ความสมถะของท่านอิมามฮุเซน (อ.) อยู่ในระดับสูงสุดทั้งในเชิงแนวคิดและในเชิงพฤติกรรมการปฏิบัติตนของท่าน "ความสมถะ" ในทางภาษาหมายถึง “การไม่สนใจ” และ “ความไม่ยินดียินร้าย” ผู้ที่มีความสมถะคือบุคคลที่แม้จะเป็นผู้ประกอบอาชีพการงานและอุตสาห์พยายามในการประกอบอาชีพการงาน แต่ในขณะเดียวกันเขาก็มิได้ใส่ใจ ไม่ยินดียินร้าย และไม่ยึดติดหรือรู้สึกหลงใหลผูกพันกับโลกแห่งวัตถุ...
ความสมถะ
"ความสมถะ" ( زهد) ในทางภาษาหมายถึง “การไม่สนใจ” และ “ความไม่ยินดียินร้าย” ผู้ที่มีความสมถะคือบุคคลที่แม้จะเป็นผู้ประกอบอาชีพการงานและอุตสาห์พยายามในการประกอบอาชีพการงาน แต่ในขณะเดียวกันเขาก็มิได้ใส่ใจ ไม่ยินดียินร้าย และไม่ยึดติดหรือรู้สึกหลงใหลผูกพันกับโลกแห่งวัตถุ (1)
ในสำนวนทางวิชาการ คำว่า “สมถะ” ( زهد) ตรงข้ามกับ “ความมุ่งมาตรปรารถนา” (رغبة) ในเรื่องของโลกแห่งวัตถุ กล่าวคือ การหันหลังให้กับความสุขและสิ่งเย้ายวนต่างๆ ทางโลก ทรัพย์สมบัติ ตำแหน่ง ชื่อเสียง และสิ่งทั้งมวลที่จะสูญสลายไปกับมนุษย์พร้อมกับความตายของเขา (2)
ความสมถะในคัมภีร์อัลกุรอาน
คำว่า زهد “ความสมถะ” ไม่ได้ถูกนำมาใช้หรือถูกล่าวโดยตรงในคัมภีร์อัลกุรอาน แต่ความหมายและแนวคิด (มัฟฮูม) ของมันถูกอธิบายไว้ในโองการต่าง ๆ ของคัมภีร์อัลกุรอาน
1.ความสมถะคือเสบียงแห่งปรโลก
مَن كَانَ يُرِيدُ حَرْثَ الآخِرَةِ نَزِدْ لَهُ فِي حَرْثِهِ وَمَن كَانَ يُرِيدُ حَرْثَ الدُّنْيَا نُؤْتِهِ مِنْهَا
وَمَا لَهُ فِي الآخِرَةِ مِن نَّصِيبٍ
“ผู้ใดที่ปรารถนาในไร่สวนแห่งโลกหน้า แน่นอนเราก็จะเพิ่มพูนให้แก่เขาในไร่สวนของเขา และผู้ใดที่ปรารถนาในไร่สวนแห่งโลกนี้ เราก็จะมอบแก่เขาบางส่วนจากมัน และเขาจะไม่ได้โชคผลใดๆ ในโลกหน้าเลย” (3)
مَن كَانَ يُرِيدُ الْعَاجِلَةَ عَجَّلْنَا لَهُ فِيهَا مَا نَشَآءُ لِمَن نُّرِيدُ ثُمَّ جَعَلْنَا لَهُ جَهَنَّمَ يَصْلاَهَا مَذْمُوماً مَّدْحُوراً ﴿١٨﴾
وَمَنْ أَرَادَ الْأَخِرَةَ وَسَعَى لَهَا سَعْيَهَا وَهُوَ مُؤْمِنٌ
فَأُوْلَئِكَ كَانَ سَعْيُهُم مَّشْكُوراً ﴿١٩﴾
“ผู้ใดปรารถนาชีวิตชั่วคราว (ในโลกนี้) เราก็จะเร่งให้เขาได้รับมัน ตามที่เราประสงค์แก่ผู้ที่เราปรารถนา แล้วเราได้เตรียมนรกไว้สำหรับเขา เขาจะเข้าไปอย่างถูกเหยียดหยามถูกขับไส”
และผู้ใดปรารถนาปรโลก และขวนขวายเพื่อมันอย่างจริงจัง โดยที่เขาเป็นผู้ศรัทธาชนเหล่านั้น การขวนขวายของพวกเขาจะได้รับการชมเชย
