บทคัดย่อ : หนึ่งในคำสั่งที่สำคัญยิ่งของอิสลามคือคำสั่งในการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับเครือญาติ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลที่ดีงามมากมายสำหรับมนุษย์ ส่วนหนึ่งจากผลที่ดีงามเหล่านี้คือการมีขุมกำลังที่สามารถจะให้การค้ำจุนและการสนับสนุนที่แข็งแกร่งแก่ตัวเราในช่วงเวลาที่เผชิญกับปัญหาและความทุกข์ยากต่างๆ ในชีวิต ในเนื้อหาในบทความต่อไปนี้ เราจะมาพิจารณาและรับรู้โดยสังเขปเกี่ยวกับการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับเครือญาติในมุมมองของอิสลาม
การผูกสัมพันธ์กับเครือญาติ
การเสริมสร้างความสัมพันธ์กับเครือญาติและการทำดีต่อพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อบิดาและมารดาเป็นหนึ่งในแนวทางที่สำคัญที่สุดในความเจริญก้าวหน้าและความสำเร็จในทุกด้าน (1) และความใกล้ชิดต่อพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูส่ง (2) โดยที่ถูกนับว่าเป็นการกระทำ (อะมั้ล) ทางศาสนาที่มีความประเสริฐที่สุดหลังจากการมีความศรัทธา (อีหม่าน) ในพระผู้เป็นเจ้า (3) ซึ่งมีรางวัลและผลตอบแทนทั้งทางวัตถุและจิตวิญญาณมากมาย (4) การเสริมสร้างความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งถึงขั้นที่ว่า ฉันทามติ (อิจญ์มาอ์) ของบรรดานักวิชาการศาสนาของชีอะฮ์ถือว่าเป็นหนึ่งในวาญิบ (ข้อบังคับ) ที่สำคัญทางศาสนาที่วางอยู่บนพื้นฐานของหลักฐานสามประการ อันได้แก่ คัมภีร์อัลกุรอาน ซุนนะฮ์ (แบบฉบับของศาสดา) และสติปัญญา (อักล์) (5) และเพื่อที่จะบรรลุในสิ่งดังกล่าวนี้ ได้ถูกกำชับสั่งเสียแม้จะต้องใช้เวลาในการเดินทางถึงหนึ่งปีก็ตาม (6)
การตัดความสัมพันธ์กับเครือญาติก็ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการทำลายพันธสัญญาต่อพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง (7) และเป็นที่น่ารังเกียจอย่างยิ่ง ณ พระผู้เป็นเจ้า โดยที่พระองค์ห้ามไม่ให้มีการคบหาสมาคมและการร่วมทางกับผู้ที่ตัดความสัมพันธ์กับเครือญาติ (8) และพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงสาปแช่ง (ละอ์นัต) เขาไว้ในสามแห่งของคัมภีร์อัลกุรอาน (9) ในหลักนิติศาสตร์อิสลาม (ฟิกฮ์) ก็ถือว่าการตัดความสัมพันธ์กับเครือญาตินั้นเป็นส่วนหนึ่งจากบาปใหญ่ (10) ซึ่งถูกนับว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุของความตายและความหายนะอย่างรวดเร็วของมนุษย์ (11) นอกจากนี้ยังได้ถูกกล่าวไว้อีกว่า : กลิ่นของสวรรค์ที่จะมาถึงในระยะทางหนึ่งพันปีนั้น จะไม่มาสัมผัสกับผู้ที่ตัดความสัมพันธ์กับเครือญาติ (12)
ความสำคัญของการผูกสัมพันธ์กับเครือญาติ
พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งทรงตรัสว่า :
