บทบาทสำคัญของศาสดาอีซา (อ.) ในยุคสุดท้ายที่อัลกุรอานกล่าวถึง

บทบาทสำคัญของศาสดาอีซา (อ.) ในยุคสุดท้ายที่อัลกุรอานกล่าวถึง

ตามหลักฐานอัลกุรอาน และฮะดีษหนึ่งในฮิกมะฮ์ (วิทยปัญญา หรือปรัชญา) ที่สำคัญของการยกท่านศาสดาอีซา (อ.) ขึ้นสู่ฟากฟ้า โดยพระผู้เป็นเจ้าและการมีชีวิตอยู่ของท่าน คือการเตรียมพร้อมสำหรับภารกิจอันยิ่งใหญ่ในยุคสุดท้าย (อาคิรุซซะมาน)….

    บนพื้นฐานนี้ ท่านศาสดาอีซา (อ.) คือศาสดาผู้ซึ่งจะทำให้บรรดาชาวคัมภีร์ (อะฮ์ลุลกิตาบ) ให้สัตยาบัน (บัยอัต) ต่อท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.)

    อีซา (อ.) ตามความเชื่อของชาวมุสลิมนั้น เป็นหนึ่งในบรรดาศาสดา ที่จะมีบทบาทสำคัญ ในการเตรียมพื้นฐานสำหรับการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของท่าน

    อิมามมะฮ์ดี (อญ.) ในช่วงที่ท่านจะกลับมาสู่โลกนี้ ประเด็นนี้สามารถพบเห็นได้จากแหล่งอ้างอิงทางริวายะฮ์ และตัฟซีรทั้งของชาวชีอะฮ์ และซุนนี

    ประเด็นต่างๆ อย่างเช่น การต่อสู้กับดัจญาล การทำสนธิสัญญาสันติภาพกับคริสเตียน เพื่อให้ความจงรักภักดี (สัตยาบัน) ต่ออิมามมะฮ์ดี (อ.) ผู้นำแห่งยุคสมัย  ปาฏิหาริย์ (มุอ์ญิซาต) ต่างๆ ของศาสดาอีซา (อ.) ในยุคสุดท้าย (อาคิรุซซะมาน) เพื่อจัดการกับเหล่าศัตรู การทำนมาซตามหลัง ท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.)  การต่อสู้อย่างต่อเนื่องกับศัตรูของอิสลาม และความปราชัยของพวกเขา และอื่นๆ  เหล่านี้คือส่วนหนึ่งจากกรณีทั้งหลาย ที่ถูกกล่าวถึงในฮะดีษ (วจนะ) ต่างๆ

ในโองการต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอาน

ในฐานะที่เป็นคัมภีร์ ที่อธิบายทุกสิ่งไว้ในมันนั้น (1) พระผู้เป็นเจ้าก็ทรงชี้ถึงประเด็นบทบาทของศาสดา (อ.) ในเหตุการณ์การปรากฏตัว (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ไว้ทั้งโดยทางตรง และทางอ้อมเช่นกัน  ตัวอย่างเช่น หลังจากการกล่าวถึงโองการต่างๆของอัลกุรอาน ในอัลกุรอานบท (บท) อันนิซาอ์ เกี่ยวกับประเด็นที่ว่า ศาสดาอีซา (อ.) ไม่ได้ถูกตรึงกางเขนและไม่ได้ถูกฆ่าตาย (2) ในโองการที่ 158

 พระองค์ทรงตรัสว่า :

بَلْ رَفَعَهُ‏ اللَّهُ إِلَیْهِ وَ کانَ اللَّهُ عَزیزاً حَکیماً

“ ทว่าอัลลอฮ์ได้ทรงยกเขา (อีซา) ขึ้นไปยังพระองค์  และอัลลอฮ์ ทรงเดชานุภาพ ทรงปรีชาญาณยิ่ง ”

     และในโองการที่ 159 ของอัลกุรอาน บทอันนิซาอ์ พระองค์ทรงตรัสว่า :

وَإِن مِّنْ أَهْلِ الْكِتَابِ إِلَّا لَيُؤْمِنَنَّ بِهِ قَبْلَ مَوْتِهِ ۖ وَيَوْمَ الْقِيَامَةِ يَكُونُ عَلَيْهِمْ شَهِيدًا

“ และไม่มีชาวคัมภีร์คนใด นอกจากแน่นอนยิ่ง เขาจะต้องศรัทธาต่อเขา (อีซา) ก่อนที่เขาจะตาย และวันกิยามะฮ์ เขา (อีซา) จะเป็นพยานยืนยันต่อพวกเขาเหล่านั้น”

