การกระทำ (อะมั้ล) ที่ประเสริฐที่สุด
Powered by OrdaSoft!
No result.
การกระทำ (อะมั้ล) ที่ประเสริฐที่สุด

ความดีงามทั้งมวล แม้ว่าบางสิ่งจากมันจะเป็นเรื่องเล็กน้อยสักเพียงใดก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่ามันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และมากมายด้วยคุณค่า ในมุมมองของอิสลามและในหลักคำสอนได้แบ่งระดับความดีงาม ความสวยงาม และความประเสริฐของการกระทำ (อะมั้ล) ทั้งหลายไว้ ผู้ใดที่มุ่งแสวงหาและปฏิบัติในสิ่งที่ดีงามกว่าและสวยงามกว่า เขาก็จะได้รับความพึงพอพระทัยจากอัลลอฮ์ (ซบ.) และผลตอบแทนจากพระองค์มากกว่ายิ่งๆ ขึ้นไป

    การกระทำและพฤติกรรมต่างๆ ของคนเราเมื่อพิจารณาในด้านความสวยงาม และความน่าเกลียดของมันย่อมไม่เท่าเทียมกัน ความสวยงามและความน่าเกลียดดังกล่าวมันได้ถูกกำหนดไว้ในตัวของสิ่งต่างๆ พร้อมกับการกระทำทั้งหลาย

    ตัวอย่างเช่น : “การจงรักภักดี” (ฎออะฮ์) ต่ออัลลอฮ์ โดยตัวของมันคือความดีงามและเป็นสิ่งที่สวยงาม ส่วน “การละเมิดฝ่าฝืน” (มะอ์ซิยะฮ์) ต่ออัลลอฮ์ โดยธรรมชาติของมันก็คือสิ่งที่น่าเกลียด หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง “ความยุติธรรม” (อะดาละฮ์) โดยตัวของมันคือสิ่งสวยงาม ในทางตรงกันข้าม “ความอธรรม” (ซุลม์) โดยธรรมชาติแล้วมันคือสิ่งที่น่าเกลียด ไม่จำเป็นต้องมีผู้ใดมากำหนดหรือบอกกล่าว

    มีคนบางกลุ่มพยายามที่จะปฏิเสธความหมายข้างต้น และพวกเขาพยายามที่จะกล่าวว่าความดีงามและความเลวร้ายหรือความน่าเกลียดของทุกๆ สิ่ง และการกระทำต่างๆ ของมนุษย์ สามารถรับรู้ได้โดยผ่านข้อบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าเพียงเท่านั้น พวกเขากล่าวว่า “ความยุติธรรม” (อะดาละฮ์) ที่เรายอมรับว่ามันเป็นสิ่งที่ดีงามได้นั้น เพราะอัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงตรัสว่า มันเป็นสิ่งดีงาม และ “ความอธรรม” (ซุลม์) ที่เรายอมรับว่ามันเป็นสิ่งน่ารังเกียจก็เป็นเพราะอัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงบัญญัติห้าม มิเช่นนั้นแล้วสติปัญญาของมนุษย์เราไม่อาจรับรู้ได้ ทัศนะเช่นนี้ถูกปฏิเสธโดยสิ้นเชิงในมุมมองของเราชาวชีอะฮ์ อิษนาอะชะรียะฮ์

    ยิ่งไปกว่านั้น ระดับของความสวยงามและความน่าเกลียด ความมากและความน้อยของมันก็สามารถรับรู้และค้นหาได้ในตัวของสิ่งต่างๆ เหล่านั้นเช่นกัน “ความดี” “ดีกว่า” หรือ “ดีที่สุด” และ “ความเลว” “เลวกว่า” หรือ “เลวที่สุด” เราก็สามารถตัดสินได้บนพื้นฐานดังกล่าว นั่นคือสติปัญญาของมนุษย์คือตัวตัดสิน

อย่าดูถูกความดีงามที่เล็กน้อย

     ความดีงามทั้งมวล แม้ว่าบางสิ่งจากมันจะเป็นเรื่องเล็กน้อยสักเพียงใดก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่ามันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และมากมายด้วยคุณค่า ดังเช่นที่ท่านอะมีรุลมุอ์มินีน อะลี อิบนิอบีฏอลิบ (อ.) ได้ชี้ให้เห็นในคำสอนอันทรงคุณค่าของท่านว่า

