การรักษาเกียรติและแนวทางการเคารพเกียรติผู้อื่นในอิสลาม
Powered by OrdaSoft!
การรักษาเกียรติและแนวทางการเคารพเกียรติผู้อื่นในอิสลาม

การรักษาเกียรติของผู้อื่น การด่าทอและการใช้คำพูดที่หยาบคายนั้นจะไม่สามารถยับยั้งผู้อื่นจากแนวทางที่ไม่ถูกต้องได้เลย ในทางตรงกันข้ามการด่าทอและการใช้วาจาสามหาวจะทำให้บุคคลเหล่านั้นดื้อด้านอยู่บนความคิดและความเชื่อที่หลงผิด

    การใช้วาจาที่หยาบคายและการด่าประณามนั้น ทั้งผู้ที่ด่าประณามก็จะพบกับความเสื่อมเสีย และสถานภาพของผู้อื่นก็จะถูกทำลายลง

อิสลามได้ห้ามทุกคนจากการใช้คำพูดในลักษณะเช่นนี้

    และเรียกร้องเชิญชวนสู่การใช้คำพูดต่างๆ ที่มีตรรกะและด้วยมารยาทที่ดีงาม แม้แต่ในสถานการณ์ที่หนักหน่วงที่สุด อันได้แก่ในช่วงเวลาของสงคราม ก็ไม่สมควรที่จะใช้การด่าประณาม

    ดังเช่นในสงครามซิฟฟีน ท่านอมีรุลมุอฺมินีน อะลี อิบนิอบีฏอลิบ (อ.) ได้กล่าวกับบรรดาทหารกลุ่มหนึ่งของท่านที่กำลังด่าประณามกองทัพของมุอาวิยะฮ์ เช่นนี้ว่า

إِنِّی أَكْرَهُ لَكُمْ أَنْ تَكُونُوا سَبَّابِینَ وَ لَكِنَّكُمْ لَوْ وَصَفْتُمْ أَعْمَالَهُمْ وَ ذَكَرْتُمْ حَالَهُمْ كَانَ أَصْوَبَ فِی الْقَوْلِ وَ أَبْلَغَ فِی الْعُذْر

 “ฉันรังเกียจเหลือเกินต่อการที่พวกท่านเป็นผู้ด่าประณาม (ผู้อื่น) แต่ทว่า หากพวกท่านจะพูดถึงคุณลักษณะของพฤติกรรมของพวกเขา และกล่าวเตือนถึงสภาพของพวกเขา นั่นย่อมเป็นคำพูดที่ถูกต้องที่สุด และเป็นการให้อภัยที่สวยงามที่สุด”

(นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ ธรรมเทศนาที่ 206)

    และแม้กระทั่งพระผู้เป็นเจ้าเองก็ทรงห้ามปวงบ่าวจากการด่าประณามผู้อื่น โดยที่พระองค์ทรงตรัสว่า

وَ لا تَسُبُّوا الَّذینَ یَدْعُونَ مِنْ دُونِ اللَّهِ فَیَسُبُّوا اللَّهَ عَدْواً بِغَیْرِ عِلْمٍ كَذلِكَ زَیَّنَّا لِكُلِّ أُمَّةٍ عَمَلَهُمْ ثُمَّ إِلى رَبِّهِمْ مَرْجِعُهُمْ فَیُنَبِّئُهُمْ بِما كانُوا یَعْمَلُون

 “และพวกเจ้าจงอย่าด่าประณาม บรรดาผู้ที่พวกเขาวิงวอนขอสิ่งอื่นจากอัลลอฮ์ แล้วพวกเขาก็จะด่าประณามอัลลอฮ์ เป็นการล่วงละเมิดโดยปราศจากความรู้ เช่นนั้นแหละเราได้ประดับประดาการงานของทุกประชาชาติชาติให้ดูสวยงามแก่ของพวกเขา หลังจากนั้นยังพระผู้อภิบาลของพวกเขา คือการกลับไปของพวกเขา แล้วพระองค์ก็จะทรงแจ้งแก่พวกเขาในสิ่งที่พวกเขาได้เคยกระทำไว้”

(บทอัลอันอาม โองการที่ 108)

การเคารพเกียรติผู้อื่นในอิสลาม

    ในการดำเนินชีวิตนั้น มนุษย์ทุกคนมีความปรารถนาที่จะได้รับความรัก ความเคารพและเป็นที่ประทับใจต่อผู้อื่น แน่นอนยิ่งว่าสิ่งนี้มิใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นเองได้ตามธรรมชาติ โดยที่ความต้องการและความตั้งใจจริงของมนุษย์มิได้มีผลต่อความมากและความน้อยของมัน แต่ทว่ามันคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ด้วยการขวนขวายและการแสวงหา ทุกคนสามารถที่จะได้รับมาซึ่งสิ่งดังกล่าวนี้ได้ด้วยการอุตสาห์พยายามอย่างต่อเนื่องจริงจัง ด้วยการจัดเตรียมปัจจัยและสื่อต่างๆ

    อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องกล่าวว่า หนทางที่จะได้รับความรักจากผู้อื่นนั้นมีมากมาย แต่ ณ ที่นี้เราต้องการที่จะชี้ให้เห็นถึงหนทางที่ดีที่สุดเพียงประการเดียวเท่านั้น

   บุคคลที่จะเป็นที่รักในหมู่ประชาชนได้นั้น ประการแรก ตัวเขาเองจะต้องเป็นผู้ที่มีเกียรติ และจะต้องเป็นผู้ที่รักษาเกียรติและบุคลิกภาพของตนเองด้วย ประการถัดไป เขาจะต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดที่จะเคารพและรักษาเกียรติของผู้อื่น บางคนเป็นผู้ที่ชอบทำลายเกียรติ พูดจาเหยียดหยามและหยาบคายต่อผู้อื่น และไม่เคยยับยั้งตนจากการดูถูกดูแคลนและเย้ยหยันผู้อื่นเลยแม้แต่น้อย บุคคลลักษณะเช่นนี้ นอกจากจะแสดงความไร้มารยาท ความไร้เกียรติและไร้ซึ่งบุคลิกภาพที่ดีงามของตนออกมาให้ผู้อื่นได้เห็นแล้ว ยังจะมีผลกระทบในทางลบต่อบุคคลที่อยู่รอบตัวเขาอีกด้วย และจะเป็นบ่อเกิดของความน่ารังเกียจ ความชิงชังและการเอาตัวออกห่างของบุคคลอื่นๆ

    การเคารพเกียรติศักดิ์ศรีของตนเอง (คือการรักษาบุคลิกภาพของตนเอง) นอกจากจะเป็นการเคารพเกียรติศักดิ์ศรีของตนเองแล้ว ยังเป็นการเคารพเกียรติศักดิ์ศรีของผู้อื่นอีกด้วย ซึ่งบุคคลเหล่านั้นก็จะนับว่าเขาเป็นผู้มีเกียรติในสายตาของพวกเขา และจะแสดงการเคารพให้เกียรติต่อเขา

    ในคัมภีร์อัลกุรอาน ได้กล่าวว่า

وَقُولُوا لِلنَّاسِ حُسْناً

 “และพวกเจ้าจงพูดจาต่อเพื่อนมนุษย์ ด้วยคำพูดที่ดีงาม”

(อัลกุรอานบทอัลบากอเราะฮ์  โองการที่ 83)

    หากมนุษย์ต้องการให้ผู้อื่นแสดงออกต่อเขาด้วยความดีงาม และพูดจากับเขาด้วยคำพูดที่ดีงามแล้ว ตัวเขาเองก็จะต้องแสดงพฤติกรรมที่น่ายกย่องสรรเสริญและใช้วาจาคำพูดที่ดีงามต่อบุคคลเหล่านั้นด้วยเช่นกัน

    กล่าวโดยสรุปก็คือ หัวใจสำคัญที่จะทำให้เราเป็นที่รักใคร่และได้รับความเคารพให้เกียรติในหมู่ชนทั้งหลาย ซึ่งสิ่งนี้คือความมุ่งมาตรปรารถนาของเราทุกคน นั้นก็คือ การที่เราจะต้องให้ความเคารพและให้เกียรติต่อผู้อื่นด้วยเช่นกัน

แนวทางในการรักษาเกียรติของผู้อื่น

    มนุษย์ คือ สิ่งถูกสร้างที่ประเสริฐที่สุดของพระผู้เป็นเจ้า เป็นผู้ที่มีคุณค่าและมีเกียรติถึงขั้นที่ว่า แม้แต่บรรดาศาสดายังปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยการให้เกียรติ ในที่นี้อาจมีคำถามว่า แนวทางต่างๆ ในการรักษาเกียรติของผู้อื่นนั้น มีอะไรบ้าง?

แนวทางในการรักษาเกียรติของผู้อื่น มีดังต่อไปนี้

1.จะต้องไม่ทำการเยาะเย้ยและถากถางผู้อื่น

    บ่อเกิดของการเยาะเย้ยถากถางผู้อื่นนั้น ก็คือ ความรู้สึกลำพองตน ความหลงตัวเอง และมองว่าตนเองนั้นเหนือกว่าผู้อื่น ซึ่งเป็นปัจจัยของสงครามในการหลั่งเลือดจำนวนมากในหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

    ความหลงตัวเองและมองว่าตนเองเหนือกว่าผู้อื่นนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วจะเกิดจากค่านิยมต่างๆ ทางด้านภายนอกและด้านวัตถุ ตัวอย่างเช่น การที่คนเราคิดว่าตัวเองร่ำรวยกว่าผู้อื่น สวยงามกว่าผู้อื่น หรือมาจากวงศ์ตระกูลที่มีชื่อเสียงมากกว่าผู้อื่น และบางครั้งอาจจะมีความคิดว่า ในด้านของความรู้ การอิบาดะฮ์ (การเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า) และเรื่องของจิตวิญญาณนั้น ตนเองมีความเหนือกว่ากลุ่มชนอื่นๆ จนเป็นเหตุทำให้เราเย้ยหยันและดูถูกดูแคลนผู้อื่น ในขณะที่บรรทัดฐานของคุณค่าในทัศนะของพระผู้เป็นเจ้านั้นคือ “ตักวา” (ความยำเกรงและความสำรวมตน) ต่อพระองค์ และสิ่งนี้ขึ้นอยู่กับการมีเจตนาและหัวใจที่สะอาดบริสุทธิ์ การมีความอ่อนน้อมถ่อมตน การมีจริยธรรมและมารยาทที่งดงาม

