อิมามฮุเซน (อ) แบบอย่างแห่งการดำเนินชีวิต (7)

 อิมามฮุเซน (อ.) แบบอย่างการดำเนินชีวิต 7

ความหนักแน่นและความมั่นคง

      คุณลักษณะที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งของบรรดาผู้นำแห่งพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้นในพันธกิจของตน นั่นก็คือ การมีความศรัทธาที่เข้มแข็ง มีเจตนารมณ์ที่แข็งแกร่ง และมีความมั่นคงหนักแน่นในหนทางแห่งเป้าหมาย ในบทดุอาอ์ของวันที่ 27 เดือนรอญับ ท่านอิมามมูซา กาซิม (อ.) ได้กล่าวไว้เช่นนี้ว่า 

وقد علمت ان افضل زاد الراحل اليك عزم ارادة يختارك بها

“และแน่นอนยิ่ง พระองค์ทรงรู้ดีว่า เสบียงของผู้เดินทางสู่พระองค์ที่ดีเลิศที่สุดนั้นคือ เจตนารมณ์ที่แน่วแน่มั่นคง ที่ทำให้เขาเลือก (ที่จะปฏิบัติตาม) พระองค์” (1)

      แน่นอนยิ่งว่า ผู้ที่ย่างก้าวไปบนหนทางของพระผู้เป็นเจ้าด้วยอีหม่าน (ความศรัทธา) ที่มั่นคง มีความรู้จัก (มะอ์ริฟะฮ์) ต่อพระองค์อย่างลึกซึ้ง พวกเขาจะมีเจตนารมณ์ที่แข็งแกร่งประดุจเหล็กกล้า และเพื่อที่จะให้บรรลุเป้าหมายที่สูงส่งของตน พวกเขาจะไม่เปิดทางให้กับความหวาดกลัวต่ออุปสรรคและความทุกข์ยากใดๆ เข้ามาสู่หัวใจของพวกเขา

      ท่านอิมามฮุเซน ซัยยิดุชชุฮะดาอ์ (อ.) ในฐานะที่เป็นผู้นำขบวนการยืนหยัดต่อสู้แห่งอาชูรอ ท่านคือผู้ที่มีเจตนารมณ์ที่หนักแน่น และมีความมั่นคงเด็ดเดี่ยวในหนทางของเป้าหมาย ในคำตอบของท่านอิมาม (อ.) ที่มีต่อน้องชาย คือมุฮัมมัด ฮะนะฟียะฮ์ ที่ได้เสนอแนะแนวทางต่างๆ แบบสันติวิธีแก่ท่าน แต่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้แสดงให้เห็นถึงแรงบันดาลใจที่ทรงพลังและความมุ่งมั่นของท่านที่ไม่อาจถูกทำลายลงได้ ในการที่จะต่อสู้กับผู้ปกครองจอมอหังการ ผู้กดขี่แห่งบนีอุมัยยะ ฮ์ โดยท่านได้กล่าวว่า

يا اخي! لو لم يكن فی الدنيا ملجا ولا ماوی لما بايعت يزيد بن معاوية

“โอ้น้องรักของฉัน ถ้าหากในโลก (ดุนยา) นี้ไม่มีที่พักพิงและที่พำนักอันปลอดภัยใดๆ (เหลืออยู่) อีกแล้วก็ตาม ฉันก็จะไม่ให้สัตยาบันต่อยะซีด บุตรของมุอาวิยะฮ์อย่างเด็ดขาด” (2)

       คำพูดนี้ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้ย้ำเตือนให้รำลึกถึงประโยคคำพูดอันมั่นคงหนักแน่นของตาของท่าน คือท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ในครั้งที่ท่านอบูฏอลิบได้นำข้อเสนอมายังท่านตามคำขอร้องของบรรดามุชริกีน (ผู้ตั้งภาคี) เพื่อให้ท่านยุติการประกาศสาสน์แห่งพระผู้เป็นเจ้า

       ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) ได้กล่าวกับท่านอบูฏอลิบผู้เป็นลุงว่า

يا عم! والله لو وضعوا الشمس فی يمينی والقمر فی يساری علی ان اترك هذا الامر حتی يظهره الله او اهلك فيه، ما تركته