อธิบายบางประเด็น เกี่ยวกับโองการที่ 159 ของอันกุรอานบทอันนิซาอ์ :

    1.ตามรูปการภายนอก (ซอฮิร) จากโองการที่ 159 ของบทอันนิซาอ์ สามารถเข้าใจได้อย่างง่ายดายว่า หลังจากที่พระผู้เป็นเจ้า ได้ทรงตรัสถึงประเด็นของการถูกยกขึ้นสู่ฟากฟ้าของอีซา (อ.) พระองค์ได้ทรงชี้ถึงช่วงเวลาที่อีซา (อ.) จะเสียชีวิต ตามกฎที่คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวถึงว่า

  کُلُّ نَفْسٍ ذائِقَةُ الْمَوْت 

“ทุกชีวิตจะต้องลิ้มรสแห่งความตาย” (3)

    2.เหตุการณ์การเสียชีวิตของอีซา (อ.) บนพื้นฐานของโองการต่างๆ คัมภีร์อัลกุรอาน และหลักฐานทางริวายะฮ์ (คำรายงาน) และทางประวัติศาสตร์ยังไม่ได้เกิดขึ้น ดังนั้นเรื่องนี้จะต้องเกิดขึ้นในยุคหลัง ซึ่งตามความเชื่อของชาวชีอะฮ์ จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งของยุคสุดท้าย (อาคิรุซซะมาน) และในช่วงที่ท่านศาสดาอีซา (อ.) กลับลงมายังโลกอีกครั้ง และชาวคัมภีร์ (คริสเตียนหรือชาวยิว) จะศรัทธาต่อท่าน ก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต

    3.ความศรัทธาของชาวคัมภีร์ ต่ออีซา (อ.) ในยุคสุดท้าย (อาคิรุซซะมาน) เป็นประเด็นสำคัญยิ่ง ถึงขั้นที่พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสูงส่ง ทรงแจ้งข่าวด้วยการตอกย้ำอย่างหนักแน่น ว่า ในอนาคตชาวคัมภีร์จะต้องศรัทธาต่ออีซา (อ.) อย่างแน่นอนก่อนการสิ้นชีวิตของเขา

    4.ฮิกมะฮ์ (ปรัชญา) และเหตุผลประการหนึ่งของการยกอีซา (อ.) ขึ้นสู่ฟากฟ้าและการยังคงมีชีวิตอยู่ของท่าน คือการเตรียมพร้อม สำหรับภารกิจอันยิ่งใหญ่ในอนาคต เนื่องจากคำว่า “ ริฟอะฮ์ ” (ยก) ในโองการต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอานนั้น หมายถึง “การยกขึ้นพร้อมกับการขัดเกลาและการพัฒนาทางด้านจิตวิญญาณของบุคคล” ตัวอย่างเช่น ในโองการที่กล่าวว่า :

رَفِیعُ‏ الدَّرَجاتِ ذُوالْعَرْشِ

“ ผู้ทรงยกฐานันดรทั้งหลาย ผู้ทรงเป็นเจ้าแห่งบัลลังก์ ” (4)

    และในอีกโองการหนึ่งกล่าวว่า :

وَرَفَعْنَا لَكَ ذِكْرَكَ

“ และเราได้ยกเกียรติคุณแก่เจ้าซึ่งการกล่าวถึงเจ้า ” (5)

    5.เนื่องจากอีซา (อ.) เป็นผู้แจ้งข่าวดีและและเป็นผู้ศรัทธาต่อศาสนาของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) หมายถึง ศาสนาอิสลาม แน่นอนยิ่งว่า หลังจากที่คริสเตียน (และชาวคัมภีร์) ได้ศรัทธาต่อท่านแล้ว ท่านจะทำให้พวกเขายอมรับศาสนาอิสลามด้วย เพื่อให้พวกเขาเตรียมพร้อมตน ที่จะต้อนรับพระผู้ช่วยให้รอด ที่ถูกสัญญาไว้ ซึ่งหมายถึงท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) การดำเนินการดังกล่าวนี้ ของท่านศาสดาอีซา (อ.) ตามการชี้ชัดของคัมภีร์อัลกุรอาน ท่านได้เริ่มต้นไว้ในช่วงชีวิตที่แสนสั้นของท่าน ก่อนการถูกยกขึ้นสู่ฟากฟ้า โดยที่พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า :