(กุรอานบท อัล-อิสรอ โองการที่ 18-19)
2.บรรทัดฐานของความสมถะ
لِكيلا تَأسَوا عَلي مَا فَاتَكُمْ ولا تَفرَحوا بِما ءاتكُم
“เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ไม่ท้อแท้ (และเสียใจ) ต่อสิ่งที่พลาดพลั้งไปจากพวกเจ้า และจะได้ไม่หลงระเริงต่อสิ่งที่มาประสบกับพวกเจ้า” (4)
ความหมายของคำว่า “สมถะ” (زهد) ถูกอธิบายไว้อย่างชัดเจนในโองการนี้ และนั่นก็คือ มนุษย์ที่มีความสมถะนั้น เขาจะไม่ใส่ใจและไม่ยินดียินร้ายใดๆ ต่อการที่เนี๊ยะอ์มัต (ความโปรดปราน) และปัจจัยอำนวยสุขต่างๆ ทางโลกนี้จะมาสู่เขาหรือสูญเสียไปจากเขา สองประโยคสั้นๆ ของคัมภีร์อัลกุรอานโองการนี้ ในความเป็นจริงแล้วเป็นสิ่งที่จะแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อนประการหนึ่งของโลกแห่งการสร้างของมนุษย์ ทั้งนี้เนื่องจากมนุษย์โดยปกติแล้วการดำเนินชีวิตของเขาในโลกนี้ มักจะเผชิญหน้ากับปัญหา อุปสรรค ความทุกข์ยากและเหตุการณ์ต่างๆ อันแสนขมขื่นอยู่ตลอดเวลา และโดยทั่วไปแล้วเขาจะถามตนเองอยู่เสมอว่า ในเมื่อพระผู้เป็นเจ้าคือผู้ทรงเมตตาและผู้ทรงเอื้ออาทรต่อปวงบ่าวของพระองค์ แล้วภัยพิบัติและความทุกข์ยากอันแสนเจ็บปวดเหล่านี้เกิดขึ้นมาเพื่ออะไร? คัมภีร์อัลกุรอานได้ให้คำตอบแก่มนุษย์ในเรื่องนี้ว่า
“เป้าหมายของสิ่งนี้ ก็เพื่อที่จะทำให้พวกเจ้าไม่ยึดติด ไม่รู้สึกผูกพันและไม่ตกเป็นทาสของสีสัน และความศิวิลัยอันจอมปลอมของโลกอันไม่จีรังยั่งยืนนี้” (5)
ท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.) ได้กล่าวไว้เช่นกันว่า
الزهد کله بین کلمتین: قال سبحانه: لکیلا تاسوا علی مافاتکم، و لا تفرحوا بما آتاکم و من لم یاس علی الماضی، و لم یفرح بالآتی فقد اخذ الزهد بطرفیه
“ความสมถะทั้งหมดนั้นอยู่ในสองประโยค นั่นคือสิ่งที่อัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงตรัสว่า เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ไม่ท้อแท้ (และเสียใจ) ต่อสิ่งที่พลาดพลั้งไปจากพวกเจ้า และจะได้ไม่หลงระเริงต่อสิ่งที่มาประสบกับพวกเจ้า และผู้ใดที่ไม่ท้อแท้เสียใจต่ออดีต (ที่สูญเสียไป) และไม่รู้สึกหลงระเริงต่อสิ่งที่จะได้รับ (ในอนาคต) ดังนั้นเขาได้รับความสมถะในทั้งสองด้านของมันแล้ว” (6)
3. การตัดใจจากปัจจัยอำนวยสุขอันไม่จีรังยั่งยืน
พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงตรัสว่า
