แนวทางที่ดีที่สุดที่จะรับรู้และเข้าใจถึงสถานภาพอันสูงส่งของบรรดาอิมาม (อ.) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานภาพของท่านอิมามฮุเซน (อ.) นั้นคือ การเรียนรู้และทำความเข้าใจสิ่งดังกล่าวโดยผ่านคำพูดของบรรดามะอ์ซูม (อ.) เอง และเพื่อจะบรรลุสู่วัตถุประสงค์ในการรับรู้และการทำควาเข้าใจถึงสถานภาพอันสูงส่งของท่านอิมามฮุเซน (อ.) มากยิ่งขึ้น ดังนั้นในเนื้อหาต่อไปนี้ เราจะมาพิจารณาคำพูดของท่านอิมามซอดิก (อ.) ที่อธิบายถึงคุณลักษณะเฉพาะของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ไว้ในบทซิยาเราะฮ์ อัรบะอีน
ในบทซิยาเราะฮ์ อัรบะอีน เราจะเห็นได้ว่า เนื้อหาอันสูงส่งบรรจุไปด้วยการทำความรู้จัก (มะอ์ริฟะฮ์) และการเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับคุณลักษณะเฉพาะและสถานภาพพิเศษของอิมาม (อ.) ในฐานะที่เป็นผู้นำแห่งพระผู้เป็นเจ้า ที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับความเชื่อและความศรัทธาของชาวชีอะฮ์เกี่ยวกับเรื่องของอิมามมะฮ์ (ความเป็นผู้นำ) ของท่านได้เป็นอย่างดี เชคฏูซี (ร.ฎ.) ได้รายงานเนื้อหาและสำนวนประโยคต่างๆ อันวิจิตรของบทซิยาเราะฮ์อัรบะอีนนี้ จาก “ซ็อฟวาน บิน มะฮ์รอน อัลญัมมาล” ซึ่งเขาได้เรียนรู้มันจากท่านอิมามญะอ์ฟัร อัซซอดิก (อ.) และได้ถ่ายทอดมาสู่พวกเรา
เนื้อหาอันทรงคุณค่าของบทซิยาเราะฮ์อัรบะอีนนี้ ถือได้ว่าเป็นบทเรียนและคำสอนที่สมบูรณ์บทหนึ่งเกี่ยวกับการทำความรู้จักกับอิมาม และจะช่วยทำให้มุอ์มิน (ผู้ศรัทธา) ทุกคนสามารถรับรู้และเข้าใจถึงสถานภาพอันสูงส่งของผู้นำแห่งพระผู้เป็นเจ้าได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ การให้ความสนใจและให้ความสำคัญต่อการซิยาเราะฮ์อัรบะอีนจึงถูกเน้นย้ำและถูกนับว่าเป็นหนึ่งในคุณลักษณะของชีอะฮ์ที่เป็นมุอ์มิน (ผู้ศรัทธามั่น) ที่แท้จริง
ท่านอิมามฮะซัน อัสกะรี (อ.) ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า :
عَلَامَاتُ الْمُؤْمِنِ خَمْسٌ: صَلَاةُ إِحْدَى وَ الْخَمْسِينَ وَ زِيَارَةُ الْأَرْبَعِينَ وَ التَّخَتُّمُ بِالْيَمِينِ وَ تَعْفِيرُ الْجَبِينِ وَ الْجَهْرُ بِبِسْمِ اللَّهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيم
“เครื่องหมายของผู้ศรัทธามี 5 ประการ คือ การนมาซ 51 ร่อกาอัต (นมาซวาญิบและมุสตะฮับในแต่ละวัน) การซิยาเราะฮ์อัรบะอีน การสวมใส่แหวนในมือขวา การวางหน้าผากลงบนดิน และการกล่าว บิสมิลลาฮิรเราะห์มานิรร่อฮีม ด้วยเสียงดัง (ในขณะนมาซ)” [1]
การอ่านเนื้อหาของบทความนี้ จะทำให้คำตอบของคำถามต่อไปนี้เป็นที่กระจ่างชัดที่ว่า ทำไมซิยาเราะฮ์อัรบะอีน จึงกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของมุอ์มิน (ผู้ศรัทธา) และความเป็นชีอะฮ์ ด้วยกับเป้าหมายดังนี้ เราจะขออธิบายเนื้อหาบางส่วนของบทซิยาเราะฮ์นี้ ผลกระทบทางด้านจิตวิญาณของถ้อยคำต่างๆ ของตัวบทซิยาเราะฮ์ที่มีต่อผู้อ่าน หรือผู้ทำการซิยาเราะฮ์ ในช่วงเริ่มต้นของซิยาเราะฮ์อัรบะอีนนี้เราจะอ่านว่า :
السَّلاَمُ عَلَى وَلِيِّ اللَّهِ وَ حَبِيبِهِ السَّلاَمُ عَلَى خَلِيلِ اللَّهِ وَ نَجِيبِهِ
“ขอความสันติพึงมีแด่วะลีย์ (ผู้ใกล้ชิด) ของอัลลอฮ์และผู้เป็นที่รักของพระองค์! และขอความสันติพึงมีแด่สหายของอัลลอฮ์ และผู้ถูกเลือกสรรของพระองค์” [2]