“โอ้ลุงของฉัน ขอสาบานต่อัลลอฮ์ มาตรว่าพวกเขาจะวางดวงอาทิตย์ลงในมือขวาของฉัน และดวงจันทร์ลงในมือซ้ายของฉัน เพื่อที่จะให้ฉันเลิกราจากภารกิจ (การประกาศเชิญชวนสู่การยอมรับในเอกภาพของพระผู้เป็นเจ้าและการต่อสู้กับการเคารพบูชาเจว็ด) นี้ ฉันก็จะไม่เลิกราอย่างเด็ดขาด จนกว่าอัลลอฮ์จะทรงทำให้การประกาศศาสนา (ของฉัน) ประสบชัยชนะ หรือไม่ก็ทรงให้ฉันจบชีวิตลงในหนทางนี้” (3)

      และคัมภีร์กุรอานในซูเราะฮ์อัลฟัตห์ ได้ชี้ให้เห็นถึงเจตนารมณ์อันมั่นคงและแข็งแกร่งของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) และบรรดาสาวกของท่านโดยกล่าวว่า

«محمد رسول الله والذين معه اشداء علی الكفار رحماء بينهم »

“มุฮัมมัดศาสนทูตของอัลลอฮ์และบรรดาผู้ที่อยู่ร่วมกับเขานั้น คือผู้ที่แข็งกร้าวต่อบรรดาผู้ปฏิเสธ แต่เป็นผู้มีความเมตตาในระหว่างพวกเขากันเอง” (4)

       แนวคิด จิตวิญญาณ เจตนารมณ์อันสูงส่ง และความมั่นคงเด็ดเดี่ยวในลักษณะเช่นนี้ ถูกสืบทอดมาถึงลูกหลานผู้มีเกียรติและบรรดามหาบุรุษนักต่อสู้ผู้ยืนหยัดในหนทางของพระผู้เป็นเจ้าในทุกยุคสมัย แม้แต่ในช่วงการปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน คำพูดข้างต้นของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ก็ได้ถูกสะท้อนและถูกนำมาใช้อีกครั้งหนึ่งโดยท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) ผู้นำผู้ยิ่งใหญ่แห่งการปฏิวัติอิสลาม ผู้สืบทอดเจตนารมณ์ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) เมื่อท่านถูกพรรคบาสแห่งอิรักบังคับให้ออกนอกประเทศ คำประกาศก้องครั้งประวัติศาสตร์ของท่าน ซึ่งท่านได้กล่าวว่า

      “แม้ว่าจะไม่มีรัฐบาลใดๆ ในโลกอนุญาตให้ฉันพำนักอยู่ในประเทศของเขาก็ตาม ฉันก็จะลงเรือ และท่ามกลางกระแสคลื่นลมที่โหมกระหน่ำแห่งห้วงมหาสมุทร ฉันจะประกาศด้วยเสียงเรียกร้องของฉัน อันเป็นเสียงเรียกร้องของประชาชาติมุสลิมผู้ถูกกดขี่ให้ดังกึกก้องไปถึงชาว โลกทั้งมวล” (5)

      ความมั่นคงเด็ดเดี่ยวของท่านอิมามฮุเซน (อ.) นั้นสามารถค้นพบได้ในประโยคคำพูดอันเลื่องลือของท่าน ซึ่งในคำพูดแห่งประวัติศาสตร์นี้ ท่านได้อธิบายถึงสาเหตุและแรงบันดาลใจต่างๆ ของท่านในการยืนหยัดต่อสู้ในแผ่นดินกัรบะลา และได้สอนให้บรรดาเสรีชนในโลกทั้งมวลให้รับรู้ถึงวัฒนธรรมของการยืนหยัดอย่างมั่นคงในหนทางแห่งสัจธรรม โดยท่านกล่าวว่า


الا وان الدعی ابن الدعی قد ركزنی بين اثنتين، بين السلة والذلة و هيهات منا الذلة،

يابی الله ذلك لنا ورسوله والمؤمنون وحجور طابت وطهرت وانوف حمية ونفوس ابية من ان نؤثر طاعة اللئام علی مصارع الكرام

