มาตรวัดที่มีชื่อว่า อัมมาร บินยาซีร
Powered by OrdaSoft!
No result.

มาตรวัดที่มีชื่อว่า อัมมาร บินยาซีร

        อัมมาร บินยาซีร สาวก (ซอฮาบะฮ์) ผู้สูงศักดิ์ของท่านศาสดาของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และท่านอะมีรุลมุอ์มินีน (อ.) ด้วยกับความรู้ ความศรัทธาและการกระทำความดี (อะมั้ล ซอและฮ์)  ที่ท่านมี ได้กลายเป็นมาตรวัดสำหรับการแยกแยะสัจธรรมออกจากความเท็จ และเป็นสัญลักษณ์ของความมีวิสัยทัศน์ (บะซีเราะฮ์) และญิฮาด (การต่อสู้) เพื่อสร้างความกระจ่าง

        วันที่ 9 ของเดือนซอฟัร เป็นวันครบรอบการเป็นชะฮีดของท่านอัมมาร บินยาซีร สาวกผู้สูงศักดิ์ของท่านศาสทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และสหายผู้ซื่อสัตย์ของท่านอะมีรุลมอ์มินีน อะลี บินอบีฏอลิบ (อ.) ท่านเป็นหนึ่งในคนกลุ่มแรกๆ ที่ศรัทธาในศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และยาซิรบิดาของท่านและซุมัยยะฮ์ มารดาของท่านเป็นหนึ่งในบรรดาชะฮีด (มรณะสักขี) กลุ่มแรกของอิสลาม

       ท่านอัมมาร บินยาซีร เป็นสัญลักษณ์ของความมีวิสัยทัศน์และการมีความเข้าใจที่ถ่องแท้ (บะซีเราะฮ์) และการรู้จักสัจธรรม และท่านเป็นหนึ่งในผู้นำการญิฮาดเพื่อสร้างความกระจ่าง (ญิฮาด ตับยีนี) เพื่อปกป้องอิสลามและท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.)  ท่านเป็นสาวกผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กล่าวในการอธิบายถึงคุณลักษณะของท่านว่า :

مَا خُيِّرَ عَمَّارٌ بَيْنَ أَمْرَيْنِ إِلَّا اخْتَارَ أَرْشَدَهُمَا

 "อัมมารจะไม่เลือกสิ่งใดระหว่างสองสิ่ง เว้นแต่จะเลือกสิ่งที่ถูกต้องที่สุดจากทั้งสอง" (1)

       ปัจจัยอะไรกระนั้นหรือที่ทำให้ท่านอัมมาร บินยาซีร พัฒนาตนและมีความเที่ยงธรรมจนถึงขั้นกลายเป็นสื่อจำแนกระหว่างสัจธรรมกับความเท็จ และท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) เองถือว่าท่านเป็นมาตรวัดในการรู้จักสัจธรรม โดยกล่าวว่า :

 إذا اخْتَلفَ النّاسُ كانَ ابنُ سُمَيّةَ معَ الحقِّ

 "เมื่อใดที่ผู้คนขัดแย้งกัน บุตรของซุมัยยะฮ์ (อัมมาร) คือ ผู้ที่อยู่กับสัจธรรม" (2)

2-ความศรัทธา (อีหม่าน) ของอัมมาร บินยาซีร

      คุณลักษณะประการแรกของท่านอัมมาร บินยาซีร คือความศรัทธาที่แท้จริงของท่านซึ่งจะนำทางท่านไปสู่สัจธรรมและความถูกต้องเสมอ บรรดานักรายงานชาวซุนนีได้รายงานว่า ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :

عمّارٌ خَلَطَ اللَّهُ الإيمانَ ما بينَ قَرْنِهِ إلى‏ قَدَمِهِ ، وخَلطَ الإيمانَ بلَحْمِهِ ودَمِهِ ، يَزولُ مَع الحقِّ حَيثُ زالَ

"อัมมารนั้นอัลลอฮ์ทรงทำให้ความศรัทธาผสมผสานจากหัวจรดเท้าของเขา และทรงทำให้ความศรัทธาผสมผสานอยู่กับเนื้อหนังและเลือดของเขา เขาจะอยู่กับสัจธรรมไม่ว่าสัจธรรมนั้นจะอยู่ที่ใด" (3)

