ความประเสริฐของท่านอิมามฮูเซน บินอะลี (อ.) ตอนที่ 8 จากมักกะฮ์ถึงกัรบะลาอ์ : คำตอบที่ให้กับ มุฮัมมัด บินฮานาฟียะฮ์

จากมักกะฮ์ถึงกัรบะลาอ์ : คำตอบที่ให้กับ มุฮัมมัด บินฮานาฟียะฮ์

    คำเสนอแนะที่สาม เป็นคำเสนอแนะของน้องชายของท่าน คือ มุฮัมมัด บินฮานาฟียะฮ์ ที่ต้องการให้อิมาม (อ.) เลิกล้มการเดินทางสู่แผ่นดินอิรัก ซึ่งเรื่องราวมีดังต่อไปนี้

    มุฮัมมัด ฮานาฟียะฮ์ เดินทางมาถึงนครมักกะฮ์ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะประกอบพิธีฮัจญ์และเพื่อพบกับท่านอิมามฮูเซน (อ.) ตามคำรายงานของท่านอัลลามะฮ์ฮิลลี่ (รฎ.) ท่านอยู่ในสภาพเจ็บป่วยอย่างรุนแรง (1) ในช่วงค่ำคืนก่อนการเดินทางของท่านอิมาม เขาได้มาพบกับท่านอิมาม (อ.) และกล่าวกับท่านว่า

   “โอ้พี่ชายที่รัก ท่านเองย่อมประจักษ์เป็นอย่างดีถึงความบิดพลิ้ว และการเป็นผู้ทำลายสัญญาของชาวกูฟะฮ์ที่มีต่อบิดาของท่านคืออะลี (อ.) และต่อพี่ชายของท่านคือฮาซัน (อ.) ข้าพเจ้าเกรงว่าประชาชนเหล่านั้นจะทำลายสัญญาที่มีต่อท่านเช่นเดียวกัน ดังนั้นเป็นการดีกว่าที่ท่านจะไม่เดินทางไปยังแผ่นดินอิรัก และท่านควรจะพำนักอยู่ในนครมักกะฮ์ต่อไป เพราะว่าท่านเป็นผู้มีเกียรติ เป็นที่เคารพรักของประชาชนมากกว่าบุคคลใดในเมืองนี้และในฮะรัมของพระผู้เป็นเจ้าแห่งนี้”

    ท่านอิมาม (อ.) กล่าวตอบว่า “สิ่งที่น่าหวาดกลัวที่สุด ก็คือการที่ยาซีดจะสังหารฉันในฮะรอมของพระผู้เป็นเจ้าด้วยกลอุบาย และด้วยสาเหตุนี้เกียรติแห่งบ้านของพระผู้เป็นเจ้าจะถูกทำลาย”

   มุฮัมมัด บินฮานาฟียะฮ์ เสนอแนะอีกว่า “ถ้าเป็นเช่นนั้นจะไม่ดีกว่าหรือที่ท่านจะมุ่งหน้าเดินทางไปเมืองเยเมนหรือสถานที่อื่นๆ ที่มีความปลอดภัย แทนการเดินทางไปแผ่นดินกัรบะลาอ์”

   ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า “คำเสนอแนะและทัศนะของเจ้า ฉันจะรับไว้พิจารณา”

   แต่ทว่าเช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้น ฮูเซน บินอะลี (อ.) เริ่มขบวนมุ่งหน้าสู่แผ่นดินอิรัก เมื่อข่าวการเดินทางไปถึงหูของมุฮัมมัด บินฮานาฟียะฮ์ ท่านได้รีบเร่งมาหาอิมาม และจับเชือกร้อยจมูกอูฐของท่านอิมามไว้พร้อมกับกล่าวว่า “โอ้พี่จ๋า ท่านไม่ได้สัญญาดอกหรือเมื่อคืนนี้ ว่าจะนำข้อเสนอของข้าพเจ้าไปพิจารณา”

