สภาวะจิตใจที่ดี คือ จุดกำเนิดของสุขภาพพลานามัยที่ดี
ในการวิเคราะห์ถึงสุขภาพพลานามัยของมนุษย์ จำเป็นจะต้องพิจารณาจากสองด้าน ด้านหนึ่งคือสภาพจิตใจและจริยธรรม ส่วนด้านที่สองคือด้านของร่างกาย เรื่องของสุขภาพพลานามัยเราไม่สามารถมองดูเฉพาะด้านร่างกายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะเราเองก็มีประสบการณ์อยู่เสมอว่า ความทุกข์กังวลของจิตใจ นอกจากจะก่อให้เกิดความบกพร่อง และความแปรปรวนทางความคิดและอารมณ์แล้ว ยังส่งผลกระทบที่เลวร้ายต่อร่างกาย และเป็นสาเหตุนำไปสู่ความเจ็บป่วยอีกด้วย
ความอิจฉาริษยา
ความเจ็บป่วยอย่างหนึ่งของจิตใจคือ ความอิจฉาริษยา คนที่มีความอิจฉาริษยาต่อผู้อื่น ถึงแม้ว่าจะระวังรักษาสุขภาพของร่างกายเพียงใด แต่ไฟแห่งความอิจฉาริษยาที่ถูกจุดขึ้นภายในจิตใจของเขานั้น จะทำลายระบบประสาทต่างๆ ของเขา และบ่อนทำลายสุขภาพพลานามัยของเขาลง
ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า “ช่างน่าประหลาดใจเหลือเกิน สำหรับผู้ที่มีความอิจฉาริษยา ซึ่งหลงลืมจากสุขภาพพลานามัยของร่างกาย (ของตน)” (1)
ความสิ้นหวัง
ความสิ้นหวัง ที่นำไปสู่ความโศกเศร้าและความทุกข์ระทม คือสภาวะทางจิตใจอีกประการหนึ่ง ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดแก่มวลมนุษย์เลย ในทางกลับกัน มันจะนำมาซึ่งความเจ็บป่วยของร่างกาย ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า “ความโศกเศร้า จะนำความหายนะมาสู่ร่างกาย” (2)
จิตใจและร่างกายของมนุษย์นั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น สภาวะจิตใจในแต่ละด้านไม่ว่าจะดีหรือเลวร้าย ล้วนส่งผลกระทบต่ออีกด้านหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ประเด็นดังกล่าวนี้เป็นที่ยอมรับของนักวิชาการทั่วโลกทั้งในอดีตและปัจจุบัน ร่างกายของคนเราตกอยู่ภายใต้ผลกระทบของสภาวะจิตใจ และจิตใจของเราก็เช่นเดียวกัน ได้อยู่ภายใต้ผลกระทบของสภาวะร่างกายของเรา
ผู้ที่อยู่ในความเศร้าโศกและทุกข์กังวลใจ จะรู้สึกถึงความไม่สบายและความแปรปรวนในจิตใจของตนเอง สภาวะจิตใจดังกล่าวนี้จะส่งผลเสียต่อร่างกายโดยอัตโนมัติ ร่างกายจะสูญเสียสมดุลและสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์ไป ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า “ความทุกข์โศก คือครึ่งหนึ่งของความแก่ชรา” (3)
ผลการวิจัยของบรรดานักวิชาการพบว่า ส่วนหนึ่งของความเจ็บป่วยจำนวนมากที่เกิดขึ้นกับร่างกายของคนเรานั้น เป็นผลมาจากความผิดปกติและความทุกข์กังวลที่เกิดขึ้นกับจิตใจ การเยียวยารักษาขั้นพื้นฐานสำหรับผู้ป่วยลักษณะนี้ ขั้นแรกจำเป็นต้องค้นหาต้นตอที่มาของความเจ็บป่วยนั้นเสียก่อน และก่อนที่จะมีการรักษาโดยวิธีทางการแพทย์หรือด้วยยา จำเป็นต้องต่อสู้กับความทุกข์โศกกังวลใจ และขจัดสิ่งเหล่านี้ให้หมดไปจากจิตใจของผู้ป่วยเสียก่อน
