ลักษณะเฉพาะของเสน่ห์ สีสันและความเย้ายวนทางวัตถุของโลกนี้ ก็คือการที่มันมีแรงดึงดูดใจที่ทรงพลังอันยาวไกล แต่เมื่อมนุษย์ได้เข้าไกลมันและได้รับมันมา มนุษย์ก็จะรู้สึกชินชาต่อมัน และสิ่งดังกล่าวก็จะสูญเสียแรงดึงดูดไป เหมือนกับยาเสพติด โดยที่บุคคลทั้งหลายก่อนที่จะได้รับมันมาและเสพมันนั้น มันจะมีความเย้ายวนและแรงดึงดูดใจสำหรับพวกเขา
ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า
مَا أَطَالَ اَحَدٌ اَلْأَمَلَ اِلاّ نَسِىَ الاَجَلَ و اَساءَ الْعَمَلَ
"ไม่มีผู้ใดที่เพ้อฝันอย่างเลื่อนลอยยาวไกล นอกจากว่าเขาจะลืมความตายและจะกระทำสิ่งชั่วร้าย" (1)
คำอธิบาย :
ใช่แล้ว! ความเพ้อฝันที่เลื่อนลอยและยาวไกล จะทำให้มนุษย์กลายเป็นผู้ที่มีพฤติกรรมที่ชั่วร้ายและมีการกระทำต่างๆ ที่น่าเกลียด ในภาษาอาหรับ มีคำอยู่สองคำที่ให้ความหมายว่า “ความหวัง” และ “ความใฝ่ฝัน” คำหนึ่งนั้น คือ «رَجَاء» (ร่อญาอ์) และอีกคำหนึ่ง คือ «أمَل» (อะมัล) คำว่า “ร่อญาอ์” จะมีความหมายในทางบวก และจุดประสงค์ของมันคือ ความหวังและความใฝ่ฝันที่สร้างสรรค์ ส่วนคำว่า “อะมัล” บางครั้งอาจให้ความหมายในทางลบ ซึ่งหมายถึง ความหวังและความใฝ่ฝันที่ไม่สร้างสรรค์ ดูเหมือนว่าในภาษาไทย คำว่า “ความใฝ่ฝัน” จะตรงกับคำว่า “ร่อญาอ์” และคำว่า “ความเพ้อฝัน” จะตรงกับคำว่า “อะมัล”
ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) อันทรงคุณค่านี้ ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้พูดถึงหนึ่งในด้านลบต่างๆ ของคำว่า “อะมัล” (คือความเพ้อฝัน) และได้เตือนถึงผลกระทบที่เลวร้ายของมันที่จะมีต่อพฤติกรรมและการกระทำของมนุษย์
คำถาม : ทำไม “ความเพ้อฝันที่เลื่อนลอยและยาวไกล” จึงมีความเลวร้ายถึงเพียงนี้?
คำตอบ : ลักษณะเฉพาะของเสน่ห์ สีสันและความเย้ายวนทางวัตถุของโลกนี้ ก็คือการที่มันมีแรงดึงดูดใจที่ทรงพลังอันยาวไกล แต่เมื่อมนุษย์ได้เข้าไกลมันและได้รับมันมา มนุษย์ก็จะรู้สึกชินชาต่อมัน และสิ่งดังกล่าวก็จะสูญเสียแรงดึงดูดไป เหมือนกับยาเสพติด โดยที่บุคคลทั้งหลายก่อนที่จะได้รับมันมาและเสพมันนั้น มันจะมีความเย้ายวนและแรงดึงดูดใจสำหรับพวกเขา แต่เมื่อพวกเขากลายเป็นผู้ติดยาเสพติดแล้ว ยาเสพติดดังกล่าว (ในปริมาณเดิม) จะไม่มีแรงดึงดูดใจหรือทำให้พวกเขาพอใจอีกต่อไป กล่าวคือ เขาจะเพิ่มปริมาณในการเสพอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนกระทั่งย่างก้าวไปสู่วาระแห่งความตาย
บุคคลที่เช่าบ้านอยู่ อาศัยและทนทุกข์ทรมานกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ในการดำเนินชีวิตนั้น เขาจะมีความใฝ่ฝันว่าอยากจะมีบ้านที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเองสักหลังหนึ่ง แม้ว่าจะเป็นบ้านหลังเล็กๆ ก็ไม่เป็นไร สิ่งนี้นับได้ว่ามีแรงดึงดูดใจและก่อให้เกิดความใฝ่ฝันสำหรับเขาเป็นพิเศษ แต่เมื่อเขาได้ไปถึงยังความใฝ่ฝันดังกล่าว (คือ มีบ้านเล็กๆ หลังหนึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง) หลังจากเวลาผ่านไปไม่นานนัก มันจะกลายเป็นความชินชาสำหรับเขา และเขาจะเกิดความใฝ่ฝันที่จะมีบ้านที่ใหญ่กว่า พร้อมกับปัจจัยอำนวยสุขที่มากกว่าเดิม แต่กระนั้นก็ตาม มันก็ยังไม่เพียงพอ ในแต่ละวันที่ผ่านไปเขาก็จะยังครุ่นคิดและใฝ่ฝันที่จะมีบ้านที่ใหญ่โตกว่าและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