ท่านทั้งหลายจงรู้เถิดว่า แท้จริงลูกนอกสมรส (ซินา) บุตรของลูกนอกสมรส (อับดุลลอฮ์ อิบนิซิยาด) ได้บังคับให้ฉันเลือกระหว่างสองแนวทาง คือระหว่างดาบ (ความตาย) และความอัปยศอดสู และความอัปยศอดสูนั้นช่างห่างไกลจากเราเสียนี่กระไร อัลลอฮ์ ศาสนทูตของพระองค์และบรรดาศรัทธาชน ปฏิเสธที่จะให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นกับเรา และบรรดาผู้มีกำเนิดที่สะอาดและบริสุทธิ์ บรรดาผู้มีเกียรติและมีจิตอันสูงส่งทั้งหลายนั้น ไม่ยอมรับในการที่เราจะเลือกการปฏิบัติตามบรรดาผู้เลวทรามเหนือการต่อสู้ (และการตาย) อย่างมีเกียรติศักดิ์ศรี (6)

      ในวัฒนธรรมอันสูงส่งของของท่านอิมามฮุเซน (อ.) นั้น การยอมรับความต่ำต้อย ความอัปยศอดสูและการยอมจำนนต่อสิ่งที่เป็นความหลงผิดและความไม่ถูกต้องนั้น ไม่มีความหมายใดๆ ทั้งสิ้น

เรื่องราวเกี่ยวกับความมั่นคงเด็ดเดี่ยวของท่าอิมามฮุเซน (อ.)

      ในตลอดช่วงการดำเนินชีวิตอันเปรี่ยมไปด้วยความภาคภูมิของท่านอิมามฮุเซน (อ.) นั้น ท่านอิมาม (อ.) ได้ใช้ความสามารถ เกียรติยศและความมั่นคงเด็ดเดี่ยวของท่านอย่างเต็มที่ในการยืนหยัดเผชิญหน้ากับการเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เป็นการล่วงละเมิดต่อหลักการและบทบัญญัติของศาสนา และท่านไม่เคยย่นย่อและท้อถอยจากจุดยืนต่างๆ ที่เป็นความถูกต้องของตนเอง ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างต่อไปนี้

      1. อิบนุอบิฮะดีด ได้เขียนไว้ว่า : ท่านอิมามฮุเซน (อ.) มีที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่แปลงหนึ่งในนครมะดีนะฮ์ และมุอาวิยะฮ์ด้วยกับความละโมบ เขาได้เข้ายึดครองที่ดินดังกล่าวโดยใช้มือของบรรดาสมุนรับใช้ของตนเอง ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้ไปพบกับมุอาวิยะฮ์ และเพื่อการปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของท่าน ท่านได้กล่าวกับเขาว่า


اختر مني ثلاث خصال إما أن تشتري مني حقي و إما أن ترده علي أو تجعل بيني و بينك ابن عمر أو ابن الزبير حكما و إلا فالرابعة و هي الصيلم

“(โอ้ มุอาวิยะฮ์) เจ้าจงเลือกเอาจากฉันหนึ่งในสามประการ คือ การที่เจ้าจะซื้อสิทธิที่ดินแปลงนี้จากฉัน (และจ่ายตามราคาที่ยุติธรรมของมัน) หรือเจ้าจะคืนที่ดินแปลงนี้ให้แก่ฉัน หรือไม่เช่นนั้นก็จงกำหนดให้อับดุลลอฮ์ อิบนุซุบัยร์ หรืออับดุลลอฮ์ อิบนิอุมัรมาเป็นผู้ตัดสินระหว่างฉันกับเจ้า และมิเช่นนั้น หากเป็นวิธีที่สี่แล้ว มันจะเป็นความสูญเสีย”

       มุอาวิยะฮ์ ถามว่า “ความสูญเสียที่ว่านั้น มันคืออะไร” 

       ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้อธิบายว่า “หมายความว่า ฉันจะเรียกร้องเชิญชวนบรรดาผู้ร่วมพันธสัญญาของฉันมา และฉันจะเอาสิทธิทั้งหมดของฉันคืนจากผู้ล่วงละเมิดด้วยการใช้กำลัง

       เมื่อมุอาวิยะฮ์ได้ยินเช่นนั้นจึงยอมจำนนและคืนที่ดินให้แก่ท่าน (7)

