อันตรายจากความเผอเรอและลักษณะที่เลวร้ายจากมัน ในคำพูดของอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.)
Powered by OrdaSoft!
No result.

อันตรายจากความเผอเรอและลักษณะที่เลวร้ายจากมัน ในคำพูดของอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.)

จงระวังความเผอเรอ! บรรดาผู้ที่ความเผอเรอได้ปกคลุมหัวใจของพวกเขา พวกเขามีตาแต่พวกเขามองไม่เห็น พวกเขามีหู แต่พวกเขาไม่ได้ยิน พวกเขามีหัวใจ แต่พวกเขาไม่เข้าใจ ...

     ท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.) กล่าวว่า :

 إِيّاكَ وَالغَفْلَةَ، فَاِنَّ الغَفْلَةَ تُفْسِدُ الأَعْمالَ

"จงระวังความเผอเรอ เพราะแท้จริงความเผอเรอนั้นจะทำให้การกระทำ (อะมั้ล) เสียหาย" (1)

     ลักษณะที่เลวร้ายของ "ความเผอเรอ” หรือ “ขาดความเอาใจใส่ในสิ่งที่ต้องทำ" (ฆ็อฟละฮ์) เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับ "ความเอาใจใส่" และ "การไตร่ตรอง"  ในมุมมองทางด้านจริยธรรม "ความเอาใจใส่และการไตร่ตรอง" ยิ่งมีระดับที่สูงมากเพียงใด ก็จะนำไปสู่การพัฒนาและความสมบูรญ์ของมนุษย์เพียงนั้น "ความเผอเรอ" เป็นลักษณะที่เลวร้ายอย่างมาก ซึ่งจะนำพามนุษย์ไปสู่ความตกต่ำ ตามสำนวนของคัมภีร์อัลกุรอานนั้น มันจะทำให้มนุษย์ต่ำทรามถึงขั้นสัตว์เดรัจฉาน ทว่าต่ำทรามยิ่งไปกว่านั้น :

وَلَقَدْ ذَرَاْنا لِجَهَنَّمَ کَثیراً مِنَ الْجِنِّ وَ الْانْسِ لَهُمْ قُلُوبٌ لا یَفْقَهُونَ بِها وَ لَهُمْ اَعْیُنٌ لا یُبْصِرُونَ بِها وَلَهُمْ اذانٌ لا یَسْمَعُونَ بِها اوُلئِکَ کالاَنْعامِ بَلْ هُمْ اَضَلُّ اوُلئِکَ هُمُ الْغافِلُونَ

"และแน่นอนยิ่ง เราได้สร้างส่วนมากของญินและมนุษย์ขึ้นมาเพื่อ (ผลสุดท้ายแห่งการกระทำของพวกเขา คือ) นรก พวกเขามีหัวใจแต่ไม่ใช้มันทำความเข้าใจ พวกเขามีตาแต่ไม่ใช่มันมอง และพวกเขามีหูแต่ไม่ใช้มันฟัง พวกเหล่านี้ประหนึ่งปศุสัตว์ ใช่แต่เท่านั้น พวกเขาเป็นผู้หลงผิดยิ่งกว่า  พวกเหล่านี้คือ พวกที่เผอเรอ" (2)

     บรรดาผู้ที่ความเผอเรอได้ปกคลุมหัวใจของพวกเขา พวกเขามีตาแต่พวกเขามองไม่เห็น พวกเขามีหูแต่พวกเขาไม่ได้ยิน พวกเขามีหัวใจแต่พวกเขาไม่เข้าใจ และคนเหล่านี้คือสัตว์เดรัจฉาน พวกเขาเลวร้ายกว่าสัตว์เดรัจฉาน และหากไม่มีโองการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับความเผอเรอ นอกจากโองการนี้เพียงโองการเดียวก็นับว่าเพียงพอแล้วที่เราจะกล่าวได้ว่า ความเผอเรอนั้นเป็นคุณลักษณะที่น่าตำหนิ


ผลทางโลกของความเผอเรอ :

     1. การมีชีวิตที่คับแค้นและทุกข์ยาก : พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งทรงตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานว่า :

وَمَنْ أَعْرَضَ عَنْ ذِكْرِي فَإِنَّ لَهُ مَعِيشَةً ضَنْكًا

"และผู้ใดที่หันออกจากการรำลึกข้า ดังนั้นเขาจะมีชีวิตคับแค้น" (3)

