สถานภาพอิมามอะลี (อ.) ในอัลกุรอานและวจนะท่านศาสดา(ซ็อลฯ)
Powered by OrdaSoft!
No result.

  สถานภาพอิมามอะลี (อ.) ในอัลกุรอานและวจนะท่านศาสดา(ซ็อลฯ)

      การศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับสถานภาพและความประเสริฐของท่านอิมามอะลี (อ.) นับได้ว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก ด้วยเหตุผลที่ว่า การรับรู้ถึงคุณลักษณะต่างๆ ของบุคคลที่มีสถานภาพอันสูงส่งเช่นนี้ จะเป็นเครื่องกระตุ้นและโน้มนำเราไปสู่การเชื่อฟังและการปฏิบัติตามบุคคลดังกล่าว

     ทั้งนี้เนื่องจากว่า ฟิตเราะฮ์ (สัญชาติญาติทางธรรมชาติ) อันบริสุทธิ์ของคนเรานั้นมีความปรารถนาในสิ่งที่เป็นความดีงามและมีความรักผูกพันต่อสิ่งที่เป็นสัจธรรม และโดยธรรมชาติแล้วคนเราจะให้ความสำคัญต่อบุคคลที่มีคุณธรรมและความสมบูรณ์ (กะมาล) มากกว่าบุคคลอื่นๆ ที่ขาดคุณธรรมและความดีงามต่างๆ  และหากเราได้รับรู้และพบว่าบุคคลผู้หนึ่งดำรงตนอยู่บนหลักแห่งสัจธรรม และสัจธรรมก็ดำเนินอยู่ร่วมกับตัวบุคคลผู้นั้นแล้ว เขาก็จะเคารพเทิดทูนและปฏิบัติตามบุคคลผู้นั้นด้วยความเต็มใจ พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานว่า :

أفَمَنْ یهْدی اِلَی الْحَقِّ أَحَقُّ اَنْ یتَّبَعَ اَمَّنْ لایهِدّی اِلا اَنْ یهْدی فَما لَكُمْ كَیفَ تَحْكُموُنَ

“ดังนั้นผู้ที่ชี้นำสู่สัจธรรมนั้น สมควรที่จะได้รับการปฏิบัติตามมากกว่า หรือว่าผู้ที่ไม่อาจจะชี้นำผู้อื่นได้ เว้นแต่จะถูกชี้นำ ดังนั้นจะเป็นฉันใดสำหรับพวกเจ้า พวกท่านจะตัดสินใจอย่างไร” (1)

     แน่นอน คนที่พบสัจธรรมและได้รับการชี้นำทางไปสู่สัจธรรมนั้น ย่อมควรคู่ต่อการเชื่อฟังและการปฏิบัติตามมากกว่าคนที่ ไร้ซึ่งความดีงามใดๆ อีกทั้งตัวเขาเองก็ยังจำเป็นที่จะต้องได้รับการชี้นำทางจากผู้อื่น แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า เราจะสามารถรู้จักผู้ที่อยู่กับทางนำและได้รับการชี้นำได้อย่างไร? บุคคลที่ตัวเองยังเป็นผู้ที่มีความบกพร่องและยังต้องการการชี้นำนั้น จะสามารถรู้จักคนที่เป็นมนุษย์ผู้สมบูรณ์ (อัลอินซานุ้ลกามิล) ผู้ซึ่งอยู่กับทางนำและได้รับการชี้นำแล้วได้อย่างไร? และจะแนะนำผู้อื่นให้รู้จักบุคคลเช่นนี้ได้อย่างไร? ไม่สมควรกว่าหรือที่เราจะแนะนำบุคคลผู้นั้นให้ผู้อื่นรู้จักโดยอาศัยการแนะนำบอกกล่าวของบุคคลผู้อื่นที่มีความรอบรู้ ผู้ซึ่งเราเองก็ยอมรับในความประเสริฐและความสมบูรณ์ (กะมาล) ของบุคคลผู้นั้น

     ดังนั้นสมควรอย่างยิ่งที่เราจะแนะนำสถานภาพและความประเสริฐของท่านอิมามอะลี (อ.) โดยผ่านผู้ที่มีความสูงส่งกว่าและเป็นผู้ที่สมบูรณ์กว่า อีกทั้งมีความรู้ครอบคลุมเกี่ยวกับตัวท่านอิมามอะลี (อ.) มากกว่า และนั่นก็เป็นใครไปไม่ได้ นอกจากพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสร้างท่าน และท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ผู้ซึ่งได้ให้การฝึกฝนอบรมท่านมาด้วยมือของท่านเอง และรับรู้ถึงคุณลักษณะและความสมบูรณ์ (กะมาลาต) ต่างๆ ในตัวท่าน

