เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ท่านถือกำเนิด และความประเสริฐรวมถึงคุณลักษณะต่างๆ ที่สูงส่ง ซึ่งได้ถูกกล่าวถึงตลอดในช่วงชีวิตของท่าน จากวจนะของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) เป็นพยานยืนยันถึงสถานภาพอันยิ่งใหญ่ของสตรีผู้มีเกียรติท่านนี้ ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (ซ.)
ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (ซ.) เป็นสตรีที่มีความประเสริฐและคุณลักษณะอันสูงส่งมากมาย ส่วนหนึ่งในความประเสริฐของท่านตามริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ นั้นคือ ท่านเป็นหน่อเนื้อเชื้อขัยของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) เป็นหัวหน้าของบรรดาสตรีแห่งโลกทั้งผองและเป็นบุคคลแรกที่จะเข้าสู่สวรรค์
เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ท่านถือกำเนิด และความประเสริฐรวมถึงคุณลักษณะต่างๆ ที่สูงส่ง ซึ่งได้ถูกกล่าวถึงตลอดในช่วงชีวิตของท่าน จากวจนะของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) เป็นพยานยืนยันถึงสถานภาพอันยิ่งใหญ่ของสตรีผู้มีเกียรติท่านนี้ ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (ซ.) คือบุตรีของศาสดา เป็นภรรยาของอิมามและเป็นมารดาของบรรดาอิมาม
วิถีการดำเนินชีวิตของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.) นั้นสามารถเป็นแบบอย่าง (อุซวะฮ์) ที่สมบูรณ์สำหรับเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชีวิตในด้านส่วนตัว ด้านครอบครัว ด้านสังคม หรือบุคลิกภาพ การปฏิบัติตนตามสิ่งที่ศาสนากำหนด เรื่องของจิตวิญญาณและอิบาดะฮ์ (การเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า)
ในด้านจิตวิญญาณและการอิบาดะฮ์ (การเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า) ของท่านหญิงฟาฏีมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (ซ.) นั้น ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้กล่าวกับซัลมาน อัลฟาริซีว่า :
يا سلمان! إن ابنتي فاطمة ملأ الله قلبها وجوارحها إيمانا إلى مشاشها، تفرغت لطاعة الله
“โอ้ซัลมานเอ๋ย! แท้จริงฟาฏิมะฮ์ บุตรีของฉันนั้น อัลลอฮ์ทรงบรรจุความศรัทธาไว้ในหัวใจของนางและอวัยวะร่างกายของนางไปจนถึงกระดูกของนาง นางจะทำตัวให้ว่างเปล่า (จากทุกสิ่ง) เพื่อการภักดีต่ออัลลอฮ์” (1)
ท่านอิมามฮะซัน อัลมุจญ์ตะบา (อ.) กล่าวว่า :
ما كان في الدنيا أعبد من فاطمة ، كانت تقوم الليل ، حتى تتورم قدماها
“ไม่มีใครในโลกนี้ที่จะเป็นผู้ทำอิบาดะฮ์ (เคารพภักดีต่อพระเจ้า) ยิ่งไปกว่าฟาฏิมะฮ์ (อ.) ท่านยืนนมาซในยามค่ำคืน จนกระทั่งเท้าทั้งสองบวม” (2)
หนึ่งในความประเสริฐของท่านหญิง (อ.) เราสามารถรับรู้ได้จากฉายานามของท่าน คือ "มุฮัดดะษะฮ์" หรือ "มุฮัดดิษะฮ์" ซึ่งหมายถึง "ผู้สนทนากับมะลาอิกะฮ์ (ทวยเทพ)" ดังที่ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) บทหนึ่ง ท่านอิมามญะอ์ฟัร อัซซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า :
