บุคคลที่จะสำนึกเสียใจมากที่สุด ในวันแห่งการพิพากษา (กิยามะฮ์)
Powered by OrdaSoft!
No result.

บุคคลที่จะสำนึกเสียใจมากที่สุด ในวันแห่งการพิพากษา (กิยามะฮ์)

     มนุษย์เรา ด้วยกับปัจจัยหลายประการ อย่างเช่น การขาดการวางแผนที่เหมาะสมสำหรับอนาคตของตนเองและในทำนองเดียวกันนี้ การขาดความมีระเบียบวินัยในแผนงานต่างๆ ของตนในช่วงเวลาต่างๆ ของชีวิต จะทำให้เขาต้องเผชิญกับความสำนึกเสียใจอย่างมากมาย ความสำนึกเสียใจต่างๆ ซึ่งบางอย่างอาจชดเชยได้และอีกบางอย่างจะเป็นความเศร้าโศกเสียใจที่ใหญ่หลวงที่จะคงคู่อยู่กับตัวมนุษย์ตลอดไปซึ่งจะไม่มีวันลบออกไปจากหัวใจและในความคิดของเขา

      ความสำนึกเสียใจ อย่างเช่น ความสำนึกเสียใจต่อการที่เราไม่ได้แสดงความเคารพให้เกียรติและความกตัญญูต่อพ่อแม่โดยที่ท่านทั้งสองได้จากพวกเราไปแล้ว หรือความสำนึกเสียใจและความโศกเศร้าหลังจากที่ความทุกข์ยากและการได้รับบททดสอบที่หนักหน่วงได้มาประสบกับตัวเราในขณะทีเราไม่เตรียมพร้อมตนเองเท่าที่ควรจะเป็น จนกระทั้งเราได้เผชิญกับความล้มเหลวที่ใหญ่หลวง หรือความสำนึกเสียใจที่เราไม่ได้ตื่นขึ้นในยามค่ำคืนเพื่อทำประกอบความดี(อิบาดะฮ์)และภาวนาขอพรต่อพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้วันหนึ่งมันจะมาประสบกับคนเรา

      ในโองการต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอานได้ชี้ถึงความสำนึกเสียใจบางส่วนที่บุคคลทั้งหลายจะเผชิญกับมันในโลกนี้หรือในปรโลก ตัวอย่างเช่น :

1- ความสำนึกเสียใจต่อการคบหาสมาคมกับเพื่อนเลวในโลกนี้ :

يَا وَيْلَتَى لَيْتَنِي لَمْ أَتَّخِذْ فُلانًا خَلِيلا

“โอ้ความวิบัติของฉัน! ฉันไม่น่าคบคนนั้นเป็นเพื่อนสนิทเลย” (1)

      เพื่อนมีอิทธิพลและมีบทบาทสำคัญอย่างมากในชีวิตของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้เองศาสนาอิสลามจึงให้ความสำคัญกับการทำความรู้จักเพื่อนและการเลือกคบหาสมาคมกับเพื่อน

     ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า :

ثَلَاثٌ مَنْ عَلَامَاتِ الْمُؤْمِنِ عِلْمُهُ بِاللهِ وَمَنْ يُحِبُّ وَمَنْ يُبْغِضُ

“สามประการเป็นส่วนหนึ่งจากสัญลักษณ์ของผู้ศรัทธา : 1. ความรู้ของเขาที่มีต่ออัลลอฮ์ 2. ต่อคนที่พระองค์ทรงรัก และ 3.ต่อคนที่พระองค์ทรงเกลียดชัง” (2)

     ในเนื้อหาส่วนนี้เราจะชี้ถึงคุณลักษณะของเพื่อนที่ดีและไม่ดี และเราจะกล่าวถึงบรรดาผู้ที่การคบหาสมาคมกับพวกเขาเป็นสิ่งที่ถูกตำหนิในทัศนะของอิสลาม

เพื่อนที่ดีคือใคร?

