วันอีดฆอดีร คือ วันอีดที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ณ อัลลอฮ์ เป็นวันอีดของอาลิมุฮัมมัด (วันแห่งการเฉลิมฉลองของวงศ์วานของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และเป็นวันอีดที่มีคุณค่าที่สุดและมีความสูงส่งที่สุดในอิสลาม ในทัศนะของชาวชีอะฮ์ในช่วงเวลาตลอดทั้งปีนั้น ไม่มีวันใดจะมีความจำเริญ (บะรอกัต) และมีความดีงามมากไปกว่าวันนี้ทั้งนี้เนื่องจากว่า ท่านอิมามญะอ์ฟัร อัซซอดิก (อ.) เองได้กล่าวไว้ว่า :
إِنَّ يَوْمَ غَدِيرِ خُمٍّ : بَيْنَ الْفِطَرِ وَ الْأَضْحَى وَ الْجُمُعَةِ كَالْقَمَرِ بَيْنَ الْكَوَاكِبِ
“แท้จริงวันฆอดีรคุม ในท่ามกลางวันอีดิลฟิฏร์, วันอีดิลอัฎฮาและวันศุกร์นั้น เปรียบได้ดั่งดวงจันทร์ในท่ามกลางดวงดาวทั้งหลาย..”
(อิกบาลุลอะอ์มาล, ซัยยิดอิบนิฎอวูซ, หน้าที่ 466)
“ฆอดีรคุม” คือภารกิจซึ่งท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้ทำการแต่งตั้งตัวแทนผู้สืบทอดของท่านอย่างเป็นทางการ และกลายเป็นความสิ้นหวังของผู้ต่อต้านอิสลามทั้งมวล ใช่แล้ว! “ฆอดีรคุม” มิได้เป็นเพียงดินแดนแห่งหนึ่งเท่านั้น แต่ทว่ามันคือตาน้ำหนึ่งที่จะไหลรินอย่างไม่ขาดสายจวบจนถึงจุดสิ้นสุดของการดำรงอยู่ของโลกแห่งการสร้างสรรค์ มันคือธารน้ำ “เกาษัร” ที่จะไม่มีวันสิ้นสุด มันคือขอบฟ้าที่ไร้ขอบเขตจำกัด และมันคือดวงอาทิตย์ที่จะทอแสงอันเจิดจรัสให้แก่โลกตลอดไป
“ฆอดีรคุม” คือการกำหนดแนวคิดของประชาชาติมุสลิม เรื่องราวของ “ฆอดีรคุม” มิได้เป็นแค่เพียงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ถูกมองเคียงคู่ไปกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์อื่นๆ ฆอดีรคุมมิได้เป็นแค่เพียงชื่อของดินแดนแห่งหนึ่งเพียงเท่านั้น ทว่ามันคือแนวคิดหนึ่ง เป็นสัญลักษณ์และรหัสลับหนึ่งที่จะแสดงถึงการดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องของแนวทางแห่งศาสดา (นุบูวะฮ์)
“ฆอดีรคุม” คือจุดเชื่อมต่อภารกิจแห่งศาสดา (ริซาละฮ์) กับหัวหน้าผู้สืบสานภารกิจแห่งความเป็นผู้นำ (อิมามะฮ์) ของประชาชาติมุสลิมภายหลังจากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เหตุการณ์แห่ง “ฆอดีรคุม” นั้น มีบทบาทสำคัญต่อชะตากรรมและการกำหนดเส้นทางอนาคตของอิสลาม เป็นเหตุการณ์ที่สืบเนื่องมาจากการที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้ทำให้ภารกิจที่สำคัญยิ่งของท่านประสบความสำเร็จ เป็นภารกิจซึ่งการปฏิบัติมันนั้นเท่ากับการประกาศสาส์น (ริซาละฮ์) ทั้งหมดของพระผู้เป็นเจ้า และการบกพร่องจากการปฏิบัติมันนั้นเท่ากับทำให้ความเหนื่อยยากต่างๆ ในช่วงเวลาหลายปีของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ในการปฏิบัติภารกิจของผู้สื่อสาร (ร่อซูล) นั้นสูญเปล่า การเสียสละและการพลีอุทิศต่างๆ ของบรรดามุสลิมในยุคแรกของอิสลามก็จะไร้ผล
