ศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ถือกำเนิดในแผ่นดินอิรัก ในวัยหนุ่มท่านได้ทำลายบรรดารูปปั้นบูชาของกลุ่มชนของตน พวกเขาต้องการที่จะเผาท่านด้วยไฟ แต่พระเจ้าได้ทรงช่วยท่านให้รอดพ้นจากไฟ เนื่องจากอิบรอฮีม (อ.) ไม่สามารถที่จะพำนักอยู่ในแผ่นดินเกิดของตนเองได้อีกต่อไป และโดยพระบัญชาของพระเจ้า อิบรอฮีม (อ.) จึงได้อพยพไปยังดินแดนหนึ่ง ซึ่งต่อมาภายหลังได้มีชื่อว่า “ปาเลสไตน์”
ชาวไซออนิสต์กล่าวอ้างความเป็นกรรมสิทธิ์ในดินแดนปาเลสไตน์ โดยอ้างคัมภีร์โตราห์ (เตาร๊อต) หรือพันธสัญญาเดิม การศึกษาตรวจสอบคัมภีร์โตราห์แสดงให้เห็นว่า พระผู้เป็นเจ้าได้มอบแผ่นดินปาเลสไตน์ให้กับศาสดาอิบรอฮีม (อ.) หรืออับราฮัม และพระองค์ได้ทรงเน้นย้ำต่ออิบรอฮีมว่า เชื้อสายของท่านจะต้องเป็นผู้ศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียว (มุวะฮ์ฮิด) หากไม่เช่นนั้นแล้วพระผู้เป็นเจ้าจะทรงขับไล่พวกเขาออกจากแผ่นดินนี้ เงื่อนไขนี้ได้ถูกตอกย้ำโดยศาสดามูซา (อ.) หรือโมเซสด้วยเช่นกัน และเกี่ยวกับเรื่องนี้พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงปรีชาญาณ ได้ทรงเอาคำมั่นสัญญาที่หนักแน่นจากชาวยิว แต่เงื่อนไขนี้ไม่ได้รับการเคารพ พระผู้เป็นเจ้าจึงได้ทรงเนรเทศบนีอิสรออีล (เผ่าพันธุ์อิสราเอล) ออกจากแผ่นดินปาเลสไตน์สองครั้ง และครั้งที่สามพระองค์ได้ทรงเนรเทศพวกเขาตลอดไป
เผ่าพันธุอิสราเอลถูกเนรเทศครั้งแรกไปยังอียิปต์ ในสมัยของศาสดายูซุฟ (อ.) หรือโจเซฟ และพำนักอาศัยอยู่ที่นั่นถึงสี่รุ่น จนกระทั่งพระผู้เป็นเจ้าได้ทรงนำพวกเขากลับมายังปาเลสไตน์โดยท่านศาสดามูซา (อ.) หรือโมเสส การเนรเทศชาวยิวครั้งที่สองไปยังบาบิโลน เกิดขึ้นใน 586 ปีก่อนคริสตกาล หลังจากที่บุคตุนนัศร์ (เนบูคัดเนสซาร์ - Nebuchadnezzar) ได้พิชิตนครเยรูซาเล็ม และวิหารโซโลมอนได้ถูกทำลายลง และท้ายที่สุดในปี ค.ศ. 70 คือสี่สิบปีหลังจากที่ศาสดาอีซา (อ.) หรือพระเยซู ได้ทำให้หลักฐานข้อพิสูจน์เป็นที่สมบูรณ์ (อิตมาม ฮุจญัต) ต่อกลุ่มชนนี้แล้ว และการลงโทษ (บะลาอ์) ของพระผู้เป็นเจ้าได้เกิดขึ้นกับกลุ่มชนนี้โดยชาวโรมัน ชาวยิวจึงถูกเนรเทศออกจากปาเลสไตน์ตลอดกาล วิธีเดียวที่ชาวยิวจะกลับไปยังปาเลสไตน์ได้ คือการที่พวกเขาจะต้องสารภาพผิดและกลับตัวกลับใจ (เตาบะฮ์) และหันออกจากแนวทางของบรรพบุรุษของพวกเขา ประเด็นนี้รับรู้ได้จากอายะฮ์ (โองการ) ที่ 8 ของซูเราะฮ์ (บท) อัลอิสรออ์ ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า :
عَسىَ رَبُّكمُْ أَن يَرْحَمَكمُْ وَ إنْ عُدتمُْ عُدْنَا
“หวังว่าพระผู้อภิบาลของพวกเจ้าจะทรงเมตตาพวกเจ้า (หากพวกเจ้ากลับตัวกลับใจ) และหากพวกเจ้าย้อนกลับมา (เนรคุณ) อีกเราก็จะกลับมา (ลงโทษพวกเจ้า) อีก”
ชาวยิวตระหนักถึงข้อเท็จจริงเหล่านี้ได้ดีกว่าคนอื่นๆ และด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เองที่ว่าเป็นระยะเวลาถึง 18 ศตวรรษ หลังจากการถูกเนรเทศออกจากปาเลสไตน์ พวกเขาไม่ได้ดำเนินการใดๆ ที่จะย้อนกลับไปยังดินแดนศักดิ์สิทธิ์นี้อีกเลย แต่พวกอุตริชาวยิวในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ได้กล่าวอ้างความเป็นกรรมสิทธิ์ในดินแดนปาเลสไตน์บนพื้นฐานของคัมภีร์โตราห์ ในชุดบทความนี้พยายามที่จะตรวจสอบคำกล่าวอ้างของชาวไซออนิสต์โดยใช้ภาษาง่ายๆ
ทัศนะที่ขัดแย้งกันระหว่างชาวมุสลิมและชาวยิวเกี่ยวกับปาเลสไตน์
