ท่านหญิงอุมมุลบะนีน มีนามว่า ฟาฏิมะฮ์ บินติ ฮัซซาม ภรรยาคนที่สองของท่านอิมามอะลี, บิดาของนางชื่อว่า ฮัซซาม บิน คอลิด มาจากเผ่าบนีกิลาบ
กล่าวกันว่า ภายหลังจีทกที่ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ บุตรีของท่านศาสดาเสียชีวิตในปี ฮ.ศ.11 ท่านอิมามอะลีได้ทำการปรึกษาท่านอะกีล ผู้เป็นน้องชายของท่านซึ่งมีความรอบรู้เกี่ยวกับเชื้อสายเผ่าพันธ์ของชาวอาหรับ เพื่อให้ค้นหาสตรีผู้มีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวในสายเลือด ท่านอะกีลจึงได้แนะนำฟาฏิมะฮ์ บุตรี ฮัซซาม บุตร คอลิดให้กับท่าน พร้อมกล่าวว่า "ในหมู่ชาวอาหรับไม่มีชนเผ่าใดจะกล้าหาญไปกว่าชาวกิลาบอีกแล้ว"
ท่านหญิงอุมมุลบะนีน คือ มารดาของท่านอับบาส
ท่านหญิงอุมมุลบะนีน (ซ.) ถูกขนานนามว่า เป็นหนึ่งในบรรดามารดาตัวอย่างแห่งประวัติศาสตร์ ตราบที่โลกยังคงดำรงอยู่ คุณลักษณะอันสูงส่งของท่านก็ยังคงถูกล่าวขานถึง และจะยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องเช่นกัน ทั้งนี้เนื่องจากบทเรียนแห่งมารยาท การเชื่อฟังผู้นำ (วิลายะฮ์) ความรักต่อเพื่อนมนุษย์ และการมีความรู้ความเข้าใจที่ลึกซึ่งต่อปัญหาและความเจ็บปวดของยุคสมัย คือ ส่วนหนึ่งจากบทเรียนที่บุตรชายทั้งสี่คนของท่านหญิงอุมมุลบะนีน (ซ.) ได้เรียนรู้จากสำนักคิดแห่งมารดาของตน และทำให้พวกท่านกลายเป็นอมตะ
อุมมุลบะนีน มารดาของท่านอบุลฟัฎล์ อับบาส (อ.) หนึ่งในมารดาผู้มีความโดดเด่นในประวัติศาสตร์ ท่านหญิง “อุมมุลบะนีน” หรือ “ฟาฏิมะฮ์ กิลาบียะฮ์” ชีวิตของท่านเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักและความผูกพันที่มีต่อวิลายะฮ์ (ตำแหน่งผู้ปกครอง) และอิมามะฮ์ (ตำแหน่งผู้นำ) ท่านหญิงคือผู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ในการอบรมขัดเกลาบุตรผู้มีความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว และมีมารยาทที่งดงาม อย่างเช่น ท่านอับบาส บินอะลี (อ.)