     เกี่ยวกับการคบหาสมาคมกับเพื่อนที่ดีนั้น ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้แนะนำหลักเกณฑ์บางอย่างไว้ :

ท่านอิบนุอับบาสได้เล่าว่า : ประชาชนได้ถามท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ว่า : “โอ้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์! ผู้ร่วมสมาคมที่ดีนั้นคือใคร? ท่านได้อธิบายหลักเกณฑ์ไว้ดังนี้ :

مَنْ ذَكَّرَكُمْ بِاللّهِ رُؤْیَتُهُ وَ زادَ كُمْ فِی عِلْمِكُمْ مَنْطِقُهُ وَ ذَكَّرَكُمْ بِالْاخِرَةِ عَمَلُهُ

“ผู้ที่การพบเห็นเขาจะทำให้พวกท่านรำลึกถึงอัลลอฮ์ และคำพูดของเขาจะเพิ่มพูนในความรู้ของพวกท่าน และการกระทำของพวกเขาจะทำให้พวกท่านรำลึกถึงอาคิเราะฮ์ (ปรโลก)” (3)

1.คนที่พบเห็นเขาจะทำให้ท่านรำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้า

     เพื่อนที่ดีคือผู้ที่เมื่อท่านเห็นเขาจะทำให้ท่านรำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้า นั่นหมายความว่าเขาได้ถูกย้อมสีแห่งพระผู้เป็นเจ้า

     พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสกับศาสดาของพระองค์ว่า :

وَلَا تَطْرُدِ الَّذِينَ يَدْعُونَ رَبَّهُم بِالْغَدَاةِ وَالْعَشِيِّ يُرِيدُونَ وَجْهَهُ

“และเจ้าจงอย่าผลักไส (และละทิ้งจากการคบหาสมาคมกับ) บรรดาผู้ที่วิงวอนต่อพระผู้อภิบาลของพวกเขา ทั้งในเวลาเช้าและเวลาเย็น โดยที่พวกเขาปรารถนาความโปรดปรานจากพระองค์” (4)

     และในทางกลับกัน พระองค์ทรงตรัสว่า :

وَاصْبِرْ نَفْسَكَ مَعَ الَّذِينَ يَدْعُونَ رَبَّهُم بِالْغَدَاةِ وَالْعَشِيِّ يُرِيدُونَ وَجْهَهُ

"และจงอดทนตัวของเจ้าเองให้อยู่ร่วมกับบรรดาผู้ที่วิงวอนต่อพระผู้อภิบาลของพวกเขา ทั้งยามเช้าและยามเย็น โดยที่พวกเขาปรารถนาความโปรดปรานจากพระองค์” (5)

     การคบหาสมาคมกับบรรดาผู้ที่เมื่อเราพบเห็นพวกเขาจะทำให้เรารำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้านั้น จะเป็นสื่อทำให้ตัวเราสะอาดบริสุทธิ์จากลักษณะที่ไม่ดีงาม เนื่องจากเมื่อเราได้อยู่กับบุคคลเหล่านี้ เราจะไม่ปล่อยให้ความผิดบาปและการละเมิดฝ่าฝืนเกิดขึ้นจากตัวเรา

2.คนที่คำพูดของเขาจะเพิ่มพูนความรู้ของท่าน

     การมีปฏิสัมพันธ์และการคบหาสมาคมกับผู้รู้ (อาลิม) เป็นส่วนหนึ่งจากคบหาสมาคมที่น่าสรรเสริญเป็นอย่างยิ่ง และได้รับการส่งเสริมจากศาสนาอิสลาม การคบหาสมาคมกับผู้รู้ในขั้นแรกนั้นจะช่วยปกป้องคนเราให้พ้นจากอันตรายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการคบหาสมาคมกับคนโง่เขลา และยิ่งไปกว่านั้นจะเป็นสื่อทำให้คนเราคุ้นเคยกับความรู้และมารยาทต่างๆ

     ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้เขียนไว้ในจดหมายที่ส่งถึงมาลิก อัลอัชตัรว่า :