ชาวไซออนิสต์เพื่อที่จะกล่าวอ้างความเป็นกรรมสิทธิ์ในแผ่นดินปาเลสไตน์ พวกเขาได้แสดงคัมภีร์โตราห์ และกล่าวว่า นับตั้งแต่ปี ค.ศ.70 จวบจนถึงขณะนี้ พวกเขาได้ถูกเนรเทศออกจากดินแดนปาเลสไตน์ และได้ร่อนเร่พเนจรไปในประเทศต่างๆ และตกอยู่ภายใต้การกดขี่ แต่หลังจากที่ฮิตเลอร์ได้เข่นฆ่าสังหารกลุ่มชนนี้พวกเขาได้รู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องมีแผ่นดินและอำนาจปกครองมากกว่าทุกยุคสมัย นอกจากนี้พวกเขายังต้องการที่จะสร้างพระวิหารลงบนที่เดิมของวิหารโซโลมอน เพื่อใช้เป็นที่นมัสการพระยะโฮวา
แต่ชาวมุสลิมได้ใช้ชีวิตอยู่ในดินแดนนี้มายาวนานนับตั้งแต่ 1,400 ปีที่ผ่านมา และพวกเขามีเอกสารหลักฐานและโฉนดที่ดินที่กล่าวได้ว่าที่แห่งนี้คือบ้านเกิดเมืองนอนของเขา และพวกเขาไม่สามารถที่จะละทิ้งไปจากดินแดนแห่งนี้ได้ไม่ว่าด้วยราคาเท่าใดก็ตาม พวกเขาตระหนักดีถึงความสำคัญของบัยตุ้ลมักดิส (กรุงเยรูซาเล็ม) ซึ่งเป็นสถานที่ที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้ลงมาในค่ำคืนที่ท่านขึ้นสู่ฟากฟ้า (มิอ์รอจญ์) และโองการต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอานได้ชี้ถึงเรื่องนี้ไว้ (อัลอิสรออ์/1) นอกจากนี้บัยตุ้ลมักดิสก็ยังเป็นกิบลัต (สถานที่หันหน้าไปสู่ในขณะทำนมาซ) แห่งแรกของชาวมุสลิม (อัลบากอเราะฮ์/144, 149 และ 150) และในช่วงสิบสี่ปีแรกของอิสลาม ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ก็ได้ทำนมาซโดยหันหน้าไปยังทิศทางนี้ ชาวมุสลิมได้กล่าวว่า ถ้าชาวยุโรปได้กระทำการกดขี่ข่มแหงชาวยิว แล้วทำไมพวกเราจะต้องแบกรับสิ่งนี้แทนพวกเขาด้วย?
เราทุกคนได้ยินและรับรู้คำพูดเหล่านี้ และเรารู้ว่าการอภิปรายเหล่านี้จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้นำไปสู่ผลในทางปฏิบัติ แต่เรากำลังมุ่งมองหาคำตัดสินชี้ขาดที่หนักแน่น เพื่อที่ทั้งชนชาติมุสลิมและชาวยิวจะยอมจำนนและปฏิบัติตามมัน คำตัดสินชี้ขาดซึ่งโดยหลักการแล้วจำเป็นจะต้องมาจากพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ทั้งนี้เนื่องจากว่าคนทั้งสองกลุ่ม หมายถึงชาวมุสลิมและชาวยิวได้อ้างกรรมสิทธิ์ในแผ่นดินปาเลสไตน์ว่าเป็นมรดกทางศาสนาของตน และแน่นอนยิ่งว่า “ศาสนา” ก็มาจากพระเจ้า และเนื่องจากพระเจ้ามีเพียงพระองค์เดียว ดังนั้นศาสนาก็ย่อมต้องมีเพียงหนึ่งเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้ง (ตะนากุฎ) ย่อมจะไม่เกิดขึ้นจากพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงปรีชาญาณ ดังนั้นคำกล่าวอ้างของคนกลุ่มหนึ่งจากทั้งสองนี้จะต้องเป็นโมฆะและไม่ถูกต้อง ความพยายามของเราในบทความนี้ก็คือ การที่เราจะนำเอาทัศนะความเห็นของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ออกมาจากตัวบทต่างๆ ของศาสนา ซึ่งแม้แต่ชาวยิวก็ไม่อาจที่จะปฏิเสธมันได้เลย
วิธีการโต้แย้งที่ดีที่สุด
ทำอย่างไรจึงจะสามารถดึงทัศนะของพระผู้เป็นเจ้าในกรณีแผ่นดินปาเลสไตน์ออกมาจากตัวบทต่างๆ ทางศาสนาได้? โดยพื้นฐานแล้วหมู่ชนชาวยิวจะไม่ยอมรับชาวมุสลิมและชาวคริสต์อย่างเป็นทางการ และจะไม่ยอมรับคัมภีร์ของพวกเขา แต่ชาวมุสลิมให้การยอมรับศาสดามูซา (อ.) หรือโมเสส ในฐานะหนึ่งในห้าศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ในทุกยุคสมัย และเป็นไปตามคำพูดของคัมภีร์อัลกุรอาน พวกเขาเชื่อว่าคัมภีร์โตราห์ (เตาร๊อต) ซึ่งมูซา (อ.) (โมเสส) ได้นำมาจากพระเจ้าสำหรับหมู่ชนของท่านนั้น ในตลอดทุกยุคสมัยเมื่อเวลาผ่านไปได้ตกอยู่ในการเปลี่ยนแปลงและการบิดเบือน ด้วยเหตุนี้เองจึงไม่อาจเชื่อถือได้ และบางทีพวกเขาอาจจะเชื่อว่าถ้าหากคัมภีร์โตราห์ไม่ได้ถูกบิดเบือน ปัญหาและความขัดแย้งเหล่านี้ก็คงไม่เกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วควรจะทำอย่างไร?
