ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะรอ (อ.) แบบอย่างสำหรับมนุษยชาติ (ตอน 1)

ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะรอ (อ.) แบบอย่างสำหรับมนุษยชาติ (ตอน 1)

     บทบาทหรืออิทธิพลของแบบอย่างที่มีผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์เรานั้น นับได้ว่าเป็นเรื่องที่มีความชัดเจนยิ่งสำหรับทุกคน การลอกเลียนและการปฏิบัติตามแบบอย่างจากบุคคลอื่นคือสัญชาติญาณทางธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ถูกกำหนดไว้ในตัวมนุษย์ทุกคน ด้วยเหตุนี้เองเราจะเห็นได้ว่า ศาสนาอิสลามจึงให้ความสำคัญเป็นพิเศษในเรื่องของการเลือกแบบอย่าง และคัมภีร์อัลกุรอานเองก็พยายามที่จะนำเสนอแบบอย่างในทางปฏิบัติให้แก่มวลมนุษย์ได้ยึดถือและปฏิบัติตามตลอดเวลา

     ยกตัวอย่างเช่นในเรื่องของสตรี คัมภีร์อัลกุรอานได้ย้ำถึงแบบอย่างของท่านหญิงอาซิยะฮ์และท่านหญิงมัรยัมไว้บ่อยครั้ง อย่างเช่นในคัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า

وَضَرَبَ اللَّهُ مَثَلًا لِلَّذِينَ آَمَنُوا اِمْرَأَةَ فِرْعَوْنَ إِذْ قَالَتْ رَبِّ ابْنِ لِي عِنْدَكَ بَيْتًا فِي الْجَنَّةِ وَنَجِّنِي مِنْ فِرْعَوْنَ وَعَمَلِهِ وَنَجِّنِي مِنَ الْقَوْمِ الظَّالِمِينَ

وَمَرْيَمَ ابْنَتَ عِمْرَانَ الَّتِي أَحْصَنَتْ فَرْجَهَا فَنَفَخْنَا فِيهِ مِنْ رُوحِنَا وَصَدَّقَتْ بِكَلِمَاتِ رَبِّهَا وَكُتُبِهِ وَكَانَتْ مِنَ الْقَانِتِينَ

“และอัลลอฮ์ทรงยกอุทาหรณ์ (ตัวอย่าง) หนึ่งสำหรับบรรดาผู้ศรัทธา อันได้แก่ภรรยาของฟิรอูน เมื่อนางได้กล่าวว่า : โอ้พระผู้อภิบาลของข้าพระองค์โปรดสร้างบ้านหลังหนึ่งให้ข้าพระองค์ ณ พระองค์ในสรวงสวรรค์และโปรดทำให้ข้าพระองค์ปลอดภัยจากฟิรอูนและการกระทำของเขา และโปรดทำให้ข้าพระองค์ปลอดภัยจากกลุ่มชนผู้อธรรมด้วยเถิด และ(อีกตัวอย่างหนึ่งอันได้แก่)มัรยัมบุตรีของอิมรอน(ผู้เป็นมารดาของอีซา)ซึ่งนางได้รักษาพรมจรรย์ของนางไว้ ต่อมาเราได้เป่าวิญญาณของเราลงไปในนั้น(แล้วนางก็ตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตร)และนางได้เชื่อมั่นในพระคำและบรรดาคัมภีร์ของพระผู้อภิบาลของนาง และนางเป็นผู้หนึ่งจากมวลผู้ภักดี”(1)

     หรือตัวอย่างของท่านศาสดาอิบรอฮีมและผู้ปฏิบัติตามท่าน ซึ่งอัลกุรอานได้กล่าวว่า

قَدْ كَانَتْ لَكُمْ أُسْوَةٌ حَسَنَةٌ فِي إِبْرَاهِيمَ وَالَّذِينَ مَعَهُ

“แท้จริงในอิบรอฮีมและบรรดาผู้ร่วมอุดมการณ์ของเขานั้นย่อมมีแบบฉบับอันงดงามยิ่งสำหรับพวกเจ้า” (2)