وَلَا تَمُدَّنَّ عَيْنَيْكَ إِلَى مَا مَتَّعْنَا بِهِ أَزْوَاجًا مِّنْهُمْ زَهْرَةَ الْحَيَاةِ الدُّنيَا لِنَفْتِنَهُمْ فِيهِ
وَرِزْقُ رَبِّكَ خَيْرٌ وَأَبْقَى
“และเจ้าอย่าทอดสายตาของเจ้าไปยังสิ่งที่เราได้มอบให้เป็นปัจจัยอำนวยสุขแก่บางกลุ่มชนจากพวกเขา (พวกเนรคุณ) ซึ่ง (สิ่งเหล่านั้น) เป็นเพียงสิ่งสวยงาม (อันเป็นเครื่องประดับ) ในชีวิตทางโลกนี้เท่านั้น เพื่อเราจะได้ทดสอบพวกเขาในการนี้ และโชคผลแห่งองค์พระผู้อภิบาลของเจ้านั้นย่อมดีงามกว่าและจีรังยั่งยืนกว่า” (7)
ระดับต่าง ๆ ของความสมถะ
1. ระดับที่ต่ำที่สุดของความสมถะก็คือ การที่หัวใจของมนุษย์ยังมีความปรารถนาและมีความรักผูกพันอยู่กับโลกแห่งวัตถุ แต่เขาได้ใช้ความอุตสาห์พยายามอย่างที่สุดในการข่มจิตใจของตนเองและละทิ้งจากการยึดติดต่อมัน
2. ระดับปานกลางของความสมถะก็คือ ดุนยา (โลกแห่งวัตถุ) นี้เป็นสิ่งที่มีความสวยงามในสายตาของเขา แต่เมื่อเทียบกับปรโลกและสิ่งอำนวยสุขต่างๆ แห่งชีวิตในปรโลกแล้ว เขาถือว่ามันเป็นสิ่งไร้ค่า ด้วยเหตุนี้เองเขาจึงตัดใจจากโลกนี้ด้วยความมุ่งหวังในสิ่งที่ดีกว่าในปรโลก
3. ระดับที่สามของความสมถะก็คือ การที่ดุนยา (โลก) นี้ไม่มีความสำคัญโดยสิ้นเชิงในทัศนะของเขา ด้วยเหตุนี้เขาจะย่างก้าวข้ามผ่านมันไปด้วยความเต็มใจและภาคภูมิใจ และนี่คือระดับสูงสุดของความสมถะ (8)
กล่าวโดยสรุปในที่นี้ก็คือ ผู้ที่มีความสมถะ (ซาฮิด) คือบุคคลที่มิได้มองปัจจัยทางวัตถุหรือปัจจัยอำนวยสุขแห่งชีวิตทางโลกนี้เป็นเป้าหมายหรือสิ่งจำเป็นสูงสุดสำหรับตัวเขา แต่จะมองสิ่งเหล่านั้นในฐานะสื่อสำหรับชีวิตในปรโลกเพียงเท่านั้น สิ่งที่เขามุ่งมั่นและให้ความสำคัญนั่นคือเรื่องของปรโลก เรื่องของคุณงามความดีและคุณค่าต่างๆ ทางจริยธรรมและจิตวิญญาณ ฉะนั้นคำว่า “การไม่ยึดติด” หรือ “ความไม่ใส่ใจ” ของผู้มีความสมถะที่มีต่อวัตถุและปัจจัยอำนวยสุขทางโลกนั้น คือการไม่ยึดติดหรือไม่ใส่ใจในเชิงแนวคิด ในเชิงอุดมคติและความมุ่งหวัง ไม่ใช่เป็นความไม่สนใจหรือการตัดขาดจากสิ่งเหล่านั้นในเชิงธรรมชาติ เพราะในความเป็นจริงแล้วมนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยอำนวยสุขทางวัตถุ
ในขณะที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสว่า
قُلْ مَنْ حَرَّمَ زِينَةَ اللَّهِ الَّتِي أَخْرَجَ لِعِبَادِهِ وَالطَّيِّبَاتِ مِنَ الرِّزْقِ
“จงกล่าวเถิด (โอ้มุฮัมมัด) ว่า ผู้ใดหรือที่จะห้ามเครื่องประดับของอัลลอฮ์ซึ่งพระได้ทรงบัลดาลมันออกมาเพื่อปวงบ่าวของพระองค์ รวมทั้งสิ่งดีงามทั้งปวงจากปัจจัยดำรงชีพ...” (9)