สำหรับการสนทนาและการโต้เถียงกับชาวคัมภีร์ (ชาวยิวและชาวคริสต์) นั้น พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ได้ทรงบัญชาต่อชาวมุสลิมว่า ให้ใช้วิธีการ "การโต้แย้งที่ดีที่สุด" (ญิดาลุลอะห์ซัน) ตามโองการที่ 125 ของซูเราะฮ์ (บท) อันนะห์ลุ พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงปรีชาญาณ ได้ทรงบัญชาต่อศาสนทูตท่านสุดท้ายของพระองค์ให้ทำ “การโต้แย้งที่ดีที่สุด”
ادعُ إِلىٰ سَبيلِ رَبِّكَ بِالحِكمَةِ وَالمَوعِظَةِ الحَسَنَةِ ۖ وَجادِلهُم بِالَّتي هِيَ أَحسَنُ ۚ إِنَّ رَبَّكَ هُوَ أَعلَمُ بِمَن ضَلَّ عَن سَبيلِهِ ۖ وَهُوَ أَعلَمُ بِالمُهتَدينَ
“จงเชิญชวนสู่แนวทางของพระผู้อภิบาลของเจ้าด้วยวิทยปัญญาและการตักเตือนที่ดี และจงโต้แย้งพวกเขาด้วยสิ่งที่ดีที่สุด แท้จริงพระผู้อภิบาลของเจ้าทรงรู้ยิ่งต่อผู้ที่หลงออกจากทางของพระองค์ และพระองค์ทรงรู้ดียิ่งถึงบรรดาผู้ที่ได้รับการชี้นำ”
และในอัลกุรอานโองการที่ 46 ของซูเราะฮ์ (บท) อังกะบูต พระองค์ได้ทรงห้ามชาวมุสลิมจากการโต้แย้งกับชาวคัมภีร์ นอกจากด้วยกับวิธีนี้
وَلَا تُجَادِلُوا أَهْلَ الْكِتَابِ إِلَّا بِالَّتِي هِيَ أَحْسَنُ
“และพวกเจ้าอย่าได้โต้แย้งกับชาวคัมภีร์ นอกจากด้วยวิธีการที่ดีที่สุด”
“การโต้แย้ง” (ญะดัล) หรือ "การสนทนาแลกเปลี่ยน" (Dialogue) คือ ศิลปะอย่างหนึ่งจากวิชา "ตรรกวิทยา" โดยที่ในการโต้แย้งหรือการสนทนาแลกเปลี่ยนนี้ จะใช้ประโยชน์จากความเชื่อและสิ่งที่ตัวของเขาเองยอมรับ แต่ "การโต้แย้งที่ดีที่สุด" (ญิดาลุลอะห์ซัน) นี้จะใช้ประโยชน์จากความเชื่อต่างๆ ที่เป็นสัจธรรมและถูกต้องของฝ่ายตรงข้ามเพียงเท่านั้น เพื่อพิสูจน์สัจธรรมคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้าในคัมภีร์อัลกุรอาน ที่แสดงให้เห็นว่า "ข้อเท็จจริง" มิได้ถูกลบออกไปจากคัมภีร์โตราห์ (พันธสัญญาเดิม) จนหมดสิ้นเสียทีเดียว และสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ จำนวนมากที่เป็นข้อถกเถียงในระหว่างศาสนาต่างๆ และด้วยกับวิธีการอ้างอิงคัมภีร์ไบเบิล (เตาร๊อตและอินญีล) ผู้เขียนก็ได้เคยใช้วิธีนี้มาแล้ว และผลต่างๆ ของมันก็เป็นที่น่าประหลาดใจ แต่สิ่งที่จำเป็นก็คือ ในเบื้องต้นเราจะมาทบทวนประวัติศาสตร์ของบนีอิสรออีล (เผ่าพันธุ์อิสราเอล) จากมุมมองของอิสลามและยูดายโดยสังเขป
การกำเนิดของเผ่าพันธุ์อิสราเอล (บนีอิสรออีล)
เมื่อศาสดามูซา (อ.) ได้นำเผ่าพันธุ์อิสราเอลออกจากอียิปต์ด้วยปาฏิหาริย์ (มุอ์ญิซาต) ของพระผู้เป็นเจ้า และได้ทำให้ฟาโรห์ (ฟิรเอาน์) และไพร่พลของเขาจมลงในทะเล ในความเป็นจริงแล้วช่วงแรกของการเป็นเชลย (ถูกจองจำ) ของเผ่าพันธุ์อิสราเอลได้สิ้นสุดลงแล้ว
บนีอิสรออีล หมายถึงลูกๆ ทั้งสิบสองคนของท่านศาสดายะอ์กูบ (อ.) หรือยาโคบ ได้ถูกกำหนดให้ต้องถูกเนรเทศไปอยู่แผ่นดินอียิปต์ถึงสี่รุ่น เพื่อให้ความผิดบาปที่เกิดจากสาเหตุการขายยูซุฟ (โจเซฟ) สะอาดบริสุทธิ์เสียก่อน และคู่ควรที่จะกลับไปพำนักอาศัยอยู่ในแผ่นดินกันอาน (ปาเลสไตน์) เหมือนกับบรรพบุรุษของตน คืออิบรอฮีม อิสหากและยะอ์กูบ
ศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ถือกำเนิดในแผ่นดินอิรัก ในวัยหนุ่มท่านได้ทำลายบรรดารูปปั้นบูชาของกลุ่มชนของตน พวกเขาต้องการที่จะเผาท่านด้วยไฟ แต่พระเจ้าได้ทรงช่วยท่านให้รอดพ้นจากไฟ เนื่องจากอิบรอฮีม (อ.) ไม่สามารถที่จะพำนักอยู่ในแผ่นดินเกิดของตนเองได้อีกต่อไป และโดยพระบัญชาของพระเจ้า อิบรอฮีม (อ.) จึงได้อพยพไปยังดินแดนหนึ่งซึ่งต่อมาภายหลังได้มีชื่อว่า “ปาเลสไตน์” การมอบแผ่นดินปาเลสไตน์ให้แก่อิบรอฮีม (อ.) สามารถนับได้ว่าเป็นรางวัลตอบแทนในโลกนี้สำหรับการทำลายรูปเจว็ดของท่าน
قُلْنَا يَا نَارُ كُونىِ بَرْدًا وَ سَلامًا عَلىَ إبْرَاهِيمَ * و أرَادُواْ بِهِ كَيْدًا فَجَعَلْنَهُمُ الأخْسرِينَ * و نجَّيْنَاهُ و لُوطًا إلىَ الأرْضِ الَّتىِ بَارَكْنَا فيهَا لِلْعَالَمينَ * و وَهَبْنَا لَهُ إسْحَاقَ و يَعْقُوبَ نَافِلَةً و كلاًّ جَعَلْنَا صَالحین
