การลงมาของท่านศาสดาอีซา (อ.) จากฟากฟ้า นอกเหนือจากจะเป็นสื่อทำให้ชาวตะวันตกและคริสเตียนของโลกหันมานับถือศาสนาอิสลามและทำสนธิสัญญาสันติภาพแล้ว ยังจะมีคำตอบสำหรับข้อเคลือบแคลงสงสัยบางประการเกี่ยวกับท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) อีกด้วย
ด้วยการปรากฏตัวและการลงมายังโลกของศาสดาอีซา (อ.) และการเปิดเผย (ยืนยัน) ข่าวของอัลกุรอานที่ว่าอีซาไม่ได้ถูกตรึงไม้กางเขนนั้น จะช่วยทำให้รากฐานของรัฐบาลโลกของอิสลามเกิดความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น และจะยืนยันถึงความถูกต้องของการเป็นอิมามในวัยเด็กของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.)
ความเชื่อในเรื่องการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของบุคคลที่จะเติมเต็มโลกด้วยความยุติธรรมและการขจัดการกดขี่ให้หมดไปจากโลกนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในศาสนาอิสลามเท่านั้น แต่รวมถึงศาสนาอื่นๆ ที่มาจากพระเจ้าด้วย และในศาสนาอิสลาม คริสต์ ยูดาย โซโรอัสเตอร์ ฯลฯ ได้แจ้งข่าวดีเกี่ยวกับการปรากฏตัวของบุคคลผู้นี้ไว้
บทสรุปและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเชื่อในเรื่องอิมามมะฮ์ดี (อ.) คือ การสิ้นสุดของโลกจากสังคมที่หลากหลายไปสู่สังคมที่เป็นเอกภาพหนึ่งเดียวและความผาสุกไพบูลย์ปกคลุมไปทั่ว ความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรือง การช่วยเหลือเกื้อกูลและความร่วมมือกัน ความสามัคคีของทุกคน การปกครองของสัจธรรมและความยุติธรรมในระดับโลก ชัยชนะของสัจธรรมเหนือความเท็จ ชัยชนะของกองทัพของพระเจ้าเหนือกองทัพของซาตาน ความรอดพ้นของผู้ถูกกดขี่ และความพินาศของบรรดาผู้อหังการ์ และความเป็นผู้สืบทอดอำนาจการปกครอง (คิลาฟะฮ์) ของปวงผู้ศรัทธาและผู้มีคุณธรรม ภายใต้การนำของบุรุษผู้หนึ่ง ผู้เป็นมหาบุรุษแห่งพระเจ้า ก็คือผู้ซึ่งถูกสัญญาไว้โดยปวงศาสดาและศาสนาต่างๆ และนั่นก็คือผู้สืบทอด (วะซี) และตัวแทน (คอลีฟะฮ์) คนที่สิบสองของท่านศาสดาแห่งยุคสุดท้าย*
ผู้นำของรัฐบาลโลกแห่งอิสลามคือ ท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) และอีซา บุตรของมัรยัม (อ.) ศาสดาอุลุลอัศม์ (ผู้มีจิตใจมั่นคงแน่วแน่) ของพระเจ้าท่านนี้จะเป็นผู้ร่วมทางและผู้ช่วยเหลือท่านในวิถีโลกาภิวัตน์ คุณค่าของคัมภีร์อัลกุรอาน ปัจจัยที่มีอิทธิพลประการหนึ่งต่อความก้าวหน้าของการปฏิวัติโลกของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) และการสถาปนาการปกครองอิสลามขึ้นทั่วโลกนั้น ก็คือการมีอยู่ของศาสดาแห่งพระเจ้าผู้นี้เคียงข้างท่านอิมาม อัลกออิม แห่งวงศ์วานมุฮัมมัด (ซ็อลฯ)
บนพื้นฐานของริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ ของชีอะฮ์และซุนนี เมื่อท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) ยืนหยัดขึ้นต่อสู้ ท่านศาสดาอีซา (อ.) จะลงมาจากฟากฟ้าและจะทำนมาซตามหลังท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.)
