ความสำคัญของสถาบันครอบครัวในคัมภีร์อัลกุรอาน

ความสำคัญของสถาบันครอบครัวในคัมภีร์อัลกุรอาน

        ครอบครัวในฐานะที่เป็นองค์ประกอบขั้นพื้นฐานของสังคม และเป็นรากฐานของสังคมทั้งหลาย ซึ่งเป็นบ่อเกิดของวัฒนธรรมและอารยธรรมทั้งปวง ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ การมุ่งความสำคัญไปยังโครงสร้างและรากฐานอันบริสุทธิ์ รวมทั้งการพิทักษ์ปกป้องและการนำทางไปสู่สถานะอันแท้จริงและสูงส่งของมันนั้น ย่อมจะเป็นสาเหตุนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงครอบครัวใหญ่ (สังคม) ของมนุษย์ได้ตลอดไป และการเผอเรอและไม่ใส่ใจต่อสิ่งดังกล่าว จะเป็นต้นเหตุทำให้มนุษย์ออกห่างจากชีวิตอันแท้จริง และการดำดิ่งลงสู่หุบเหวแห่งความพินาศและความหลงทางได้ในที่สุด (1)

      ภายหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมของตะวันตก และโดยหลักสำคัญแล้วภายหลังจากการปฏิวัติครั้งใหญ่ของฝรั่งเศส การปรากฏขึ้นของกระบวนแนวความคิดต่างๆ ของลัทธิที่ให้ความเสมอภาคทางสังคมและการเมืองแก่สตรี (Feminism) และติดตามมาด้วยการลงนามอนุสัญญาการขจัดความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องของสตรี และการตรากฎหมายต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดผลกระทบสำคัญที่เลวร้ายเกี่ยวกับครอบครัวขึ้นในโลกตะวันตก (2) และผลพวงต่างๆ เช่น

      การต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยอันมากมายของบรรดาเยาวชน อันได้แก่โรคเอดส์ การติดยาเสพติด จำนวนการหย่าร้างที่เพิ่มมากขึ้น และการเกิดเด็กที่ไร้สถานะ (ลูกนอกสมรส) ที่เกิดมาจากผลของการแพร่สะพัดในเรื่องของเพศสัมพันธ์ที่ไร้หลักเกณฑ์และการควบคุม ติดตามมาด้วยการประกอบอาชญากรรมและความเสื่อมเสียต่างๆ ทางด้านสังคมและจริยธรรมจากบุคคลกลุ่มนี้ จนทำให้สังคมต้องพบกับความยุ่งเหยิงและวิกฤติการณ์ต่างๆ ที่เลวร้าย

      เมื่อพิจารณาให้ดีจะพบว่า รากฐานและต้นตอของวิกฤตการณ์อันเลวร้ายต่างๆ ทางสังคมทั้งหมดนี้จะย้อนกลับมาสู่ครอบครัว และได้สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นกับสถาบันที่สำคัญของสังคม ซึ่งส่วนหนึ่งจากปัจจัยต่างๆ เหล่านั้นสามารถชี้ให้เห็นได้ดังต่อไปนี้คือ

1. การไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางธรรมชาติของสตรีและบุรุษ และการยืนกรานบนความเสมอภาคระหว่างพวกเขาในทุกๆ ด้าน

2. การหลีกหนีจากหน้าที่รับผิดชอบต่างๆ ของการสร้างครอบครัว อันเนื่องมาจากปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ของการใช้ชีวิตคู่

3. การเพิ่มระดับอายุของวัยแต่งงาน และการลดน้อยถอยลงของความอดทนอดกลั้นของมนุษย์ และท้ายที่สุดการเพิ่มขึ้นของสถิติการหย่าร้าง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งจากสัญลักษณ์บ่งชี้ต่างๆ ถึงความล่มสลายของระบอบครอบครัว

4. การเพิ่มขึ้นของความรุนแรง และการแสวงหาผลประโยชน์ต่างๆ ทางเพศสัมพันธ์ อันเป็นผลมาจากการโฆษณาชวนเชื่อที่ถูกกระทำอย่างเป็นระบบ (3)

5. การขาดซึ่งวัฒนธรรมอันสูงส่งและทรงคุณค่า และวิธีการมองที่แตกต่างกันเกี่ยวกับเรื่องของการแต่งงานและการสร้างครอบครัว

