นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ได้เขียนว่า ท่านอิมามซัจญาด (อ.) ได้ป่วยในเหตุการณ์กัรบะลา และอาการป่วยนี้คือฮิกมะฮ์ (วิทยปัญญา) และพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อประโยชน์ของประชาชาติ (อุมมะฮ์) อิสลาม ซึ่งอาการป่วยครั้งนี้ทำให้ข้อพิสูจน์ (ฮุจญะฮ์) ของพระผู้เป็นเจ้าได้ถูกพิทักษ์รักษาไว้ในแผ่นดิน และทำให้ภารกิจของการเป็นผู้นำ (อิมามะฮ์) ดำเนินอยู่ต่อไป และด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง ท่านอิมาม (อ.) จึงไม่ได้เข้าร่วมในสนามศึกแห่งกัรบะลา (1)
ท่านอิมามซัจญาด (อ.) เป็นผู้ชายคนเดียวจากครอบครัวของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ที่มีชีวิตรอดกลับมาจากกัรบะลา เพื่อทำหน้าที่ในการชี้นำประชาชาติ
คนจำนวนหนึ่งได้วาดภาพของท่านอิมามซัจญาด (อ.) ถึงขั้นที่ดูเหมือนว่าท่านเป็นผู้ป่วยตลอดอายุขัยของท่าน เป็นผู้มีผิวเหลืองซีดและมีไข้ โดยที่ท่านจะเดินโดยใช้ไม้เท้าในสภาพที่หลังโค้งงอตลอดเวลา และในวันอาชูรออ์อาการป่วยของท่านก็ได้ทวีความรุนแรงขึ้น จนถึงขั้นที่ท่านไม่รู้ข่าวคราวใดๆ เกี่ยวกับสงครามและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวันอาชูรออ์
เมื่อท่านอิมามฮุเซน (อ.) เข้ามาในกระโจมที่พักของท่าน ท่านอิมามซัจญาด (อ.) ก็ถามว่า
“โอ้พ่อจ๋า! เหตุการณ์ของท่านกับกลุ่มชนเหล่านั้นดำเนินไปถึงไหนแล้ว?”
ท่านอิมามตอบว่า “สงครามได้เกิดขึ้นแล้ว” และเมื่อท่านถามว่า “ท่านอับบาส อาของฉันเป็นอย่างไร?”
ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ตอบว่า “ถูกสังหารแล้ว” เมื่อถามว่า “อาลี อักบัร น้องชายของฉันเป็นอย่างไรบ้าง?”
ท่านอิมามตอบว่า “ถูกสังหารแล้ว” เมื่อถามว่า “กอซิม ลูกของลุงของฉันเป็นอย่างไร?” ท่านอิมามตอบว่า “ถูกสังหารแล้ว”
ในขณะที่ท่านอิมามซัจญาด (อ.) ป่วยนั้น คือเฉพาะในช่วงของเหตุการณ์อาชูรออ์เพียงเท่านั้น และบางทีนั่นก็เกิดจากพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าและวิทยปัญญา (ฮิกมะฮ์) ของพระองค์ เพื่อให้ท่านอิมาม (อ.) มีชีวิตอยู่และเชื้อสายของท่านอิมามฮุเซน (อ.) จะยังคงดำรงอยู่ต่อไปด้วย
วิธีการดังกล่าว และในช่วงเวลาอื่นจากนี้ ไม่มีนักประวัติศาสตร์คนใดเขียนไว้เลยว่า ท่านอิมามซัจญาด (อ.) เป็นคนป่วย และกระทั่งว่านักประวัติศาสตร์บางคนได้พูดถึงการญิฮาดและการสู้รบของท่านในสนามศึกแห่งกัรบะลาและการได้รับบาดเจ็บของท่าน โดยที่พวกเขากล่าวว่า : ในวันอาชูรออ์ ท่านอิมามซัจญาด (อ.) ได้ออกสู่สนามศึกและได้ทำสงครามและท่านได้รับบาดเจ็บ และพวกเขาได้นำร่างที่ได้รับบาดเจ็บของท่านออกมาจากสนามต่อสู้
ฟุฎ็อยล์ บินซุเบร อะซะดี กูฟี ซึ่งเป็นสาวกของท่านอิมามบากิร (อ.) และท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้เขียนไว้ในหนังสือ "ตัสมียะฮ์ มันกุติละ มิน อะฮ์ลิบัยติฮี วะชีอะติฮ๊" ของตนว่า :
کان علی بن الحسين(ع) عليلاً ، وارتُثَّ ، يومئذٍ ، وقد حَضَرَ بعض القتال ، فدفع اللهُ عنه ، وأُخِذَ مع النساء
"ในวันนั้นท่านอิมามอะลี บินฮุเซน (อ.) ได้ป่วยและท่านได้เข้าร่วมในการต่อสู้ในบางช่วง จนกระทั้งได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง และพวกเขาได้นำร่างที่ได้รับบาดเจ็บของท่านออกมา ดังนั้นอัลลอฮ์ได้ทรงปกป้องท่าน (จากความชั่วร้ายของศัตรู) และท่านได้ถูกจับกุมเป็นเชลยร่วมกับบรรดาสตรี" (2)
นักภาษาศาสตร์กล่าวว่า : คำว่า ( ارتثّ ) นั้นหมายถึง บุคคลผู้หนึ่งได้ทำการรบพุ่งในสนามศึก จากนั้นได้รับบาดเจ็บและล้มฟุบลงบนพื้น และพวกเขาจะนำร่างของเขาออกจากสนามรบในสภาพที่ยังมีชีวิตอยู่
จึงสามารถสรุปได้ว่า : ท่านอิมามซัจญาด (อ.) ด้วยกับความป่วยไข้ของท่าน พร้อมด้วยท่านหญิงซัยนับ (อ.) รวมทั้งบรรดาผู้ที่ถูกจับเป็นเชลยศึกนั้น ท่านคือผู้ที่ได้ทำให้ขบวนการต่อสู้ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) เกิดความสมบูรณ์ คุฏบะฮ์ (คำปราศรัย) ต่างๆ ของท่านในเมืองกูฟะฮ์และเมืองชาม ได้ทำให้ประชาชนตื่นจากความหลับใหล และเป็นสาเหตุนำไปสู่การสำนึกผิด (เตาบะฮ์) ของประชาชนชาวกูฟะฮ์
การยืนหยัดต่อสู้และการแก้แค้นต่างๆ ของพวกเขา ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคำพูดปลุกเร้าต่างๆ ของท่านอิมามซัจญาด (อ.) และท่านหญิงซัยนับ (อ.) ได้ปลุกจิตสำนึกที่หลับใหลของประชาชาติอิสลามให้ตื่น และได้ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจต่างๆ ในการแก้แค้นให้กับเลือดของบรรดาชะฮีดแห่งกัรบะลา จนกระทั่งในที่สุดการยืนหยัดต่อสู้เพื่อแก้แค้นของชาวกูฟะฮ์ได้ก่อตัวขึ้นในรูปของขบวนการ "เตาวาบีน" และหลังจากนั้น คือขบวนการต่อสู้ของ "มุคตาร"
แหล่งที่มา :
(1) อัฏฏอบะก๊อต, เล่มที่ 5, หน้าที่ 221 ; ตัสกิร่อตุลค่อวาศ, หน้าที่ 324 ; อะอ์ยานุชชีอะฮ์, เล่มที่ 1, หน้าที่ 635
(2) ญิฮาดุลอิมามุซซัจญาด, หน้าที่ 50
บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