บุคอรี ได้บันทึกคำรายงานจากท่านศาสนทูตของพรอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ด้วยสายสืบของตน ซึ่งท่านกล่าวว่า :
كيفَ أَنْتُمْ إِذَا نَزَلَ ابنُ مَرْيَمَ فِيكُمْ، وإمَامُكُمْ مِنكُمْ
“พวกท่านจะเป็นอย่างไรเมื่อบุตรของมัรยัมลงมา ในขณะที่อิมามของพวกท่านก็จะเป็นคนจากพวกท่านเอง” (1)
นอกจากนี้ ในตำราหะดีษของชีอะฮ์ ท่านอิมามบากิร (อ.) ได้กล่าวว่า :
إِنَّ القَائِمَ مِنّا مَنْصُورٌ بِالرُّعْبِ، مؤَيَّدٌ بِالنَّصْرِ، تُطْوَى لَهُ الأَرْضُ، وَتَظْهَرُ لَهُ الكُنُوزُ كُلُّهَا، وَيُظْهِرُ اللهُ تَعَالَى بِهِ دِينَهُ عَلَى الدِّينِ كُلِّهِ وَلَوْ كَرِهَ المُشْرِكُونَ، وَيَبْلُغُ سُلْطَانُهُ المَشْرِقَ وَالمَغْرِبَ، وَلا يَبْقَى فِي الأَرْضِ خَرَابٌ إِلّا عَمِرَ، وَيَنْزِلُ رُوحُ اللهِ عِيسَى بْنُ مَرْيَمَ (عليه السلام) فَيُصَلِّي خَلْفَهُ
القائم منصور بالرعب مؤید بالنصر، تطوی له الارض و تظهر له الکنوز و یبلغ سلطانه المشرق و المغرب و یظهر الله عزوجل به دینه و لو کره المشرکون. فلا یبقی فی الارض حزاب الّا عمر و ینزل روح الله عیسیبنمریم فیصلی خلفه
"แท้จริงอัลกออิมนั้นจะมาจากเรา เขาจะเป็นผู้ได้รับการช่วยเหลือ ด้วยความหวาดกลัว และจะได้รับการสนับสนุนด้วยการช่วยเหลือ โลกจะหมุนไปเพื่อเขาและสมบัติจะปรากฏขึ้นสำหรับเขาและอัลลอฮ์ผู้ทรงเกริกเกียรติผู้ทรงเกรียงไกรจะทรงทำให้ศาสนาของพระองค์พิชิตเหนือศาสนาทั้งปวงโดยสื่อเขา แม้ว่าบรรดาผู้ตั้งภาคีจะชิงชังก็ตาม และอำนาจการปกครองของเขาจะครอบคลุมไปถึงทั้งตะวันออกและตะวันตก และจะไม่มีสถานที่ใดถูกทำลายหลงเหลืออยู่ในแผ่นดิน เว้นแต่จะถูกทำให้เจริญรุ่งเรือง และรูฮุลลอฮ์ อีซา บุตรของมัรยัม จะลงมาและนมาซตามหลังเขา" (2)
ดังนั้นตามริวายะฮ์ (คำรายงาน) จากชีอะห์และซุนนี หลังจากการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ) ท่านศาสดาอีซา (อ.) จะลงมายังโลกด้วยอนุมัติจากพระผู้เป็นเจ้าและท่านจะยืนนมาซตามหลังท่านอิมามมะฮ์ดี(อ.) ต่อหน้าทุกคนในฐานะหนึ่งในผู้ช่วยเหลือของท่าน ดังที่ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) บทหนึ่งจากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ซึ่งกล่าวว่า :
والذي بعثني بالحق بشيرا، لو لم يبق من الدنيا إلا يوم واحد لطول الله ذلك اليوم حتى يخرج فيه ولدي المهدي، فينزل عيسى بن مريم، فيصلي خلفه، وتشرق الأرض بنور ربها، ويبلغ سلطانه المشرق والمغرب
“ขอสาบานต่อผู้ซึ่งทรงแต่งตั้งฉันมาเป็นผู้แจ้งข่าวดีโดยแท้จริง หากไม่มีเวลาเหลืออยู่จากโลกนี้ นอกจากเพียงวันเดียว อัลลอฮ์ก็จะทรงยืดเวลาของวันนั้นออกไปจนกระทั่งบุตรของฉันคือมะห์ดีจะออกมา แล้วอีซา บุตรของมัรยัมจะลงมา และนมาซตามหลังเขา จากนั้นโลกจะส่องสว่างด้วยแสงสว่างของพระผู้อภิบาลของมันและการปกครองของเขาจะไปถึงทิศตะวันออกและทิศตะวันตก (ของโลก)" (3)
นอกจากนี้ ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) อีกบทหนึ่ง ซึ่งท่านกล่าวว่า :
"อีซาจะลงมาในบัยตุลมักดิส ในขณะที่ประชาชนกำลังจะนมาซญะมาอัต และท่านอิมามก็กำลังจะนำนมาซพวกเขา แต่แล้วท่านอิมามก็ขยับถอยหลังลงมา แต่ท่านอีซา (อ.) ให้ท่าน (อิมาม) นำและตนเองก็นมาซตามหลังท่านอิมาม (อ.) ตามบทบัญญัติ (4)