“ร้อยละเจ็ดสิบของผู้ป่วยที่ได้พบแพทย์ กรณีที่ผู้ป่วยสามารถปลดปล่อยตนเองจากความทุกข์กังวลและความวิตกได้ เขาก็จะสามารถเยียวยารักษาตนเองได้ ความผิดปกติของระบบการย่อยอาหาร โรคกระเพาะบางชนิด ความผิดปกติของหัวใจ การนอนไม่หลับ อาการปวดศีรษะบางชนิด และการเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตบางประเภท นับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของโรคที่เกิดขึ้นจากผลพวงของความผิดปกติทางด้านจิตใจ”
ดร.โจเชฟ ม็อนตาโก เจ้าของหนังสือ ‘ความบกพร่องของกระเพาะอาหาร’ กล่าวไว้ในลักษณะนี้ว่า “สิ่งที่ท่านทั้งหลายรับประทานเข้าไปนั้นมิได้เป็นสาเหตุทำให้เกิดบาดแผลในกระเพาะ แต่ความทุกข์กังวลใจที่มาประสบกับพวกท่านต่างหากที่ทำให้เกิดบาดแผลดังกล่าว”
ดร. อัลวารีซ ซึ่งทำงานอยู่ในคลินิก ‘มอยู’ กล่าวว่า “ความรุนแรงของบาดแผลในกระเพาะอาหาร โดยทั่วไปแล้วมีความสัมพันธ์โดยตรงจากความรุนแรงของระดับความทุกข์กังวลในจิตใจ” คำพูดดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานของการทดลองและการวิเคราะห์ตรวจสอบผู้ป่วยจำนวน 15,000 คน ที่มาพบแพทย์ในคลินิก ‘มอยู’ เกี่ยวกับความผิดปกติของกระเพาะอาหาร โดยจำนวน 4 ใน 5 ของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นโรคกระเพาะ ไม่พบสาเหตุใดๆ เลยในทางการแพทย์
ความหวาดกลัว ความทุกข์กังวล ความอิจฉาริษยา ความลำพองตน การไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญของโรคต่างๆ รวมทั้งบาดแผลในทางเดินอาหาร แผลในกระเพาะคือสาเหตุการตายของผู้ป่วย เมื่อเปรียบเทียบกับความเจ็บป่วยที่สำคัญและเป็นอันตรายแล้ว จัดอยู่ในอันดับที่ 10 ตามผลสำรวจที่ปรากฏอยู่ในนิตยสาร ‘ไลฟ์’
บรรดาแพทย์ที่มีชื่อเสียงแห่ง ‘มอยู’ กล่าวว่า ครึ่งหนึ่งของผู้ที่นอนอยู่บนเตียงผู้ป่วยตามโรงพยาบาลต่างๆ นั้น คือผู้ที่ประสบกับสภาวะผิดปกติของระบบประสาท ความเจ็บป่วยของพวกเขามิได้เกิดมาจากความผิดปกติของระบบประสาทของพวกเขา แต่เกิดจากความวิตกกังวลของจิตใจ ความยากจน ความฟุ้งซ่าน ความทุกข์โศก ความหวาดกลัว การไม่ประสบความสำเร็จและความสิ้นหวัง
หนังสือของ ดร. เอดเวิร์ด พูดลิซก์ ภายใต้หัวข้อ ‘จงยับยั้งความทุกข์กังวล และดำเนินชีวิตด้วยความปลอดภัยและสุขสบาย’ เนื้อหาที่กล่าวพอสรุปได้ดังนี้
