คุณลักษณะของความสมถะ ในทัศนะของอิสลาม
Powered by OrdaSoft!
No result.
คุณลักษณะของความสมถะ ในทัศนะของอิสลาม

ความสมถะนั้นอยู่ในระหว่างสองประโยคของอัลกุรอานที่อัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงตรัสว่า เพื่อพวกเจ้าจะได้ไม่ต้องเสียใจต่อสิ่งที่ได้สูญเสียไปจากพวกเจ้า และไม่ดีใจต่อสิ่งที่พระองค์ทรงประทานแก่พวกเจ้า” ดังนั้นผู้ใดที่มิได้เสียใจต่อสิ่งที่สูญเสียไป และมิได้ดีใจต่อสิ่งที่ได้รับมา แน่นอนยิ่งเขาได้รับความสมถะไว้ทั้งสองด้านแล้ว

    ความสมถะ (ซุฮ์ดฺ) คือคุณลักษณะทางด้านจริยธรรมที่สูงส่งประการหนึ่งที่อิสลามได้ให้ความสำคัญอย่างมาก ความสมถะในทัศนะของอิสลามนั้นหมายถึง การดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายและการตัดความผูกพันต่อวัตถุและการยึดติดต่อชีวิตทางโลกนี้ ในขณะเดียวกันมีความผูกพันต่อชีวิตทางจิตวิญญาณและปรโลก แต่ไม่ได้หมายถึงการละทิ้งชีวิตทางโลกและใช้ชีวิตอย่างสันโดษ ออกห่างจากผู้คนและสังคม

    ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้ให้คำจำกัดความคำว่า “สมถะ” ไว้อย่างสวยงามยิ่ง โดยที่ท่านกล่าวว่า :

الزُّهْدُ كُلُّهُ بَيْنَ كَلِمَتَيْنِ مِنَ الْقُرْآنِ، قَالَ اللَّهُ سُبْحَانَهُ : { لِكَيْلا تَأْسَوْا عَلى ما فاتَكُمْ وَلا تَفْرَحُوا بِما آتاكُمْ } وَمَنْ لَمْ يَأْسَ عَلَى الْمَاضِي وَلَمْ يَفْرَحْ بِالْآتِي فَقَدْ أَخَذَ الزُّهْدَ بِطَرَفَيْهِ.

     “ความสมถะนั้นอยู่ในระหว่างสองประโยคของอัลกุรอานที่อัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงตรัสว่า เพื่อพวกเจ้าจะได้ไม่ต้องเสียใจต่อสิ่งที่ได้สูญเสียไปจากพวกเจ้า และไม่ดีใจต่อสิ่งที่พระองค์ทรงประทานแก่พวกเจ้า” (1) ดังนั้นผู้ใดที่มิได้เสียใจต่อสิ่งที่สูญเสียไป และมิได้ดีใจต่อสิ่งที่ได้รับมา แน่นอนยิ่งเขาได้รับความสมถะไว้ทั้งสองด้านแล้ว” (2)

    ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า :

لَيْسَ الزُّهْدُ فِي الدُّنْيَا بِإِضَاعَةِ الْمَالِ وَ لَا بِتَحْرِيمِ الْحَلَالِ بَلِ الزُّهْدُ فِي الدُّنْيَا أَنْ لَا تَكُونَ بِمَا فِي يَدِكَ أَوْثَقَ مِنْكَ بِمَا فِي يَدِ اللَّهِ عَزَّ وَ جَلَّ

    “ความสมถะในโลกไม่ใช่การละทิ้งทรัพย์สิน และการหักห้ามตนจากสิ่งอนุมัติ (ฮะลาล) ทว่าความสมถะในโลกนั้น คือการที่ท่านจะไม่ให้ความไว้วางใจต่อสิ่งที่อยู่ในมือของท่านมากไปกว่าสิ่งที่อยู่ในพระหัตถ์ของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเกริกเกียรติผู้ทรงเกรียงไกร” (3)

    คุณลักษณะดังกล่าวนี้จะพบเห็นได้อย่างชัดเจนในบรรดาสหายผู้ช่วยเหลือท่านอิมามฮุเซน (อ.) ในเหตุการณ์อาชูรอ และคุณลักษณะนี่เองที่จะปรากฏในบรรดาผู้ช่วยเหลือท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.)

