ความคลุมเครือเกี่ยวกับการเสียชีวิต (วะฟาต) ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) หนึ่งในความอธรรมที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้รับภายหลังการจากไปของท่าน นั่นคือจวบจนถึงวันนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า ท่านเสียชีวิต (วะฟาต) โดยธรรมชาติ เนื่องจากความเจ็บป่วยหรือด้วยการเป็นชะฮีด ในขณะที่มุสลิมโดยทั่วไปจะรับรู้ว่า ท่านเสียชีวิตเนื่องจากความอาการป่วย แต่หากเราพิจารณาในบันทึกทางประวัติศาสตร์บางส่วนเราจะพบว่า มีการชี้ให้เห็นว่า ท่านได้เสียชีวิตอันเกิดจากผลของการถูกวางยาพิษโดยบรรดาศัตรูที่ปรารถนาจะดับรัศมี (นูร) แห่งพระผู้เป็นเจ้า
หนึ่งในวิธีการที่บรรดาศัตรูนำมาใช้ในการดับนูร (รัศมี) ของพระผู้เป็นเจ้า คือการสังหารปวงศาสดาและบรรดาเอาลิยาอ์ (ผู้เป็นที่รัก) ของอัลลอฮ์ (อ.) ประเด็นดังกล่าวนี้เราสามารถรับรู้ได้จากประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติในทุกยุคสมัย และในคัมภีร์อัลกุรอานก็ได้ชี้ให้เห็นไว้ในหลายโองการเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตัวอย่างเช่น ในบทอาลิอิมรอน โองการที่ 21 ได้กล่าวว่า
إِنَّ الَّذِينَ يَكْفُرُونَ بِآيَاتِ اللَّهِ وَيَقْتُلُونَ النَّبِيِّينَ بِغَيْرِ حَقٍّ وَيَقْتُلُونَ الَّذِينَ يَأْمُرُونَ بِالْقِسْطِ مِنَ النَّاسِ فَبَشِّرْهُم بِعَذَابٍ أَلِيمٍ
"แท้จริงบรรดาผู้ปฏิเสธโองการทั้งหลายของอัลลอฮ์ และฆ่าบรรดาศาสดาโดยปราศจากความชอบธรรม และฆ่ามนุษย์ผู้ที่กำชับใช้ (ประชาชน) ให้มีความยุติธรรมนั้น เจ้าจงแจ้งข่าวแก่พวกเขาเถิด ถึงการลงโทษอันเจ็บปวด"
วิธีการดังกล่าวนี้ก็ถูกกระทำกับบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) วงค์วานของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ดังที่ทราบกันดีว่า ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้เป็นชะฮีด (ด้วยการถูกฟันศีรษะขณะนมาซ) ท่านอิมามฮะซันมุจญ์ตะบา (อ.) ถูกวางยาพิษ และท่านอิมามฮุเซน (อ.) ถูกสังหารในแผ่นดินกัรบะลา เหล่านี้คือตัวอย่างส่วนหนึ่งที่บรรดาศัตรูของสัจธรรมได้ดำเนินการเพื่อดับแสง (นูร) และทางนำแห่งพระผู้เป็นเจ้า
มีริวายะฮ์ (คำรายงาน) จำนวนมากที่บ่งชี้และพิสูจน์ให้เห็นว่าบรรดามะอ์ซูม (ผู้บริสุทธิ์) ทุกท่านนั้นล้วนเป็นชะฮีดและถูกสังหารโดยเหล่าศัตรู โดยที่ไม่มีคนใดจากพวกท่านเลยที่เสียชีวิตแบบธรรมชาติ แม้แต่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) เองก็เช่นเดียวกัน เกี่ยวกับประเด็นนี้ ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) เองก็ได้กล่าวไว้ก่อนแล้วว่า
ما من نبيٍّ أو وصيٍّ إلا شهیدٌ
"ไม่มีศาสดาหรือผู้สืบทอดคนใด เว้นแต่เป็นชะฮีด (เสียชีวิตโดยการถูกสังหาร)" (1)
อีกตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้คือ ภายหลังจากการเป็นชะฮีด (ถูกสังหาร) ของท่านอิมามอะลี (อ.) ท่านอิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ.) ผู้เป็นบุตรชายได้ขึ้นสู่มินบัร (ธรรมาสน์) และกล่าวคำปราศรัย (คุฏบะฮ์) เนื้อหาส่วนหนึ่งของคำพูดของท่าน ท่านได้กล่าวว่า
