แนวทางของท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) เพื่อเตรียมพื้นฐานสำหรับการมาของมหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่
แนวทางของท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) เพื่อเตรียมพื้นฐานสำหรับการมาของมหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่

ท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) คือผู้ปกป้องผู้ถูกกดขี่ (มุสตัฎอะฟีน) และมีจุดยืนที่ตรงข้ามกับมหาอำนาจผู้กดขี่ ซึ่งต้องการความยืดหยุ่นและการอ่อนข้อให้กับผู้ใช้อำนาจบาตรใหญ่และมีความหวั่นกลัวต่อการข่มขู่คุกคามของอเมริกา เนื่องจากการบ่งชี้ของโองการต่าง ๆ ของคัมภีร์อัลกุรอานและริวายะฮ์ (คำรายงาน) จากท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และบรรดาอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ทำให้เรามั่นใจว่า  สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านคือรัฐที่ถูกสถาปนาขึ้นเพื่อเตรียมพื้นฐานสำหรับการมาของมหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่

قُلْ هَذِهِ سَبِيلِي أَدْعُو إِلَى اللّهِ عَلَى بَصِيرَةٍ أَنَاْ وَمَنِ اتَّبَعَنِي وَسُبْحَانَ اللّهِ وَمَا أَنَاْ مِنَ الْمُشْرِكِينَ

“จงกล่าวเถิดมุฮัมมัด นี่คือแนวทางของฉัน ฉันเรียกร้องไปสู่อัลลอฮ์อย่างประจักษ์แจ้งทั้งตัวฉันและผู้ปฏิบัติตามฉัน และมหาบริสุทธิ์แห่งอัลลอฮ์ ฉันมิได้อยู่ในหมู่ผู้ตั้งภาคี”

(อัลกุรอานบทยูซุฟ โองการที่ 108)

    เนื่องจากการบ่งชี้ของโองการต่าง ๆ ของคัมภีร์อัลกุรอานและริวายะฮ์ (คำรายงาน) จากท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และบรรดาอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ทำให้เรามั่นใจว่า นั่นคือรัฐที่ถูกสถาปนาขึ้นเพื่อเตรียมพื้นฐานสำหรับการมาของมหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ที่ถูกสัญญาไว้โดยพระผู้เป็นเจ้าที่จะมาช่วยให้มนุษยชาติในยุคสุดท้ายของโลกรอดพ้น และจะมาสถาปนารัฐบาลโลกขึ้นบนพื้นฐานของการปกครองที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความยุติธรรม ความเสมอภาค และความยุติธรรม อันเป็นรัฐในอุดมคติของมวลมนุษยชาติ ซึ่งมหาบุรุษที่ว่านั่นก็คือท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.)

    ในที่นี้เราจะมาพิจารณาและตอกย้ำถึงประเด็นที่มีความสำคัญยิ่งอีกครั้งหนึ่ง นั่นก็คือ ประเด็นเกี่ยวกับ “แนวทางของท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.)” และเครื่องชี้วัดต่างๆ ของแนวทางนี้ เป็นประเด็นหนึ่งที่นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายต่างแสดงทัศนะกันไว้อย่างมากมายในเรื่องนี้ และสิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นการสรุปและตัดทอนเนื้อหาส่วนหนึ่งของบทความของท่านอายะตุลลอฮ์อะลี ซะอีดี ชาฮิรูดี ตัวแทนของท่านผู้นำสูงสุดของการปฏิวัติอิสลาม ท่านอายะตุลลอฮ์อะลี คอเมเนอี ในกองทัพพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน มาให้ท่านผู้อ่านผู้มีเกียรติได้รับประโยชน์จากมัน  

    ในช่วงเริ่มต้นนี้ เป็นสิ่งที่เหมาะสมที่จะชี้ถึงรากฐานที่มาทางด้านศาสนาของแนวทางของท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) ในคัมภีร์อัลกุรอานมีคำ ๆ หนึ่งที่เรียกว่า "ซิร๊อฏ" (แนวทาง) ซึ่งในทางภาษาถูกใช้ในความหมายว่า “ทางและแนวทางที่เที่ยงตรง” ดังที่ท่านรอฆิบ อัลอิสฟะฮานี ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัลมุฟรอดาต” ว่า «الصراط : الطريق المستقيم» “ซิร็อฏ หมายถึง ทางที่เที่ยงตรง”

    ท่านมัรฮูมฟัยฎ์ กาชานี กล่าวว่า

  الصراط هو الطريق الي معرفه الله

"ซิร็อฏ คือแนวทาง (ที่นำพามนุษย์ไป) สู่การรู้จักพระผู้เป็นเจ้า" (1)

    แนวทางอันเที่ยงตรงมีเพียงหนึ่งเดียว และในทางตรงข้ามกับอีกคำหนึ่ง คือคำว่า "ซะบีล" ซึ่งหมายถึงเส้นทางเล็กๆ และเป็นทางสายย่อยซึ่งเต็มไปด้วยความคดเคี้ยวและวกวกอย่างมากมาย

    ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) บางบทกล่าวถึง “ซิร็อฏ” (แนวทางที่เที่ยงตรง) ในโลกนี้ว่า หมายถึง “อิมามและผู้นำ” ซึ่งการเชื่อฟังคำสั่งของเขาถือเป็นข้อบังคับ (วาญิบ)

    ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) บทหนึ่งจากท่านอิมามซอดิก (อ.) ซึ่งท่านได้กล่าวว่า

 الصراط الذي في الدنيا فهو الامام المفترض الطاعة

“ซิร็อฏ (แนวทางที่เที่ยงตรง) ที่อยู่ในโลกนี้ ก็คืออิมาม (ผู้นำ) ผู้ซึ่งถูกกำหนดบังคับให้เชื่อฟัง (เขา)” (2)

    ความหมายของริวายะฮ์ (คำรายงาน) บทนี้และคำรายงานอื่น ๆ เป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงประเด็นที่ว่า “ซิรอฏ้อลมุสตะกีม” (แนวทางที่เที่ยงตรง) ก็คือแนวทางของบรรดาศาสดาและของเอาลิยาอ์ (ผู้ใกล้ชิด) พระผู้เป็นเจ้านั่นเอง กล่าวอีกสำนวนหนึ่งก็คือ การสำแดงแนวทางอันเที่ยงตรง (ซิรอฏ็อลมุสตะกีม) และทางที่ถูกต้อง ซึ่งจะนำพามนุษย์ไปสู่ตำแหน่ง (มะกอม) แห่งความใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้า สิ่งที่จะทำให้แนวรบของสัจธรรมที่เผชิญหน้ากับความเท็จ และพรรคของพระผู้เป็นเจ้า (ฮิซบุลลอฮ์) ที่เผชิญหน้ากับพรรคของมาร (ฮิซบุชชัยฏอน) บรรลุผลแห่งชัยชนะ นั้นก็คือแนวทางของอาดัม (อ.) อิบรอฮีม (อ.) และแนวทางของมุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ผู้สืบสานแนวทางของบรรดาศาสดา (อ.) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวทาง (ซิร๊อฏ) ซึ่งท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ดำรงมั่นอยู่บนมัน ก็คือแนวทางของบรรดาอิมามมะอ์ซูม (อ.) นั่นเอง

    ด้วยเหตุนี้ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) บางบทได้กล่าวว่า

 (الصراط المستقيم اميرالمومنين (ع

“แนวทางที่เที่ยงตรง คือแนวทางของท่านอะมีรุ้ลมุอ์มินีน (อ.)” (3)

    และในการสืบสานแนวทางของบรรดาอิมามมะอ์ซูม (อ.) ซึ่งเป็นการสำแดงแบบอย่างของศาสดาและอิมาม และเป็นการสะท้อนแนวทางที่เที่ยงตรง (ซิรอฏ็อลมุสตะกีม) นั้น จะอยู่ในความรับผิดชอบของบรรดาฟุกอฮาอ์ (ผู้เชี่ยวชาญความรู้ทางด้านศาสนา) ซึ่งตามฮะดีษ (วจนะ) ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กล่าวว่า

الفُقَهاءُ أُمَناءُ الرّسُلِ

“บรรดาผู้เชี่ยวชาญความรู้ทางศาสนา คือผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากบรรดาศาสนทูต”

(อุซูลุล กาฟี, เล่มที่ 1, หน้า 58)

    ในคำพูดของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ซึ่งท่านกล่าวว่า

إنّ مجاري الأمور والأحكام على أيدي العلماء بالله، الأمناء على حلاله وحرامه

“แท้จริงการดำเนินภารกิจและบทบัญญัติทั้งหลายนั้นอยู่ในมือของบรรดาอุละมาอ์ (ผู้ที่มีความรู้จัก) อัลลอฮ์ และผู้ที่ได้รับความไว้วางใจในสิ่งอนุมัติ (ฮะล้าล) และสิ่งต้องห้าม (ฮะรอม) ของพระองค์”

 (บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 97, หน้า 80)

    ดังนั้นจากคำรายงาน (ริวายะฮ์) และคำสอนต่างๆ ทางศาสนา สามารถสรุปได้ว่า แนวทางของท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) ในยุคของเรา ก็คือแนวทางอันเที่ยงตรง (ซฺรอฏ็อลมุสตะกีม) ซึ่งเป็นแนวทางของบรรดาศาสดา (อ.) และบรรดาอิมาม (อ.) สาส์นของท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) และสาส์นของท่านอายะตุลลอฮ์คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดของการปฏิวัติ ก็คือสาส์นของอาดัม (อ.) อิบรอฮีม (อ.) สาส์นของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และสาส์นของท่านอิมามอะลี (อ.)