    หนึ่งในภาพสะท้อนหรือผลที่เกิดจากความมีสมถะนั้น คือความไม่ผูกพันต่อชีวิตทางโลกนี้ ยิ่งไปกว่านั้นบรรดาผู้มีสมถะและมีความยำเกรง (ตักวา) นั้นจะมีความผูกพันต่อความตายอย่างมาก ดังเช่นที่ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้บรรยายถึงคุณลักษณะของพวกเขาว่า :

لَوْ لا الْأجَلُ الَّذِي كَتَبَ اللَّهُ لَهُمْ لَمْ تَسْتَقِرَّ أرْواحُهُمْ فِي أجْسادِهِمْ طَرْفَةَ عَيْنٍ شَوْ قا إِلَى الثَّوابِ، وَ خَوْ فا مِنَ الْعِقابِ

"หากไม่เป็นเพราะอายุขัยที่อัลลอฮ์ทรงกำหนดแก่พวกเขาแล้ว ดวงวิญญาณของพวกเขาจะไม่พำนักอยู่ในเรื่องร่างของพวกเขาแม้เพียงพริบตาเดียว อันเกิดจากความปรารถนาต่อรางวัลตอบแทน และความเกรงกลัวจากการลงโทษ" (4)

    ท่านอิมาอะลี (อ.) ผู้เป็นแบบอย่างของความสมถะนั้น ท่านเองได้กล่าวถึงความตายไว้เช่นนี้ว่า :

                          وَ اللَّهِ لابْنُ أَبِي طَالِبٍ آنَسُ بِالْمَوْتِ مِنَ الطِّفْلِ بِثَدْيِ أُمِّهِ

"ขอสาบานต่ออัลลอฮ์! สำหรับ (ฉัน) บุตรแห่งอบีฏอลิบนั้น มีความผูกพันกับความตายยิ่งกว่าเด็กทารกที่มีต่อเต้านมของมารดาของเขา" (5)

    มุมมองต่อชีวิตของบรรดาผู้ช่วยเหลือของท่านอิมามฮุเซน (อ.) นั้นสูงส่งไปกว่าการดำรงอยู่และการมีลมหายใจอยู่ในโลกนี้ ท่านอิมามฮุเซน (อ.) จะยอมรับชีวิตว่าเป็น “หะยาตัน ฏ็อยยิบะฮ์” (ชีวิตที่สะอาดบริสุทธิ์) และเป็นชีวิตที่เป็นอมตะนิรันดร์ ก็ต่อเมื่อการมีชีวิตนั้นอยู่พร้อมกับเกียรติศักดิ์ศรีและเสรีภาพ ในแนวคิดแห่งอาชูรอ ความตายอย่างมีเกียรติศักดิ์ศรีนั้น คือความหมายอันสูงส่งของการมีชีวิต ส่วนชีวิตที่ต่ำต้อยและไร้เกียรติศักดิ์ศรีนั้นคือความตาย

    ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้กล่าวว่า :

                            إِنِّي لا أرَى المَوتَ إلا سَعادةً ، وَالحَياةَ مَع الظالمين إِلاَّ بَرَماً

“แท้จริงฉันไม่เห็นความตายเป็นอื่นใดนอกจากความไพบูลย์ และการมีชีวิตอยู่ร่วมกับบรรดาผู้อธรรม คือความอัปยศอดสู” (6)

    ในค่ำคืนของอาชูรอบรรดาผู้ช่วยเหลือทุกคนของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้เลือกเอาความตายพร้อมกับหัวหน้าปวงเสรีชนของตนเหนือการมีชีวิตอยู่อย่างต่ำต้อยไร้เกียรติ

    เมื่อท่านกอซิม บุตรของท่านอิมามฮะซัน (อ.) วัยสิบสามปี ได้ถูกถามโดยท่านอิมามฮุเซน (อ.) ผู้เป็นอาของตนว่า :

                         كيف ترى الموت؟                    

       "เจ้าเห็นความตายเป็นอย่างไร"

    ท่านกอซิมตอบว่า :

    أَحْلَى مِنَ الْعَسَلِ

      "หวานยิ่งกว่าน้ำผึ้ง"

    ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้บรรยายถึงคุณลักษณะของบรรดาสหายและผู้ช่วยเหลือของท่านไว้เช่นนี้ว่า :

أما وَاللهِ! لَقَدْ نَهَرْتُهُمْ وَبَلَوْتُهُمْ وَلَيْسَ فيهِمُ إِلاَّ الأشْوَسَ الأقْعَسَ يَسْتَأْنِسُونَ بِالْمَنِيَّةِ دُوني اسْتِئْناسَ الطِّفْلِ بِلَبَنِ أُمِّهِ

 “ขอสาบานต่ออัลลอฮ์! ฉันได้ไล่พวกเขาและทดสอบพวกเขาแล้ว และฉันได้พบแล้วว่าพวกเขาไม่ถอยหนีและพร้อมที่จะแอ่นอกรับความตาย โดยที่พวกเขามีความปรารถนาต่อความตายไม่น้อยไปกว่าความผูกพันของทารกที่มีต่อนมมารดาของตน” (7)