     ด้วยเหตุนี้เพื่อที่จะรับรู้เกี่ยวกับความประเสริฐและเข้าใจถึงบุคลิกภาพของท่านอิมามอะลี (อ.) นั้น อันดับแรกจำเป็นที่เราจะต้องย้อนกลับไปดูจากแหล่งที่มาของวะห์ยู (วิวรณ์) หรือคัมภีร์อัลกุรอาน อันเป็นพระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้า พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงอธิบายถึงความประเสริฐและความดีงามต่างๆ ที่ชัดเจนและเหนือกว่าของท่านอิมาม (อ.) ไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน และถัดจากนั้นจะต้องย้อนไปดูแหล่งข้อมูลอื่นที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับวะห์ยู (วิวรณ์) โดยตรง นั่นคือ ท่านศาสนทูตของอัลอฮ์ (ซ็อลฯ)  ตัวท่านศาสนทูตของอัลอฮ์ (ซ็อลฯ) เองคือผู้ที่ได้กล่าวถึงคุณลักษณะและความดีงามต่างๆ ของท่านอิมามอะลี (อ.) ไว้ ในโอกาสของการประทานโองการต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอาน หรือเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ที่สำคัญ การรำลึกและการกล่าวถึงสิ่งเหล่านี้ก็ถือเป็นอิบาดะฮ์อย่างหนึ่ง ตามที่ท่านศาสทูต (ซ็อลฯ) เองได้กล่าวไว้ว่า

خَیُرُ إِخْوَتِيْ عَلِیٌّ و ذِکْرُ عَلِیٍّ عِبَادَهٌ

“พี่น้องที่ดีที่สุดของฉันคืออะลี และการรำลึกถึงอะลีคือการอิบาดะฮ์อย่างหนึ่ง (ต่อพระผู้เป็นเจ้า)” (2)

     ทั้งนี้เนื่องจากว่า การรำลึกถึงท่าน และการอธิบายถึงคุณงามความดี (มะนากิบ) ต่างๆ ของท่านนั้นจะโน้มนำคนเราไปสู่การยอมรับในวิลายะฮ์ (อำนาจการเป็นผู้ปกครอง) และการปฏิบัติตามท่าน และการปฏิบัติตามท่านนั้นก็คือการเชื่อฟังปฏิบัติตามอัลลอฮ์ (ซบ.) และการยอมตนเป็นบ่าวต่อพระองค์นั่นเอง

อิมามอะลี (อ.) ในคัมภีร์อัลกุรอาน

    ในทัศนะของบรรดานักอรรถาธิบายคัมภีร์อัลกุรอาน (มุฟัซซิรีน) และนักรายงานฮะดีษ (มุฮัดดิซีน) นั้น โองการอัลกุรอานจำนวนมากได้ถูกประทานลงมาในเรื่องของท่านอิมามอะลี บินอบีฏอลิบ (อ.) ในบางบันทึกทางประวัติศาสตร์ได้กล่าวว่า สามร้อยโองการในคัมภีร์อัลกุรอานถูกประทานลงมาเกี่ยวกับท่านอิมามอะลี (อ.) และการกล่าวสรรเสริญยกย่องท่าน ตัวอย่างเช่น ในหนังสือ "มุคตะซ็อร ตารีค ดิมิชก์ (ดามัสกัส)" ได้บันทึกโดยอ้างจากอิบนิอับบาสว่า

ما نَزَل القرآن "يا أيُّها الّذينَ آمَنوا" إلاّ عليٌّ سيّدها و شريفُها و اميرُها و ما أحدٌ من أصحاب رسول اللّه الاّ قد عاتَبَهُ اللّهُ في القرآن ما خَلا عليّ بن أبيطالب فإنَّه لم ‏يُعاتِبهُ بَشَي‏ء... ما نَزَلَ في أحدٍ من كتابِ اللّه ما نَزَلَ في عليّ... نَزَلَت في عليٍّ ثلاثُمِأةِ آيَةً.