เรื่องราวโดยสังเขปของ “ฆอดีรคุม”
ในปีฮิจเราะฮ์ศักราชที่ 10 ขณะที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) เดินทางกลับจากการทำฮัจญ์ครั้งสุดท้าย (ฮัจญะตุ้ลวิดาอ์) มวลมหาประชาชนซึ่งมีจำนวนถึง 124,000 คน ต่างเดินทางมาส่งท่าน จนกระทั้งมาถึงยังพื้นที่กันดาลแห่งหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า “ฆอดีรคุม” ในช่วงเที่ยงของวันที่ 18 เดือนซุลฮิจญะฮ์ ซึ่งทันใดนั้นเอง ญิบรออีลได้ลงมายังท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และนำโองการจากพระผู้เป็นเจ้าลงมายังท่านว่า
يَا أَيُّهَا الرَّسُولُ بَلِّغْ مَا أُنْزِلَ إِلَيْكَ مِنْ رَبِّكَ ۖ وَإِنْ لَمْ تَفْعَلْ فَمَا بَلَّغْتَ رِسَالَتَهُ ۚ وَاللَّهُ يَعْصِمُكَ مِنَ النَّاسِ ۗ إِنَّ اللَّهَ لَا يَهْدِي الْقَوْمَ الْكَافِرِينَ
“โอ้ศาสนทูตเอ๋ย! จงประกาศสิ่งที่ถูกประทานลงมายังเจ้าจากพระผู้อภิบาลของเจ้า และถ้าเจ้าไม่ปฏิบัติ ก็เท่ากับเจ้าไม่ได้ประกาศสาส์นของพระองค์เลย และอัลลอฮ์จะทรงปกป้องเจ้าให้พ้นจากมนุษย์ แท้จริงอัลลอฮ์จะไม่ทรงนำทางหมู่ชนผู้ปฏิเสธ”
(อัลกุรอานบทอัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 67)
ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จึงออกคำสั่งให้กองคาระวานหยุดการเดินทาง ประชาชนทั้งหมดจึงหยุดพัก ณ ท้องทุ่งทะเลทรายที่แห้งแล้งภายใต้แสงแดดที่ร้อนจัด ประชาชนได้ใช้อานอูฐเรียงกันเป็นมิมบัร (ธรรมมาส) ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้ขึ้นไปยืนบนนั้น และหันหน้าไปยังประชาชน ในช่วงเริ่มต้นท่านได้กล่าวสรรเสริญสดุดีต่อพระผู้เป็นเจ้า และขอความคุ้มครองต่อพระองค์ให้พ้นจากความชั่วร้ายต่างๆ ของอารมณ์ใฝ่ต่ำ พร้อมกับกล่าวว่า “โอ้ ประชาชนเอ๋ย! ฉันกำลังจะจากพวกท่านไปในเวลาอันใกล้นี้” จากนั้นท่านได้กล่าวเสริมว่า
ایهاالنَّاسُ، مَنْ اَوْلی بِکُمْ مِنْ اَنْفُسِکُمْ؟
“โอ้ประชาชนเอ๋ย! ผู้ใดที่มีอำนาจปกครอง (และคุ้มครองประโยชน์) ของพวกท่าน ยิ่งกว่าตัวของพวกท่านเอง”
ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า «اللهُ وَ رَسُوْلَهُ أعْلَمُ» “อัลลอฮ์และศาสนทูตของพระองค์ย่อมทราบดียิ่ง”
ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า ألَسْتُ أَوْلَى بِکُُمْ من أَنْفُسِكُمْ “ฉันมิได้มีอำนาจปกครอง (และคุ้มครองประโยชน์) ของพวกท่านยิ่งกว่าตัวของพวกท่านเองดอกหรือ” พวกเขาตอบว่า «بَلَى» “ใช่แล้ว!”