“ความทุกข์กังวลจะส่งผลอันตรายอะไรกับหัวใจ ความดันโลหิตเกิดขึ้นมาจากผลพวงของความทุกข์กังวล โรครูมาติสซึมก็เป็นไปได้ที่จะเกิดมาจากความทุกข์กังวล ความทุกข์กังวลจะทำให้กระเพาะอาหารของพวกท่านอ่อนแอได้อย่างไร ความทุกข์กังวลกับต่อมไทรอยด์ โรคเบาหวานก็เกิดมาจากความทุกข์กังวล ดร.วิลเลียม มาคโคนิเกิล ได้แสดงทัศนะในการประชุมกลุ่มทันตแพทย์ของอเมริกาว่า ‘ความทุกข์กังวลเป็นสาเหตุทำให้เกิดความเสียหายต่อฟัน’ และท่านกล่าวต่อไปว่า ‘ความทุกข์กังวลและความรู้สึกต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความสับสนและความหวาดวิตก จะทำให้แคลเซียมในร่างกายเสียความสมดุล และจะทำให้ฟันเกิดความเสียหาย’ (4)
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า สภาวะทางจิตใจที่ดี คือจุดกำเนิดของความมีสุขภาพที่ดี ดังนั้นจำเป็นที่เราจะต้องขจัดลักษณะที่ไม่ดีทั้งหลายให้หมดไป และพัฒนาคุณลักษณะที่ดีงามให้เกิดขึ้นในตัวของเราแทน คัมภีร์อัล กุรอานได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงและความพลิกผันต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของมนุษย์ไว้เช่นนี้ว่า
إِنَّ اللَّـهَ لَا يُغَيِّرُ مَا بِقَوْمٍ حَتَّىٰ يُغَيِّرُوا مَا بِأَنفُسِهِمْ ۗ
“แท้จริง อัลลอฮ์จะไม่ทรงเปลี่ยนแปลงสภาพของชนกลุ่มใด จนกว่าพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงสภาพตัวของพวกเขาเอง”
(บทอัรเราะอ์ดุ โองการที่ 11)
เบรกซูน นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า “การดำรงอยู่ หมายถึงการเปลี่ยนแปลงและการพลิกผัน และการเปลี่ยนแปลง หมายถึงการพัฒนาการสู่ความสมบูรณ์ และการพัฒนาการสู่ความสมบูรณ์หมายถึง การทำให้ชีวิตของตนเองดำรงอยู่ต่อไป” (5)
จงขจัดความทุกข์กังวลให้หมดไป
การเปลี่ยนแปลงอันดับแรก คือการทำให้หัวใจและจิตวิญญาณของเราเกิดความสงบมั่น ความสงบมั่นของหัวใจ การหลุดพ้นจากความทุกข์กังวลและความสับสน คือการมีความศรัทธาและเชื่อมั่นต่อพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสร้างเพียงเท่านั้น
الَّذِينَ آمَنُوا وَتَطْمَئِنُّ قُلُوبُهُم بِذِكْرِ اللَّـهِ ۗ أَلَا بِذِكْرِ اللَّـهِ تَطْمَئِنُّ الْقُلُوبُ
“พึงสังวรเถิด ด้วยกับการรำลึกถึงอัลลอฮ์เท่านั้น ที่ทำให้หัวใจทั้งหลายสงบมั่น” (6)
ในสภาวะวิกฤติของมนุษย์ หรือในช่วงที่จิตใจเกิดความทุกข์กังวลจนถึงขั้นสูงสุด ความสับสนอลหม่านจะโหมกระหน่ำขึ้นภายในจิตใจ ต่อให้เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยา ก็ไร้ความสามารถที่จะสงบลงได้ มีเพียงพลังอำนาจเดียวเท่านั้นที่จะทำให้มันสงบลงได้ ก็คือพลังแห่งความศรัทธา (อีมาน) ความศรัทธาเท่านั้นที่จะทำให้จิตใจของมนุษย์เกิดความเข้มแข็ง ทำลายความสับสน ฟุ้งซ่าน และความทุกข์กังวลใจให้หมดไป อีกทั้งนำความมั่นคงมาสู่หัวใจมนุษย์ และชี้นำมนุษย์ถึงการดำเนินชีวิตอย่างมีเป้าหมาย
จอน บี กายซัน กล่าวว่า “ความไร้ศรัทธาจะนำมาซึ่งความทุกข์ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โลกและสรรพสิ่งที่มีอยู่ในสายตาของเราคือสิ่งไร้สาระ ไม่มีจุดมุ่งหมาย และไร้ซึ่งความคงทนถาวร แต่สำหรับผู้มีศรัทธา เขามองเห็นเป้าหมายในชีวิต และรู้ถึงจุดประสงค์ของการสร้างสรรค์” (7)