"ไม่มีโองการใดของอัลกุรอานที่กล่าวว่า "โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย!" ที่ถูกประทานลงมา เว้นแต่ว่าท่านอะลีจะเป็นหัวหน้า เป็นผู้มีเกียรติและเป็นผู้นำของมัน ไม่มีคนใดจากบรรดาสาวก (ซอฮาบะฮ์) ของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ นอกจากอัลลอฮ์ได้ทรงตำหนิเขาไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน ยกเว้นท่านอะลี อิบนิอบีฏอลิบเพียงเท่านั้น เพราะแท้จริงพระองค์มิได้ทรงตำหนิท่านเลยแม้แต่เรื่องเดียว ในคัมภีร์อัลกุรอานไม่ได้ถูกประทานลงมาในเรื่อง (ที่เกี่ยวกับความประเสริฐ) ของผู้ใด (มาก) เหมือนกับที่ถูกประทานลงมาในเรื่องของท่านอะลี .... ได้ถูกประทานลงมาในเรื่องของท่านอะลี ถึง 300 โองการ" (3)

      ฮากิม ฮัสกานี ได้บันทึกไว้ในหนังสือชะวาฮิดุตตันซีล โดยอ้างจากมุญาฮิด ว่า :

نزلت في علي سبعون آية ما شركه فيها أحد

"ถูกประทานลงมาในเรื่องของท่านอะลี ถึง 70 โองการ โดยที่ไม่มีผู้ใดมีส่วนร่วมกับท่านเลยในโองการเหล่านั้น" (4)

     ในเนื้อหานี้เราจะมาทำความรู้จักกับท่านอิมามอะลี (อ.) ซึ่งในมุมมองของคัมภีร์อัลกุรอานนั้น ท่านเองได้กล่าวเกี่ยวกับคัมภีร์อัลกุรอานไว้เช่นนี้ว่า :

اِنَّ اللّهَ تعالي أنزَلَ كتابا هاديا، بيَّنَ فيه الخيرَ والشرِّ فخُذوا نَهجَ الخَيرِ تَهتَدوا و اصدِفوا عَن سَمتِ الشرِّ تقصِدوا

"แท้จริงอัลลอฮ์ ผู้ทรงสูงส่ง ได้ทรงประทานคัมภีร์อันเป็นสิ่งชี้นำลงมา พระองค์ทรงอธิบายอย่างชัดเจนไว้ในคัมภีร์นั้นถึงสิ่งที่ดีและสิ่งที่เลวร้าย ดังนั้นพวกท่านจงยึดถือแนวทางที่ดีเถิด แล้วพวกท่านจะได้รับการชี้นำ และพวกท่านจงเลิกจากแนวทางที่เลวร้ายเถิด แล้วพวกท่านจะพบกับแนวทางที่ถูกต้อง" (5)

     ท่านอิมามอะลี (อ.) เป็นหนึ่งในเชื้อสายของท่าศาสดาอิสมาอีล (อ.) บุตรชายของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) และท่านเป็นบุตรของท่านอบูฏอลิบ และท่านคือผู้ที่ได้รับการอบรมขัดเกลาโดยมือของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ)  ในช่วงสมัยที่ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ยังมีชีวิตอยู่นั้น ท่านอิมามอะลี (อ.) ประหนึ่งดั่งเป็นเงาของท่าน และโดยพระประสงค์ของอัลลอฮ์ (ซบ.) ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้เจริญเติบโตและได้รับการอบรมขัดเกลาในอ้อมอกของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ในหนังสือ "นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์" ท่านอิมามอะลี (อ.) เองได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า :