ต่อจากนั้นท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้จับมือของท่านอิมามอะลี (อ.) ชูขึ้น และกล่าวว่า
اَلا من کُنْتُ مَوْلاهُ فَهذا عَلی مَوْلاهُ
“พึงรู้เถิดว่า ใครก็ตามที่ฉันเป็นผู้ปกครองของเขา ดังนั้น อะลีผู้นี้ก็เป็นผู้ปกครองของเขาด้วย”
จากนั้นท่านกล่าวว่า
اللهمَّ والِ مَنْ والاهُ و عادِ مَنْ عاداهُ وَانْصُرْمَنْ نَصَرَهُ واخْذُلْ مَنْ خَذَلَهُ
“โอ้อัลลอฮ์! โปรดเป็นมิตรต่อผู้ที่ยอมรับอำนาจการปกครองของเขา และโปรดเป็นศัตรูต่อผู้ที่เป็นศัตรูต่อเขา และโปรดช่วยเหลือผู้ที่ช่วยเหลือเขา และโปรดทอดทิ้งผู้ที่ทอดทิ้งเขา”
ในขณะที่การชุมนุมของประชาชนยังอยู่ในสภาพดังกล่าว และยังไม่ได้แยกย้ายกันออกไป ญิบรออีลได้นำโองการมายังท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) อีกครั้ง โดยกล่าวว่า
الْيَوْمَ يَئِسَ الَّذِينَ كَفَرُوا مِن دِينِكُمْ فَلَا تَخْشَوْهُمْ وَاخْشَوْنِ الْيَوْمَ أَكْمَلْتُ لَكُمْ دِينَكُمْ وَأَتْمَمْتُ عَلَيْكُمْ نِعْمَتِي وَرَضِيتُ لَكُمُ الْإِسْلَامَ دِينًا
“วันนี้บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาได้สิ้นหวังจาก (การทำลาย) ศาสนาของพวกเจ้าแล้ว ดังนั้นพวกเจ้าจงอย่ากลัวพวกเขา และจงกลัวข้าเถิด วันนี้ข้าได้ทำให้ศาสนาของพวกเจ้าสมบูรณ์แก่พวกเจ้าแล้ว และข้าได้ให้ความโปรดปรานของข้าครบถ้วนแก่พวกเจ้าแล้ว และข้าได้พึงพอใจแล้วที่จะให้อิสลามเป็นศาสนาของพวกเจ้า”
(อัลกุรอานบทอัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 3)
ด้วยกับวิธีการดังกล่าวนี้เองที่ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้ถูกแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้าให้เป็นผู้สืบทอดของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) สายรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์แห่ง “ฆอดีรคุม” มัรฮูมอัลลามะฮ์อะมีนี ได้กล่าวถึงชื่อของผู้รายงานฮะดีษ “ฆอดีรคุม” ไว้ในหนังสือ “อัลฆอดีร” ของท่าน ตามลำดับช่วงเวลาของการดำเนินชีวิตของพวกเขาไว้ดังนี้ คือ
ในหมู่บรรดาซอฮาบะฮ์ (สาวก) ของท่านศาสทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) จำนวน 110 คน
ในหมู่บรรดาตาบิอีน จำนวน 84 คน
ในหมู่นักวิชาการของศตวรรษที่ 2 (ของอิสลาม) จำนวน 56 คน
ในหมู่นักวิชาการของศตวรรษที่ 3 จำนวน 92 คน
ในหมู่นักวิชาการของศตวรรษที่ 4 จำนวน 43 คน
ในหมู่นักวิชาการของศตวรรษที่ 5 จำนวน 24 คน
ในหมู่นักวิชาการในศตวรรษที่ 6 จำนวน 20 คน
ในหมู่นักวิชาการในศตวรรษที่ 7 จำนวน 21 คน
ในหมู่นักวิชาการในศตวรรษที่ 8 จำนวน 18 คน