    ตามคำพูดของท่านอิมามซอดิก (อ.) บรรดาทหารของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ก็มีคุณลักษณะเดียวกันนี้ พวกเขาจะวิงวอนขอความตายและการเป็นชะฮีดในหนทางของพระผู้เป็นเจ้าและการช่วยเหลืออิมามมะฮ์ดี (อ.) อิมามแห่งยุคสมัยของตน

    ภาพสะท้อนอีกประการหนึ่งของความสมถะ คือความผูกพันต่อพระผู้เป็นเจ้า ต่อการอิบาดะฮ์ การนมาซ การรำลึกพระองค์ คุณลักษะเช่นนี้เห็นได้อย่างชัดเจนในบรรดาชะฮีดแห่งกัรบะลา

    ความผูกพันต่อพระผู้เป็นเจ้าและการอิบาดะฮ์ ทำให้พวกเขาขอประวิงเวลาการทำสงครามจากฝ่ายศัตรู แต่ใช่เนื่องจากกลัวความตาย แต่เนื่องจากจะขอทำอิบาดะฮ์ ทำนมาซ อ่านคัมภีร์อัลกุรอานและภาวนาขอพรต่อพระองค์เป็นค่ำคืนสุดท้าย

    ในค่ำคืนอาชูรอ บรรดาผู้ช่วยเหลือของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ต่างหมกมุ่นอยู่กับการทำอิบาดะฮ์และการภาวนาขอพรต่อพระผู้เป็นเจ้า นักประวัติศาสตร์ได้เขียนบันทึกไว้ว่า “เสียงรำพึงรำพันต่างๆ ที่แสดงออกด้วยความรักและความผูกพันของพวกเขานั้นดังอื้ออึง ประหนึ่งดังเสียงของผึ้งที่ได้ยินไปถึงยังโสตประสาททั้งหลาย”

وباتَ الحُسَينُ عليه السّلام وأصحابُهُ تِلكَ اللَّيلَةَ ولَهُم دَوِيٌّ كَدَوِيِّ النَّحلِ، ما بَينَ راكِعٍ وساجِدٍ وقائِمٍ وقاعِدٍ

     “และในค่ำคืนอาชูรอ เสียงคร่ำครวญของท่านอิมามฮุเซน (อ.) และบรรดาสาวกของท่านนั้นดังอื้ออึง ประหนึ่งดั่งเสียงอื้ออึงของฝูงผึ้ง ในระหว่างผู้ที่โค้งรูกูอ์ ผู้ที่ซุญูด ผู้ที่ยืนและนั่ง” (8)

    ตามบางรายงานได้กล่าวว่า :

                         لهم دوى كدوىالنحل و هم ما بين راكع و ساجد و قارىء للقرآن

       “เสียงของพวกเขาอื้ออึงเหมือนเสียงผึ้ง บ้างก็อยู่ในการรุกูอ์ บ้างก็อยู่ในการซุญูด และบ้างก็อ่านอัลกุรอาน” (9)

    เช่นเดียวกันนี้ในช่วงบ่ายของวันอาชูรอ เป็นครั้งที่สองที่มีการขอประวิงเวลาเพื่อทำการนมาซซุฮ์รี่ (นมาซบ่าย) บรรดาผู้ช่วยเหลือของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้ขอที่จะทำการนมาซครั้งสุดท้ายของตนด้วยการเป็นมะอ์มูม (ตามหลัง) อิมาม (อ.) ผู้เป็นเมาลาของตน เพื่อว่าพวกเขาจะได้กลับไปพบกับพระผู้เป็นเจ้าในสภาพดังกล่าว

    อบูมัคนัฟ ได้รายงานว่า อบูซุมามะฮ์ได้กล่าวกับท่านอิมามฮุเซน (อ.) ว่า : “...ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะทำนมาซซึ่งเวลาของมันได้มาถึงแล้ว เพื่อจะได้กลับไปพบพระเจ้าในสภาพเช่นนี้” (10)

    ทำนองเดียวกันนี้ในการบรรยายถึงคุณลักษณะของบรรดาผู้ช่วยเหลือของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ได้มีรายงานว่า ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า :

                                مجدّون في طاعة الله

 “พวกเขาเป็นผู้ที่อุตสาห์และเอาจริงเอาจังในการเชื่อฟังอัลลอฮ์” (11)

    ท่านอิมามอะลี (อ.) ก็ได้กล่าวถึงคุณลักษณะของพวกเขาในความผูกพันต่อพระผู้เป็นเจ้าไว้เช่นนี้ว่า :

رجال لاینامون اللّیل لهم دویّ فی صلواتهم کدویّ النّحل یبیتون قیاماً علی أطرافهم و یسبّحون علی خیولهم