วิลเลียม เจมส์ อาจารย์สอนปรัชญาในมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด บิดาแห่งจิตวิทยายุคใหม่ กล่าวว่า “ความศรัทธาคือขุมพลังอย่างหนึ่ง ซึ่งมนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ก็ด้วยมัน และการไร้ความศรัทธาที่สมบูรณ์นั่นคือ สิ่งที่จะนำมาซึ่งความหายนะของมวลมนุษย์” (8)
หากวันใดก็ตามที่ผู้มีศรัทธาต้องประสบกับความทุกข์ยากและความเจ็บป่วย แต่เนื่องจากเขาไม่มีความสับสนและความวิตกกังวลใดๆ ในหัวใจ ความสงบมั่นทางจิตใจดังกล่าวของเขา จะมีส่วนช่วยบรรเทาเขาจากความเจ็บป่วย
ดร.คาร์ล ยองก์ มีคลินิกอยู่ในเมือง ‘ซูริค’ และเป็นหนึ่งในบรรดานักจิตวิทยาผู้มีชื่อเสียงของโลก ได้กล่าวในคำสนทนาของเขาว่า “มีจำนวนหลายพันคนจากผู้ที่ได้มาพบและขอความช่วยเหลือจากข้าพเจ้า ผู้ซึ่งมีความมั่นคงอยู่บนหลักการต่างๆ หรือมีความศรัทธามั่นคงต่อศาสนาของตนเอง จะได้รับการเยียวยารักษาให้หายจากความเจ็บป่วยได้รวดเร็วกว่าผู้อื่น” (9)
การรักษาความเป็นสายกลางในการดำเนินชีวิต
หากจะกล่าวว่า หลักการขั้นพื้นฐานของวิชาจริยศาสตร์ คือการดำรงรักษาความพอเหมาะพอควร และความเป็นสายกลางในการดำเนินชีวิต ก็คงมิได้ฟังดูแปลกประหลาดแต่อย่างใด
ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า “บุคคลที่โง่เขลานั้นจะไม่ถูกพบ เว้นแต่ (ในสองสภาพคือ) เป็นผู้สุดโต่ง หรือไม่ก็เป็นผู้ที่บกพร่อง (ขาดความพอดี)” (10)
ในภาคแรกของหนังสือ”อิสลามกับการแพทย์ไม่พึ่งยา” ได้กล่าวถึงเรื่องของอาหารต่างๆ การรับประทานมากและน้อยเกินไป ทั้งสองประการจะก่อให้เกิดผลร้ายและพิษภัย ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องรักษาความเป็นสายกลางในการรับประทานอาหาร ความเป็นสายกลางทางด้านวัตถุ และความเป็นสายกลางทางด้านจิตวิญญาณ
จนถึงปัจจุบันนี้ ความคิดวิตกกังวลทั้งหลายของเรา ได้มุ่งไปแต่เฉพาะในเรื่องที่ว่า จะทำอย่างไรที่เราจะได้รับความก้าวหน้าทางด้านวัตถุ วันนี้ถึงเวลาแล้วที่เราทั้งหลายจะต้องทบทวนความคิดเสียใหม่ และคิดหาหนทางเพื่อการพัฒนาทางด้านจิตวิญญาณของตนเอง
หากท่านมีความเคยชินกับการอยู่ตัวคนเดียว ไม่เคยยุ่งเกี่ยวและร่วมสังคมกับใครเลย จำเป็นที่ท่านจะต้องพยายามแสวงหาหนทางต่างๆ เพื่อให้ท่านสามารถคบค้าสมาคมกับผู้คนได้มากขึ้น หากท่านเคยชินอยู่กับการพูดมากและพูดพร่ำเพรื่อ จงพูดให้น้อยลง และรับฟังการพูดของผู้อื่นให้มากขึ้น หากท่านเป็นอาจารย์และนักปรัชญา และทุกคนเป็นลูกศิษย์ของท่าน แต่ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ท่านยังไม่รู้ ดังนั้นจงเริ่มต้นศึกษาหาความรู้ในสิ่งเหล่านั้น