ในหมู่นักวิชาการในศตวรรษที่ 9 จำนวน 16 คน
ในหมู่นักวิชาการในศตวรรษที่ 10 จำนวน 14 คน
ในหมู่นักวิชาการในศตวรรษที่ 11 จำนวน 12 คน
ในหมู่นักวิชาการในศตวรรษที่ 12 จำนวน 13 คน
ในหมู่นักวิชาการในศตวรรษที่ 13 จำนวน 12 คน
ในหมู่นักวิชาการในศตวรรษที่ 14 จำนวน 19 คน
“ฮะดีษฆอดีรคุม” ถูกกล่าวถึงด้วยเนื้อหาที่แตกต่างกันออกไปในหนังสือต่างๆ ที่ถูกยอมรับ (มุอ์ตะบัร) ของชาวอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ อย่างเช่นหนังสือ "มุสนัด" ของอิมามอะห์มัด อิบนิฮันบัล ในหนังสือ “ซอเฮี้ยะห์” ของมุสลิม ในหนังสือ "สุนัน" ของติรมีซี ในหนังสือ “สุนัน” ของอิบนิมาญะฮ์ ในหนังสือ “อัลค่อซออิซ” ของนะซาอี และใน “อัลมุสตัดร็อก อะลัซซ่อฮีฮัยน์” ของฮาฟิซอิบนิอับดุลลอฮ์ ฮากิมนัยซาบูรี เป็นต้น
ความหมายของคำว่า “อีด” ชาวมุสลิมโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวชีอะฮ์ ถือว่าวันที่ 18 ของเดือนซุลฮิจญะฮ์ ซึ่งเป็นวันฆอดีรคุมนั้น เป็นวันอีดที่บรรดานักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ถือว่า คำว่า “อีด” (عِیْد) นั้นมาจากรากศัพท์ “อัยน์ วาว ดาล” (ع و د) ซึ่งหมายถึง “การย้อนกลับ” ในการเทียบเคียงประเด็นดังกล่าวนี้กับหลักการทางศาสนาและทางมัซฮับนั้น จำเป็นต้องกล่าวว่า “อีด” นั้นคือการเฉลิมฉลองการย้อมกลับมาสู่ชีวิตทางจิตวิญญาณของมนุษย์ ตัวอย่างเช่น ในเดือนรอมฎอนอันจำเริญ ภายหลังจากสามสิบวันที่มนุษย์ต่อสู้กับตัวเอง ต่อสู้กับอารมณ์ใฝ่ต่ำที่เรียกว่า “ญิฮาดุนนัฟซ์” นั้น เขาจะสลายสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ต่างๆ ทั้งมวลออกไปจากตัวเอง ความจงรักภักดีและการยอมตนเป็นบ่าวที่ดีจะถูกสำแดงออกมาในตัวตนของเขา ในช่วงเวลานี้เองที่เขาจะเฉลิมฉลองอีดิลฟิฏร์
ดังนั้น “อีด” ในอิสลาม คือการเฉลิมฉลองการย้อนกลับคืนมาของชีวิตทางจิตวิญญาณ และการกำหนดมันนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของบทบัญญัติทางศาสนา “อีดฆอดีร” ตามการอธิบายดังกล่าวนี้มีเงื่อนไขทั้งสองประการคือ การย้อนกลับมาสู่ตัวตนและการถูกกำหนดโดยบทบัญญัติทางศาสนา “อีดฆอดีร” คือการย้อนกลับมาสู่ชีวิตแห่งอิสลามอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ “อีดฆอดีร” ยังถูกกำหนดโดยบทบัญญัติของอิสลามอีกด้วย ในเนื้อหาต่อไปนี้ จะชี้ให้เห็นตัวอย่างของริวายะฮ์ (คำรายงาน) บางส่วนที่ถือว่าวันแห่งฆอดีรคุมเป็นวันอีด : ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้รายงานจากท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ซึ่งกล่าวว่า