    ท่านอิมาม (อ.) ตอบว่า “ใช่แล้ว ทว่าหลังจากที่เราแยกกันแล้ว ท่านศาสนทูตได้มาเข้าฝันฉัน โดยกล่าวกับฉันว่า ฮูเซนเอ๋ย เจ้าจงออกเดินทางเถิด เพราะแท้จริงอัลลอฮ์ทรงประสงค์ที่จะเห็นเจ้าถูกสังหาร”

    มุฮัมมัด ฮานาฟียะฮ์ เมื่อได้ยินคำพูดดังกล่าวของท่านอิมาม (อ.) ท่านจึงกล่าวขึ้นว่า “แท้จริงเราเป็นสิทธิของอัลลอฮ์ และแท้จริงยังพระองค์เท่านั้นที่เราจะคืนกลับ”

    หลังจากนั้นเขาได้ถามถึงเหตุผลที่ท่านนำเอาสตรีและเด็กๆ ร่วมเดินทางไปด้วย ในสถานการณ์ที่เปราะบางและน่าหวั่นวิตกเช่นนี้ ท่านอิมาม (อ.) ตอบว่า “อัลลอฮ์ทรงประสงค์ที่จะเห็นพวกเธอในสภาพของผู้ที่ตกเป็นเชลย” (2)

ฮูเซน บินอะลี (อ.) ถูกบังคับสู่การเป็นชะฮีดกระนั้นหรือ        

     เป็นไปได้ว่า จากคำตอบภายนอกของท่านอิมามที่มีต่อมุฮัมมัด ฮานาฟียะฮ์ ที่ว่า “อัลลอฮ์ทรงประสงค์” และจากคำตอบของท่านที่มีต่อท่านหญิงอุมมุซาละมะฮ์และต่อท่านหญิงซัยนับ (อ.) จากประโยคคำพูดต่างๆ ในทำนองนี้ ทำให้คิดไปได้ว่า การเดินทางของท่านฮูเซน บินอะลี (อ.) การถูกสังหารของท่าน รวมทั้งการตกเป็นเชลยของบรรดาเด็กๆ และสตรี ตามเนื้อหาของคำพูดทั้งหลาย มันคือสิ่งที่ถูกกำหนด และเป็นสิ่งที่จะต้องดำเนินไปตามความประสงค์ของอัลลอฮ์ (ซบ.) ที่พระองค์ทรงประสงค์ให้เป็นเช่นนั้น ดังนั้นการถูกสังหารของท่านอิมาม (อ.) ย่อมเป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะท่านอยู่ในฐานะของการถูกบังคับ

    สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ความคิดเช่นนี้มันได้ปรากฏให้เห็นอยู่จำนวนไม่น้อย แม้กระทั่งในหมู่พี่น้องชีอะฮ์บางคนก็มีความคิดเช่นนี้ เมื่อมีการพูดคุยและถกเถียงกันในประเด็นการเป็นชะฮาดัตของท่านอิมาม (อ.) พวกเขาพากันกล่าวว่า “สำหรับประเด็นของท่านอิมาม (อ.) และแบบอย่างของท่านนั้นแตกต่างไปจากบุคคลอื่นๆ เพราะความต้องการของพระผู้เป็นเจ้าเป็นเช่นนั้น คือ แท้จริงอัลลอฮ์ทรงประสงค์ที่จะเห็นท่านถูกสังหาร”

    ในที่นี้มีคำถามเกิดขึ้นว่า หากเจตนา ความประสงค์ และการกำหนด (ตักดีร) ของอัลลอฮ์ในประเด็นนี้มีความหมายดั่งที่มันได้ปรากฏขึ้นในความนึกคิดของบุคคลกลุ่มดังกล่าว