     หรือแม้แต่ในตัวอย่างของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ที่คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า

لَقَدْ كانَ لَكُمْ فِی رَسُولِ اللَّهِ أُسْوَهٌ حَسَنَهٌ لِمَنْ كانَ یَرْجُوا اللَّهَ وَ الْیَوْمَ الآخِرَ

“แน่นอนยิ่งในศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์นั้น ย่อมมีแบบอย่างอันงดงามยิ่งสำหรับผู้ที่มุ่งหวังต่อการพบอัลอฮ์และวันสุดท้าย” (3)

      นี่คือตัวอย่างซึ่งคัมภีร์อัลกุรอานพยายามที่จะนำเสนอในฐานะผู้เป็น “อุซวะฮ์” (แบบอย่าง) ที่ดีสำหรับมวลมนุษยชาติ

คำจำกัดความของคำว่า “แบบอย่าง”

     คำว่า “แบบอย่าง” ในภาษาอาหรับใช้คำว่า “อุซวะฮ์” ในหนังสือ “อัลมุฟร่อดาต” ของท่านรอฆิบอิสฟะฮานี ได้กล่าวว่า

الأسوة و الإسوة کالقدوة والقدوة وهی الحال التی یکون الانسان عليه فی اتباع غیره إن حسنا إن قبیحا و إن سارا و اإن ضارا

“อุซวะฮ์” และ “อิซวะฮ์” ก็เช่นเดียวกับคำว่า “กุดวะฮ์” และ “กิดวะฮ์” มันคือสภาพซึ่งมนุษย์เป็นอยู่ในการปฏิบัติตามผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งดีงามหรือสิ่งน่ารังเกียจ และไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความพอใจหรือจะก่อให้เกิดอันตรายก็ตาม (4)

ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) คือแบบอย่างที่ดีงามสำหรับมนุษยชาติ

      ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) ในฐานะที่เป็นเนื้อก้อนหนึ่งจากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) (5) และเป็นหัวหน้าของบรรดาสตรีแห่งสากลโลก กระทั่งว่าในด้านความประเสริฐนั้นท่านมีความสูงส่งยิ่งกว่าท่านหญิงมัรยัม (อ.) เสียอีก (6) ท่านไม่เพียงแต่จะเป็นแบบอย่างสำหรับมวลสตรีมุสลิมเท่านั้น ทว่าเป็นแบบอย่างสำหรับบรรดาสตรีทั้งมวล และยิ่งไปกว่านั้น ท่านยังเป็นแบบอย่างสำหรับมนุษยชาติทั้งมวลในทุกๆ ด้านของการดำเนินชีวิตอีกด้วย

      แม้แต่บรรดาท่านอิมาม (อ.) เองทั้งๆ ที่ท่านเหล่านั้นก็เป็นแบบอย่างและเป็นข้อพิสูจน์ (ฮุจญะฮ์) สำหรับมนุษยชาติ แต่พวกท่านก็ยังเรียนรู้และหล่อหลอมตนเองมาจากแบบอย่างของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) และกล่าวถึงท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (อ.) ในฐานะผู้เป็นแบบอย่างที่ดีงาม (อุซวะตุลฮะซะนะฮ์) ของพวกท่าน

     ท่านอิมามฮะซัน อัซการี(อ.)ได้กล่าวว่า

نَََحْنُ حُجَجُ اللَّهِ عَلى خَلْقِهِ وَ جَدَّتُنا فاطِمَةُ حُجَّةُ اللَّهِ عَلَيْنا

“พวกเราคือข้อพิสูจน์ (ฮุจญะฮ์) ของอัลลอฮ์เหนือปวงสิ่งถูกสร้างของพระองค์ และท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) ย่าทวดของเราก็เป็นข้อพิสูจน์ของอัลลอฮ์เหนือพวกเรา” (7)