    ทำนองเดียวกันนี้ แนวทางของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และบรรดาอิมาม (อ.) มีหลักการ กฎเกณฑ์และตัวชี้วัดต่าง ๆ ที่ชัดเจน แนวทางของท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) ก็มีหลักการ กฎเกณฑ์และตัวชี้วัดต่างๆ เช่นเดียวกัน ผู้ที่จะสามารถกล่าวอ้างการเดินตามแนวทางของท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) ได้นั้น เขาจะต้องมีหลักการและตัวชี้วัดต่างๆ และจะต้องปฏิบัติตามบรรทัดฐานและตัวชี้วัดเหล่านั้นอย่างรอบคอบและเอาจริงเอาจัง ทั้งในด้านแนวคิด มุมมอง การกำหนดทิศทาง พฤติกรรมและการบริหารจัดการกับตัวเอง

    แนวทางของท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) มีพื้นฐานอยู่บนหลักนิติศาสตร์อิสลาม ท่านถือว่าความถูกต้องชอบธรรมของผู้นำและธรรมนูญ จะต้องมีที่มาจากพระผู้เป็นเจ้า ท่านเชื่อมั่นในความเป็นเนื้อหน่วยเดียวกันระหว่างศาสนาและการเมือง ท่านถือว่าอิสลามเป็นศาสนาและแนวทางที่ครอบคลุมโดยสมบูรณ์ สามารถตอบสนองความต้องการสำหรับทุกยุคและชนทุกรุ่นได้ และท่านมีความเชื่อมั่นต่อประชาธิปไตยทางศาสนา

    ดังนั้นบุคคลใดก็ตามที่แนวคิดของเขามีความโน้มเอียงไปสู่ลัทธิเสรีนิยม และเชื่อว่าศาสนานั้นแยกออกจากการเมือง ศาสนากับเสรีภาพนั้นแยกออกจากกัน และบางครั้งก็เผชิญหน้ากัน หรือเชื่อว่าความชอบธรรมในอำนาจการปกครองและความเป็นผู้นำเป็นเรื่องทางโลก และขึ้นอยู่กับเสียงของประชาชน บุคคลเช่นนี้ไม่สามารถที่จะอ้างตนว่าอยู่ในแนวทางของท่านอิมามได้

    ท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) คือผู้ปกป้องผู้ถูกกดขี่ (มุสตัฎอะฟีน) และมีจุดยืนที่ตรงข้ามกับมหาอำนาจผู้กดขี่ ผู้ที่ต้องการความยืดหยุ่นและอ่อนข้อให้กับผู้ใช้อำนาจบาตรใหญ่และมีความหวั่นกลัวต่อการข่มขู่คุกคามของอเมริกา เขาไม่สามารถที่จะอยู่บนแนวทางของท่านอิมามได้

    ประเด็นที่มีความสำคัญอย่างมากก็คือ แนวทางของท่านอิมามไม่อาจที่จะย่อยสลายได้ ใครก็ตามที่มีความผูกพันอยู่กับท่านอิมามในลักษณะหนึ่ง เขาจะต้องเป็นผู้สืบทอดแนวคิดและแนวทางของท่านอิมาม หรือจะต้องมีตัวชี้วัดอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ในตัวเขา จึงจะสามารถกล่าวอ้างความเป็นผู้อยู่ในแนวทางของท่านอิมามได้ เช่นเดียวกับแนวทางของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ซึ่งไม่อาจย่อยสลายได้ และผู้ที่จะถือได้ว่าอยู่ในแนวทางของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) นั้น เขาจะต้องยอมรับวิลายะฮ์ (อำนาจการปกครอง) ของผู้ที่สืบทอดภายหลังจากท่าน และจะต้องน้อมรับตัวชี้วัดและบรรทัดฐานต่างๆ ทั้งหมดของท่านโดยดุษฎี

    ในยุคสมัยของเราก็เช่นเดียวกัน บุคคลที่จะสามารถอยู่ในแนวทางของท่านอิมามได้ จะต้องเป็นผู้ที่ยอมรับในแนวทางวิลายะฮ์ของท่าน และจะต้องปฏิบัติตามอย่างสมบูรณ์ต่ออำนาจวิลายะฮ์และผู้นำภายหลังจากท่าน ซึ่งเป็นแนวคิดและภาพแสดงของแนวทางอันเที่ยงตรง (ซิรอฏ็อลมุสตะกีม) ที่เขาจะต้องยอมรับหลักการและพื้นฐานต่างๆ ของแนวทางของท่านอิมามอย่างถูกต้องสมบูรณ์


แหล่งอ้างอิง :

(1) อิลมุลยะกีน เล่มที่ 2 หน้า 669

(2) มะอานิ้ลอัคบาร หน้า 23

(3) อิลมุลยะกีน เล่มที่ 2 หน้า 769


บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2024 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่