وَ أَكْثِرْ مُدَارَسَةَ اَلْعُلَمَاءِ وَ مُنَاقَشَةَ اَلْحُكَمَاءِ

“และจงแลกเปลี่ยนความรู้กับบรรดาผู้รู้และจงถกกับบรรดาปวงปราชญ์ให้มาก” (6)

และท่านอิมามมูซา กาซิม (อ.)  ได้อ้างคำพูดจากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ที่กล่าวว่า :

سائلوا العلماء، وخاطبوا الحكماء، وجالسوا الفقراء

“ท่านทั้งหลายจงถามบรรดาผู้รู้ จงสนทนากับปวงปราชญ์และจงนั่งร่วมกับคนยากจน” (7)

3. คนที่การกระทำของเขาจะจะทำให้ท่านรำลึกถึงปรโลก

     หลักเกณฑ์ที่สามซึ่งมีปรากฏในฮะดีษ (วจนะ) ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) นั่นก็คือว่า สมควรที่จะคบหาสมาคมกับคนที่ด้วยสื่อของความกลัวนรกและวันกิยามะฮ์จะทำให้เขาเอาตัวออกห่างจากความชั่ว และสิ่งนี้เองจะเป็นสาเหตุทำให้คนเราเมื่อพบเจอเขาและเห็นความกลัวต่อวันกิยามะฮ์ในตัวของเขา จะเตือนสติเราให้รำลึกถึงปรโลกและวันกิยามะฮ์  การระลึกถึงปรโลกและวันแห่งการตอบแทนตัดสินจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะยับยั้งเราจากการทำบาป

     พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานว่า :

أَلَا يَظُنُّ أُولَئِكَ أَنَّهُمْ مَبْعُوثُونَ لِيَوْمٍ عَظِيمٍ

“พวกเหล่านั้นมิได้คิดบ้างหรือว่า พวกเขาจะถูกให้ฟื้นคืนชีพในวันอันยิ่งใหญ่” (8)

     การใคร่ครวญในโองการนี้จะทำให้เราเข้าใจว่า หากมนุษย์เพียงแค่คาดคิดถึงความเป็นไปได้ที่ว่าจะมีวันกิยามะฮ์ และระดับของการคาดคิดไปถึงขั้นที่ทำให้เขาระลึกถึงวันกิยามะฮ์แล้ว เขาย่อมจะไม่ทำบาป

     พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสเกี่ยวกับบรรดาศาสดาของพระองค์ว่า :

إِنَّا أَخْلَصْنَاهُم بِخَالِصَةٍ ذِكْرَى الدَّارِ

“เราได้ทำให้พวกเขาสะอาดบริสุทธิ์ เนื่องจากการรำลึกถึงปรโลก” (9)

     หากคนเราเลือกคบหาสมาคมกับคนที่เมื่อพบเห็นเขา ทำให้เราระลึกถึงวันปรโลกและเราจะไม่ทำบาป นั่นแสดงว่าเราได้เลือกเพื่อนที่สมบูรณ์แบบและเราจะไม่เบี่ยงเบนไปจากเส้นทางแห่งมนุษย์

     เนื้อหาที่ได้ผ่านไปนั้นนอกเหนือจากคุณลักษณะต่างๆ ของเพื่อนที่ดีแล้ว เรายังสามารถรับรู้ถึงมารยาทของมิตรภาพได้ด้วยเช่นกัน กล่าวคือ มิตรภาพจำเป็นต้องวางอยู่บนหลักเกณฑ์สามประการ คือ ความรู้ การรำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้าและการระลึกถึงวันกิยามะฮ์ การระลึกถึงวันกิยามะฮ์ นั้นจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะช่วยป้องกันมนุษย์จากบาป

2 - ความเสียใจที่ไม่ได้ดำเนินตามแนวทางของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) :

وَيَوْمَ يَعَضُّ الظَّالِمُ عَلَىٰ يَدَيْهِ يَقُولُ يَا لَيْتَنِي اتَّخَذْتُ مَعَ الرَّسُولِ سَبِيلًا