“เรา (อัลลอฮ์) ได้กล่าวว่า โอ้ไฟเอ๋ย! จงเย็นลง และจงให้ความปลอดภัยแก่อิบรอฮีมเถิด และพวกเขาปรารถนาที่จะวางแผนร้ายต่อเขา แต่เราได้ทำให้พวกเขาประสบกับความสูญเสียมากยิ่งกว่า และเราได้ให้เขา (อิบรอฮีม) และลูฏ (หลานชาย-ลูกของพี่ชาย) รอดพ้นไปสู่แผ่นดินซึ่งเราได้ให้มีความจำเริญอุดมสมบูรณ์ในแผ่นดินนั้นแก่ชาวโลกทั้งผอง และเราได้ให้บุตรชื่ออิสฮากแก่เขา และยะอ์กูบ (หลาน) เป็นการเพิ่มพูน และทั้งหมดนั้นเราได้ทำให้ให้เป็นคนดีมีคุณธรรม”
(อัลกุรอานบทอัลอันบิยาอ์ โองการที่ 69 ถึง 72)
เรื่องราวการทำลายรูปเคารพบูชาของอิบรอฮีม (อ.) ไม่ได้ถูกกล่าวไว้ในพันธสัญญาเดิม (คัมภีร์โตราห์) ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้เองจึงไม่เป็นที่รับรู้ว่า พระเจ้าได้มอบแผ่นดินปาเลสไตน์ให้กับอิบรอฮีมด้วยเหตุผลอันใด (ปฐมกาล 12/1 และ 7 ; 13/17) พระนางฮาญัร (สลามุลลอฮิ อะลัยฮา) ภรรยาคนที่สองของอิบรอฮีม (อ.) ได้ให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่งแก่ท่าน มีนามว่า “อิสมาอีล” (อ.) และพระเจ้าได้ทรงบัญชาต่ออิบรอฮีม (อ.) ให้นำบุคคลทั้งสองไปพำนักอาศัยอยู่ในทะเลทรายปาราน (มักกะฮ์ปัจจุบัน) (ปฐมกาล 21/9 ถึง 21) ลูกๆ สิบสองคนได้ถือกำเนิดขึ้นจากอิสมาอีล (อ.) (ปฐมกาล 25/12 ถึง 16) ซึ่งประกอบขึ้นเป็นชนชาติอาหรับ
ตามการอ้างอิงของคัมภีร์โตราห์ 14 ปีหลังจากที่อิสมาอีล (อ.) ได้ถือกำเนิดขึ้น ในขณะที่อิบรอฮีม (อ.) มีอายุ 100 ปี บุตรชายคนที่สองของท่าน คืออิสหาก (อ.) หรือไอแซก ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นจากภรรยาที่เคยเป็นหมันของท่าน คือ “พระนางซาเราะฮ์” (ซาร่าห์) (ปฐมกาล 21/5) ตามอ้างอิงของคัมภีร์อัลกุรอาน พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงให้อิบรอฮีม (อ.) มีอายุยืนยาวจนกระทั่งทันเห็นยะอ์กูบ (อ.) หลานชายของตน (บทอัลอัมบิยาอ์ โองการที่ 72) และภรรยาทั้งสี่ของยะอ์กูบ (อ.) ได้ให้กำเนิดบุตรชาย 13 คนแก่ท่าน คือ ยูซุฟ (อ.) และพี่ชายของท่านอีก 11 คน และน้องสาวอีกหนึ่งคน นามว่า “ดีน่า” (รวมบุตรทั้งสิ้น 13 คน)
ตามคัมภีร์โตราห์ (พันธสัญญาเดิม) ในปัจจุบัน พระผู้เป็นเจ้าได้แจ้งข่าวถึงอนาคตแก่อิบรอฮีม (อ.) ว่า แน่นอนยิ่ง เชื้อสายของเจ้าจะถูกเนรเทศไปยังดินแดนต่างชาติ (อียิปต์) และหลังจากสี่รุ่นพวกเขาจะกลับมาที่นี่พร้อมด้วยชัยชนะ ดังนี้ :
พระองค์จึงตรัสแก่อับรามว่า “เจ้าจงรู้แน่เถิดว่าเชื้อสายของเจ้าจะเป็นคนต่างด้าวในดินแดนซึ่งไม่ใช่ที่ของพวกเขา และพวกเขาจะต้องรับใช้ชาวเมืองนั้น ชาวเมืองนั้นจะกดขี่เขาถึงสี่ร้อยปี
ส่วนชนชาติที่เขารับใช้อยู่นั้น เราจะพิพากษาลงโทษ ต่อมาเชื้อสายของเจ้าจะออกมา พร้อมกับทรัพย์สมบัติมากมาย
ฝ่ายเจ้าจะไปยังบรรพบุรุษของเจ้าอย่างสงบ เขาจะฝังศพเจ้าเมื่อเจ้าชรามากแล้ว
ในชั่วอายุที่สี่ เชื้อสายของเจ้าจะกลับมาที่นี่อีก ด้วยว่าความบาปชั่วของคนอาโมไรต์ยังไม่ครบถ้วน” (ปฐมกาล 15/13 ถึง 16) [1]
คำพยากรณ์ของพระเจ้านี้ เกิดขึ้นในยุคของศาสดายูซุฟ (อ.) และเมื่อบรรดาพี่ชายของยูซุฟ (อ.) ได้ทำบาปโดยเจตนา การไถ่โทษของพวกเขาคือการที่พวกเขาจะถูกเนรเทศไปยังอียิปต์และอยู่ที่นั่นถึงสี่รุ่น
ดินแดนแห่งพันธสัญญา
คนแรกและคนสุดท้ายที่หยิบยกคำสัญญาจากพระเจ้าในการกลับไปสู่แผ่นดินปาเลสไตน์ คือท่านศาสดายะอ์กูบ (อ.) หรือยาโคบ ก่อนที่ท่านจะเสียชีวิตในอียิปต์ ท่านได้ให้ความหวังต่อลูกๆ ของท่านว่า : ท้ายที่สุดพระผู้เป็นเจ้าจะทรงทำให้ลูกหลานของพวกเจ้ากลับไปยังแผ่นดินบรรพบุรุษของพวกเจ้า (ปฐมกาล 48/21) นอกจากนี้ศาสดายูซุฟ (อ.) ในช่วงบั้นปลายชีวิตด้วยวัย 110 ปี ท่านก็ได้เน้นย้ำถึงการกลับสู่ “ดินแดนแห่งพันธะสัญญา” โดยกล่าวว่า :
โยเซฟบอกพวกพี่น้องว่า “เราจะตายแล้ว แต่พระเจ้าจะเสด็จมาเยี่ยมเยียนพวกท่านแน่ๆ และจะพาออกไปจากดินแดนนี้ ไปสู่ดินแดนที่พระองค์ทรงปฏิญาณไว้กับอับราฮัม อิสฮัคและยาโคบ” (ปฐมกาล 50/24)
