ด้วยการช่วยเหลือผู้อื่นในการเดินทาง เราจะไม่เพียงแต่นำตัวเราเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงเท่านั้น แต่เรายังจะช่วยสร้างสังคมที่มีความเห็นอกเห็นใจและเป็นหนึ่งเดียวกันอีกด้วย พฤติกรรมเหล่านี้สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นและส่องสว่างพื้นที่การเดินทางด้วยแสงแห่งความรักและความร่วมมือ ...
การช่วยเหลือผู้อื่นในการเดินทางซิยารัต (แสวงบุญ) ถือเป็นการกระทำที่มีคุณค่าที่สุดอย่างหนึ่ง ซึ่งนอกเหนือจากการได้รับความพึงพอพระทัยจากพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ยังส่งผลอย่างมีนัยสำคัญในการเสริมสร้างจิตวิญญาณแห่งภราดรภาพและความเป็นพี่น้องในหมู่ชาวมุสลิมอีกด้วย ในทริปแสวงบุญ เช่น การเดินทางไปกัรบาลา มัชฮัด หรือการประกอบพิธีฮัจญ์ ผู้คนต้องเผชิญกับความท้าทายและความยากลำบากต่างๆ ในขณะเดียวกัน การช่วยเหลือเพื่อนร่วมเดินทางและผู้แสวงบุญอื่นๆ ไม่เพียงแต่เป็นหน้าที่ทางศาสนาเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของความมีมนุษยธรรมและความรักต่อเพื่อนมนุษย์อีกด้วย
ในหะดีษ (วจนะ) และริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ ของอิสลาม ได้เน้นย้ำการช่วยเหลือผู้อื่นในการเดินทางซิยารัต (แสวงบุญ) ทั้งหลาย การช่วยเหลือเหล่านี้อาจทำได้ในรูปแบบที่แตกต่างกัน ตั้งแต่การจัดหาอาหารและน้ำไปจนถึงการช่วยขนสิ่งของ การบอกทางที่ถูกต้อง หรือแม้แต่การมอบรอยยิ้มที่แสดงถึงความเมตตาและให้กำลังใจ การกระทำเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดความเหนื่อยล้าและความยากลำบากในการเดินทางเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างบรรยากาศทางจิตวิญญาณและความใกล้ชิดในหมู่ผู้แสวงบุญอีกด้วย
ในบางริวายะฮ์ได้ชี้ให้เห็นว่า ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จะช่วยเหลือผู้อื่นเสมอในขณะเดินทางและจะเป็นผู้นำในการทำสิ่งต่างๆ หนึ่งในริวายะฮ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดเกี่ยวกับเรื่องนี้คือริวายะฮ์ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กับสาวกกลุ่มหนึ่งของท่าน ในการเดินทางครั้งนี้ ถึงเวลาต้องจัดเตรียมอาหารเพื่อรับประทาน ผู้ร่วมเดินทางแต่ละคนต่างเสนอตัวในการรับผิดชอบงานแต่ละอย่าง เมื่อถึงคราวของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ท่านกล่าวว่า : “ฉันก็จะไปเก็บฟืนด้วย” บรรดาสาวกกล่าวว่า : “โอ้ ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ พวกเราจะทำสิ่งนี้ด้วยตัวพวกเราเอง ท่านพักผ่อนเถิด” แต่ท่านศาสดากล่าวตอบว่า : "ฉันรู้ว่าพวกท่านจะทำสิ่งนี้เพื่อฉัน แต่พระผู้เป็นเจ้าไม่ชอบที่จะเห็นบ่าวของพระองค์แสวงหาความเหนือกว่าผู้อื่น" จากนั้นท่านก็ออกไปเก็บฟืนเพื่อแสดงให้เห็นว่าทุกคนจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้อื่นและทำสิ่งต่างๆ และไม่ควรมีใครถือว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่น (1)