افْعَلُوا الْخَيْرَ وَ لَا تَحْقِرُوا مِنْهُ شَيْئاً ، فَإِنَّ صَغِيرَهُ كَبِيرٌ وَ قَلِيلَهُ كَثِيرٌ

“จงทำความดี และจงอย่าดูถูกดูแคลนสิ่งใดจากมัน เพราะแท้จริงแล้วสิ่งที่เล็กของมันนั้นคือสิ่งยิ่งใหญ่ (ด้วยคุณค่า) และสิ่งที่น้อยของมันนั้นคือสิ่งที่มากมาย (ณ พระผู้เป็นเจ้า)” (1)  

    แต่กระนั้นก็ตาม ในมุมมองของอิสลามและในหลักคำสอนของคัมภีร์อัลกุรอาน ได้แบ่งระดับความดีงาม ความสวยงาม และความประเสริฐของการกระทำ (อะมั้ล) ทั้งหลายไว้ บ่าวของอัลลอฮ์ (ซบ.) คนใดที่มุ่งแสวงหาและปฏิบัติในสิ่งที่ดีงามกว่าและสวยงามกว่า เขาก็จะได้รับความพึงพอพระทัยจากอัลลอฮ์ (ซบ.) และผลตอบแทนจากพระองค์มากกว่ายิ่งๆ ขึ้นไป

    ด้วยเหตุนี้เราจึงได้ยินคำพูดของบรรดาผู้ทรงความรู้ทางศาสนาได้กล่าวว่า

أفْضَلُ الاْعْمالِ أحْمَزُها

          “การกระทำ (อะมั้ล) ที่ประเสริฐที่สุด คือการกระทำที่มีความยากลำบากที่สุด” (2)

    นั่นเป็นเพราะว่า “อะมั้ล” หรือการกระทำความดีใดๆ ก็ตามของมนุษย์ที่มีผลในการขจัดอารมณ์ใฝ่ต่ำ ความลุ่มหลง และความรักในความสะดวกสบายของมนุษย์ได้มากว่า มันก็ย่อมส่งผลในการชำระขัดเกลาจิตวิญญาณและสร้างความสวยงามและความสมบูรณ์ให้กับจิตวิญญาณของมนุษย์ได้มากกว่านั่นเอง (โดยธรรมชาติแล้ว (อะมั้ล) การกระทำที่ยากลำบากนั้นจะมีลักษณะเช่นนี้) และนี่คือบรรทัดฐานประการหนึ่งในการวัดคุณค่าของอะมั้ล (การกระทำ) ต่างๆ

    บางทีเราอาจกล่าวถึงบรรทัดฐานอีกประการหนึ่งที่จะใช้วัดหรือรับรู้ถึงคุณค่าที่มากกว่าหรือความประเสริฐที่มากกว่าของอะมั้ล (การกระทำ) ต่างๆ ได้ นั่นคือ ทุกๆ อะมั้ล (การกระทำ) ที่มนุษย์กระทำโดยมุ่งหวังความพึงพอพระทัยจากอัลลอฮ์ (ซบ.) สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะคือ

1.อะมั้ล (การกระทำ) ซึ่งผลของมันย้อนกลับมาหาตัวผู้กระทำอะมั้ลนั้นๆ โดยเฉพาะ โดยที่ผู้อื่นไม่ได้รับประโยชน์จากการกระทำ (อะมั้ล) ดังกล่าวเลย

    อะมั้ล (การกระทำ) ในลักษณะเช่นนี้เปรียบได้ดั่งอาหารอันโอชะ และจะให้พละกำลังแก่มนุษย์ ซึ่งบุคคลที่บริโภคมันเข้าไปก็จะได้รับความอิ่มเอม ได้รับกำลังวังชา และมีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์ ตัวอย่างเช่น : การทำอิบาดะฮ์ต่างๆ ที่เกิดจากความบริสุทธิ์ใจ การนมาซตะฮัจญุด และการอดหลับอดนอนในยามค่ำคืนเพื่อทำอิบาดะฮ์ ซึ่งมันจะเสริมสร้างพลังแห่งความศรัทธา (อีหม่าน) และความยำเกรง (ตักวา) และจะสร้างความสวยงามและความสมบูรณ์ให้แก่ผู้กระทำมัน โดยสื่อจากการกระทำอะมั้ลดังกล่าวจะทำให้เขาได้รับประโยชน์ในด้านจิตวิญญาณได้มากกว่า สามารถสัมผัสและรับรู้ถึงรสชาดของความหวานชื่นแห่งโลกหน้าได้มากกว่าหากเขาได้ปฏิบัติมัน

