อิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ.) ผู้ใจบุญแห่งอะฮ์ลุลบัยติ์
Powered by OrdaSoft!
No result.
อิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ.) ผู้ใจบุญแห่งอะฮ์ลุลบัยติ์

วันที่ 15 เดือนรอมฎอน เนื่องในวันคล้ายวันประสูติ (วิลาดัต) ของท่านอิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ.) ขอแสดงความยินดีต่อพี่น้องมุสลิมทุกคน และขอพระผู้เป็นเจ้าทรงประทานความสำเร็จแก่ทุกท่านในการรับประโยชน์จากการเป็นแขกในสำรับอาหารแห่งจิตวิญญาณในเดือนรอมฎอนอันจำเริญนี้

     ท่านอิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ.) ถูกรู้จักด้วยสมญานามว่า "กะรีมุ อะฮ์ลิลบัยติ์" (ผู้ใจบุญแห่งอะฮ์ลิลบัยติ์ (อ.)) เพื่อที่จะอธิบายถึงเรื่องนี้ เป็นสิ่งที่ดีกว่าที่เราจะทราบว่าอิมามผู้บริสุทธิ์ (อ.) แต่ละท่านนั้นได้มีชื่อเสียงและถูกรู้จักด้วยสมญานามต่างๆ ที่เป็นเฉพาะ อย่างเช่น "อะมีรุ้ลมุอ์มินีน" (หัวหน้าของปวงศรัทธาชน) "ซัยยิดุชชุฮะดาอ์" (หัวหน้าของปวงชะฮีด) "ซัยยิดุซซาญิดีน" (หัวหน้าของบรรดาผู้สุญูด) "บากิรุ้ลอุลูม" (ผู้ผ่าขุมคลังแห่งวิชาการ) "ซอดิกุ อาลิมุฮัมมัด" (ผู้สัจจริงแห่งวงศ์วานของมุฮัมมัด) "บาบุ้ลหะวาอิจญ์" (ประตูแห่งความต้องการ) และอื่นๆ

      เกี่ยวกับกรณีที่ว่า ทำไมอิมาม (อ.) แต่ละท่านจึงถูกรู้จักด้วยหนึ่งในสมญานามเหล่านี้นั้น จำเป็นต้องกล่าวว่า สถานการณ์ต่างๆ ของยุคสมัยได้มอบสมญานามเช่นนี้ให้แก่ท่านเหล่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ฉายา "ซัยยิดุชชุฮะดาอ์" ถูกมอบให้แก่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) หรือท่านอิมามซัจญาด (อ.) เนื่องจากไม่สามารถที่จะทำการเผยแพร่คำสอนของอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ได้อย่างเปิดเผย จึงได้ใช้ประโยชน์จากสื่ออื่นๆ อย่างเช่น “ดุอาอ์” และสิ่งนี้เองที่เป็นสาเหตุทำให้การอิบาดะฮ์ของท่านเป็นที่รู้จักกันดีทั้งในหมู่ประชาชนโดยทั่วไปและในหมู่ผู้ปฏิบัติตามอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) และท่านจึงได้รับการขนานนามว่า “ซัยยิดดุซซายิดีน” (หัวหน้าของบรรดาผู้สุญูดต่อพระเจ้า) และ “ซัยนุ้ลอาบีดีน” (เครื่องประดับของปวงผู้เคารพภักดีพระเจ้า)

      หรือท่านอิมามบากิร (อ.) เนื่องจากใช้ชีวิตอยู่ในช่วงสมัยที่โอกาสในการทำการเคลื่อนไหวทางด้านวิชาการความรู้และการเผยแพร่คำสอนของอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ได้อำนวยแก่ท่าน ท่านจึงใช้โอกาสดังกล่าว และมิติต่างๆ ทางด้านวิชาการของท่านอิมาม (อ.) ได้เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่บุคคลทั้งหลาย และเป็นสาเหตุทำให้ท่านได้รับการขนานนามจากผู้คนทั้งหลายว่า “บากิรุ้ลอุลูม” (ผู้ผ่าขุมคลังแห่งวิชาการ)