      ในความเป็นจริงแล้วปัจจัยต่างๆ ที่ได้กล่าวไปนั้น ได้กลายเป็นสาเหตุทำให้ครอบครัวที่ก่อรูปขึ้นมาในสภาวการณ์เช่นนี้ ต้องกลายเป็นครอบครัวที่ขาดความรัก ความจริงใจ ความเอื้ออาทรต่อกัน และขาดความสงบสุขที่แท้จริง ดังที่ได้นำเสนอไว้ในหลักฐานอ้างอิงของอิสลาม (4)

      ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ครอบครัวคือหน่วยย่อยของสังคม เป็นสถาบันหลักในการเจริญเติบโตและการพัฒนาการของมนุษย์ เป็นที่อบรมขัดเกลา (ตัรบียะฮ์) และอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ทางสังคม และคุณลักษณะพิเศษที่สำคัญที่สุดของระบอบแห่งความเป็นมนุษย์ก็จะเกิดขึ้นมาจากครอบครัวนั่นเอง

      การคำนึงถึงบทบาทหลักของสตรีในฐานะที่เป็นเสาหลักของอารมณ์ความรู้สึกและการอบรมขัดเกลา และบทบาทหลักของบุรุษในเรื่องของการเลี้ยงดูและการสนองตอบต่อปัจจัยต่างๆ ของการดำเนินชีวิต นับเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง (5)

      ในสภาวะเงื่อนไขต่างๆ ในยุคปัจจุบันนี้ ผู้ที่มีความห่วงใยต่อสังคมในหลายระดับ ต่างอุตสาหพยายามที่จะค้นหาแนวทาง อันเป็นพื้นฐานที่จะรักษาสถานภาพที่ดีของครอบครัว และสร้างความมั่นคงแข็งแกร่งให้เกิดขึ้นกับสถาบันครอบครัว จากการนำเสนอแนวทางดังกล่าวแก่สังคม ซึ่งโดยตัวของมันเองแล้วจะสามารถช่วยควบคุมสภาพวิกฤตต่างๆ ที่เป็นอยู่ได้ในระดับหนึ่ง ช่วยลดความยุ่งเหยิงต่างๆ ในสังคม และท้ายที่สุดจะช่วยลดวิกฤติการณ์อันเลวร้ายในสังคมลงได้

       ซึ่งในทิศทางดังกล่าวนี้ การย้อนกลับมาสู่วัฒนธรรมดั้งเดิมของอิสลามในสังคมของเรานั้น นับได้ว่าเป็นสิ่งจำเป็น ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการให้เกียรติ การสร้างความบริสุทธิ์และความสูงส่งให้แก่ครอบครัว และถือว่าสถาบันครอบครัวคือศูนย์กลางของการอบรมขัดเกลา (ตัรบียะฮ์) เป็นแห่ลงกำเนิดของความรักและความเมตตา (6)

ความจำเป็นในการสร้างครอบครัว

       พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงตรัสไว้ในโองการที่ 32 ของอัลกุรอานบทอันนูร ว่า

وَأَنكِحُوا الْأَيَامَىٰ مِنكُمْ وَالصَّالِحِينَ مِنْ عِبَادِكُمْ وَإِمَائِكُمْ ۚ إِن يَكُونُوا فُقَرَاءَ يُغْنِهِمُ اللَّـهُ مِن فَضْلِهِ ۗ وَاللَّـهُ وَاسِعٌ عَلِيمٌ

“พวกเจ้าจงจัดการสมรสให้แก่บรรดาคนโสด (ทั้งชายและหญิง) จากหมู่พวกเจ้าเถิด และแก่บรรดาผู้ประพฤติดีจากทาสชายและทาสหญิงของพวกเจ้า หากแม้นพวกเขาเป็นผู้ยากจน อัลลอฮ์จะทรงประทานความพอเพียงแก่พวกเขา จากความกรุณาของพระองค์ และอัลลอฮ์ทรงไพศาลยิ่ง อีกทั้งทรงรอบรู้ยิ่ง”