เมื่อยะอ์กูบ (อ.) (ยาโคบ) ได้ล่วงลับไปแล้ว ลูกๆ ของท่าน ได้นำศพของท่านกลับไปยังปาเลสไตน์ตามคำสั่งเสียของท่าน และพวกเขาได้ฝังร่างของท่านลงในหลุมฝังศพของอิบรอฮีม (อ.) (อับราฮัม) และอิสหาก (อ.) (อิสอัค) และพวกเขาได้กลับไปยังอียิปต์ (ปฐมกาล 50/13 และ 14) พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้พำนักอาศัยอยู่ในปาเลสไตน์และตายที่นั่น ด้วยเหตุนี้เองศพของพี่น้องทั้งสิบสองคนได้ถูกฝังอยู่ในอียิปต์ มีเพียงยูซุฟ (อ.) คนเดียวเท่านั้นที่โลงศพของท่านได้ถูกเคลื่อนย้ายไปยังปาเลสไตน์ในยุคของมูซา (อ.) (โมเสส) โดยการอนุมัติของพระผู้เป็นเจ้า เนื่องจากว่าในเรื่องราวดังกล่าวนั้นท่านเป็นผู้บริสุทธิ์
การถือกำเนิดของมูซา (อ.) หรือโมเสส
เผ่าพันธุ์อิสราเอลดำเนินชีวิตอยู่อย่างมีเกียรติศักดิ์ศรีในอียิปต์เป็นเวลายาวนานหลายปี แต่ในช่วงสองสามรุ่นต่อมา กษัตริย์ผู้หนึ่งได้ขึ้นสู่อำนาจในแผ่นดินนั้น ซึ่งพระองค์ไม่เคยได้ยินข่าวคราวของยูซุฟมาก่อน (ไบเบิล : อพยพ 1/8 ; อัลกุรอาน : ฆอฟิร/34) ดังนั้นพระองค์จึงบังคับเผ่าพันธุ์อิสราเอลให้เป็นทาสและข้ารับใช้ (ไบเบิล : อพยพ 1/13 และ 14 ; อัลกุรอาน : อัชชุอะรออ์/22 ; ฏอฮา/47 ; อัลมุอ์มินูน/47 ; อัดดุคอน/30) ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงวิงวอนต่อพระผู้เป็นเจ้า และวอนขอการมาของผู้ที่จะช่วยปลดปล่อยพวกตน ดังนั้นพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงปรีชาญาณ จึงได้ทรงส่งศาสดามูซา (อ.) มายังพวกเขา
“มูซา” เป็นบุตรชายของอิมรอน และอิมรอนเป็นหลานชายของลาวี (เลวี) และลาวีเป็นหนึ่งในลูกชายสิบสองคนของยะอ์กูบ (อ.) (อพยพ 6/16 ถึง 20) ข้อพิพาทหลักระหว่างมูซากับฟิรเอาน์ (ฟาโรห์) ในความเป็นจริงแล้วเกิดจากการนำเผ่าพันธุ์อิสราเอลออกจากอียิปต์ ดั่งเช่นที่มีระบุไว้อย่างชัดเจนในคัมภีร์อัลกุรอานซ้ำแล้วซ้ำอีก ตามการอ้างอิงของคัมภีร์อัลกุรอาน มูซาได้กล่าวแก่ฟิรเอาน์ (ฟาโรห์) เช่นนี้ว่า :
قَدْ جِئْتُكُم بِبَيِّنَةٍ مِّن رَّبِّكُمْ فَأرْسِلْ مَعِىَ بَنى إسرَائیلَ
“ฉันได้มาพร้อมกับหลักฐาน (ปาฏิหาริย์) อันชัดแจ้งจากพระผู้อภิบาลของพวกท่าน ดังนั้นจงส่งบนีอิสรออีลไปกับฉันเถิด”
(อัลกุรอานบทอัลอะอ์ร๊อฟ โองการที่ 105)
แต่ฟิรเอาน์เนื่องจากความโอหังและการขาดแรงงานขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นจากบนีอิสรออีล จึงไม่อนุญาตให้บนีอิสรออีลออกจากอียิปต์ ปาฏิหาริย์สองประการของมูซา (อ.) และบะลาอ์ (ภัยพิบัติ) เจ็ดอย่างของท่านในแผ่นดินอียิปต์ อย่างเช่น พายุ, ตั๊กแตน, เหา, กบ และการกลายเป็นสายเลือดของแม่น้ำไนล์ (อัลอะอ์ร๊อฟ/132-135 ; อัลอารออ์ /101) ก็ไม่สามารถเยียวยาหัวใจที่โหดเหี้ยมของฟิรเอาน์ได้เลย
ในที่สุด บนีอิสรออีลได้เดินทางหลบหนีออกจากอียิปต์ในยามค่ำคืนตามพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า (ฏอฮา/77) แต่ฟิรเอาน์พร้อมด้วยไพร่พลของเขาได้ไล่ตามพวกเขาเพื่อนำตัวพวกเขากลับมา ศาสดามูซา (อ.) ได้ข้ามผ่านทางทะเลแดง (Red Sea) โดยพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า และเมื่อพวกเขาข้ามผ่านไปได้ด้วยปาฏิหาริย์ (มุอ์ญิซาต) แล้ว ทะเลก็ประกบเข้าดั่งเดิม ฟิรเอาน์และไพร่พลของเขาจึงจมน้ำตาย
และนับจากนั้นเป็นต้นมาพระผู้เป็นเจ้าได้ทรงเรียก “เผ่าพันธุ์อิสราเอล” ว่า “ยะฮูด” (ยิว) เนื่องจากการที่มูซา (อ.) ได้พาพวกเขาอพยพและนำทาง (ฮิดายะฮ์) มุ่งสู่ปาเลสไตน์ ดั่งเช่นที่ในคัมภีร์อักุรอานได้กล่าวว่า : «الذين هَادُوا» (บรรดาผู้ที่เป็นยิว) (อัลบากอเราะฮ์/62 ; อัลมาอิดะฮ์/44 และ 69) และพระองค์ได้ทรงบัญชาแก่มูซา (อ.) ให้ออกคำสั่งให้บนีอิสรออีลรำลึกตลอดเวลาถึงวันที่ตนเองได้รอดพ้นจากการเป็นทาสของชาวอียิปต์ (ไบเบิล : อพยพ 12/14 ถึง 27 และ 42 ; อัลกุรอาน : อิบรอฮีม/5) ทั้งนี้เนื่องจากว่าหากพระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงช่วยให้บนีอิสรออีลรอดพ้นจากแผ่นดินนั้นด้วยปาฏิหาริย์ (มุญิซาต) ของพระองค์แล้ว พวกเขาจะเป็นทาสและผู้รับใช้ชาวอียิปต์ตลอดไป และพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งเพียงเท่านั้นที่จะไถ่โทษพวกเขาด้วยเดชานุภาพอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ (เฉลยธรรมบัญญัติ 6/20 ถึง 23 – 7/8 – 24/18 ; อพยพ 20/2) [2]