ประการแรก : การเป็นชะฮาดัตของท่านอิมามฮูเซน (อ.) จะไม่มีคุณค่าและความสำคัญอะไรมากนัก การเคลื่อนขบวนและการกระทำที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน อีกทั้งต้องอาศัยความอดทนและความมั่นคงที่เด็ดเดี่ยวเหนือธรรมชาติ (ซึ่งมิเพียงแต่มนุษย์เท่านั้น แม้แต่บรรดาชาวฟ้ายังเกิดความหวาดผวาและวิตกกังวล) จะต้องกลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าน้อยยิ่งไปกว่าการเป็นชะฮาดัตและการพลีชีวิตของสามัญชน ผู้ซึ่งยอมรับการชะฮาดัตโดยการตัดสินใจของตนเอง เพราะสามัญชนผู้นั้นเลือกหนทางดังกล่าวด้วยอำนาจและความประสงค์ของตนเอง ในขณะที่อิมามฮูเซน (อ.) ต้องถูกบังคับและถูกกำหนดให้เลือกเอาหนทางแห่งการเป็นชะฮาดัตนี้ และท่านมิอาจคัดค้านหรือเบี่ยงเบนออกจากความประสงค์และการกำหนดของพระผู้เป็นเจ้าไปได้

ประการที่สอง : ไม่เป็นการสมควรที่เราจะตำหนิหรือประณามบรรดาทหารแห่งกูฟะฮ์ และบรรดาอาชญากรที่ได้ทำการสังหารอิมาม (อ.) อย่างมากมายถึงเพียงนั้น เพราะการถูกสังหารของอิมาม (อ.) เป็นเพราะความประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้ามิใช่หรือ! และทุกคนที่ถูกสังหารจะต้องมีผู้ทำการสังหาร โดยสรุปแล้ว เมื่อผู้ถูกสังหารถูกบังคับและถูกกำหนดโดยพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้นผู้ทำการสังหารก็ย่อมที่จะถูกบังคับและถูกกำหนดโดยพระผู้เป็นเจ้าให้กระทำการดังกล่าวเช่นเดียวกัน

คำตอบ : จุดเริ่มและสาเหตุที่ก่อให้เกิดคำถามข้างต้น หรือกล่าวให้ชัดเจนลงไปก็คือ จุดกำเนิดของแนวคิดและคำกล่าวอ้างนี้ก็คือ บุคคลเหล่านั้นได้หลงลืมไปจากความหมายที่กว้างขวางของคำว่า “อัล อิรอดะฮ์” (ความต้องการ) “อัล มะซียะฮ์” (ความประสงค์) และ “อัตตักดีร” (การกำหนด) และคำอื่นๆ ที่ได้ถูกนำมาใช้บ่อยครั้งในคำพูดของท่านอิมาม (อ.) แทนที่พวกเขาจะให้ความหมายที่เป็นไปตามความประสงค์ของผู้พูด พวกเขากลับใช้มันไปในความหมายอื่นๆ และตีความออกไปอย่างผิดๆ

   คำอธิบายเพิ่มเติมในประเด็นนี้ : ความประสงค์และการกำหนดของอัลลอฮ์ บางครั้งอาจจะเป็นไปในเชิงของการสร้างสรรค์ที่ตายตัว (ตักวีนี) แต่บางครั้งเป็นไปในเชิงของภารกิจหน้าที่ (ตัชรีอี) สำหรับการกำหนดหรือความประสงค์ในเชิงสร้างสรรค์ที่ตายตัวของพระผู้เป็นเจ้านั้น ดังที่ได้กล่าวถึงไปบ้างแล้ว มันเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือขอบข่ายของอำนาจการเลือกจากปวงบ่าวทั้งหลาย มนุษย์จะเป็นผู้ถูกบังคับและไม่มีหนทางหลีกเลี่ยงออกไปจากความประสงค์ดังกล่าวได้เลย ตัวอย่างเช่น การเกิด การตายของมนุษย์ การสร้างโลกและชั้นฟ้า และอื่นๆ

