ความโลภไม่อาจนำพามนุษย์ไปสู่ความสำเร็จ
Powered by OrdaSoft!
No result.
ความโลภไม่อาจนำพามนุษย์ไปสู่ความสำเร็จ

ในช่วงเวลาการดำเนินชีวิตของเรา ต้องพบกับความยากลำบากและต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ มากมาย ท่ามกลางสิ่งเหล่านี้เราต่างใช้ชีวิตอยู่ในความโลภหลงและการขวนขวายพยายามต่างๆ อย่างมากมาย ทั้งร่างกายและจิตวิญญาณต้องพบกับความเหนื่อยยาก โดยหวังว่าบางที ชีวิตของเราอาจจะได้รับโชคผลต่างๆ มากขึ้น แต่ทว่าโชคผลที่เราจะได้รับนั้นอยู่บนพฤติกรรมและการแสดงออกที่โลภหลงเหล่านี้หรือ?

    เรื่องราวของชีวิตในโลกนี้มีความสลับซับซ้อน เต็มไปด้วยสีสัน ความหลากหลายและความวุ่นวายต่างๆ ซึ่งหากมนุษย์ย่างก้าวไปสู่มัน ก็จะทำให้ช่วงเวลาทั้งหมดของมนุษย์ต้องหมกมุ่นอยู่กับมัน จนถึงขั้นที่ว่ามันจะยับยั้งเขาจากการดูแลเอาใจใส่ต่อสุขภาพร่างกายของเขาเอง จะยับยั้งเขาจากการพักผ่อน การดูแลเอาใจใส่ครอบครัว ลูกหลาน มิตรสหาย เครือญาติ และยิ่งไปกว่านั้น มันจะยังยั้งเขาจากการให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติในสิ่งที่เป็นข้อกำหนดบังคับต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้า และนี่คือธรรมชาติของความหลงโลกและการบูชาวัตถุ

    ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้วาดภาพให้เห็นถึงสภาพการณ์ต่างๆ ของชีวิตในโลกนี้ สำหรับผู้ที่ยึดติดอยู่กับชีวิตทางวัตถุและความโลภหลงในมัน ท่านมีคำพูดที่น่าประทับใจและให้แง่คิดต่างๆ มากมาย โดยหลังจากการสรรเสริญสดุดีต่อพระผู้เป็นเจ้า ท่านได้กล่าวว่า

أَمَّا بَعْدُ، فَإِنَّ الدُّنْیَا مَشْغَلَةٌ عَنْ غَیْرِهَا

“ภายหลัง (จากการสรรเสริญสดุดีต่อพระผู้เป็นเจ้า พึงรู้เถิดว่า) แท้จริงโลกนี้ คือแหล่งที่ทำให้มนุษย์หมกมุ่นและหลงลืมตัวเอง”

    จากนั้นท่านได้ชี้ถึงประเด็นที่อันตรายยิ่งของความหื่นกระหายและความโลภหลงของผู้ที่บูชาวัตถุ โดยกล่าวว่า

وَلَمْ یُصِبْ صَاحِبُهَا مِنْهَا شَیْئاً إِلاَّ فَتَحَتْ لَهُ حِرْصاً عَلَیْهَا، وَلَهَجاً بِهَا، وَلَنْ یَسْتَغْنِیَ صَاحِبُهَا بِمَا نَالَ فِیهَا عَمَّا لَمْ یَبْلُغْهُ مِنْهَا

 “และผู้ที่ลุ่มหลง (กับชีวิตใน) โลกนี้ เขาจะไม่ได้รับสิ่งใดจากมัน นอกเสียจากสิ่งนั้น (โลก) จะเปิดประตูแห่งความโลภหลงและการยึดติดกับมันให้แก่เขา และผู้ที่ลุ่มหลงในมันจะไม่รู้สึกพอเพียงต่อสิ่งที่เขาได้รับ จากสิ่งที่เขายังไปไม่ถึงมัน”

    ในคำรายงานบางบทได้เปรียบเปรย เสน่ห์ สีสันและความเย้ายวนทางวัตถุของโลกนี้ ว่าเหมือนกับน้ำทะเล ผู้ที่กระหายน้ำแม้จะดื่มมันสักปริมาณใดก็ตาม มันก็ไม่อาจดับความกระหายของเขาได้เลย แต่กลับจะเพิ่มความกระหายแก่เขามากยิ่งขึ้น

    ท่านอิมามมูซา กาซิม (อ.) ได้กล่าวว่า

مَثَلُ الدُّنْیَا کَمَثَلِ مَاءِ الْبَحْرِ کُلَّمَا شَرِبَ مِنْهُ الْعَطْشَانُ ازْدَادَ عَطَشاً حَتَّى یَقْتُلَهُ

