การเริ่มต้นเดินทางจากมะดีนะฮ์ไปยังมักกะฮ์ ของอิมามฮุเซน (อ.)

การเริ่มต้นเดินทางจากมะดีนะฮ์ไปยังมักกะฮ์ ของอิมามฮุเซน (อ.)

ทำไมอิมามฮุเซน (อ.) จึงเริ่มต้นการเดินทางจากมะดีนะฮ์ไปยังมักกะฮ์?

     หนึ่งในประเด็นที่นับว่ามีความสำคัญอย่างมากในประวัติศาสตร์ของชีอะฮ์ นั่นคือ ประเด็นการเดินทางของท่านอิมามฮุเซน (อ.) จากนครมะดีนะฮ์มุ่งสู่นครมักกะฮ์ และหลังจากนั้นคือการเคลื่อนขบวนจากนครมักกะฮ์มุ่งสูเมืองกูฟะฮ์ การยืนหยัดต่อสู้ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) นับว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของชีอะฮ์ และของอิสลาม เนื่องจากการยืนหยัดต่อสู้ครั้งนี้เป็นสื่อทำให้อิสลามอันบริสุทธิ์ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ถูกรักษาไว้จากจากความเบี่ยงเบนต่างๆ

เหตุการณ์การเอาบัยอัต (สัตยาบัน) จากอิมามฮุเซน (อ.) ให้แก่ยะซีด

     ในช่วงครึ่งหลังของเดือนร่อญับ ฮ.ศ. 60 หลังจากการตายของมุอาวิยะฮ์ ยะซีดผู้เป็นบุตรชายได้ส่งจดหมายฉบับหนึ่งถึงวะลีด บินอุตบะฮ์ (ผู้ปกครองแห่งมะดีนะฮ์) โดยได้ขอให้เขาบังคับเอาสัตยาบัน (บัยอัต) อย่างเด็ดขาดจากบุคคลสามคนที่ต่อต้านเขา หนึ่งในนั้นคือท่านอิมามฮุเซน (อ.) โดยกล่าวว่า :

اما بعد فخذ حسيناً و عبداللَّه بن عمر و عبداللَّه بن الزبير بالبيعة اخذاً شديداً ليست فيه رخصة حتي يبايعوا و السلام

”จงบังคับเอาสัตยาบันจากฮูเซน อับดุลลอฮ์ อิบนิอุมัร และอับดุลลอฮ์ อิบนิซุบัยร์ อย่างเด็ดขาดและไม่มีข้อผ่อนปรนใดๆ ทั้งสิ้น จนกว่าพวกเขาจะให้สัตยาบัน วัสสะลาม” (1)

     วะลีด บินอุตบะฮ์ (ผู้ปกครองแห่งเมดินามะดีนะฮ์) เมื่อได้รับคำสั่งดังกล่าว ก็เชิญตัวท่านอิมามฮุเซน (อ.) มาพบเพื่อที่จะเอาสัตยาบันจากท่านให้กับยะซีด ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวกับเขาว่า :

ايها الامير! انّا اهل بيت النّبوّه، و معدن الرّساله، و مختلف الملائكه، بنا فتح الله و بنا ختم الله، و يزيد رجل فاسق، شارب الخمر، قاتل النفس المحترمه، معلن بالفسق، و مثلي لا يبايع مثله، ولكن نصبح و تصبحون، و ننظر و تنظرون أيّنا أحق بالخلافه و البيعه؟

