แบบอย่างทางด้านพฤติกรรมที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์นั้นคือบรรดาอิมาม (อ.) ผู้บริสุทธิ์ ท่านผู้มีเกียรติเหล่านั้นก็เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ที่ในการดำเนินชีวิตของพวกท่านได้เผชิญกับปัญหาและความทุกข์ยากต่างๆ นานัปการ แต่ท่านเหล่านั้นก็ได้เผชิญหน้ากับมันด้วยหัวใจที่เปิดกว้างและด้วยความอดทนอดกลั้น ซึ่งนั่นเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงคุณลักษณะของการให้อภัย (อัฟว์) และความอดทน (ซ็อบร์) ที่มีอยู่ในตัวท่านอิมาม (อ.) เหล่านี้
เมื่อพิจารณาถึงจริยธรรมอันสูงส่งของท่านอิมามฮะซันมุจญ์ตะบา (อ.) ในด้านของความอดทน ถือได้ว่าเป็นบทเรียนสำหรับเราทุกคน เนื่องจากว่าสิ่งที่จำเป็นควบคู่กับการอบรมขัดเกลา (ตัรบียะฮ์) นั้นคือความอดทน แต่เป็นที่น่าเสียดายยิ่งที่พ่อแม่จำนวนมากขาดความอดทนอดกลั้นกับปัญหาต่างๆ ทางครอบครัวและมักจะเกิดความฉุนเฉียวและอารมณ์เสียอย่างรวดเร็ว ไม่สามารถที่จะอบรมขัดเกลาลูกๆ ของตนอย่างดีได้ ในขณะที่ในการอบรมขัดเกลาลูกๆ นั้นจำเป็นต้องอาศัยความอดทนเป็นอย่างสูง
นอกจากนี้ความมีน้ำใจและความเมตตาของท่านอิมามฮะซัน (อ.) ก็เป็นแบบอย่างที่ดียิ่ง ท่านจะมีเมตตากับทุกคนทั้งต่อผู้ที่อยู่ใต้ปกครองของตน หมู่มิตร หรือแม้แต่กับบรรดาศัตรูของท่านเองนั้น ท่านก็ปฏิบัติกับพวกเขาด้วยความเมตตาและความสุภาพอ่อนโยน “อะนัส บินมาลิก” ได้เล่าว่า : วันหนึ่งในขณะที่ฉันอยู่กับท่านอิมาม (อ.) ทาสหญิงคนหนึ่งของท่านได้เข้ามาพบท่านอิมาม (อ.) พร้อมด้วยดอกไม้ช่อหนึ่งในมือของตน นางได้มอบช่อดอกไม้นั้นให้ท่านอิมาม ท่านอิมามได้รับช่อดอกไม้นั้นจากนาง และได้กล่าวกับนางด้วยความเมตตาว่า “เธอจงไปเถิด เธอเป็นอิสระแล้ว” ฉันรู้สึกประหลาดใจต่อพฤติกรรมนี้ของท่าน ฉันจึงกล่าวว่า “โอ้บุตรของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์! ทาสหญิงผู้นี้ได้มอบช่อดอกไม้ช่อหนึ่งให้แก่ท่านเพียงเท่านั้น ท่านถึงกับปลดปล่อยนางจากการเป็นทาสเลยเชียวหรือ” ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวตอบเขาว่า “พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงยิ่งใหญ่ ผู้ทรงเมตตา ทรงตรัสต่อเราว่า
وَ إِذا حُيِّيتُمْ بِتَحِيَّةٍ فَحَيُّوا بِأَحْسَنَ مِنْها أَوْ رُدُّوها إِنَّ اللَّهَ کانَ عَلي کُلِّ شَيْءٍ حَسيباً
“และเมื่อพวกเจ้าได้รับการคารวะใดๆ (จากผู้อื่น) ดังนั้นจงคารวะตอบด้วยสิ่งที่ดีกว่ามัน หรือไม่ก็ตอบกลับ (ด้วยสิ่งที่เท่าเทียมกัน) แท้จริงอัลลอฮ์ทรงเป็นผู้คำนวณนับในทุกๆ สิ่ง” (อัลกุรอานบทอันนิซาอ์ โองการที่ 86) จากนั้นท่านกล่าวว่า “รางวัลตอบแทนสำหรับความมีน้ำใจของนางก็คืออิสรภาพของนาง” [1]
ในแนวทางการอบรมขัดเกลาของท่านอิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ.) สามารถที่จะพบเห็นประเด็นต่างๆ ที่ละเอียดอ่อนและเป็นจิตวิทยาได้เป็นอย่างดี และสามารถที่จะหยิบยกขึ้นมาเป็นแบบอย่างและวิธีการที่ถูกต้องที่สุดของการอบรมขัดเกลาลูกหลานของเราได้ ท่านอิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ.) คือผู้ที่ได้รับการอบรมขัดเกลาจากครอบครัวแห่งสาส์น (วะฮ์ยู) ของพระผู้เป็นเจ้า ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้กล่าวเกี่ยวกับท่านว่า