      โองการนี้ได้เน้นย้ำว่า ทุกคนจำเป็นต้องให้ความสำคัญในเรื่องการจัดการสมรสให้กับบรรดาคนโสด และจงอย่าหวาดกลัวในการสร้างครอบครัวเพียงแค่เหตุผลที่เกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งนี้เนื่องจากพระผู้เป็นเจ้าทรงให้คำมั่นสัญญาและหลักประกันไว้แล้ว เช่นเดียวกับที่ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวไว้ว่า “ผู้ใดที่ละทิ้งการแต่งงานเนื่องจากกลัวความยากจน แน่นอนยิ่งเขาได้คลางแคลงใจต่ออัลลอฮ์แล้ว ทั้งนี้อัลลอฮ์ผู้ทรงสูงส่งได้ทรงตรัสว่า หากแม้พวกเขาเป็นผู้ยากไร้ อัลลอฮ์จะทรงทำให้พวกเขามีความเพียงพอ อันเกิดจากความกรุณาของพระองค์” (7)

      ทำนองเดียวกัน ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า “การให้ความช่วยเหลือที่ดีที่สุด คือการที่ท่านจะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการสมรสระหว่างบุคคลสองคน จนกระทั่งภารกิจดังกล่าวได้รับการจัดการให้ลุล่วงไป” (8)

      ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ บิดาทั้งหลายจะต้องจัดเตรียมปัจจัยจำเป็นขั้นพื้นฐานสำหรับการแต่งงานให้กับลูกๆ ของตน ท่านศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า “ผู้ใดก็ตามที่บุตรชายของเขาได้บรรลุสู่วัยเจริญพันธุ์ และเขามีความสามารถที่จะจัดการแต่งงานให้กับเขาได้ แต่กลับไม่กระทำการดังกล่าว จนเป็นเหตุทำให้บุตรชายของเขาได้ประพฤติชั่ว โทษทัณฑ์ของความชั่วนั้นจะประสบกับบุคคลทั้งสอง (คือทั้งบุตรและบิดา)” (9)

       ทำนองเดียวกัน โองการข้างต้นเป็นโองการที่ต่อเนื่องมาจากโองการที่เกี่ยวข้องกับบทลงโทษการล่วงละเมิดประเวณี (ซินา) จึงสามารถกล่าวได้ว่า การละเมิดประเวณี (ซินา) คือปัจจัยหนึ่งที่เป็นสาเหตุทำให้ระบอบครอบครัวต้องพบกับความล่มสลาย เป็นบ่อเกิดของความเสื่อมทรามและความวิบัติของเผ่าพันธุ์มนุษย์  เพื่อที่จะรอดพ้นจากโศกนาฏกรรมอันนำไปสู่ความวิบัตินี้ พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งจึงได้นำเสนอประเด็นของการสมรสขึ้นมา

       ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อสังคมแห่งอิสลาม จำเป็นต้องจัดเตรียมการขั้นพื้นฐานสำหรับการสมรสที่ถูกต้องชอบธรรมตามครรลองแบบอิสลาม ด้วยการวางแผนการจัดการต่างๆ ที่ดี และจงเตรียมพร้อมปัจจัยและองค์ประกอบต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการสร้างครอบครัว เพื่อให้พระบัญญัติแห่งพระผู้เป็นเจ้าถูกนำมาปฏิบัติ สังคมจะได้หลุดพ้นออกจากวิกฤตการณ์อันยุ่งเหยิงทั้งหลายทางสังคม

ความสงบสุขในครอบครัว

      ในโองการที่ 21 จากอัลกุรอานบทอัรรูม ได้กล่าวว่า

وَمِنْ آيَاتِهِ أَنْ خَلَقَ لَكُم مِّنْ أَنفُسِكُمْ أَزْوَاجًا لِّتَسْكُنُوا إِلَيْهَا وَجَعَلَ بَيْنَكُم مَّوَدَّةً وَرَحْمَةً ۚ إِنَّ فِي ذَٰلِكَ لَآيَاتٍ لِّقَوْمٍ يَتَفَكَّرُونَ

“และส่วนหนึ่งจากบรรดาสัญลักษณ์ของพระองค์ คือการที่พระองค์ได้ทรงสร้างคู่ครองให้แก่พวกเจ้า จาก (มนุษย์) จำพวกเดียวกับพวกเจ้า ทั้งนี้เพื่อพวกเจ้าจะได้สงบสุขอยู่กับพวกนาง และพระองค์ทรงบันดาลความรักและความเมตตาให้เกิดขึ้นในระหว่างพวกเจ้า แท้จริงในการนั้นย่อมมีนานาสัญลักษณ์สำหรับหมู่ชนที่คิดใคร่ครวญ”