      “เหล่าบุรุษผู้ซึ่งจะไม่หลับในยามค่ำคืน เสียงในการนมาซของพวกเขานั้นจะดังอื้ออึง ประหนึ่งดั่งเสียงอื้ออึงของฝูงผึ้ง พวกเขาจะใช้เวลาในยามค่ำคืนในการยืนหยัดทำอิบาดะฮ์ และทำการตัสเบี๊ยะห์ (สดุดีต่อพระผู้เป็นเจ้า) บนหลังม้าศึกของพวกเขา” (12)

    ในบางรายงาน ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวเช่นนี้ว่า :

         لهم فی اللّیل أصوات، کأصوات الثّواکل حزناً من خشیة الله قوام باللّیل صوّام بالنّهار

     “ในยามค่ำคืนเสียงของพวกเขาจะประหนึ่งดั่งเสียงของมารดาที่ทุกข์โศกจากการสูญเสียลูก อันเกิดจากความเกรงกลัวต่ออัลลอฮ์ พวกเขาจะยืนทำอิบาดะฮ์ในยามค่ำคืนและถือศีลอดในยามกลางวัน” (13)

    การเปลี่ยนแปลงทางด้านจริยธรรมที่เกิดขึ้นกับบุคคลทั้งหลาย หนึ่งในปรัชญาสำคัญที่สุดของฮัจญ์ก็เช่นกัน การครอง “อิฮ์รอม” ซึ่งจะนำพามนุษย์ออกจากการเสริมแต่งทางวัตถุเสื้อผ้าและเครื่องประดับเลิศหรูและการห้ามการแสวงหาความสุข เพื่อมุ่งมั่นในการชำระขัดเกลาตนเอง ซึ่งถือเป็นหน้าที่ประการหนึ่งของผู้ครองอิฮ์รอม ซึ่งจะทำให้เขาตัดขาดและหลุดพ้นจากโลกวัตถุ มุ่งหน้าสู่โลกจิตวิญญาณที่ผ่องแผ้วและเต็มเปี่ยมด้วยรัศมี บุคคลที่เคยหลงใหลและยึดติดอยู่กับเกียรติยศ ชื่อเสียงและตำแหน่งจอมปลอมทั้งหลายในสภาวะปกติ ได้หลุดพ้นออกจากสิ่งเหล่านั้น และมองเห็นตัวเองอยู่ในฐานะเท่าเทียมกัน ไม่มีความแตกต่างใดๆ จากเพื่อนมนุษย์ ภายใต้ชุดอิฮ์รอมที่ประกอบด้วยเครื่องนุ่งห่มเพียงสองชิ้นที่ไม่ผ่านการตัดเย็บ

    หลังจากนั้นขั้นตอนในพิธีฮัจญ์ก็จะได้รับการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องกัน ซึ่งจะทำให้ความผูกพันทางจิตวิญญาณของมนุษย์ที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้าเข้มแข็งขึ้นทีละน้อยและเกิดความใกล้ชิดแน่นแฟ้นเพิ่มมากขึ้น จนสามารถตัดขาดอดีตที่มืดมนและความผิดบาปทั้งหลาย เข้าสู่อนาคตที่สดใส เต็มเปี่ยมไปด้วยรัศมีและความสะอาดบริสุทธิ์ โดยมีคุณลักษณะทางด้านจริยธรรมที่สูงส่งที่อิสลามได้ให้ความสำคัญอย่างมาก ความสมถะในทัศนะของอิสลามนั้นหมายถึง การดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายและการตัดความผูกพันต่อวัตถุและการยึดติดต่อชีวิตทางโลกนี้ ในขณะเดียวกันมีความผูกพันต่อชีวิตทางจิตวิญญาณและปรโลก


แหล่งอ้างอิง :

1- อันกุรอานบทอัลหะดีด โองการที่ 23

2- บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 70, หน้าที่ 52

3- มะอานิลอัคบาร, หน้าที่ 251-252

4- นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์

5- นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์

6- อัลมะนากิบ, อิบนิชะฮ์รอชูบ, เล่มที่ 4, หน้าที่ 68

7- มักตะลุลฮุเซน (อ.) มุก็อรร็อม, หน้าที่ 219

8- อัลลุฮูฟ, หน้าที่ 130

9- หะยาต อัลอิมามุลฮุเซน (อ.) เล่มที่ 3, หน้าที่ 175

10- อับซอรุ้ลอัยน์, หน้าที่ 120)

11- บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 36, หน้าที่ 207

12- บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 52, หน้าที่ 308

13- เยามุ้ลค่อลาศ, กามิล สุไลมาน, เล่มที่ 1, หน้าที่ 414


บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2024 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 864 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

9958057
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
38201
58984
433602
9045061
1809591
2060970
9958057

ส 27 เม.ย. 2024 :: 16:04:00