ท่านหญิงอุมมุลบะนีน คือสตรีที่ถือกำเนิดและเจริญเติบโตมาในครอบครัวที่มีเกียรติและมีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว คุณลักษณะส่วนตัวของสตรีท่านนี้คือ ความอดทนอดกลั้น ความสุขุมคัมภีรภาพในการใช้ชีวิตอยู่ในบ้านแห่งอิมามะฮ์ (คือบ้านของท่านอิมามอะลี (อ.)) การอบรมขัดเกลาลูกๆ ซึ่งทุกคนจากพวกเขาปฏิบัติตามอิมาม (ผู้นำ) ของตนจวบจนลมหายใจสุดท้าย และไม่เคยคิดที่จะละทิ้งจากการปฏิบัติตามและการเชื่อฟังผู้นำของตน การเป็นผู้ถือสาส์นและความเป็นนักต่อสู้ทางด้านการเมืองของสตรีผู้สูงศักดิ์ท่านนี้ ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความงดงามและความยิ่งใหญ่ของท่าน
มารดาของท่านอบุลฟัฎลิ์ อัลอับบาส (อ.) มีนามว่า “ฟาฏิมะฮ์” นามสร้อยของท่านคือ “อุมมุลบะนีน” บิดาของท่านมีนามว่า “ฮัซซาม” มารดาของท่านมีนามว่า “ชะฮามะฮ์” นักประวัติศาสตร์มิได้กล่าวถึงปีแห่งการถือกำเนิดของท่านไว้ แต่กล่าวว่าการถือกำเนิดของบุตรชายคนโตของท่านคือท่านอับบาส (อ.) ตรงกับปี ฮ.ศ. 26 สรุปก็คือ การถือกำเนิดของท่านหญิงอุมมุลบะนีน น่าจะอยู่ในช่วง 5 ปี หลังจากการอพยพ (ฮิจญ์เราะฮ์) โดยประมาณ
สิบปีหลังจากการเสียชีวิตของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้เสาะหาคู่ชีวิตใหม่ตามความประสงค์และคำสั่งเสียของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) อะกีล บินอะบีฏอลิบ พี่ชายของท่านอิมามอะลี (อ.) เป็นผู้ที่มีความรู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสายตระกูล และมีความรอบรู้เป็นอย่างดีเยี่ยมเกี่ยวกับเผ่าต่างๆ และคุณลักษณะเฉพาะทางด้านมารยาทและด้านจิตวิญญาณของเผ่าตระกูลเหล่านั้น ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้เชิญท่านอะกีลมาพบ และกล่าวกับเขาว่า “ท่านจงสืบหาคู่ครองให้ฉันสักคน โดยที่นางจะต้องเป็นสตรีที่มีคุณธรรมและมาจากตระกูลที่บรรพบุรุษของนางเป็นเหล่าบุรุษที่มีความกล้าหาญและเด็ดเดี่ยว” อะกีล เป็นหนึ่งในผู้ที่มีความรู้ในเรื่องของ “อิลมุนนะซับ” (วิชาที่ว่าด้วยการสืบสายตระกูล) ถือเป็นหลักฐาน (ฮุจญะฮ์)
อะกีลได้คัดเลือกสตรีผู้มีนามว่า “อุมมุลบะนีน” จากตระกูล “บนีกิลาบ” ซึ่งมีความกล้าหาญอย่างที่ไม่มีใครเหมือน ให้แก่ท่านอิมามอะลี (อ.) และท่านอิมามอะลี (อ.) ก็พึงพอใจต่อการคัดเลือกนี้ ท่านได้ส่งอะกีลไปหาบิดาของอุมมุลบะนีนเพื่อการสู่ขอ อุมมุลบะนีนเป็นบุตรีที่มีความสะอาดบริสุทธิ์และมีความยำเกรงพระผู้เป็นเจ้า นางเป็นสตรีที่มีเกียรติทางด้านสายตระกูล มีคุณธรรมส่วนตัว และมีธรรมชาติอันบริสุทธิ์ครบสมบูรณ์อยู่ในตัว การดำเนินชีวิตของท่านหญิงอุมมุลบะนีนเพียบพร้อมไปด้วยการมีความเข้าใจที่ลึกซึ้ง (บะซีเราะฮ์) มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและมีรัศมีแห่งความรู้ คุณลักษณะอันสูงส่งดังกล่าวนี้ถูกกล่าวถึงในหนังสือประวัติศาสตร์ต่างๆ ทำให้เราได้รับรู้ถึงความประเสริฐและความยิ่งใหญ่ของสตรีผู้ทรงความรู้ท่านนี้
ท่านหญิงอุมมุลบะนีน ไม่เพียงแต่ยอมรับท่านอิมามอะลี (อ.) ในฐานะสามีของท่านเพียงเท่านั้น แต่ยังถือว่าท่านคืออิมาม (ผู้นำ) ของท่านด้วย นี่คือมุมมอง วิสัยทัศน์และความเข้าใจที่ลึกซึ้งที่ยึดถืออิมาม (ผู้นำ) เป็นแกนหลักในการดำเนินชีวิต ท่านหญิงอุมมุลบะนีน (ซ.) ได้รับการอบรมขัดเกลามาจากครอบครัวที่เพียบพร้อมไปด้วยมารยาทและจริยธรรม ท่านเป็นผู้ระวังรักษามารยาทแห่งความเป็นบ่าวที่ดี ณ เบื้องพระพักตร์ของพระผู้เป็นเจ้า มีความสุภาพอ่อนน้อมและความถ่อมตนต่อประชาชน แต่ทว่าภาพปรากฏที่ชัดเจนที่สุดในความมีมารยาทของท่านหญิง คือสิ่งที่ท่านได้แสดงออกต่อท่านอิมามอะลี (อ.)