يَوْمُ غَدِيرِ خُمٍّ أَفْضَلُ أَعْيَادِ أُمَّتِي وَ هُوَ الْيَوْمُ الَّذِي أَمَرَنِيَ اللَّهُ تَعَالَى ذِكْرُهُ فِيهِ بِنَصْبِ أَخِي عَلِيِّ بْنِ أَبِي طَالِبٍ عَلَماً لِأُمَّتِي يَهْتَدُونَ بِهِ مِنْ بَعْدِي وَ هُوَ الْيَوْمُ الَّذِي أَكْمَلَ اللَّهُ فِيهِ الدِّينَ وَ أَتَمَّ عَلَى أُمَّتِي فِيهِ النِّعْمَةَ وَ رَضِيَ لَهُمُ الْإِسْلَامَ دِيْنًا
“วันฆอดีรคุม เป็นวันอีดที่ประเสริฐที่สุดของประชาชาติของฉัน มันคือวันซึ่งอัลลอฮ์ ผู้ทรงสูงส่งทรงบัญชาแก่ฉันในวันนี้ ให้แต่งตั้งอะลี บินอบีฏอลิบ น้องชายของฉัน ให้เป็นผู้นำประชาชาติของฉัน พวกเขาจะได้รับการชี้นำจากเขาภายหลังจากฉัน มันคือวันที่พระองค์ทรงทำให้ศาสนาสมบูรณ์และให้ความโปรดปราน (เนียะอ์มัต) ครบถ้วนแก่ประชาชาติของฉัน และทรงพึงพอพระทัยที่ได้มอบอิสลามให้เป็นศาสนาของพวกเขา” (1)
ฮะซัน บินรอชิด ได้เล่าว่า ฉันได้ถามท่านอิมามซอดิก (อ.) ว่า “สำหรับบรรดามุสลิมยังมีวันอีดอื่นที่นอกเหนือจากวันศุกร์ วันอีดิลอัฎฮาและวันอีดิลฟิฏริ์หรือไม่” ท่านกล่าวว่า “ใช่แล้วมีซิ! มันเป็นวันแห่งเกียรติยศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดท่ามกลางวันอีดเหล่านั้น” ฉันกล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอพลีเพื่อท่าน มันคือวันอีดใดหรือ” ท่านกล่าวว่า “มันคือวันที่ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้แต่งตั้งท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน (อ.) และได้กล่าวว่า ผู้ใดที่ฉันเป็นผู้ปกครองของเขา ดังนั้น อะลีก็เป็นผู้ปกครองของเขาด้วย” ฉันได้กล่าวว่า “มันคือวันใดกระนั้นหรือ” ท่านกล่าวว่า “...มันคือวันที่สิบแปดของเดือนซุลฮิจญะฮ์” ฉันกล่าวว่า “เราควรจะปฏิบัติตนอย่างไรในวันนั้น” ท่านกล่าวว่า
تَذْكُرُونَ اللَّهَ عَزَّ ذِكْرُهُ فِيهِ بِالصِّيَامِ وَ الْعِبَادَةِ وَ الذِّكْرِ لِمُحَمَّدٍ وَ آلِ مُحَمَّدٍ فَإِنَّ رَسُولَ اللَّهِ ص أَوْصَى أَمِيرَ الْمُؤْمِنِينَ ع أَنْ يَتَّخِذَ ذَلِكَ الْيَوْمَ عِيداً وَ كَذَلِكَ كَانَتِ الْأَنْبِيَاءُ ع تَفْعَلُ كَانُوا يُوصُونَ أَوْصِيَاءَهُمْ بِذَلِكَ فَيَتَّخِذُونَهُ عِيدا
“ท่านทั้งหลายควรรำลึกถึงอัลลอฮ์ ผู้ทรงเกริกเกียรติในวันนั้น ด้วยการถือศีลอด การทำอิบาดะฮ์และการกล่าวรำลึกถึงมุฮัมมัดและวงศ์วานของมุฮัมมัด เพราะแท้จริงท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้สั่งเสียท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน (อ.) ให้ยึดเอาวันนั้นเป็นวันอีด และปวงศาสดาทั้งหลายก็ทำเช่นเดียวกันนี้ (เมื่อพวกท่านแต่งตั้งผู้สืบทอดของตนแล้ว) พวกท่านก็จะสั่งเสียบรรดาผู้สืบทอดของตนด้วยสิ่งนั้น แล้วพวกเขาก็จะยึดเอามันเป็นวันอีด” (2)