ตามสำนวนของซะอ์ดี กวีผู้เรืองนามแห่งเปอร์เซีย ที่กล่าวว่า “กษัตริย์แม้จะได้มาซึ่งอาณาจักรปกครองทั้งเจ็ด *** ก็ยังคงใฝ่ฝันที่จะได้มาซึ่งอาณาจักรปกครองใหม่”
ดังนั้นความใฝ่ฝันต่างๆ จึงไร้ขอบเขตและไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยเหตุนี้เอง หากเราต้องการที่จะบรรลุความฝันต่างๆ เหล่านั้น เราจะต้องใช้พละกำลังและแรงกายที่มีอยู่ทั้งหมดของตนเพื่อที่จะไปให้ถึงมัน และเป็นเรื่องปกติที่ว่า เขาจะไม่มีเวลาและกำลังกายเหลืออยู่อีก เพื่อที่จะใช้มันไปเพื่อแสวงหาความดีงามสำหรับชีวิตในปรโลก ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง ในฮะดีษ (วจนะ) ต่างๆ ของบรรดามะอ์ซูม (อ.) จึงตำหนิประณามการมีความใฝ่ฝันที่เลื่อนลอยและยาวไกล และถูกนับว่าจะเป็นสาเหตุทำให้คนเราหลงลืมชีวิตแห่งปรโลก (2)
เราจะต้องตระหนักในประเด็นนี้เช่นเดียวกันที่ว่า ความมีเนี๊ยะอ์มัต (ปัจจัยอำนวยสุขในชีวิต) ที่มากมายซึ่งโดยปกติแล้วก็จะอยู่ควบคู่กับความใฝ่ฝันที่ยาวไกล ในทิศทางที่จะแสวงหามันนั้น ในหลายกรณีจะเป็นบ่อเกิดของความโชคร้ายและความทุกข์ยาก!
ครั้งหนึ่งท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้เดินทางผ่านท้องทะเลทราย เมื่อได้เห็นคนเลี้ยงสัตว์ ท่านจึงกล่าวกับบรรดาสาวกว่า “พวกท่านจงไปขอซื้อนมสดปริมาณหนึ่งจากเจ้าของสัตว์และจงจ่ายเงินนี้ให้แก่ เขา” แต่เจ้าของสัตว์เลี้ยงปฏิเสธที่จะขายนมสดให้แก่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จึงได้อธิษฐานต่อพระผู้เป็นเจ้าว่า “ขอให้ทรัพย์สินของเขาเพิ่มพูนอย่างมากมาย” กองคาระวานของท่านศาสดาได้เดินออกจากที่แห่งนั้น และได้ไปพบกับคนเลี้ยงแกะอีกคนหนึ่ง และท่านก็ได้ขอซื้อนมสดจากเขาอีกเช่นกัน คนเลี้ยงแกะผู้นั้นได้แสดงออกด้วยมารยาทที่ดีงามและไม่รีรอ เขาได้นำนมสดมามอบให้ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และบรรดาผู้ร่วมทางของท่านอย่างรีบเร่ง ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้ยกมือขึ้นอธิษฐานต่อพระผู้เป็นเจ้า โดยกล่าวว่า “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! โปรดประทานปัจจัยดำรงชีพแก่เขาในปริมาณที่พอเพียงแก่การดำรงชีพของเขาด้วย เถิด” บรรดาสาวกได้ถามท่านเกี่ยวกับความแตกของสองคำวิงวอนขอ (ดุอาอ์) ทั้งสองนี้ต่อบุคคลทั้งสอง ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จึงกล่าวตอบว่า “การได้รับปัจจัยอำนวยสุข (เนี๊ยะอ์มัต) มากมายสำหรับบุคคลแรกนั้น จะเป็นบ่อเกิดของความทุกข์ยากและการลงโทษสำหรับเขา” (3)
เชิงอรรถ :
[1] ฆุร่อรุลฮิกัม วะดุร่อรุลกิลัม, เล่มที่ 6 หน้าที่ 101, ฮะดีษที่ 9676
[2] ในคำรายงานอีกบทหนึ่งจากท่านอิมามอะลี (อ.) ท่านกล่าวว่า : طُولُ الاَمَلِ یُنْسِى الاْخِرَةَ "การมีความใฝ่ฝันที่ยาวไกลนั้น จะทำให้หลงลืมปรโลก" (จริยธรรมในคัมภีร์อัลกุรอาน, เล่มที่ 3, หน้าที่ 188)
[3] บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 69, หน้าที่ 61, ฮะดีษที่ 4
จาก หนังสือ 110 แบบอย่างจากสุนทโรวาทของท่านอิมามอะลี (อ.) โดย อายะตุลลอฮ์มะการิม ชีราซี
บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2024 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่