1 ซุลฮิจญะฮ์ วันครบรอบการสมรสระหว่างอิมามอะลีและท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) เมื่อพิจารณาถึงโองการต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอานสามารถกล่าวได้ว่า มีสองแห่งที่อัลกุรอานได้ชี้ถึงการสมรสระหว่างท่านอิมามอะลี (อ.) กับท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (อ.) บุตรีของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ซึ่งผลของการแต่งงานครั้งนี้ได้นำมาความดีงามและความจำเริญอันมากมายสำหรับมนุษยชาติ ซึ่งจะได้กล่าวถึงในเนื้อหาต่อไปนี้
หนึ่งในเหตุการณ์อันจำเริญที่เกิดขึ้นในเดือนที่เปี่ยมไว้ด้วยรัศมี (นูร) ของเดือนซุลฮิจญะฮ์ ปีฮิจญ์เราะฮ์ศักราชที่สอง คือการแต่งงานของท่านอมีรุลมุอ์มินีนอะลี บินอะบีฏอลิบ (อ.) กับท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (อ.) บุตรีของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ซึ่งผลของการแต่งงานครั้งนี้ได้นำมาความดีงามและความจำเริญอันมากมายสำหรับมนุษยชาติ ซึ่งจะได้กล่าวถึงในเนื้อหาต่อไปนี้ .
บางทีอาจะมีคำถามเกิดขึ้นว่า คัมภีร์อัลกุรอานได้ชี้ถึงการสมรสของบุคคลทั้งสองนี้ไว้หรือไม่ จำเป็นต้องกล่าวว่า ในสองที่ของคัมภีร์อัลกุรอานเราสามารถพบคำตอบของคำถามนี้ได้ คือ :
แห่งที่หนึ่งอยู่ในซูเราะฮ์ (บท) อัลเกาษัรและอีกแห่งอยู่ในซูเราะฮ์ (บท) อัรเราะห์มาน ในซูเราะฮ์อัลเกาษัร คือโองการที่พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสูงส่งทรงตรัสว่า :
إِنَّا أَعْطَيْنَاكَ الْكَوْثَرَ
"แท้จริงเราได้ประทาน "เกาษัร" (ความดีงามอันมากมาย) ให้แก่เจ้า"
ในความเป็นจริงแล้วหนึ่งในตัวอย่าง (มิศดาก) ของความดีอันมากมาย (เกาษัร) คือการดำรงอยู่ของบรรดาอิมาม (อ.) ผู้บริสุทธิ์ที่สืบเชื้อสายมาจากท่านหญิงฟาฏิมะฮ์อัซซะฮ์รอ (อ.) และเป็นสาเหตุทำให้ความดีงามของท่านหญิง (อ.) ดำเนินอยู่ตลอดทุกยุคสมัย และประเด็นนี้เกิดขึ้นด้วยสื่อของการแต่งงานของท่านหญิงกับท่านอะมีรุ้ลมุอ์มินีน อะลี บินอบีฏอลิบ (อ.) ในฐานะ "กุฟว์" (ผู้มีความคู่ควร) เพียงผู้เดียว (1)
อีกแห่งของคัมภีร์อัลกุรอานที่ชี้ถึงการแต่งงานของท่านอิมามอะลี (อ.) กับท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (อ.) โดยนัยนั่นก็คือโองการที่ 19 ถึง โองการที่ 22 ของซูเราะฮ์ (บท) อัรเราะห์มานที่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงตรัสว่า :
مَرَجَ الْبَحْرَيْنِ يَلْتَقِيَانِ * بَيْنَهُمَا بَرْزَخٌ لَّا يَبْغِيَانِ * فَبِأَيِّ آلَاء رَبِّكُمَا تُكَذِّبَانِ * يَخْرُجُ مِنْهُمَا اللُّؤْلُؤُ وَالْمَرْجَانُ
"พระองค์ทรงบันดาลให้สองทะเล (น้ำเค็มและน้ำจืด) ไหลมาบรรจบกัน ระหว่างมันทั้งสองมีสิ่งขวางกั้นโดยที่ทั้งสองจะไม่ล้ำเขตของกันและกัน ดังนั้นต่อความโปรดปรานอันใดของพระผู้อภิบาลของเจ้าทั้งสอง (ญินและมนุษย์) ที่เจ้าทั้งสองว่ามุสา? มีไข่มุกและปะการังสีแดงเรื่อออกมาจากมันทั้งสอง"
ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวในการอรรถาธิบาย (ตัฟซีร) และการตีความ (ตะอ์วีล) โองการเหล่านี้ว่า : "ท่านอะลี (อ.) และท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) คือสองทะเลน้ำลึกที่แต่ละคนจากท่านทั้งสองจะไม่ละเมิดและอธรรมต่อกัน และจากบุคคลทั้งสองนี้ ท่านฮะซันและท่านฮุเซน (อ.) ได้ถือกำเนิดขึ้นมา (ในนามไข่มุกและปะการัง) "(2)
เชิงอรรถ :
1.ท่านอิมามญะอ์ฟัร ซอดิก (อ.) กล่าวในเรื่องนี้ว่า :
لولا أن الله تعالى خلق أمير المؤمنين "عليه السلام" لفاطمة ما كان لها كفؤ على ظهر الأرض، من آدم فمن دونه
"หากอัลลอฮ์ ผู้ทรงสูงส่ง "ม่ทรงสร้างท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.) ให้ (เป็นคู่ครอง) แก่ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) แล้ว จะไม่มีผู้ในในหน้าแผ่นดินไม่ว่าจะเป็นอาดัมหรือผู้อื่นจากท่าน ที่จะเป็นผู้คู่ควรกับพระนาง" (อัลกาฟี, เชคกุลัยนี, เล่ม 1, หน้า 461)
2.ตัฟซีร ฟุร๊อต กูฟีย์ , หน้า 460 ; ดูเพิ่มเติมในเรื่องนี้จากลิงก์ : http://arabic.irib.ir/programs/item/8686
แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่