ขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีต่างๆ ที่ผิดพลาดของญาฮิลียะฮ์ (ยุคมืด) ยังไม่สามารถลบเลือนออกไปได้อย่างหมดสิ้นจากมวลมุสลิมในยุคเริ่มแรกของอิสลาม และจากประชาชนกลุ่มหนึ่งทั้งๆ ที่เป็นมุสลิมแล้วก็ตาม เขม่าทางความนึกคิดและประเพณีต่างๆ แบบญาฮิลียะฮ์ (ความงมงาย) ยังคงหลงเหลืออยู่ในสมองของพวกเขา และการที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ให้เด็กผู้หญิงนั่งลงบนตักของท่าน และแสดงออกด้วยความรักความเอ็นดูต่อเด็กผู้หญิง พวกเขาจะแสดงความรู้สึกไม่พอใจอย่างรุนแรง
คัมภีร์อัลกุรอานได้เปิดเผยให้เห็นความคิดและความเชื่อถือต่างๆ ของญาฮิลียะฮ์ ในยุคญาฮิลียะฮ์ (ยุคมืด) พวกเขาจะฝังทารกผู้หญิงทั้งเป็นและพร้อมที่จะยอมรับความอับอายต่างๆ ทุกรูปแบบ แต่พวกเขากลับถือว่าความน่าอับอายของการมีบุตรีนั้นคือความหายนะอันยิ่งใหญ่ ซึ่งไม่มีผู้ใดสามารถแบกรับมันได้ คราใดก็ตามที่พวกเขาได้รู้ข่าวการถือกำเนิดบุตรีคนหนึ่งของตน พวกเขาจะมีใบหน้าหม่นหมองและดำสนิทซึ่งเกิดจากความโกรธจัด
وَإِذَا بُشِّرَ أَحَدُهُم بِالْأُنثَىٰ ظَلَّ وَجْهُهُ مُسْوَدًّا وَهُوَ كَظِيمٌ
“และเมื่อคนใดจากพวกเขาได้รับแจ้งข่าว (การกำเนิด) ของลูกผู้หญิง ใบหน้าของเขาก็จะหมองคล้ำ ในสภาพที่เขาเป็นผู้โกรธกริ้ว” (1)
และจะหนีหน้าออกจากผู้คนเนื่องจากความอับอาย
يَتَوَارَىٰ مِنَ الْقَوْمِ مِن سُوءِ مَا بُشِّرَ بِهِ ۚ
“เขาจะหลบซ่อนตัวจากหมู่ชนเนื่องจากความเลวร้ายของสิ่งที่เขาได้รับแจ้งข่าว” (2)
ร่องรอยต่างๆ ของวัฒนธรรมแบบญาฮิลียะฮ์ยังคงปรากฏอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของประชาชน ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้ยืนหยัดอย่างมั่นคงและแข็งแกร่ง เพื่อทำลายล้างความรู้สึกนึกคิดที่ไร้เหตุผลและจารีตประเพณีต่างๆ แบบญาฮิลียะฮ์นี้ และได้ต่อสู้เพื่อขจัดมันออกไปให้หมดสิ้น
วันหนึ่งประชาชนได้แจ้งข่าวแก่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ถึงลูกสาวคนหนึ่งที่ได้ถือกำเนิดขึ้นมา ในสถานการณ์ดังกล่าวท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้มองดูใบหน้าของบรรดาสาวก ใบหน้าของพวกเขาทั้งหมดบูดบึ้ง ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้กล่าวกับพวกเขาว่า “อะไรเกิดขึ้นกับพวกท่านกระนั้นหรือ ทำไมพวกท่านจึงแสดงออกถึงความไม่พอใจ เด็กผู้หญิงคนนี้คือดอกไม้ที่หอมหวานซึ่งฉันจะได้สัมผัสกลิ่นไอของเธอ และริษกี (ปัจจัยดำรงชีพ) ของเธอก็อยู่กับอัลลอฮ์” (3)
จริยธรรมอันสะอาดบริสุทธิ์ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) จะต้องเป็นแบบอย่างสำหรับบิดาและมารดาทั้งมวลของสังคมอิสลาม พวกเขาจะต้องรักบรรดาบุตรีของตนเอง และแสดงออกต่อพวกเธอด้วยความเมตตาและความเอื้ออาทร อย่าได้ปล่อยให้ความรู้สึกนึกคิดที่ผุเปื่อยแบบญาฮิลียะฮ์เข้ามาสัมผัสพวกเขา จนทำให้รู้สึกเศร้าเสียใจจากการมีบุตรี และทำให้เด็กผู้หญิงทั้งหลายต้องได้รับความอับเฉาและรู้สึกถึงปมด้อยในความเป็นลูกผู้หญิงของตนเอง
คำตอบอันหนักแน่นของท่านอิมามซอดิก (อ.)
