มุมมองของเราต่อเหตุการณ์ที่ขมขื่นทั้งหลายควรเป็นอย่างไร?
Powered by OrdaSoft!
No result.
มุมมองของเราต่อเหตุการณ์ที่ขมขื่นทั้งหลายควรเป็นอย่างไร?

พระผู้เป็นเจ้าทรงยืนกรานที่จะทำให้ผู้ศรัทธาทั้งหลายเข้าใจว่า พวกเขาไม่ควรอ่อนแอและโศกเศร้าเมื่อเผชิญกับปัญหาที่ยากลำบากและหนักหน่วงในชีวิต ทว่าพวกเขาควรรับรู้ถึงแบบแผนของพระเจ้า และดำเนินตามแบบแผนเหล่านี้ และรู้ว่า ปัญหาทั้งหมดเหล่านี้เป็นการทดสอบจากพระผู้เป็นเจ้าเพื่อเสริมสร้างความศรัทธาและทำให้พวกเขาเข้มแข็งขึ้น ...

    วิธีรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราเป็นสิ่งสำคัญมาก สิ่งที่จำเป็นของมันก็คือการรู้กฎเกณฑ์ แบบแผนและวิทยปัญญาที่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงกำหนดไว้ในโลก ตัวอย่างเช่น เมื่อคนเราต้องเผชิญกับความทุกข์ยากและความเศร้าโศก เขาควรทำอย่างไร? แน่นอนว่า ความทุกข์ยากและความเศร้าโศกนี้บางครั้งอาจเกิดขึ้นในชีวิตส่วนตัวของบุคคล และบางครั้งก็อาจเป็นผลกระทบมาจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม และผลสะท้อนของมันก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนทั้งหลาย ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของเรื่องนี้คือการเป็นชะฮีดของนายพลกอซิม สุไลมานีและชะฮีดรออีซี ประธานาธิบดีผู้ล่วงลับของอิหร่าน และตัวอย่างล่าสุดการถูกลอบสังหารและการเป็นชะฮีดของอิสมาอีล ฮะนียะฮ์ หัวหน้าสำนักงานการเมืองของกลุ่มฮามาสของปาเลสไตน์ หรือในด้านสังคม ปัญหาต่างๆ อย่างเช่น ราคาที่อยู่อาศัยและน้ำมันที่สูง และเหตุการณ์ต่างๆ ทางการเมือง เช่น การเลือกตั้ง และอื่นๆ ในเวทีโลกเราเห็นประเด็นต่างๆ เช่น สงครามในฉนวนกาซาที่สร้างคลื่นแห่งความโศกเศร้าในจิตใจของผู้คนทั่วโลกและก่อให้เกิดความนึกคิดขึ้นในสังคมของมุสลิมว่าศัตรูซึ่งประกอบด้วยแนวหน้าของบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา (กุฟฟาร) และพวกหน้าซื่อใจคด (มุนาฟิกีน) ได้ขึ้นมาอยู่ในจุดสูงสุดของอำนาจ และบางทีความรู้สึกถึงความอับอาย ความเสื่อมถอย ความท้อแท้และความอ่อนแอเป็นผลติดตามมาของมัน

    แต่เมื่อเราพิจารณาดูโองการต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอานเกี่ยวกับเรื่องนี้ เราจะเห็นตรรกะของพระผู้เป็นเจ้าในลักษณะที่ต่างออกไป และเราจะตระหนักว่าการวิเคราะห์ต่างๆ ของเรานั้นเกิดจากมุมมองทางวัตถุ และไม่มีการสนับสนุนทางจิตวิญญาณ โองการที่ 139, 14 และ 141 ของซูเราะฮ์ (บท) อาลิอิมรอน ให้มุมมองที่ดีแก่ผู้ศรัทธาต่อแนวทางที่เป็นสัจธรรม และยืนยันว่าทุกคนควรวิเคราะห์เหตุการณ์ส่วนบุคคลและเหตุการณ์ทางสังคมจากมุมมองนี้ พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสในสามโองการนี้ว่า :

وَ لَا تَهِنُوا وَ لَا تَحْزَنُوا وَ أَنْتُمُ الْأَعْلَوْنَ إِنْ كُنْتُمْ مُؤْمِنِینَ إِنْ یَمْسَسْكُمْ قَرْحٌ فَقَدْ مَسَّ الْقَوْمَ قَرْحٌ مِثْلُهُ ۚ وَ تِلْكَ الْأَیَّامُ نُدَاوِلُهَا بَیْنَ النَّاسِ وَ لِیَعْلَمَ اللَّهُ الَّذِینَ آمَنُوا وَ یَتَّخِذَ مِنْكُمْ شُهَدَاءَ ۗ وَاللَّهُ لَا یُحِبُّ الظَّالِمِینَ؛ وَ لِیُمَحِّصَ اللَّهُ الَّذِینَ آمَنُوا وَ یَمْحَقَ الْكَافِرِینَ