“วะลียุลลอฮ์” (ผู้ใกล้ชิดของอัลลอฮ์) “ฮะบีบุลลอฮ์” (ผู้เป็นที่รักของอัลลอฮ์) “ค่อลีลุลลอฮ์” (สหายของอัลลอฮ์) และ “ซ่อฟียุลลอฮ์” (ผู้ถูกเลือกสรรของอัลลอฮ์) คือคุณลักษณะเฉพาะ 4 ประการ ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ที่ถูกกล่าวถึงในส่วนนี้ ซึ่งแต่ละประการนั้นก็เป็นเพียงพอแล้วสำหรับการแนะนำให้รู้จักถึงผู้นำแห่งพระผู้เป็นเจ้าท่านนี้ คุณลักษณะเฉพาะเหล่านี้ของท่านอิมาม (อ.) มีผลต่างๆ อย่างมากมายในการขัดเกลา (ตัรบียะฮ์) ทั้งในด้านจิตวิญญาณและด้านร่างกายสำหรับบรรดาผู้ทำการซิยาเราะฮ์หรือผู้อ่านมัน ตัวอย่างเช่น ด้วยกับการกล่าวและการทำความเข้าใจต่อถ้อยคำเหล่านี้ จะช่วยเสริมสร้างความรักและการยอมรับในอำนาจวิลายะฮ์ (การเป็นผู้ปกครอง) ของผู้นำแห่งพระผู้เป็นเจ้า ให้เกิดความเข้มแข็งขึ้นในตัวตนและการดำรงอยู่ของเรา เมื่อผู้ทำการซิยาเราะฮ์ได้แสดงออกซึ่งความรัก การเชิดชูและการให้ความสำคัญอย่างแท้จริงต่อผู้ที่เป็นเจ้าของคุณลักษณะเช่นนี้ แน่นอนยิ่งว่าจะทำให้จิตวิญญาณและตัวตนของเขาเข้าอยู่ภายใต้ประกายแสงและอิทธิพลของคุณลักษณะต่างๆ ที่ทรงคุณค่าเหล่านี้
ความหมายของการกล่าวสลามในซิยาเราะฮ์อัรบะอีน
“สลาม” เป็นหนึ่งในพระนามของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเกริกเกียรติผู้ทรงเกรียงไกร เมื่อผู้ทำการซิยาเราะฮ์ได้กล่าวพระนามนี้ของพระผู้เป็นเจ้า เขาต้องการที่จะกล่าวว่า “โอ้ท่านอิมาม! ขอพระผู้เป็นเจ้าทรงพิทักษ์ปกป้องอุดมคติของท่านให้ปลอดภัยจากจากอันตรายของเหล่าศัตรูด้วยเถิด” นอกจากนี้คำว่า “สลาม” ยังหมายถึง การยอมรับและการยอมจำนนโดยดุษฎีต่อคำสั่งของท่านอิมาม (อ.) และนอกเหนือไปจากความหมายทั้งสองนี้แล้ว “สลาม” ยังหมายถึง การให้สัญญาและการแสดงความมุ่งมั่นที่จะระวังรักษาความดีงาม ความสงบมั่นและความปลอดภัยจากตัวเอง และเมื่อผู้ทำการซิยาเราะฮ์จะกล่าวสลามต่อท่านอิมาม (อ.) นั้น ในความเป็นจริงแล้ว เขากำลังจะประกาศว่า จะไม่มีการสร้างความไม่สบายใจ ความไม่ดีงามและความเสียหายใดๆ จากตัวฉันที่จะเกิดขึ้นกับท่านอิมาม (อ.) ทั้งในช่วงเวลานี้และภายหลังจากนี้ เนื่องจากว่าเป้าหมายของอิมาม (อ.) ทุกท่านนั้นคือการชี้นำ (ฮิดายะฮ์) การแก้ไขปรับปรุงประชาชน การเชิดชูพระคำแห่งเตาฮีด (การยอมรับในเอกานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า) และการเสริมสร้างการเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้าในหมู่ประชาชน
ด้วยเหตุนี้ พวกท่านเหล่านั้นจะไม่สบายใจและจะถูกทำร้ายจิตใจด้วยกับการฝ่าฝืนพระผู้เป็นเจ้า การละเมิดคำสั่งใช้และข้อห้ามของพระองค์ที่เกิดจากประชาชน และจากมารยาทที่ไม่ดีงามของประชาชน อย่างเช่น การอวดดี การหลงตนเอง ความโลภหลง การโอ้อวด (ริยาอ์) ความตระหนี่ถี่เหนียว การลุ่มหลงในอำนาจ การนินทา การทำร้ายผู้อื่น และอื่นๆ
ผู้ทำการซิยาเราะฮ์จะต้องปรับปรุงตัวเองให้อยู่ในสภาพที่จะเป็นที่พึงพอใจของท่านอิมาม (อ.) มิใช่เป็นแหล่งที่มาของการสร้างความไม่สบายใจหรือการทำร้ายจิตใจแก่ท่าน แล้วเมื่อนั้นการกล่าวสลามต่อท่านอิมาม (อ.) จะเป็นสลามที่สัจจริง ผู้กระทำการซิยาเราะฮ์นั้น จะต้องชำระล้างหัวใจของตนด้วยน้ำแห่งการเตาบะฮ์ (กลับใจสำนึกผิด) จะต้องหลั่งน้ำตาออกมาจากดวงตาทั้งสองของตน แล้วหลังจากนั้นจึงกล่าวสลามต่อท่านอิมาม (อ.) ผู้ทำซิยาเราะฮ์จะทำให้ตนเองเข้าใกล้ชิดต่อท่านอิมาม (อ.) ด้วยการกล่าวสลามของตน และด้วยกับการกล่าวซ้ำประโยคเหล่านี้ จะทำให้มารยาท จิตใจ และจิตวิญญาณของตนบริสุทธิ์จากความเลวร้าย อุปนิสัยที่ไม่ดีงามและความผิดบาปต่างๆ อันเนื่องมาจากความเข้าใกล้ชิดต่อท่าน และเขาจะกล่าวสลามออกมาด้วยมารยาท ความบริสุทธิ์ใจและการร่ำให้คร่ำครวญ อันจะทำให้เกิดความสันติสุขและความปลอดภัย (สลามัต) อย่างสมบูรณ์ และจะเป็นสื่อในการตอบรับสลามของท่านอิมาม (อ.)