وَ إِذْ أَخَذْنا ميثاقَ بَني إِسْرائيلَ لا تَعْبُدُونَ إِلاَّ اللَّهَ وَ بِالْوالِدَيْنِ إِحْساناً وَ ذِي الْقُرْبي
"และจงรำลึกถึงขณะที่เราได้เอาคำมั่นสัญญาจากวงศ์วานอิสรออีลว่า พวกเจ้าจะต้องไม่เคารพสักการะ (สิ่งอื่นใด) นอกจากอัลลอฮ์เท่านั้น และจงทำดีต่อผู้ให้กำเนิดทั้งสองและเครือญาติที่ใกล้ชิด ...." (13)
ท่านศาสดา(ซ็อลฯ) กล่าวว่า :
أَلاَ أَدُلُّكُمْ عَلَى خَيْرِ أَخْلاَقِ اَلدُّنْيَا وَ اَلْآخِرَةِ قَالُوا بَلَى يَا رَسُولَ اَللَّهِ قَالَ مَنْ وَصَلَ مَنْ قَطَعَهُ
"จะให้ฉันชี้แนะแก่พวกท่านไหมถึงผู้ที่มีจริยธรรมที่ดีงามที่สุดทั้งในโลกและปรโลก? พวกเขาตอบว่า : ใช่! ท่านกล่าวว่า : คนที่ผูกสัมพันธ์กับผู้ที่ตัดความสัมพันธ์กับเขา...." (14)
การผูกสัมพันธ์กับเครือญาติมีความสำคัญยิ่ง ณ พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง โดยที่พระองค์ได้ทรงกำหนดมันให้เป็นการอิบาดะฮ์ที่จะได้รับการประทานผลรางวัลรวดเร็วที่สุด ซึ่งนอกเหนือจากผลรางวัลในปรโลกแล้วพระองค์ยังได้ทรงกำหนดผลรางวัลล่วงหน้าในโลกนี้ไว้สำหรับมันอีกด้วย แม้กระทั้งครอบครัวของผู้กระทำชั่วก็ตาม โดยการระวังรักษาความสัมพันธ์กับเครือญาตินั้นจะทำให้ความมั่งคั่งของพวกเขาเพิ่มพูนขึ้นและโดยการทำดีต่อผู้อื่นจะทำให้อายุขัยของพวกเขาเพิ่มพูน (15)
ในอีกริวายะฮ์ (คำรายงาน) หนึ่งเกี่ยวกับความสำคัญของเรื่องนี้ ได้มีรายงานมาจากท่านอิมามริฎอ (อ.) ซึ่งท่านกล่าวว่า :
إِنَّ اَللَّهَ عَزَّ وَ جَلَّ أَمَرَ بِثَلاَثَةٍ مَقْرُونٍ بِهَا ثَلاَثَةٌ أُخْرَى أَمَرَ بِالصَّلاَةِ وَ اَلزَّكَاةِ فَمَنْ صَلَّى وَ لَمْ يُزَكِّ لَمْ تُقْبَلْ مِنْهُ صَلاَتُهُ وَ أَمَرَ بِالشُّكْرِ لَهُ وَ لِلْوَالِدَيْنِ فَمَنْ لَمْ يَشْكُرْ وَالِدَيْهِ لَمْ يَشْكُرِ اَللَّهَ وَ أَمَرَ بِاتِّقَاءِ اَللَّهِ وَ صِلَةِ اَلرَّحِمِ فَمَنْ لَمْ يَصِلْ رَحِمَهُ لَمْ يَتَّقِ اَللَّهَ عَزَّ وَ جَلَّ
“แท้จริงอัลลอฮ์ผู้ทรงเกริกเกียรติผู้ทรงเกรียงไกรทรงสั่งใช้สามสิ่งคู่กับอีกสามสิ่ง คือ : พระองค์สั่งใช้การนมาซและซะกาต ดังนั้นผู้ใดที่ทำนมาซในขณะที่เขาไม่จ่ายซะกาต การนมาซของเขาจะไม่ถูกยอมรับ และพระองค์ทรงสั่งใช้ให้ขอบคุณพระพระองค์และพ่อแม่ของเขา ดังนั้นผู้ใดก็ตามที่ไม่ขอบคุณพ่อแม่ของเขา เขาก็ไม่ได้ขอบคุณอัลลอฮ์ และพระองค์ทรงสั่งใช้ให้มีตักวา (ความยำเกรงพระองค์) และการผูกสัมพันธ์กับเครือญาติ ดังนั้นผู้ใดก็ตามที่ไม่ผูกสัมพันธ์กับเครือญาติ เขาก็ไม่ได้มีตักวา (ความยำเกรง) ต่ออัลลอฮ์ทรงเกริกเกียรติผู้ทรงเกรียงไกร” (16)
ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :
أُوصِي الشَّاهِدَ مِنْ أُمَّتِي وَالْغَائِبَ مِنْهُمْ وَمَنْ فِي أَصْلَابِ الرِّجَالِ وَأَرْحَامِ النِّسَاءِ إِلَى يَوْمِ الْقِيَامَةِ: أَنْ يَصِلَ الرَّحِمَ وَإِنْ كَانَتْ مِنْهُ عَلَى مَسِيرَةِ سَنَةٍ فَإِنَّ ذَلِكَ مِنَ الدِّينِ