เนื่องจากในยุคนี้ ประชาชนจำนวนมากมายเป็นผู้ปฏิบัติตามท่านศาสดาอีซา (อ.) และพวกเขาเชื่อว่าท่านคือผู้ช่วยให้รอดและเป็นผู้มาปฏิรูปโลก หลังจากที่พวกเขาได้เห็นเหตุการณ์นี้และปฏิบัติตามศาสดาของพวกเขา พวกเขาก็จะเริ่มมีความเลื่อมไสต่อท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) และจะหันมาศรัทธาในตัวท่าน และประเด็นนี้เป็นหนึ่งในเหตุผลของชัยชนะของท่านอิมาม (อ.) ในขบวนการเคลื่อนไหวและการยืนหยัดต่อสู้ระดับโลกที่ยิ่งใหญ่ของท่าน
สามารถกล่าวได้ว่าการนมาซของท่านศาสดาอีซา (อ.) ตามหลังท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) ผู้เป็นข้อพิสูจน์ (ฮุจญะฮ์) สุดท้ายของพระผู้เป็นเจ้าในหมู่ชาวมุสลิมและเป็นผู้สืบทอดที่แท้จริงของศาสดาท่านสุดท้ายนั้น ก็เพื่อพิสูจน์ความจริงที่ยิ่งใหญ่ว่าอิสลามเป็นศาสนาสุดท้ายของพระผู้เป็นเจ้าและศาสดาของอิสลามคือศาสดาท่านสุดท้ายของสายโซ่แห่งปวงศาสดาของพระองค์ การนมาซของท่านศาสดาอีซา (อ.) ในฐานะที่เป็นผู้นำศาสนาที่แพร่หลายมากที่สุดในโลก ซึ่งมีผู้ปฏิบัติตามมากที่สุดนั้นจะปูทางสำหรับบรรดาผู้ที่แสวงหาสัจธรรมในโลกและนี่คือบทบาทที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของศาสดาผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งที่รับผิดชอบในการชี้นำหมู่ชนทั้งหลาย
สิ่งที่ควรกล่าวถึงก็คือ สิ่งที่รับรู้จากบรรดาริวายะฮ์ (คำรายงาน) ทั้งหมดเกี่ยวกับการลงมาของท่านศาสดาอีซา (อ.) ก็คือการลงมาของศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้ และการนมาซของท่านตามหลังท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) ในริวายะฮ์ทั้งหลายของชีอะฮ์ ไม่มีการกล่าวถึงสิ่งใดมากไปกว่านี้ แน่นอน ในริวายะฮ์ต่างๆ ของซุนนีมีการกล่าวถึงประเด็นอื่นๆ อย่างเช่น การปรากฏตัวของท่านศาสดาอีซา (อ.) ในบัยตุลมักดิส เช่นเดียวกันนี้การทำสงครามกับดัจญาล และการสังหารดัจญาล
สถานภาพของศาสดาอีซา (อ.) ในยุคสุดท้าย
การลงมาจากฟากฟ้าของท่านศาสดาอีซา รูฮุลลอฮ์ (อ.) ในยุคสุดท้ายเป็นเหตุการณ์ที่เห็นพ้องตรงกันของชาวมุสลิมทุกคน บรรดานักอรรถาธิบายคัมภีร์อัลกุรอานส่วนใหญ่ได้อรรถาธิบายโองการนี้ไว้ในลักษณะเดียวกันที่พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า :
وَإِن مِّنْ أَهْلِ ٱلْكِتَـٰبِ إِلَّا لَيُؤْمِنَنَّ بِهِۦ قَبْلَ مَوْتِهِۦ ۖ وَيَوْمَ ٱلْقِيَـٰمَةِ يَكُونُ عَلَيْهِمْ شَهِيدًۭا
“และไม่มีชาวคัมภีร์คนใด นอกจากเขาจะต้องศรัทธา ต่อท่านนบีอีซาก่อนที่เขาจะตายอย่างแน่นอน และในวันกิยามะฮฺ เขา (อีซา) จะเป็นสักขีพยานแก่พวกเขาเหล่านั้น " ไม่มีใครจากกลุ่มผู้อยู่ในคัมภีร์ (โตราห์และพระคัมภีร์) เว้นแต่เขาจะศรัทธาต่อเขา (พระเยซู) ก่อนที่เขาจะสิ้นพระชนม์ และเขาจะเป็นพยานต่อสิ่งนั้นในวันนั้น” แห่งการฟื้นคืนพระชนม์” (5)
อัลลามะฮ์มัจญ์ลิซี รายงานการอรรถาธิบายโองการนี้จากท่านอิมามบากิร (อ.) ซึ่งท่านกล่าวว่า :
یَنْزِلُ قَبْلَ یَوْمِ الْقِیامَةِ اِلَی الدُّنْیا فَلا یَبْقی اَهْلُ مِلَّةِ یَهُودیٍّ وَ لا نَصْرانیٍّ اِلاّ آمَنَ بِهِ قَبْلَ مَوْتِهِ وَ یُصَلّی خَلْفَ الْمَهْدیِّ
“เขา (อีซา) จะลงมายังโลกนี้ ก่อนวันกิยามะฮ์ ดังนั้นจะไม่มีชาวศาสนาคนใด ไม่ว่าจะเป็นชาวยิว หรือชาวคริสต์ นอกจากจะต้องศรัทธาต่อเขา ก่อนการตายของเขา และเขาจะทำนมาซตามหลังมะฮ์ดี" (6)