ท่านหญิงอุมมุลบะนีน ไม่เคยคิดว่าตนเองคือตัวแทนของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) แต่ท่านถือว่าตนเองอยู่ในฐานะผู้รับใช้ลูกๆ ของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) ท่านอับบาส (อ.) จึงได้เรียนรู้มาจากแหล่งที่มาของมารยาทและการอบรมขัดเกลานี้ ท่านจึงเรียกท่านอิมามฮุเซน (อ.) ผู้เป็นพี่ชายของท่านว่า “ยาซัยยิดี” (โอ้นายของฉัน) หรือ “ยาอบาอับดิลลาฮ์” (โอ้ท่านอบาอับดิลลาฮ์) ตลอดเวลา แม้บุคคลทั้งสองจะมีบิดาคนเดียวกัน แต่ความนอบน้อมถ่อมตนและมารยาทของท่านที่มีต่อท่านอิมามฮุเซน (อ.) นั้นก็เนื่องมาจากวิสัยทัศน์และมุมมองที่ลุ่มลึกของท่านที่มีต่อสถานภาพอันสูงส่งของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (อ.) มารดาของท่านอิมามฮุเซน (อ.) พี่ชายต่างมารดาของเขา และนี่คือบทเรียนที่ท่านหญิงอุมมุลบะนีนได้สอนแก่ลูกๆ ของตนเองนับตั้งแต่วัยเยาว์ ภารกิจอันสูงส่งในการอบรมขัดเกลาบุตร นับว่าเป็นจุดเด่นที่สำคัญที่สุดสำหรับสตรี ท่านหญิงอุมมุลบะนีน จึงนับว่าเป็นหนึ่งในผู้อบรมขัดเกลาแห่งประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
ท่านหญิงอุมมุลบะนีน เสียชีวิตในวันที่ 13 เดือนญะมาดิษษานี ปี ฮ.ศ ที่ 70 หลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันอาชูรอ ร่างของท่านถูกฝังอยู่ใน “สุสานบะเกี๊ยะอ์”
อบูนัศร์ นัจญารี กล่าวไว้ในหนังสือ “ซิรรุซซิลซิละติ้ลอะละวียะฮ์” ของท่านว่า: ภายหลังจากการเป็นชะฮีด (การเสียชีวิตของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.)) ท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน (อ.) จึงมีบุตรกับอุมมุลบะนีน และหลังจากการเป็นชะฮีดของท่านอิมามอะลี (อ.) นางก็มิได้แต่งงานกับใครอีกเลย หลังจากสมรสกับท่านอิมามอะลี (อ.) ไม่นาน ท่านหญิงอุมมุลบะนีน (ฟาฏิมะฮ์ กิลาบียะฮ์) ได้เสนอแนะต่อท่านอิมาม (อ.) ให้เรียกชื่อนางว่า “อุมมุลบะนีน” (มารดาของบรรดาบุตรชาย) แทนชื่อฟาฏิมะฮ์ เพื่อจะได้ไม่เป็นการตอกย้ำความทรงจำต่างๆ ที่ขมขื่นแก่ลูกๆ ของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (อ.) เพื่อท่านเหล่านั้นจะได้ไม่รู้สึกเจ็บปวดในการจากไปของมารดา
บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