وَلَقَدْ قَرَنَ اللَّهُ بِهِ صلى الله عليه وآله مِنْ لَدُنْ أَنْ كَانَ فَطِيماً أَعْظَمَ مَلَكٍ مِنْ مَلَائِكَتِهِ يَسْلُكُ بِهِ طَرِيقَ الْمَكَارِمِ وَمَحَاسِنَ أَخْلَاقِ الْعَالَمِ لَيْلَهُ وَنَهَارَهُ وَلَقَدْ كُنْتُ أَتَّبِعُهُ اتِّبَاعَ الْفَصِيلِ أَثَرَ أُمِّهِ يَرْفَعُ لِي فِي كُلِّ يَوْمٍ مِنْ أَخْلَاقِهِ عَلَماً وَيَأْمُرُنِي بِالِاقْتِدَاءِ بِهِ وَلَقَدْ كَانَ يُجَاوِرُ فِي كُلِّ سَنَةٍ بِحِرَاءَ فَأَرَاهُ وَلَا يَرَاهُ غَيْرِي وَلَمْ يَجْمَعْ بَيْتٌ وَاحِدٌ يَوْمَئِذٍ فِي الْإِسْلَامِ غَيْرَ رَسُولِ اللَّهِ ( صلى الله عليه وآله ) وَخَدِيجَةَ وَأَنَا ثَالِثُهُمَا أَرَى نُورَ الْوَحْيِ وَالرِّسَالَةِ وَأَشُمُّ رِيحَ النُّبُوَّةِ وَلَقَدْ سَمِعْتُ رَنَّةَ الشَّيْطَانِ حِينَ نَزَلَ الْوَحْيُ عَلَيْهِ ( صلى الله عليه وآله ) فَقُلْتُ يَا رَسُولَ اللَّهِ مَا هَذِهِ الرَّنَّةُ فَقَالَ هَذَا الشَّيْطَانُ قَدْ أَيِسَ مِنْ عِبَادَتِهِ إِنَّكَ تَسْمَعُ مَا أَسْمَعُ وَتَرَى مَا أَرَى إِلَّا أَنَّكَ لَسْتَ بِنَبِيٍّ وَلَكِنَّكَ لَوَزِيرٌ وَإِنَّكَ لَعَلَى خَيْرٍ

   "นับจากช่วงเวลาที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้หย่านม อัลลอฮ์ได้ทรงกำหนดให้ทวยเทพ (มะลัก) ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอยู่เคียงคู่กับท่าน โดยที่ (ทวยเทพผู้นั้น) จะนำพาท่านก้าวเดินไปในเส้นทางของความดีงามและจริยธรรมอันสูงส่งของโลก ทั้งในยามกลางคืนและยามกลางวันของท่าน และตัวฉันเองก็ได้ติดตามท่าน เหมือนลูกอูฐที่ติดตามร่องรอยของแม่ของมัน ในทุกวันท่านจะชูธงสัญลักษณ์จากจริยธรรมของท่านแก่ฉัน และใช้ให้ฉันปฏิบัติตามท่าน และฉันจะอยู่ร่วมกับท่านในถ้ำฮิรออ์ในทุกปี โดยที่ฉันจะเห็นท่านในขณะที่คนอื่นจากฉันไม่ได้เห็นท่าน และบ้านหลังเดียวในอิสลามในวันที่ได้รวมท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และท่านหญิงคอดิญะฮ์ไว้ โดยที่ฉันจะเป็นบุคคลที่สามของพวกเขา ฉันจะเห็นแสง (นูร) แห่งวิวรณ์ (วะห์ยู) และสาส์น และฉันจะสัมผัสกลิ่นไอของความเป็นศาสดา และฉันจะได้ยินเสียงกรีดร้องของชัยฏอนในขณะที่วะห์ยู (วิวรณ์) ถูกประทานลงมายังท่าน ดังนั้นฉันจึงกล่าวถามท่านว่า โอ้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) นี่คือเสียงกรีดร้องอะไร? ท่านกล่าวตอบว่า นี่คือชัยฏอน มันได้สิ้นหวังจากการ (ที่มนุษย์จะ) ทำการเคารพภักดีต่อมัน แท้จริงเจ้าจะได้ยินในสิ่งที่ฉันได้ยินและเห็นในสิ่งที่ฉันเห็น เว้นแต่ว่าเจ้าไม่ใช่ศาสดา แต่ทว่าเจ้าคือผู้ช่วยเหลือ และแท้จริงเจ้าอยู่ในความดีงาม" (6)


เชิงอรรถ :

(1) อัลกุรอานบทยูนุส โองการที่ 35

(2) ยะนาบีอุ้ลมะวัดดะฮ์, หน้าที่ 180 ; บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 36, หน้าที่ 370

(3) มุคตะซ็อร ตารีค ดิมิชก์, เล่มที่ 18, หน้าที่ 11

(4) ชะวาฮิดุตตันซีล, เล่มที่ 1, หน่าที่ 41

(5) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, คุฏบะฮ์ที่ 167

(6) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, คุฏบะฮ์ที่ 192 (คุฏบะฮ์ อัลกอซิอะฮ์)


บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 1184 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

22263778
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
45889
49453
249808
21646861
148255
1600060
22263778

พฤ 03 ต.ค. 2024 :: 19:57:24