ความเป็นจริงแล้ว โดยการกล่าวสลามต่อท่านอิมาม (อ.) และต่อบรรดาผู้ช่วยเหลือของท่านนั้น จะทำให้บุคลิกภาพทางด้านสังคมและด้านการเมืองของผู้ซิยาเราะฮ์เป็นที่ปรากฏ และจะประกาศว่าไม่เพียงแต่กับเจว็ดด้านในเท่านั้นที่เขาจะทำการต่อสู้ แต่ทว่าเขาจะทำการต่อสู้กับบรรดาทรราช เผด็จการ ผู้อธรรมและผู้ที่ทรยศต่อประชาชนเช่นเดียวกับที่ท่านอิมาม (อ.) ได้ทำการต่อสู้ และด้วยกับคำขวัญแห่ง “สลาม” นี้ เขาจะนำพาตัวเองเข้าอยู่ในบรรดาสหายและผู้ช่วยเหลือของท่านอิมามฮุเซน (อ.) [3]
คุณลักษณะเฉพาะของท่านอิมามฮุเซน (อ.)
ตำแหน่งของความเป็นบ่าวและการยอมตน (มะกอมอุบูดียะฮ์): ในเนื้อหาส่วนส่วนหนึ่งของซิยาเราะฮ์อัรบะอีน เราจะอ่าน:
السَّلاَمُ عَلَى صَفِيِّ اللَّهِ وَ ابْنِ صَفِيِّهِ السَّلاَمُ عَلَى الْحُسَيْنِ الْمَظْلُومِ الشَّهِيدِ
“ขอความสันติพึงมีแด่ผู้ถูกคัดสรรของอัลลอฮ์ และบุตรของผู้ถูกเลือกสรรของพระองค์ ขอความสันติพึงมีแด่ท่านอิมามฮุเซน ผู้ถูกอธรรม ผู้เป็นชะฮีด”
ความจงรักภักดีและการยอมตนเป็นบ่าวต่ออัลลอฮ์ (อุบูดียะฮ์) นั้น เป็นคุณลักษณะเฉพาะประการหนึ่งของท่านอิมามฮุเซน (อ.) และบรรดาผู้ช่วยเหลือของท่าน ตราบที่มนุษย์ยังไปไม่ถึงสถานะแห่งการยอมตนเป็นบ่าว (มะกอมอุบูดียะฮ์) ที่บริสุทธิ์ใจต่อพระผู้เป็นเจ้าแล้ว เขาก็ไม่สามารถที่จะขับเคลื่อนตนไปสู่ความสมบูรณ์ (กะมาล) ได้ พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานว่า
وَ الصَّافَّاتِ صَفًّا
"ขอสาบานด้วย (มวลมนุษย์ผู้มีจิตใจบริสุทธิ์) ผู้ยืนเรียงในแถว (ในการเชื่อฟังและการยอมตนเป็นบ่าวต่อข้า) อย่างเป็นระเบียบ"[4]
และในอีกโองการหนึ่ง คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวถึงบ่าวผู้บริสุทธิ์ของอัลลอฮ์ว่า เป็นบ่อเกิดของความรู้และความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า โดยกล่าวว่า :
فَوَجَدا عَبْداً مِنْ عِبادِنا آتَيْناهُ رَحْمَةً مِنْ عِنْدِنا وَ عَلَّمْناهُ مِنْ لَدُنَّا عِلْماً
“แล้วทั้งสอง (มูซาและเพื่อนร่วมทางของเขา) ได้พบบ่าวคนหนึ่งจากปวงบ่าวของเรา ที่เราได้ประทานความเมตตาจากเราให้แก่เขา และเราได้สอนความรู้จากเราให้แก่เขา” [5]
โองการนี้ชี้ให้เห็นว่า ความภาคภูมิใจสูงสุดของมนุษย์นั้นคือ การที่เขาจะเป็นบ่าวผู้บริสุทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า และนี่ก็คือสถานะของความเป็นบ่าว (มะกอมอุบูดียะฮ์) ที่จะทำให้มนุษย์ได้รับความเมตตาแห่งพระผู้เป็นเจ้า และประตูแห่งวิชาความรู้ทั้งหลายจะถูกเปิดไปสู่หัวใจของเขา ในความเป็นจริงแล้ว แก่นแท้ของความรู้แห่งพระผู้เป็นเจ้านั้น จะเกิดขึ้นจากการยอมตนเป็นบ่าว (อุบูดียะฮ์) อย่างแท้จริงต่อพระผู้เป็นเจ้านั่นเอง โดยพื้นฐานแล้ว หัวใจสำคัญที่ทำให้ท่านอิมามฮุเซน (อ.) บรรลุสู่สถานะต่างๆ อันสูงส่งนั้น คือการยอมตนเป็นบ่าวและการยอมสิโรราบอย่างแท้จริงต่อพระผู้เป็นเจ้า นั่นก็คือ สิ่งที่เราจะปฏิญาณตนด้วยสิ่งนี้ในทุกๆ การซิยาเราะฮ์ และแม้แต่ตัวท่านอิมาม (อ.) เองก็มีความภาคภูมิใจต่อสิ่งดังกล่าว ตัวอย่างของมันก็คือคำรายงาน (ริวายะฮ์) ต่อไปนี้ :
ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้เดินทางไปยังหลุมฝังศพของท่านหญิงคอดีญะฮ์ ยายของท่าน พร้อมกับอนัส บินมาลิก เคียงข้างหลุมฝังศพนั้น ท่านอิมาม (อ.) ได้ร่ำไห้ จากนั้นได้กล่าวกับอนัส บินมาลิก ว่า “ขอให้ฉันได้อยู่ตามลำพังคนเดียวเถิด!” อนัสกล่าวว่า ฉันได้ถอยออกไปด้านข้างและหลบซ่อนตัวจากสายตาของท่าน ท่านอิมาม (อ.) ได้ทำการนมาซ กล่าวคำรำลึก (ซิกร์) และการวิงวอนขอพร (ดุอาอ์) เมื่อการภาวนาขอพรของท่านดำเนินไปอย่างยาวนานแล้ว ฉันจึงขยับเข้ามาใกล้ๆ ฉันได้ยินท่านรำพึงรำพันเช่นนี้ว่า:
