เมฆหมอกแห่งความเศร้าโศกแผ่ปกคลุมฉนวนกาซาที่ถูกปิดล้อมและถูกทำลายด้วยสงคราม ในขณะที่ชาวปาเลสไตน์รำลึกถึงเหตุการณ์นัคบา (Nakba) ซึ่งเป็นภาษาอาหรับแปลว่า "หายนะ" ครบรอบ 77 ปี ซึ่งเป็นคำที่สะท้อนถึงบาดแผลลึกของการอพยพครั้งใหญ่และมรดกอันยั่งยืนของผู้คนที่ถูกถอนรากถอนโคนจากดินแดนบ้านเกิดเมืองนอนของตน
วันที่ 15 พฤษภาคม ถูกกำหนดให้เป็นวัน Nakba หรือ "วันแห่งหายนะ" เพื่อรำลึกถึงการอพยพและการสูญเสียทรัพย์สินของชาวปาเลสไตน์จำนวนมากในปีค.ศ.1948 เหตุการณ์นัคบา ถือเป็นการขับไล่ครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการก่อตั้งกลุ่มไซออนิสต์ ซึ่งดำเนินการด้วยการสนับสนุนจากมหาอำนาจตะวันตก
และไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลยตลอดหลายปีที่ผ่านมามีแต่จะแย่ลง โดยเฉพาะตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 2023 ลูกหลานของผู้ที่ถูกขับไล่ออกไปโดยการบังคับ ซึ่งมีทั้งชาวมุสลิมหลายล้านคนและชาวคริสเตียนหลายแสนคน ปัจจุบันอาศัยอยู่ใน 6 ทวีป อย่างไรก็ตาม ระบอบไซออนิสต์ยังคงปฏิเสธทั้งการชดเชยและสิทธิในการกลับประเทศที่ได้รับการรับรองในระดับสากล
เหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นเมื่อ 77 ปีก่อนนั้น มีความคล้ายคลึงอย่างมากกับปฏิบัติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ระหว่างอิสราเอลและอเมริกาในฉนวนกาซา ซึ่งดำเนินมายาวนานเกือบสองปี
นักประวัติศาสตร์หลายคนโต้แย้งว่า เหตุการณ์นัคบา ไม่เคยสิ้นสุดลงจริง ๆ แต่พวกเขามองว่าการโจมตีฉนวนกาซาในปัจจุบันเป็นการสานต่อนโยบายไซออนิสต์ที่เน้นการอพยพ ความรุนแรง และการลบล้างมาหลายทศวรรษ
การทำลายล้างและการสูญเสียชีวิตมนุษย์ครั้งใหญ่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในฉนวนกาซาทำให้บางคนอธิบายสงครามปัจจุบันนี้ว่าเป็น "นัคบาครั้งที่สอง" ซึ่งทำให้ชาวปาเลสไตน์ได้รับบาดแผลทางใจร่วมกันมากยิ่งขึ้น
รากฐานของ “นัคบา” ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1947 เมื่อกลุ่มกึ่งทหารไซออนิสต์ติดอาวุธหนักได้เปิดฉากโจมตีใช้ความรุนแรงต่อชาวปาเลสไตน์พื้นเมือง ซึ่งเป็นการปูทางไปสู่การยึดครองทรัพย์สินหลายทศวรรษ
ในเดือนต่อ ๆ มา กองกำลังไซออนิสต์ได้ยึดครองดินแดนปาเลสไตน์อันเก่าแก่ร้อยละ 80 อย่างผิดกฎหมาย ทำลายหมู่บ้านและเมืองนับร้อยแห่ง สังหารชาวปาเลสไตน์อย่างน้อย 15,000 ราย และขับไล่ผู้คนออกไปประมาณ 750,000 ราย หรือประมาณร้อยละ 80 ของประชากรปาเลสไตน์ ผ่านการกวาดล้างชาติพันธุ์อย่างเป็นระบบ
สำนักงานสถิติกลางปาเลสไตน์ระบุว่า จากเมืองและหมู่บ้าน 774 แห่งของชาวปาเลสไตน์ที่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของอิสราเอลในปี ค.ศ.1948 มี 531 แห่ง ที่ถูกทำลายจนหมดสิ้น ส่วนที่เหลืออีกหลายแห่งถูกทำให้ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่หรือถูกเปลี่ยนจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิวได้ใช้ประโยชน์
เมืองสำคัญประมาณ 11 แห่ง ได้แก่ ลิดดา รามเล ไฮฟา จาฟฟา เอเคอร์ ทิเบเรียส ซาฟาด อัชเคลอน เบียร์เชบา ไบซาน และบางส่วนของเยรูซาเล็ม (อัลกุดส์) ถูกทำให้ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่หรือถูกทำลายบางส่วน โดยชุมชนชาวปาเลสไตน์จำนวนมากถูกกวาดล้างทางชาติพันธุ์
ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากกลายเป็นผู้ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้านหรือต้องพลัดถิ่นฐานภายในประเทศปาเลสไตน์ในอดีต อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทางการไซออนิสต์จะพยายาม แต่พวกเขาก็ไม่ได้กลมกลืนเข้ากับสังคมหรือสูญเสียเอกลักษณ์ของตนไป