          "และพวกเจ้าจงอย่าท้อแท้และจงอย่าทุกข์ระทม และพวกเจ้านั้นคือผู้ที่เหนือกว่า หากพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธา หากมีบาดแผลหนึ่งมาประสบกับพวกเจ้า แน่นอนบาดแผลที่เหมือนกันนี้ก็ย่อมประสบกับพวกเขาด้วยเช่นกัน และวัน (แห่งชัยชนะและความพ่ายแพ้) เหล่านั้น เราได้ให้มันหมุนเวียนไปในระหว่างมนุษย์ และเพื่ออัลลอฮ์จะได้ทรงรู้ถึงบรรดาผู้ที่ศรัทธา และเพื่อเอาบางคน (จากบรรดาผู้เสียชีวิตในสงคราม) จากพวกเจ้าเป็นพยาน และอัลลอฮ์นั้นไม่ทรงรักผู้อธรรมทั้งหลาย และเพื่อที่อัลลอฮ์จะทรงทำให้บรรดาผู้ศรัทธาสะอาดบริสุทธิ์ และทรงทำลายบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาให้หมดไป"

    โองการเหล่านี้มีข้อความทางการเมืองและสังคมที่ต้องการสื่อและบอกแก่ผู้ศรัทธาว่าอย่ารู้สึกอ่อนแอ วิตกกังวล หรือเศร้าโศกต่อหน้าบรรดาศัตรู ไม่ว่าในกรณีใด หากท่านคิดว่าท่านเป็นผู้ศรัทธา ความเหนือกว่านั้นย่อมเป็นของท่านอย่างแน่นอน กล่าวคือ บั้นปลายสุดท้ายของความขัดแย้ง ปัญหาและการเผชิญหน้าเหล่านี้ ความเหนือกว่าจะเป็นของบรรดาผู้ที่มีศรัทธา เมื่อเราพิจารณาดูข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เราก็จะพบความจริงนี้ ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่คนกลุ่มหนึ่งได้เยาะเย้ยท่านศาสดานูห์ (อ.) แต่พวกเขาทั้งหมดต้องประสบกับน้ำท่ามและพินาศ หรือเมื่อไพร่พลของนิมรูดโยนท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) เข้าไปในกองไฟ แล้วไฟก็กลายเป็นสวนดอกไม้ (ไฟเย็น) และกลายเป็นความปราชัยของเหล่าศัตรู หรือเมื่อพวกฟาโรห์ (ฟิรเอาน์) คิดว่าพวกเขามีอำนาจแข็งแกร่ง แต่พวกเขาก็ต้องจมน้ำตายในทะเลด้วยปาฏิหาริย์แห่งพระเจ้า และศาสดามูซา (อ.) และกลุ่มชนของท่านก็ได้รับความรอดพ้น หรือเช่นเดียวกับครั้งที่กลุ่มคนรักร่วมเพศยึดครองเมืองทั้งเมืองและดูถูกบรรดาผู้ที่ศรัทธาต่อท่านศาสดาลูฏ (อ.) ว่าเป็นพวกโง่เขลา และผลักไสพวกเขาออกไปชายขอบ แต่ด้วยการลงโทษเฉพาะของพระเจ้านั้น พวกเขาจึงถูกถอนรากถอนโคน และบรรดาผู้ศรัทธาก็ได้กลับมามีเกียรติศักดิ์ศรีอีกครั้ง