    ไม่มีใครสามารถจะกล่าวได้ว่า “ฉันเหนือกว่าคนนั้นคนนี้ ณ เบื้องพระพักตร์ของพระผู้เป็นเจ้า” ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง การดูถูกเหยียดหยามผู้อื่นและการถือว่าตนเองเหนือกว่าผู้อื่น คือหนึ่งในพฤติกรรมที่เลวร้ายที่สุด และเป็นข้อบกพร่องทางด้านจริยธรรมที่น่าเกลียดที่สุด พระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงชอบที่ปวงบ่าวของพระองค์จะทำลายเกียรติผู้อื่นโดยการเยาะเย้ยถากถาง และด้วยเหตุนี้เอง พระองค์จึงทรงตรัสต่อปวงผู้ศรัทธาทั้งหลายว่า

یا أَیُّهَا الَّذینَ آمَنُوا لا یَسْخَرْ قَوْمٌ مِنْ قَوْمٍ عَسى أَنْ یَكُونُوا خَیْراً مِنْهُمْ وَ لا نِساءٌ مِنْ نِساءٍ عَسى أَنْ یَكُنَّ خَیْراً مِنْهُنَّ

 “โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย! ชนกลุ่มหนึ่งอย่าได้เยาะเย้ยชนอีกกลุ่มหนึ่ง บางทีพวกเขา อาจจะดีกว่าชนกลุ่มที่ถูกเยาะเย้ย และสตรีกลุ่มหนึ่งอย่าได้เยาะเย้ยสตรีอีกกลุ่มหนึ่ง บางที่พวกนางอาจจะดีกว่าสตรีกลุ่มที่ถูกเยาะเย้ย” (อัลกุรอาน บทอัลฮุญูรอต โองการที่ 11)

2.อย่าเรียกขานผู้อื่นด้วยชื่อที่ไม่ดี

    คนจำนวนมากเป็นผู้เลยเถิด ไม่ระมัดระวังตนเอง ทั้งในอดีตที่ผ่านมาและปัจจุบัน โดยชอบที่จะขนานนามและให้ฉายาผู้อื่นด้วยฉายานามที่น่าเกลียด พวกเขาจะเหยียดหยามทำลายเกียรติและสถานภาพของบุคคลเหล่านั้นด้วยวิธีการเช่นนี้ หรือบางครั้งอาจใช้เป็นวิธีการในการแก้แค้นพวกเขา หรือบางที หากมีบุคคลหนึ่งในอดีต เคยกระทำในสิ่งที่ไม่ดี แต่ต่อมาเขาก็สำนึกผิดและกลับเนื้อกลับตัวและกลายเป็นผู้ที่บริสุทธิ์และเป็นคนดีแล้ว แต่กระนั้นก็ตาม พวกเขาก็ยังเรียกขานบุคคลผู้นั้นด้วยฉายานามหนึ่งที่เปิดเผยถึงสภาพที่ไม่ดีงามในอดีตของบุคคลผู้นั้นอยู่อีก พระผู้เป็นเจ้าทรงห้ามการกระทำที่น่าเกลียดนี้ไว้อย่างชัดเจน โดยที่พระองค์ทรงตรัสว่า

وَ لا تَلْمِزُوا أَنْفُسَكُمْ وَ لا تَنابَزُوا بِالْأَلْقابِ بِئْسَ الاِسْمُ الْفُسُوقُ بَعْدَ الْإیمانِ وَ مَنْ لَمْ یَتُبْ فَأُولئِكَ هُمُ الظَّالِمُون

 “และพวกเจ้าอย่าได้ตำหนิประณามกันเอง และอย่าได้เรียกขานกันด้วยฉายา (ที่ไม่ชอบ) การเรียกขาน (บุคคลด้วย) ชื่อที่น่าเกลียด ภายหลังจากความมีศรัทธานั้น ช่างเลวทรามยิ่งนัก และผู้ใดที่ไม่สำนึกผิด แน่นอนพวกเหล่านั้นคือบรรดาผู้อธรรม” (อัลกุรอาน บทอัลฮุญูรอต โองการที่ 11)


ที่มา : ส่วนหนึ่งจากคุตบะฮ์วันศุกร์ มัสยิดซอฮิบุซซะมาน (อ.)

เรียบเรียงโดย : เชคมูฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 658 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

10579590
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
40270
62508
102778
9979155
385770
2045354
10579590

จ 06 พ.ค. 2024 :: 14:45:47