หนึ่งปีภายหลังจากที่ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้มาพำนักอยู่ในเมืองกูฟะฮ์ บรรดาสตรีและหญิงสาวผู้ใฝ่ในความรู้ ได้เขียนจดหมายถึงท่านอิมาม (อ.) ซึ่งมีใจความว่า : พวกเราได้ยินมาว่าบุตรีของท่าน คือท่านหญิงซัยนับ (อ.) นั้น เป็นผู้มีความรอบรู้และมีความประเสริฐที่เพียบพร้อมสมบูรณ์เหมือนดั่งท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) ผู้มารดาของนาง หากท่านอนุญาต ในช่วงเช้าของวันอีดหนึ่ง พวกเราจะมาพบนาง เพื่อพวกเราจะได้รับประโยชน์จากความรู้ของนาง
ท่านอิมามอาลี (อ.) จึงได้อนุญาตให้ท่านหญิงซัยนับ (อ.) บุตรีผู้ทรงความรู้ของท่านได้จัดการเรียนการสอนให้สตรีมุสลิมของเมืองกูฟะฮ์ และตอบปัญหาข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับคำสอนของศาสนาแก่บุคคลเหล่านั้น ท่านหญิงซัยนับ (อ.) เองก็พร้อมตอบรับในภารกิจดังกล่าว ภายหลังจากได้มีการพบปะพูดคุยกันในเบื้องต้นแล้ว ท่านหญิงซัยนับ (อ.) จึงตัดสินใจจัดการเรียนการสอนตัฟซีร (การอรรถาธิบาย) คัมภีร์อัลกุรอานแก่พวกนาง พร้อมกับมีการตอบปัญหาข้อสงสัยต่างๆ ทางศาสนา (1)
ในวันหนึ่งในขณะที่ท่านหญิงซัยนับ (อ.) กำลังอรรถาธิบายคัมภีร์อัลกุรอานให้แก่สตรีชาวกูฟะฮ์อยู่นั้น ท่านอะมีรุลมุอ์มินีน (อ.) ได้เข้ามาในที่ชุมนุมนั้น เพื่อที่จะตรวจตราและเยี่ยมชมการเรียนการสอนของบุตรีของตนอย่างใกล้ชิด ในวันนั้นท่านหญิงซัยนับ (อ.) กำลังอรรถาธิบาย ฮุรูฟมุก็อฏฏออะฮ์ (کهیعص ) อยู่
เมื่อท่านอิมามอะลี (อ.) เห็นสิ่งดังกล่าว ท่านได้ชี้ให้เห็นถึงการอรรถาธิบายอีกอย่างหนึ่งของฮุรูฟ (อักษร) เหล่านี้ โดยได้กล่าวว่า : โอ้ลูกสาวของพ่อ! อักษร (ฮุรูฟ) เหล่านี้เป็นรหัสลับเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับพวกเจ้า ผู้เป็นเชื้อสายของท่านศาสดา (ซ็อลฯ)
ต่อจากนั้นท่านอิมามอะลี (อ.) ก็ได้เล่าเหตุการณ์อันเป็นโศกนาฏกรรมทั้งหมดแห่งกัรบะลาให้บุตรีของท่านและผู้ที่ร่วมในที่นั้นได้รับฟัง ท่านหญิงซัยนับ (อ.) เมื่อได้รับฟังเรื่องราวดังกล่าวก็รู้สึกโศกเศร้าและสะเทือนใจต่อเหตุการณ์เหล่านั้นเป็นอย่างมาก และได้ร่ำไห้ด้วยเสียงดังจนทำให้บรรยากาศของห้องเรียนอัลกุรอานนั้นเปลี่ยนไปเป็นความทุกข์โศก (2)
แหล่งอ้างอิง :
(1) ริยาฮีนุชชะรีอะฮ์, เล่มที่ 3, หน้าที่ 57
(2) ค่อซออิซุซซัยนะบียฮ์, หน้าที่ 27
เรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่