ท่านอิมามบากิร (อ.) กล่าวว่า
«انَّ اللَّهَ يُحِبُّ اذا انْعَمَ عَلى عَبْدٍ انْ يَرى اثَرَ نِعْمَتِهِ عَلَيْهِ»
“แท้จริงเมื่ออัลลอฮ์ทรงประทานเนี๊ยะอ์มัต (ปัจจัยอำนวยสุข) แก่บ่าวคนใดแล้ว พระองค์ทรงชื่นชอบที่จะเห็นร่องรอยแห่งเนี๊ยะอ์มัตของพระองค์ในตัวเขา” (10)
มุสลิมจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจผิด คิดว่าการเป็นมุสลิมที่ดีนั้นจะต้องละวางทุกสิ่งทุกอย่างที่เรียกกันว่า “สละโลก” เนื่องจากเข้าใจคำว่า “สมถะ” อย่างผิดๆ ซึ่งเราสามารถพบเห็นได้ในประวัติศาสตร์ ตัวอย่างเช่น อิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ.) ขณะที่ท่านต้องการไปนมาซ ท่านสวมใส่เสื้อผ้าที่มีความสวยงามที่สุดของท่าน จนกระทั่งประชาชนบางกลุ่มได้ถามในเชิงตำหนิว่า “ทำไมท่านถึงสวมเสื้อผ้าสวยหรูอย่างนี้”
ท่านอิมาม (อ.) ตอบว่า
انَّ اللَّهَ جَميلٌ يُحِبُّ الْجَمالَ فَاتَجَمَّلُ لِرَبّي
“แท้จริงอัลลอฮ์ คือผู้ทรงสวยงาม และพระองค์ทรงรักความสวยงาม” (11)
ท่านอิมามซอดิก (อ.) ก็เช่นกัน ท่านกล่าวว่า
«انَّ اللَّهَ عَزَّوَجَلَّ يُحِبُّ الْجَمالَ وَالتَّجَمُّلَ وَ يُبْغِضُ الْبُؤْسَ وَالتَّباؤُسَ»
“แท้จริงอัลลอฮ์ผู้ทรงเกริกเกียรติและทรงเกรียงไกร ทรงรักความสวยงามและการเสริมแต่งความสวยงาม และพระองค์ทรงชิงชังความยากจนและการทำตัวเหมือนคนยากจน” (12)
แต่ในบางสถานการณ์ อิมาม (อ.) บางท่านต้องแสดงตนเช่นนั้น ดังคำพูดของท่านอิมามอะลี (อ.) เมื่ออาซิมได้ถามท่านว่า
يا امير المؤمنين ، هذا انت في خشونة ملبسک و جشوبة ماکلک
“โอ้ท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.) ทำไมท่านจึงอยู่ในสภาพที่สวมใส่เสื้อผ้าที่หยาบกระด้างและอาหารที่แข็งกระด้างเช่นนี้”
ท่านตอบว่า
ويحک ، اني لست کأنت ان الله تعالي فرض علي ائمه العدل ان يقدروا انفسهم بضعفة الناس کيلا يتبيغ بالفقير فقره
“ความวิบัติจงมีแด่เจ้า ฉันนี้ไม่เหมือนกับเจ้า (หน้าที่ของฉันนั้นแตกต่างจากเจ้า) แท้จริงพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งทรงกำหนดเหนือบรรดาอิมาม (ผู้นำ) ที่เที่ยงธรรมให้จำกัด (ชีวิตความเป็นอยู่) ของตัวเองให้เท่ากับหมู่ชนที่อ่อนแอ (ยากไร้) ที่สุด เพื่อที่ว่าความยากจนขัดสนของเขาจะไม่ปลุกปั่นให้เขากระทำการละเมิด” (13)
ความสมถะในวิถีการดำเนินชีวิตของท่านอิมามฮุเซน (อ.)