"ฉันขอสั่งเสียผู้ที่อยู่ (ในที่นี้) และผู้ที่ไม่อยู่จากประชาชาติของฉัน และผู้ที่ยังอยู่ในไขสันหลังของเหล่าบุรุษและในครรภ์ของเหล่าสตรี จวบจนถึงวันแห่งการพิพากษาว่า เขาจงผูกสัมพันธ์กับเครือญาติ แม้ว่าจะห่างไกลจากเขาในระยะการเดินทางถึงหนึ่งปีก็ตาม เพราะแท้จริงนั่นคือส่วนหนึ่งของศาสนา” (16)
ผลของการผูกสัมพันธ์กับเครือญาติ
การผูกสัมพันธ์กับเครือญาติมีผลรางวัลที่สำคัญมากมายทั้งในโลกนี้และปรโลก ส่วนหนึ่งจากผลรางวัลเหล่านั้น คือ :
ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กล่าวว่า : “ใครก็ตามที่ปรารถนาจะให้อายุขัยของเขายืดยาวออกไปและมีความกว้างขวางในปัจจัยดำรงชีพ ดังนั้นเขาจงยำเกรงอัลลอฮ์และจงผูกสัมพันธ์กับเครือญาติของเขาเถิด” (18) นอกจากนี้ท่านยังกล่าวอีกว่า : “คนซึ่งอายุขัยของเขาเหลืออยู่เพียงสามปี ด้วยกับการผูกสัมพันธ์กับเครือญาติ อัลลอฮ์ได้ทรงยืดอายุขัยของเขาออกไปถึงสามสิบปี” (19) ในอีกริวายะฮ์ (คำรายงาน) หนึ่ง ท่านกล่าวว่า : “ผู้ใดที่ให้ประกันการกระทำ (อะมั้ล) หนึ่งต่อฉัน ฉันจะให้ประกันแก่เขาสี่อย่าง คือ : ใครก็ตามที่ผูกสัมพันธฺกับเครือญาติของเขา อัลลอฮ์ ผู้ทรงสูงส่งจะทรงรัก จะทรงทำให้เขามีปัจจัยดำรงชีพที่กว้างขวาง จะทรงยึดอายุขัยแก่เขาและจะทรงทำให้เขาเข้าสู่สวรรค์ที่พระองค์ทรงสัญญาไว้” (20)
ท่านอิมามบากิร (อ.) กล่าวว่า :
صِلَةُ الرَّحِمِ تُزَكِّي الْأَعْمَالَ، وَ تُنْمِي الْأَمْوَالَ، وَ تُيَسِّرُ الْحِسَابَ، وَ تَدْفَعُ الْبَلْوَى، وَ تَزِيدُ فِي الْأَعْمَارِ
"การผูกสัมพันธ์กับเครือญาติจะทำให้การกระทำ (อะมั้ล) ทั้งหลายสะอาดบริสุทธิ์ จะทำให้ทรัพย์สินเพิ่มพูน จะทำให้การตรวจสอบบัญชีง่ายดาย จะปัดป้องความทุกข์ยากและจะเพิ่มอายุขัย" (21)
ท่านศาสดามูซา (อ.) ได้ทูลถามพระผู้เป็นเจ้าว่า :
إِلَهِي، فَمَا جَزَاءُ مَنْ وَصَلَ رَحِمَهُ؟ قَالَ: يَا مُوسَى، أُنْسِي لَهُ أَجَلَهُ وَ أُهَوِّنُ عَلَيْهِ سَكَرَاتِ اَلْمَوْتِ، وَ تُنَادِيهِ خَزَنَةُ اَلْجَنَّةِ: هَلُمَّ إِلَيْنَا فَادْخُلْ مِنْ أَيِّ أَبْوَابِهَا شِئْتَ
“ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าของข้าฯ! อะไรคือรางวัลของคนที่ผูกสัมพันธ์กับเครือญาติของเขา?” พระองค์ทรงตรัสว่า : “โอ้มูซาเอ๋ย! ข้าจะยืดอายุขัยให้แก่เขาและจะทำให้ความทุรนทุรายของความตายเป็นสิ่งง่ายดายสำหรับเขา และทวยเทพแห่งสวรรค์จะประกาศเรียกเขาว่า : จงมาหาเราเถิดและจงเข้าไปทางประตูใดก็ตามที่ท่านต้องการ” (22)
ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า :
صِلَةُ الرَّحِمِ وَحُسْنُ الْجِوَارِ وَحُسْنُ الْخُلُقِ يُعَمِّرَانِ الدِّيَارَ وَيَزِيدَانِ فِي الْأَعْمَارِ