     2. การเป็นสหายของชัยฏอน (มารร้าย) : พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า :

‌وَمَنْ یعْشُ عَنْ ذِکرِ الرَّحمَنِ نُقَیضُ لَهُ شَیطاناً فَهُوَ لَهُ قَرینٌ

"และผู้ใดผินหลังจากการรำลึกถึงพระผู้ทรงเมตตา เราก็จะกำหนดมารร้ายไว้แก่เขา แล้วมันก็จะเป็นสหายสนิทของเขา (ตลอดไป)" (4)

     3. การมีอำนาจของชัยฏอน (มารร้าย) ที่จะล่อลวงเขา : มีรายงานจากท่านอิมามซอดิก (อ.) ซึ่งท่านกล่าวว่า :

لایتَمَکَّنُ الشَّیطانُ بِالوَسوَسَةِ عَنِ العَبدِ إلاّ وَقَد أعْرَضَ عَن ذِکرِ اللهِ وَاسْتَهَانَ بِاَمرِهِ وَسَکَنَ اِلی نَهیهِ وَنَسِی إطِّلاعَهُ عَلَی سِرِّهِ

"ชัยฏอนไม่มีอำนาจที่จะล่อลวงบ่าว (ของอัลลอฮ์) เว้นแต่เมื่อเขาได้หันออกจากการรำลึกถึงอัลลอฮ์ ถือเอาคำสั่งของพระองค์เป็นเรื่องไม่สำคัญ วางใจ (ไม่หวั่น) ต่อข้อห้ามของพระองค์และลืมไปว่า พระองค์ทรงรู้ถึงความลับของเขา" (5)

     4. ความแข็งกระด้างของหัวใจ : ท่านอิมามบากิร (อ.) กล่าวว่า :

إِيّاكَ وَالغَفلَةَ فَفیها تَکُونُ قَساوَةُ القَلبِ

"จงระวังความเผอเรอ เพราะในความเผอเรอนั้น จะก่อให้เกิดความแข็งกระด้างของหัวใจ" (6)

     5. การทำลายการกระทำ (อะมั้ล) ต่างๆ : ท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน (อ.) กล่าวว่า :

 إِيّاكَ وَالغَفْلَةَ، فَاِنَّ الغَفْلَةَ تُفْسِدُ الأَعْمالَ

"จงระวังความเผอเรอ เพราะแท้จริงความเผอเรอนั้น จะทำให้การกระทำ (อะมั้ล) ต่างๆ เสียหาย" (7)

     6. ความไม่รู้และความโง่เขลา : ท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน (อ.) กล่าวว่า :

‌مَن غَفَلَ جَهِلَ

“ผู้ใดที่เผอเรอ เขาจะตกอยู่ในความโง่เขลา” (8)


ผลในปรโลกของความเผอเรอ :

    1. การมีตาที่มืดบอดในวันกิยามะฮ์ (ปรโลก) :

وَنَحْشُرُهُ يَوْمَ الْقِيَامَةِ أَعْمَىٰ

 "และเราจะรวมเขาขึ้นในวันกิยามะฮ์ ในสภาพของคนตาบอด" (9)

    2. ความสำนึกเสียใจในวันกิยามะฮ์ : อบูบาซีรกล่าวว่า : ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า :

‌مَا اجْتَمَعَ قَومٌ فی مَجْلِسٍ لَمْ یذْکُرُوا اللهَ وَلَم یذکُرُونَا إلاّ کانَ ذلکَ المَجلِسُ حَسرَةً عَلَیهِم یومَ القِیامَةِ

“ไม่มีกลุ่มชนใดที่มารวมกันในที่ชุมนุมหนึ่งโดยที่พวกเขาไม่ได้รำลึกถึงอัลลอฮ์และไม่ได้รำลึกถึงเรา เว้นแต่ที่ชุมนุมนั้น จะทำให้พวกเขาสำนึกเสียใจในวันกิยามะฮ์” (10)

    3. การหลงลืมวันกิยามะฮ์ :

‌نَسُوا اللهَ فَنَسِیهُم

“พวกเขาลืมอัลลอฮ์ ดังนั้นพระองค์ทรงลืมพวกเขา” (11)

   4. การลงโทษอันแสนเจ็บปวดของพระผู้เป็นเจ้า :

‌وَالَّذینَ هُم عَن آیاتِنا غَافِلُونَ * اُولئِکَ مَأْویهُمُ النَّارُ بِما کَانُوا یکْسِبُونَ