มีริวายะฮ์ (คำรายงาน) มากมายเกี่ยวกับการลงมาของอีซา (อ.) ในตำราของชีอะฮ์และซุนนี ตัวอย่างเช่น ริวายะฮ์ที่มีชื่อเสียงจากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ที่กล่าวว่า :
كيفَ أَنْتُمْ إِذَا نَزَلَ ابنُ مَرْيَمَ فِيكُمْ، وإمَامُكُمْ مِنكُمْ
“พวกท่านจะเป็นอย่างไรเมื่อบุตรของมัรยัมลงมาในหมู่พวกท่าน และผู้นำของท่านก็เป็นคนจากพวกท่านเอง” (7)
ริวายะฮ์บทนี้ นักวิชาการซุนนีกลุ่มหนึ่ง รวมถึงบุคอรีและคนอื่นๆ ได้บันทึกไว้เกี่ยวกับการลงมาของอีซา (อ.)
บนพื้นฐานของริวายะฮ์ต่างๆ จากตำราหะดีษของชีอะห์และซุนนี ศาสดาอีซาจะนมาซตามหลังท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) มีรายงานจากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ซึ่งท่านกล่าวว่า :
منّا مهدیُّ هذه الأمّة الذی یُصلّی عیسی خَلفَه
"มะฮ์ดีของประชาชาตินี้ที่อีซาจะนมาซตามหลังเขานั้นมาจากเรา" (9)
และอีกรายงานหนึ่ง ซึ่งท่านกล่าวว่า :
ومنكم القائم يصلي عيسى بن مريم خلفه إذا أهبطه الله إلى الأرض من ذرية علي وفاطمة من ولد الحسين
"... และจากพวกเจ้านั้น คือ กออิมผู้ซึ่งอีซา บุตรของมัรยัมจะนมาซตามหลังเขา เมื่ออัลลอฮ์ให้เขาลงมายังโลก เขาคือเชื้อสายของอะลีและฟาฏิมะฮ์ จากลูกหลานของฮุเซน" (10)
และทุกปีท่านจะไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ บัยตุลลอฮ์ ชาวมุสลิมจะต่อสู้กับชาวยิว โรม และดัจญาลร่วมกับเขา ท่าน (อีซา) จะเสียชีวิตหลังจากใช้ชีวิตอยู่สี่สิบปี และชาวมุสลิมก็จะฝังศพของท่าน (11)
ในริวายะฮ์จากอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ระบุว่า ท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) จะจัดพิธีฝังศพของท่านอย่างเปิดเผยและต่อหน้าประชาชน เพื่อไม่ให้คริสเตียนพูดเกี่ยวกับท่านเหมือนในอดีตได้อีกและร่างของท่านจะถูกห่อด้วยผ้าที่ทอด้วยมือโดยท่านหญิงมัรยัม (อ.) มารดาของท่าน และท่านจะถูกฝังลงในหลุมศพเคียงข้างท่านหญิงมัรยัม (อ.) ในอัล-กุดส์
เมื่อพิจารณาถึงโองการ "อัลกุรอาน" ที่ว่า : "ไม่มีใคร เว้นแต่เขาผู้นั้นจะศรัทธาในตัวเขา”
สามารถกล่าวได้ว่า ชาวคริสต์และชาวยิวทั้งหมดจะศรัทธาในอีซา (อ.) หลังจากการลงมาของท่าน บางทีปรัชญาของการขึ้นสู่ฟากฟ้าของท่านและการมีอายุยืนยาวของท่านนั้นก็เพื่อการรับผิดชอบบทบาทอันยิ่งใหญ่ที่ท่านจะได้รับในช่วงเวลาที่สำคัญและเป็นประวัติศาสตร์ของการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) เพื่อที่บรรดาคริสเตียนของโลก ซึ่งอาจเป็นมหาอำนาจที่ใหญ่ที่สุดของโลกและเป็นอุปสรรคร้ายแรงที่สุดในการจัดตั้งรัฐบาลและอารยธรรมแห่งพระเจ้าของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) จะเกิดความเลื่อมไสได้ศรัทธา
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่การปรากฏตัวของศาสดาอีซา (อ.) โลกคริสเตียนจะแสดงความพึงพอใจอย่างสุดซึ้ง โดยจัดให้มีการเดินขบวนในที่สาธารณะจำนวนมาก และการลงมาของศาสดาอีซา (อ.) ถือเป็นของขวัญแห่งพระเจ้าสำหรับชาวมุสลิม ในช่วงเวลาการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) และเป็นเรื่องธรรมดาที่ท่านศาสดาอีซา (อ.) จะเดินทางเยือนประเทศต่างๆ ของพวกเขา และพระผู้เป็นเจ้าจะทรงทำให้สัญญาณและปาฏิหาริย์ปรากฏชัดด้วยมือของท่าน และจะค่อยๆ ดำเนินการเพื่อชี้นำทางคริสเตียนมาสู่อิสลามในระยะยาว ผลทางการเมืองประการแรกของการลงมาของท่านศาสดาอีซา (อ.) คือการลดความเป็นปฏิปักษ์ของรัฐบาลตะวันตกที่มีต่อศาสนาอิสลามและมุสลิมลง และตามคำกล่าวของริวายะฮ์ต่างๆ แล้ว คือการทำสนธิสัญญาสันติภาพและการหยุดการรบระหว่างพวกเขาและท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.)
