คำสั่งของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ในสงครามมูตะฮ์
Powered by OrdaSoft!
No result.
คำสั่งของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ในสงครามมูตะฮ์

ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ผู้เป็นศาสดาแห่งความเมตตา ก่อนที่กองทัพอิสลามจะเคลื่อนตัวไปยังเมืองมูตะฮ์ ท่านได้แนะนำสั่งเสียสิ่งที่จำเป็นบางประการแก่กองทัพอิสลาม ซึ่งจะขอกล่าวถึงบางส่วนในที่นี้ : ประการแรก : อย่าทำสงครามจนกว่าจะให้เหตุผลและหลักฐานปิดทางแก้ตัวใดๆ ของศัตรู ประการที่สองสอง : ห้ามฆ่าสตรี เด็ก และคนชรา ประการที่สาม : อย่าทำลายอาคารและโครงสร้างพื้นฐานของพวกเขา

                  สงครามมูตะฮ์ เป็นหนึ่งในการสงครามที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้ส่งกองทัพมุสลิมไปเผชิญหน้ากับกองทัพโรม สงครามนี้เกิดขึ้นในปีฮิจเราะห์ที่ 8 และในกองทัพที่ชาวมุสลิมจำนวน 3,000 คน ต้องเผชิญกับกองทัพโรมจำนวน 100,000 คน สงครามครั้งนี้จบลงด้วยการเสียชีวิต (เป็นชะฮีด) ของผู้บัญชาการกองทัพอิสลามถึงสามคน ซึ่งท่านญะอ์ฟัร บิน อบีฏอลิบ (อ.) อยู่ในจำนวนนี้ด้วย

                  หลังจากจัดเตรียมกองทัพแล้ว ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้แต่งตั้ง ญะอ์ฟัร บิน อบีฏอลิบ, ซัยด์ บิน ฮาริษะฮ์ และอับดุลลอฮ์ บิน รอวาฮะฮ์ เป็นผู้บัญชาการกองทัพตามลำดับ เพื่อว่าหากหนึ่งในนั้นได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต อีกคนหนึ่งจะขึ้นมารับหน้าที่เป็นผู้บัญชาการกองทัพคนต่อไป (1) จากนั้นท่านได้ออกไปส่งกองทัพเพื่อออกเดินทางสู่จุดหมาย และได้กำชับสั่งเสียประเด็นสำคัญหลายประการ :

ประการแรก : การอธิบายเหตุผลและหลักฐานปิดทางแก้ตัวใดๆ ของศัตรู (อิตมามุลฮุจญะฮ์)

                  อิสลามจะไม่กล่าวหาและเอาโทษใครโดยไม่ได้ทำการพิสูจน์เหตุผลและหลักฐานให้เสร็จสิ้นเสียก่อน และจะไม่ต่อสู้กับผู้ปฏิเสธศรัทธา (กุฟฟาร) และผู้ตั้งสิ่งอื่นภาคีต่อพระเจ้า (มุชริกีน) ซึ่งสิ่งนี้เป็นวิถีปฏิบัติในชีวิตของบรรดาศาสดาและอิมาม (อ.) ทุกท่านด้วยเช่นกัน ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้เริ่มต้นกับบรรดาผู้บัญชาการกองทัพมูตะฮ์ด้วยประเด็นของการอธิบายเหตุผลและการพิสูจน์หลักฐาน (อิตมามุลฮุจญะฮ์) ต่อฝ่ายศัตรู โดยกล่าวว่า :

إِذَا لَقِيتَ عَدُوَّكَ مِنَ الْمُشْرِكِينَ فَادْعُهُمْ إِلَى إِحْدَى ثَلَاث

 "เมื่อท่านพบกับศัตรูของท่านจากบรรดามุชริกีน (ผู้ตั้งภาคีต่อพระเจ้า) ดังนั้นจงเรียกร้องเชิญชวนพวกเขาไปยังหนึ่งในสามสิ่งดังต่อไปนี้" (2) :

หนึ่ง : ก่อนอื่นให้เชิญพวกเขาเข้ารับอิสลาม

สอง : เชิญพวกเขาให้อพยพไปยังมะดีนะฮ์

สาม : หากพวกเขาไม่ยอมรับสองสิ่งนี้ ก็จงเรียกร้องให้พวกเขาจ่ายญิซยะฮ์ (บรรณาการ)

      หากพวกเขาดื้อรั้นและไม่ยอมรับสิ่งเหล่านี้ก็จงต่อสู้กับพวกเขา

 