      และท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ได้เขียนในจดหมาย (เตาเกี๊ยะอ์) ของท่าน โดยได้เอ่ยถึงท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) ในฐานะแบบอย่างที่งดงามของตนเช่นเดียวกัน โดยกล่าวว่า

فِي ابْنَةِ رَسُولِ اللَّهِ ص لِي أُسْوَةٌ حَسَنَةٌ

“ในบุตรีของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) นั้นมีแบบอย่างที่งดงามยิ่งสำหรับฉัน” (8)

แบบอย่างบางประการจากท่านหญิงฟาฏิมะฮ์อัซซะฮ์รอ (อ.)

      ความสมถะและการเสียสละของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะรอ (อ.)

      จากประเด็นที่ว่าความลุ่มหลงในวัตถุ (ฮุบบุดดุนยา) คือบ่อเกิดของความผิดพลาดและความผิดบาปทั้งมวลโดยที่ในหะดีษของท่านศาสนฑูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ที่ได้ยินกันบ่อยครั้งที่ท่านกล่าวว่า

حب الدنيا رأس كل خطيئة

"ความลุ่มหลงวัตถุ คือที่มาของความผิดบาปทั้งมวล” (9)

     จากประสบการณ์ต่างๆ และการประจักษ์ด้วยสายตาของเราในการดำเนินชีวิตนั้น เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าการละเมิดสิทธิต่างๆ อาชญากรรมต่างๆ การกดขี่ข่มเหง การอธรรม การโกหกหลอกลวง การคดโกง การแก่งแย่งชิงดีกัน ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเกิดจากความลุ่มหลงและการยึดติดอยู่กับทรัพย์สินเงินทอง ลาภยศ ตำแหน่ง และชื่อเสียงทั้งสิ้น เป็นที่ชัดเจนยิ่งว่าความสมถะ (ซุฮ์ด) และการระงับตนจากการยืดติดนี่เองที่เป็นรากฐานที่มาของตักวา (ความยำเกรง) ความสะอาดบริสุทธิ์และความดีงาม

     ทว่า "ความสมถะ" นั้นไม่ได้หมายถึงการละทิ้งเรื่องทางโลก (ดุนยา) และการใช้ชีวิตอยู่อย่างสันโดษและแยกตัวออกจากสังคม หากแต่ว่าข้อเท็จจริงของคำว่า “สมถะ” ก็คือความมีอิสระและการไม่ตกเป็นทาสของวัตถุ (ดุนยา) นั่นเอง

      "ผู้สมถะ" (ซาฮิด) คือผู้ซึ่งถ้าหากโลกทั้งมวลถูกมอบให้อยู่ในอำนาจของเขา เขาก็จะไม่ยึดติดหรือจะไม่มีจิตใจที่ผูกพันต่อมัน หากวันหนึ่งเขาพบว่าพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าอยู่ที่ว่าเขาจะต้องสละทั้งหมดของมัน เขาก็พร้อมที่จะเสียสละทั้งหมดเหล่านั้นโดยดุษฎี

      และถ้าวันหนึ่งการรักษาเสรีภาพ เกียรติยศศักดิ์ศรีและความศรัทธา อยู่ในการที่เขาจะต้องยอมเสียสละทรัพย์สินและชีวิตของตนเอง เขาก็พร้อมที่จะกู่ตระโกนร้องคำขวัญที่ว่า

هيهات منا الذلة

“ความต่ำต้อยช่างห่างไกลจากเราเสียนี่กระไร” (10)

      และเป็นไปตามโองการของคัมภีร์อัลกุรอาน ผู้ที่สมถะนั้นคือผู้ที่จะไม่รู้สึกเสียใจต่ออดีตและสิ่งที่สูญเสียไปจากเขา และจะไม่รู้สึกดีใจจนเกินเหตุต่อสิ่งที่เขาได้รับในปัจจุบัน