أمَّا الْحَسَنُ فَإِنَّهُ ابْنِي وَ وُلْدِي وَ بَضْعَةٌ مِنِّي وَ قُرَّةُ عَيْنِي وَ ضِيَاءُ قَلْبِي وَ ثَمَرَةُ فُؤَادِي وَ هُوَ سَيِّدُ شَبَابِ أَهْلِ الْجَنَّةِ وَ حُجَّةُ اللَّهِ عَلَى الْأُمَّةِ أَمْرُهُ أَمْرِي وَ قَوْلُهُ قَوْلِي مَنْ تَبِعَهُ فَإِنَّهُ مِنِّي وَ مَنْ عَصَاهُ فَلَيْسَ مِنِّي
“ฮะซันนั้น เขาเป็นบุตรชายของฉัน เป็นลูกของฉัน เป็นหน่อเนื้อของฉัน เป็นแก้วตาของฉัน เป็นแสงสว่างแห่งหัวใจของฉัน เป็นผลไม้แห่งดวงใจของฉัน เขาคือหัวหน้าของบรรดาชายหนุ่มชาวสวรรค์ และเป็นหลักฐาน (ฮุจญะฮ์) ของอัลลอฮ์เหนือประชาชาติ (ของฉัน) คำสั่งของเขาคือคำสั่งของฉัน คำพูดของเขาคือคำพูดของฉัน ผู้ใดที่ปฏิบัติตามเขา ดังนั้นเขาก็เป็นส่วนหนึ่งจากฉัน และผู้ใดที่ฝ่าฝืนเขา ดังนั้นเขาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งจากฉัน” [2]
จริยธรรมและคุณลักษณะที่สูงส่งของท่านอิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ.) นั้นเป็นที่ชัดเจนยิ่ง แม้แต่บรรดาศัตรูของท่านก็ต้องพิศวงและเอ่ยปากยกย่องชื่นชม “อิบนุหะญัร อัลอัซกอลานี” นักวิชาการชาวซุนนีได้เขียนว่า : เมื่อฮะซัน บุตรของอะลี (อ.) ได้เสียชีวิต ศัตรูที่ร้ายกาจคนหนึ่งของท่านได้ร้องไห้ในงานศพของท่าน ท่านฮุเซน บุตรของอะลี (อ.) ได้กล่าวกับเขาว่า “ทั้งที่ท่านได้กลั่นแกล้ง ทำร้ายและต่อต้านพี่ชายของฉันถึงเพียงนี้ ท่านยังจะร้องไห้แก่เขาอีกหรือ” เขากล่าวว่า “ฉันได้ทำไม่ดีและกลั่นแกล้งทำร้ายบุคคลที่มีความอดทนอดกลั้นและสุขุมเยือกเย็นยิ่งกว่าขุนเขา” [3]
ในทัศนะของท่านอิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ.) นั้น พ่อแม่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการสร้างบุคลิกภาพของลูกๆ ด้วยเหตุนี้เองเมื่อชายผู้หนึ่งได้มาขอคำปรึกษาแนะนำจากท่านเกี่ยวกับบุคคลที่มาสู่ขอลูกสาวของตน ท่านอิมาม (อ.) จึงได้ชี้ถึงบทบาทของผู้เป็นพ่อในอนาคตและผู้ที่จะมาทำหน้าที่ผู้นำและผู้บริหารครอบครัวโดยกล่าวว่า “จงเลือกผู้ชายที่มีตักวา (ความยำเกรง) และเป็นมุอ์มิน (ผู้ศรัทธา) สำหรับการเป็นสามีของลูกสาวของท่าน เพราะถ้าหากเขารักลูกสาวของท่าน เขาจะให้เกียรตินาง และถ้าหากเขาไม่พึงพอใจนาง เขาก็จะไม่อธรรมต่อนาง” [4]
ท่านอิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ.) ได้กล่าวเกี่ยวกับความสำคัญของการอบรมขัดเกลาจิตวิญญาณว่า
عَجِبْتُ لِمَنْ یتَفَکَّرُ فی مَأْکُولِهِ کیْفَ لا یَتَفَکَّرُ فی مَعْقُولِهِ فَیُجَنِّبُ بَطْنَهُ ما یُؤذیهِ وَ یُودِعُ صَدْرَهُ ما یُرْدیهِ
“ฉันประหลาดใจต่อบุคคลที่คิดใคร่ครวญในเรื่องอาหารของเขา (ว่าจะต้องสะอาดและก่อให้เกิดสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์) แต่เขากลับไม่คิดใคร่ครวญในเรื่องอาหารของปัญญา (และจิตวิญญาณ) โดยที่เขาจะหลีกเลี่ยงท้องของเขาจากสิ่งที่จะเป็นอันตรายต่อมัน แต่กลับปล่อยให้หัวใจ (และจิตวิญญาณ) ของตนบรรจุไปด้วยสิ่งที่จะสร้างความต่ำช้าให้แก่เขา” [5]