 "และบรรดาผู้เผอเรอ (และไม่ใส่ใจ) ต่อสัญญาณต่าง ๆ ของเรา พวกเหล่านั้น ที่พำนักของพวกเขาคือนรกเนื่องด้วยสิ่งที่พวกเขาได้ขวนขวายไว้" (12)

ผลสุดท้ายของการปฏิบัติตามชัยฏอน (มารร้าย) :

     มีเรื่องเล่า (ฮิกายะฮ์) บทหนึ่งได้ถูกบันทึกไว้ว่า วันหนึ่งมีคนสี่คนได้แบกโลงศพและเดินผ่านฝูงชน และผู้คนก็ได้ขว้างปาขยะและถ่มน้ำลายไปยังโลงศพของเขา มีคนถามว่า "เกิดอะไรขึ้นกระนั้นหรือ?"

     พวกเขากล่าวว่า : "ศพนี้เป็นมุอัซซิน (ผู้ประกาศบอกเวลานมาซ) เพียงคนเดียวของมัสยิดในเมืองมาเป็นเวลายาวนานหลายปี ภายในบ้านทั้งหมดที่อยู่รอบๆ มัสยิด มีหญิงคริสเตียนคนหนึ่งใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังคนเดียว ซึ่งวันหนึ่งขณะที่เขาทำการอาซาน (ประกาศบอกเวลานมาซ) พลันสายตาของเขาก็เหลือบไปเห็นนาง และชัยฏอน (มารร้าย) ก็ได้กระซิบกระซาบล่อลวงเขา เขาได้ไปหาผู้หญิงชาวคริสต์ผู้นั้น และขอให้นางแต่งงานกับเขา แต่ผู้หญิงคนนั้นได้ปฏิเสธ พร้อมกับกล่าวว่า มีเพียงกรณีเดียวที่นางจะยอมแต่งงานด้วย นั่นคือ เขาต้องออกจากศาสนาอิสลาม และกล่าวว่า เขาจะต้องสวมใส่ "ซุนนาร" (13) มุอัซซินผู้นั้นก็ยอมรับข้อเสนอของหญิงชาวคริสต์ และสวมใส่ซุนนารและดื่มเหล้า และในวันที่เขาตั้งใจจะแต่งงานกับผู้หญิงคนนั้น นางกลับไม่ปฏิบัติตามสัญญาของตนและหลบหนีไปจากเขา มุอัซซินได้ปีนขึ้นไปบนกำแพงบ้านของผู้หญิงคนนั้น แต่ตกลงกับพื้น คอหักและได้เสียชีวิต ซึ่งด้วยเหตุนี้เองที่ผู้คนกำลังแห่ศพของเขาในสภาพเช่นนี้ (14)


เชิงอรรถ :

1. ฆุร่อรุลหิกัม, ตะมีม อัลอะมะดี, ชัรห์ อากอ ญะมาล คอนซารี, บาบ "ฆ็อฟละฮ์"

2. อัลกุรอานบทอัลอะอ์ร๊อฟ โองการที่ 179

3. อัลกุรอานบทฏอฮา โองการที่ 124

4. อัลกุรอานบทอัซซุครุฟ โองการที่ 36

5. มัจญ์มูอะฮ์ วัรรอม, เล่ม 1, หน้า 178

6. บิฮารุลอันวาร, เล่ม 78, หน้า 164

7. ฆุร่อรุลหิกัม, ตะมีม อัลอะมะดี, ชัรห์ อากอ ญะมาล คอนซารี, บาบ "ฆ็อฟละฮ์"

8. แหล่งอ้างอิงเดิม

9. อัลกุรอานบทฏอฮา โองการที่ 124

10. บิฮารุลอันวาร, เล่ม 75, หน้า 468

11. อัลกุรอานบทอัตเตาบะฮ์ โองการที่ 67

12. อัลกุรอานบทยูนุส โองการที่ 7 และ 8

13. “ซุนนาร” คือ เข็มขัด หรือ สร้อยคอ ที่เป็นสัญลักษณ์เฉพาะของชาวคริสต์

14. มะซอบีฮุลกุลูบ, หน้า 71


แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2017 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้อิสลามสำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 1005 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

10674442
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
69524
65598
197630
9979155
480622
2045354
10674442

อ 07 พ.ค. 2024 :: 23:03:13