 “อุปมา (ความลุ่มหลงชีวิตใน) โลกนี้ อุปไมยได้ดั่งน้ำทะเล ไม่ว่าผู้กระหายจะดื่มกินมันสักเท่าใด รังแต่จะเพิ่มความกระหาย จนกระทั่งมันจะคร่าชีวิตเขา” (1)

    ในสำนวนสุภาษิตเปอร์เซีย กล่าวไว้เช่นนี้ว่า “คนยิ่งมีมาก ก็ยิ่งอยากได้มาก”

    คัมภีร์อัลกุรอานได้อธิบายถึงประเด็นนี้ไว้ในเรื่องเล่าหนึ่ง โดยได้กล่าวว่า มีพี่น้องสองคนเกิดความขัดแย้งกัน ทั้งสองไปพบท่านศาสดาดาวูด (อ.) คนหนึ่งจากทั้งสองได้กล่าวกับท่านศาสดาดาวูด (อ.) ว่า

إِنَّ هذا أَخِى لَهُ تِسْعٌ وَتِسْعُونَ نَعْجَةً وَلِىَ نَعْجَةٌ واحِدَةٌ فَقالَ أَکْفِلْنیها وَعَزَّنى فِى الْخِطابِ

 “แท้จริงนี่คือพี่ชายของฉัน เขามีแกะตัวเมีย 99 ตัว และฉันมีแกะตัวเมียตัวเดียว แต่เขากลับพูด (รบเร้า) ว่า เอามันมาให้ฉันซิ และเขายังพูดข่มขู่ฉัน” (2)

    ท่านศาสดาดาวูด (อ.) ได้ตัดสินในระหว่างบุคคลทั้งสอง โดยกล่าวว่า

 قَالَ لَقَدْ ظَلَمَكَ بِسُؤَالِ نَعْجَتِكَ إِلَىٰ نِعَاجِهِ وَإِنَّ كَثِيرًا مِّنَ الْخُلَطَاءِ لَيَبْغِي بَعْضُهُمْ عَلَىٰ بَعْضٍ إِلَّا الَّذِينَ آمَنُوا وَعَمِلُوا الصَّالِحَاتِ وَقَلِيلٌ مَّا هُمْ

 “เขา (ดาวูด) กล่าวว่า แน่นอนเขาอธรรมต่อท่าน ด้วยเหตุที่เขาขอให้นำแกะของท่านไปรวมกับฝูงแกะของเขา และแท้จริงส่วนมากของผู้ที่อยู่ร่วมกันนั้น พวกเขามักละเมิดสิทธิของกันและกันเสมอ เว้นแต่บรรดาผู้ศรัทธาและประกอบความดีทั้งหลาย และพวกเขา (คนเช่นนี้) ช่างมีน้อยเหลือเกิน” (3)

    เรื่องเล่าของคัมภีร์อัลกุรอานนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่หลงโลกและบูชาวัตถุนั้น จะไม่พึงพอใจแม้แต่สิ่งเพียงเล็กน้อยที่พี่น้องของตนเองพึงจะได้รับหรือมีไว้ในครอบครอง และตามคำพูดของซะอ์ดี กวีผู้เรืองนามแห่งเปอร์เซีย ได้กล่าวว่า “กษัตริย์แม้จะได้มาซึ่งอาณาจักรปกครองทั้งเจ็ด *** ก็ยังคงใฝ่ฝันที่จะได้มาซึ่งอาณาจักรปกครองใหม่”

    ดั่งในสำนวนสุภาษิตอังกฤษ/ไทย ที่ว่า “Life is a struggle for those who want more than life itself.” และ “ชีวิตคงต้องดิ้นรนเรื่อยไป ถ้าไม่รู้จักคำว่าพอ”

    ในฮะดีษกุดซีที่มีชื่อเสียง ก็ได้กล่าวไว้เช่นนี้ว่า

لَوْ کانَ لاِبْنِ آدَمَ وادِیانِ مِنْ ذَهَب لاَبْتَغى إلَیْهِما ثالِثاً وَلا یَمْلاَُ جَوْفَ ابْنَ آدَمَ إلاَّ التُّرابُ

“มาตรว่าลูกหลานของอาดัมมีสองหุบเขาที่เต็มไปด้วยทองคำ แน่นอนเขาก็จะยังคงแสวงหาหุบเขาที่สาม และไม่มีสิ่งใดที่จะบรรจุท้องของลูกหลานอาดัมให้เต็มได้ (ในยามที่เขาตายและถูกฝัง) นอกเสียจากดินเพียงเท่านั้น” (4)