يا رَبِّ! يارَبِّ! اَنْتَ مَوْلاهُ فَاْرْحَمْ عَبيداً اِلَيْكَ مَلْجاهُ
“โอ้พระผู้อภิบาลของข้าฯ! โอ้พระผู้อภิบาลของข้าฯ! พระองค์คือนายของเขา ดังนั้นโปรดทรงเมตตาบ่าวผู้น้อย ผู้พักพิงยังพระองค์ด้วยเถิด”
يا ذَالْمَعالى! عَلَيْكَ مُعْتَمَدى طُوبى لِمَنْ كُنْت اَنْتَ مَوْلاهُ
“โอ้พระผู้ทรงสูงส่งยิ่ง! พระองค์คือแหล่งแห่งความไว้วางใจของข้าฯ ความโชคดีเป็นของผู้ที่พระองค์ทรงเป็นนายของเขา”
طُوبى لِمَنْ كانَ خادِماً اَرِقاً يَشْكُو اِلى ذى الْجَلالِ بَلْواهُ
“ความโชคดีเป็นของบ่าวผู้ไม่หลับไม่นอน ที่ร้องทุกข์ของตนต่อพระผู้ทรงเกรียงไกร”
وَ ما بِهِ عِلَّةٌ وَ لا سَقَمٌ اَكْثَرَ مِنْ حُبِّهِ لِمَوْلاهُ
“และไม่มีความอ่อนแอและความเจ็บป่วยใดที่มากไปกว่าความรักที่เขามีต่อผู้เป็นนายของตน”
اِذا اِشْتَكى بَثَّهُ وَ غُصَّتَهُ اَجابَهُ اللَّهُ ثُمَّ لَبَّاهُ
“เมื่อใดก็ตามที่เขาร้องเรียนความทุกข์และความเศร้าโศกของเขา อัลลอฮ์ก็จะทรงตอบรับและสนองตอบต่อเขา”
اِذا اِبْتَلی بِالظَّلامِ مُبْتَهَلاً اَكْرَمَهُ اللَّهُ ثُمَّ اَدْناهُ
“เมื่อใดก็ตามที่เขาประสบกับความทุกข์ยาก เขาจะวิงวอนขอในความมืดมิด (ของยามค่ำคืน) อัลลอฮ์ก็จะทรงให้เกียรติเขา แล้วทำให้เขาเข้าใกล้ชิด” [6]
หากเราปรารถนาที่จะเป็นผู้ใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้า ต้องการที่จะเป็นมุอ์มิน (ผู้ศรัทธา) ที่แท้จริง และกล่าวอ้างว่าเป็นผู้ปฏิบัติตามแนวทางของท่านอิมามฮุเซน (อ.) จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องยอมสิโรราบต่อพระบัญชาของพระองค์ในทุกสภาพการณ์ แม้ว่าจะขัดกับความปรารถนาและความต้องการของเราก็ตาม โดยการรำพึงรำพันและการอ่านบทซิยาเราะฮ์ อัรบะอีนนี้ เราจะให้คำมั่นสัญญาว่า นับจากนี้เป็นต้นไป เราจะยอมตนเป็นบ่าวที่บริสุทธิ์ใจและจริงใจด้วยการปฏิบัติตามแนวทางของท่านอิมามฮุเซน (อ.)
การอดทนแบกรับความทุกข์ยากและความโศกเศร้า เพื่อการปฏิรูปและการแก้ไขปรับปรุงสังคม
السَّلاَمُ عَلَى أَسِيرِ الْكُرُبَاتِ وَ قَتِيلِ الْعَبَرَاتِ
“ขอความสันติพึงมีแด่ผู้ประสบกับความทุกข์โศกทั้งหลาย ผู้ถูกสังหาร และผู้เป็นบ่อเกิดของน้ำตาจากดวงตาทั้งหลาย”
ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ต้องอดทนอดกลั้นต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม และต้องเผชิญกับการถูกทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจตลอดเวลา
ท่านได้ยืนหยัดต่อสู้กับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ด้วยกับชีวิต แน่นอนยิ่งว่า บรรดาผู้นำแห่งพระผู้เป็นเจ้าและผู้ปฏิบัติตามที่ซื่อสัตย์ของท่าน ล้วนจะต้องทนทุกข์ทรมานและอดทนอดกลั้นต่อแรงบีบครั้นทางด้านจิตใจและจิตวิญญาณมากที่สุด
ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า :
إِنَّ أَشَدَّ النَّاسِ بَلَاءً الْأَنْبِيَاءُ ثُمَّ الَّذِينَ يَلُونَهُمْ ثُمَّ الْأَمْثَلُ فَالْأَمْثَل
“มนุษย์ที่เผชิญกับความทุกข์ยากมากที่สุด คือปวงศาสดา ต่อจากนั้นก็คือผู้ที่ปฏิบัติตามพวกท่าน และที่คล้ายกันนั้นถัดๆ ลงไป” [7]
ในคำรายงานบทหนึ่งจากท่านซัลมาน ฟาริซี ก็ได้ชี้ถึงคุณลักษณะของผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) ไว้เช่นกัน โดยที่ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า :
فَعِنْدَهَا يَذُوبُ قَلْبُ الْمُؤْمِنِ فِي جَوْفِهِ كَمَا يَذُوبُ الْمِلْحُ فِي الْمَاءِ مِمَّا يَرَى مِنَ الْمُنْكَرِ فَلَا يَسْتَطِيعُ أَنْ يُغَيِّرَه
“ณ ช่วงเวลา (ใกล้วันสิ้นโลก) นั้น หัวใจของผู้ศรัทธาจะสลายอยู่ด้านในของเขา เหมือนดังเกลือที่จะละลายในน้ำ อันเกิดจากจากความชั่วที่เขาเห็น โดยที่เขาไม่สามารถจะทำการเปลี่ยนแปลงมันได้” [8]