ความสมถะของท่านอิมามฮุเซน (อ.) อยู่ในระดับสูงสุดทั้งในเชิงแนวคิดและในเชิงพฤติกรรมการปฏิบัติตนของท่าน
โลก (ดุนยา) ในมุมมองของท่านอิมามฮุเซน (อ.)
พื้นฐานของความสมถะ คือการไม่ยึดติดและความไม่ผูกพันกับโลก (ดุนยา) และการไม่ยึดติดและความไม่ผูกพันกับโลก (ดุนยา) จะออกมาในรูปที่ถูกต้องได้ก็ต่อเมื่อแนวคิดและมุมมองของมนุษย์เกี่ยวกับโลก (ดุนยา) จะต้องถูกต้องและตรงกับความเป็นจริงด้วย ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้แนะนำและวาดภาพโลกดุนยาไวเช่นนี้ว่า
َلْحَمْدُ لِلّهِ الَّذی خَلَقَ الدُّنْیا فَجَعَلَها دارَ فَناءٍ وَ زَوالٍ مُتَصَرِّفَةً بِاَهْلِها حالاً بَعْدَ حالٍ، فَالْمَغْرُورُ مَنْ غَرَّتْهُ وَالشَّقِی مَنْ فَتَنَتْهُ،
فَلا تَغُرَّنَّكُمْ هذِهِ الدُّنْیا فَاِنَّها تَقْطَعُ رَجاءَ مَنْ رَكَنَ اِلَیها وَ تُخَیبُ طَمَعَ مَنْ طَمَعَ فیها
“มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิแด่อัลลอฮ์ ผู้ทรงสร้างโลก (ดุนยา) นี้ขึ้นมา และทรงกำหนดให้มันเป็นที่พำนักที่จะต้องสูญสิ้นและเสื่อมสลาย เป็นโลกซึ่งผู้ที่อาศัยอยู่จะเปลี่ยนแปลงจากสภาพหนึ่งไปสู่อีกสภาพหนึ่ง ดังนั้นผู้ที่ถูกหลอกลวงคือบุคคลที่โลก (ดุนยา) ได้หลอกลวงเขา และผู้ที่โชคร้ายคือบุคคลที่โลก (ดุนยา) ได้ทำให้เขาหลงใหล ดังนั้น (โอ้ประชาชนเอ๋ย) จงอย่าให้โลกนี้ (ดุนยา) ได้ล่อลวงพวกท่าน เพราะแท้จริงมันจะทำลายความมุ่งหวังของบุคคลที่ไว้เนื้อเชื่อใจต่อมัน และมันจะทำให้ความละโมบโลภหลงของบุคคลที่ละโมบโลภหลงในมันต้องกลับกลายเป็นความสิ้นหวัง” (14)
ในประโยคต่างๆ ข้างต้นนี้ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้ชี้ให้เห็นว่า โลกนี้ (ดุนยา) เป็นสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืนและจะต้องพบกับการสิ้นสลาย และสิ่งที่ถูกกล่าวถึงในฐานะที่เป็นสิ่งที่น่าตำหนิ นั่นก็คือ การยึดติดและการผูกหัวใจไว้กับโลก (ดุนยา) นี้
นอกจากนี้ในอีกคำพูดหนึ่งของท่านซัยยิดุชชุฮะดาอ์ (อ.) เมื่อท่านชี้ให้เห็นถึงความไม่จีรังยั่งยืนของโลก (ดุนยา) แล้ว ท่านยังถือว่าโลกดุนยานี้คือสื่อในการทดสอบมนุษย์ โดยท่านกล่าวว่า
عِبادَاللّهِ اِتَّقُواللّهَ وَكُونُوا مِنَ الدُّنْیا عَلی حَذَرٍ، فَاِنَّ الدُّنْیا لَوْ بَقِیتْ لاِحَدٍ اَوْ بَقِی عَلَیها اَحَدٌ،