หากท่านเป็นผู้ที่เคร่งเครียดในการงาน และหวาดกลัวความผิดพลาดต่างๆ มากจนเกินไป ก็จงพยายามปลดเปลื้องความเคร่งเครียดและความหวาดกลัวจนเกินขอบเขตของท่านลงไปบ้าง หากท่านทำงานอยู่เพียงรูปแบบเดียว โดยไม่เคยสัมผัสกับงานด้านอื่นเลย ก็จงฝึกฝนตนเองให้ได้สัมผัสกับงานด้านอื่นๆ บ้าง เพื่อจะได้ผ่อนคลายความตึงเครียดของตนเองลง
บุคลิกภาพที่สมดุล
ในด้านจิตใจ หากท่านเป็นผู้ที่มีความอ่อนไหวและเจ้าระเบียบจนเกินไป ดังนั้นจงทำให้บุคลิกภาพของตนอยู่ในลักษณะที่พอเหมาะพอควร และจงยึดอุปนิสัยที่เป็นสายกลาง คืออุปนิสัยที่นุ่มนวล มั่นคง และยอมรับสภาพต่างๆ ได้ หากท่านเป็นคนที่ขี้อายมาก พูดน้อย และถูกโน้มน้าวให้ยอมรับในทุกหลักการและทุกความเชื่ออย่างง่ายดายจนเกินไป จงคิดใคร่ครวญให้มากขึ้น และจงมีแบบแผนให้มากขึ้นกว่าเดิม
ความอุตสาหะที่พอเหมาะกับงบประมาณที่พอควร
กุญแจสำคัญในการดำเนินชีวิตที่มีความเป็นสายกลาง คือมีโปรแกรมอาหารที่พอเหมาะพอควร ความรู้สึกอ่อนไหวที่มีความพอเหมาะพอควร งบประมาณและรายได้ที่พอเหมาะพอควร เราได้พูดคุยกันไปพอสมควรแล้วเกี่ยวกับโปรแกรมอาหารแบบอิสลาม ไม่ว่าในด้านปริมาณ วิธีการหรือคุณค่าของอาหาร ส่วนงบประมาณหรือต้นทุนที่มีความเหมาะสม จำเป็นต้องอาศัยความอุตสาหพยายามและการทำงานที่พอเหมาะพอควรด้วย หากไม่มีความอุตสาหพยายามในการทำงานก็หมายถึงการไม่มีรายได้ และการไม่มีรายได้ก็ไม่อาจที่จะจับจ่ายใช้สอยสิ่งต่างๆ ได้
ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า “โอ้ฮิชามเอ๋ย แม้ในวันที่เจ้าพบว่ากองทัพของทั้งสองฝ่ายได้มาเผชิญหน้ากัน เจ้าก็จงอย่าละทิ้งการแสวงหาปัจจัยยังชีพในวันนั้น” (11)
การรักษาไว้ซึ่งเกียรติยศและศักดิ์ศรีในท่ามกลางหมู่มิตรสหาย และเครือญาติผู้ใกล้ชิดของตนเอง รวมถึงการดำรงชีวิตอยู่อย่างยาวนานโดยปราศจากความวิตกกังวล ความสับสนและฟุ้งซ่านนั้น ขึ้นอยู่กับอาชีพการงานที่ดี และการมีรายได้ที่พอเพียงในหนทางที่มีความถูกต้องเหมาะสม ท่านอิมามริฎอ (อ.) กล่าวว่า “ความโชคดีจงมีแด่ผู้ที่ยอมรับอิสลาม และการดำรงชีพของเขาที่มีความพอเพียง” (12)
คนบางกลุ่มไม่มีแบบแผนในการดำเนินชีวิตที่เป็นกลางตามแนวทางแห่งอิสลาม พวกเขาคิดเอาเองว่าศาสนาหมายถึงการละทิ้งสังคม การกักขังตัวเองอยู่ในมุมอับ การละทิ้งโลก ละทิ้งทรัพย์สินเงินทอง และการทำลายความต้องการทั้งหมดของจิตใจลง ทั้งที่บรรดาผู้นำทางศาสนาของเรามิได้กล่าวอ้างเช่นนี้ และตัวของพวกท่านก็มิได้ปฏิบัติเช่นนี้
ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า “ไม่มีความดีงามใดๆ สำหรับผู้ที่ไม่มีความรักที่จะแสวงหาทรัพย์สินเงินทองจากหนทางที่ได้รับอนุมัติ (ฮะลาล) ซึ่งจะเป็นการรักษาไว้ซึ่งเกียรติยศและศักดิ์ศรีของเขา เขาจะใช้มันในการปลดเปลื้องหนี้สิน และใช้มันในการดูแลทุกข์สุขของเครือญาติผู้ใกล้ชิดของตน” (13)