       ในการอรรถาธิบายโองการนี้ ท่านอัลลามะฮ์ ฏอบาฏอบาอี ได้กล่าวว่า “เพื่อพวกเจ้า หรือเพื่อการที่จะให้เกิดคุณประโยชน์กับพวกเจ้า พระองค์จึงได้สร้างคู่ครองขึ้นมาจากประเภทของพวกเจ้าเอง แน่นอนยิ่ง ทั้งบุรุษและสตรีนั้นหากขาดซึ่งอีกฝ่ายหนึ่ง (เพศตรงข้าม) ถือเป็นความบกพร่อง บุรุษด้วยกับการมีอยู่ของสตรี และสตรีด้วยกับการมีอยู่ของบุรุษ จึงทำให้เกิดความสมบูรณ์ และด้วยสื่อของความรักและความเมตตา ที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงบันดาลไว้ในระหว่างบุคคลทั้งสอง จะกลายเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานที่เหมาะสมสำหรับการขัดเกลา (ตัรบียะฮ์) บรรดาลูกๆ และองค์ประกอบทั้งสองประการนี้เองที่จะเป็นตัวบังคับพวกเขาให้เกิดความมานะพยายามในการปกป้องคุ้มครอง จัดหาอาหารเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และโดยรวมแล้วคือการเลี้ยงดูขัดเกลาบุตร และด้วยกับวิธีการดังกล่าวนี้เองที่เผ่าพันธุ์มนุษย์จะดำรงอยู่อย่างไม่สูญสิ้น” (10)

       ด้วยการพินิจพิเคราะห์ในสำนวน “เพื่อพวกเจ้าจะได้สงบสุขอยู่กับนาง” เป็นที่ประจักษ์ได้ว่า เป้าหมายของการแต่งงานคือความสงบสุขและความมั่นคงในชีวิต กล่าวคือ คู่ครองนั่นคือบ่อเกิดของความสงบสุข และความสงบสุขที่ถูกอ้างถึงนี้เป็นความสงบสุขทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ และทางด้านปัจเจกบุคคลและสังคม ความป่วยไข้ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์อันเนื่องมาจากการละทิ้งการแต่งงานนั้นเป็นสิ่งที่มิอาจปฏิเสธได้ ทำนองเดียวกัน การสูญเสียความสมดุลทางด้านจิตใจ และความไร้ซึ่งความสงบมั่นต่างๆ ทางด้านจิตวิญญาณที่คนโสดบางคนได้ประสบนั้น ถือเป็นเรื่องที่กระจ่างชัดสำหรับทุกคนไม่มากก็น้อย (11)

       หากพินิจพิเคราะห์ถึงความหมายของโองการที่กล่าวไปนั้นเราสามารถสรุปได้ว่า ในอันดับแรก ครอบครัวจะต้องเป็นแหล่งพึ่งพิงของบุรุษและสตรี ในการเผชิญหน้ากับความไม่ราบรื่นต่างๆ ในการดำเนินชีวิต และพายุร้ายต่างๆ ทางด้านสังคม และลำดับต่อไปนั้นคือ จะต้องเป็นแหล่งแห่งความสงบมั่นและความมั่นคงโดยแท้จริงสำหรับลูกๆ ของพวกเขา ส่วนหนึ่งจากปัญหาหลักต่างๆ ของสังคมในปัจจุบันก็คือ บรรดาเด็กข้างถนนที่ประสบกับสภาพการณ์เช่นนี้ ด้วยผลแห่งความไร้ซึ่งความรับผิดชอบของบรรดาพ่อแม่ หากภรรยาและสามีสามารถสร้างความสงบสุขและความสงบมั่นซึ่งกันและกันได้ ซึ่งผลที่จะติดตามมาก็คือลูกๆ ของพวกเขาก็จะเจริญเติบโตและได้รับการขัดเกลาภายใต้จิตใจที่มีแต่ความสงบสุขและสงบมั่น และท้ายที่สุด การหย่าร้าง การไร้ซึ่งความรักและความเอื้ออาทร ปัญหาที่ซับซ้อนของบรรดาเด็กๆ ข้างถนนก็จะไม่เกิดขึ้น