มุอัมมัร บินค็อลลาด ได้เล่าว่า : ในขณะที่ฉันอยู่กับท่านอิมามริฎอ (อ.) ได้มีการพูดคุยกันเกี่ยวกับชีวิตที่สุขสบายในยุคของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวว่า :
أَنْتُمُ الْيَوْمَ أَرْخَى بَالًا مِنْكُمْ يَوْمَئِذٍ قَالَ: وَ كَيْفَ؟ قَالَ: لَوْ قَدْ خَرَجَ قَائِمُنَا علیه السلام لَمْ يَكُنْ إِلَّا الْعَلَقُ
وَ الْعَرَقُ وَ الْقَوْمُ عَلَى السُّرُوجِ وَ مَا لِبَاسُ الْقَائِمِ علیه السلام إِلَّا الْغَلِيظُ وَ مَا طَعَامُهُ إِلَّا الْجَشِب
“ในวันนี้พวกท่านจะมีสภาพความเป็นอยู่ที่สุขสบายมากว่าวันนั้น” (หมายถึงช่วงเวลาการปรากฏตัวของมะฮ์ดี) เขากล่าวว่า “จะเป็นอย่างไรหรือ” ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า “เนื่องจากหากกออิม (อ.) ของเรายืนหยัดขึ้นต่อสู้ จะไม่มีสภาพเป็นอย่างอื่น นอกจากเลือดและเหงื่อ และหมู่ชนจะอยู่บนอานม้าศึก เสื้อผ้าของกออิม (อ.) จะหยาบกร้านและอาหารของเขาจะแห้ง” [9]
การอุทิศชีวิตและความเป็นอยู่ของตนเอง เพื่อช่วยเหลือและปลดปล่อยสังคม
وَ بَذَلَ مُهْجَتَهُ فِيكَ لِيَسْتَنْقِذَ عِبَادَكَ مِنَ الْجَهَالَةِ وَ حَيْرَةِ الضَّلاَلَةِ
“และท่านได้สละเลือดเนื้อของท่าน ในทางของพระองค์ เพื่อช่วยปวงบ่าวของพระองค์ให้หลุดพ้นจากความไม่รู้และความสับสนของการหลงทาง” [10]
หนึ่งในหัวใจที่สำคัญที่สุดของการซิยาเราะฮ์ อัรบะอีน คือ การอธิบายถึงปรัชญาการยืนหยัดต่อสู้ในเหตุการณ์แห่งอาชูรอ โดยที่เจตนารมณ์ทั้งหมดของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้ถูกอธิบายสรุปไว้ในประโยคสั้นๆ ประโยคเดียว ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนในประโยคนี้ว่า
“ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้พลีอุทิศชีวิตและการดำรงอยู่ทั้งหมดของตนเองเพื่อปลดปล่อยปวงบ่าวของพระผู้เป็นเจ้า ให้หลุดพ้นออกจากพันธนาการของความไม่รู้และความโง่เขลา (ญะฮาละฮ์) ความมืดมนและการหลงทาง และเพื่อชี้นำพวกเขาไปสู่แสงสว่าง (นูร) และทางนำแห่งพระผู้เป็นเจ้า”
และนี่คือเป้าหมายสูงสุดของศาสดาและศาสนทูตของพระผู้เป็นเจ้าทั้งปวง ในตลอดเวลาแห่งประวัติศาสตร์ โดยที่ขบวนการต่อสู้แห่งอาชูรอนั้นได้ไปถึงจุดสูงสุดของมัน
การปฏิวัติคุณค่าต่างๆ ในประวัติศาสตร์ได้กล่าวว่า : ภายหลังจากการแต่งตั้งท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) หลักการและค่านิยมต่างๆ ที่เคยดำเนินอยู่ในสังคมที่ต่อต้านคุณค่าและความดีงามทางโลกนี้และปรโลกของประชาชนถูกเปลี่ยนเป็นคุณค่าและความดีงามแห่งพระผู้เป็นเจ้า ความเชื่อโชคลางและความงมงายต่างๆ ได้เปลี่ยนเป็นการแสวงหาข้อเท็จจริง สงคราม การหลั่งเลือดและความอธรรมถูกเปลี่ยนเป็นความยุติธรรม ความเสมอภาคและความเท่าเทียมกัน ประชาชนที่ดูภายนอกว่าเป็นคนชั้นต่ำได้กลายเป็นคนที่เชื่อถือได้และมีสถานะทางสังคมที่สูงส่ง กฎระเบียบและหลักเกณฑ์ทางภายนอกและทางด้านวัตถุ ถูกแทนที่ด้วยหลักเกณฑ์ต่างๆ อันสูงส่งและทรงคุณค่า กระทั่งว่าท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้เน้นย้ำบรรดาเจ้าหน้าผู้ปฏิบัติงานของท่านว่า ให้อุตสาห์พยายามอย่างเต็มที่ในการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขวิธีการที่ไม่ถูกต้อง และจารีตประเพณีแบบญาฮิลียะฮ์ (อนารยะ)
ในช่วงเวลาที่ท่านส่งมุอาซ บินญะบัล ไปยังเยเมน ท่านได้กล่าวกับเขาว่า
“โอ้มุอาซเอ๋ย! เจ้าจงทำลายร่องรอยของญาฮิลียะฮ์ (อนารยะ) และจารีตประเพณีที่หลงผิดให้หมดสิ้น และจงแพร่กระจายซุนนะฮ์ (แบบฉบับ) ต่างๆ อันสูงส่งของอิสลามออกไปในหมู่ประชาชน”