وَ إِذْ قالَ عیسَى ابْنُ مَرْیَمَ یا بَنی‏‌إِسْرائیلَ إِنِّی رَسُولُ اللَّهِ إِلَیْکُمْ مُصَدِّقاً لِما بَیْنَ یَدَیَّ مِنَ التَّوْراةِ وَ مُبَشِّراً بِرَسُولٍ یَأْتی‏ مِنْ بَعْدِی اسْمُهُ أَحْمَد

“ และจงรำลึก เมื่อครั้งที่อีซา บุตรของ มัรยัม ได้กล่าวว่า โอ้วงศ์วานแห่งอิสรออีลเอ๋ย แท้จริงฉันคือศาสนทูตของอัลลอฮ์ที่มายังพวกท่าน เพื่อเป็นผู้ยืนยันสิ่งที่มีอยู่ใน (คัมภีร์) เตารอฮ์ก่อนหน้าฉัน และเป็นผู้แจ้งข่าวดีถึงศาสนทูตคนหนึ่งที่จะมาภายหลังฉัน ชื่อของเขาคือ อะห์มัด” (6)

การอ้างอิงริวายะฮ์ (คำรายงาน) บางส่วน :

ก. อะลี บินอิบรอฮีม กุมมี ได้อ้างไว้ในหนังสือ “ตัฟซีร กุมมี” ว่า ชะฮัร บินเฮาชับได้เขียนว่า : ฮัจญาจ ได้กล่าวว่า : “มีโองการหนึ่งของคัมภีร์อัลกุรอานที่ฉันไม่เข้าใจความหมายของมัน” ฉันกล่าวว่า : “โองการอะไรหรือ?” เขากล่าวว่า :

وَإِن مِّنْ أَهْلِ الْكِتَابِ إِلَّا لَيُؤْمِنَنَّ بِهِ قَبْلَ مَوْتِهِ

“และไม่มีชาวคัมภีร์คนใด นอกจากแน่นอนยิ่งเขาจะต้องศรัทธาต่อเขา(อีซา) ก่อนที่เขาจะตาย”

    เขากล่าวว่า : “ขอสาบานต่ออัลลอฮ์! ฉันได้สังหารชาวยิว และชาวคริสต์หลายคน แต่ฉันไม่เห็นใครสักคน ในขณะสิ้นชีวิต กล่าวแสดงความศรัทธาต่อท่าน”

    ฉันกล่าวว่า : โอ้อะมีร (ผู้นำ) ! ขออัลลอฮ์ทรงแก้ไข ปรับปรุงกิจการงานของท่านด้วยเถิด

    การตีความโองการนี้ ไม่ใช่ดังที่ท่านคิด ทว่าอีซา (อ.) จะกลับลงมายังโลกนี้ในช่วงที่วงศ์วานของมุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ฟื้นคืนชีพ (ร็อจอะฮ์) ขึ้นมา และจะไม่มีชาวยิวและชนกลุ่มอื่นคนใด หลงเหลืออยู่ นอกจากจะต้องศรัทธาต่ออีซา (อ.)ก่อนการเสียชีวิตของท่าน และอีซา (อ.) จะนมาซตามหลังมะฮ์ดี (อ.ญ.)

    ฮัจญาจได้กล่าวว่า : “ ความวิบัติจงมีต่อเจ้า ใครที่สอนสิ่งนี้แก่เจ้า” ฉันกล่าวว่า :

    มุฮัมมัด บุตรของอะลี บุตรของฮุเซน บุตรของอะลี บินอบีฏอลิบ (อ.) ได้กล่าวฮะดีษบทนี้แก่ฉัน

    เขากล่าวว่า : “ ขอสาบานต่ออัลลอฮ์! เจ้าได้รับสิ่งนี้มาจากตาน้ำ (แหล่งที่มา) อันบริสุทธิ์ ” (7)

ข.ในฮะดีษ (วจนะ) บทหนึ่ง ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้กล่าวกับท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) ว่า :

الْمَهْدِیُّ الَّذِی یُصَلِّی عِیسَی خَلْفَهُ مِنْك

มะฮ์ดี ผู้ซึ่งอีซาจะนมาซตามหลังเขานั้น มาจากเจ้า (8)

ค. ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า :

وَ مِنْ ذُرِّیَّتِیَ الْمَهْدِیُّ إِذَا خَرَجَ نَزَلَ عِیسَى‏‌بْنُ مَرْیَمَ لِنُصْرَتِهِ فَقَدَّمَهُ وَ صَلَّى خَلْفَهُ‏