      2. หลังจากที่มุอาวิยะฮ์สังหาร ฮิจร์ บินอะดีย์ พร้อมด้วยคนกลุ่มหนึ่งจากบรรดาสหายของท่านอมีรุลมุอ์มินีนอะลี อิบนิอบีฏอลิบ (อ.) จนเป็นชะฮีดแล้วนั้น ในปีนั้นเองเขาได้เดินทางไปทำฮัจญ์ และในที่ชุมนุมหนึ่งเขาได้พบกับท่านอิมามฮุเซน (อ.) ในคำพูดต่างๆ ของเขาที่ต้องการจะข่มขู่บุคคลอื่นและบางทีอาจจะเป็นการข่มขู่ท่านอิมามฮุ เซน (อ.) ให้เกิดความหวาดกลัว เขาได้กล่าวขึ้นด้วยความลำพองตนว่า “โอ้ อบาอับดิลลาฮ์ ท่านรู้ไหมว่าฉันทำอะไรกับฮิจร์ บินอะดีย์ และบรรดาสหายของเขา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาชีอะฮ์ของบิดาของท่าน”

        ท่านอิมามฮุเซน (อ.) กล่าวว่า “ท่านทำอะไรหรือ” มุอาวิยะฮ์ กล่าวว่า “ฉันได้ฆ่าพวกเขา เสร็จแล้วฉันก็ห่อศพ (ตักฟีน) พวกเขาและนมาซมัยยิตให้แก่พวกเขา”

       ท่านอิมาม (อ.) กล่าวตอบมุอาวิยะฮ์ว่า

«خصمك القوم يا معاوية، لكننا لو قتلنا شيعتك ما كفناهم ولا صلينا عليهم ولا قبرناهم »

“โอ้ มุอาวิยะฮ์เอ๋ย! ขอให้ชนกลุ่มนี้จงเป็นศัตรูกับท่าน (ในวันชาติหน้า และพวกเขาจะเรียกร้องความยุติธรรมจากท่าน ณ การพิพากษาอันเที่ยงธรรมของพระผู้เป็นเจ้า) แต่ทว่าสำหรับพวกเรา หากพวกเราได้ฆ่าชีอะฮ์ (พวกพ้อง) ของท่าน เราจะไม่ห่อศพพวกเขา จะไม่นมาซให้พวกเขา และเราก็จะไม่ฝังศพให้พวกเขา” (8)

       แม้ท่านอิมามฮุเซน (อ.) จะเผชิญกับปัญหาต่างๆ มากมายทั้งทางด้านจิตใจ ด้านร่างกาย ด้านสังคมและการเมืองก็ตาม แต่ท่านอิมาม (อ.) ไม่เคยที่จะแสดงการอ่อนข้อและประนีประนอมต่อบรรดาคนชั่ว และต่อบรรดาผู้ล่วงละเมิดสิทธิต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้าและของประชาชนเลยแม้แต่น้อย ท่านไม่เคยยึดเอาผู้ใดเป็นที่พึ่งพิงสำหรับตนเองนอกจากพระผู้เป็นเจ้า เพียงเท่านั้น ท่านได้ประกาศก้องต่อหน้าศัตรูผู้กระหายเลือดและโหดเหี้ยมไร้ความเมตตาผู้นี้ด้วยจิตวิญญาณที่ไม่ยอมอ่อนข้อให้กับผู้ใดว่า

الا انی زاحف بهذه الاسرة علی قلة العدد وخذلان الناصر

“จงรู้เถิดว่า แท้จริงฉันจะยืนเผชิญหน้ากับครอบครัวนี้ แม้จะมีจำนวนเพียงเล็กน้อยและไร้ผู้ช่วยเหลือก็ตาม”

คำพูดที่กล่าวกับบรรดาสาวก

      ในช่วงเช้าของวันอาชูรอภายหลังจากการนมาซซุบฮิ์ ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อบรรดาสาวกของท่าน และในส่วนหนึ่งของสุนทรพจน์นั้นท่านได้เสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านจิตวิญญาณให้กับกองทัพของท่าน และได้อธิบายให้เห็นถึงเป้าหมายต่างๆ อันสูงส่งของท่านอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกันนั้นท่านได้ประกาศย้ำถึงเจตนารมณ์อันแน่วแน่มั่นคงของตนเองในการต่อสู้ให้บรรดาสาวกได้รับรู้ และกำชับสั่งเสียพวกเขาให้มีความอดทนอดกลั้นและการยืนหยัด โดยท่านได้กล่าวว่า