หากเราตรวจสอบวิถีปฏิบัติของบรรดาอิมาม (อ.) และท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เราจะพบว่า ท่านศาสดา ท่านอมีรุลมุอ์มินีน และบรรดาอิมาม (อ.) ท่านอื่นๆ จะปฏิบัติต่อวันฆอดีร (วันที่สิบแปดของเดือนซุลฮิจญะฮ์) ในฐานะวันอีดหนึ่ง และจะเรียกร้องเชิญชวนให้มุสลิมกล่าวแสดงความยินดีต่อกัน
ในวัน “อีดฆอดีร” ท่านอิมามฮะซัน (อ.) ได้จัดงานเลี้ยงรับรองแขกอย่างใหญ่โต ท่านอิมามอะลี (อ.) พร้อมด้วยลูกหลานและบรรดาสาวกของท่านกลุ่มหนึ่ง ภายหลังเสร็จสิ้นจากการนมาซ ได้พากันไปยังบ้านของท่านอิมามฮะซัน (อ.) เพื่อเข้าร่วมในมัจญ์ลิส (การชุมนุม) เฉลิมฉลอง และภายหลังจากการสิ้นสุดการรับรองแขกท่านอิมามฮะซัน (อ.) จะมอบของขวัญให้แก่ประชาชน จากการกระทำดังกล่าวของท่านอิมามฮะซัน (อ.) ทำให้ประชาชนเคยชินและให้ความสำคัญต่อวัน “อีดฆอดีร” เพียงพอแล้วที่เราจะรับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของวันแห่งฆอดีรคุม และการยอมรับในวิลายะฮ์ (อำนาจการปกครอง) ของท่านอิมามอะลี (อ.) ในฐานะผู้สืบสานภารกิจของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) จากคำพูดของท่านอิมามริฏอ (อ.) ที่ท่านกล่าวว่า
مَثَلُ الْمُؤمنينَ في قَبُولِهمْ وِلاءَ اَميرِالمُؤمنينَ(ع) في يَومِ غَديرِ خُمٍّ كَمَثلِ الْمَلائِكَةِ في سُجودِهِم لِآدَمَ(ع) وَ مَثلُ مَنْ اَبي وِلايَةَ اَميرَالمُؤمنينَ(ع) يَومَ الغَديرِ مَثَلُ اِبْليس
“ข้อเปรียบเปรยของบรรดาผู้ศรัทธา ในการยอมรับอำนาจการปกครองของท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีนอะลี (อ.) ในวันฆอดีรคุมนั้น เปรียบได้ดั่งมะลาอิกะฮ์ (ทวยเทพทั้งหลาย) ในการซุญูด (ก้มกราบ) ต่ออาดัม (อ.) และข้อเปรียบเปรยของผู้ที่ปฏิเสธอำนาจการปกครองของท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน (อ.) ในวันฆอดีรนั้น เปรียบได้ดั่งอิบลีส” (3)
ท่านอิหม่ามซอดิก (อ.)ได้สรุปอะมั้ล (สิ่งที่ควรปฏิบัติ) ต่างๆ เนื่องในวันที่สำคัญนี้ไว้ในสี่ประการคือ :
1 – การถือศิลอด :
ในบางริวายะฮ์(คำรายงาน)ได้กล่าวว่า การถือศิลอดในวันนี้มีคุณค่าเท่ากับการทำฮัจญ์และอุมเราะฮ์ (มุสตะฮับ) ถึง 100 ครั้ง และในบางรายงานได้กล่าวว่า จะเป็นกัฟฟาเราะฮ์ (ไถ่โทษ) ความผิดถึง 60 ปี ดังนั้นบรรดาผู้ศรัทธาทั้งชายและหญิงควรให้ความสำคัญต่อคุณค่าอันสูงส่งนี้ และทำการถือศิลอดในวันนี้
2 – การดำรงอิบาดะฮ์ :