การให้กำเนิดลูกหลานที่สะอาดบริสุทธิ์ คือเป้าหมายอันสูงส่ง

     พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสไว้ในโองการที่ 223 ของอัลกุรอานบทอัลบะกอเราะฮ์ว่า

نِسَاؤُكُمْ حَرْثٌ لَكُمْ فَأْتُوا حَرْثَكُمْ أَنَّى شِئْتُمْ وَقَدِّمُوا لِأَنْفُسِكُمْ وَاتَّقُوا اللَّهَ وَاعْلَمُوا أَنَّكُمْ مُلَاقُوهُ وَبَشِّرِ الْمُؤْمِنِينَ

“บรรดาสตรีของพวกเจ้าคือแหล่งเพาะปลูกของพวกเจ้า ดังนั้นพวกเจ้าจงเข้าสู่แหล่งเพาะปลูกของพวกเจ้าเถิด ตามที่พวกเจ้าประสงค์ และจงประกอบ (ความดีงามและการขัดเกลาลูกหลานที่ดีเป็นเสบียง) ล่วงหน้าไว้สำหรับตัวของพวกเจ้าเอง และพวกเจ้าจงยำเกรงอัลลอฮ์เถิด และพึงรู้เถิดว่า แท้จริงพวกเจ้าจะต้องพบกับพระองค์อย่างแน่นอน และเจ้าจงแจ้งข่าวดีแก่ศรัทธาชนทั้งหลายเถิด”

      ดังที่เราได้กล่าวไปแล้วว่าในอันดับแรกนั้น พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงเน้นย้ำถึงประเด็นของการแต่งงาน และหลังการแต่งงานได้บังเกิดขึ้นแล้ว พระองค์ได้ทรงส่งเสริมและสนับสนุนมวลมนุษย์ในการให้กำเนิดบุตรหลานและการขยายเผ่าพันธุ์ โองการนี้เป็นการส่งเสริมว่า พวกท่านทั้งหลายจงแต่งงานเถิด เพื่อที่จะได้เพิ่มจำนวนเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ และโดยวิธีการดังกล่าวนี้ผู้ที่จะเปล่งประกาศถ้อยคำแห่งเตาฮีด (การยอมรับในเอกภาพของพระผู้เป็นเจ้า) ในหมู่มนุษย์ก็จะได้แผ่ขยายไปบนหน้าโลกนี้ การเคารพภักดีและการยอมตนเป็นบ่าวของพระผู้เป็นเจ้าจะได้ปกคลุมไปในโลกมนุษย์ (12)

      ด้วยกับการเปรียบเปรยที่เกิดขึ้นกับบรรดาสตรีที่ปรากฏในโองการนี้ ได้ประจักษ์ถึงความสำคัญของการดำรงอยู่ของสตรีภายในครอบครัวทั้งหลายได้เป็นอย่างดี ดังเช่นถ้าหากผืนแผ่นดินมีความเหมาะสมและมีความคู่ควรสำหรับการเพาะปลูก ก็ย่อมจะก่อให้เกิดผลผลิตที่ดีติดตามมา หากมีสตรีที่ดีงามอยู่ในครอบครัวทั้งหลาย เป็นสิ่งที่แน่นอนยิ่งว่า บรรดาบุตรหลานที่เป็นคนดีก็จะถูกส่งมอบให้แก่สังคม ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นจะกลายเป็นเสบียงสะสมทางด้านจิตวิญญาณ และกลายเป็นบ่อเกิดแห่งการได้รับอภัยโทษสำหรับบิดาและมารดาของพวกเขา

     ในฮะดีษ (วจนะ) บทหนึ่งจากท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ซึ่งท่านได้กล่าวว่า “เมื่อมนุษย์ได้ตายลง การงาน (อะมั้ล) ของเขาก็จะยุติลง ยกเว้นแต่เพียงสามประการคือ ซอดะเกาะฮ์ญารียะฮ์ (การบริจาคทานที่ผลของมันดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง) ผลงานแห่งความรู้ที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ และบุตรที่เป็นคนดี (ซอและห์) ที่จะวิงวอนขอการอภัยโทษให้แก่บิดาและมารดาของตน ด้วยการกระทำและคำพูดของเขา” (13)