และมูซา (อ.) ได้กระทำเช่นนี้ และวันนี้จึงกลายเป็นวันเฉลิมฉลองที่ถูกเรียกว่า “ปัสกา” หรือ “เทศกาลกินขนมปังไร้เชื้อ” ของชาวยิว (อพยพ 23/15 - เฉลยธรรมบัญญัติ 16/1 ถึง 8 และ 16) โดยที่หลังจากนั้นเป็นต้นมาเป็นวาญิบ (หน้าที่บังคับ) ลูกผู้ชายที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ของชาวยิวทุกคนจะต้องเข้าเฝ้าพระเจ้าและเทิดเกียรติวันต่างๆ แห่งพระเจ้า ในวันนี้ (เทศกาลกินขนมปังไร้เชื้อ) และในอีกสองเทศกาลเฉลิมฉลอง (เทศกาลสัปดาห์ และเทศกาลอยู่เพิง) ในรอบหนึ่งในวิหาร ณ เมืองเยรูซาเล็ม (เฉลยธรรมบัญญัติ 16/16) พร้อมกับการพลีผลผลิตที่ได้จากแผ่นดินเป็นครั้งแรกของตน พวกเขาก็จะแสดงการเคารพให้เกียรติพระนามและการรำลึกถึงพระเจ้าผู้ทรงเดชานุภาพ ที่ทรงทำให้พวกเขารอดพ้นจากการเป็นทาสของชาวอียิปต์ (เฉลยธรรมบัญญัติ 26/1 ถึง 11)
เมื่อพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ได้ทรงนำบนีอิสรออีลออกมาจากอียิปต์ด้วยเดชานุภาพของพระองค์ แน่นอนยิ่งสัญญาของพระองค์ที่ให้ไว้กับกลุ่มชนนี้ได้เป็นจริงโดยสมบูรณ์แล้ว หมายถึงคำมั่นสัญญาด้วยวาจาที่ยะอ์กูบ (อ.) และยูซุฟ (อ.) ได้ให้ไว้กับบรรพบุรุษของกลุ่มชนนี้ :
وَ اَوْرَثْنَا الْقَومَ الّذينَ كانُوا يُستَضعَفونَ، مَشارقَ الارضِ و مَغاربَهَا الّتي بارَكْنا فيها، و تَمّت كَلِمَتُ ربُّكَ الحُسْني علي بنياسرائيلَ بما صَبَروا و دَمَّرْنا ما كان يَصنَعُ فرعونَ و قَومُه و ما كانوا يَعرِشُون
“และเราได้สืบทอดมรดกให้แก่กลุ่มชนที่ถูกกดขี่ (โดยให้พวกเขาปกครอง) ทิศตะวันออกของแผ่นดิน (คือปาเลสไตน์) และทิศตะวันตกของมัน อันเป็นแผ่นดินที่เราได้ให้มีความจำเริญในนั้น และประกาศิตอันไพจิตรแห่งพระผู้อภิบาลของเจ้านั้นครบถ้วนแล้วแก่เผ่าพันธุ์อิสรออีล เนื่องจากการที่พวกเขามีความอดทน และเราได้ทำลายสิ่งที่ฟิรเอาน์และพวกพ้องของเขาได้ทำไว้ และสิ่งที่พวกเขาได้ก่อสร้างไว้” (อัลอะอ์ร๊อฟ โองการที่ 137)
การประทานคัมภีร์เตาร๊อต (โตราห์)
ในระหว่างทางก่อนถึงแผ่นดินปาเลสไตน์ ในสถานที่หยุดพัก ณ ภูเขาซีนายนั้น พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงประทานบัญญัติแห่งความรอดพ้นทั้งในโลกนี้และปรโลกแก่ชาวยิว เพื่อให้พวกเขาปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับมันซึ่งจะพบกับความจำเริญในชีวิต หมายถึงคัมภีร์เตาร๊อตที่ถูกเขียนบนแผ่นหินที่ถูกประทานลงมาเมื่อ 1,300 ปีก่อนคริสตกาล
ชาวมุสลิมเชื่อว่าคัมภีร์เตาร๊อต (โตราห์) ทั้งหมดนั้นถูกประทานลงมาแก่ศาสดามูซา (อ.) ในที่เดียวในรูปของข้อเขียน (อัลอะอ์ร๊อฟ/145 ; อัลอันอาม/154 ; อัลมาอิดะฮ์ด/44) แต่ชาวยิวกล่าวว่า ตลอดช่วงเวลาสี่สิบวันที่มูซา (อ.) ได้ไปเข้าเฝ้าพระเจ้านั้น ได้รับแผ่นหินเพียงสองแผ่นจากพระเจ้าที่มี “บัญญัติสิบประการ” อยู่ในนั้น ซึ่งถูกเขียนด้วยนิ้วพระหัตถ์ของพระเจ้า (อพยพ 31/18 - เฉลยธรรมบัญญัติ 5/22) แต่พวกเขากล่าวว่า คัมภีร์โตราห์ฉบับหลักนั้น มูซา (อ.) ได้เขียนโดยอาศัยความรู้แห่งความเป็นศาสดาของตนและด้วยมือของตนเอง (เฉลยธรรมบัญญัติ 31/9 และ 24)
คำกล่าวอ้างของชาวยิวนี้ไม่เป็นที่ยอมรับ เนื่องจาก ยกตัวอย่างเช่นในคัมภีร์โตราห์ (พันธสัญญาเดิม) ปัจจุบันนี้ มีสองคำรายงานของ “บัญญัติสิบประการ” และทั้งสองรายงานมีเพียงแปดบัญญัติเท่านั้นที่มีเนื้อหาตรงกัน ตามคำกล่าวอ้างของชาวยิว หากมูซา (อ.) ได้รับจากพระเจ้าเพียงสองแผ่นศิลาจารึกที่ครอบคลุมเนื้อหาของ “บัญญัติสิบประการ” ไว้เท่านั้น การมีอยู่ของสองรายงานนี้แสดงให้เห็นว่าแม้แต่เพียงบัญญัติสิบประการที่ถูกเขียนไว้ในแผ่นหินก็ยังไม่ได้รับการพิทักษ์รักษาไว้อย่างถูกต้อง (เพื่อการเปรียบเทียบให้พิจารณาดูใน : อพยพ 20/1 ถึง 17 - เฉลยธรรมบัญญัติ 5/6 ถึง 21)