ช่วงท้ายจากสาส์นฮัจญ์ของท่าน ท่านได้เน้นย้ำถึงการปฏิวัติคุณค่าและความดีงามต่างๆ และการขับเคลื่อนไปสู่สิ่งที่เป็นความสวยงามและความสมบูรณ์แบบ (กะมาลาต) ทั้งหลาย โดยกล่าวว่า
ألا كُلُّ شَيْءٍ من أَمْرِ الْجَاهِلِيَّةِ تَحْتَ قَدَمَيَّ مَوْضُوعٌ
“พึงรู้เถิดว่า ทุกสิ่งจากกิจการแห่งยุคญาฮิลียะฮ์ (อนารยะ) นั้น จะถูกวางลงใต้เท้าทั้งสองของฉัน” [11]
ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ก็เช่นเดียวกัน ท่านได้แนะนำการปฏิวัติครั้งประวัติศาสตร์ของท่านว่า เป็นการปฏิวัติคุณค่าและความดีงามต่างๆ โดยท่านกล่าวว่า :
إِنِّي أَدْعُوكُمْ إِلَى اللَّهِ وَ إِلَى نَبِيِّهِ فَإِنَّ السُّنَّةَ قَدْ أُمِيتَتْ فَإِنْ تُجِيبُوا دَعْوَتِي وَ تُطِيعُوا أَمْرِي أَهْدِكُمْ سَبِيلَ الرَّشاد
“แท้จริงฉันจะเรียกร้องเชิญชวนพวกท่านไปสู่อัลลอฮ์และไปสู่ศาสดาของพระองค์ เพราะแท้จริงซุนนะฮ์ (แบบฉบับของศาสดา) นั้น ได้ถูกทำให้ตายลง ดังนั้นพวกท่านจงตอบรับการเรียกร้องเชิญชวนของฉันและจงเชื่อฟังฉันเถิด แล้วฉันจะนำทางพวกท่านไปสู่แนวทางอันเที่ยงตรง” [12]
ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ก็เช่นเดียวกับท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ผู้เป็นตาของท่าน ที่เป็นประทีปส่องทางนำในท่ามกลางความมืดมิดของความโง่เขลาและความไม่รู้ (ญะฮัล) ท่านเป็นเสมือนเทียนที่เสียสละและพลีอุทิศตัวเอง เพื่อที่จะทำให้ประชาชนทั้งหลายบรรลุสู่คุณค่าและความดีงามต่างๆ ภายใต้รัศมี (นูร) ของท่าน ดังเช่นที่คัมภีร์อัลกุรอานได้แนะนำท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ในฐานะประทีปที่ส่องสว่างในท่ามกลางความมืดมิดของความโง่เขลาและความไม่รู้ (ญะฮัล) โดยกล่าวว่า :
يَا أَيُّهَا النَّبِيُّ إِنَّا أَرْسَلْنَاكَ شَاهِدًا وَمُبَشِّرًا وَنَذِيرًا وَدَاعِيًا إِلَى اللَّهِ بِإِذْنِهِ وَسِرَاجًا مُّنِيرًا
“โอ้ศาสดาเอ๋ย! แท้จริงเราได้ส่งเจ้ามาเพื่อให้เป็นสักขีพยาน เป็นผู้แจ้งข่าวดี เป็นผู้ตักเตือน และเป็นผู้เรียกร้องเชิญชวนไปสู่อัลลอฮ์ ตามพระบัญชาของพระองค์ และเป็นดวงประทีปที่จรัสแสง” [13]
ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ก็ได้แนะนำท่านอิมามฮุเซน (อ.) ว่าเป็นประทีปส่องทางนำ โดยที่ท่านกล่าวว่า :
اِنَّ الْحُسَیْنُ مِصْبَاحُ الْهُدَی وَ سَفِینَةُ النَّجَاةِ
“แท้จริงฮุเซน คือประทีปแห่งทางนำและเป็นนาวาแห่งความปลอดภัย” [14]
ความต่ำต้อยไร้เกียรติและความอัปยศอดสูของบรรดาศัตรูของท่านอิมามฮุเซน (อ.)
وَ أَشْهَدُ أَنَّ اللَّهَ مُنْجِزٌ مَا وَعَدَكَ وَ مُهْلِكٌ مَنْ خَذَلَكَ وَ مُعَذِّبٌ مَنْ قَتَلَكَ
“และข้าฯ ขอเป็นสักขีพยานว่า แท้จริงอัลลอฮ์คือผู้ทรงทำให้สัมฤทธิ์ในสิ่งที่พระองค์ทรงให้สัญญาไว้กับท่าน และทรงทำให้ผู้ที่ทอดทิ้งท่านพบกับความอัปยศ และทรงลงโทษทัณฑ์ต่อบรรดาผู้ที่สังหารท่าน”
สาส์นอีกประการหนึ่งจากซิยาเราะฮ์ อัรบะอีน นั่นคือ ความเป็นอมตะของวีรกรรมแห่งอาชูรอ และในความเป็นจริงแล้วสิ่งนี้คือ สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงสาส์นแห่งความเร้นลับและการบรรลุความเป็นจริงของสัญญาของพระเจ้า ที่ท่านหญิงซัยนับ (อ.) เองก็ได้อ่านและได้ชี้ถึงสิ่งนี้ในมัจญ์ลิซของยะซีด ท่านหญิงซัยนับ (อ.) ได้เปิดเผยให้เห็นในคำพูดของท่านถึงอนาคตอันน่าสะพรึงกลัวของยะซีดและพวกพ้องของมัน และได้แจ้งข่าวดีถึงอนาคตอันสดใสสำหรับผู้ที่ได้สร้างวีรกรรมแห่งอาชูรอ และผู้ดำเนินรอยตามอุดมคติของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ท่านหญิงซัยนับ (อ.) ได้กล่าวด้วยเสียงดังด้วยความโกรธต่อยะซีดเช่นนี้ว่า :