إنّما سمّيت فاطمة محدّثة ، لأنّ الملائكة كانت تهبط من السماء فتناديها ، كما تنادي مريم بنت عمران ، فتقول : يا فاطمة ، إنّ الله اصطفاك وطهّرك ، واصطفاك على نساء العالمين ، يا فاطمة اقنتي لربّك واسجدي واركعي مع الراكعين (إشارة إلى آية 42 من آل عمران) فتحدّثهم ويحدّثونها .فقالت لهم ذات ليلة : أليست المفضّلة على نساء العالمين مريم بنت عمران ؟ فقالوا : إنّ مريم كانت سيّدة نساء عالمها ، وإنّ الله عزّ وجلّ جعلك سيّدة نساء عالمك وعالمها ، وسيّدة نساء الأوّلين والآخرين
“แท้จริงที่ฟาฏิมะฮ์ได้ถูกเรียกว่า “มุฮัดดะษะฮ์” เนื่องจากมะลาอิกะฮ์ (ทวยเทพ) จะลงมาจากฟากฟ้าและเรียกนาง เหมือนกับที่เรียกมัรยัม บุตรีของอิมรอน โดยกล่าวว่า : โอ้ฟาฏิมะฮ์เอ๋ย! แท้จริงอัลลอฮ์ได้ทรงเลือกเธอและทรงทำให้เธอบริสุทธิ์ และได้ทรงเลือกเธอให้เหนือบรรดาสตรีแห่งสากลโลก โอ้ฟาฏิมะฮ์เอ๋ย! จงภักดีต่อพระผู้อภิบาลของเจ้าเถิด และจงสุญูดและรุกูอ์ ร่วมกับบรรดาผู้รุกูอ์ทั้งหลายเถิด (ชี้ถึงโองการที่ 42 ของอัลกุรอานบทอาลิอิมรอน) แล้วนางก็ได้สนทนากับพวกเขาและพวกเขาก็สนทนากับนาง นางกล่าวกับพวกเขาในคืนหนึ่งว่า : ผู้ที่ถูกทำให้ประเสริฐเหนือบรรดาสตรีในสากลโลกนั้น ไม่ใช่ มัรยัม บุตรีของอิมรอนหรอกหรือ? พวกเขากล่าวว่า : แท้จริงมัรยัมนั้นเป็นหัวหน้าของสตรีแห่งโลก (ยุคสมัย) ของนาง และอัลลอฮ์ผู้ทรงเกริกเกียรติ ผู้ทรงเกรียงไกรได้ทรงทำให้เธอเป็นหัวหน้าของบรรดาสตรีในโลกของเธอและโลกของนาง และเป็นหัวหน้าของบรรดาสตรีแห่งยุคแรกและยุคสุดท้าย” (3)
ริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ ที่พูดถึงการลงมายังท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (อ.) ของมะลาอิกะฮ์ (ทวยเทพ) นั้นมีมากมาย แม้ในยามที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้จากโลกนี้ (วะฟาต) ไปแล้วก็ตาม ตัวอย่างเช่น ริวายะฮ์ (คำรายงาน) จากท่านอิมามญะอ์ฟัร อัซซอดิก (อ.) ที่กล่าวว่า :
وقد كان دخلها حزن شديد على أبيها ، وكان جبرائيل (عليه السلام) يأتيها فيحسن عزاءها على أبيها ، ويطيب نفسها ، ويخبرها عن أبيها ومكانه ، ويخبرها بما يكون بعدها في ذرّيتها ، وكان علي (عليه السلام) يكتب ذلك ، فهذا مصحف فاطمة
“และแน่นอนความทุกข์โศกที่รุนแรงได้เกิดขึ้นกับนางอันเนื่องมาจาก (การจากไปของ) บิดาของนาง และญิบรออีล (อ.) ได้มาหานางและได้ปลอบใจนางด้วยดีเกี่ยวกับบิดาของนางและทำให้จิตใจของนางเกิดความสงบ และได้บอกข่าวนางเกี่ยวกับบิดาของนางและสถานที่อยู่ของท่าน และบอกข่าวของนางถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับลูกหลานของนางภายหลังจากนาง และท่านอะลี (อ.) ได้ทำการจดบันทึกสิ่งนั้น และนั่นคือมุศฮัฟ (หนังสือบันทึกคำพูด) ของฟาฏิมะฮ์”(4)
ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่อแปลกประหลาดหรือห่างไกลจากความเป็นจริง เหมือนดังที่บุคคลที่มีอคติได้คาดคิดและกล่าวหาชาวชีอะฮ์ว่าเป็นพวกสุดโต่งในเรื่องความประเสริฐของอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) เนื่องจากคัมภีร์อัลกุรอานเองได้อ้างตัวอย่างไว้แก่เราเกี่ยวกับบรรดาสตรีที่สนทนาและพูดคุยกับมะลาอิกะฮ์ (ทวยเทพ) ทั้งๆ ที่พวกนางไม่ใช่ศาสดาหรือ "วะซีย์" (ผู้สืบทอดของศาสดา) แต่พวกนางคือส่วนหนึ่งจาก "เอาลิยาอุลลอฮ์" (ผู้เป็นที่รักของพระผู้เป็นเจ้า) สตรีเหล่านั้นได้แก่ :
1.ท่านหญิงมัรยัม มารดาของท่านศาสดาอีซา (อ.) ที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสในอัลกุรอานบทอาลิอิมรอน โองการที่ 42 ว่า :