จากฮะดีษบทนี้เราจะเรียนรู้ว่า ทำนองเดียวกับที่เราจะคิดคำนึงเกี่ยวกับพลานามัยของอาหารของเราและจะไม่ปล่อยให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายของเรา เช่นเดียวกันนั้นเองในกรณีของมารยาท พฤติกรรมและความคิดต่างๆ ที่น่าเกลียดก็จำเป็นจะต้องเป็นเช่นเดียวกันนี้ เนื่องจากมารยาทและพฤติกรรมที่น่าเกลียดนั้นก็เช่นเดียวกับเชื้อโรค ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่มันได้เข้ามาสู่จิตใจและจิตวิญญาณของเราแล้ว มันจะทำให้จิตวิญญาณของเราเกิดความแปดเปื้อนและมัวหมอง และจะส่งผลกระทบที่จะเลวร้ายอย่างมากในจิตวิญญาณของเรา ดังนั้นจำเป็นที่เราจะต้องให้ความสำคัญต่อสิ่งนี้และจะต้องไม่ปล่อยให้จิตวิญญาณของเราแปดเปื้อนและมัวหมองไปด้วยคุณลักษณะและความคิดที่น่าเกลียดเช่นนี้
วิธีการอบรมขัดเกลาที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของท่านอิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ.) คือการส่งเสริมและให้กำลังใจแก่บุคคลทั้งหลายในการทำความดี วิธีการดังกล่าวนี้เป็นแรงจูงใจที่ทรงพลังยิ่งในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนเราไปสู่เป้าหมายต่างๆ ที่ต้องการทางด้านการขัดเกลา มีรายงานว่า : วันหนึ่งท่านอิมาม (อ.) ได้เห็นทาสหนุ่มคนหนึ่งซึ่งมีจานอาหารอยู่เบื้องหน้าของเขา เขาจะกินคำหนึ่งหนึ่งจากอาหารนั้นและอีกคำหนึ่งก็จะให้กับสุนัขที่กำลังนั่งอยู่ใกล้ๆ เขา ท่านอิมามฮะซัน (อ.) ถามเขาว่า “ทำไมจึงทำเช่นนี้” ทาสหนุ่มผู้นั้นได้ตอบว่า “ฉันละอายใจที่ตัวฉันจะกินอาหารในขณะที่สุนัขตัวนี้หิว”
ท่านอิมาม (อ.) ต้องการที่จะมอบรางวัลที่ดีให้แก่ทาสผู้มีจิตใจเมตตาผู้นี้ เนื่องจากการกระทำที่ดีงามของเขา ท่านจึงซื้อเขามาจากนายของเขา และปลดปล่อยเขาให้เป็นอิสระ พร้อมกันนั้นท่านได้ซื้อสวนที่เขาทำงานอยู่และมอบให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่เขา [6]
เพื่อที่เราจะสามารถใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าจากเวลาของเราและชดเชยข้อผิดพลาดทั้งหมดของเราที่ผ่านมานั้น เป็นสิ่งที่ดียิ่งที่เราจะนำเอาแบบอย่างต่างๆ ของบรรดาอิมามของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านอิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ.) มาใช้สำหรับการอบรมขัดเกลาลูกหลานเพื่อความสำเร็จและเพื่อโชคผล (ซะอาดะฮ์) ของตัวเราเอง
เชิงอรรถ :
[1] อัลมะนากิบ, เล่มที่ 4, หน้าที่ 18
[2] บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 28, หน้าที่ 39
[3] ตะซีบ อัตตะฮ์ซีบ, เล่มที่ 2, หน้าที่ 259
[4] มะการิมุลอัคลาก, หน้าที่ 233
[5] บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 1, หน้าที่ 218
[6] อัลบิดายะฮ์ วันนิฮายะฮ์, เล่มที่ 8, หน้าที่ 38
บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่