   ส่วนความประสงค์ในเชิงภารกิจหน้าที่ทางบทบัญญัติ ก็คือการที่พระผู้เป็นเจ้าได้มองเห็นการกระทำหรือการละทิ้งการกระทำหนึ่งๆ ว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมและมีประโยชน์ และพระองค์ทรงประสงค์ที่จะให้กิจการดังกล่าวได้รับการปฏิบัติ พระองค์ก็จะออกคำสั่งให้ปฏิบัติมัน และสิ่งใดก็ตามที่พระองค์เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม พระองค์ก็จะออกคำสั่งห้ามและให้ละทิ้งมัน ซึ่งเป็นไปตามความประสงค์ของพระองค์

   อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการกำหนดหรือความประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า รวมทั้งคำสั่งใช้และคำสั่งห้ามของพระองค์จะเป็นไปในลักษณะเช่นนั้น แต่พระองค์ทรงมอบอำนาจในการเลือกปฏิบัติหรือการละทิ้งกิจการดังกล่าวให้เป็นไปตามความปรารถนาและความประสงค์ของแต่ละบุคคล ตัวอย่างเช่น ภารกิจหน้าที่แห่งบทบัญญัติได้แก่การถือศีลอด การนมาซ การประกอบพิธีฮัจญ์และการญิฮาด ซึ่งเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์ต่อความประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าและพระองค์มีความต้องการที่จะให้ภารกิจดังกล่าวได้รับการปฏิบัติ หากความประสงค์และการกำหนดดังกล่าวไม่มีอยู่ พระองค์ก็จะไม่ออกคำสั่งใช้

   ในทำนองเดียวกัน เมื่อความประสงค์และความต้องการของพระผู้เป็นเจ้าบังเกิดขึ้นว่าจะต้องละทิ้งสิ่งต้องห้ามทั้งหลาย พระองค์ก็จะสั่งห้ามการปฏิบัติมัน มิเช่นนั้นพระองค์ก็ย่อมไม่ออกคำสั่งห้าม เพียงแต่ว่าความประสงค์และความต้องการประเภทนี้ของพระองค์จะไม่เกิดขึ้นหรือสัมพันธ์ไปยังกิจการใดๆ โดยตรงและปราศจากสื่อกลาง แต่มันจะต้องเป็นไปในลักษณะที่ด้านหนึ่งคือความประสงค์และความต้องการของพระองค์ ส่วนในอีกด้านหนึ่ง กิจการดังกล่าวจะได้รับการปฏิบัติได้หรือไม่ พระองค์ได้ปล่อยให้เป็นการเลือกอย่างเสรีตามความต้องการของปวงบ่าวทั้งหลาย

ตัวอย่างของข้อเท็จจริงดังกล่าว ปรากฏให้เห็นในคัมภีร์อัลกุรอานด้วยลักษณะเช่นนี้คือ

    إِنَّ اللَّـهَ يَأْمُرُ بِالْعَدْلِ وَالْإِحْسَانِ وَإِيتَاءِ ذِي الْقُرْبَىٰ وَيَنْهَىٰ عَنِ الْفَحْشَاءِ وَالْمُنكَرِ وَالْبَغْيِ ۚ يَعِظُكُمْ لَعَلَّكُمْ تَذَكَّرُونَ

“แท้จริงอัลลอฮ์ทรงบัญชาให้ปฏิบัติด้วยความยุติธรรม และความดีงาม และการเกื้อกูลแก่ญาติสนิท และพระองค์ทรงห้ามสิ่งที่น่ารังเกียจ จากความชั่วร้ายและการละเมิด พระองค์ทรงตักเตือนพวกเจ้า เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้สำนึก”

(บทอัลนะห์ลุ โองการที่ 90)