وَإِذْ قَالَتِ الْمَلائِكَةُ يَا مَرْيَمُ إِنَّ اللَّهَ اصْطَفَاكِ وَطَهَّرَكِ وَاصْطَفَاكِ عَلَى نِسَاءِ الْعَالَمِينَ
"และจงรำลึกเมื่อครั้งที่มะลาอิกะฮ์ได้กล่าวว่า โอ้มัรยัมเอ๋ย! แท้จริงอัลลอฮ์ได้ทรงเลือกเธอและทรงทำให้เธอบริสุทธิ์ และได้ทรงเลือกเธอให้เหนือบรรดาสตรีแห่งโลกทั้งผอง"
2.ท่านหญิงซาเราะฮ์ ภรรยาของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) เมื่อมะลาอิกะฮ์ได้มาแจ้งข่าวดีถึงการมีบุตร (ศาสดาอิสหาก) แก่ท่านทั้งสอง ในอัลกุรอานบทฮูด โองการที่ 69-73 พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า :
وَلَقَدْ جَاءتْ رُسُلُنَا إِبْرَاهِيمَ بِالْبُشْرَى ..... وَامْرَأَتُهُ قَآئِمَةٌ فَضَحِكَتْ فَبَشَّرْنَاهَا بِإِسْحَقَ وَمِن وَرَاء إِسْحَقَ يَعْقُوبَ قَالَتْ يَا وَيْلَتَى أَأَلِدُ وَأَنَاْ عَجُوزٌ وَهَذَا بَعْلِي شَيْخًا إِنَّ هَذَا لَشَيْءٌ عَجِيبٌ قَالُواْ أَتَعْجَبِينَ مِنْ أَمْرِ اللّهِ
"และแน่นอนบรรดาทูตของเราได้นำข่าวดีมายังอิบรอฮีม .... และภรรยาของเขายืนอยู่แล้ว นางก็หัวเราะ เราจึงแจ้งข่าวดีแก่นางด้วย (การมีบุตรชื่อ) อิสฮาก และหลังจากอิสฮากคือยะอ์กูบ นางกล่าวว่า “โอ้ประหลาดแท้! ฉันจะมีบุตรหรือ ในขณะที่ฉันเป็นหญิงแก่ และนี่สามีของฉันก็ชราภาพแล้ว แท้จริงนี่เป็นเรื่องประหลาดแท้” พวกเขากล่าวว่า “เธอประหลาดใจต่อพระบัญชาของอัลลอฮ์หรือ?"
3.มารดาของท่านศาสดามูซา (อ.) ในอัลกุรอานบทอัลกอซ๊อซ โองการที่ 7 ได้กล่าวว่า :
وَأَوْحَيْنَا إِلَىٰ أُمِّ مُوسَىٰ أَنْ أَرْضِعِيهِ ۖ فَإِذَا خِفْتِ عَلَيْهِ فَأَلْقِيهِ فِي الْيَمِّ وَلَا تَخَافِي وَلَا تَحْزَنِي ۖ إِنَّا رَادُّوهُ إِلَيْكِ وَجَاعِلُوهُ مِنَ الْمُرْسَلِينَ
"และเราได้วิวรณ์ยังมารดาของมูซาว่า “จงให้นมแก่เขา เมื่อเจ้ากลัวสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาก็จงโยนเขาลงไปในแม่น้ำ และเจ้าอย่าได้กลัวและอย่าได้เศร้าโศกไปเลย แท้จริงเราจะให้เขากลับมายังเจ้า และเราจะทำให้เขาเป็นหนึ่งในบรรดาศาสนทูต”
ดังนั้นความเชื่อเกี่ยวกับการลงมาของมะลาอิกะฮ์ (ทวยเทพ) ยังท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (อ.) และการสนทนากันระหว่างสองฝ่ายนั้น จึงไม่ใช่เรื่องเลยเถิดหรือสุดโต่งเกินความเป็นจริง ในประเด็นเกี่ยวกับความประเสริฐของท่าน เนื่องจากท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) คือ “หัวหน้าของบรรดาสตรีนับจากยุคแรกจวบจนยุคสุดท้าย” มีความประเสริฐกว่าท่านหญิงมัรยัม ท่านหญิงซาเราะฮ์และมารดาของท่านศาสดามูซา (อ.) ซึ่งคัมภีร์อัลกุรอานได้ยืนยันถึงการลงมาของมะลาอิกะฮ์ (ทวยเทพ) ยังท่านเหล่านั้น และมีการสนทนาระหว่างกัน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่กรณีดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (อ.)
แหล่งอ้างอิง :
1.บิฮารุลอัลวาร, อัลลามะฮ์มัจญ์ลิซี, เล่มที่ 43, หน้าที่ 26
2.บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 43, หน้าที่ 76
3.ชะรออิอุลอิสลาม, เชคซอดูก, เล่มที่ 1, หน้าที่ 182
4.อัลกาฟี, เชคกุลัยนี, เล่มที่ 1, หน้าที่ 241
เรียบเรียงโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2024 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่