      และช่างเป็นคำพูดที่สวยงามเพียงใดในการบรรยายถึงคุณลักษณะของท่านอัมมารที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า :

مُلِئَ عمَّارٌ إيمانًا إلى مُشاشِه

"อัมมารเปี่ยมไปด้วยความศรัทธาจนถึงกระดูกอ่อนของเขา" (4)

       หลักฐานอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับความศรัทธาอันแน่วแน่ของท่านอัมมาร บินยาซีร นั่นคือโองการอัลกุรอานที่กล่าวว่า :

مَنْ کَفَرَ بِاللَّهِ مِنْ بَعْدِ إِیمَانِهِ إِلَّا مَنْ أُکْرِهَ وَقَلْبُهُ مُطْمَئِنٌّ بِالْإِیمَانِ

 "และผู้ใด้ที่ปฏิเสธอัลลอฮ์ (เขาจะถูกลงโทษ) ยกเว้นผู้ที่ถูกบังคับ (ให้กล่าวปฏิเสธ) ในขณะที่หัวใจของเขาสงบมั่นด้วยศรัทธา" (5) 

       บรรดามุฟัซซิร (นักอรรถาธิบายคัมภีร์อัลกุรอาน) ทั้งหมดเห็นพ้องกันว่าโองการนี้ถูกประทานลงมาเกี่ยวกับท่านอัมมาร (6)

2- ความรู้ในแผนที่เส้นทางเดิน

      ท่านอัมมารมีความรู้ถึงแผนที่เส้นทางเดินสู่ความสำเร็จและความผาสุกไพบูลย์ (ซะอาดะฮ์) เนื่องจากท่านได้รับฟังจากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ซึ่งกล่าวกับท่านว่า :

يَا عَمَّارَ بْنَ يَاسِرٍ، إِنْ رَأَيْتَ عَلِيًّا قَدْ سَلَكَ وَادِيًا وَسَلَكَ النَّاسُ وَادِيًا غَيْرَهُ فَاسْلُكْ مَعَ عَلِيٍّ فَإِنَّهُ لَنْ يُدْلِيَكَ فِي رَدًى، وَلَنْ يُخْرِجَكَ مِنْ هُدًى

"โอ้ อัมมาร บุตรของยาซิรเอ๋ย! หากเจ้าเห็นอะลีเดินไปทางหนึ่งและผู้คนเดินไปทางอื่น ดังเจ้าก็จงเดินไปกับอะลีเถิด เพราะเขาจะไม่นำเจ้าลงไปสู่หุบเหวและจะไม่พาเจ้าออกไปจากทางนำ” (7)

ท่านอัมมารอยู่กับท่านอะลี (อ.) ตลอดเวลาและยืนหยัดเคียงข้างท่านจนกระทั่งเป็นชะฮีดและสวรรค์ก็โหยหาเขา (8)

3-การกระทำความดี (อะมั้ล ซอและห์)

       ตลอดช่วงชีวิต ท่านอัมมารได้ย่างก้าวไปบนเส้นทางแห่งการทำความดีเสมอ ท่านไม่เคยทอดทิ้งท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ความรู้ ความศรัทธาและการกระทำที่ดีงาม (อะมั้ล ซอและห์) ได้ทำให้อัมมาร บินยาซิรกลายเป็นมาตรวัด และในตลอดช่วงสงครามซิฟฟีน ที่ใดก็ตามที่บรรยากาศเต็มไปด้วยความสับสนและศัตรูได้สร้างวิกฤตทีเลวร้าย (ฟิตนะฮ์) ขึ้น ท่านอัมมารผู้นี้จะเป็นผู้แก้ปมและขจัดม่านหมอกแห่งความกลับกลอก (นิฟาก) ของศัตรูออกไป

      หนึ่งในตัวอย่างการสร้างวิกฤตการณ์ที่เลวร้าย (ฟิตนะฮ์) และปลุกปั่นเหล่านี้ คือ เมื่ออัมร์ อิบนุอาซ ได้กล่าวกับท่านอัมมารด้วยเจ้าเล่ห์ว่า : "เหตุใดท่านจึงทำสงครามกับเรา เราไม่ได้เคารพภักดีพระเจ้าองค์เดียวกันหรือ  เราไม่ได้ทำนมาซในทิศกิบลัตเดียวกับพวกท่านกระนั้นหรือ เราไม่ได้เรียกร้องเชิญชวนในสิ่งที่พวกท่านเรียกร้องเชิญชวนอย่างนั้นหรือ เราไม่ได้อ่านคัมภีร์เล่มเดียวกับพวกท่านและศรัทธาในศาสนทูตของพวกท่านกระนั้นหรือ?"