كانَتِ الاْنْبِیاءُ اَحَقَّ بِالْبَقاءِ، وَاَوْلی بِالرِّضی وَاَرْضی بِالْقَضاءِ. غَیرُ اَنَّ اللّهَ تَعالی خَلَقَ الدُّنْیا لِلْبَلاءِ وَخَلَقَ اَهْلَها لِلْفَناءِ فَجَدیدُها بالٍ،
وَنَعیمُها مُضْمَحِلٌّ وَسُرُورُها مُكفَهِرٌّ، وَالْمَنْزِلُ بُلْغَةٌ وَالدّارُ قَلْعَةٌ فَتَزَوَّدُوا فَاِنَّ خَیرَ الزّادِ التَّقْوی
“โอ้ปวงบ่าวของอัลลอฮ์ ท่านทั้งหลายจงยำเกรงอัลลอฮ์เถิด และจงใช้ชีวิตวิตอยู่ในโลก (ดุนยา) นี้ด้วยความระมัดระวังตน เพราะแท้จริงหากโลก (ดุนยา) นี้จะคงทนถาวรอยู่สำหรับบุคคลใด หรือบุคคลใดจะดำรงอยู่อย่างถาวรในมันแล้ว ปวงศาสดาทั้งหลายย่อมมีสิทธิมากกว่าต่อการคงอยู่ และควรคู่มากกว่าต่อความพึงพอใจ (ในโลกดุนยา) และพวกท่านจะพึงพอใจมากกว่าต่อกำหนดการณ์ (กอฎออ์) นั้น หากแต่ว่า (ในความเป็นจริงแล้ว) พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงสร้างโลก (ดุนยา) นี้ขึ้นมาเพื่อการทดสอบ และทรงสร้างมนุษย์ (และสรรพสิ่งที่อาศัยอยู่ในมัน) ขึ้นมาเพื่อ (ผลสุดท้ายคือ) การสิ้นสลาย ดังนั้นสิ่งใหม่ในมันก็จะกลับกลายเป็นสิ่งผุเก่า ปัจจัยอำนวยสุขต่างๆ ของมันก็จะสิ้นสลายลง ความปีติยินดีทั้งหลายของมันก็จะกลับกลายเป็นความทุกข์โศก มันคือที่พำนักที่ไม่จีรังยั่งยืน และเป็นบ้านที่จะต้องพังทลาย ดังนั้นท่านทั้งหลายจงตระเตรียมเสบียงเถิด แท้จริงเสบียงที่ดีที่สุดนั้นคือตักวา (ความยำเกรงต่อพระผู้เป็นเจ้า)” (15)
การเผชิญหน้ากับผู้ที่หลงโลกและยึดติดกับวัตถุ
ในทัศนะและแนวคิดอันสูงส่งของท่านอิมามฮุเซน (อ.) การละทิ้งโลกและความสมถะเพียงอย่างเดียวนั้นยังไม่เพียงพอสำหรับความเป็นผู้สมถะ แต่ทว่าจำเป็นจะต้องเผชิญหน้าและแสดงออกในการคัดค้านต่อผู้ที่ลุ่มหลงโลกและพวกวัตถุนิยมทั้งหลายด้วย การนิ่งเงียบไม่แสดงการคัดค้านและต่อต้านบุคคลเหล่านั้นถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ภารกิจหน้าที่และความรับผิดชอบดังกล่าวในยุคปัจจุบันนี้ยิ่งเพิ่มทวีคูณเป็นหลายเท่าสำหรับบุคคลที่แบกรับหน้าที่ในการชี้นำ (ฮิดายะฮ์) สังคม และจำเป็นที่พวกเขาจะต้องยึดถือเอาท่านอิมามฮุเซน (อ.) เป็นแบบอย่าง (อุซวะฮ์) สำหรับภารกิจหน้าที่ของตนเอง
นายทุนผู้มั่งคั่งคนหนึ่งของเมืองมะดีนะฮ์ได้สร้างบ้านที่ใหญ่โตหรูหราหลังหนึ่ง และเชื้อเชิญท่านอิมามฮุเซน (อ.) ให้ไปยังบ้านของเขาและขอดุอาอ์สำหรับบ้านหลังใหม่ของเขา เมื่อท่านอิมาม (อ.) ก้าวเท้าเข้าสู่บ้านอันใหญ่โตและหรูหราของเขา ท่านได้กล่าวว่า