ليكلا تأسوا على ما فاتكم و لا تفرحوا بما آتيك

“เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ไม่เศร้าเสียใจต่อสิ่งที่ได้สูญเสียไปจากพวกเจ้า และจะไม่รู้สึกปลื้มปีติยินดีต่อสิ่งที่มาสัมผัสกับพวกท่าน” (11)

      จากเนื้อหาโดยสังเขปนี้ เราจะมาพิเคราะห์บุคลิกภาพของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) ในขอบข่ายของเนื้อหาข้างต้นนี้ จากมุมมองของฮะดีษต่างๆ ของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ที่มีปรากฏอยู่ในหนังสือต่างๆ ของพี่น้องอะฮ์ลิซซุนนะฮ์

      ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) บทหนึ่ง อิบนุฮะญัร และบุคคลอื่นๆ ได้อ้างรายงานมาจากท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ว่า  : ทุกครั้งเมื่อท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กลับมาจากการเดินทาง อันดับแรกท่านจะไปพบท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) บุตรีของท่าน และจะใช้เวลาอยู่กับท่านหญิงในระยะเวลาหนึ่ง แต่ในครั้งหนึ่งประชาชนได้ทำกำไลข้อมือที่ทำจากเงินสองอัน สร้อยคอและต่างหูสองอันให้แก่ท่านหญิง พร้อมกับติดผ้าม่านให้ในห้องของท่านหญิง

      เมื่อศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) เห็นสิ่งดังกล่าวนี้ ท่านได้ออกมาจากห้องและไปยังมัสยิด ในสภาพที่ร่องรอยของความไม่พอใจปรากฏให้เห็นบนใบหน้าของท่าน และไปนั่งอยู่บนมิมบัร (ธรรมาสน์) ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) รู้ถึงความไม่พอใจของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) เนื่องจากเครื่องประดับอันเล็กน้อยเหล่านั้น ท่านหญิงจึงส่งเครื่องประดับเหล่านั้นทั้งหมดไปให้บิดาของท่าน เพื่อใช้ไปในหนทางของอัลลอฮ์ เมื่อท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้เห็นสิ่งนั้นท่านได้กล่าวขึ้นถึงสามครั้งว่า

فعلت فداها ابوها

“ฟาฏิมะฮ์ได้พลีสิ่งเหล่านี้แด่บิดาของนาง” (12)

       เป็นที่ชัดเจนยิ่งว่ากำไลเงินคู่หนึ่ง สร้อยคอและต่างหูเงิน ไม่ได้มีราคาค่างวดอะไรมากนัก และที่ไร้ราคายิ่งไปกว่านั้นก็คือผ้าม่านที่เรียบง่ายที่คนเราใช้ติดหน้าประตูห้อง แต่ทว่าท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) เห็นว่าสิ่งนี้ไม่เหมาะกับสถานะของท่านหญิงฟาฎิมะฮ์ (อ.) และท่านถือว่าเกียรติศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจของนางนั้นอยู่ที่การมีบุคลิกภาพและคุณลักษณะอันสูงส่งแห่งความเป็นมนุษย์ของเธอต่างหาก

      ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) ได้เรียนรู้บทเรียนนี้เป็นอย่างดีจากบิดาของท่าน และท่านได้ละทิ้งสีสันและสิ่งเย้ายวนแห่งวัตถุ (ดุนยา) และได้ปลดเปลื้องตนเองออกจากการตกเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้น และสิ่งใดที่ท่านมีอยู่นั้น ท่านจะใช้จ่ายออกไปในหนทางของพระผู้เป็นเจ้าและปวงบ่าวผู้ยากจนขัดสนของพระองค์