ริวายะฮ์นี้แสดงให้เห็นถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนและความร่วมมือของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กับคนอื่นๆ แม้ในขณะที่เดินทางและในการทำงานง่ายๆ การกระทำนี้ไม่เพียงแต่เป็นแบบอย่างแก่ชาวมุสลิมในการช่วยเหลือผู้อื่นและให้ความร่วมมือในการทำงานเท่านั้น แต่ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของความอ่อนน้อมถ่อมตนและไม่แสดงเหนือกว่าผู้อื่นอีกด้วย
อีกริวายะฮ์หนึ่งที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับท่านอิมามซัดญาด (อ.) คือในช่วงเวลาที่ท่านเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ในระหว่างการเดินทางนี้ ท่านอิมามซัจญาด (อ.) ได้ให้การช่วยเหลือเพื่อนร่วมเดินทางของท่านอย่างลับๆ เพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่รู้เกี่ยวกับการกระทำของท่าน ในริวายะฮ์นี้ได้กล่าวว่า คราใดก็ตามที่ท่านอิมามซัจญาด (อ.) ไปทำฮัจญ์พร้อมกับคาราวาน ท่านจะคอยให้การช่วยเหลือบรรดาผู้ร่วมเดินทางของท่านในตอนกลางคืนโดยไม่เปิดเผยตัวและไม่มีใครรู้จักท่าน ท่านจะทำงานต่างๆ อย่างเช่น เตรียมอาหาร เก็บฟืน และทำงานอื่นๆ บรรดาผู้ร่วมทางของท่านอิมามต่างคิดว่าท่านเป็นหนึ่งในผู้รับใช้บริการในกองคาราวาน และพวกเขาไม่รู้เกี่ยวกับตัวตนที่แท้จริงของท่าน หลังจากสิ้นสุดการเดินทางฮัจญ์ เมื่อพวกเขากลับไปยังเมืองของพวกเขา บรรดาผู้ร่วมเดินทางของท่านอิมามซัจญาด (อ.) เพิ่งจะรู้ว่าบุคคลที่คอยรับใช้พวกเขาในระหว่างการเดินทางนั้น คือ ท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) สิ่งนี้ได้สร้างความประหลาดใจและความประทับใจสำหรับพวกเขา และพวกเขาได้รับรู้ถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนของท่านอิมามมากยิ่งขึ้น (2)
ริวายะฮ์นี้แสดงให้เห็นถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนและการรับใช้อย่างที่สุดของท่านอิมามซัจญาด (อ.) ผู้ซึ่งช่วยเหลือผู้อื่นอย่างลับๆ แม้ในระหว่างการเดินทางอันศักดิ์สิทธิ์ โดยไม่คาดหวังว่าจะได้รับการชื่นชมและการขอบคุณ
บทสรุปก็คือ การช่วยเหลือผู้อื่นในการเดินทาง (แสวงบุญ) นอกเหนือจากผลรางวัลแห่งปรโลกแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ทางจิตวิญญาณของการเดินทางสำหรับทุกคนอีกด้วย สิ่งที่ควรตระหนักก็คือว่าการเดินทางเหล่านี้เป็นโอกาสที่หาได้ยากในการทำความดีและกระชับความสัมพันธ์ในระหว่างเพื่อนมนุษย์ ด้วยการช่วยเหลือผู้อื่นนั้น เราไม่เพียงแต่นำตนเองเข้าใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างสังคมที่มีความเห็นอกเห็นใจและเป็นหนึ่งเดียวกันอีกด้วย พฤติกรรมเหล่านี้สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นและส่องสว่างพื้นที่การเดินทางด้วยแสงแห่งความรักและความร่วมมือ
แหล่งที่มา :
1. มะนากิบ อาลิ อบีฏอลิบ, อิบนุชะฮ์รอชูบ, เล่ม 1, หน้า 185
2. ดอสตอน รอสตอน, หน้า 36 และ 37
แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2024 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่