أَخْرَبْتَ دارَكَ، وَعَمَّرْتَ دارَ غَیرِكَ، غَرَّكَ مَنْ فِی الاْرْضِ، وَ مَقَتَكَ مَنْ فِی السَّماءِ
“เจ้าได้ทำลายบ้าน (แห่งปรโลก) ของเจ้า และได้สร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่บ้านที่ไม่ใช่ของเจ้า (คำชื่นชมยกยอของ) ผู้ที่อยู่ในโลกนี้ได้หลอกลวงเจ้า ในขณะที่บรรดาผู้ที่อยู่ในฟากฟ้าได้เกลียดชัง (และเป็นศัตรู) ต่อเจ้า” (16)
และเช่นเดียวกัน มีรายงานว่า วันหนึ่งท่านอิมามฮุเซน (อ.) กำลังเดินอยู่ในตรอกซอยของเมืองมะดีนะฮ์ ท่านเห็นบ้านที่ใหญ่โตหรูหราของพวกลุ่มหลงโลกและบูชาวัตถุคนหนึ่ง ท่านจึงได้กล่าวขึ้นว่า
رَفَعَ الطّینَ وَوَضَعَ الدّینَ
“(เจ้าของบ้านนี้) เขาได้เชิดชูดินและได้ปล่อยวางศาสนา (ของตนให้ตกต่ำ)” (17)
ความสมถะที่ปราศจากวิลายะฮ์
อีกประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับความสมถะในมุมมองและแนวคิดอันสูงส่งของท่านอิมามฮุเซน (อ.) และนับว่าเป็นหัวใจสำคัญของคุณงามความดีทั้งปวง นั่นก็คือการยอมรับในวิลายะฮ์ (อำนาจการปกครอง) และความเป็นผู้นำ (อิมามะฮ์) ของบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.) ซึ่งท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้กล่าวว่า
اِنَّ دَفْعَ الزّاهِدِ الْعابِدِ لِفَضْلِ عَلِی عَلَی الْخَلْقِ كُلِّهِمْ بَعْدَ النَّبِی صلی الله علیه و آله لَیصیرُ كَشُعْلَةِ نارٍ
فی یوْمٍ عاصِفٍ، وَتَصیرُ سائِرُ اَعْمالِ الدّافِعِ لِفَضْلِ عَلِی علیه السلام كَالْحَلْفاءِ وَ اِنِ امْتَلاَءَتْ مِنْهُ الصَّحاری وَاشْتَعَلَتْ فیها تِلْكَ النّارُ
وَ تَخْشاها تِلْكَ الرّیحُ حَتّی تَأْتی عَلَیها كُلِّها فَلا تَبْقی لَها باقِیةً
“แท้จริงการต่อต้าน (และการไม่ยอมรับ) ของที่ผู้มีความสมถะและผู้คร่ำหวอดกับการเคารพภักดี (อิบาดะฮ์) ต่อพระผู้เป็นเจ้าเกี่ยวกับความประเสริฐของท่านอิมามอะลี (อ.) ที่มีเหนือสิ่งถูกสร้างทั้งมวลภายหลังจากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) (การต่อต้านของเขา) จะกลายเป็นประหนึ่งเปลวไฟในวันที่มีพายุ (ซึ่งจะเผาไหม้การดำรงอยู่ของเขา) และอะมั้ล (การงาน) อื่นๆ ของผู้ที่ต่อต้านในความประเสริฐของท่านอิมามอะลี (อ.) นั้น (แม้จะมากมายเพียงใดก็ตาม) มันเปรียบประดุจดังหญ้าแห้งในท้องทะเลทราย แม้ท้องทะเลทรายนั้นจะถูกบรรจุจนเต็มไปด้วยหญ้าแห้งดังกล่าว แต่เมื่อเปลวไฟได้ลุกไหม้มัน และเมื่อลมพายุได้พัดพาเปลวไฟนั้นไป จนกระทั้งไหมหญ้าแห้งนั้นทั้งหมด โดยไม่เหลือสิ่งใดไว้เลย” (18)
