การช่วยเหลือผู้ขัดสนในคำสอนของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (อ.)
การช่วยเหลือผู้ขัดสนในคำสอนของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (อ.)

ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) บทหนึ่ง ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (อ.) ได้ชี้ให้เห็นถึงสามสิ่งที่เป็นสิ่งที่รักมากที่สุดในชีวิตของท่าน โดยที่ท่านกล่าวว่า :

حُبِّبَ إلَیَّ مِنْ دُنْیاکُمْ ثَلاثٌ: تِلاوَةُ کِتابِ اللّهِ وَ النَّظَرُ فی وَجْهِ رَسُولِ‌اللّهِ(صلی الله علیه و آله و سلم) وَ الاْنْفاقُ فی سَبیلِ اللّهِ

           "สามสิ่งในโลกนี้เป็นสิ่งที่รักยิ่งสำหรับฉัน คือ : การอ่านอัลกุรอาน การมองดูใบหน้าของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) การให้และช่วยเหลือผู้ขัดสนในวิถีทางของอัลลอฮ์" (1)

    ข้อบัญญัติประการหนึ่งของศาสนา คือ การบริจาค (อินฟาก) การให้ความช่วยเหลือและปฏิบัติดีต่อผู้อื่น (อิห์ซาน) ในทางของพระเจ้า ซึ่งสามารถพบเห็นประเด็นนี้ได้ในโองการต่าง ๆ ของคัมภีร์อัลกุรอานและหะดีษที่งหลายของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) จุดประสงค์ของการให้ หรือการบริจาค (อินฟาก) ในทางของพระเจ้า คือ เพื่อแก้ปมปัญหา ขจัดความเดือดร้อนและสนองความต้องการของคนขัดสน มีระบุไว้ในอัลกุรอานโองการที่ 274 ของบท (ซูเราะฮ์) อัล บะเกาะเราะฮ์ ว่า :

الَّذِینَ یُنْفِقُونَ أَمْوَالَهُمْ بِاللَّیْلِ وَالنَّهَارِ سِرًّا وَعَلَانِیَةً فَلَهُمْ أَجْرُهُمْ عِنْدَ رَبِّهِمْ وَلَا خَوْفٌ عَلَیْهِمْ وَلَا هُمْ یَحْزَنُونَ

          "บรรดาผู้ที่ใช้จ่ายทรัพย์สินของตนทั้งในเวลากลางคืนและกลางวัน ทั้งโดยลับ และเปิดเผยนั้น รางวัลของพวกเขาอยู่ ณ พระผู้อภิบาลของพวกเขา และจะไม่มีความกลัวใดๆ เกิดขึ้นกับพวกเขา และพวกเขาก็จะไม่เศร้าโศกเสียใจ"

    ตามโองการนี้ บรรดาผู้ที่ใช้จ่ายทรัพย์สมบัติของตนไปในทางของพระเจ้า พวกเขาจะไม่หวั่นกลัวความยากจนและความยากลำบาก เพราะพวกเขาเชื่อในพระสัญญาของพระเจ้าและวางใจในพระองค์ พวกเขาไม่รู้สึกเสียใจจากการให้ของตน เนื่องจากพวกเขาหวังในความพึงพอพระทัยของพระเจ้าและผลรางวัลจากจิตกุศลของตนในชีวิตหลังความตาย การอิบาดะฮ์ (เคารพภักดีและปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของพระเจ้า) ในลักษณะนี้ ไม่ว่าจะโดยซ่อนเร้นหรือเปิดเผยก็ตาม จะมีผลรางวัลตอบแทน แม้ว่าการซ่อนเร้นในการบริจาคนี้จะมีผลรางวัลมากกว่าก็ตาม แต่ก็ควรทำอย่างเปิดเผยด้วยเพื่อสร้างวัฒนธรรม ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้อื่นทำความดี