    ในความเป็นจริงแล้ว ความโลภหลงคือประเภทหนึ่งของความบ้าคลั่ง ทั้งนี้เนื่องจากมนุษย์ส่วนมากที่มีความโลภหลงนั้น มีทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับการดำเนินชีวิตที่มั่งคั่ง โดยที่พวกเขาสามารถจะใช้ชีวิตจวบจนบั้นปลายสุดท้ายได้อย่างสุขสบาย แต่เนื่องจากความบ้าคลั่งและความวิกลจริตจะไม่ปล่อยให้เขาอยู่อย่างสุขสบาย ตลอดเวลามันจะบังคับเขาให้พยายามอย่างหนักหน่วงและเหนื่อยยาก ประหนึ่งว่าหากโลกใบนี้ทั้งหมดถูกมอบให้แก่พวกเขา พวกเขาก็ยังคงใฝ่ฝันที่จะได้รับชั้นฟ้าทั้งหลาย ปรารถนาที่จะได้รับดวงดาวและดวงเดือนมาไว้ในครอบครองของตนเอง

    ด้วยเหตุนี้ในดุอาอ์ (คำวิงวอนขอพร) บางบทจากบรรดามะอ์ซูม (อ.) ได้กล่าวว่า

أَعُوذُ بِكَ یَا رَبِّ مِنْ نَفْس لاَ تَشْبَعُ وَمِنْ قَلْب لاَ یَخْشَعُ وَمِنْ دُعَاء لاَ یُسْمَع

 “โอ้พระผู้อภิบาลของข้าฯ! ข้าฯ ขอความคุ้มครองต่อพระองค์ จากจิตใจที่ไม่รู้จักเอิบอิ่ม และจากหัวใจที่ไม่รู้จักนบนอบ และจากดุอาอ์ (การวิงวอนขอ) ที่ไม่ถูกรับฟัง” (5)

    ในความเป็นจริงแล้ว ความโลภหลง คือบ่อเกิดสำคัญของทุกปัญหาความทุกข์ยากและโทษทัณฑ์ต่างๆ ที่แสนเจ็บปวด เราจะขอจบคำพูดในส่วนนี้ด้วยกับฮะดีษ (วจนะ) บทหนึ่งของท่านอิมามซอดิก (อ.) ซึ่งท่านกล่าวว่า

مَا فَتَحَ اللهُ عَلَى عَبْد بَاباً مِنْ أَمْرِ الدُّنْیَا إِلاَّ فَتَحَ اللهُ عَلَیْهِ مِنَ الْحِرْصِ مِثْلَهُ

 “อัลลอฮ์จะไม่ทรงเปิดประตูใดจากกิจการของโลกนี้ให้กับบ่าวคนใด เว้นแต่พระองค์จะทรงเปิดประตูหนึ่งจากความโลภหลงให้แก่เขาเช่นเดียวกัน” (6)

    และท่านอิมามอะลี (อ.) ยังได้ชี้ให้เห็นอีกประเด็นหนึ่งโดยกล่าวว่า

وَمِنْ وَرَاءِ ذَلِكَ فِرَاقُ مَا جَمَعَ، وَنَقْضُ مَا أَبْرَمَ

“และภายหลังจากสิ่งนั้น คือการแยกจากสิ่งที่เขาได้สะสมไว้ และการถูกทำลายของสิ่งที่เขาได้ก่อไว้อย่างมั่นคง”

    ใช่แล้ว! ไม่นานนัก ภายหลังจากความอุตสาห์พยายามและความเหนื่อยยากทั้งมวลที่มนุษย์ได้ทุ่มเทในการรวบรวมสะสมมัน เขาก็จะต้องจากทรัพย์สมบัติอันก่ายกองของเขาไป จะมีก็แต่กะฝั่น (ผ้าห่อศพ) เพียงเท่านั้น ที่จะเป็นโชคผลของเขา ซึ่งจะถูกฝังลงในหลุมศพไปพร้อมกับเขา

    คัมภีร์อัลกุรอาน ได้กล่าวเกี่ยวกับปราสาทของพวกฟิร์เอา (ฟาโรห์) และไร่สวนต่างๆ ของพวกเขาไว้เช่นนี้ว่า

کَمْ تَرَکُوا مِنْ جَنّات وَعُیُون * وَزُرُوع وَمَقام کَریم * وَنَعْمَة کانُوا فیها فاکِهینَ * کَذلِكَ وَأَوْرَثْناها قَوْماً آخَرینَ

 “ตั้งมากมายเท่าใดแล้ว ที่พวกเขาได้ละทิ้งไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรือกสวน แหล่งน้ำและไร่นาต่างๆ รวมทั้งอาคารรโหฐานอันมีเกียรติ และความสุขสบายที่พวกเขาเคยเสพสุขอยู่ในมัน เช่นนั้นแหละ เราได้ให้หมู่ชนอื่นรับมรดกครอบครองมัน” (7)