นอกจากนี้ตามคำพูดของคัมภีร์โตราห์ เนื่องจากการหลุดมือโดยไม่ตั้งใจของแผ่นหินต่างๆ จากมือของมูซา (อ.) ในช่วงเวลาที่เห็นการบูชาลูกวัวของชาวยิว ทำให้ท่านศาสดามูซา (อ.) ต้องปลีกตัวอยู่สันโดษอีกครั้งหนึ่งเพื่อรับแผ่นศิลาจารึก “บัญญัติสิบประการใหม่” (เฉลยธรรมบัญญัติ 9/18) ศาสดามูซา (อ.) ตลอดช่วงเวลาที่ปลีกตัวอยู่สันโดษนั้นท่านได้ถือศีลอด โดยไม่ได้ทานอาหารและดื่มน้ำเป็นเวลาถึง 40 วัน (อพยพ 34/28 - เฉลยธรรมบัญญัติ 9/9 และ 18) (ประเด็นนี้ถูกกล่าวถึงในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ของอิสลามด้วย) คำถามก็คือว่า สิ่งที่พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงปรีชาญาณ ทรงประทานให้แก่ศาสดามูซา (อ.) หลังจากการปลีกตัวอยู่สันโดษเป็นระยะเวลาถึง 80 วันนั้น คือบัญญัติสิบประการนี้เท่านั้น หรือบัญญัติสิบประการที่มนุษย์จะเรียนรู้มันได้ในหนึ่งชั่วโมง?!
ไม่ว่าคัมภีร์โตราห์นั้นจะเป็นประกาศิต (กะลาม) ของพระเจ้า หรือเป็นข้อเขียนของศาสดามูซา (อ.) เองก็ตาม ในประวัติศาสตร์ของชาวยิวเป็นที่ชัดเจนว่า ศาสดามูซา (อ.) ได้มอบต้นฉบับเดียวของคัมภีร์โตราห์นั้นให้กับบุตรชายสองคนของศาสดาฮารูน (อ.) (อาโรน) และได้ตกลงว่าหลังจากพวกเขา บรรดาปุโรหิตและนักบวชชาวยิว (ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเป็นลูกหลานของลาวี (เลวี) และเชื้อสายของฮารูน (อ.) (อาโรน)) จะเป็นผู้พิทักษ์รักษาคัมภีร์โตราห์ และสอนมันแก่ประชาชน (ไบเบิล: เฉลยธรรมบัญญัติ 31/9 ถึง 13 และ 25-27 ; อัลกุรอาน : อัลบากอเราะฮ์/248 ; อาลุอิมรอน /79 และ 187 ; อัลมาอิดะฮ์/44 ; อัลอะอ์ร๊อฟ/169) แต่ตามการอ้างอิงของคัมภีร์อัลกุรอาน บรรดาปุโรหิตและนักบวชเหล่านี้เองได้บิดเบือนและเปลี่ยนแปลงคัมภีร์โตราห์ ให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ทางโลกนี้ของตัวพวกเขาเอง (อัลบากอเราะฮ์ /75, 79 และ 85 ; อาลุอิมรอน /77-79 ; อันนิซาอ์/46 ; อับมาอิดะฮ์/13, 41 และ 44 ; อัลอะอ์ร๊อฟ/ 169)
และเช่นนี้เองที่คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า ชาวยิวมีความขัดแย้งกันเกี่ยวกับคัมภีร์ของพระเจ้า (อัลบากอเราะฮ์/176 ; อาลุอิมรอน /19) และชนรุ่นหลังของชาวยิวก็เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในคัมภีร์โตราห์ (ฮูด/110 ; ฟุศศิลัต/45 ; อัชชูรอ/14) ศาสดาดาวูด (อ.) (เดวิด) เองก็ได้กล่าวไว้ในบทสดุดีที่ยาวที่สุดในการอธิบายถึงการไม่พิทักษ์รักษาบทบัญญัติของยิว (พิจารณาดู : สดุดี, บทที่ 119) และโดยพื้นฐานแล้ว ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เองที่หนังสือและบทความจำนวนมากมายถูกเขียนขึ้นเกี่ยวกับประเด็นนี้ ที่ว่าคัมภีร์เตาร๊อต (พันธสัญญาเดิม) และอิลญีล (พันธสัญญาใหม่) ที่แท้จริงนั้นคือเล่มใด และจนถึงขณะนี้การถกเถียงต่างๆ อย่างกว้างขวางและยืดเยื้อยาวนานยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับเรื่องนี้
หนึ่งในประเด็นถกเถียงที่สำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ เมื่อประมาณ 60 ปีที่ผ่านมา หลังจากการค้นพบ “ม้วนหนังสือเดดซี” (Dead Sea Scrolls) แม้ต้นฉบับตัวจริงที่เก่าแก่ถึง 2,000 ปี ของม้วนหนังสือเดดซีนี้จะยังไม่ได้รับการตีพิมพ์และไม่ได้เผยแพร่ให้ทุกคนได้เห็น แต่มีบางส่วนจากมันได้ถูกแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ในกรุงเยรูซาเล็มเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว และเพื่อแสดงถึงความเก่าแก่ของกลุ่มชนนี้ นอกจากนี้การมีอยู่ของคัมภีร์โตราห์ของชาวซะมาเรีย หมายถึงชาวยิวที่อาศัยอยู่ในเมืองนาบิลุส (Nablus) จากศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา ก็เป็นประเด็นถกเถียงและพูดคุยกันอย่างมากมาย เป็นคัมภีร์โตราห์ที่มีความแตกต่างกับต้นฉบับที่เป็นภาษาฮิบรูที่มีชื่อเสียง และเนื่องจากไม่ได้ถูกนำมาแสดงต่อสายตาของผู้คนทั้งหลาย จึงไม่มีข่าวคราวใดๆ มาถึงเรามากนัก