“โอ้ อมีร แท้จริงเราคือครอบครัวของท่านศาสดา และเป็นแหล่งกำเนิดของสาส์นแห่งพระผู้เป็นเจ้า ครอบครัวของเราคือสถานที่ไปมาหาสู่ของบรรดามลาอิกะฮ์ และเป็นสถานที่ลงมาของความเมตตาจากพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงให้อิสลามเริ่มต้นจากครอบครัวของเรา และด้วยครอบครัวของเราเช่นกันที่พระองค์ทรงทำให้อิสลามดำเนินไปสู่จุดหมาย ส่วนยาซีด (คนที่เจ้าหวังจะให้ฉันให้สัตยาบันต่อเขานั้น) คือผู้ที่เสพสุรา ผู้ที่ฆ่าสังหารชีวิตอันบริสุทธิ์ เขาคือผู้ทำลายบทบัญญัติต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้า เป็นผู้ละเมิดและกระทำบาปอย่างเปิดเผยต่อหน้าประชาขน สมควรแล้วหรือทีสถานภาพอย่างฉันจะให้สัตยาบันต่อบุคคลที่ก่อการละเมิดและอธรรมเยี่ยงยาซีด และในสภาพการเช่นนี้เราจงดูกันต่อไปเถิด และจะได้ประจักษ์ว่า ใครคือบุคคลที่สมควรและเหมาะสมยิ่งต่อตำแหน่งการเป็นผู้ปกครองและเป็นผู้นำของประชาชน และใครคือผู้ที่เหมาะสมยิ่งต่อการให้สัตยาบันของประชาชน”

     วะลีด บินอุตบะฮ์ เนื่องจากมีลักษณะเป็นผู้ที่รักความสงบ แม้ไม่พร้อมที่จะทำให้มือของตนเปื้อนไปด้วยเลือดของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ก็ตาม (2) แต่ทว่าในมะดีนะฮ์นั้นผู้ที่เป็นวงศ์วานของบนีอุมัยยะฮ์ อย่างเช่นมัรวาน บินหะกัม ที่คอยให้คำปรึกษาหารือแก่วะลีดในกรณีที่เป็นเรื่องสำคัญและยากต่อการตัดสินใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีเช่นนี้ มัรวานได้กดดันวะลีดอย่างเอาจริงเอาจังเพื่อให้เขาทำการสังหารท่านอิมามฮุเซน (อ.) ตั้งแต่เริ่มแรกที่จดหมายของยะซีดมาถึง เมื่อวะลีดได้ขอคำปรึกษาจากมัรวาน มัรวานได้กล่าวกับเขาว่า “ฉันเห็นว่าท่านควรจะส่งคนไปตามตัวบุคคลเหล่านี้มาพบ และบังคับให้พวกเขาให้สัตยาบันต่อยะซีดตอนนี้เลย และท่านจงปฏิบัติตามคำสั่งของยะซีด และหากพวกเขาผ่าฝืน ท่านก็จงตัดศีรษะของพวกเขาก่อนที่พวกเขาจะล่วงรู้ถึงข่าวการเสียชีวิตของมุอาวิยะฮ์ เพราะหากพวกเขาล่วงรู้ถึงข่าวการเสียชีวิตของมุอาวิยะฮ์แล้วแต่ละคนก็จะแยกตัวไป และจะทำการต่อต้านและเรียกร้องเชิญชวนประชาชนมาสู่ตนเอง” (2)

     เมื่อมัรวาน บินหะกัมได้เรียกร้องให้ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ให้สัตยาบัน (บัยอัต) ต่อยะซีด ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวว่า :

انا لله و انا اليه راجعون و علي الاسلام السلام اذ قد بليت الامة براع مثل يزيد و لقد سمعت جدي رسول الله(ص) يقول: الخلافه محرمه علي آل ابي سفيان فاذا رأيتم معاوية علي منبري فابقروا بطنه و قد رآه اهل المدينة علي المنبر فلم يبقروا فابتلاهم الله بيزيد الفاسق