     แต่ทว่าเสียงรำพึงรำพัน (มุนาญาต) และน้ำตาที่เขาหลั่งมันออกมาในยามค่ำคืนอันดึกสงัด มันไม่อาจบรรเทาความเจ็บปวด ความหิวกระหาย และเสียงคร่ำครวญของบรรดาผู้ยากไร้และผู้อ่อนแอคนอื่นๆ ได้เลย

     อะมั้ล (การกระทำ) ประเภทนี้ แม้จะมีความจำเป็นต่อการเพิ่มพลัง ทำนุบำรุงและขัดเกลาจิตวิญญาณของมนุษย์ ซึ่งเปรียบได้ดังอาหารที่ร่างกายของเรามีความต้องการมัน แต่ทว่าอะมั้ล (การกระทำ) ประเภทนี้เป็นอะมั้ลที่มีเพียงด้านเดียว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง มันคือการกระทำ (อะมั้ล) ส่วนตัว ซึ่งผลของมันเกิดขึ้นเฉพาะกับตัวผู้ที่ปฏิบัติมัน ส่วนบุคคลอื่นๆ ไม่มีส่วนร่วมในผลของอะมั้ลเหล่านี้

2.อะมั้ล (การกระทำ) ซึ่งความดีงามและประโยชน์ของมัน นอกจากจะย้อนกลับมาสู่ผู้ที่ปฏิบัติมัน และทำให้จิตวิญญาณของเขาเกิดความสะอาดบริสุทธิ์แล้ว บุคคลอื่นๆ ยังได้รับประโยชน์จากการกระทำอันดีงามของเขาอีกด้วย การกระทำของเขาสามารถบรรเทาความทุกข์ยากและความเจ็บปวดแก่ผู้อื่นได้ การกระทำ (อะมั้ล) ลักษณะนี้เราเรียกว่า “การกระทำที่ให้ผลต่อส่วนรวม” หรือ “การกระทำ (อะมั้ล) ที่มีสองด้าน”

    อะมั้ล (การกระทำ) เหล่านี้เปรียบเหมือนดั่งตะเกียงหรือคบเพลิงที่บุคคลหนึ่งจุดมันขึ้น ซึ่งนอกจากตัวเขาเองจะได้รับแสงสว่างแล้ว ขณะเดียวกันบุคคลอื่นๆ ก็ได้รับแสงสว่างนั้นด้วย และภายใต้แสงสว่างนี้เองที่ทำให้บุคคลอื่นๆ สามารถขจัดภัยอันตรายให้หมดไปจากตัวเองได้

3.อะมั้ล (การกระทำ) ซึ่งประโยชน์ทางด้านวัตถุของมันเกิดขึ้นกับผู้อื่นทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยที่ผู้ปฏิบัติจะไม่ได้รับสิ่งใดนอกจากความเจ็บปวด ความทุกข์ยาก และความทุกข์ทรมานทางด้านร่างกาย เป็นเพราะความรักและความผูกพันที่เขามีต่อความดีงามและคุณธรรมความดีเพียงเท่านั้นที่เป็นตัวบังคับเขาสู่การกระทำเช่นนั้น และเป้าหมายที่เขากระทำสิ่งเหล่านี้ก็เพื่อแสวงหาความพึงพอพระทัยจากพระผู้เป็นเจ้า มุ่งหวังในพระเมตตาธิคุณจากพระองค์ และบางครั้งเขากระทำสิ่งเหล่านี้ด้วยความบริสุทธิ์ต่อพระผู้เป็นเจ้า โดยมิได้หวังการยกย่องชมเชย และการขอบคุณใดๆ จากผู้อื่น ดังแบบอย่างของอะฮ์ลิลบัยต์ (อ.) ของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ที่อัลลอฮ์ (ซบ.) ได้ทรงยกตัวอย่างให้เห็นในคัมภีร์ของพระองค์ โดยทรงตรัสว่า

وَيُطْعِمُونَ الطَّعَامَ عَلَىٰ حُبِّهِ مِسْكِينًا وَيَتِيمًا وَأَسِيرًا  إِنَّمَا نُطْعِمُكُمْ لِوَجْهِ اللَّهِ لَا نُرِيدُ مِنكُمْ جَزَاءً وَلَا شُكُورًا