ประโยคคำพูดของท่านอิมามฮุเซน (อ.) เหล่านี้ได้ชี้ให้เห็นว่า ไม่เพียงแต่การนมาซที่ปราศจากวิลายะฮ์เท่านั้นที่ไม่ใช่นมาซ และไม่ใช่การทำฮัจญ์และการจ่ายซะกาตที่ปราศจากอิมามะฮ์เท่านั้นที่ไม่ถูกตอบรับ แต่ทว่า ความสมถะที่ปราศจากความรักและการยอมรับในวิลายะฮ์ (อำนาจการปกครอง) ของท่านอิมามอะลี (อ.) ก็ไม่ถือว่าเป็นความสมถะ แต่มันคือประเภทหนึ่งของการหลอกลวงและสิ่งจอมปลอมเพียงเท่านั้น
ฉะนั้นความสมถะและการไม่ยึดติดต่อโลกแห่งวัตถุนั้น คือสิ่งที่สามารถรับรู้ได้จากคำพูดเหล่านี้ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ไม่ใช่การละทิ้งสังคมเมืองไปใช้ชีวิตอยู่ตามป่าเขาลำเนาไพร หรือการสวมใส่เสื้อผ้าเก่าๆ ขาดๆ แต่อย่างใด
แหล่งอ้างอิง :
(1) กอมูซ อัลกุรอาน, ซัยยิดอะลีอักบัร กุร่อชี, เล่มที่ 3, หน้า 183
(2) อิลม์ อัคลาก อิสลามี, ซัยยิดญะลาล มุจญ์ตะบะวี, แปลจาก ญามิอุซซะอาดาต, เล่มที่ 2, หน้า 78
(3) อัลกรุอานบทอัชชูรอ โองการที่ 20
(4) อัลกรุอานบทอัลฮะดีด โองการที่ 23
(5) ตัฟซีรนะมูเนฮ์, นาซิร มะการิม ชีราซี, เล่มที่ 23, หน้า 364 - 365
(6) ตัซนีฟ นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, หน้า 416
(7) อัลกรุอานบทฏอฮา โองการที่ 131
(8) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ (มุฮัมมัด ดัชตี), หน้า 348, 349
(9) อัลกรุอานบทอัลอะอ์รอฟ โองการที่ 22
(10) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 77, หน้า 161
(11) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 83, หน้า 175
(12) ฟุรูอุลกาฟี, เล่มที่ 6, หน้า 440
(13) ตัซนีฟ นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, หน้า 875
(14) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 45, หน้า 5 ; อะวาลิม บะห์รอนี, เล่มที่ 17, หน้า 247
(15) ตารีค อิบนิอะซากิร, ชีวประวัติอิมามฮุเซน (อ.), หน้า 215
(16) ตันบีฮุลค่อวาฏิร, เล่มที่ 1, หน้า 270 ; มุสตัดร็อก อัลวะซาอิล, เล่มที่ 3, หน้า 467, ฮะดีษที่ 4013 ; ฟัรฮังก์ ซุคอนอน อิมามฮุเซน (อ.), หน้า 321
(17) มุสตัดร็อก อัลวะซาอิล, เล่มที่ 3, หน้า 467
(18) ตัฟซีร อิมามฮะซัน อัซกะรี (อ.) หน้าที่ 89, ฮะดีษที่ 47 ; ฟัรฮังก์ ซุคอนอน อิมามฮุเซน (อ.) หน้าที่ 111
บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