การประทานคัมภีร์โตราห์ครั้งที่ 3 ให้กับชาวยิว
หลังจากการเดินทางออกจากอียิปต์และก่อนที่จะเข้าปาเลสไตน์นั้น พระเจ้าได้ทรงประทานคัมภีร์เตาร๊อต (โตราห์) ให้กับโมเสสหรือมูซา (อ.) เพื่อการนำทางหมู่ชนยิว
หลังจากการกลับมาจากการถูกจองจำ (เนรเทศ) ในบาบิโลน เนื่องจากวิหารโซโลมอนถูกทำลาย และชาวยิวได้สูญเสียคัมภีร์โตราห์ดั่งเดิมไป พระผู้เป็นเจ้าจึงได้ทรงประธานต้นฉบับใหม่ของคัมภีร์โตราห์ให้แก่หมู่ชนชาวยิว โดยผ่านศาสดาอุซัยร์ (อ.) หรือ “เยเรมีย์”
ในปี 1947 ก่อนที่จะมีการจัดตั้งรัฐเถื่อนไซออนิสต์ (อิสราเอล) ซึ่งพวกเขาได้กล่าวอ้างในรัฐธรรมนูญของตนว่าเป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติของพระเจ้าให้สอดคล้องกับคัมภีร์โตราห์ พระเจ้าได้ทรงเปิดเผยม้วนหนังสือเดดซีให้พวกเขาเห็น เพื่อเหตุผลที่ว่าหากมีการกล่าวอ้างเช่นนี้พวกเขาก็จะสามารถกระทำสิ่งดังกล่าว (หมายถึงจัดตั้งรัฐเถื่อนนั้น) ได้
ประเด็นก็คือว่า ความเป็นต้นฉบับของแท้ของม้วนหนังสือเดดซีได้รับการพิสูจน์แล้วและมีความเก่าแก่ยาวนานถึงสองพันปี ตามเอกสารอ้างอิงบางส่วน ต้นฉบับของคัมภีร์โตราห์และคัมภีร์ต่างๆ ของบรรดาศาสดานั้นได้ถูกเขียนโดยศาสดายะห์ยา (อ.) (จอห์น เดอะแบ็บติส) และบรรดาสาวกของท่าน ประเด็นนี้คัมภีร์อัลกุรอานก็ได้ยืนยันไว้เช่นกัน ความกลัวซึ่งท่านศาสดาซะกะรียา (อ.) (เศคาริยา) มีต่ออนาคต (ที่ว่าศาสนาจะถูกทำลายและคัมภีร์จะถูกบิดเบือน) (บทมัรยัม/5) และด้วยเหตุนี้เอง พระผู้เป็นเจ้าจึงได้ทรงประทานศาสดายะห์ยา (อ.) ให้แก่ท่าน และพระองค์ได้ทรงตรัสกับเด็กผู้นี้ว่า :
يَا يَحْيىَ خُذِ الْكِتَابَ بِقُوَّةٍ
“โอ้ยะห์ยาเอ๋ย! เจ้าจงยึดมั่นในคัมภีร์ไว้อย่างมั่นคงเถิด”
(อัลกุรอานบทมัรยัม โองการที่ 12)
เชิงอรรถ :
[1] ความหมายจาก : www.bible.com/th/bible/174/gen.15.thsv11
[2] และแน่นอนสิ่งนี้เนื่องมาจากความบริสุทธิ์และความยิ่งใหญ่ของศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ปู่ของพวกเขา และภารกิจที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลายที่ท่านได้กระทำ ณ พระพักตร์ของพระผู้เป็นเจ้า ด้วยเหตุนี้พระผู้เป็นเจ้าจึงได้ทรงเมตตาแก่เชื้อสายทั้งสองของศาสดาอิบรอฮีม (อ.) หากมิเช่นนั้นแล้วลำพังชาวยิวไม่มีความคู่ควรใดๆ ด้วยตัวเอง ดังเช่นในหลายกรณี อย่างเช่นในเรื่องราวของการเคารพบูชาลูกวัวนั้น พวกเขาเกือบจะถูกทำลายอย่างราบคาบเหมือนกับกลุ่มชนของลูฏ (เมืองโสโดม) (เฉลยธรรมบัญญัติ 9/9, 13 และ 25 – อพยพ 32/9 ถึง 14 – กันดารวิถี 14/12 20 - อิสยาห์ 1/9)
ศาสดามูซา (อ.) ตาม “เฉลยธรรมบัญญัติ” ปัจจุบัน (ซึ่งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สี่สิบปีของโมเสสและชาวยิว) ได้ย้ำเตือนให้เห็นความจริงข้อนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยกล่าวว่า “ความจริงที่ว่า (พระเจ้า) รักบรรพบุรุษของท่านและลูกหลานของพวกเขา เขาได้รับเลือกหลังจากที่คุณนำออกมาจากอียิปต์ด้วยพลังอันยิ่งใหญ่และเพราะพระองค์ทรงรักบรรพบุรุษของท่าน และทรงเลือกเชื้อสายของเขา และทรงพาท่านออกจากอียิปต์ด้วยพระองค์เอง ด้วยเดชานุภาพอันยิ่งใหญ่ของพระองค์” (เฉลยธรรมบัญญัติ 4/37) (ที่คล้ายกันนี้ ดูใน :เฉลยธรรมบัญญัติ 7/8 - 10/15) ในคัมภีร์อัลกุรอานก็ได้ย้ำถึงการถูกคัดเลือกของศาสดาอิบรอฮีม (อ.) และวงศ์วานของท่านว่า :
إِنَّ اللهَ ٱصْطَفَي آدَمَ وَ نُوحاً وَ آلَ إبْراهِيمَ وَ آلَ عِمْرانَ عَلَى ٱلْعالَمِين
“แท้จริงอัลลอฮ์ได้ทรงคัดเลือกอาดัมและนูห์ และวงศ์วานของอิบรอฮีม และวงศ์วานของอิมรอนให้ (มีเกียรติ) เหนือชาวโลกทั้งหลาย”
(อัลกุรอานบทอาลิอิมรอน โองการที่ 33)
แปล/เรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2017 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้อิสลามสำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่