ความเสื่อมทรามทางสังคมบางอย่าง เช่น การลักขโมย การฉ้อโกง การโกหกหลอกลวง และความเป็นศัตรูซึ่งกันและกัน ล้วนเกิดจากสาเหตุของความยากจน ความยากจนขัดสนเปรียบประดุจดังสนิมที่เกาะกินหัวใจและความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ เป็นสาเหตุของความเสื่อมทรามและความอัปยศอดสู
ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวกับบุตรชายของท่าน คือท่านอิมาม ฮาซัน (อ.) ว่า “เจ้าจงอย่าตำหนิผู้ที่แสวงหาปัจจัยยังชีพของตนเลย เพราะบุคคลใดก็ตามที่ปราศจากปัจจัยยังชีพของตนแล้ว ความผิดพลาดต่างๆ ของเขาก็จะมีมากขึ้น” (14)
ดังที่เราได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า ความอุตสาหะที่ปราศจากการยั้งคิดและมากเกินความพอดี โดยไม่ย่อมปล่อยโอกาสและเวลาให้กับการพักผ่อน การคิดใคร่ครวญ และความสุขสบายทางกายเลยนั้น มิใช่สิ่งที่น่ายกย่องสรรเสริญ บุคคลเช่นนี้กำลังหนีออกจากความเป็นสายกลางไปสู่ความสุดโต่งในชีวิตของตนเอง
อารมณ์ความรู้สึกที่เป็นสายกลาง
จากพื้นฐานที่ว่า ทุกสิ่งจำเป็นต้องดำเนินไปบนความเป็นสายกลางและความพอเหมาะพอควร ดังนั้นความวิตกกังวลต่างๆ ความเป็นมิตร ความรักใคร่และความผูกพัน ทั้งหมดเหล่านี้จะต้องถูกพิทักษ์รักษาไว้ให้อยู่ในความพอเหมาะพอควรของมัน
ความเจ็บป่วยอย่างหนึ่งของจิตใจคือ ความอิจฉาริษยา คนที่มีความอิจฉาริษยาต่อผู้อื่น ถึงแม้ว่าจะระวังรักษาสุขภาพของร่างกายเพียงใด แต่ไฟแห่งความอิจฉาริษยาที่ถูกจุดขึ้นภายในจิตใจของเขานั้น จะทำลายระบบประสาทต่างๆ ของเขา และบ่อนทำลายสุขภาพพลานามัยของเขาลง
ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า “ช่างน่าประหลาดใจเหลือเกิน สำหรับผู้ที่มีความอิจฉาริษยา ซึ่งหลงลืมจากสุขภาพพลานามัยของร่างกาย (ของตน)”
เชิงอรรถ :
(1) นะฮ์ญุล บะลาเฆาะฮ์ ฟัยฎุลอิสลาม กะลิมะฮ์ที่ 216
(2) ฆุรอรุล ฮิกัม หน้า 23
(3) นะฮ์ญุล บะลาเฆาะฮ์ ฟัยฎุลอิสลาม กะลิมะฮ์ที่ 1143
(4) อออีน ซินดะกี หน้า 60
(5) กุชัรนอเมฮ์ บะรอเย่ ซินดากีเย่ นูวีน หน้า 241
(6) อัล กุรอาน บทอัรเราะฮ์ดุ โองการที่ 28
(7) ซอด กอมี หน้า 43
(8) อออีน ซินดะกี หน้า 155
(9) กุชัรนอเมฮ์ บะรอเย่ ซินดากีเย่ นูวีน หน้า 243
(10) นะฮ์ญุล บะลาเฆาะฮ์ ฟัยฎุลอิสลาม กะลิมะฮ์ที่ 1106
(11) วะซาอิลุช ชีอะฮ์ เล่ม 12 หน้า 14 ฮะดีษที่ 4
(12) บิฮารุล อันวาร เล่ม 72 หน้า 67
(13) ฟุรูอุล กาฟี เล่ม 5 หน้า 72
(14) อัล มะวาอิซุล อะดะดียะฮ์ หน้า 127
บทความโดย : เชคมุฮัมมัด นาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2024 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่