ความทรงจำของเหตุการณ์นัคบา ยังคงเป็นองค์ประกอบสำคัญของจิตสำนึกแห่งชาติของชาวปาเลสไตน์
นับตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ. 2023 สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ยังคงดำเนินอยู่ได้คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 52,900 ราย อย่างไรก็ตาม การศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้ ชี้ให้เห็นว่า จำนวนผู้เสียชีวิตที่แท้จริงอาจสูงกว่านี้ 46 –107 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ตัวเลขที่แท้จริงอยู่ระหว่าง 77,000 ถึง 109,000 รายหรืออาจมากกว่านั้น
สงครามยังทำให้เกิดการอพยพครั้งใหญ่ทั่วฉนวนกาซา โดยมีผู้คนมากกว่า 1.9 ล้านคน หรือเกือบร้อยละ 90 ของประชากรฉนวนกาซา ถูกบังคับให้ออกจากบ้านเรือนเนื่องจากการรุกรานของกองทัพอิสราเอล
หลายคนยังคงไม่สามารถกลับคืนได้ เนื่องจากพื้นที่ใกล้เคียงทั้งหมดถูกทำลายจนกลายเป็นซากปรักหักพัง
ปัจจุบัน กาซาเป็นเขตเมืองที่มีประชากรหนาแน่น โดยแบ่งออกเป็น 5 จังหวัด ได้แก่ กาซาเหนือ กาซาซิตี้ เดียร์ อัล-บาลาห์ ข่านยูนิส และราฟาห์ ทั้ง 5 จังหวัดได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการโจมตีของอิสราเอลอย่างต่อเนื่องโดยใช้ระเบิดที่อเมริกาจัดหาให้
ในเมืองกาซา ซึ่งเป็นศูนย์กลางเมืองที่ใหญ่ที่สุด มีอาคารต่างๆ ร้อยละ 74 ได้รับความเสียหายหรือถูกทำลาย รวมถึงย่านชุมชนทั้งหมด เช่น ชูไจยาและจาบาเลีย ตามข้อมูลของหน่วยงานปกครองท้องถิ่น
ในเขตฉนวนกาซา โครงสร้างต่างๆ ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 175,000 หลัง ได้รับความเสียหายหรือถูกทำลาย และ 70,000 หลังถูกทำลายจนราบเป็นหน้ากลอง
ประชาคมโลกได้ยืนยันสิทธิในการกลับคืนสู่บ้านเกิดของผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ผ่านมติสหประชาชาติที่ 194 ในปี ค.ศ. 1948 อย่างไรก็ตาม การนำไปปฏิบัติยังคงหยุดชะงักมานานหลายทศวรรษ โดยแทบไม่มีการรับผิดชอบต่อการอพยพครั้งใหญ่ครั้งนี้
ในช่วงสองปีที่ผ่านมา แม้ว่าสหประชาชาติจะเรียกร้องหยุดยิงและสอบสวนอาชญากรรมสงครามอันเลวร้ายหลายครั้ง แต่การบังคับใช้กฎหมายยังคงจำกัดอยู่ ส่วนใหญ่เป็นเพราะการสนับสนุนทางการเมืองและการทหารต่อระบอบการปกครองอิสราเอลอย่างไม่ลดละจากสหรัฐอเมริกาและมหาอำนาจตะวันตกอื่น ๆ
การขับไล่ชาวปาเลสไตน์ในปี ค.ศ.1948 จุดชนวนให้เกิดวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมครั้งใหญ่ เนื่องจากผู้ลี้ภัยถูกบังคับให้ใช้ชีวิตในความยากจน โดยไม่มีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม และเข้าถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐานในประเทศเพื่อนบ้านได้จำกัด
ปัจจุบัน กาซาเผชิญกับภัยพิบัติทางมนุษยธรรมที่เลวร้ายเช่นเดียวกัน โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมถึงโรงพยาบาล โรงเรียน และพื้นที่อยู่อาศัยถูกทำลาย ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนอาหาร น้ำสะอาด ไฟฟ้า และการดูแลทางการแพทย์อย่างรุนแรง
จากโรงพยาบาล 36 แห่ง ในกาซาที่เปิดให้บริการก่อนเดือนตุลาคม ค.ศ. 2023 ไม่มีแห่งใดเปิดให้บริการเต็มรูปแบบแล้ว เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โรงพยาบาลนัสเซอร์ในเมืองข่านยูนิสเป็นแห่งล่าสุดที่ถูกรัฐบาลอิสราเอลโจมตีด้วยระเบิด
