คำว่า การยืนหยัด (กิยาม) ในที่นี้จะหมายถึงการการยืนหยัดและการดำรงมั่นอยู่บนแนว ทางอันเป็นสัจธรรม และการยืนหยัดเผชิญหน้าต่อเหล่าศัตรูของอิสลามและมวลมุสลิม การต่อสู้กับบรรดาทรราชและผู้อธรรมทั้งหลาย
อย่างไรก็ดีการยืนหยัดเผชิญหน้ากับความเท็จและญิฮาด (การต่อสู้) ในหนทางของพระผู้เป็นเจ้านั้นโดยตัวของมันแล้วก็คือการอิบาดะฮ์อันยิ่งใหญ่ประการหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้น มันคือส่วนหนึ่งจากหน้าที่บังคับ (วาญิบาต) ที่สำคัญที่สุด
3 – การเลี้ยงอาหาร :
การรับรองแขกและการเลี้ยงอาหารแก่บรรดาพี่น้องผู้ศรัทธานั้นนับได้ว่าเป็นคุณลักษณะเฉพาะของวันอีดและการเฉลิมฉลองทั้งหลายโดยเฉพาะวันอีดอันยิ่งใหญ่นี้ได้รับการเน้นย้ำเป็นพิเศษและแน่นอนยิ่งว่าการทำให้บรรดาผู้ศรัทธามีความสุขและเกิดความปริติยินดีนั้นคืออิบาดะฮ์ที่ดี เลิศที่สุดอันจะนำมาซึ่งความพึงพอพระทัยจากพระผู้เป็นเจ้า
4 – การผูกสัมพันธ์ต่อบรรดาหมู่มิตร :
การทำดีและการแสดงออกด้วยความดีงามต่อบรรดาพี่น้องผู้ศรัทธา การไปมาหาสู่และการเยี่ยมเยือนพวกเขาอยู่เป็นเนืองนิจนั้นถือเป็นอะมั้ล (การกระทำ) ที่ดีงามและน่าสรรเสริญยิ่งประการหนึ่งแต่สำหรับในวันอีดฆอดีรนั้นได้ถูกเน้นย้ำเป็นกรณีพิเศษมีปรากฏในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ว่า คราใดก็ตามที่ท่านพบเจอกับพี่น้องผู้ศรัทธาของตนในวันนี้ จงแสดงความปริติยินดีต่อเขาด้วยการกล่าวว่า :
الْحَمْدُ لِلَّهِ الَّذِي جَعَلَنَا مِنَ الْمُتَمَسِّكِينَ بِوِلاَيَةِ أَمِيرِ الْمُؤْمِنِينَ وَ الْأَئِمَّةِ عَلَيْهِمُ السَّلاَمُ
คำอ่าน :“อัลฮัมดุลิลลาฮิลละซี ญะอะละนา มินัลมุตะมัซซิกีนะ บิวิลายะติ อะมีริลมุอ์มินีนะ วัลอะอิมมะตะ อะลัยฮิมุสสะลาม”
ความหมาย : “มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิแด่อัลลอฮ์ผู้ซึ่งได้ทรงทำให้เราเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาผู้ที่ยึดมั่นในวิลายะฮ์ (อำนาจการปกครอง) ของท่านอะมีรุลมุอ์มินีนและบรรดาอิมาม (อ.) ”
บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2024 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่