لقد حَدَّثَني حَبِيبي جَدّي رسولُ اللّه ِ صلى الله عليه و آله أنّ الأمرَ يَملِكُهُ اثنا عَشَرَ إماما مِن أهلِ بيتِهِ و صَفوَتِهِ، ما مِنّا إلاّ مَقتولٌ أو مَسمومٌ
"แน่นอนยิ่ง ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ท่านตาผู้เป็นที่รักของฉัน ได้บอกแก่ฉันว่า อำนาจการปกครองนี้ อิมาม (ผู้นำ) สิบสองคนจากอะฮ์ลุลบัยต์ (ครอบครัว) ของท่านและผู้ที่ถูกเลือกสรรของท่านจะมีอภิสิทธิ์ในมัน ไม่มีผู้ใดจากเรา นอกจากจะต้องถูกสังหารหรือไม่ก็ถูกวางยาพิษ" (2)
ความคลุมเครือเกี่ยวกับการเสียชีวิต (วะฟาต) ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) หนึ่งในความอธรรมที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้รับภายหลังการจากไปของท่าน นั่นคือ จวบจนถึงวันนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า ท่านเสียชีวิต (วะฟาต) โดยธรรมชาติ เนื่องจากความเจ็บป่วยหรือด้วยการเป็นชะฮีด ในขณะที่มุสลิมโดยทั่วไปจะรับรู้ว่า ท่านเสียชีวิตเนื่องจากความอาการป่วย แต่หากเราพิจารณาในบันทึกทางประวัติศาสตร์บางส่วนเราจะพบว่า มีการชี้ให้เห็นว่า ท่านได้เสียชีวิตอันเกิดจากผลของการถูกวางยาพิษโดยบรรดาศัตรูที่ปรารถนาจะดับรัศมี (นูร) แห่งพระผู้เป็นเจ้า
มีคำรายงานจำนวนมากที่ชี้ให้เห็นว่าท่านเสียชีวิต (วะฟาต) หรือเป็นชะฮีดโดยการถูกวางยาพิษ แต่ในที่นี้จะขอชี้ให้เห็นเพียงบางส่วน เพื่อให้ผู้ที่สนใจอยากรู้ในเรื่องนี้นำไปศึกษาค้นคว้าต่อไปเท่านั้น
ในคำรายงานที่มาจาก “อับดุลลอฮ์ อิบนิมัสอูด” ซึ่งได้กล่าวว่า
لأَنْ أَحْلِفَ تِسْعاً ان رَسُولَ اللَّهِ صلى الله عليه وسلم قُتِلَ قَتْلاً أَحَبُّ الي من أَنْ أَحْلِفَ وَاحِدَةً انه لم يُقْتَلْ وَذَلِكَ بِأَنَّ اللَّهَ جَعَلَهُ نَبِيًّا وَاتَّخَذَهُ شَهِيداً
"แน่นอนยิ่งหากจะให้ฉันสาบานถึงเก้าครั้งว่า ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ถูกฆ่าตายนั้น ย่อมเป็นที่ปรารถนาสำหรับฉันมากกว่าการที่จะให้ฉันสาบานเพียงครั้งเดียวว่าท่านไม่ได้ถูกฆ่าตาย และนั่นเนื่องจากอัลลอฮ์ได้ทรงแต่งตั้งให้ท่านเป็นศาสดาและทรงกำหนดให้ท่านเป็นชะฮีด" (3)
ในหนังสือ “อันซาบุลอัชร๊อฟ” ได้กล่าวว่า : (ในช่วงที่ท่านศาสทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) เสียชีวิต ท่านอะลี บินอบีฏอลิบ (อ.) ฟัฎลิ์ และอุซามะฮ์ ได้ลงไปในหลุมฝังศพของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) จากนั้นชายชาวอันซอรผู้หนึ่ง ซึ่งถูกเรียกว่า อิบนิเคาลีย์ ได้กล่าวขึ้นว่า
قد علمتم أنی کنت أدخل قبور الشهداء و رسول الله (ص) أفضل الشهداء فأدخل معهم
"พวกท่านก็รู้ดีว่า ฉันเคยลงไปในหลุมฝังศพของบรรดาชะฮีดทั้งหลาย ในขณะที่ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) นั้น คือผู้ที่ประเสริฐที่สุดในหมู่ชะฮีดทั้งหลาย" ดังนั้นเขาจึงได้รับอนุญาตให้ลงไปพร้อมกับพวกเขา (4)