    การใช้จ่ายในทางของพระเจ้าเป็นเครื่องหมายของการเสียสละและการไม่ยึดติดของมนุษย์ต่อปัจจัยทางวัตถุ และโดยการให้อย่างบริสุทธิ์ใจ (อิคลาศ) และปราศจากความโอ้อวด (ริยาอ์)  ที่จะทำให้มนุษย์สามารถบรรลุถึงความพึงพอพระทัยของพระเจ้าได้ ในหะดีษต่าง ๆ จากอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ที่มาถึงเรา การบริจาคและการดูแลความทุกข์สุขของเพื่อนมนุษย์และการตอบสนองความต้องการของพวกเขา ถือเป็นการกระทำความดีที่ดีที่สุด และผู้ที่ไม่ใส่ใจต่อชะตากรรมของพี่น้องมุสลิมของตนนั้นจะถูกตำหนิประณาม ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) บทหนึ่งจากท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ท่านกล่าวว่า :

مَن عالَ يَتيماً حَتّي يَستَغنِيَ أوجَبَ اللَّهُ لَهُ بِذلكَ الجَنَّةَ

          "ใครก็ตามที่ดูแลเด็กกำพร้าจนกระทั่งเขาพอเพียง อัลลอฮ์จะทรงทำให้สวรรค์เป็นวาญิบ (สิ่งที่จำเป็นจะต้องได้รับ) สำหรับเขาด้วยผลของการกระทำดังกล่าว" (2)

    ท่านอมีรุลมุอ์มินีน อะลี (อ.) ก็ถือว่า ผู้ศรัทธาที่เป็นที่รักที่สุดในสายพระเนตรของพระเจ้าคือผู้ที่ช่วยเหลือผู้ศรัทธาที่ยากจนขัดสนที่ประสบความยากลำบากในชีวิตทางโลกและความเป็นอยู่ของเขา โดยท่านกล่าวว่า :

إنَّ أحَبَّ المُؤمنِينَ إلَي اللَّهِ مَن أعانَ المُؤمِنَ الفَقيرَ مِنَ الفَقرِ في دُنياهُ و مَعاشِهِ

           "แท้จริงผู้ศรัทธาที่เป็นที่รักยิ่ง ณ อัลลอฮ์ คือผู้ที่ช่วยเหลือผู้ศรัทธาที่ยากจนขัดสนในการดำรงชีวิตทางโลกของเขา" (3)

    การใช้จ่าย (อินฟาก) ในทางของพระเจ้า นอกจากจะมีผลมากมายในโลกหน้าแล้ว ยังมีผลมากมายย้อนกลับมาสู่ตัวผู้ที่ใช้จ่ายในทางของพระเจ้าในโลกนี้อีกด้วย ดังที่ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า :

اَيُّما مُؤمِنٍ نَفَّسَ عَن مُؤمِنٍ كُربَةً نَفَّسَ اللَّهُ عَنهُ سَبعينَ كُربَةً مِن كُرَبِ الدُّنيا و كُرَبِ يَومِ القيامَةِ

          “ผู้ศรัทธาคนใดก็ตามที่ขจัดความทุกข์ยากหนึ่งออกไปจากผู้ศรัทธา อัลลอฮ์จะทรงขจัดความทุกข์ยากเจ็ดสิบประการของโลกนี้และโลกหน้าให้พ้นจากเขา" (4)

    ท่านอิมามอะลี (อ.) ก็ได้กล่าวไว้เช่นกันในการอธิบายถึงกฎ (กอนูน) หนึ่งจากกฎแห่งพระเจ้าที่ถูกวางไว้ในสังคมมนุษย์ โดยกล่าวว่า :

کَما تُعینُ تُعانُ

          "ท่านจะได้รับความช่วยเหลือ เช่นเดียวกับที่ท่านได้ให้ความช่วยเหลือ" (5)


เชิงอรรถ :

(1) นะฮ์ญุลหะยาต, เล่ม 1, หน้า 271

(2) อัลกาฟี, เล่ม 7, หน้า 51

(3) บิฮารุลอันวาร, เล่ม 75, หน้า 261

(4) วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่ม 16, หน้า 371

(5) ฆุร่อรุลหิกัม, หะดีษที่ 7209


บทความ : เชคมุฮัมมัดน่อีม ประดับญาติ

Copyright © 2024 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่