    ท่านอิมามอะลี (อ.) ยังได้กล่าวต่อไปอีกว่า

وَلَوِ اعْتَبَرْتَ بِمَا مَضَى حَفِظْتَ مَا بَقِیَ، وَالسَّلاَمُ

“หากเจ้าได้เรียนรู้อุทาหรณ์ที่ผ่านมาในอดีต (จากเรื่องราวของบุคคลในยุคอดีตและชีวิตที่ผ่านมาของเจ้า) เจ้าก็จะรักษาสิ่งที่เหลืออยู่ของเจ้าเอาไว้ได้ – วัสสะลาม” (8)

    การรับรู้อุทาหรณ์ การเก็บสะสมบทเรียนและแง่คิดจากชะตากรรมและเรื่องราวชีวิตของบุคคลในยุคอดีต เป็นส่วนหนึ่งจากประเด็นที่สำคัญที่ทั้งคัมภีร์อัลกุรอาน ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ (อ.) ได้เน้นย้ำไว้

    คัมภีร์อัลกุรอาน ได้กล่าวว่า

أَفَلَمْ یَسیرُوا فِى الاَرْضِ فَتَکُونَ لَهُمْ قُلُوبٌ یَعْقِلُونَ بِها أَوْ آذانٌ یَسْمَعُونَ بِها فَإِنَّها لا تَعْمَى الاَْبْصارُ وَلکِنْ تَعْمَى الْقُلُوبُ الَّتى فِى الصُّدُورِ

 “พวกเขามิได้จาริกไปในแผ่นดินดอกหรือ เพื่อพวกเขาจะได้ใช้หัวใจคิดใคร่ครวญ (ร่องรอยและเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นอุทาหรณ์จากหมู่ชนในอดีตที่ผ่านมา) หรือพวกเขาจะใช้หูเพื่อสดับตรับฟัง (ข้อเท็จจริงเหล่านั้น) เพราะแท้จริงสายตาทั้งหลายนั้นมิได้บอดดอก แต่ว่าหัวใจที่อยู่ในทรวงอกต่างหากที่บอด” (9)

    โดยพื้นฐานแล้ว เนื้อหาส่วนใหญ่ของคัมภีร์อัลกุรอานที่กล่าวถึงประวัติศาสตร์ของกลุ่มชนในอดีตนั้นจะมุ่งเน้นในประเด็นนี้ ทั้งนี้เนื่องจากว่าไม่มีบทเรียนใดที่จะให้แง่คิดและอุทาหรณ์ได้ดีไปกว่าบทเรียนต่างๆ ที่ได้รับมาจากประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ แต่มนุษย์ส่วนใหญ่มักจะข้ามผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้าในโลกแห่งการดำรงอยู่อันกว่างใหญ่นี้ไปโดยไม่ใส่ใจ และพวกเขาจะเดินผ่านร่องรอยต่างๆ ของบรรพชนที่หลงเหลืออยู่ในอดีตไปอย่างไม่รู้สึกใดๆ

    เช่นเดียวกัน ปัจจุบันการท่องเที่ยวได้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและแพร่หลาย โดยทั่วไปแล้วพวกเขาจะมองไปยังสิ่งเหล่านั้นในฐานะร่องรอยที่เป็นศิลป์และเป็นประวัติศาสตร์เพียงเท่านั้น ผู้เป็นเจ้าของร่องรอยและโบราณวัตถุเหล่านั้นก็จะรู้สึกภาคภูมิใจต่อสิ่งเหล่านั้นเพียงอย่างเดียว โดยปราศจากการคิดใคร่ครวญถึงชะตากรรมในอนาคตของตนเองจากร่องรอยเหล่านั้น


เชิงอรรถ :

(1) อุซูลลุลกาฟีย์, เล่มที่ 2, หน้าที่ 136, หน้าที่ 24

(2) อัลกุรอานบท ศ๊อด โองการที่ 23

(3) อัลกุรอานบท ศ๊อด โองการที่ 24

(4) เราฎอตุ้ลวาอิซีน, เล่มที่ 2, หน้าที่ 429

(5) อูซูลุลกาฟีย์, เล่มที่ 2, หน้าที่ 586, ฮะดีษที่ 24

(6) อูซูลุลกาฟีย์, เล่มที่ 2, หน้าที่ 319, อะดีษที่ 12

(7) อัลกุรอานบท อัดดุคอน โองการที่ 25 – 28

(8) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, จดหมายอันดับที่ 49

(9) อัลกุรอานบท อัลฮัจญ์ โองการที่ 46


บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม  ประดับญาติ

Copyright © 2024 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 1268 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

10116958
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
69994
67809
137803
9524455
1968492
2060970
10116958

จ 29 เม.ย. 2024 :: 23:20:00