     ตามเนื้อหาของอายะฮ์ข้างบนนี้ อัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงปรารถนาที่จะให้เกิดความยุติธรรม คุณธรรมความดีและการเกื้อกูลแก่ญาติพี่น้อง และทรงประสงค์ที่จะให้ทำลายรากเง้าแห่งความชั่วร้าย ความน่ารังเกียจและการละเมิดทั้งหลายในหมู่มนุษย์ แต่ตามที่ปรากฏในอายะฮ์นี้ พระองค์ทรงแสดงความประสงค์ของพระองค์ออกมาในรูปของคำสั่งใช้และการห้าม โดยพระองค์ปล่อยให้กิจการเหล่านั้นปรากฏขึ้นจากอำนาจของมนุษย์เอง และให้เป็นไปตามความปรารถนาและความต้องการของพวกเขา และบ่าวของพระผู้เป็นเจ้าคือผู้ที่จะเลือกปฏิบัติตามความต้องการและเจตนารมณ์ของพระผู้เป็นอย่างเป็นอิสระ พวกเขามีอิสระที่จะเลือกปฏิบัติโดยไม่มีการบังคับใดๆ ต่อพวกเขา ในการเลือกที่จะตามหนทางหนึ่งใดจากทั้งสองนี้

    อัลลอฮ์ (ซบ.) ภายใต้การสั่งใช้และทรงสั่งห้ามนั้น พระองค์ต้องการเพียงแค่เชิญชวนพวกเขาไปสู่การเลือกเอาหนทางที่ถูกต้องด้วยการตักเตือนและการชี้แนะเท่านั้น “พระองค์ทรงตักเตือนพวกเจ้า เพื่อพวกเจ้าจะได้สำนึก” เมื่อเราเข้าใจถึงความต้องการและความประสงค์ของอัลลอฮ์ (ซบ.) ทั้งสองประการอย่างชัดเจนแล้ว ให้เราย้อนกลับมาเข้าสู่ประเด็นหลักของเรา

    ท่านฮูเซน บินอะลี (อ.) ได้พิจารณาจากสภาพเงื่อนไขต่างๆ ในเวลานั้น ท่านมองเห็นว่าท่านจะต้องปฏิบัติตามคำบัญชาของพระผู้เป็นเจ้าที่ว่า “การสู้รบได้ถูกบัญญัติให้เป็นหน้าที่จำเป็นเหนือพวกเจ้า” (3) ซึ่งนั้นหมายความว่า ท่านต้องก้าวเข้าสู่สนามแห่งศึกสงคราม

   ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า “ด้วยการปกครองและการดำรงอยู่ในอำนาจของยาซีด บรรดามุสลิมจะต้องพบกับความอัปยศ และจงอ่านฟาติฮะห์เพื่อเป็นการอำลาต่ออิสลาม” ดังนั้นเมื่อถึงขั้นต้องอ่านฟาติฮะห์เพื่อเป็นการอำลากับทุกสิ่งทุกอย่างที่มีส่วนสัมพันธ์กับตัวท่าน ท่านจึงจำเป็นต้องทำกุรบาน (ยอมพลีชีพ) ของท่าน ของบรรดามิตรสหายและบรรดาลูกหลานของท่าน เพื่อเป็นการให้ชีวิตใหม่แก่อิสลาม ซึ่งกำลังจะถูกถอนรากถอนโคนออกไป และเพื่อเป็นการชุบชีวิตแก่อัลกุรอาน ซึ่งกำลังถูกหลงลืมไปจากมวลมุสลิม

    และนี่คือข้อเท็จจริงที่ท่านฮูเซน บินอะลี (อ.) ได้แสดงออกให้เห็นในคำพูดประโยคที่ว่า “แท้จริงอัลลอฮ์ทรงปรารถนาที่จะเห็นฉันถูกสังหาร และเห็นบรรดาสตรีต้องตกเป็นเชลย”

   ใช่แล้ว! นี่คือความต้องการและเป็นความประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า และเป็นการกำหนดของพระองค์ ส่วนฮูเซน (อ.) คือผู้ที่ได้รับคำบัญชาให้ปฏิบัติมัน ซึ่งเหตุการณ์อันยิ่งใหญ่และเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์อันก้องโลกเกี่ยวกับความเด็ดเดี่ยวนี้ บางครั้งได้รับการสนับสนุนและตอกย้ำจากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) โดยการนอนหลับฝันเห็นท่านด้วย