ท่านฮากิม นีซาบูรี ได้บันทึกไว้ว่า
قال الشعبی : والله سمَّ رسول الله (ص)
อัชชะบีย์ ได้กล่าวว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮ์! ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้เสียชีวิตโดยถูกวางยาพิษ" (5)
ในหนังสือ "อัลมัจญ์ดี ฟี อันซาบิฏฏอลิบีน" ได้บันทึกไว้ว่า
قال ابن سعد : جاء فی روایة : ومات مسموماً وله ثلاثٌ وستون سنة. هذا قول ابن عبدة
อิบนุซะอัดได้กล่าวว่า “ได้ปรากฏอยู่ในคำรายงานหนึ่งว่า : และท่าน (ศาสนทูตของอัลลอฮ์) เสียชีวิตโดยถูกวางยาพิษ ในขณะที่มีอายุ 63 ปี นี่คือคำพูดของอิบนุอับดะฮ์" (6)
นี่คือตัวอย่างส่วนหนึ่งที่มีบันทึกอยู่ในตำราของบรรดานักวิชาการในยุคอดีต แต่ในรายละเอียดที่ว่า ท่านศาสดาเสียชีวิตจากผลของการถูกวางยาพิษก็มีทัศนะความเห็นต่างๆ ในเรื่องนี้ว่าท่านเคยถูกลอบวางยาพิษกี่ครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราทราบกันโดยทั่วไป ท่านถูกวางยาพิษครั้งหนึ่งในสงครามค็อยบัร โดยหญิงชาวยิวผู้หนึ่งที่นำอาหารใส่ยาพิษมามอบให้ท่าน ตัวอย่างเช่น ตามรายงานของบุคคอรี ได้กล่าวว่า
قالت عَائِشَةُ رضي الله عنها كان النبي صلى اللهعليه وسلم يقول في مَرَضِهِ الذي مَاتَ فيه يا عَائِشَةُ ما أَزَالُ أَجِدُ أَلَمَ الطَّعَامِ الذي أَكَلْتُ بِخَيْبَرَ فَهَذَا أَوَانُ وَجَدْتُ انْقِطَاعَ أَبْهَرِي من ذلك السُّمِّ
อาอิชะฮ์ (ร.ฎ.) เล่าว่า ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้กล่าวในช่วงการป่วยของท่านก่อนที่ท่านจะเสียชีวิตว่า “โอ้อาอิชะฮ์! จนถึงขณะนี้ฉันยังคงรู้สึกเจ็บปวดจากอาหารที่ฉันได้กินในสงครามค็อยบัร และตอนนี้ฉันคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่เส้นเลือดของฉันจะแตกขาดอันเนื่องมาจากยาพิษนั้น" (7)
แหล่งอ้างอิง :
(1) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 17, หน้าที่ 405 และ เล่มที่ 40, หน้าที่ 139
(2) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 18, หน้าที่ 217
(3) อัลมุซ็อนนัฟ, อัซซ็อนอานี, เล่มที่ 5 , หน้าที่ 269, ฮะดีษที่ 9571 ; มุสนัด อะห์มัด อิบนิฮันบัล, เล่มที่ 1, หน้าที่ 408, ฮะดีษที่ 3873 ; อัฏฏอบะกอตุลกุบรอ, อิบนิซะอัด, เล่มที่ 2, หน้าที่ 201 ; อัลบิดายะฮ์ วันนิฮายะฮ์, อิบนิกะซีร, เล่มที่ 5, หน้าที่ 227 ; อัซซีร่อตุนนะบะวียะฮ์, เล่มที่ 4, หน้าที่ 449 ; อัลฮาวี ลิลฟะตาวา, อัซซุยูฏี, เล่มที่ 2, หน้าที่ 141
(4) อันซาบุลอัชร๊อฟ, เล่มที่ 4, หน้าที่ 576
(5) อัลมสตัดร็อก อะลัซซอฮีฮัยน์, เล่มที่ 3, หน้าที่ 60
(6) อัลมัจญ์ดี ฟี อันซาบิฏฏอลิบีน, มุฮัมมัด บินมุฮัมมัด, อัลอะละวี, หน้าที่ 6
(7) ซอเฮี๊ยะห์ บุคคอรี, เล่มที่ 4, หน้าที่ 1611, ฮะดีษที่ 4165
บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2024 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่