เด็กผู้หญิงในวันนี้คือมารดาในวันหน้า และมหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ผู้มีเกียรติ คนดีมีคุณธรรม และผู้จรรโลงสร้างอารยธรรมต่างๆ ของมวลมนุษย์ได้ปรากฏขึ้นมาและไปถึงยังระดับอันสูงส่งต่างๆ แห่งความสมบูรณ์ ภายใต้การอบรมเลี้ยงดูและความจำเริญ (บะรอกัต) แห่งการมีของเหล่ามารดาผู้สะอาดบริสุทธิ์และเปรี่ยมไปด้วยสติปัญญา จากจุดนี้เองทำให้ประจักษ์ได้ถึงบทบาทอันสำคัญของบรรดาเด็กผู้หญิงในอนาคตได้เป็นอย่างดี
วันหนึ่งชายผู้หนึ่งได้ให้กำเนิดบุตรี ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้พบเห็นชายผู้นั้นในสภาพที่โกรธกริ้วอย่างรุนแรง ท่านได้กล่าวว่า “เจ้าคิดอะไรกระนั้นหรือ หากพระผู้เป็นเจ้าได้ทรงดลวะห์ยูมายังเจ้า และทรงตรัสกับเจ้าว่า จะให้ข้าเลือกให้แก่เจ้าหรือตัวเจ้าจะเลือกเอง เจ้าจะกล่าวอย่างไร”
ชายผู้นั้นกล่าวว่า “ข้าพเจ้าจะตอบว่า ข้าพระองค์ขอน้อมรับด้วยความยินดีต่อทุกสิ่งที่พระองค์จะทรงเลือกให้แก่ข้าพระองค์”
ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวว่า “พระผู้เป็นเจ้าทรงเลือกบุตรีผู้นี้ให้แก่เจ้าแล้ว” หลังจากนั้นท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวว่า “เด็กชายคนนั้นผู้ซึ่งถูกสังหารโดยบุรุษผู้ทรงความรู้ (ท่านคิเฎร) ในขณะเดินทางร่วมกับศาสดามูซา (อ.) โดยที่เรื่องราวของเขาได้ปรากฏอยู่ในคัมภีร์อัลกุรอานว่า
فَأَرَدْنَا أَن يُبْدِلَهُمَا رَبُّهُمَا خَيْرًا مِّنْهُ زَكَاةً وَأَقْرَبَ رُحْمًا
“ดังนั้นเราปรารถนาที่พระผู้เป็นเจ้าของทั้งสองจะทรงเปลี่ยนบุตรที่ดีกว่าให้แก่ทั้งสองในด้านความบริสุทธิ์ และเป็นผู้ใกล้ชิดต่อความเมตตา (ของพระองค์) มากกว่า” (4)
และแล้วพระองค์ได้ทรงมอบบุตรีคนหนึ่งให้แก่บุคคลทั้งสองเพื่อทดแทนบุตรชายตัวน้อยผู้นั้น โดยที่ (จากเชื้อสายของบุตรีผู้นี้) ศาสดาเจ็ดสิบท่านได้ถือกำเนิดขึ้นมา” (5)
เกี่ยวกับเรื่องนี้มีคำรายงาน (ริวายะฮ์) จำนวนมากได้มาถึงพวกเรา ท่านมัรฮูม เชดฮุรุลอามิลี เจ้าของหนังสือ “วะซาอิลุชชีอะฮ์” ได้แบ่งมันออกเป็นหลายหมวดหมู่ ซึ่งเราจะขอบ่งชี้ถึงบางส่วนเกี่ยวกับเรื่องนี้
- การสร้างความปีติยินดีให้แก่บุตรสาว
ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า “ผู้ใดก็ตามที่ไปยังตลาดและได้ซื้อของฝากบางอย่างเพื่อนำไปให้ครอบครัวของตนนั้น เปรียบได้ดั่งผู้ที่นำพาซอดาเกาะฮ์ (ทานบริจาค) ไปมอบให้แก่บรรดาผู้ขัดสน และเมื่อเขาประสงค์ที่จะมอบของฝากนั้นให้แก่คนในครอบครัว เขาจงเริ่มด้วยการมอบให้แก่ลูกสาวก่อนลูกชาย เพราะแท้จริงผู้ใดก็ตามที่ทำให้ลูกสาวของตนปีติยินดีนั้น ประดุจดั่งเขาได้ปลดปล่อยทาสคนหนึ่งจากลูกหลานของอิสมาอีล (อ.) และผู้ใดก็ตามที่ทำให้บุตรคนหนึ่งของตนปีติยินดี ประดั่งเขาได้ร้องไห้เนื่องจากความเกรงกลัวต่ออัลลอฮ์ และผู้ใดก็ตามที่ร้องไห้เนื่องจากความเกรงกลัวอัลลอฮ์ อัลลอฮ์จะทรงทำให้เขาเข้าสู่สรวงสวรรค์อันเปรี่ยมไปด้วยความสุขสบาย” (6)
- รางวัลตอบแทนในการทำดีต่อบุตรสาว
มีรายงานจากท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ซึ่งท่านกล่าวว่า
“ผู้ใดก็ตามที่มีน้องสาวหรือลูกสาวสองคน และเขาได้ทำดีต่อพวกเธอ ฉันและเขาผู้นั้นจะอยู่เคียงข้างกันในสรวงสวรรค์เสมือนดังสองสิ่งนี้” ท่านได้ยกมือให้ดูที่นิ้วชี้และนิ้วกลางของท่าน (7)
- การเลี้ยงดูบุตรสาวคือโล่ป้องกันจากไฟนรก
ท่านอิบนุมัสอูด ได้อ้างรายงานจากท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ซึ่งกล่าวว่า “ผู้ใดที่มีลูกสาวคนหนึ่ง แล้วเขาได้อบรมเลี้ยงดูเธอ ทำให้เธอมีมารยาทที่ดีงาม และอบรมสั่งสอนเธออย่างดีเยี่ยม อีกทั้งให้ความสะดวกสบายแก่เธอจากเนี๊ยะอ์มัต (ความโปรดปราน) ต่างๆ ที่อัลลอฮ์ได้ทรงมอบให้แก่เขา สิ่งนั้นจะเป็นสื่อป้องกันเขาจากไฟนรก” (8)
- การให้เกียรติต่อบุตรสาว
ท่านอิบนุอับบาส ได้เล่าว่า ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า “ผู้ใดก็ตามที่มีลูกสาว และเขาไม่เคยทำร้ายเธอ ไม่ดูถูกเหยียดหยามเธอ และไม่ให้ความสำคัญต่อลูกชายมากกว่าเธอ อัลลอฮ์จะทรงทำให้เขาเข้าสู่สรวงสวรรค์” (9)
- ความปรารถนาที่จะให้ความตายเกิดขึ้นกับบุตรสาว
ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า “ผู้ใดก็ตามที่ปรารถนาที่จะให้ความตายเกิดขึ้นกับพวกเธอ (ลูกสาวของตน) เขาจะถูกห้ามจากผลรางวัลของพวกเธอ และเขาจะได้พบกับอัลลอฮ์ในสภาพของผู้ที่ละเมิดฝ่าฝืน” (10)
เชิงอรรถ
- อันกุรอานบทอันนะห์ลุ โองการที่ 58
- อัลกุรอานบทอันนะห์ลุ โองการที่ 59
- มะการิมุลอัคลาก, หน้า 219
- อัลกุรอานบทอัลกะฮ์ฟุ โองการที่ 81
- อุดดะตุดดาอี, หน้า 80
- มะการิมุลอัคลาก, หน้า 221
- มุสตตัดร่อกุลวะซาอิล, เล่ม 15, หน้า 118 ; กัลซุลอุมมาล, เล่มที่ 16, หน้า 448
- กัลซุลอุมมาล, เล่มที่ 16, หน้า 452
- กัลซุลอุมมาล, เล่มที่ 16, หน้า 447 ; กิตาบุลอิยาล, เล่มที่ 1, หน้า 234 ; มุสตัดร่อกุลวะซาอิล, เล่มที่ 15, หน้า 118
ที่มา : หนังสือ “สิทธิของบุตรในทัศนะของอิสลาม”
ผู้เขียน : มุฮัมมัดญะวาด มุเราวิจญ์ อัฏฏอบะซี
แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