“การผูกสัมพันธ์กับเครือญาติ การทำดีต่อเพื่อนบ้านและการมีมารยาทที่งดงามนั้นจะทำให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองและเพิ่มอายุขัย” (23)
ผลของการตัดความสัมพันธ์กับเครือญาติ
ท่านอิมามริฎอ (อ.) กล่าวว่า : พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดให้ความยำเกรงต่อพระองค์อยู่คู่กับการผูกสัมพันธ์กับเครือญาติ ดังนั้นผู้ใดก็ตามที่ไม่ผูกสัมพันธ์กับเครือญาติ เขาก็ไม่มีความยำเกรงต่อพระองค์ (24) และผลของมันคือการกระทำความดีของเขาจะไม่ถูกตอบรับ (25) และการกระทำของเขาจะมีผลพวงที่เลวร้ายทั้งในโลกนี้และในปรโลก
ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :
قَطِيْعَةُ الرَّحِمِ تَحْجِبُ الدُّعَاءَ
"การตัดสัมพันธ์กับเครือญาติจะปิดกั้นดุอาอ์" (26)
นอกจากนี้ท่านยังกล่าวว่า :
وَ إِذَا قَطَعُوا الْأَرْحَامَ جُعِلَتِ الْأَمْوَالُ فِي أَيْدِي الْأَشْرَارِ
"และเมื่อพวกเขาตัดสัมพันธ์กับเครือญาติ ทรัพย์สินของเขาจะถูกทำให้ไปอยู่ในมือของบรรดาคนชั่ว" (27)
มีรายงานจากท่านอิมามบากิร (อ.) ว่า :
أَرْبَعَةٌ أَسْرَعُ شَيْءٍ عُقُوبَةً .... رَجُلٌ يَصِلُ قَرَابَتَهُ وَ يَقْطَعُونَهُ
"หนึ่งในสี่บาปที่โทษทัณฑ์ของมันจะส่งผลอย่างรวดเร็วคือ การที่คนผู้หนึ่งได้ผูกสัมพันธ์กับเครือญาติของตน แล้วเขาได้ตัดขาดมัน" (28)
มีรายงานจากท่านอิมามซอดิก (อ.) เช่นกันว่า :
الذُّنُوبُ الَّتِي تُعَجِّلُ الْفَنَاءَ: قَطِيعَةُ الرَّحِمِ
"บาปที่จะเร่งความพินาศ คือ การตัดความสัมพันธ์กับเครือญาติ" (29)
ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า : ชายคนหนึ่งซึ่งอายุขัยของเขายังคงเหลืออยู่อีกสามสิบสามปี เขาได้ตัดความสัมพันธ์กับเครือญาติ ดังนั้นอัลลอฮ์จึงทรงลดอายุขัยของเขาเหลือเพียงสามปี" (30)
ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กล่าวว่า : ในวันกิยามะฮ์ คนผู้หนึ่งที่ดูเหมือนจะอยู่ในแนวทางที่ดีงาม แต่ทันใดที่เครือญาติที่เขาได้ตัดความสัมพันธ์ได้มาถึงเขา เครือญาติผู้นั้นก็ทำให้ตกลงไปหุบเหวที่ลึกที่สุดของนรก (31) ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ยังกล่าวอีกว่า : กลิ่นของสวรรค์จะมาถึงจากระยะทางถึงหนึ่งพันปี และผู้ที่เนรคุณต่อบิดามารดาและผู้ที่ตัดสัมพันธ์กับเครือญาตินั้นจะไม่ได้สัมผัสกับมัน (32)
สาเหตุบางประการของการทำลายความสัมพันธ์ทางเครือญาติ
การตัดสัมพันธ์กับเครือญาติและการไม่เคารพเกียรติของบิดามารดานั้น มีสาเหตุและปัจจัยต่างๆ มากมาย แต่จะกล่าวถึงเพียงปัจจัยสำคัญสองประการ คือ : การขาดความละอายใจและความโลภหลง : ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวกับมุฟัฎฎ็อลว่า :
فَإِنَّ مِنَ النّاسِ مَنْ لَوْﻻَ الْحَياَءُ لَمْ يَرْعَ حَقَّ وَالِدَيْهِ، وَ لَمْ يَصِلْ ذَا رَحِمٍ
"มนุษย์บางคนหากขาดความละอายใจ เขาจะไม่ระวังรักษาสิทธิของบิดามารดาของเขา และจะไม่ผูกสัมพันธ์กับเครือญาติ" (33)
ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ก็ได้กล่าวเช่นกันว่า :
إِيَّاكُمْ وَ الشُّحَّ فَإِنَّهُ دَعَا الَّذِينَ مِنْ قَبْلِكُمْ حَتَّى سَفَكُوا دِمَاءَهُمْ وَ دَعَاهُمْ حَتَّى قَطَعُوا أَرْحَامَهُمْ
"ท่านทั้งหลายจงระวังความโลภหลง เพราะมันได้นำบรรดาบุคคลก่อนหน้าพวกท่านไปสู่การหลั่งเลือดกัน และนำพวกเขาไปสู่การตัดสัมพันธ์กับเครือญาติของพวกเขา" (34)
เชิงอรรถ :
(1).อัลกาฟี , เชคกุลัยนี, เล่ม 1, หน้า 157
(2).อัลคิซ้อล, เชคซอดูก, หน้า 156
(3).อัลกุรอานบทอัลบากอเราะฮ์, โองการที่ 83 ; บทอันนิซาอ์, โองการที่ 36 ; บทอัลอันอาม, โองการที่ 151
(4).อัลกาฟี , เชคกุลัยนี, เล่ม 1, หน้า 157
(5).มะฟาตีฮุชชะรอเยี๊ยะอ์, เฟฎ กาชานี, เล่ม 2, หน้า 7-8
(6).อัลฟะกีฮ์, เชคซอดูก, เล่ม 4, หน้า 361
(7).อัลกุรอานบทอัลบากอเราะฮ์, โองการที่ 27 ; บทอัรเราะอ์ดุ, โองการที่ 25
(8).อัลกาฟี , เชคกุลัยนี, เล่ม 1, หน้า 641
(9).อัลกุรอานบทอัลบากอเราะฮ์, โองการที่ 27 ; บทอัรเราะอ์ดุ, โองการที่ 25 ; บทมุฮัมมัด, โองการที่ 22-23
(10).ตะห์รีรุ้ลวะซีละฮ์, อิมามโคมัยนี, เล่ม 1, หน้า 274
(11).อิละลุชชะรอเยี๊ยะอ์, เชคซอดูก, หน้า 584
(12).อัลกาฟี , เชคกุลัยนี, เล่ม 6, หน้า 50
(13).อัลกุรอานบทอัลบากอเราะฮ์, โองการที่ 83
(14).อัซซุฮ์ดุ, ฮุเซน บินซะอีด บินฮิมาด อัลกูฟี อัลอะฮ์วาซี, หน้า 39
(15).อัลคิซ้อล, เชคซอดูก, หน้า 124
(16).อัลคิซ้อล, เชคซอดูก, หน้า 159
(17).อัลกาฟี , เชคกุลัยนี, เล่ม 2, หน้า 151
(18).อัซซุฮ์ดุ, ฮุเซน บินซะอีด บินฮิมาด อัลกูฟี อัลอะฮ์วาซี, หน้า 39
(19).ตัฟซีรอัลอัยยาชี, เล่ม 2, หน้า 220
(20).อุยูน อัคบาร อัรริฎอ (อ.), เชคซอดูก, เล่ม 2, หน้า 37
(21).อัลกาฟี , เชคกุลัยนี, เล่ม 2, หน้า 150
(22).เราฎอตุลวาอิซีน, ฟัตตาล นัยซาบูรี, หน้า 370
(23).อัลกาฟี , เชคกุลัยนี, เล่ม 2, หน้า 152
(24).อัลคิซ้อล, เชคซอดูก, หน้า 156
(25).อัลกุรอานบทอัลมาอิดะฮ์, โองการที่ 27
(26).มุสตัดร็อก อัลวะซาอิล, มีรซา ฮุเซน นูรี, เล่ม 15, หน้า 185
(27).อัลกาฟี , เชคกุลัยนี, เล่ม 2, หน้า 374
(28).อัลคิซ้อล, เชคซอดูก, หน้า 230
(29).อิละลุชชะรอเยี๊ยะอ์, เชคซอดูก, หน้า 584
(30).อัลกาฟี , เชคกุลัยนี, เล่ม 2, หน้า 153
(31).อัลกาฟี , เชคกุลัยนี, เล่ม 2, หน้า 156
(32).อัลกาฟี , เชคกุลัยนี, เล่ม 2, หน้า 349
(33).เตาฮีด มุฟัฎฎ็อล, หน้า 79
(34).อัลคิซ้อล, เชคซอดูก, หน้า 176
แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่