ขณะนี้มีโรงพยาบาลเพียง 17 แห่งเท่านั้นที่สามารถใช้งานได้บางส่วน ส่วนที่เหลือถูกทำลายทั้งหมดหรือหยุดทำงานเนื่องจากการทิ้งระเบิด การปิดล้อม หรือขาดแคลนเสบียง
มีโรงพยาบาลและคลินิกถูกปิดรวม 114 แห่ง และสถานพยาบาล 162 แห่ง รวมถึงศูนย์สุขภาพปฐมภูมิ 80 แห่ง ตกเป็นเป้าหมาย นอกจากนี้ รถพยาบาลอย่างน้อย 130 คันได้รับความเสียหายหรือถูกทำลาย
แม้ว่าจะไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัดของศูนย์การแพทย์ที่ถูกทำลายในช่วงเหตุการณ์นัคบา แต่บันทึกทางประวัติศาสตร์ระบุว่า ศูนย์การแพทย์ส่วนใหญ่ในเมืองใหญ่ ๆ ของชาวปาเลสไตน์ถูกทิ้งร้าง ถูกปล้นสะดม หรือได้รับการปรับเปลี่ยนจุดประสงค์ใหม่หลังจากการขับไล่ครั้งใหญ่
ทั้งเหตุการณ์นัคบา และสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในฉนวนกาซาในปัจจุบันยังได้ทำลายสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาด้วย
ในปีค.ศ. 1948 มัสยิดมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ในหมู่บ้านชาวปาเลสไตน์ ซึ่งคาดว่ามีอยู่ประมาณ 400 ถึง 500 แห่ง ถูกทำลาย รื้อถอน หรือเปลี่ยนให้ใช้งานได้ในรูปแบบอื่น ตัวอย่างเช่น มัสยิดในซาลิฮาถูกระเบิดจนมีพลเรือนอยู่ภายใน ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 94 ราย
ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2025 กระทรวงการกุศลของฉนวนกาซาได้รายงานว่า มัสยิด 814 แห่งจากทั้งหมด 1,245 แห่งในฉนวนกาซา (ประมาณร้อยละ 79) ถูกทำลายจนหมดสิ้น โดยอีก 148 แห่งได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง ส่งผลให้มีมัสยิดเหลืออยู่ทั้งหมด 962 แห่ง
มรดกของชาวคริสเตียนในชาวปาเลสไตน์ก็ได้รับผลกระทบในทั้งสองเหตุการณ์เช่นกัน ในช่วงเหตุการณ์นัคบา ค.ศ. 1984 คาดว่า โบสถ์ได้รับความเสียหายหรือถูกทำลายไปประมาณ 20 ถึง 50 แห่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าชุมชนคริสเตียนมีขนาดเล็กลง (ขณะนั้นมีเพียงประมาณร้อยละ 10 ของประชากร)
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2023 เป็นต้นมา โบสถ์ทั้งสามแห่งที่เหลืออยู่ในฉนวนกาซาได้รับความเสียหายหรือถูกทำลาย รวมถึงโบสถ์เซนต์พอร์ฟิริอุสโบราณที่มีอายุกว่า 5 ศตวรรษ
เหตุระเบิดครั้งแรกในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2023 ทำให้พลเรือนเสียชีวิต 18 ราย และเกิดขึ้นอีกครั้งในปี ค.ศ. 2024
ในสงครามปี ค.ศ.1948 และปัจจุบัน สุสานของชาวปาเลสไตน์ก็ไม่รอดเช่นกัน คาดว่าสุสานอย่างน้อย 500 แห่งสูญหายไปในช่วงเหตุการณ์นัคบา เนื่องจากเมืองและหมู่บ้านส่วนใหญ่มีสุสานอย่างน้อยหนึ่งแห่ง สุสานหลายแห่งถูกทำลาย ถูกละเลย หรือสร้างทับ
ตามรายงานร่วมสมัยในสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ปัจจุบัน สุสานอย่างน้อย 19 แห่งจากทั้งหมด 60 แห่งของกาซา หรือประมาณร้อยละ 32 ตกเป็นเป้าและทำลายโดยเจตนา หลุมศพหลายแห่งถูกทำลาย ขุดศพขึ้นมา หรือทำลายด้วยพลั่ว
ทั้ง เหตุการณ์นัคบา และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นในฉนวนกาซา ต่างเผชิญกับการปฏิเสธ การแก้ไขประวัติศาสตร์ และการปกปิดความรับผิดชอบจากระบอบการปกครองของอิสราเอลและผู้สนับสนุนชาวตะวันตก
นอกจากนี้ เรื่องเหล่านี้ยังถูกทำให้เป็นส่วนที่ถูกละเลยอย่างเป็นระบบในประวัติศาสตร์ตะวันตก และถูกเพิกเฉยหรือไม่ค่อยให้ความสำคัญในเรื่องเล่าของสื่อกระแสหลักเป็นส่วนใหญ่
บทความ : อีวาน เคซิช
ที่มา : สำนักข่าวเพรสทีวี
Copyright © 2025 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่