“และวันที่ผู้อธรรมจะกัดมือของเขา (และ) จะกล่าวว่า “โอ้! ฉันน่าจะยึดแนวทางอยู่กับศาสนทูต” (10)

3 - ความเสียใจของบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาที่ไม่ได้รับชัยชนะเหนือบรรดาผู้ศรัทธาซึ่งพวกเขาจะไม่ได้รับมันอย่างแน่นอน :

إِنَّ الَّذِينَ كَفَرُوا يُنْفِقُونَ أَمْوَالَهُمْ لِيَصُدُّوا عَنْ سَبِيلِ اللَّهِ فَسَيُنْفِقُونَهَا ثُمَّ تَكُونُ عَلَيْهِمْ حَسْرَةً ثُمَّ يُغْلَبُونَ وَالَّذِينَ كَفَرُوا إِلَى جَهَنَّمَ يُحْشَرُونَ

“แท้จริงบรรดาผู้ที่ปฏิเสธศรัทธานั้นจะบริจาคทรัพย์สินของพวกเขา เพื่อขัดขวาง (ประชาชน) จากแนวทางของอัลลอฮ์ แล้วพวกเขาก็จะบริจาคมันต่อไปภายหลังทรัพย์สินนั้นก็จะกลายเป็นความเสียใจแก่พวกเขา แล้วพวกเขาก็จะถูกพิชิต และบรรดาผู้ที่ปฏิเสธศรัทธานั้นพวกเขาจะถูกรวมไปยังนรก” (11)

4 - ความเสียใจจากความบกพร่องในการปฏิบัติตามคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า :

تَقُولَ نَفْسٌ يَا حَسْرَتَا عَلَىٰ مَا فَرَّطتُ فِي جَنبِ اللَّهِ وَإِن كُنتُ لَمِنَ السَّاخِرِينَ

“แต่ละชีวิตจะกล่าวว่า โอ้อนิจจาต่อสิ่งที่ฉัน ได้ละทิ้ง (หน้าที่) ที่มีต่ออัลลอฮ์ และฉันเคยอยู่ในหมู่ผู้เย้ยหยัน” (12)

     ด้วยเหตุนี้เอง พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ได้ทรงใช้ให้ท่านศาสนทูตของพระองค์เตือนมนุษย์ทั้งมวลเกี่ยวกับวันแห่งความสำนึกเสียใจไว้ในอัลกุรอานโองการที่ 39 ของบทมัรยัม โดยตรัสว่า :

وَأَنذِرْهُمْ يَوْمَ الْحَسْرَةِ إِذْ قُضِيَ الْأَمْرُ وَهُمْ فِي غَفْلَةٍ وَهُمْ لَا يُؤْمِنُونَ

“และเจ้าจงเตือนพวกเขาถึงวันแห่งความเสียใจ เมื่อกิจการทั้งมวลได้ถูกทำให้สิ้นสุดลง และพวกเขาอยู่ในการหลงลืม และพวกเขาไม่ศรัทธา” (13)

     แต่ในท่ามกลางความสำนึกเสียใจเหล่านี้ ถึงแม้ว่าคนจำนวนมากในวันกิยามะฮ์จะต้องประสบกับความสำนึกเสียใจและความเศร้าโศกที่มีต่ออดีตของตน แต่ความเศร้าโศกเสียใจของบางคนเป็นเรื่องที่ร้ายแรงยิ่งโดยที่ไม่อาจเปรียบเทียบกับความเสียใจของคนอื่นๆ ได้เลย ในท่ามกลางคนเหล่านี้ มีคนสองกลุ่มที่จะชี้ถึงในที่นี้ :

    1.คนที่ขายปรโลกของตนเพื่อโลกนี้ของคนอื่น :

ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :

إِنَّ أَشَدَّ النَّاسِ نَدَامَةً یَوْمَ الْقِیَامَةِ رَجُلٌ بَاعَ آخِرَتَهُ به دنیا غَیْرِهِ