ฮูเซน บินอะลี (อ.) ได้เลือกการเป็นชะฮาดัตอย่างอิสระ

    เราได้ประจักษ์ถึงคุณค่าแห่งความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว และความยิ่งใหญ่ของขบวนการการต่อสู้ของท่านอิมามฮูเซน (อ.) มากยิ่งขึ้น เมื่อเราได้รับรู้ว่าท่านนั้นไม่เพียงแต่มิได้ถูกบังคับให้ต้องเลือกการเดินทางของตนเอง เพื่อให้เป็นไปตามความประสงค์ในเชิงสร้างสรรค์ตายตัวของพระผู้เป็นเจ้า แต่ท่านได้เลือกทางเดินดังกล่าวนี้อย่างอิสระตั้งแต่เริ่มแรก ด้วยเจตนารมณ์ของท่านเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

    ยิ่งไปกว่านั้น ท่านยังยืนหยัดอย่างมั่นคงบนหนทางของตนจวบจนกระทั่งการเป็นชะฮาดัตของท่าน ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่ท่านจะล้มเลิกและหันเหออกจากมัน นั้นก็คือ การที่บรรดาผู้ทรงคุณวุฒิและหัวหน้ากลุ่มชนทั้งหลาย ต่างได้หยิบยกเหตุผลและข้ออ้างต่างๆ ที่น่ารับฟัง เพื่อเป็นการหยุดยั้งการเดินทางสู่แผ่นดินอิรักของท่านอิมามในครั้งนี้

    แต่ท่านได้ทำให้ข้อเสนอแนะทั้งหลายต้องกลายเป็นหมัน และทำให้แผนการทั้งมวลที่ถูกวางไว้โดยคนบางคนต้องพังพินาศ แม้ว่าบรรดามิตรสหายและศัตรู ทั้งที่เยาว์วัยและแก่ชรา บรรดาผู้หญิงและผู้ชาย ทั้งหมดเหล่านั้นต่างมองเห็นปั้นปลายการเดินทางในครั้งนี้ของท่าน ว่าจะต้องจบลงด้วยกับความพินาศและการพ่ายแพ้อย่างเด็ดขาด พวกเขาได้มองเห็นถึงหนทางที่ท่านอิมามเลือกว่าสุดท้ายจะต้องสิ้นสุดลงด้วยการถูกสังหารของท่านและลูกหลานของท่าน บรรดาเด็กๆ และสตรีซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัวของท่านจะต้องตกระกำลำบากและกลายเป็นเชลยในที่สุด แต่กระนั้นก็ตาม ท่านได้ยืนหยัดอย่างเด็ดเดี่ยวและมั่นคง ซึ่งตรงข้ามกับความคิดและคำเสนอแนะเหล่านั้น พร้อมกันนั้นท่านยังได้กล่าวถึงรายละเอียดปลีกย่อยในอนาคตเกี่ยวกับการเดินทางด้วยความรอบรู้และความเข้าใจ ว่ามันเป็นความประสงค์และเป็นเจตนาของอัลลอฮ์ที่จะได้เห็นฉันถูกสังหาร

   ใช่แล้ว! ฮูเซน บินอะลี (อ.) ถูกบัญชาให้ปฏิบัติตามภารกิจดังกล่าวในสภาการณ์และเงื่อนไขที่เป็นการเฉพาะนี้ คำบัญชาแห่งพระผู้เป็นเจ้าและเจตนารมณ์ของพระองค์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับข้อเสนอแนะของมนุษย์ทั้งหลาย ก็คือการก้าวเข้าสู่สนามแห่งการทำศึกสงคราม และจะต้องยืนหยัดเผชิญหน้ากับเหล่าศัตรูที่มีความเข้มแข็งและทรงอำนาจ ทั้งๆ ที่ตนเองนั้นปราศจากซึ่งกำลังพลที่เพียงพอในการต่อสู้ และปั้นปลายอันเป็นธรรมชาติของสงครามที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน ทางด้านภายนอกก็คือการพ่ายแพ้ ดังที่พวกเขาทั้งหมดได้คาดการณ์ล่วงหน้าเอาไว้ แต่สำหรับผลทางด้านภายในของมันที่จะปรากฏในเวลาอันยาวนานนั้น ก็คือสิ่งที่อิมามฮูเซน (อ.) ได้เขียนไว้ในคำสั่งเสียของท่านในช่วงการเดินทางออกจากนครมะดีนะฮ์นั่นเอง