ช่วงเวลาการปรากฏตัวของอิมามมะฮ์ดีและการลงมาของศาสดาอีซา
ท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) และท่านศาสดาอีซา (อ.) จะปรากฏตัวพร้อมกันหรือไม่?
บนพื้นฐานของริวายะฮ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า หลังจากการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) แล้ว ท่านศาสดาอีซา (อ.) จะลงมาจากฟากฟ้าและจะปรากฏตัวต่อหน้าท่านอิมาม ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า :
لن تهلك أمة أنا في أولها ، و عيسى في آخرها ، و المهدي في وسطها
"ประชาชาติที่ฉันอยู่ในช่วงเริ่มต้น อีซา (อ.) ในช่วงสุดท้าย และมะฮ์ดี (อ.) อยู่ในช่วงกลางนั้นจะไม่มีวันพินาศ"(12)
ริวายะฮ์บทนี้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ว่าการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) จะเกิดขึ้นก่อนหน้าท่านศาสดา (อ.) ดังนั้น ท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) จะอยู่ตรงช่วงกลางของอุมมะฮ์ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และจุดประสงค์ของคำว่า "ช่วงกลาง" ที่ถูกกล่าวถึงในริวายะฮ์ ก็คือ สิ่งที่มาก่อนสิ่งสุดท้าย ดังนั้นท่านศาสดาอีซา (อ.) จะมาภายหลังจากท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) และการปรากฏตัวของท่านจะไม่ขัดแย้งกับการปรากฏตัวของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) จากริวายะฮ์บทนี้สรุปได้ว่าท่านศาสดาอีซา (อ.) และท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) จะไม่ปรากฏตัว (ซุฮูร) พร้อมกัน แต่อันดับแรกท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) ปรากฏตัวก่อนแล้วหลังจากนั้นท่านศาสดาอีซา (อ.) จึงปรากฏตัว (13)
สถานที่ลงมาของท่านศาสดาอีซา (อ.)
ในริวายะฮ์จำนวนหนึ่งของอิบนุฮัมมาด จากตำราต่างๆ ของซุนนี มีการกล่าวถึงสถานที่หลายแห่งว่า เป็นสถานที่ลงมาของท่านศาสดาอีซา (อ.) อย่างเช่น "อัล-กุดส์", สะพานสีขาวที่ประตูทางเข้า "ดามัสกัส", เคียงข้างหอคอยที่ประตูทางเข้าทางทิศตะวันออกของดามัสกัส และ "ประตูลุด" ใน "ปาเลสไตน์"
มีริวายะฮ์ของฏ็อบรอนี จากตำราของซุนนีว่า สถานที่แห่งการลงมาของท่านศาสดาอีซา (อ.) ในยุคสุดท้ายคือ เมืองดามัสกัส ฏ็อบรอนี ได้รายงานจากท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ด้วยสายสืบของตน ซึ่งท่านกล่าวว่า :
ينزلُ عيسَى ابنُ مريمَ عند المنارةِ البيضاءِ بشرقيِّ دمشقَ
“อีซา บุตรของมัรยัม จะลงมาที่หอคอยสีขาวทางตะวันออกของดามัสกัส"
อิบนุ กะซีร หนึ่งในนักวิชาการซุนนีก็กล่าวเช่นกันว่า :
"... จากนั้นอีซาจะลงมายังโลกและสถานที่ลงมาของท่านอยู่ติดกับหอคอยสีขาวทางทิศตะวันออกในเมืองดามัสกัส ในช่วงเวลานมาซซุบฮ์” (14)
แต่ทัศนะที่มีชื่อเสียงจากมุมมองของชีอะฮ์ก็คือ ท่านศาสดาอีซา (อ.) จะลงมาในอัล-กุดส์ และจะนมาซหลังท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) จากนั้นจึงออกเดินทางไปเมืองชามและสถานที่อื่นๆ
อิสลาม คือ ศาสนาของท่านศาสดาอีซา (อ.)