การขัดเกลา (ตัรบียะฮ์) ของครอบครัว อยู่ที่ความอุตสาหพยายามของหัวหน้าครอบครัว

      คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا قُوا أَنفُسَكُمْ وَأَهْلِيكُمْ نَارًا وَقُودُهَا النَّاسُ وَالْحِجَارَةُ عَلَيْهَا مَلَائِكَةٌ غِلَاظٌ شِدَادٌ لَّا يَعْصُونَ اللَّـهَ مَا أَمَرَهُمْ وَيَفْعَلُونَ مَا يُؤْمَرُونَ

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกเจ้าจงปกป้องตัวของพวกเจ้าและครอบครัวของพวกเจ้าให้พ้นจากไฟนรกเถิด ซึ่งเชื้อเพลิงของมันคือมนุษย์และหิน ไฟนรกที่มีมะลาอิกะฮ์ผู้แข็งแกร่งและเข้มงวดคอยดูแลอยู่ พวกเขาจะไม่ละเมิดฝ่าฝืนต่ออัลลอฮ์ในสิ่งที่พระองค์ทรงมีบัญชาแก่พวกเขา และพวกเขาจะปฏิบัติตามสิ่งที่พวกเขาได้รับการบัญชาเท่านั้น” (14)

      ในโองการนี้ได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนว่า หัวหน้าครอบครัวจะต้องขวนขวายเพื่อความรอดพ้นของตนเองและครอบครัว และจะต้องอุตสาหพยายามมิให้ตนเองและครอบครัวต้องเผชิญกับไฟอันร้อนแรงเช่นนั้น ในความเป็นจริงแล้วบทบาทในครอบครัวของผู้เป็นบิดาได้ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้ว ซึ่งนั้นก็คือ เขาจะต้องอุตสาหพยายามในการเลี้ยงดูขัดเกลาสมาชิกทั้งหมดในครอบครัว และส่วนหนึ่งจากบรรดาตัวอย่างของความอุตสาหพยายามดังกล่าวก็คือ การแสวงหาปัจจัยยังชีพที่ฮะล้าล (สิ่งอนุมัติตามหลักการของศาสนา) ซึ่งนับได้ว่าเป็นปัจจัยที่ทรงอิทธิพลประการหนึ่งในการสนองตอบการขัดเกลา (ตัรบียะฮ์) ของสมาชิกในครอบครัว และจะเป็นสาเหตุนำมาซึ่งความสำเร็จทั้งชีวิตในโลกนี้และโลกหน้าของพวกเขา

      ในหนังสือตัฟซีร “นะมูเนฮ์” ได้อรรถาธิบายไว้ภายใต้โองการข้างต้นว่า การปกป้องตนเองด้วยการละทิ้งจากการละเมิดฝ่าฝืนต่อพระผู้เป็นเจ้า และการไม่ยอมตนต่ออารมณ์ใฝ่ต่ำทั้งปวง การปกป้องครอบครัวด้วยกับการอบรมสั่งสอน การขัดเกลา การกำชับความดี การห้ามปรามความชั่ว และการจัดเตรียมสภาพแวดล้อมอันสะอาดบริสุทธิ์และปลอดพ้นจากความแปดเปื้อนทุกประเภทภายในครอบครัว ด้วยเหตุนี้ การจัดหาค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิต การจัดเตรียมที่อยู่อาศัยและอาหาร มิใช่เป็นภาระหน้าที่ของผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวเพียงเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่าสิ่งเหล่านี้ก็คือการให้อาหารแก่จิตใจและจิตวิญญาณของสมาชิกในครอบครัว ที่จะต้องระวังรักษาไว้ซึ่งหลักการต่างๆ ของการเลี้ยงดูขัดเกลาตามแบบแผนของอิสลาม (15)