    “แท้จริงฉันออกมาเพื่อแสวงหาการปรับปรุงแก้ไขในหมู่ประชาชาติของท่านตา (ซ็อลฯ) ของฉัน” ข้าพเจ้าย้ำว่า อิมามก็เหมือนกับบุคคลอื่นๆ ที่ถูกมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งมีอิสระในการเลือกเดินตามแนวทางดังกล่าว และในทุกๆ ขณะท่านก็สามารถที่จะหันเหออกจากแนวทางของท่านได้ และเป็นเรื่องง่ายดายที่ท่านจะล้มเลิกประวัติศาสตร์ทั้งหมดนี้ไปด้วยการหยุดนิ่งของท่าน แต่ท่านอิมาม (อ.) กลับไม่กระทำเช่นนั้น นั่นเป็นเพราะท่านคือ “ฮูเซน” ซึ่งเป็นอิมาม (ผู้นำ) อีกทั้งเป็นแบบอย่างสำหรับชาวโลกทั้งมวล

การเป็นชะฮาดัตที่ถูกคาดการณ์ไว้ล่วงหน้านั้นจะมีคุณค่าอะไร

    อีกคำถามหนึ่งที่ได้หยิบยกขึ้นมาเกี่ยวกับประเด็นนี้ นั่นก็คือ การเป็นชะฮาดัตของท่านฮูเซน บินอะลี (อ.) ที่ถูกพยากรณ์ไว้ล่วงหน้าดังกล่าวนั้น ได้กล่าวไปแล้วในคำถามแรก การเป็นชะฮาดัตของท่านอิมาม (อ.) บนพื้นฐานที่ได้กล่าวไปแล้ว จึงดูเหมือนไม่มีคุณค่าและความดีงามอะไรมากนัก

    คำตอบโดยสรุปสำหรับคำถามข้อนี้คือ : ใช่แล้ว! พระผู้เป็นเจ้าทรงรอบรู้ว่าฮูเซน บินอะลี (อ.) จะต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำบัญชาอันยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้า ด้วยเจตจำนงและการเลือกตัดสินใจด้วยตัวของท่านเอง และพร้อมยอมพลีทุกสิ่งทุกอย่างในหนทางของพระองค์ และท่านจะไม่กระทำสิ่งใดที่เป็นการขัดแย้งต่อกฎเกณฑ์แห่งพระผู้เป็นเจ้าอย่างแน่นอน ด้วยเหตุนี้จึงมีการบอกกล่าวแก่ท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ให้ได้รับทราบตั้งแต่แรก แต่ทว่าการรู้ล่วงหน้าเกี่ยวกับเหตุการณ์แห่งกัรบะลาอ์นั้น ไม่มีผลอะไรเลยแม้แต่น้อยในการบีบบังคับหรือลิดรอนอำนาจในการตัดสินใจของท่านอิมามฮูเซน (อ.)