      ท่านอัมมาร บินยาซีร ตอบว่า : "มวลการสรรเสริญแด่อัลลอฮ์ที่พระองค์ทรงทำให้คำพูดเหล่านี้ออกมาจากปากของเจ้า ที่ว่า กิบลัต ศาสนา การเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเมตตา ท่านศาสดา (อ.) และอัลกุรอานเป็นของฉันและสหายของฉัน โดยที่เจ้าและบรรดาสหายของเจ้าไม่มีส่วนร่วมในคุณลักษณะนี้ และพระองค์ทรงทำให้เจ้าเป็นผู้หลงทางโดยไม่รู้ว่าตัวเจ้าเองอยู่บนทางนำหรือหลงผิดและทรงทำให้เจ้าตาบอด และฉันจะบอกให้เจ้ารู้ว่าทำไมฉันจึงต่อสู้กับเจ้าและเหล่าสหายของเจ้า ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ)  สั่งให้ฉันต่อสู้กับพวกนากิซีน (พวกทำลายสนธิสัญญา) ฉันก็ได้กระทำแล้ว และท่านสั่งให้ฉันต่อสู้กับพวกกอซิฏีน (กลุ่มผู้อธรรม) ซึ่งนั่นก็คือเจ้า ส่วนพวกมาริกีน (บรรดาผู้เปลี่ยนศาสนา) นั้นฉันไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ถึงพวกเขาหรือไม่” (9)

       ความรู้ ความศรัทธาและการกระทำความดี (อะมั้ล ซอและห์) เป็นคุณลักษณะสามประการของท่านอัมมาร บินยาซีร ที่ทำให้ท่านกลายเป็นมาตรวัดของการแสวงหาสัจธรรม และแม้กระทั่งการเป็นชะฮีด (มรณะสักขี) ของท่านในวันที่ 9 ซอฟัร ฮ.ศ. 37 ในเหตุการณ์สงครามซิฟฟีน ได้กลายเป็นสื่อในการเปิดเผยฐาตุแท้ของกองทัพมุอาวิยะฮ์ เนื่องจากท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวเกี่ยวกับท่านไว้ว่า :

وَيْحَ عَمَّارٍ، تَقْتُلُهُ الفِئَةُ البَاغِيَةُ، يَدْعُوهُمْ إِلَى الجَنَّةِ، وَيَدْعُونَهُ إِلَى النَّارِ

“น่าเศร้าใจต่ออัมมาร ทื่กลุ่มผู้อธรรมจะสังหารเขา ในขณะที่เขาเรียกร้องพวกเขาไปสู่สวรรค์ แต่พวกเขากลับเรียกร้องเขาไปสู่นรก" (10)

       และท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ยังได้พูดกับอัมมารว่า :

وأَنْتَ من أَهْلُ الْجنَّةِ

"และเจ้าเป็นส่วนหนึ่งจากชาวสวรรค์" (11)


ที่มา :

1. อัล ฆอดีรr, เล่ม 9, หน้า 26

2. ซีร อะอ์ลามมุลนับลาอ์, เล่ม 1, หน้า 416

3. ตารีค ดิมิชก์, เล่ม 43, หน้า 393

4. ชัรห์ นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, อิบนุอบิลหะดีด, เล่ม 10, หน้า 103 และ 104

5. อัลกุรอานบทอัลนะห์ลุ โองการที่ 106

6. อัลมีซาน ,เล่ม 12, หน้า 358

7. มะอาลิมุลฟิตัน, เล่ม 2, หน้า 110

8. ซีร อะอ์ลามมุลนับลาอ์, เล่ม 1, หน้า 416

9. พัยการ ซิฟฟีน, หน้า 463

10. ซีร อะอ์ลามมุลนับลาอ์, เล่ม 1, หน้า 214

11. วะฟาอุลวะฟาอ์, ซัมฮูดี, เล่ม 1, หน้า 331 และ 332


บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 1040 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

9827573
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
32941
66939
303118
9045061
1679107
2060970
9827573

พฤ 25 เม.ย. 2024 :: 12:02:39