      ดังที่ได้อธิบายไปแล้วข้างต้นว่า ภยันตรายจำนวนมากมาย ตัวอย่างเช่น ความเจ็บป่วยต่างๆ ทางด้านจิตใจ การติดยาเสพติด การหย่าร้าง และอื่นๆ ที่กำลังจู่โจมเข้ามาสู่ครอบครัวทั้งหลาย ที่กำลังคุกคามครอบครัวเหล่านั้นอย่างรุนแรง ดังเช่นที่มันได้เป็นสาเหตุทำให้สถาบันครอบครัวในโลกตะวันตกต้องพบกับความล่มสลาย การที่จะหลุดพ้นออกจากภัยคุกคามเหล่านี้นั้นไม่มีหนทางอื่นใด นอกเสียจากจำเป็นจะต้องพึ่งพาอาศัยหลักคำสอนต่างๆ อันสูงส่งของอิสลามในเรื่องที่เกี่ยวกับครอบครัว ซึ่งผลของมันจะนำมาซึ่งการแต่งงานที่ประสบความสำเร็จแก่บรรดาเยาวชน การสร้างครอบครัวที่จะดำเนินไปด้วยความแข็งแกร่งมั่นคง ห่างไกลจากความแตกแยกทั้งปวง การขยายเผ่าพันธุ์มนุษย์และการอบรมขัดเกลา (ตัรบียะฮ์) ลูกหลานที่สะอาดบริสุทธิ์และเป็นคนดีมีคุณธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม


แหล่งอ้างอิง

(1) มุเซาวะบะฮ์ 560, ชูรอ อิงกิลอบ ฟัรฮังกี, 7/4/84

(2) ซะอีด ดาวูดี, ซะนอน วะ เซฮ์ พุรเซซ อะซาซี, มัดรอซะฮ์ อัลอิมามอะลี บินอะบีฏอลิบ, สำนักพิมพ์ อะมีรุลมุอ์มินีน (อ.), กุม, หน้าที่ 16-20

(3) กาลิยา ตะวอนกัร, มะกอเลฮ์ มุรูรี บัร เจกูเนกี เชกกีรี เยก คอเนวอเดฮ์ มุตะอะลี,  การสัมภาษณ์ อุสตาซ มะฮ์ดี ฟานี, จากหนังสือพิมพ์กัยฮาน, วันจันทร์ที่ 2 เดือนบะฮ์มัน ปี 1385 – วันที่ 2 มุหัรรอม ฮ.ศ.1427, ปีที่ 40, อันดับที่ 18684

(4) อะห์มัด เบเฮชตี, คอเนวอเดฮ์ ดัร กุรอาน, มัรกัซ อินติชารอต วะ ตับลีฆอต อิสลามี, พิมพ์ครั้งที่ 2, ปี 1385

(5) มุเซาวะบะฮ์ 560 ชูรอ อิงกิลอบ ฟัรฮังกี, 7/4/84

(6) แหล่งอ้างอิงเดิม

(7) เชคอับดุ อะลี บินญุมุอะฮ์ อัลอะรูซี อัลฮุวัยซี, ตัฟซีรนูรุษษะกอลัยน์, นัชร์ กุม, นำสักพิมพ์ อัลอิลมียะฮ์, พิมพ์ครั้งที่ 2, เล่มที่ 3, หน้า 595

(8) นาซิร มะการิม ชีราซี, ตัฟซีร นะมูเนฮ์, นัชเร เตฮะราน, ดารุลกุตุบุ อิสลามียะฮ์, เล่มที่ 14, หน้า 457

(9) แหล่งอ้างอิงเดิม, เล่มที่ 14, หน้า 464

(10) อัลลามะฮ์ ซัยยิด มุฮัมมัด ฮุเซน ฏอบาฏอบาอี, อัลมีซาน ฟีตัฟซีริลกุรอาน (ตัฟซีร อัลมีซาน), เล่มที่ 16, หน้า 250

(11) ตัฟซีร นะมูเนฮ์, เล่มที่ 16, หน้า 391

(12) บอนูเย อิสฟะฮานี, มัคซะนุลอิรฟาน ดัรอุลูเม่ กุรอาน, นัชเร เตฮะราน, เนฮ์ซัต ซะนอเน มุซัลมอน, เล่มที่ 2, หน้าที่ 310

(13) ตัฟซีร นะมูเนฮ์, เล่มที่ 16, หน้า 94

(14) อัลกุรอานบท อัตตะห์รีม, โองการที่ 6

(15) ตัฟซีร นะมูเนฮ์, เล่มที่ 24, หน้า 286


บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่. All Right Reserved