“แท้จริงเราเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮ์ และยังพระองค์เท่านั้นที่เรากลับคืนสู่ อิสลามจะต้องพบจุดจบเมื่อประชาชาติได้ถูกทดสอบด้วยผู้ปกครองเยี่ยงยะซีด แท้จริงฉันได้ยินจากท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ปู่ของฉันได้กล่าวว่า อำนาจการปกครองนั้นเป็นที่ต้องห้ามสำหรับวงศ์วานแห่งอบูซุฟยาน ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่พวกท่านพบเห็นมุอาวียะฮ์ขึ้นสู่มิมบัรของฉัน พวกท่านก็จงทะลวงท้องของเขาเสีย แล้วชาวมะดีนะฮ์ก็ได้เห็นเขาขึ้นสู่มิมบัรของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) แต่พวกเขาก็มิได้ทะลวงท้องมุอาวียะฮ์แต่ประการใด ดังนั้นอัลลอฮ์ (ซบ.) จึงทรงลงโทษพวกเขาด้วยยะซีดผู้ละเมิด (ซึ่งเลวร้ายยิ่งกว่ามุอาวียะฮ์)”

(อัลลุฮุฟ หน้า 20 ; มุซีรุล อะฮ์ซาน หน้า 10 ; มักตัล อาวาลิม หน้า 53 ; มักตัล คอวาริซมีย์ เล่ม 1 หน้า 185)

     ในคืนวันที่ 28 ร่อญับ ฮ.ศ. 60 ภายหลังจากการซิยาเราะฮ์อำลาหลุมฝังศพของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ผู้เป็นตาแล้ว ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้เดินทางออกจากนครมะดีนะฮ์มุ่งสู่นครมักกะฮ์ พร้อมกับคนส่วนใหญ่จากครอบครัวของท่านและสาวกบางคน

     ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้มองเห็นสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยที่จะแสดงการต่อต้านและการยืนหยัดต่อสู้อย่างเปิดเผย ประกอบกับการได้ตระหนักแล้วว่าชีวิตของท่านกำลังตกอยู่ในอันตรายในเมืองนี้โดยไม่สามารถที่จะทำการเคลื่อนไหวใดๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นท่านจึงตัดสินใจเดินทางไปจากเมืองนี้ และโองการอัลกุรอานที่ท่านอิมาม (อ.) ได้อ่านในขณะออกเดินทางจากนครมะดีนะฮ์นั้นได้เผยให้เห็นเป็นอย่างดีว่า การตัดสินใจละทิ้งไปจากเมืองนี้เกิดจากการตระหนักถึงความไม่ปลอดภัยของตัวท่านเอง

فَخَرَجَ مِنْهَا خَائِفاً يَتَرَقَّبُ قَالَ رَبِّ نَجِّنِي مِنَ الْقَوْمِ الظَّالِمِينَ

“ดังนั้นเขา (มูซา) จึงได้หลบหนีออกจากเมืองนั้น ในสภาพของผู้ที่มีความหวาดกลัว อีกทั้งระแวดระวัง และเขาได้วิงวอนว่า ข้าแต่พระผู้อภิบาลของข้าพระองค์ โปรดทำให้ข้าพระองค์ปลอดภัยจากกลุ่มชนผู้ทุจริตเหล่านี้ด้วยเถิด”

(บทอัลกอศ็อศ โองการที่ 21)

เหตุผลที่ท่านอิมาม (อ.) เลือกเดินทางไปยังมักกะฮ์

  1. ขณะนั้นประชาชนของเมืองต่างๆ ยังไม่ล่วงรู้ถึงข่าวการตายของมุอาวิยะฮ์ และบรรดาผู้ต่อต้านยังไม่ได้เริ่มต้นความพยายามใดๆ อย่างจริงจังในการแสดงการคัดค้านต่อต้านยะซีด
  2. ยังไม่มีประชาชนจากเมืองอื่นๆ อย่างเช่นเมืองกูฟะฮ์เชื้อเชิญท่านไปยังพวกเขา
  3. ท่านอิมาม (อ.) จำเป็นต้องเลือกสถานที่ที่ท่านจะอพยพไป โดยที่ในสถานที่แห่งนั้นท่านจะสามารถแสดงทัศนะและมุมมองต่างๆ ของตนเองได้อย่างเสรีและมีความปลอดภัยอย่างสมบูรณ์ และตามโองการอัลกุรอานที่กล่าวว่า :