    จำเป็นต้องกล่าวว่าโดยพื้นฐานแล้วเป้าหมายสำคัญประการหนึ่งของการสร้างสรรค์ของพระเจ้าคือการทำให้มนุษย์เข้าอยู่ในเบ้าหลอมของการทดสอบต่างๆ ที่ยากลำบาก ในขณะเดียวกัน เมื่อเราอยู่ในหมู่ผู้ที่ศรัทธา การทดสอบเหล่านี้ย่อมจะหนักหน่วงและยากเข็ญมากยิ่งขึ้น และพระผู้เป็นเจ้าจะทรงทดสอบคนเหล่านี้ด้วยมือของอิบลีส ซาตาน (ผ่านปัจจัยอำนวยสุข สิ่งเย้ายวนและสีสันต่างๆ ของชีวิตทางวัตถุ) และตามที่ได้กล่าวไปแล้ว แบบแผน (ซุนนะฮ์) นี้ได้ดำเนินอยู่ในประชาชาติทั้งหลายในอดีตที่ผ่านมา ตามหะดีษต่างๆ ของเราบรรดาผู้ศรัทธาที่อยู่ในยุคสุดท้าย (อาคิรุซซะมาน) จะเป็นเหมือนเช่นทองคำในเตาหลอม พวกเขาจะถูกวางไว้ในเตาไฟของเหตุการณ์ต่างๆ ที่ยากลำบาก เพื่อทำให้สิ่งที่เป็นส่วนเกินและไร้ค่าจากตัวพวกเขาถูกนำออกไปและจะทำให้พวกเขาสะอาดบริสุทธิ์ด้วยวิธีนี้ ในระหว่างนี้ คนกลุ่มหนึ่งจากพวกเขาจะนำหน้าคนอื่นๆ ในเรื่องความศรัทธาและการปฏิบัติตามคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า และเป็นแนวหน้าในการญิฮาดและการต่อสู้กับเหล่าศัตรู แต่ในอีกด้านหนึ่งของเรื่องราว บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธานั้นบั้นปลายสุดท้ายของการงานของพวกเขาคือการถูกทำลายล้าง และพระผู้เป็นเจ้าทรงให้คำมั่นสัญญานี้ไว้ในรูปของบทเรียนและข้อเตือนสติในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ อย่างเช่นเรื่องราวของพวกนิมรูดและฟาโรห์ เพื่อไม่ให้เหลือข้อสงสัยอีกต่อไป 

    ด้วยมุมมองนี้ พระผู้เป็นเจ้าทรงยืนกรานที่จะอธิบายแก่บรรดาผู้ศรัทธาได้เข้าใจว่าพวกเขาไม่ควรอ่อนแอและทุกข์ระทมเมื่อเผชิญกับปัญหาและความทุกข์ยากต่างๆ ทว่าพวกเขาควรรับรู้ถึงแบบแผนของพระเจ้า และดำเนินตามแบบแผนเหล่านี้ และควรรู้ว่าปัญหาทั้งหมดเหล่านี้เป็นการทดสอบจากพระผู้เป็นเจ้าเพื่อเสริมสร้างความศรัทธาและทำให้พวกเขาเข้มแข็งขึ้น พวกเขาจะต้องรู้ว่าอนาคตนั้นเป็นของพวกเขา อนาคตที่ถูกกำหนดไว้พร้อมกับการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของท่านอิมามอัศร์ (อ.) ผู้นำแห่งยุคสมัย เพื่อประโยชน์ของแนวรบของบรรดาผู้ศรัทธา ดังเช่นที่ ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้ตีความ (ตะอ์วีล) ไว้ในการอรรถาธิบายโองการที่ 141 ของซูเราะฮ์ (บท) อาลิอิมรอน ที่พระองค์ทรงตรัสว่า :

 وَ تِلْکَ الْأَیَّامُ نُداوِلُها بَیْنَ النَّاسِ  

          "และวัน (แห่งชัยชนะและความพ่ายแพ้) เหล่านั้น เราได้ให้มันหมุนเวียนไปในระหว่างมนุษย์"

    ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า :

  مَا زَالَ مُنْذُ خَلَقَ اللَّهُ آدَمَ (علیه السلام) دَوْلَةٌ لِلَّهِ وَ دَوْلَةٌ لِإِبْلِیسَ فَأَیْنَ دَوْلَةٌ اللَّهِ أما هُوَ قَائِمٌ وَاحِدٌ

          “นับจากการสร้างอาดัม ยังคงมีรัฐบาลของอัลลอฮ์และรัฐบาลของอิบลีส (หัวหน้าซาตาน) มาโดยตลอด ดังนั้น รัฐบาลของอัลลอฮ์ในเวลานี้อยู่ที่ไหน?  พึงรู้เถิดว่าเขา (เจ้าของรัฐบาลของอัลลอฮ์นั้น) คือ กออิม (อิมามมะฮ์ดี) เพียงผู้เดียวเท่านั้น" (1)


แหล่งอ้างอิง :

(1) บิฮารุลอัลวาร, อัลลามะฮ์มัจญ์ลิซี, เล่ม 51, หน้า 54; ตัฟซีร อัล อัยยาชี, เล่ม 1, หน้า 199


บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2024 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 495 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

24778301
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
28209
52431
205683
24215661
1043966
1618812
24778301

พฤ 21 พ.ย. 2024 :: 16:09:25