      ในท่ามกลางทั้งหมดเหล่านี้ ท่านอิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ.) ก็เช่นเดียวกันด้วยเหตุผลที่ว่า สองครั้งที่ท่านได้บริจาคและเสียสละทรัพย์สินทั้งหมดของตนที่มีอยู่ให้กับคนยากจนขัดสน และสามครั้งที่ท่านได้แบ่งทรัพย์สินของตนออกเป็นสองส่วน และครึ่งหนึ่งของมันท่านได้บริจาคให้แก่คนยากจนขัดสน ท่านจึงได้รับการขนานนามจากประชาชนว่า “กะรีมุ อะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.)” (ผู้ใจบุญแห่งอะฮ์ลุลบัยติ์ของท่านศาสดา)

      ตัวท่านอิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ.) เองได้อธิบายความหมายของคำว่า “กะร็อม” (ความใจบุญ ความเอื้ออารี ความมีเกียรติ) ไว้ในฮะดีษ (วจนะ) ที่สวยงามและลึกซึ้งของท่าน โดยที่มีผู้ถามท่านเกี่ยวกับ “กะร็อม” (ความใจบุญ ความเอื้ออารี ความมีเกียรติ)  ท่านตอบว่า :

الِابْتِدَاءُ بِالْعَطِيَّةِ قَبْلَ الْمَسْأَلَةِ

“มันคือการเริ่มต้นการให้ (แก่ผู้ยากจนขัดสน) ก่อนการขอ (ของพวกเขา)” (1)

     พระผู้เป็นเจ้าก็ทรงเป็นผู้ใจบุญ ผู้ทรงเอื้ออารีเช่นเดียวกัน เนื่องจากพระองค์จะทรงขจัดความต้องการและมอบให้ก่อนที่ปวงบ่าวจะวอนขอต่อพระองค์ ในบทดุอาอ์ของเดือนรอญับ เราจะวิงวอนต่อพระผู้เป็นเจ้าเช่นนี้ว่า :

يَا مَنْ يُعْطِي مَنْ سَأَلَهُ ، يَا مَنْ يُعْطِي مَنْ لَمْ يَسْأَلْهُ وَ مَنْ لَمْ يَعْرِفْهُ تُحَنُّناً مِنْهُ وَ رَحْمَةً

“โอ้ผู้ทรงประทานให้แก่ผู้ที่วอนขอพระองค์ โอ้ผู้ทรงประทานให้แก่ผู้ที่ไม่ได้วอนขอพระองค์และแก่ผู้ที่ไม่รู้จักพระองค์ เป็นความกรุณาและความเมตตาจากพระองค์” (2)

     ใช่แล้ว! ท่านอิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ.) นั้นมีคุณลักษณะเช่นนี้ ท่านจะให้แก่บรรดาผู้ยากจนขัดสนก่อนที่พวกเขาเหล่านั้นจะแสดงความต้องการและการวอนขอ คุณลักษณะอันสูงส่งและงดงามนี้ควรที่จะเป็นแบบอย่างสำหรับเรา เราจะต้องไม่ปล่อยให้คนที่มีความยากจนขัดสนและความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือได้ทำลายเกียรติและศักดิ์ศรีของตนเอง ทว่าเราจะต้องให้การช่วยเหลือเขาก่อนที่เขาจะแสดงความต้องการความช่วยเหลือจากเรา ท่านอิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ.) ได้สอนบทเรียนแก่เรา นี่คือ บทเรียนของความเป็นผู้ใจบุญ เอื้ออารีต่อผู้อื่น และบทเรียนของความเป็นผู้มีเกียรติ (กะรีม)

     ท่านอิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ.) ยังได้สอนแก่เราอีกว่า :

التَّبَرُّعُ‏ بِالْمَعْرُوفِ‏، وَ الْإِعْطَاءُ قَبْلَ السُّؤَالِ، مِنْ أَكْبَرِ السُّؤْدَد

“การบริจาคทรัพย์ด้วยความดีงาม และการให้ก่อนการขอนั้น คือความมีเกียรติ (และความเป็นนาย) ที่ใหญ่ที่สุด” (3)


แหล่งอ้างอิง :

(1) ตุหะฟุลอุกูล, หน้าที่ 227

(2) มะฟาตีฮุลญินาน, ดุอาอ์ของเดือนรอญับ

(3) นุซฮะตุนนาซิร, หน้าที่ 71


บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 620 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

24781737
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
31645
52431
209119
24215661
1047402
1618812
24781737

พฤ 21 พ.ย. 2024 :: 17:54:39