ان الله تعالی قد اذن فی قتلكم وقتلی فی هذا اليوم، فعليكم بالصبر والقتال

“(โอ้บรรดาสหายของฉัน) แท้จริงพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงอนุมัติการถูกสังหาร (และการเป็นชะฮีด) แก่พวกท่านและแก่ฉันแล้วในวันนี้ ดังนั้นพวกท่านจะต้องมีความอดทนและทำการสู้รบ”

      ในคำพูดต่อไปของท่านอิมาม (อ.) ท่านได้กล่าวกับบรรดาสหายของท่านด้วยประโยคต่างๆ ที่ออกมาจากก้นบึ้งแห่งจิตวิญญาณและอีหม่าน (ความศรัทธา) ที่เปรี่ยมล้นของท่านว่า

صبرا بنى الكرام فما الموت الا قنطرة تعبر بكم عن البؤس و الضراء الى الجنان الواسعة،

و النعيم الدائمة فايكم يكره ان ينتقل من سجن الى قصر و ما لاعدائكم الا كمن ينتقل من قصر الى سجن و عذاب 

“จงอดทนเถิด โอ้ลูกหลานของปวงผู้มีเกียรติทั้งหลาย ความตายนั้นไม่ใช่อื่นใดเลยนอกจากสะพานที่จะนำพาพวกท่านข้ามผ่านความแร้นแค้นและความทุกข์ยาก ไปสู่สรวงสวรรค์อันกว้างใหญ่ไพศาลและปัจจัยอำนวยสุขอันเป็นนิรันดร ดังนั้นมีผู้ใดจากพวกท่านรังเกียจหรือที่จะเคลื่อนย้ายจากคุกไปสู่ปราสาท และ (ความตาย) สำหรับบรรดาศัตรูของพวกท่านนั้นไม่ใช่อื่นใดเลยนอกเสียจากประหนึ่งบุคคลที่กำลังเคลื่อนย้ายจากวังไปสู่คุกและการลงโทษ”

      จากนั้นท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวต่อไปว่า

ان ابى حدثنى عن رسول الله: ان الدنيا سجن المؤمن و جنة الكافر.

والموت جسر هؤلاء الى جنانهم، وجسر هؤلاء الى جحيمهم

บิดาของฉันได้เล่าจากท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ซึ่งท่านกล่าวว่า “แท้จริงโลกนี้คือคุกของผู้ศรัทธาและเป็นสวรรค์ของผู้ปฏิเสธ และความตายนั้นคือสะพานของ (ผู้ศรัทธา) เหล่านี้ที่จะข้ามไปสู่สรวงสวรรค์ของพวกเขา และมันคือสะพานของพวก (ผู้ปฏิเสธ) เหล่านั้นที่จะข้ามไปสู่นรกของพวกเขา” (9)


แหล่งอ้างอิง :

(1) อิกบาลุลอะฮ์มาล, เล่มที่ 3, หน้า 277
(2) มะอาลิมุลมัดร่อซะตัยน์, เล่มที่ 2, หน้า 49
(3) อัซซีร่อตุนนะบะวียะฮ์, อิบนุฮิชาม, เล่มที่ 1, หน้า 284
(4) ซูเราะฮ์อัลฟัตห์ : อายะฮ์ที่ 29
(5)-สุนทรพจน์ฮุเซน บินอะลี(อ.), แปลไทยโดยมุฮัมมัดนะอีม ประดับญาติ , หน้าที่ 63-64.(เนื้อหาเสริมโดยผู้แปล)
(6) อัลลุฮูฟ, หน้า 180
(7) ชัรห์ นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, เล่มที่ 15, หน้า 227
(8) อัลอิห์ติญาจญ์, เล่มที่ 2, หน้าที่ 19 ; วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่มที่ 2, หน้า 515
(9) ซุคอนอเน ฮุซัยน์ บินอะลี(อ.), หน้า 157


บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