โดยสำนวนแล้วคำว่า การดำรงอิบาดะฮ์และการให้ชีวิตแก่เยามุลลอฮ์(วันแห่งอัลลอฮ์)นี้จะหมายถึง การวิงวอนขอดุอาอ์ การอิสติฆฟาร(ขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์) และเป็นไปได้ว่า คำว่า การยืนหยัด(กิยาม)ในที่นี้จะหมายถึงการการยืนหยัดและการดำรงมั่นอยู่บนแนว ทางอันเป็นสัจธรรม และการยืนหยัดเผชิญหน้าต่อเหล่าศัตรูของอิสลามและมวลมุสลิม การต่อสู้กับบรรดาทรราชและผู้อธรรมทั้งหลาย
อย่างไรก็ดีการยืนหยัดเผชิญหน้ากับความเท็จและญิฮาด(การต่อสู้)ในหนทางของพระผู้เป็นเจ้านั้นโดยตัวของมันแล้วก็คือการอิบาดะฮ์อันยิ่งใหญ่ประการหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้น มันคือส่วนหนึ่งจากหน้าที่บังคับ(วาญิบาต)ที่สำคัญที่สุด
3 – การเลี้ยงอาหาร :
การรับรองแขกและการเลี้ยงอาหารแก่บรรดาพี่น้องผู้ศรัทธานั้นนับได้ว่าเป็นคุณลักษณะเฉพาะของวันอีดและการเฉลิมฉลองทั้งหลายโดยเฉพาะวันอีดอันยิ่งใหญ่นี้ได้รับการเน้นย้ำเป็นพิเศษและแน่นอนยิ่งว่าการทำให้บรรดาผู้ศรัทธามีความสุขและเกิดความปริติยินดีนั้นคืออิบาดะฮ์ที่ดี เลิศที่สุดอันจะนำมาซึ่งความพึงพอพระทัยจากพระผู้เป็นเจ้า
4 - การผูกสัมพันธ์ต่อบรรดาหมู่มิตร:
การทำดีและการแสดงออกด้วยความดีงามต่อบรรดาพี่น้องผู้ศรัทธา การไปมาหาสู่และการเยี่ยมเยือนพวกเขาอยู่เป็นเนืองนิจนั้นถือเป็นอะมั้ล (การกระทำ)ที่ดีงามและน่าสรรเสริญยิ่งประการหนึ่งแต่สำหรับในวันอีดฆอดีรนั้นได้ถูกเน้นย้ำเป็นกรณีพิเศษมีปรากฏในริวายะฮ์(คำรายงาน) ว่า คราใดก็ตามที่ท่านพบเจอกับพี่น้องผู้ศรัทธาของตนในวันนี้ จงแสดงความปริติยินดีต่อเขาด้วยการกล่าวว่า :
الْحَمْدُ لِلَّهِ الَّذِي جَعَلَنَا مِنَ الْمُتَمَسِّكِينَ بِوِلاَيَةِ أَمِيرِ الْمُؤْمِنِينَ وَ الْأَئِمَّةِ عَلَيْهِمُ السَّلاَمُ
คำอ่าน :“อัลฮัมดุลิลลาฮิลละซี ญะอะละนา มินัลมุตะมัซซิกีนะ บิวิลายะติ อะมีริลมุอ์มินีนะ วัลอะอิมมะตะ อะลัยฮิมุสสะลาม”
ความหมาย : “มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิแด่อัลลอฮ์ผู้ซึ่งได้ทรงทำให้เราเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาผู้ที่ยึดมั่นในวิลายะฮ์(อำนาจการปกครอง)ของท่านอะมีรุลมุอ์มินีนและบรรดาอิมาม (อ.)”
เชิงอรรถ :
(1) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 37, หน้าที่ 109
(2) อัลกาฟีย์, เล่มที่ 4, หน้าที่ 149 ; บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 37, หน้าที่ 172 ; วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่มที่ 10, หน้าที่ 440
(3) อัลอะมาลี, เชคซุดูก, เล่มที่ 2, หน้าที่ 171
เรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่