وَمَنْ دَخَلَهُ كَانَ آمِنًا

“และผู้ใดได้เข้าไปในมัน เขาก็เป็นผู้ปลอดภัย” (บทอาลิอิมรอน โองการที่ 97)

      จึงนับได้ว่านครมักกะฮ์คือสถานที่ที่มีความปลอดภัยที่สุด

  1. เมื่อพิจารณาถึงการที่ชาวมุสลิมจะหลั่งไหลกันมาจากทั่วทุกสารทิศจากดินแดนต่างๆ ของอิสลามเพื่อประกอบพิธีอุมเราะฮ์ และเป็นช่วงเวลาที่ใกล้จะถึงฤดูการของพิธีฮัจญ์ ท่านอิมามฮุเซน (อ.) จะสามารถพบปะกับกลุ่มชนต่างๆ ได้เป็นอย่างดี และสามารถที่จะอธิบายแก่พวกเขาถึงสาเหตุในการคัดค้านต่อต้านยะซีดและระบอบการปกครองของบนีอุยยะฮ์ และ ณ ที่แห่งนั้นยังสามารถติดต่อสัมพันธ์กับกลุ่มชนจากเมืองต่างๆ อย่างเช่น กูฟะฮ์และบัศเราะฮ์ได้เป็นอย่างดี

      และท้ายที่สุด ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้อธิบายถึงเหตุผลและเป้าหมายในการเดินทางออกจากนครมะดีนะฮ์ไว้ในคำสั่งเสียของท่านเช่นนี้ว่า :

“แท้จริงฉันมิได้ออกมาเพื่อก่อการละเมิดและความทระนง ฉันมิได้มาเพื่อก่อความเสียหายและความอธรรมแต่อย่างใด ฉันมาเพื่อสร้างความดีงามในหมู่ประชาชาติของปู่ของฉัน ฉันปรารถนาในการกำชับความดีและห้ามปรามความชั่ว ฉันปรารถนาที่จะดำเนินรอยตามแนวทางของปู่ของฉันและบิดาของฉัน คืออะลี บินอบีฏอลิบ ดังนั้นบุคคลใดที่สนองตอบต่อฉันด้วยการยอมรับสัจธรรม ดังนั้นอัลลอฮ์ (ซบ.) เป็นผู้ทรงเหมาะสมยิ่งต่อสัจธรรม และบุคคลใดก็ตามที่ต่อต้านฉันโดยไม่ยอมรับการเรียกร้องของฉัน ฉันจะอดทนจนกว่าอัลลอฮ์ (ซบ.) จะทรงตัดสินระหว่างฉันกับบุคคลเหล่านั้น และพระองค์คือผู้ทรงเป็นเลิศที่สุดในบรรดาผู้ตัดสินทั้งหลาย และนี้คือคำสั่งเสียของฉันที่มียังเจ้า โอ้น้องรักของฉัน ไม่มีความสำเร็จใดๆ ที่ฉันจะได้รับนอกจากด้วยการช่วยเหลือของอัลลอฮ์ (ซบ.) เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่ฉันมอบหมาย และเฉพาะพระองค์เท่านั้นที่ฉันจะกลับคืนสู่”

ท่านอิมามฮุเซน (อ.) เดินทางถึงนครมักกะฮ์ในคืนวันศุกร์ที่สามของเดือนชะอ์บาน ฮ.ศ.60 และจวบจนถึงวันที่แปดของเดือนซุลฮิจญะฮ์ของปีเดียวกัน ท่านได้เคลื่อนไหวอยู่ในเมืองนี้ (4)


เชิงอรรถ :

(1) วักอะตุฏฏ็อฟ, หน้า 75

(2) อัลฟุตูห์, อิบนุ อะอ์ซัม, เล่มที่ 5, หน้า 12 ; วักอะตุฏฏ็อฟ, หน้า 81

(3) วักอะตุฏฏ็อฟ, หน้า 77

(4) วักอะตุฏฏ็อฟ, หน้า 88


บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่