“คนที่จะสำนึกเสียใจมากที่สุดในวันแห่งการพิพากษา คือคนที่ขายปรโลกของตัวเองให้กับโลกนี้ของผู้อื่น” (14) 

    2.คนที่พูดถึงความยุติธรรม ในขณะที่ตนเองไม่รักษาความยุติธรรม :

ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า :

اِنَّ مِن اَعظَمِ النّاسِ حَسرَهً یَومَ القِیامَهِ، مَن وَصفَ عَدلاً ثُمَّ خالَفَهُ اِلَى غَیرِه

“แท้จริงคนที่จะสำนึกเสียใจมากที่สุดในวันแห่งการพิพากษา คือคนที่พูดถึงคนเกี่ยวกับความยุติธรรม แต่แล้วเขาปฏิบัติตรงข้ามกับมันต่อผู้อื่น” (15)

    3.คนที่แสวงหาทรัพย์สินมาด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง :

     ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า :

إِنَّ أَعْظَمَ الْحَسَرَاتِ يَوْمَ الْقِيَامَةِ حَسْرَةُ رَجُلٍ كَسَبَ مَالًا فِي غَيْرِ طَاعَةِ اللَّهِ فَوَرِثَهُ رَجُلٌ فَأَنْفَقَهُ فِي طَاعَةِ اللَّهِ سُبْحَانَهُ فَدَخَلَ بِهِ الْجَنَّةَ وَ دَخَلَ الْأَوَّلُ بِهِ النَّارَ

“แท้จริงคนที่จะสำนึกเสียใจมากที่สุดในวันแห่งการพิพากษา คือความสำนึกเสียใจของคนที่แสวงหาทรัพย์สินในหนทางที่ไม่เชื่อฟังอัลลอฮ์ แล้วคนอื่นได้รับมันเป็นมรดกและใช้จ่ายมันไปในการเชื่อฟังอัลลอฮ์ (ซ.บ.) แล้วเขาได้เข้าสู่สวรรค์ด้วยกับมัน ในขณะที่ชายคนแรกเข้าสู่นรกด้วยกับมัน” (16)

    หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะบริหารจัดการกับแนวทางและแบบแผนต่างๆ ในการดำเนินชีวิตของเราในลักษณะที่จะไม่ทำให้เราต้องประสบกับความสำนึกเสียใจและความเศร้าโศกในชีวิต และจะทำให้เราภาคภูมิใจและได้รับชัยชนะตลอดไป


เชิงอรรถ :

1.อัลกุรอานบทอัลฟุรกอน โองการที่ 28

2.อุซูลุลกาฟี , เล่ม 2 , หน้า 126

3.บิฮารุ้ลอันวาร , เล่มที่ 15 , หน้าที่ 51

4.อัลกุรอานบทอัลอันอาม โองการที่ 52

5.อัลกุรอานบทอัลกะฮ์ฟี่ โองการที่ 28

6.นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ , จดหนมายฉบับที่ 53

7.มีซานุลฮิกมะฮ์ , เล่ม 1 , หน้า 402

8.อัลกุรอานบทอัลมุฏ็ฮฟฟิฟีน โองการที่ 4 และ 5

9.อัลกุรอานบทศ๊อด โองการที่ 46

10.อัลกุรอานบทอัลฟุรกอน โองการที่ 27

11.อัลกุรอานบทอัลอันฟาล โองการที่ 36

12.อัลกุรอานบทอัซซุมัร โองการที่ 56

13.อัลกุรอานบทมัรยัม โองการที่ 39

14.กันซุลอุมมาล , เล่ม 3 , หน้า 510

15.วะซาอิลุชชีอะฮ์ , เล่ม 1 , หน้า 295

16.นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ , ฮิกมะฮ์ที่ 429


บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2017 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้อิสลามสำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 783 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

10338107
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
60210
84077
358952
9524455
144287
2045354
10338107

พฤ 02 พ.ค. 2024 :: 19:30:17