ประการที่สอง : การไม่ล่วงละเมิดนักพรตและผู้อยู่ในอาศรม

                    ไม่ต้องสงสัยเลยว่าในทุกสงคราม มีคนที่หมกมุ่นอยู่กับงานของตนและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามและญิฮาด เรื่องราวของพวกเขาจะถูกแยกออกจากผู้ที่จับดาบและเข้าร่วมทำสงครามกับชาวมุสลิม ดังนั้น ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จึงกล่าวว่า :

سَتَجِدُونَ فِيهَا رِجَالًا فِي‏ الصَوَامِعِ‏ مُعْتَزِلِينَ النَّاسَ فَلَا تَعَرَّضُوا لَهُم

"พวกท่านจะพบบรรดาคนที่อยู่ในอาศรม ผู้ที่ปลีกตัวออกจากมนุษย์ ดังนั้นจงอย่าล่วงละเมิดพวกเขา"(3)

ประการที่สาม : ความปลอดภัยของสตรี เด็ก และผู้สูงอายุ

                      ศาสนาอิสลามไม่อนุญาตให้ทำการเข่นฆ่าพลเรือน รวมทั้งผู้หญิง เด็กและคนชรา บนพื้นฐานดังกล่าวนี้เอง หนึ่งในคำสั่งของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) คือการรักษาชีวิตของคนทั้งสามกลุ่มนี้ :

لَا تَقْتُلُنَّ امْرَأَةً وَ لَا صَغِيراً ضَرِعاً وَ لَا كَبِيراً فَانِيا

"จงอย่าฆ่าผู้หญิง เด็กทารกและคนแก่ชรา" (4)

ประการที่สี่ : การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและโครงสร้างพื้นฐานของเมือง

                  การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ อย่างเช่น ต้นไม้ สวน และแม้แต่อาคารและโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างขึ้นด้วยมือของมนุษย์ ถือเป็นอีกคำสั่งหนึ่งของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ที่มีต่อกองทัพอิสลาม :

لَا تَقْطَعُنَّ نَخْلًا وَ لَا شَجَراً وَ لَا تَهْدِمُنَّ بِنَاء

 “จงอย่าตัดต้นอินทผาลัมและต้นไม้ (อื่นๆ) และอย่าทำลายอาคาร" (5)

ประเด็นที่ควรรู้ : แน่นอน! บางครั้งความจำเป็นของการพิชิตศัตรู คือการทำลายอาคารหรือการตัดต้นไม้ ซึ่งในกรณีนี้จะต้องกระทำในขอบเขตที่จำเป็นเท่านั้น อย่างเช่น การตัดต้นอินทผลัมของชาวยิวในสงครามบนีนาซีรซึ่งนำไปสู่การกดดันและการบังคับให้ชาวยิวต้องออกมาจากป้อมปราการ (6)

                      ใช่แล้ว! นี่คือคำแนะนำต่างๆ ที่จำเป็นของท่านศาสดาแห่งความเมตตา แต่ชาวยิวและศัตรูที่ร้ายกาจของชาวมุสลิมไม่เพียงแต่ทำลายโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น ทว่าพวกเขายังจงใจฆ่าเด็กและผู้หญิงผู้บริสุทธิ์ที่ไร้ที่พักพิงในโรงพยาบาลต่างๆ อีกด้วย ซึ่งจะเห็นได้จากสงครามที่กำลังเกิดขึ้นในดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครองในขณะนี้


เชิงอรรถ :

1. อะอ์ลามุลวะรอ, ฏอบัรซี, เล่ม 1, หน้า 212

2. อัลมะฆอซี, วากิดี, เล่ม 2, หน้า 757

3. อัลมะฆอซี, วากิดี, เล่ม 2, หน้า 758 และ บิฮารุลอันวาร, มัจลิซี, เล่ม 21, หน้า 60

4] 4. อัลมะฆอซี, วากิดี, เล่ม 2, หน้า 758 และ บิฮารุลอันวาร, มัจลิซี, เล่ม 21, หน้า 60

5. อัลมะฆอซี, วากิดี, เล่ม 2, หน้า 758 และ บิฮารุลอันวาร, มัจลิซี, เล่ม 21, หน้า 60

6. มุอ์ญะมุลบุลดาน, อิบนุ กะษีร, เล่ม 1, หน้า 285


บทความโดย : เชคมูฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2017 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้อิสลามสำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 1045 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

10077767
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
30803
67809
98612
9524455
1929301
2060970
10077767

จ 29 เม.ย. 2024 :: 10:10:27