          “และพวกเขาให้อาหารแก่คนอนาถา เด็กกำพร้าและเชลยศึก (โดยพวกเขากล่าวว่า) แท้จริงเราให้อาหารแก่พวกท่านโดยความบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮ์ เรามิได้หวังการตอบแทนและการขอบคุณใดๆ จากพวกท่าน” (3)

    อะมั้ล (การกระทำ) ลักษณะเช่นนี้เรียกได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อพระผู้เป็นเจ้าโดยแท้จริง และมันคือ “อะมั้ลที่ประเสริฐที่สุด” (อัฟฎอลุ้ลอะอ์มาล)

    อะมั้ล (การกระทำ) ลักษณะเช่นนี้เราสามารถพบเห็นได้อย่างมากมายในหลักคำสอนอันสูงส่งของอิสลาม ในแบบฉบับ (ซุนนะฮ์) ของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และบรรดาอะฮ์ลิลบัยต์ (อ.) ของท่าน

    บรรดาผู้ศรัทธาและเป็นผู้ที่ยึดมั่นในแนวทางของท่านผู้บริสุทธิ์เหล่านี้ ต้องตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า การเลือกปฏิบัติสิ่งต่างๆ ที่เป็นคุณธรรมความดีนั้น เราจะต้องไม่หยุดอยู่เฉพาะในอะมั้ล (การกระทำ) ที่มีเพียงด้านเดียวเท่านั้น ซึ่งประโยชน์ของมันจะเกิดขึ้นเฉพาะตัวผู้ปฏิบัติเพียงอย่างเดียว แต่จงเรียนรู้แบบอย่างและคุณธรรมอันสูงส่งจากบรรดาอะฮ์ลิลบัยต์ (อ.) ผู้บริสุทธิ์ และนำสู่การปฏิบัติในชีวิตจริงของเราทุกคน

    และท้ายที่สุดนี้ขอนำแบบอย่างอันสูงส่งอีกตัวอย่างหนึ่งจากท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) มาเสนอ เพื่อจุดประกายความคิด และเป็นการตระหนักถึงอะมั้ลที่มีคุณค่ายิ่งที่เรียกว่า “อัฟฎอลุ้ลอะอ์มาล” (การกระทำที่ประเสริฐที่สุด) โดยที่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้อ้างคำพูดของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ผู้เป็นตาของท่าน ซึ่งท่านได้กล่าวว่า

مِنْ أَفْضَلِ اَلْأَعْمَالِ عِنْدَ اَللَّهِ عَزَّ وَ جَلَّ إِبْرَادُ اَلْأَكْبَادِ اَلْحَارَّةِ وَ إِشْبَاعُ اَلْأَكْبَادِ اَلْجَائِعَةِ وَ اَلَّذِي نَفْسُ مُحَمَّدٍ بِيَدِهِ لاَ يُؤْمِنُ بِي عَبْدٌ بَاتَ شَبْعَانَ وَ أَخُوهُ جَائِعٌ أَوْ قَالَ وَ جَارُهُ جَائِعٌ

 “ส่วนหนึ่งจากบรรดาอะมั้ล (การกระทำ) ที่ประเสริฐที่สุด ณ อัลลอฮ์ ผู้ทรงเกริกเกียรติ ผู้ทรงเกรียงไกร คือการทำให้บรรดาตับไตรุ่มร้อน (จากความกระหาย) นั้นเย็นลง และการทำให้บรรดาผู้หิวโหยได้รับความอิ่มเอม ขอสาบานต่อพระผู้ซึ่งชีวิตของมุฮัมมัดอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ว่า จะยังไม่ศรัทธาต่อฉัน การที่บ่าวคนหนึ่งนอนหลับในยามค่ำคืนในสภาพที่อิ่มหนำ ในขณะที่พี่น้องของเขา (หรือเพื่อนบ้านของเขา) ซึ่งเป็นมุสลิมอยู่ในความหิวโหย” (4)


เชิงอรรถ :

1. นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, ฮิกมะฮ์ที่ 422

2. บิฮารุลอันวาร, เล่ม 67, หน้า 191

3. อัลกุรอานบท อัล อินซาน โองการที่ 8-9

4. ตันบีฮุลค่อวาฏีร, เล่ม 2, หน้า 76


บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2024 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 1207 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

10117207
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
70243
67809
138052
9524455
1968741
2060970
10117207

จ 29 เม.ย. 2024 :: 23:22:35