จากริวายะฮ์ของซุนนีบางบท หลังจากที่ศาสดาอีซา (อ.) ลงมาจากฟากฟ้า ท่านจะปฏิบัติตามชะรีอัต (บทบัญญัติ) อิสลาม ไม่ใช่ชะรีอัตของท่านเอง
ซุมเราะฮ์ ได้รายงานจากท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ ซึ่งกล่าวว่า : "อีซา บุตรของมัรยัมจะลงมา ในขณะที่ยืนยันถึงความสัจจริงของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และอยู่บนศาสนาของท่าน จากนั้นท่านก็จะสังหารดัจญาล..." (15)
ศาสดาอีซา คือ ผู้ช่วย (วะซีร) อิมามมะฮ์ดี (อ.)
ในรัฐบาลที่นำโดยท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) ที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลของท่านก็จะต้องเป็นบุคคลสำคัญและเป็นคนดีมีคุณธรรมของประชาชาติด้วย ด้วยเหตุนี้ ตามสิ่งที่กล่าวไว้ในริวายะฮ์ต่างๆ คณะรัฐบาลของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) จะถูกจัดตั้งขึ้นโดยประกอบด้วยบรรดาศาสดา (อ.) บรรดาตัวแทนของพวกท่าน บรรดาผู้มีตักวา (ความยำเกรงพระเจ้า) และคนดีมีคุณธรรมของยุคสมัย
ในริวายะฮ์บทหนึ่งได้กล่าวว่า ท่านศาสดาอีซา (อ.) จะกล่าวกับท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.)ว่า :
إنّمَا بُعثتُ وزيرًا ولم أبعَث أميرًا
“แท้จริงแล้ว ฉันถูกส่งมาในฐานะผู้ช่วย ไม่ใช่ในฐานะหัวหน้า” (16)
นอกจากนี้ ในริวายะฮ์บทหนึ่งกล่าวว่า :
وهو أي عيسى(عليه السلام ) الوزير الأيمن للقائم وحاجبه ونائبه
"และเขา หมายถึง อีซา (อ.) จะเป็นผู้ช่วยฝ่ายขวา (ของมะฮ์ดี-อ.) และคนเฝ้าประตูและตัวแทนของเขา" (17)
และในอีกรายงานหนึ่งก็กล่าวไว้เช่นกันว่า :
ينزل عيسى(عليه السلام ) ويقبض أموال القائم ويمشي خلفه أهل الكهف
"... จากนั้นอีซา (อ.) จะลงมาและจะต้องรับผิดชอบในการรับทรัพย์สินของกออิม (อ.) และบรรดาชาวถ้ำก็จะเดินตามหลังเขา" (18)
ช่วงอายุขัยของศาสดาอีซา (อ.)