    ตัวอย่างเช่น หากเราจะปฏิบัติตามคำสั่งหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้า ด้วยเจตจำนงและการเลือกของตนเอง เช่น เราจะนมาซหากพระผู้เป็นเจ้าจะบอกข่าวการกระทำของเรา ซึ่งพระองค์ทรงรอบรู้อยู่ก่อนแล้ว และบอกให้ศาสนทูตได้รับรู้ การบอกข่าวดังกล่าวจะมีผลต่อเจตจำนงและการทำนมาซของเรากระนั้นหรือ และความรอบรู้ของพระผู้เป็นเจ้าประกอบกับการแจ้งให้ท่านศาสนทูตรับรู้นั้น มันจะเป็นตัวบั่นทอนเจตจำนงและอำนาจแห่งการเลือกของเราให้หมดไปกระนั้นหรือ หามิได้! มันไม่เป็นเช่นนั้นอย่างแน่นอน

    สรุปว่า ความรู้และการบอกกล่าวล่วงหน้าของพระผู้เป็นเจ้า จะไม่เป็นสาเหตุและตัวแปรไปสู่การกระทำใดๆ ได้เลย แต่มันเป็นเพียงการบอกข่าวให้รับรู้ความจริงที่จะต้องเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยเจตจำนงและการตัดสินใจอย่างอิสระของมนุษย์คนหนึ่ง หรือในทางกลับกัน เป็นการบอกข่าวให้รู้ถึงข้อเท็จจริงประการหนึ่ง ซึ่งมันจะไม่สามารถปรากฏรูปในเชิงปฏิบัติได้หากปราศจากเจตจำนงและการตัดสินใจของบุคคลผู้นั้น

    ความรู้ที่ประกอบไปด้วยการแสดงและการประกาศให้รู้ถึงการปฏิบัติภารกิจหนึ่ง และการเป็นผู้รับผิดชอบต่อหน้าที่การงานที่มิได้ถูกจำกัดอยู่แต่เฉพาะในตัวของท่านอิมามฮูเซนเพียงเท่านั้น แต่ทว่าในประเด็นของบรรดาอัมบิยาอ์และเอาลิยาอ์ท่านอื่นๆ ก็เช่นกัน พระผู้เป็นเจ้าทรงรอบรู้ถึงตัวตนของพวกท่านว่าในอนาคตจะเป็นผู้ปฏิบัติภารกิจต่างๆ ด้วยเจตจำนงเสรีและการเลือกของตนเอง เรื่องราวทั้งหมดหรือบางส่วนของมัน พระองค์ทรงบอกกล่าวให้บรรดาศาสนทูตทั้งหลายได้รับรู้ และได้แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว การเป็นผู้สละโลกของพวกท่านเหล่านั้น ในฐานะของการกำหนด (ตักดีร) และความประสงค์ (มะซียะฮ์) ของพระองค์

   “และหลังจากที่พระองค์ได้ทรงกำหนดเงื่อนไขของความสมถะสำหรับพวกเขา ในระดับต่างๆ แห่งการดำเนินชีวิตในดุนยาอันไม่จีรังยังยืน อีกทั้งเป็นสิ่งประดับอันจอมปลอมของมัน ดังนั้น พวกเขาได้ตกลงปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวที่ให้ไว้กับพระองค์ และพระองค์ทรงประจักษ์แจ้งถึงความซื่อสัตย์ของพวกเขาต่อสัญญาดังกล่าว ดังนั้น พระองค์จึงตอบรับพวกเขาด้วยการกล่าวรำลึกอันสูงส่ง และด้วยการสรรเสริญพวกเขาไว้อย่างแจ่มแจ้ง (ในคัมภีร์ของพระองค์)” (4)


เชิงอรรถ :

(1) ซะฟีนะตุ้ล บิฮาร เล่มที่ 1 หน้าที่ 322 และเนื่องจาความเจ็บป่วยอันรุนแรงนี้เอง ที่ทำให้ท่านไม่สามารถเดินทางไปแผ่นดินอิรักร่วมกับท่านอิมาม (อ.) ได้

(2) อัล ลุฮูฟ หน้าที่ 56

(3) อัลกุรอาน บทอัลบากอเราะฮ์ โองการที่ 216

(4) ช่วงต้นๆ ของดุอาอ์นุดบะฮ์


ที่มา : หนังสือสุนทรพจน์ ฮูเซน บินอะลี (อ.)

แปลและเรียบเรียงโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่