และจากเชื้อสายของฉัน คือมะฮ์ดี เมื่อเขาปรากฏตัว อีซา บุตรของมัรยัม จะลงมาเพื่อช่วยเหลือเขา โดยที่อีซาจะให้เขาออกไปข้างหน้า และจะนมาซตามหลังเขา (9)

ง. ท่านอิมามมุฮัมมัด บากิร (อ.)กล่าวว่า :

انَّ عِیسیَ یَنْزْلُ قَبْلَ یَوْمِ الْقِیامَه اِلی الدُّنیَا فَلا یَبْقَی اهْلُ مِلَّهٍ یَهُودیٍّ وَ لا غَیْرُهُ اِلَّا آمَنَ بِهِ قَبْلَ مَوْتِهِ وَ یُصَلِّی خَلْفَ الْمَهْدِیِّ

“แท้จริงอีซาจะลงมายังโลกนี้ ก่อนวันฟื้นคืนชีพ เพื่อการพิพากษา ดังนั้นจะไม่มีชาวศาสนาคนใด ไม่ว่าจะเป็นชาวยิว หรืออื่นจากชาวยิว นอกจากจะต้องศรัทธาต่อเขา ก่อนการตายของเขา และเขาจะทำนมาซตามหลังมะฮ์ดี (10 ) 


เชิงอรรถ :

1.อัลกุรอานบทอันนะห์ลุ โองการที่ 89

وَنَزَّلْنَا عَلَيْكَ الْكِتَابَ تِبْيَانًا لِّكُلِّ شَيْءٍ وَهُدًى وَرَحْمَةً وَبُشْرَىٰ لِلْمُسْلِمِينَ

"และเราได้ประทานคัมภีร์แก่เจ้าเพื่ออธิบายสำหรับทุกสิ่ง และเพื่อเป็นทางนำ เป็นความเมตตา และเป็นข่าวดีแก่บรรดาผู้ยอมสวามิภักดิ์"

2.อัลกุรอานบทอันนิซาอ์ โองการที่ 157 :

وَقَوْلِهِمْ إِنَّا قَتَلْنَا الْمَسِيحَ عِيسَى ابْنَ مَرْيَمَ رَسُولَ اللَّهِ وَمَا قَتَلُوهُ وَمَا صَلَبُوهُ وَلَٰكِن شُبِّهَ لَهُمْ وَإِنَّ الَّذِينَ اخْتَلَفُوا فِيهِ لَفِي شَكٍّ مِّنْهُ مَا لَهُم بِهِ مِنْ عِلْمٍ إِلَّا اتِّبَاعَ الظَّنِّ وَمَا قَتَلُوهُ يَقِينًا

"และคำพูดของพวกเขาที่ (กล่าว) ว่า แท้จริงพวกเราได้ฆ่าอัล-มะซีห์ อีซาบุตรของมัรยัม ศาสนทูต (ร่อซูล) ของอัลลอฮ์ และพวกเขาหาได้ฆ่าอีซาและหาได้ตรึงเขาบนไม้กางเขนไม่ แต่ทว่าเขา (ผู้ตาย) ถูกทำให้เหมือน (อีซา) แก่พวกเขา และแท้จริงบรรดาผู้ที่ขัดแย้งในตัวเขานั้น แน่นอนย่อมอยู่ในความสงสัยเกี่ยวกับเขา พวกเขาหามีความรู้ใดๆ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไม่ นอกจากการยึดถือตามการคาดเดาเพียงเท่านั้น และพวกเขามิได้ฆ่าเขา (อีซา) ด้วยความแน่ใจ"

3.อัลกุรอานบทอาลิอิมรอน โองการที่ 185

4.อัลกุรอานบทฆอฟิร โองการที่ 15

5.อัลกุรอานบทอัชชัรห์ โองการที่ 4

6.อัลกุรอานบท อัซซ็อฟฟุ์ โองการที่ 6

7.ตัฟซีร กุมมี, อะลี บินอิบรอฮีม กุมมี, เล่มที่ 1, หน้าที่ 158

8.ตัฟซีร ฟุร๊อต อัลกูฟี, หน้าที่ 463

9.อัลอะมาลี, เชคซอดูก, หน้าที่ 218

10.บิฮารุ้ลอันวาร, อัลลามะฮ์มัจญ์ลิซี, เล่มที่ 53, หน้าที่ 51


บทความโดย : เชคมูฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่