فَكِد كَيدَكَ واسعَ سَعيَكَ وناصِب جُهدَكَ فَوَاللَّه لا تَمحو ذِكرَنا و لا تُميتُ وَحينَا و لا تُدرِكُ أمرَنا و لا تَدحَضُ عَنكَ عارَها وهَل رَأيَكَ إلاّ فَنَد؟
و أيّامُكَ إلاّ عَدَدٌ ؟ و جَمعُكَ إلاّ بَدَدٌ ؟يَومَ يُنادى المُنادى: ألا لَعَنةُ اللَّه عَلَى الظالمينَ
“(โอ้ยะซีดเอ๋ย!) จงวางแผนของเจ้า จงใช้ความพยายามของเจ้า และจงต่อต้านอย่างเต็มกำลังของเจ้าเท่าที่เจ้าสามารถจะกระทำได้เถิด แต่ขอสาบานว่า เจ้าจะไม่สามารถจะลบเลือนการรำลึกถึงเราได้ และเจ้าไม่อาจจะทำให้แสงแห่งวะห์ยู (วิวรณ์) ที่พระเจ้าทรงประทานให้แก่เราดับลงได้เลย และเจ้าไม่อาจที่จะรับรู้ถึง (ความยิ่งใหญ่ของ) ภารกิจของเราได้ และเจ้าไม่อาจที่จะลบล้างความอัปยศอดสูของเจ้าลงได้เลย และจะเป็นอื่นใดไปหรือ นอกจากการที่แผนการของเจ้าจะต้องอ่อนแอ! และวันเวลาแห่งการปกครองของเจ้าจะเหลืออยู่เพียงน้อยนิด! และพวกพ้องของเจ้าก็จะต้องแตกกระสานซ่านเซน! ในวันที่ผู้ป่าวประกาศจะประกาศว่า พึงสังวรเถิด การสาปแช่งของอัลลอฮ์จะประสบกับบรรดาผู้อธรรมทั้งหลาย” [15]
หลานสาวของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้แจ้งข่าวถึงอนาคตด้วยความมั่นใจอย่างมาก และด้วยคำพูดที่ลุ่มลึก ในสถานการณ์ที่เปราะบางและเป็นประวัติศาสตร์ โดยไม่มีนักพูดคนใดกล้าที่จะตอบโต้คำพูดของท่านได้ การบอกข่าวถึงอนาคตของท่านนี้ หลังจากระยะเวลาผ่านเลยไปนับศตวรรษ เราได้เห็นผลต่างๆ ของมันอย่างชัดเจน ใช่แล้ว! วันนี้สาส์นของซิยาเราะฮ์อัรบะอีนได้บังเกิดผลเป็นจริงขึ้นแล้ว คำพยากรณ์ของท่านหญิงซัยนับ (อ.) ได้บรรลุสู่ความเป็นจริงแล้ว ในความเป็นจริงแล้วก็คือ สัญญาของพระผู้เป็นเจ้าได้บรรลุความเป็นจริงแล้วนั่นเอง บรรดาศัตรูของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้พบกับความอับอายและความอัปยศอดสูแล้ว และวันนี้ความยิ่งใหญ่ของชื่อและการรำลึกถึงวีรกรรมและมหากาพย์ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้แผ่ปกคลุมไปทั่วทุกมุมของโลก
เชิงอรรถ :
[1] เราฎ่อตุ้ลวาอิซีน, เล่มที่ 1, หน้าที่ 195
[2] ในหนังสือตะห์ซีบุลอะห์กาม, มุฮัมมัดฮุเซน ฏูซี, เล่มที่ 6, หน้าที่ 113 และในหนังสือกามิลุซซิยาร๊อต, ญะอ์ฟัร บินเกาละวัยฮ์ กุมมี, หน้าที่ 223 ได้รายงานตัวบทซิยาเราะฮ์อัรบะอีน ไว้เช่นนี้คือ
السَّلَامُ عَلَى وَلِيِّ اللَّهِ وَ حَبِيبِهِ السَّلَامُ عَلَى خَلِيلِ اللَّهِ وَ نَجِيبِهِ السَّلَامُ عَلَى صَفِيِّ اللَّهِ
وَ ابْنِ صَفِيِّهِ السَّلَامُ عَلَى الْحُسَيْنِ الْمَظْلُومِ الشَّهِيدِ السَّلَامُ عَلَى أَسِيرِ الْكُرُبَاتِ وَ قَتِيلِ الْعَبَرَاتِ اللَّهُمَّ إِنِّي أَشْهَدُ أَنَّهُ وَلِيُّكَ وَ ابْنُ وَلِيِّكَ وَ صَفِيُّكَ وَ ابْنُ صَفِيِّكَ الْفَائِزُ بِكَرَامَتِكَ أَكْرَمْتَهُ بِالشَّهَادَةِ وَ حَبَوْتَهُ بِالسَّعَادَةِ وَ اجْتَبَيْتَهُ بِطِيبِ الْوِلَادَةِ وَ جَعَلْتَهُ سَيِّداً مِنَ السَّادَةِ وَ قَائِداً مِنَ الْقَادَةِ وَ ذَائِداً مِنَ الذَّادَةِ وَ أَعْطَيْتَهُ مَوَارِيثَ الْأَنْبِيَاءِ وَ جَعَلْتَهُ حُجَّةً عَلَى خَلْقِكَ مِنَ الْأَوْصِيَاءِ فَأَعْذَرَ فِي الدُّعَاءِ وَ مَنَحَ النُّصْحَ وَ بَذَلَ مُهْجَتَهُ فِيكَ لِيَسْتَنْقِذَ عِبَادَكَ مِنَ الْجَهَالَةِ وَ حَيْرَةِ الضَّلَالَةِ وَ قَدْ تَوَازَرَ عَلَيْهِ مَنْ غَرَّتْهُ الدُّنْيَا وَ بَاعَ حَظَّهُ بِالْأَرْذَلِ الْأَدْنَى وَ شَرَى آخِرَتَهُ بِالثَّمَنِ الْأَوْكَسِ وَ تَغَطْرَسَ وَ تَرَدَّى فِي هَوَاهُ وَ أَسْخَطَ نَبِيَّكَ وَ أَطَاعَ مِنْ عِبَادِكَ أَهْلَ الشِّقَاقِ وَ النِّفَاقِ وَ حَمَلَةَ الْأَوْزَارِ الْمُسْتَوْجِبِينَ النَّارَ فَجَاهَدَهُمْ فِيكَ صَابِراً