จากบางริวายะฮ์ของซุนนี หลังจากที่ท่านศาสดาอีซา (อ.) ลงมายังโลก ท่านมีชีวิตอยู่เป็นเวลาสี่สิบปี และในช่วงเวลานี้ ท่านก็จะแต่งงานด้วย จากนั้นท่านจะเสียชีวิต และชาวมุสลิมก็จะทำนมาซแก่ท่าน :
1. ในหะดีษบทหนึ่ง อบูฮุร็อยเราะฮ์ ได้เล่าจากท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ซึ่งกล่าวว่า :
فيَمكُثُ أربَعينَ سَنةً ثُمَّ يُتَوَفَّى، ويُصَلي عليه الْمُسلِمونَ
“ดังนั้นเขา (อีซา) จะพักอาศัยอยู่ (ในโลกนี้) เป็นเวลาสี่สิบปี และหลังจากการเสียชีวิต ชาวมุสลิมจะนมาซให้แก่เขา” (19)
2. อับดุลลอฮ์ บินอุมัร เล่าจากท่านศาสทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ซึ่งกล่าวว่า :
يَنْزِلُ عِيسَى بْنُ مَرْيَمَ علیهما السلام إِلَى الْأَرْضِ، فَيَتَزَوَّجُ وَيُولَدُ لَهُ
"อีซา บุตรของมัรยัม (อ.) จะลงมายังโลก เขาจะแต่งงานและจะมีบุตร" (20)
ในริวายะฮ์ต่างๆ จากอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) อิมามมะฮ์ดี (อ.) จะทำพิธีฝังศพของท่านศาสดาอีซา (อ.) อย่างเปิดเผยและต่อหน้าผู้คน เพื่อไม่ให้ชาวคริสต์ทั้งหลายพูดเกี่ยวกับท่านเหมือนคำพูดต่างๆ ในอดีตได้อีก และร่างของท่านจะถูกห่อหุ้มด้วยผ้าที่ทอมือโดยท่านหญิงมัรยัม (อ.) มารดาของท่าน และจะถูกฝังไว้ข้างหลุมศพของท่านหญิงมัรยัม (อ.) ในอัล-กุดส์
บทสรุป
จากหะดีษและริวายะฮ์ทั้งหมดเกี่ยวกับบทบาทของท่านศาสดาอีซา (อ.) เราได้ข้อสรุปบางประการ ได้แก่ :
1. การลงมาจากฟากฟ้าของท่านมะซีห์ อีซา (อ.) นอกเหนือจากจะเป็นสื่อทำให้ชาวตะวันตกและคริสเตียนของโลกหันมาเลื่อมใสนับถือศาสนาอิสลามและการทำสนธิสัญญาสันติภาพแล้ว ยังจะมีคำตอบสำหรับข้อเคลือบแคลงสงสัยบางประการเกี่ยวกับท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) อีกด้วย ด้วยการปรากฏตัวและการลงมาของท่านศาสดาอีซา (อ.) ยังโลกและการเปิดเผยข่าวของคัมภีร์อัลกุรอานที่ว่า ศาสดาอีซา (พระเยซู) ไม่ได้ถูกตรึงบนไม้กางเขนนั้น จะทำให้รากฐานของรัฐบาลโลกอิสลามได้รับการเสริมสร้างให้เข้มแข็งขึ้น และอิมามัต (ความเป็นผู้นำ) ในวัยเด็กของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) ก็จะได้รับการยืนยัน เนื่องจากคัมภีร์อัลกุรอานได้อธิบายถึงจุดเริ่มต้นของปาฏิหาริย์ (มุอ์ญิซาต) ของท่านศาสดาอีซา (อ.) เมื่อยังเป็นทารก และกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า เมื่อพวกเขาประท้วงวิจารณ์ท่านหญิงมัรยัม (อ.) ว่า ท่านเป็นแม่ได้อย่างไร ท่านศาสดาอีซา (อ.) ขณะยังเป็นทารกแรกเกิดก็พูดอย่างชัดเจน และท่านได้บอกถึงความบริสุทธิ์ของผู้เป็นมารดา! นี่หมายความว่า การทำให้ตำแหน่งความศาสดาและวิลายัต (อำนาจการปกครอง) ของท่านเป็นที่ชัดเจนขึ้น โดยไม่คำนึงถึงอายุ เวลา และสถานที่ และขึ้นอยู่กับความคู่ควรต่างๆ ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้ ดังนั้นวิธีการเกิดของท่านศาสดาอีซา (อ.) และการเริ่มต้นการเป็นศาสดาของท่านเมื่อยังเป็นทารก ดังที่ได้มีระบุไว้ในโองการอัลกุรอาน จึงเป็นหลักฐานที่ชัดเจนสำหรับความเชื่อของชาวชีอะห์ที่ว่า อิมามสามารถไปถึงตำแหน่งสูงสุดของอิมามัต (ความเป็นผู้นำ) ได้ตั้งแต่อายุยังน้อย
2. ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อพิจารณาถึงอายุขัยของท่านศาสดาอีซา (อ.) ซึ่งมากกว่าสองพันปี เราสามารถใช้เป็นหลักฐานพิสูจน์เกี่ยวกับอายุขัยของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) ได้ เมื่อเราเชื่อว่าท่านศาสดาอีซา (อ.) ยังมีชีวิตอยู่ และจะเป็นผู้ช่วยเหลือ ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) ในการยืนหยัดต่อสู้ของท่าน ดังนั้นการมีอายุยืนยาวของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) จึงไม่ใช่เรื่องที่จะต้องน่าประหลาดใจ ไม่เชื่อ หรือเคลือบแคลงสงสัย
3. กลวิธีประการหนึ่งของแนวรบฝ่ายผู้ปฏิเสธศรัทธา (กุฟร์) และซาตาน (ชัยฏอน) คือการขจัดความเหมือนกันของบรรดาศาสนาแห่งฟากฟ้า การรวมกันเป็นเอกภาพของศาสนาอิสลามและศาสนาคริสต์ในยุคสุดท้าย (อาคิรุซซะมาน) นั้น ขัดแย้งกับมุมมองของแนวรบของชาวยิวไซออนิสต์ ดังนั้นพวกเขาจึงใช้ความพยายามทั้งหมดเพื่อสร้างความขัดแย้งระหว่างศาสนาอิสลามและศาสนาคริสต์ ตามริวายะฮ์ (คำรายงาน) ที่ชัดเจนของอิสลามท่านมะซีห์ อีซา (อ.) เป็นหนึ่งในศาสดาของพระผู้เป็นเจ้าที่มีบทบาทที่มีประสิทธิภาพในยุคการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) และการสถาปนารัฐบาลโลกมีความยุติธรรมของ ท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) และจะเป็นผู้ช่วยเหลือท่านอิมาม (อ.) ในการสร้างมหานครในฝัน (ยูโทเปีย) ของมนุษยชาติ
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบรรดาหะดีษในเรื่องของการลงมาจากฟากฟ้าของท่านศาสดาอีซา (อ.) และบทบาทของท่านในรัฐบาลโลกแห่งอิสลามของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) นั้น สามารถค้นหาดูได้จาก : หนังสือ "สารานุกรมท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) บนพื้นฐานของอัลกุรอาน หะดีษ และประวัติศาสตร์ เขียนโดยมุฮัมมัด มุฮัมมะดี เรย์ชะฮ์รี, เล่มที่ 9, หน้าที่ 7 -35 (ภาษาเปอร์เซีย) และหนังสือ อัล-มุอ์ญัม อัล-เมาฎูอีย์ ลิ อะฮาดีษ อัลอิมาม อัลมะฮ์ดี, เขียนโดย อัลลามะฮ์ อะลี อัลกูรอนี อัลอามิลี, หน้าที่ 658-635
เชิงอรรถ :
1.ซอฮิฮ์ บุคอรี, เล่ม 4, หน้า 143
2.บิฮารุลอันวาร, มัจลิซี, เล่ม 52, หน้า 191 และ อิษบาตุลฮุดาฮ์, อิบนุชาซาน, เล่ม 3, หน้า 570
3,กะมาลุดดีน, เชคซอดูก, หน้า 163
4.ชะรีอะฮ์) ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ)" (ฮิลยะตุลอับรอร, บะห์รอนี, เล่ม 6, หน้า 430
5.ซูเราะฮ์อันนิซาอ์ / อายะฮ์ที่ 159
6.บิฮารุลอันวาร, เล่ม 14, หน้า 530
7.บิฮารุลอันวาร, เล่ม 52, หน้า 283
8.ซอฮิฮ์ บุคอรี, เล่ม 2, หน้า 256
9.บิฮารุลอันวาร,มัจญ์ลิซี, เล่ม 51, หน้า 91
10.บิฮารุลอันวาร,มัจญ์ลิซี, เล่ม 51, หน้า 77
11.ต้นฉบับเขียนด้วยมือหนังสือ อัล-ฟิตัน, อิบนุ ฮัมมาด, หน้า 159-162
12.กัชฟุลฆุมมะฮ์, เล่ม 2, หน้า 484
13.ร้อยคำถามและคำตอบเกี่ยวกับอิมามซามาน (ภาษาเปอร์เซีย), อะลีริฎอ รอญาอี, หน้า 211
14.อัล-ฟิตัน วัล-มะลาฮิม, อิบนุ กะซีร, หน้า 172
15.ซอฮิฮ์ อิบนุ ฮิบบาน, เล่ม 5, หน้า 223
16.อัลมะลาฮิม, อิบนุ ฏอวูส, หน้า 83 และ อัลฟิตัน, อิบนุ ฮัมมาด, หน้า 160
17.ฆอยะตุลมะรอม, หน้า 697 และ ฮิลยะตุลอับรอร, บะห์รอนี, เล่ม 2, หน้า 620
18.ฆอยะตุลมะรอม, หน้า 697 และ ฮิลยะตุลอับรอร, บะห์รอนี, เล่ม 2, หน้า 620
19.มุสนัด, อะห์มัด อิบนุฮันบัล, เล่ม 2, หน้า 406 และ อบูดาวูด, ฮะดีษที่ 4324
20.มีซานุลอิอ์ติดาล, เล่ม 2, หน้า 562
บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2023 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่