      ในฮะดีษบทหนึ่งซึ่งมีบันทึกอยู่ในหนังสือ “ฮิลยะตุลเอาลิยาอ์” ซึ่งมีเนื้อความว่า ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) แม้แต่เสื้อผ้าอาภรณ์ที่จะสวมใส่ปกปิดร่างกายให้มิดชิดอย่างเพียงพอเพื่อที่จะต้อนรับแขกที่จะเข้ามาภายในบ้านของตนก็ยังไม่มี จนกระทั่งท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ต้องเอาผ้าคลุมกาย (อะบาอ์) ของท่านให้ท่านหญิงเพื่อใช้ปกปิดร่างกายของตน และเตรียมพร้อมตนสำหรับแขกที่กำลังจะข้ามาเยี่ยมอาการป่วยของท่าน

      เรื่องราวเกี่ยวกับของใช้ในวันแต่งงานของท่านหญิง และพิธีการในค่ำคืนของการส่งตัวเจ้าสาวที่ถูกจัดขึ้นอย่างเรียบง่าย ก็เป็นหลักฐานที่ชัดเจนอีกประการหนึ่งที่บ่งบอกถึงความสมถะและการใช้ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่ายของท่านหญิง

      การรับใช้บริการและการปรนนิบัติของท่านหญิงภายในบ้านของท่านอิมามอะลี (อ.) ผู้เป็นสามีนั้นก็เป็นที่เด่นชัดเช่นเดียวกัน ถึงขั้นที่ว่าในการจัดเตรียมอาหารนั้น ตามคำรายงาน (ริวายะฮ์) ได้กล่าวว่า มือข้างหนึ่งของท่านได้โม่แป้งข้าวสาลีเพื่อทำขนมปัง ส่วนมืออีกข้างหนึ่งนั้นอุ้มลูกน้อยของท่านไว้บนเอว ทั้งหมดเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสมถะของท่าน

      ท่านหญิงคือประจักษ์พยานในความหมายของฮะดีษต่อไปนี้คือ : ท่านอบูนะอีม อิสฟาฮานี ได้เล่ารายงานไว้เช่นนี้ว่า

لقد طحنت فاطمة بنت رسول‏اللَّه صلى اللَّه عليه و آله و سلم حتى مجلت يدها، وربا، و اثر قطب الرحى فى يدها

“ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ บุตรีของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้โม่แป้งจนกระทั่งว่ามือของท่านนั้นเป็นตุ่มบวม และรอยด้านของมือที่จับโม่หินนั้นปรากฏร่องรอยอยู่บนฝ่ามือของท่าน” (13)


แหล่งอ้างอิง :

(1) อัลกุรอานบทอัตตะห์รีม โองการที่ 11,12

(2) อัลกุรอานบท อัลมุมตะฮินะฮ์ โองการที่ 4

(3) อัลกุรอานบท อัลอะห์ซาบ/โองการที่ 21

(4) อัลมุฟร่อดาต, หน้าที่ 18

(5) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 23, หน้าที่ 43

قَالَ رَسُولَ اللَّهِ (ص): فَاطِمَةُ بَضْعَةٌ مِنِّي

(6) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 43, หน้าที่ 24

فَأَمَّا ابْنَتِي فَاطِمَةُ فَهِيَ سَيِّدَةُ نِسَاءِ الْعَالَمِينَ مِنَ الْأَوَّلِينَ وَ الْآخِرِينَ

(7) อัฏยะบุลบะยาน ฟีตัฟซีริลกุรอาน, เล่มที่ 13, หน้าที่ 225

(8) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 53, หน้าที่ 180

(9) ซะคออิรุลอุกบา, หน้าที่ 54

(10) คำพูดของท่านอิมามฮุเซน (อ.)

(11) ซูอัลกุรอานบท อัลฮะดีด โองการที่ 23

(12) อัซซ่อวาอิกุลมุห์ริเกาะฮ์, หน้าที่ 109

(13) ฮิลยะตุลเอาลิยาอ์, เล่มที่ 2, หน้าที่ 41


แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