مُحْتَسِباً حَتَّى سُفِكَ فِي طَاعَتِكَ دَمُهُ وَ اسْتُبِيحَ حَرِيمُهُ اللَّهُمَّ فَالْعَنْهُمْ لَعْناً وَبِيلًا وَ عَذِّبْهُمْ عَذَاباً أَلِيماً السَّلَامُ عَلَيْكَ يَا ابْنَ رَسُولِ اللَّهِ السَّلَامُ عَلَيْكَ يَا ابْنَ سَيِّدِ الْأَوْصِيَاءِ أَشْهَدُ أَنَّكَ أَمِينُ اللَّهِ وَ ابْنُ أَمِينِهِ عِشْتَ سَعِيداً وَ مَضَيْتَ حَمِيداً وَ مِتَّ فَقِيداً مَظْلُوماً شَهِيداً وَ أَشْهَدُ أَنَّ اللَّهَ مُنْجِزٌ مَا وَعَدَكَ وَ مُهْلِكٌ مَنْ خَذَلَكَ وَ مُعَذِّبٌ مَنْ قَتَلَكَ ، وَ أَشْهَدُ أَنَّكَ وَفَيْتَ بِعَهْدِ اللَّهِ وَ جَاهَدْتَ فِي سَبِيلِهِ حَتَّى أَتَاكَ الْيَقِينُ فَلَعَنَ اللَّهُ مَنْ قَتَلَكَ وَ لَعَنَ اللَّهُ مَنْ ظَلَمَكَ وَ لَعَنَ اللَّهُ أُمَّةً سَمِعَتْ بِذَلِكَ فَرَضِيَتْ بِهِ اللَّهُمَّ إِنِّي أُشْهِدُكَ أَنِّي وَلِيٌّ لِمَنْ وَالَاهُ وَ عَدُوٌّ لِمَنْ عَادَاهُ بِأَبِي أَنْتَ وَ أُمِّي يَا ابْنَ رَسُولِ اللَّهِ أَشْهَدُ أَنَّكَ كُنْتَ نُوراً فِي الْأَصْلَابِ الشَّامِخَةِ وَ الْأَرْحَامِ الطَّاهِرَةِ لَمْ تُنَجِّسْكَ الْجَاهِلِيَّةُ بِأَنْجَاسِهَا وَ لَمْ تُلْبِسْكَ الْمُدْلَهِمَّاتُ مِنْ ثِيَابِهَا وَ أَشْهَدُ أَنَّكَ مِنْ دَعَائِمِ الدِّينِ وَ أَرْكَانِ الْمُسْلِمِينَ وَ مَعْقِلِ الْمُؤْمِنِينَ وَ أَشْهَدُ أَنَّكَ الْإِمَامُ الْبَرُّ التَّقِيُّ الرَّضِيُّ الزَّكِيُّ الْهَادِي الْمَهْدِيُّ وَ أَشْهَدُ أَنَّ الْأَئِمَّةَ مِنْ وُلْدِكَ كَلِمَةُ التَّقْوَى وَ أَعْلَامُ الْهُدَى وَ الْعُرْوَةُ الْوُثْقَى وَ الْحُجَّةُ عَلَى أَهْلِ الدُّنْيَا وَ أَشْهَدُ أَنِّي بِكُمْ مُؤْمِنٌ وَ بِإِيَابِكُمْ مُوقِنٌ بِشَرَائِعِ دِينِي وَ خَوَاتِيمِ عَمَلِي وَ قَلْبِي لِقَلْبِكُمْ سِلْمٌ وَ أَمْرِي لِأَمْرِكُمْ مُتَّبِعٌ وَ نُصْرَتِي لَكُمْ مُعَدَّةٌ حَتَّى يَأْذَنَ اللَّهُ لَكُمْ فَمَعَكُمْ مَعَكُمْ لَا مَعَ عَدُوِّكُمْ صَلَوَاتُ اللَّهِ عَلَيْكُمْ وَ عَلَى أَرْوَاحِكُمْ وَ أَجْسَادِكُمْ وَ شَاهِدِكُمْ وَ غَائِبِكُمْ وَ ظَاهِرِكُمْ وَ بَاطِنِكُمْ آمِينَ رَبَّ الْعَالَمِينَ
[3] การใช้ข้อมูลประกอบจากเว็บไซต์ “ติบยาน” หมวดศาสนาและแนวความคิด
[4] อัลกุรอานบทอัศศ๊อฟฟ๊าต โองการที่ 1
[5] อัลกุรอานบือัลกะฮ์ฟี โองการที่ 65
[6] มะนากิบ อาลิอบีฏอลิบ, มุฮัมมัด อิบนิชะฮ์รอชูบ, เล่มที่ 3, หน้าที่ 225
[7] อัลกาฟี, มุฮัมมัด ยะกูบ อัลกุลัยนี, เล่มที่ 2, หน้าที่ 252
[8] มุสตัดร็อก อัลวะซาอิล, มุฮัดดิษ นูรี, เล่มที่ 11, หน้าที่ 372
[9] มุสนัด อัลอิมาม อัรริฎอ (อ.) เชคอะซีซุลลอฮ์ อิฏอริดี คะบูชอนี, เล่มที่ 1, หน้าที่ 219
[10] ในบางตัวบทอย่างเช่น หนังสือ “กามิลุซซิยาร๊อต” ได้กล่าวเช่นนี้ว่า :
بَذَلَ مُهْجَتَهُ فِيكَ لِيَسْتَنْقِذَ عِبَادَكَ مِنَ الضَّلَالَةِ وَ الْجَهَالَةِ وَ الْعَمَى وَ الشَّكِّ وَ الِارْتِيَابِ إِلَى بَابِ الْهُدَى
“และท่านได้สละเลือดเนื้อของท่านในทางของพระองค์ เพื่อช่วยปวงบ่าวของพระองค์ให้หลุดพ้นจากความหลงผิด ความไม่รู้ ความมืดบอดและความคลางแคลงสงสัย ไปสู่ประตูแห่งทางนำ” (กามิลุซซิยาร๊อต, หน้าที่ 228)
[11] ซีเราะฮ์ อิบนิฮิชาม, เล่มที่ 4, หน้าที่ 250
[12] บิฮารุ้ลอันวาร, มุฮัมมัดบากิร มัจญ์ลิซี, เล่มที่ 44, หน้าที่ 340
[13] อัลกุรอานบทอัลอะห์ซาบ โองการ 45 - 46
[14] มะดีนะตุลมะอาญิซ, ซัยยิดฮาชิม บะห์รอนี, เล่มที่ 4, หน้าที่ 51
[15] บิฮารุ้ลอันวาร, มุฮัมมัดบากิร มัจญ์ลิซี, เล่มที่ 44, หน้าที่ 646
เขียนโดย : อับดุลการีม พ๊อกนิยา
แปลเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนะอีม ประดับญาติ